เปิดคุกไทย 2554 เทียบคุกฝรั่งเศส และบางคำตอบจากราชทัณฑ์

“เราจะไม่รู้จักประเทศหนึ่งประเทศใดอย่างแท้จริง หากไม่เคยเข้าไปยังคุกของชาตินั้น ไม่ควรตัดสินประเทศหนึ่งประเทศใดจากการปฏิบัติต่อชนชั้นสูง แต่ต่อชนชั้นต่ำ”

 

-- เนลสัน มันเดลา

 

นี่คือคำพูดหลังปกหนังสืองานวิจัยเรื่อง “คุกไทย 2554” ซึ่งมีการจัดเสวนาเรื่องดังกล่าวในวันที่ 31 พ.ค.ที่ผ่านมา ที่อาคารเอนกประสงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดโดยสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน(สสส.)

คำถามคือ แล้วเรารู้จักคุกของเราดีแค่ไหน?

ภายในงานเสวนาจะนำเสนอข้อมูลให้เรารู้จักตัวตนเรามากขึ้นทั้งคุกชาย คุกหญิง และยังมีการบอกเล่าเรื่องราวของคุกฝรั่งเศส โดยแพทย์หญิงเวโรนิค วาสเซอร์ อดีตหัวหน้าเจ้าหน้าที่การแพทย์เรือนจำลาซานเต ผู้มีคุณาปการเปิดโปงสภาพในเรือนจำฝรั่งเศสจนมีการปฏิรูปคุณภาพชีวิตในเรือนจำครั้งใหญ่

แดนทอง บรีน นำเสนอในภาพรวมว่า ประเทศไทยมีปัญหาหลักคือนักโทษล้นคุก โดยไทยมีนักโทษเยอะเป็นอันดับ 25 ของโลก เฉลี่ยแล้ว 331 ต่อแสนประชากร เทียบกับประเทศที่มีนักโทษมากสุดคือสหรัฐอเมริกา มีนักโทษ 2.2 ล้านคนเฉลี่ย 743 ต่อแสนประชากร ส่วนจีนมีนักโทษ 1.6 ล้านคน เฉลี่ย 123 ต่อแสนคนประชากร

ปัญหาที่ทำให้นักโทษล้นเกิน คือ

1. คนจำนวนมากที่ยังไม่ถูกพิพากษาว่าผิดก็ถูกคุมตัวในเรือนจำแล้ว อีกทั้งระบบการประกันตัวของไทยไม่มีมาตรฐาน โทษบางอย่างเล็กน้อยแต่ต้องวางหลักประกันเกือบเทียบเท่าคดีฆ่าคนตาย และส่วนใหญ่ผู้ต้องโทษมีปัญหาไม่มีเงินประกัน

2. ความหนักของโทษ มีคนจำนวนไม่น้อยถูกพิพากษา 30-50 ปี เป็นไปได้ว่าอัตราโทษที่สูงขนาดนี้มาจากการที่รัฐไทยมักใช้ระบบลดโทษนภายหลังระหว่างถูกคุมขัง เหมือนเป็นการบังคับทางอ้อมให้นักโทษไม่ทำปัญหาในเรือนจำเพื่อหวังการลดโทษหรืออภัยโทษ และการลงโทษก็มีแต่การนำตัวเข้าเรือนจำเท่านั้น ทั้งที่จริงแล้วมีวิธีอื่นอีกในการลงโทษผู้ประพฤติผิด การเข้าเรือนจำควรเป็นวิธีสุดท้าย

งานวิจัยสำรวจความเป็นอยู่จากการสัมภาษณ์อดีตนักโทษชายที่ต้องโทษประหารชีวิตในเรือนจำบางขวางและได้รับการอภัยโทษแล้ว เช่นเดียวกับอดีตนักโทษประหารชีวิตหญิงจากทัณฑสถานหญิงกลางกรุงเทพฯ และเชียงราย รวมถึงนักโทษหญิงที่ยังอยู่ในเรือนจำด้วย ข้อค้นพบเบื้องต้นที่สุดอย่างหนึ่งพบว่า ผู้หญิงอยู่ในสภาพที่กดดัน เข้มงวด มากกว่าผู้ชายมากนัก

ชีวิตในบางขวาง

นักโทษประหารชีวิตในคุกบางขวางออกมาเยี่ยมญาติได้สัปดาห์ละ 2 วัน ระยะเวลาในการเยี่ยม 45 นาที การเยี่ยมอยู่ในห้องที่เป็นทางเดินยาวมีกระจกและลูกกรงกั้นระหว่างนักโทษกับผู้เข้าเยี่ยมประมาณ 1 เมตร โดยใช้โทรศัพท์พูดคุย หลังจากที่มีการจับกุมผู้ค้ายาเสพติดได้หลายรายให้ข้อมูลเชื่อมโยงถึงนักโทษภายในเป็น  การเยี่ยมนักโทษจึงมีมาตรการที่เข้มงวดมากขึ้น โดยมีประกาศของคุกบางขวางสำหรับผู้มีสิทธิเข้าเยี่ยมนักโทษนั้นต้องเป็นญาติเท่านั้น ทำให้บุคคลที่เป็นที่รู้จักนักโทษที่ไม่ใช่ญาติมีความยากลำบากในการเข้ายี่ยมเป็นอย่างมาก

