Skip to main content
sharethis

29 พ.ค.54 ที่สมาคมนักข่าวฯ มีการแถลงข่าวเปิดตัว “ศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง” หรือ TCIJ (Thailand Information Center for Civil Rights and Investigative Journalism) โดย สุชาดา จักรพิสุทธิ์ ผู้อำนวยการศูนย์เป็นตัวแทนแนะนำองค์กรข่าวแห่งใหม่ที่เน้นการทำข่าวสืบสวนสอบสวน นำเสนอบนหน้าเว็บไซต์ www.tcijthai.com ซึ่งแบ่งงานเป็น 3 ส่วนหลัก ได้แก่ หนึ่ง งานข่าวสืบสวนออนไลน์ ซึ่งจะนำเสนอข่าวเจาะลึก มากกว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น “อย่างตอนนี้เราเห็นข่าวเพียงใครหาเสียงที่ไหน แต่ทีซีไอเจจะอธิบายเบื้องหลังปรากฏการณ์นี้ เช่น ทุนใหญ่อันไหนหนุนหลังใครบ้าง” พร้อมนำเสนอตัวอย่างเนื้อหาหลักจากหน้าเว็บในการนำเสนอรายละเอียดกลุ่มทุนที่สนับสนุนพรรคการเมือง (อ่านเนื้อหาได้ที่ http://www.tcijthai.com/investigative-story/442 และอ่านหัวข้อทั้งหมดในหน้าเว็บ TCIJ ได้ด้านล่าง) “ที่จริงเราเตรียมเรื่องใหญ่อื่นๆ ไว้เยอะ แต่ตอนนี้บรรยากาศเลือกตั้งครอบงำมาก จึงเปิดเรื่องถุงเงินพรรคการเมืองไว้ก่อน แต่เราก็มีข่าวที่หลากหลายมาก จะทยอยมา ตอนนี้เพิ่งนับหนึ่งในวันนี้ ยังต้องใช้ความพยายามจากการเจาะข้อมูลที่กระจัดกระจาย” สุชาดากล่าวและว่า มีหลายประเด็นที่คนอาจตั้งคำถามว่าทำไมเราไม่ทำ ขอบอกว่าเราตั้งใจอยู่ในแผนของเรา TCIJ ไม่ได้ทำเฉพาะขุดคุ้ยนักการเมือง แต่วางแผนว่าจะทำเรื่องใหญ่อื่นๆ ด้วย ทุกเรื่องทำข่าวเจาะได้หมด แต่ต้องยอมรับว่าปัญหาข้อมูลและความโปร่งใสของข้อมูลเป็นปัญหาใหญ่มาก ทีมงานกำลังใช้ความพยายามในการรวบรวมข้อมูลที่กระจัดกระจาย ขาดการจัดระบบ มาทำให้สะดวกแก่การเข้าถึง รวมทั้งพยายามแสวงหาข้อมูลที่ถูกซุก แต่ปัญหาเรื่องข้อมูลข่าวสารบ้านเราเป็นปัญหาใหญ่ บางทีทำจดหมายขอข้อมูลก็ยังไม่ได้ หน่วยงานต่างๆ มักใช้เทคนิค “ดีเลย์เอฟเฟ็ค” หรือการถ่วงให้ล่าช้า สุชาดาบอกว่า ข่าวเด่นของเว็บในแต่ละช่วงจะแตกต่างกันไป และจะประกอบด้วยข้อมูลพื้นฐานของเรื่องนั้นๆ ที่เชื่อมโยงมาจากฐานข้อมูลที่ได้จัดทำไว้ รวมถึง ‘เว็บลิงก์’ ไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับข่าวเด่นนั้นๆ ซึ่งจะสลับสับเปลี่ยนไปในแต่ละช่วง อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยอมรับว่าอาจจะดูยังไม่หลากหลายนัก แต่ก็ไม่ใช่หลักศิลาจากรึก เพราะจะมีการอัพเดทไปเรื่อยๆ ไม่ตายตัว แล้วแต่หัวข้อที่นำเสนอในช่วงนั้น