“ การเยี่ยมญาติในแต่ละวันจึงเป็นสิ่งที่ทุกคนเฝ้ารอ นอกจากได้พบพูดคุยรู้ความเคลื่อนไหวภายนอกแล้ว ที่สำคัญ สิ่งของและเงินที่ญาติฝากจะทำให้การใช้ชีวิตในสุขสบายขึ้น แต่ถ้าไม่มีญาติมาเยี่ยมก็ลำบาก แรกๆ ญาติมักมาเยี่ยมบ่อย แต่พอนานเข้าก็เดือนละครั้งสุดท้ายปีละ 2 ครั้ง คนที่มีเมียแล้วต้องเขามาอยู่ที่คุกก็จะบอกต่อๆ กันว่าให้ทำใจ เพราะเมียไปมีผัวใหม่แน่นอน ผู้ต้องขังที่ถูกติดคุกนานๆ จึงทำใจ” ปากคำจากอดีตนักโทษประหารชีวิตต่อมาได้รับการลดโทษถูกคุมขังในกลางบางขวางเป็นเวลา 32 ปี

ความแออัดของนักโทษนั้นเหนือคำบรรยายห้องขังของคุกบางขวางขนาด 6X8 เมตร จุคนได้ 43 คน การนอนในเรือนนอนนั้นแต่ละคนจะมีที่ของตนเองขนาด 0.7-0.8 ตารางเมตร มีหมอน ผ้าห่มให้ เวลานอนจะนอนสองฝั่งหันเท้าเข้าหากัน พื้นที่ตรงกลางที่ว่างจะเป็นที่นอนของผู้ช่วยเจ้าหน้าที่จะมีพื้นที่กว้างหน่อย ไฟฟ้าจะเปิดตลอดเวลา ไม่มีการดับไฟเพื่อความปลอดภัย

นักโทษประหารชีวิตจะถูกตีตรวนตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้การใช้ชีวิตประจำวันลำบากและในการตีตรวจนั้น ใช้การเชื่อมติดกัน เวลาที่เชื่อมนั้นประกายไฟจะกระเด็นทำให้เกิดเป็นรอยแผลเป็น ซึ่งนักโทษส่วนใหญ่ที่ถูกตีตรวนมักจะเป็นรอยแผลเป็น

อดีตนักโทษและนักโทษในปัจจุบันมีความคิดเห็นสอดคล้องกันว่าในเรื่องอาหาร น้ำดื่ม หรือสิ่งอำนวยความสะดวกของคุกบางขวางนั้นค่อนข้างดีและมีพร้อม แต่คณะผู้ศึกษาพบความจริงที่น่าสนใจว่าสภาพการใช้ชีวิตในระหว่างนักโทษที่ไม่มีเงินกับนักโทษที่มีเงินนั้นแตกต่างกันเหมือนกับสังคมภายนอก นักโทษที่มีเงินสามารถหาความสะดวกสบายได้ในเรื่องของกินของใช้ นักโทษที่ไม่ชอบอาหารของเรือนจำจัดให้สามารถที่จะซื้ออาหารจากร้านสวัสดิการประจำแดนได้ และสำหรับอาหารในคุกบางขวางนักโทษสามารถซื้อวัตถุดิบมาประกอบอาหารเองจากร้านได้  ระบบในกำหนดให้นักโทษแต่ละคนมีบัญชีเงินฝากของตนเองโดยไม่จำกัดจำนวนแต่สามารถนำมาใช้ได้วันละไม่เกิน 200 บาทและใช้ในลักษณะบัตรเงินสด นักโทษสามารถซื้อสินค้า เช่น สบู่ ยาสีฟัน และอาหาร สำหรับคนที่ไม่มีเงินนั้นก็จะใช้วิธีการบริการซักผ้า นวดให้กับนักโทษที่มีเงิน ญาติส่วนใหญ่ไม่เข้าใจว่าทำไมอยู่ในคุกยังต้องใช้เงินอีก

ส่วนการลงโทษที่หนักที่สุดนั้นคือ การขังเดี่ยว ในการขังเดี่ยวนั้นมี  2 แบบ คือ ประเภทแรกเรียกว่า”ขังแดง” ห้องขังอยู่ที่แดน 1 เป็นห้องขังทึบประตูเตี้ยๆ ไว้ขังนักโทษที่กระทำความผิด แต่ปัจจุบันขังแดงไม่มีการปฎิบัติแล้ว แต่ขังเดี่ยวยังคงมีอยู่ ในแดน 10 รูปแบบของขังเดี่ยวนั้นจะเป็นห้องขังประมาณ 1 – 2 เมตร ห้องเรียงเป็นแถว ห้องขังเดี่ยวนี้จะเอาไว้คุมขังนักโทษที่กระทำความผิดในคุก ถึงแม้ว่าความคิดเห็นของนักโทษส่วนใหญ่จะเห็นว่าควรมีการขังเดี่ยวเพราะนักโทษบางคนที่มีพฤติกรรมกระทำความผิดโดยนิสัยชอบทำตัวเกเร