ส่วนที่สองคือ ฐานข้อมูล ซึ่งจะประกอบไปด้วยข้อมูลดิบจำนวนมากในประเด็นต่างๆ ซึ่งจะมีการย่อยให้ง่ายต่อความเข้าใจ และส่วนที่สามคืองานข่าวภาคพลเมือง ซึ่งคาดหวังในการเพิ่มศักยภาพให้งานข่าวภาคพลเมืองมีทักษะ มีความเชี่ยวชาญ มีศักยภาพในการรายงานแง่มุมต่างๆ เทียบเท่านักข่าวมืออาชีพ “นี่คือระบบข้อมูลเพื่อสาธารณะอันหนึ่ง ซึ่งในวันข้างหน้าถ้ามีความหลากหลายและเข้มข้นมากขึ้น มันจะช่วยทำให้ประชาชนมีทางเลือกในการเสพข้อมูลข่าวสาร ในสังคม สั้น ทัน ด่วน ซึ่งเชื่อว่าน่าจะมีคนที่อยากจะได้ข่าวทึ่ลึกไปกว่าเอสเอ็มเอส ข่าวจบหน้าเดียวในหนังสือพิมพ์ หรือการเล่าข่าวในทีวี และมันจะเป็นพื้นที่ให้นักข่าวพลเมือง หรือกระทั่งนักข่าวอาชีพที่จะสามารถใช้ฐานข้อมูลของเราที่จะทำการบ้านให้สื่อได้บ้าง” สุชาดากล่าว และว่าพื้นที่นี้ยังเปิดโอกาสให้นักข่าวได้ทำงานในประเด็นต่างๆ ได้สุดทางอย่างที่อยากจะเจาะแม้ต้นสังกัดจะมีเพดานเงื่อนไขอยู่ สำหรับเรื่องแหล่งทุน ผอ.TCIJ กล่าวว่าในเว็บไซต์มีการชี้แจงอย่างชัดเจน เป็นความโปร่งใสที่ตั้งใจประกาศว่าศูนย์ฯ รับเงินสนับสนุนจากกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในปีแรก จากนั้นปีที่สองตั้งใจจะพึ่งตัวเองอย่างเหมาะสมและมีแผนธุรกิจที่วางไว้อยู่แล้ว เพื่อให้ TCIJ สามารถเป็นพื้นที่ส่วนกลางและเป็นสื่อเสรีอย่างแท้จริง “ไม่มีอะไรจะดีไปกว่า การที่ท่านจะเข้าไปอ่านเพื่อพิสูจน์เอง” สุชาดากล่าวทิ้งท้าย หลังจากการแถลงข่าวเปิดตัวเว็บมีการเสวนา “เปิดขุมทรัพย์นักการเมือง” ชัยอนันต์ สมุทวณิชย์ ได้กล่าวถึง ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของ “พรรคการเมือง” และเหตุผลที่พรรคการเมืองในประเทศไทยเน้นแต่การแข่งขันหาเสียงไม่ทำหน้าที่อื่น เช่น ผลิตนโยบาย จัดการศึกษาทางการเมือง เพราะในอดีตตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พระมหากษัตริย์หวั่นว่าหากตั้งพรรคการเมืองจะมีภาคธุรกิจซึ่งมีแต่คนเชื้อสายจีนครอบงำ แม้เปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วคณะราษฎรก็ยังไม่ยอมให้จัดตั้งพรรคการเมืองเพราะเกรงอำนาจฝ่ายเจ้า จึงเป็นความพยายามที่จะแยกกลุ่มอิทธิพลทางเศรษฐกิจออกจากการเมือง นอกจากนี้การเมืองไทยยังมีการแทรกแซงของทหารเป็นระยะ พรรคการเมืองอายุสั้น ไม่มีโอกาสพิสูจน์ภาวะผู้นำ “ส่วนการปราบคอรัปชั่นขึ้นอยู่กับโอกาสที่คนทำจะโดนจับ สังคมไทยต้องเพิ่มโอกาสเหล่านี้ซึ่งสื่อจะช่วยได้มากในการขุดคุ้ย