เรื่องการรักษาพยาบาล สภาพโรงพยาบาลและการรักษาพยาบาลใน สภาพปัญหา คือ หมอไม่เพียงพอ แม้ว่าที่ผ่านมาจะได้นักโทษที่เป็นหมออยู่ 2-3 คนในการช่วยรักษาและผ่าตัดแต่บุคคลากรที่เป็นหมอนั้นมีเพียงคนเดียวเพราะหมอที่เป็นนักโทษนั้นก็เป็นผู้ช่วยแพทย์ ส่วนหมอทางด้านจิตเวชนั้นขาดแคลนมากทั้งที่คนที่อยู่ภายในมีปัญหาสภาพทางจิตกันมาก

เรื่องการเตรียมผู้ต้องขังก่อนพ้นโทษ สำหรับผู้ต้องขังที่โทษยาวนานนั้นสำคัญมาก แต่ก็ยังเป็นเป็นไปอย่างไม่จริงจังนัก ส่วนใหญ่จะรู้สึกว่าต้องเตรียมตัวออกมาเผชิญกับสังคมด้วยตนเอง

“วันที่ผมออกมาวันแรกผมนั่งอยู่ประตูทางออกเกือบทั้งวันไม่รู้ว่าจะไปไหน ไปสมัครงานที่ไหนพอรู้ว่าออกมาจากคุกก็ไม่มีใครรับต้องปิดบังกว่าจะได้งาน” อดีตนักโทษคนหนึ่งกล่าว

เปิดคุกหญิง ยิ่งกว่านิยาย

ปัญหาสำคัญของผู้ต้องขังหญิงคือ จำนวนผู้ต้องขังที่ล้นเกินความจุของเรือนจำ ซึ่งจะเห็นชัดเจนจากที่นอนในเรือนนอนซึ่งต้องเบียดเสียดกันอย่างมาก ไม่ว่าในห้องขนาดเล็ก หรือขนาดใหญ่ หากเป็นห้องขนาด 12x19 เมตร จะนอนกันประมาณ 180-200 คน หากเป็นห้องขนาด 6x8 เมตร จะนอนกันประมาณ 90-100 คน

ห้องหนึ่งจะนอนกันหลายแถวหันเท้าชนกันและนอนสลับฟันปลา คนหนึ่งเฉลี่ยแล้วจะมีพื้นที่ในการนอนประมาณ 1-1.5 ฟุต แล้วแต่ความหนาแน่นของผู้ต้องขัง ในแต่ละช่วง การนอนที่เบียดเสียดกันเช่นนี้ยังนำไปสู่การกระทบกระทั่งทะเลาะกันบ่อยครั้ง แต่โดยส่วนใหญ่จะไม่ทะเลาะกันในห้อง แต่จะเก็บไปคิดบัญชีกันในตอนกลางวัน เนื่องจากหากทะเลาะกันในเรือนนอนจะถูกลงโทษทั้งห้อง เช่น การปิดพัดลมให้ร้อน ภายในห้องจะมีหน้าต่าง เหล็กดัด มุ้งลวดกันยุง และมีพัดลมเพดานหลายตัว กระนั้นก็ยังไม่ค่อยเพียงพอกับจำนวนผู้ต้องขังที่แออัด นอกจากนี้หลายครั้งยังปิดพัดลมหลังเที่ยงคืน โดยให้เหตุผลว่าอากาศไม่ร้อนมากและเป็นการประหยัดไฟฟ้า

การอาบน้ำ เป็นกิจวัตรที่อดีตผู้ต้องขังบางคนถือว่าเป็นช่วงเวลาที่เหน็ดเหนื่อยและสร้างความเครียดมากที่สุดแห่งวัน เนื่องจากต้องแย่งชิงน้ำซึ่งมีอยู่ค่อนข้างจำกัดกับผู้ต้องขังคนอื่น ที่สำคัญ คือการจำกัดเวลาขณะอาบน้ำ หากอาบเป็นขันจะมีการกำหนดไม่เกิน 10 ขัน หากอาบฝักบัว ซึ่งหมายถึงท่อพีวีซียาวๆ แล้วเจาะรูเป็นช่วงๆ จะมีเวลาอาบเท่ากับการนับ 1-30 โดยทุกครั้งจะมีผู้ต้องขังที่ได้รับเลือกเป็นผู้นับและคอยเปิด-ปิดน้ำ 

อดีตผู้ต้องขังรายหนึ่งเล่าว่า หากลงมาอาบน้ำช้า น้ำในอ่าง (อ่างซีเมนต์ยาว) จะเหลือน้อย จนต้องหาวิธีตัก โดยการนำแกลลอนน้ำมันมาตัดครึ่ง(เหมือนที่โกยผง) ทำเป็นอุปกรณ์ตักน้ำแทนขันซึ่งไม่สามารถตักได้

สำหรับห้องน้ำมีเพียงพอต่อการใช้งาน โดยเฉพาะห้องน้ำด้านนอกเรือนนอนที่มี 7-8 ห้องกระจายตามจุดต่างๆ มีการจัดเวรทำความสะอาดทุกวัน ขณะที่ห้องน้ำในเรือนนอนมีจำนวนน้อย บางครั้งอาจต้องต่อคิวนานราวครึ่งชั่วโมง ลักษณะของห้องน้ำจะไม่มีประตู เป็นเพียงการก่อซีเมนต์สูงประมาณสองฟุต ขนาดเท่าที่เมื่อผู้ต้องขังนั่งลงบนหอห่านจะโผล่มาแต่หัว อดีตผู้ต้องขังกล่าวว่าในตอนแรกต้องปรับตัวกับส้วนชนิดเปิดเผยนี้อยู่นานพอสมควร ขณะที่เรือนจำเชียงรายนั้นมีการสร้างเรือนนอนใหม่ทำให้ระบายความแออัดไปได้ระดับหนึ่ง มีห้องน้ำใหม่ที่สะอาดและเพียงพอกว่าส่วนกลาง

เรื่องอาหารนั้นมีการพัฒนาขึ้นมากในเรื่องความสะอาด อดีตผู้ต้องขังกล่าวว่า เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ข้าวแทบกินไม่ได้ เป็นข้าวแดงที่มีขี้ทรายบน และแข็งมาก บางทีเจอหนอนอยู่ในข้าว เช่นเดียวกับกับข้าว ต้มปลาทูน้ำดำเหมือนน้ำท่อระบายน้ำ เนื่องจากไม่ควักไส้ออก ปัจจุบันปรับปรุงดีขึ้น ใช้ข้าวขาว สะอาด แต่รสชาติอาหารไม่อร่อย ทำให้ไม่ค่อยมีใครรับประทานอาหารที่เรือนจำจัดให้ กรณีของคุกเชียงราย ผู้ต้องขังเล่าว่าอาหารรสชาติแย่มาก ผัดผักก็ใช้ผักที่เกือบเน่า และไม่เคยเจออาหารทะเลเลย ผู้ต้องขังส่วนใหญ่ที่มีเงิน จะซื้ออาหารรับประทานเอง เพราะในคุกก็มีร้านอาหาร ร้านค้าสวัสดิการไว้บริการ แต่ราคาแพงกว่าข้างนอก  เช่น มะเขือเปราะ 4 ลูก 10 บาท , ฝรั่ง 2 ลูก 30 บาท, ผักชี 1 ต้น ต้นหอม 1 ต้น ราคา 10 บาท โครงไก่มีแต่กระดูกขาย 30 บาท

ของใช้ต่างๆ ส่วนมากผู้ต้องขังต้องซื้อเอง แม้จะมีการแจกของปีละ 1-2 ครั้งจากบริษัท หรือบุคคลที่ต้องการบริจาค ราคาของใช้ต่างๆ  ก็แพงกว่าท้องตลาด มีการขายเกินราคา และเวลามีของแถมก็ไม่นำมาให้ลูกค้า หากผู้ต้องขังร้องเรียน ก็จะโดนแกล้งไม่เอาสินค้าที่ต้องการมาขาย หรืออาจถูกย้ายไปที่อื่นเลย

สำหรับการซื้อขายในนั้น ผู้ต้องขังจะมีบัญชีของตนเองที่ญาติภายนอกนำเงินมาฝากไว้ให้ ผู้ต้องขังสามารถเบิกได้สูงสุดวันละไม่เกิน 200 บาทในรูปของคูปอง ซึ่งจะมีอายุการใช้งานเพียงครึ่งวัน หลังจากนั้นจะไม่สามารถใช้ได้และไม่สามารถนำคืนได้ ผู้ต้องขังบางรายร้องเรียนว่าน่าจะสามารถคืนได้ เนื่องจากใช้ซื้อของไม่ทัน เพราะคนต่อแถวซื้อสินค้ากันยาวมาก และทำให้ประสบกับภาวะ “เงินบูด” นอกจากนี้ผู้ต้องขังที่ต้องโทษเด็ดขาดยังมีรายได้จากการทำงาน โดยมีโรงงานให้เลือกทำงาน เช่น เย็บผ้า ตัดขี้ด้าย ถักโคเช ฯลฯ มีเงินปันผลรายเดือน แม้ไม่มากนักเมื่อเทียบกับเวลาทำงานหลายชั่วโมงติดต่อกัน แต่ก็พอให้มีเงินใช้จ่ายเล็กๆ น้อยๆ 

การลงโทษ ในอดีตจะมีการลงโทษรุนแรงเรียกว่า “ขังซอย” เป็นการขังเดี่ยวในห้องขนาดเล็กทั้งวัน ทั้งคืน แต่ยกเลิกมานานกว่า 5-6 ปีแล้ว เพราะมีกรณีที่นักโทษโดนขังซอยใช้เสื้อชั้นในผูกคอตาย อดีตผู้ต้องขังเล่าว่าเป็นนักโทษรัสเซียซึ่งทำผิดด้วยการเอากรรไกรตัดเล็บขึ้นเรือนนอน ซึ่งผู้คุมถือว่าเป็นความผิดร้ายแรงในการนำสิ่งของขึ้นไปบนเรือนนอน แม้แต่ยาอมก็ห้ามนำเข้า อย่างไรก็ตาม รายละเอียดในการขังซอย คือ จะได้กินอาหารวันละมื้อ ขับถ่ายใส่ถังเม 7 วันถึงจะได้อาบน้ำ 1 ครั้ง