สังคมเราตอนนี้ชอบพูดว่าอยากได้คนเก่ง โกงนิดโกงหน่อยไม่เป็นไร เราควรเปลี่ยนทัศนคติอันนี้ สื่อก็คงช่วยได้มาก ส่วนเรื่องอื่นเป็นปัญหาระยะยาวที่ต้องช่วยกัน” ชัยอนันต์กล่าว นวลน้อย ตรีรัตน์ จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงรูปแบบการทุจรตคอรัปชั่น โดยเฉพาะรูปแบบใหม่ที่ผ่านไปทางการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น ซึ่งกำหนดว่าส่วนกลางต้องผ่านรายได้ให้ท้องถิ่น 25% โดยการคอรัปชั่นมักจะผ่านทางเงินอุดหนุนท้องถิ่น ซึ่งปกติจะให้เป็นประเภทเงินอุดหนุนทั่วไปเพื่อให้เป็นอำนาจท้องถิ่นตัดสินใจบริหาร แต่ปรากฏว่ารัฐสภาจะตัดงบเงินอุดหนุนทั่วไปลง แล้วแปรญัตติไปเพิ่มเงินอุดหนุนเฉพาะกิจปีหนึ่งเป็นหมื่นๆ ล้าน ซึ่งท้องถิ่นแต่ละแห่งจะต้องเสนอเข้ามาขออนุมัติ ซึ่งพบว่ามีกระบวนการวิ่ง และมีข่าวลือเรื่องการหักหัวคิว นวลน้อยกล่าวว่า ดังนั้น การเปิดเผยข้อมูลเป็นเรื่องสำคัญมาก อยากสนับสนุนการทำเว็บไซต์นี้ จะทำได้ดีจะต้องมีฐานข้อมูลอย่างต่อเนื่อง กรณีเกาหลีนั้นประสบความสำเร็จ เพราะมีการทำฐานข้อมูลทางการเมือง ระบบศาล อย่างลึก ถึงเวลาแล้วตรวจสอบได้ การทำฐานข้อมูลจะทำให้การเข้ามาตรวจสอบทำได้ดีขึ้น ส่วนปัญหาของสื่อมวลชนในประเทศไทยนั้นมีเน้นแต่ความเร็ว ทำให้ต้องเผชิญปัญหาสองอย่างคือ ไม่ลึก และเป็นเครื่องมือได้ง่ายมาก เพราะต้องรีบรายงาน การมีฐานข้อมูลเก็บไว้จะเป็น “เครื่องมือ” ให้สื่อใช้ตรวจสอบ ทำข่าวได้อย่างรวดเร็วด้วย ส่วนเรื่องคอรัปชั่นนั้นถือเป็นเรื่องใหญ่ระดับโลก ธนาคารโลกก็ให้ความสำคัญเรื่องนี้ เพราะมันสะท้อนให้เห็นอำนาจผูกขาดทางการเมืองด้วย ในประเทศไทยเมื่อสถาบันอิศราจัดการประกวดข่าว ส่วนใหญ่ที่ส่งเข้าประกวดก็เป็นเรื่องคอรัปชั่นและเป็นอย่างนี้มาหลายปี แต่ถามว่าในสื่อมีโต๊ะข่าวคอรัปชั่นไหม กลับไม่มี เราอาจต้องคิดเรื่องนี้ขึ้นมา ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ จากหนังสือพิมพ์มติชน เล่าประสบการณ์พร้อมจำแนกช่องทางในการคอรัปชั่นของนักการเมืองเป็น 5 ประเภทหลัก คือ การปั่นหุ้นโดยใช้ข้อมูลภายใน, การสัมปทาน โดยเฉพาะสัมปทานยุคใหม่ด้านการสื่อสารและการคมนาคม, การจัดซื้อจัดจ้างงบประมาณแผ่นดิน การปล่อยสินเชื่อธนาคาร, การซื้อขายตำแหน่ง ประสงค์ระบุว่า การเปิดเผยข้อมูลจะช่วยแก้ปัญหานี้ ดูตัวอย่างจากรัฐธรรมนูญ 40 ที่ให้เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินจนนักการเมืองหลุดจากตำแหน่งหลายคน