นอกจากนี้ยังมีข้อมูลอีกว่า ราว 10 กว่าปีก่อน มีการลงโทษถึงขั้นทำร้ายร่างกาย บทลงโทษในยุคก่อนจะเป็นไปตามอำเภอใจของผู้คุม เช่น เอาเตารีดนาบ, เอาหม้อร้อนมาวางบนหลัง, เอาเข็มขัดฟาด, เอาอุจจาระราด, ให้ยืนตากแดดกลางสนามทั้งวัน แต่ปัจจุบันไม่มีการลงโทษเช่นนั้นแล้ว เพราะถูกร้องเรียนและราชทัณฑ์คำนึงถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การลงโทษที่ผู้ให้สัมภาษณ์เห็นว่ารุนแรงในปัจจุบันคือ “การตัดชั้น” ความผิดที่น่าจะเป็นความผิดเล็กน้อยเช่น ทะเลาะกัน นักโทษก็มักจะถูกตัดชั้นจาก “ชั้นดี” เป็น “ชั้นเลว” เลย ซึ่งมีผลให้ไม่ได้รับการพิจารณาเรื่องอภัยโทษ

การติดต่อโลกภายนอก เป็นสิ่งที่ผู้ต้องขังหญิงรู้สึกอึดอัดคับข้องใจมากตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันในอดีตการติดต่อกับโลกภายนอกเป็นเรื่องยากลำบากอย่างยิ่ง ผู้ต้องขังสามารถเขียนจดหมายได้คนละ 15 บรรทัด หากเขียนเกินจะถูกฉีกทิ้ง ส่งได้อาทิตย์ละ 1 ครั้ง แต่ก็พบว่าบางฉบับ 3 เดือนยังไม่ถึงผู้รับ เนื่องจากตกค้างอยู่ที่เจ้าหน้าที่ ซึ่งผู้ต้องขังไม่มีสิทธิทวงถาม บางครั้งเจ้าหน้าที่ไม่พอใจตรวจก็นำจดหมายเอาไปใส่ปี๊บเผาทิ้ง ไม่มีการแจ้งนักโทษว่าส่งแล้วหรือยัง นอกจากนี้ญาติเขียนมาบางทีก็ไม่ได้รับ  อย่างไรก็ตาม ที่เชียงรายผ่อนปรนกว่า ผู้ต้องขังสามารถส่งจดหมายได้อาทิตย์ละ 3 ฉบับ (จันทร์, พุธ, ศุกร์) นอกจากนี้หากมีคนส่งธนาณัติไปให้ผู้ต้องขังใน หากเจ้าหน้าที่ถามชื่อคนส่งแล้วนักโทษตอบไม่ถูก หรือ “ขานชื่อ” ไม่ได้ ธนาณัติจะถูกส่งคืนต้นทางทันที  เช่นเดียวกับการเยี่ยมญาติ หากผู้ต้องขังทายชื่อคนเยี่ยมไม่ถูกก็จะไม่ให้เยี่ยม เป็นสิ่งที่สร้างอึดอัดและความคับแค้นแก่ผู้ต้องขังเป็นอย่างมาก

ในปัจจุบันระบบขานชื่อยังคงอยู่ ผู้ต้องขังรายหนึ่งระบุว่า เมื่อเธอขานชื่อผู้มาเยี่ยมไม่ถูก เธอก็จะไม่ได้ออกมาพบกับผู้ขอเยี่ยม โดยเจ้าหน้าที่จะให้เธอเซ็นชื่อว่า “ไม่ต้องการเยี่ยม” เพื่อนำไปแจ้งผู้ขอเยี่ยม

นอกจากนี้ยังมีการระบุด้วยว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ผู้ต้องขังในข้อหาหนัก รวมถึงคดีหมิ่นสถาบัน จะได้รับอนุญาตให้เยี่ยมญาติเพียง 5 คนตามที่ผู้ต้องขังส่งรายชื่อมา 5 อันดับ นอกเหนือจากนั้นไม่สามารถเข้าเยี่ยมได้ อย่างไรก็ดี ดูเหมือนความสะดวกอย่างเดียวที่ผู้ต้องขังพูดถึงก็คือ การตีของเยี่ยม ซึ่งหมายถึงการที่ผู้เยี่ยมซื้อของในส่งให้ผู้ต้องขัง

ห้องสมุดนั้น มีแต่หนังสือเก่าๆ นิตยสารผู้หญิง ไม่มีหนังสือสังคม การเมือง เพราะในคุกห้ามอ่านหนังสือการเมือง รวมถึงห้ามการรับรู้ข่าวสารจากหนังสือพิมพ์ ผู้ต้องขังสามารถดูทีวีได้ในเวลาจำกัดเท่าทีทางเรือนจำกำหนด และอนุญาตให้ดูเฉพาะหนังเกาหลี หลังไทย ที่จัดไว้ให้เท่านั้น เรียกได้ว่าไม่มีสิทธิเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร

คุกฝรั่งเศสหลังการปฏิรูป

เวโรนิค วาสเซอร์ อดีตหัวหน้าเจ้าหน้าที่การแพทย์เรือนจำลาซานเต ทำงานที่เรือนจำลาซองเต 9 ปี เธอรวบรวมประสบการณ์มาเขียนหนังสือในปี 2000 โดยเธอจำกัดความสภาพความเป็นอยู่ในเรือนจำว่า “เหมือนยุคกลาง ย้อนไป 800 ปี” หลังจากนั้นเธอต้องเผชิญแรงกดดันอย่างหนัก แต่ขณะเดียวกันก็ส่งผลให้สาธารณชนตื่นตัวกับเรื่องนี้อย่างมาก นักข่าวพากันเข้าไปทำข่าวในเรือนจำ แม้เรือนจำจะพยายามกีดกันหรือสร้างภาพ แต่ด้วยนักข่าวมีจำนวนมาก และไปกันอย่างกระจัดกระจายทำให้เรือนจำไม่สามารถปกปิดสภาพและข้อมูลที่เป็นจริงได้ โดยเฉพาะเมื่อสื่ออเมริกันรายงานเรื่องนี้ รัฐบาลฝรั่งเศสรู้สึกเสียหน้าอย่งยิ่ง ส.ส.และ ส.ว.เขียนรายงานแสดงความอับอายและกำหนด 30 มาตรการในการปรับปรุงเรือนจำ รวมทั้งมีการตั้งคณะกรรมการจากภายนอกเข้าไปตรวจสอบ ยกเครื่องกันเป็นการใหญ่ ทั้งยังลามกันไปถึงการตรวจสอบการทำงานของผู้พิพากษาด้วย เพราะพบว่าหลายกรณีไม่ควรอยู่คุกแต่ก็ถูกตัดสินให้นอนคุก

ต้องกล่าวก่อนว่าในฝรั่งเศสจะแยกการคุมขังเป็น 2 ระบบ คือ สถานที่คุมขังบุคคลที่อยู่ระหว่างการต่อสู้คดีซึ่งต้องสันนิษฐานว่ายังเป็นผู้บริสุทธิ์ หรือหากตัดสินแล้วก็เป็นกลุ่มที่มีโทษเบา กับอีกแบบคือเรือนจำเต็มรูปแบบสำหรับคุมขังผู้ได้รับโทษหนัก

ทั้งนี้ เพราะในฝรั่งเศสมีนักโทษถึง 83% ที่มีโทษไม่ถึง 1 ปี โดยสถานคุมขังจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีและกฎระเบียบที่ผ่อนปรนกว่าเรือนจำมาก

ในสหภาพยุโรป คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนก็ตกใจมากที่เห็นสภาพเรือนจำ ในฝรั่งเศสแย่กว่าบางประเทศที่เป็นอิสระจากรัสเซียเสียอีก มีการวิจัยพบว่ามีการลงโทษที่ไม่สมควรด้วยแต่ก็ไม่มีใครแตะต้องตรวจสอบได้ ราวกับเรือนจำเป็น “รัฐซ้อนรัฐ” 

ข้อเสนอหลักๆ ที่หลายภาคส่วนต้องการให้รัฐบาลฝรั่งเศสทำคือ เรือนจำต้องมี 1 ห้องสำหรับนักโทษ 1 คน ถ้านอนกับพื้นรวมๆ กันไม่ใช่สภาพที่ดีสำหรับนักโทษ อีกทั้งต้องมีการปรับปรุงสภาพเรือนจำให้ดีขึ้น เพราะหลายแห่งสร้างในปี 1860 ซึ่งอยู่ในสภาพชำรุด เก่า อันตรายมาก บางทีเพดาน ฝ้า ก็ตกมาใส่หัวนักโทษ ฯลฯ หลังจากหนังสือออกมีการกันงบประมาณเกือบ 1 พันล้านยูโรเพื่อปรับปรุง หรือสร้างเรือนจำสมัยใหม่  อย่างไรก็ตาม ฝรั่งเศสอยู่ในอันดับ 23 ในการใช้งบประมาณในด้านกระบวนการยุติธรรม แม้จะเพิ่มงบทุกปีแต่ก็ถือว่าไม่มากนักเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในสหภาพยุโรป

ปี 1990 ผู้ต้องโทษในฝรั่งเศสยังไม่มีทีวี ไม่มีวิทยุ คนในเรือนจำต้องแต่งตัวในชุดนักโทษ แต่ปัจจุบันผู้ต้องขังมีทีวีดูตลอด และสามารถแต่งตัวได้ตามสะดวก สามารถพูดคุยกันได้ตามปกติ