แต่ปัจจุบันก็ไล่ตามนักการเมืองไม่ทันแล้ว นอกจากนี้ประสงค์ยังระบุว่า การซื้อเสียงเป็นสาเหตุสำคัญอันหนึ่งของวงจรการคอรัปชั่น “เวลาพูดถึงการซื้อเสียง มีนักวิชาการกลุ่มหนึ่งมาอธิบายว่ามันจำเป็น หรือมีปัจจัยอื่นสำหรับการตัดสินใจของชาวบ้าน ต่างๆ นานา เราเห็นการรณรงค์ห้ามให้เงินขอทานไหม การให้เงินเป็นการส่งเสริม ชาวบ้านจะรู้หรือไม่ก็ตามว่าการรับสตางค์เป็นตัวส่งเสริมให้วงจรมาเชื่อมมาสู่การคอรัปชั่น ถ้าเรายังคงรับอยู่ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลการอธิบายแบบไหนมันก็จะเป็นตัวเชื่อมให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น และทุกคนไม่เคยโทษตัวเอง”ประสงค์ว่า เนื้อหาหลักของศูนย์ข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง ข่าวหลัก > เปิดถุงเงินเลือกตั้ง 4 พรรคใหญ่ ปชป.พรึ่บบิ๊กกลุ่มทุนหนุนอื้อ > แกะรอย“ทุนน้ำเมา”ในประชาธิปัตย์ 3 ลอต 53.7 ล้าน > เจาะขุมธุรกิจ “อนุสรณ์ อมรฉัตร” กล่องดวงใจ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” > ตัวต่อตัวทรัพย์สิน 8 อดีตนายกฯ-5 คุณหญิง ใครรวยกว่ากัน? > เค้กพิมพ์บัตรเลือกตั้ง 100 ล้านอยู่ในกำมือใคร? ข่าวรอง > สาวลึกงบฯ จูงใจสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 1,800 ล้าน > ตะลึง ! ฟอร์มาลินในปลาทับทิม จากคนเลี้ยงถึงคนกิน บทสัมภาษณ์ > ผศ.ดร. พิรงรอง รามสูต รณนันท์ “สื่อไม่ต่อสู้กับอำนาจ เพราะเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจแล้ว” ข่าวเจาะ > เจาะธุรกิจ “บอล-ภราดร” ก่อนสวมเสื้อคลุมนักการเมือง > เปรียบเทียบร่างกฎหมายความเสมอภาค “ตุ๊ด-เกย์-ทอม-ดี้” ฉบับภาคปชช. VS ฉบับกระทรวง พม. > เงิน 900 ล้าน “ธรรมศาสตร์” ใช้ทำอะไร? > พลิกตำนาน “ทุนน้ำเมา” กับ “เช็คของขวัญ” ฯลฯ ฐานข้อมูล >ข้อมูลการถือครองที่ดินนักการเมือง 476 คน 7.2 หมื่นไร่ > กลุ่มทุนรับเหมาก่อสร้างกับสายสัมพันธ์ทางการเมือง > 10 ปี ปรากฎการณ์การเมืองพลิกขั้ว ทุนสลับข้าง > เปิดชื่อ 10 นักการเมือง “โสด” ที่รวยที่สุด > พื้นที่เพาะเลี้ยงปลาทับทิมในประเทศไทย งานข่าวพลเมือง > เรื่องเล่ารอบโรงไฟฟ้าหนองแซง มลภาวะที่ไม่(เคย)อยู่ใน ‘อีไอเอ’ > 141 นักวิชาการ-ศิลปิน-นักสหภาพแรงงาน ร่อน จม. ถึงผู้บริหาร KFC ห่วงละเมิดสิทธิแรงงาน > ชาวบ้าน “มะต้องสู้” ร้องโดนทหารไล่ที่ 25 ปีปัญหาไม่จบ 6 ครัวลั่นยอมตายบ้านเกิด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net