อย่างไรก็ตาม เวโรนิคตั้งข้อสังเกตว่าเรือนจำสมัยใหม่ที่มีการปรับปรุงอย่างดีแล้วกลับมีอัตราการฆ่าตัวตายของนักโทษสูงขึ้นกว่าเดิม แสดงให้เห็นว่าว่านักโทษอยู่ในสภาพที่สิ้นหวัง ยังไม่มีกระบวนการเยียวยาบุคคลเหล่านี้อย่างดีพอ นอกจากนี้ยังพบว่ามียาเสพติดเข้าไปในเรือนจำด้วยแต่ส่วนใหญ่เป็นรายย่อย

“ไม่ใช่ต้องใช้เงินมหาศาลในการสร้างเรือนจำสมัยใหม่ แต่สิ่งที่นักโทษต้องการคือ เขารู้สึกอับอาย ระบบทั้งหมดทำให้เขารู้สึกอับอายและรู้สึกแย่ เขาต้องการสายตาแบบอื่นที่มองเขาแบบมนุษย์คนหนึ่ง” เวโรนิคกล่าว

นอกจากนี้ยังมีสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปอีกอย่างที่สำคัญ คือ มีศาลยุติธรรมในเรือนจำ เมื่อนักโทษถ้าทำอะไรผิดก็มีทนายความมาช่วยเหลือด้วย เรื่องนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ และยังมีเรื่องสิทธิของผู้ป่วยซึ่งมีพื้นฐานว่าแม้จะเป็นนักโทษก็ต้องได้รับสิทธิในการรักษาเท่าเทียบกับคนข้างนอก และมีสิทธิออกมารักษาตัวภายนอกได้หากจำเป็น แม้แต่ผู้ต้องโทษหนักในคดีก่อการร้ายก็ได้รับสิทธินี้ แต่การนำนักโทษไปรักษาข้างนอกนั้นต้องมีเจ้าหน้ที่ควบคุมไป และจะตีตรวนเฉพาะนักโทษที่อาจก่ออันตรายกับตัวเองและคนอื่นเท่านั้น

สำหรับผู้ป่วยด้านจิตเวช มีการเสนอว่าจะต้องมีการพิจารณาว่าเราไม่นำพวกเขาเข้าไปอยู่ในเรือนจำปะปนกับนักโทษทั่วไป โดยเฉพาะอาการทางจิตที่ชอบข่มขืนเด็กนั้น พบว่าผู้ต้องขังในเรือนจำ 20% เป็นโรคผิดปกติทางจิตประเภทนี้ พวกเขาได้พบจิตแพทย์เพียงเดือนละครั้ง ซึ่งน้อยเกินไป

และภายใน 20 ปีที่ผ่านมา พบว่าการนักโทษออกมากับครอบครัวบ้างจะสามารถปรับตัวได้เมื่อออกมา

สำหรับสุขภาพของนักโทษจะมีหน่วยอนามัยอยู่ภายใน และขึ้นกับโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ มี ก่อนเข้าเรือนจำจะมีการตรวจร่างกายผู้ต้องขัง ถ้าเป็นวัณโรคจะอยู่แยกต่างหาก มีโรคติดต่ออื่นหรือไม่ โดยพบว่าในเรือนจำมีผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเอและบี มากกว่าโลกภายนอกถึง 7 เท่า ส่วนเอชไอวีนั้น ไม่มีการปิดข้อมูลส่วนบุคคลเป็นความลับ ทำให้นักโทษรู้สึกอับอาย

ในฝรั่งเศส มีการยกเลิกโทษประหารตั้งแต่ปี 1981 และในปัจจุบันฝรั่งเศสจำคุกได้สูงสุดเพียง 30 ปี ไม่มีโทษตลอดชีวิต และยังมีการลงโทษอีกอย่างเรียกว่าการลงโทษที่ปลอดภัย ผู้ที่มีปัญหาทางจิตเมื่ออยู่ในเรือนจำออกมาแล้วจะอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย แต่ยังไม่ใช่สังคมวงกว้างนัก

แดนทอง บรีน กล่าวสรุปสิทธิของนักโทษที่ควรจะมี 

- ต้องไม่มีการลงโทษให้เจ็บปวดทางกาย ซึ่งจากการสำรวจ 19 ประเทศ มีอยู่ประเทศเดียวคือ สวีเดน ที่ไม่มีการซ้อมทรมานนักโทษ

- ต้องมีอกาสเข้าถึงครอบครัว, สิทธิในการแต่งงาน เรือนจำในประเทศแถบสแกนดิเนเวียอนุญาตให้ครอบครัวเข้าไปอาศัยกับผู้ต้องขังได้เป็นช่วงๆ

- สิทธิความเป็นส่วนตัว ควรเยี่ยมกับครอบครัวอย่างเป็นส่วนตัว การเขียนจดหมายเจ้าหน้าที่ต้องไม่อ่าน สิทธิของครอบครัวเป็นสิทธิหลักที่ไม่ควรปฏิเสธ

- สิทธิในการศึกษาและการทำงาน

- สิทธิในการแสดงออก แม้แต่การวิเคราะห์สภาพในเรือนจำ

- เสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ดูทีวี อ่านหนังสือพิมพ์ การใช้คอมพิวเตอร์ ซึ่งหลายประเทศกำหนดให้ผู้ต้องขังสามารถใช้คอมพิวเตอร์ได้ด้วยเพื่อติดต่อกับโลก

- เสรีภาพในการนับถือศาสนา

- สิทธิเลือกตั้ง การห้ามนักโทษออกเสียงเป็นการผิดต่อหลักการสิทธิพลเมือง เรือนจำทั่วโลกยังเป็นส่วนน้อยที่ให้นักโทษมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง นี่เป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะให้นักการเมืองสนใจปัญหาของเรือนจำ

- สิทธิในการรักษาที่จะเท่าเทียมกับคนข้างนอก

ถาม-ตอบ เสียงจากราชทัณฑ์

ในหลายประเด็นยังเป็นคำถามตัวใหญ่สำหรับเรือนจำในประเทศไทย มีหลายคำถามที่ตัวแทนระดับผู้บริหารจากกรมราชทัณฑ์ได้ตอบคำถามดังกล่าวในเวทีสัมนาเพื่อชี้แจงถึงเหตุผลที่มาที่ไปของกฎระเบียบด้วย อาทิ

- ทำไมพื้นที่นอนของผู้ต้องขัง กำหนดเพียง 2.5 ตารางเมตร? เนื่องจากประเทศเราเป็นเรือนนอนรวม เราจัดที่นอนตามสภาพที่นอนกันระดับชาวบ้านข้างนอก เป็นที่นอนที่กำลังสบาย หลักการของไทยกับต่างประเทศต่างกัน ต่างประเทศอยู่แต่ในห้องขัง ในไทยตื่นนอนแล้วผู้ต้องขังลงจากเรือนนอน ดังนั้นมันจึงเป็นแค่ที่นอน แต่ปัจจุบัน จำนวนผู้ต้องขังแออัด ทำให้เราต้องลดพื้นที่นอนไปตามสภาพความเป็นจริง เพราะเราไม่มีกฎหมายห้ามเรือนจำรับผู้ต้องขังกรณีเกินความจุเหมือนต่างประเทศ

- กำหนดโทษสูงหลายสิบปี ? ปัจจุบันการกำหนดโทษอย่าง 120 ปีไม่มีแล้ว ตามกฎหมายปัจจุบันต้องเหลือไม่เกิน 40-50 ปีเท่านั้น และยังมีการลดโทษระหว่างคุมขังเป็นระยะ ทำให้กำหนดโทษสูงสุดโทษประหาร ตลอดชีวิต จะอยู่ช่วงระยะ 12-15 ปี สอดคล้องกับกฎหมายต่างประเทศที่โทษสูงสุดมักอยู่ที่ 15 ปี

- ผู้ต้องขังไม่สามารถดูข่าว นสพ.ได้? เพราะผู้ต้องขังมีมาก เจ้าหน้าที่น้อย เราแก้ตัวไม่ได้ เราอนุญาตให้ดูข่าวแต่ที่บันทึกเทปเท่านั้น แต่ในทางปฏิบัติอาจเป็นได้ที่ไม่ได้ดำเนินการตามที่สั่งการ เพราะกำลังมีไม่พอ แต่ นสพ.อนุญาตให้นำเข้าแล้ว แต่ส่วนใหญ่ผ่านการตรวจสอบข่าวแล้ว เพราะเคยมีกรณีที่นักโทษดูข่าวการก่อจลาจลในเรือนจำแล้วเอาอย่าง เจอ 2-3 แห่งในเวลาเดียวกัน

- เครื่องพันธนาการ? ยอมรับว่าเป็นปัญหาหนักใจของกรมราชทัณฑ์ เนื่องจากเรือนจำความมั่นคงสูง ใน1 แดนคุม 600-700 คน มีผู้คุม 14 คน ถ้าไม่มีเครื่องพันธนาการ เจ้าหน้าที่ไม่กล้าควบคุม มันเสี่ยงมาก แต่ไม่ใช่ว่ากรมราชทัณฑ์จะละเลย เรากำลังปรับปรุงสถานที่คุมขังเพื่อให้ปลดพันธนาการได้

- ทำไมเรือนจำหญิงจังเข้มงวดกว่าเรือนจำชายมาก? ผู้ต้องขังหญิงยอมรับกติกาค่อนข้างสูง ผู้ชายต่อต้านสูง คนเยอะเจ้าหน้าที่น้อย จึงต้องอาศัยความยืดหยุ่นมากกว่า ดังนั้น เรือนจำหญิงนั้นเข้มตามระเบียบ ไม่ใช่ผิดปกติ

- การปฏิบัติต่อนักโทษการเมืองเป็นอย่างไร? นักโทษการเมืองไม่มีถูกจับในเรือนจำ แต่ละคนที่ถูกจับผิดคดีอาญาทั้งสิ้น ไม่เคยลอนสิทธิ ก้าวล่วงในแนวความคิดของนักโทษที่เห็นแตกต่าง เราแค่กันไม่ให้เขาตีกันเท่านั้นเอง พยายามดูแลภายใต้สภาวะ ทรัพยากรที่เรามีอยู่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท