สภาทนายฯ แนะ รบ.ไทยเจรจาพม่าสร้างความปลอดภัย ก่อนส่งผู้ลี้ภัยกลับ

(13 มิ.ย.54) คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ ซึ่งมีนายสุรพงษ์ กองจันทึก เป็นประธานคณะอนุกรรมการฯ ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี สำเนาถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ว่าด้วยการกลับคืนสู่ถิ่นฐานด้วยความสมัครใจของผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิงเพื่อลี้ภัยชาวพม่า โดยเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาว่า รัฐบาลไทยควรต้องดำเนินการให้เป็นไปตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ โดยควรเร่งปฏิรูปงานด้านผู้ลี้ภัยให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นด้วยการสนับสนุนและส่งเสริมสิทธิในชีวิต ร่างกาย และสิทธิที่จะไม่ถูกปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรม รวมถึงสิทธิเฉพาะด้านของกลุ่มผู้ลี้ภัยที่มีความเปราะบาง เช่น เด็ก สตรี คนพิการ และคนชรา สร้างความมั่นใจในความปลอดภัยให้แก่กลุ่มผู้ลี้ภัยก่อนดำเนินการส่งกลับคืนสู่ถิ่นฐานเดิม อาทิ เรียกร้องและกดดันให้รัฐบาลพม่า เคารพและไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนของชนกลุ่มน้อยและประชาชน รวมถึงส่งเสริมให้รัฐบาลพม่าสร้างมาตรการและกลไกเยียวยาเหยื่อของการละเมิดสิทธิมนุษยชน และพิจารณาความเป็นไปได้ในการเข้าเป็นภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยสถานะผู้ลี้ภัย พร้อมระบุว่า คณะอนุกรรมการฯ เชื่อว่าการดำเนินการตามข้อเสนอดังกล่าวจะนำมาซึ่งความสมัครใจของผู้ลี้ภัยที่จะเดินทางกลับภูมิลำเนา ทั้งยังเอื้อต่อการจัดการส่งบุคคลเหล่านี้กลับคืนสู่ถิ่นฐานโดยสงบ นอกจากนั้น ยังเป็นการส่งเสริมภาพพจน์ที่ดีของประเทศไทยในการวางรากฐานสิทธิมนุษยชนให้เกิดขึ้นทั้งในประเทศของตนและประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างยั่งยืน เนื้อหาหนังสือ มีดังนี้ ที่ สสม 472/2554 13 มิถุนายน 2554 เรื่อง การกลับคืนสู่ถิ่นฐานด้วยความสมัครใจของผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิงเพื่อลี้ภัยชาวพม่า กราบเรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี สำเนาถึง 1. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย 2. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม 3. เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ สิ่งที่ส่งมาด้วย เอกสารเรื่อง “การกลับคืนสู่ถิ่นฐานด้วยความสมัครใจของผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิง เพื่อลี้ภัย: จากหลักการไปสู่การปฏิบัติ” ด้วย คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ ซึ่งมีหน้าที่และความรับผิดชอบตามพระราชบัญญัติสภาทนายความ พ.ศ. 2528 ในการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น ตามหลักการสิทธิมนุษยชนและกฎหมาย ทั้งยังได้ศึกษาวิจัยข้อมูลวิชาการ แนวนโยบาย และแนวทางปฏิบัติในเรื่องนี้ เพื่อนำมาจัดทำเป็นข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เกิดการพัฒนาไปในแนวทางที่ถูกต้องและเหมาะสม ได้ทราบถึงกรณีที่รัฐบาลกำลังพิจารณาความเป็นไปได้ในการส่งผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิงเพื่อลี้ภัยชาวพม่ากลับคืนสู่ถิ่นฐานเดิมในสหภาพพม่า ซึ่งปัจจุบันปกครองโดยรัฐบาลชุดใหม่ตามรัฐธรรมนูญของประเทศ การนี้ เป็นที่ทราบดีว่า หลักการสิทธิมนุษยชนสากลเรื่องผู้ลี้ภัย โดยเฉพาะในเรื่องการกลับคืนสู่ถิ่นฐานเดิมนั้น กำหนดให้ประเทศผู้รับ ต้องเคารพสิทธิมนุษยชนของผู้ลี้ภัย และสนับสนุนให้สามารถเดินทางกลับสู่ประเทศของตนได้อย่างเสรี ด้วยความสมัครใจ ปลอดภัย และมีศักดิ์ศรี เหล่านี้ เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ได้รับการคุ้มครองไว้ในกติกาและอนุสัญญาระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคี กล่าวคือ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) และอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT) อันเป็นกฎหมายที่มีผลผูกพันให้ประเทศไทยต้องเคารพและปฏิบัติตามโดยไม่มีข้ออ้างหรือข้อยกเว้น แม้ในเวลานี้ สหภาพพม่าจะมีรัฐบาลที่ก่อตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ หากแต่ในความเป็นจริงพบว่า การต่อสู้กันระหว่างกองกำลังทหารพม่าและกองกำลังของชนกลุ่มน้อยตามแนวชายแดนยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งไม่มีหลักฐานสนับสนุนใดๆ ที่จะทำให้มั่นใจได้ว่ารัฐบาลพม่าจะไม่คุกคามสิทธิ เสรีภาพ และความเป็นอยู่ของกลุ่มผู้ลี้ภัยเมื่อเดินทางกลับประเทศ เช่นนี้ อาจทำให้ประเทศไทยตกอยู่ ในสถานะที่ล่อแหลมต่อการฝ่าฝืนกติกาและอนุสัญญาระหว่างประเทศข้างต้นหากเกิดเหตุรุนแรงต่อผู้ลี้ภัยในภายหลัง เนื่องจากที่ผ่านมา มีหลักฐานปรากฏอยู่บ่อยครั้งว่า แม้รัฐบาลพม่าจะรับรองความปลอดภัยให้กับผู้ลี้ภัยที่ถูกส่งกลับถิ่นฐานในประเทศแล้ว หากแต่ความปลอดภัยกลับมิได้เกิดขึ้นจริง เป็นเหตุให้ผู้ลี้ภัยเดินทางกลับมายังประเทศไทยซ้ำอีก และก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆ ที่ซับซ้อนและยากต่อการแก้ไขตามมา ดังนั้น คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติฯ จึงขอเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน อันจะนำความสงบ ความมั่นคง และภาพลักษณ์อันดีมาสู่ประเทศไทย โดยสรุปดังนี้ ประเทศไทย ในฐานะประธานคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ยึดหลักการเคารพและคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของมนุษย์มาโดยตลอด ดังนั้น ในประเด็นผู้ลี้ภัย รัฐบาลจึงจำต้องดำเนินการให้เป็นไปตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ โดยควรเร่งปฏิรูปงานด้านผู้ลี้ภัยให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นด้วยการสนับสนุนและส่งเสริมสิทธิในชีวิต ร่างกาย และสิทธิที่จะไม่ถูกปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรม รวมถึงสิทธิเฉพาะด้านของกลุ่มผู้ลี้ภัยที่มีความเปราะบาง เช่น เด็ก สตรี คนพิการ และคนชรา ก่อนจะดำเนินการส่งผู้ลี้ภัยกลับคืนสู่ถิ่นฐานเดิม รัฐบาลไทยควรต้องสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยให้แก่กลุ่มผู้ลี้ภัย โดยแสดงให้เห็นว่า การกลับภูมิลำเนามีความปลอดภัยเพียงพอ ไม่ว่าจะเป็นความปลอดภัยทางร่างกาย ทางกฎหมาย และทางวัตถุทรัพย์สิน หมายรวมถึงจะต้องไม่มีการกระทำที่ละเมิดต่อสิทธิมนุษยชนจากฝ่ายใดๆ อันกระทบต่อศักดิ์ศรีความมนุษย์ของผู้ลี้ภัย ซึ่งการจะสร้างความมั่นใจดังกล่าวให้เกิดขึ้นได้นั้น จำเป็นต้องอาศัยกลไกการต่อรองที่มีระหว่างกัน เพื่อ เรียกร้องและกดดันให้รัฐบาลพม่า เคารพและไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนของชนกลุ่มน้อยและประชาชน จัดทำมาตรการคุ้มครองดูแลสิทธิ ความต้องการ และสวัสดิการต่างๆ สำหรับกลุ่มที่มีความเปราะบาง พร้อมทั้งให้ฟื้นฟูกลไกในการรักษากฎหมาย การอำนวยความยุติธรรม และการมีส่วนร่วมขององค์กรสิทธิมนุษยชนต่างๆ ลงนามในสัญญาพหุภาคีระหว่างรัฐบาลไทย รัฐบาลพม่า และสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ว่าด้วยการรับรองสิทธิอันเนื่องมาจากการกลับคืนสู่ถิ่นฐานของผู้ลี้ภัย ซึ่งต้องมีเนื้อหาให้รัฐบาลพม่าเคารพและยอมรับสิทธิในการเดินทางกลับภูมิลำเนาโดยไม่มีข้อแม้ พร้อมทั้งยกเลิก หรืออย่างน้อยที่สุด ยกเว้นข้อจำกัดต่างๆทางกฎหมายและทางบริหารเรื่องการเดินทางของผู้ลี้ภัย และต้องออกกฎหมายคุ้มครองและคืนสิทธิที่ชอบธรรมให้แก่ผู้ลี้ภัย เช่น สิทธิและสถานะพลเมือง การอภัยโทษ และการจดทะเบียนราษฎร ส่งเสริมให้รัฐบาลพม่าสร้างมาตรการและกลไกเยียวยาการเหยื่อของการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งรวมถึงการเปิดโอกาสให้มีองค์กรหรือหน่วยงานอิสระเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อให้การดำเนินการมีมาตรฐานและเป็นธรรม เพื่อลดภาระทั้งด้านงบประมาณและการจัดสรรทรัพยากรบุคคลของภาครัฐในการดูแลผู้ลี้ภัย และเพื่อให้การแก้ปัญหาผู้ลี้ภัยมีความเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น รัฐบาลไทยควรพิจารณาความเป็นไปได้ในการเข้าเป็นภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยสถานะผู้ลี้ภัย (Convention on the Status of Refugee) ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ประชาคมโลกได้เข้ามามีส่วนช่วยเหลือทั้งทางด้านการกำหนดนโยบาย การปฏิบัติงานและด้านงบประมาณ ตามที่รับรองไว้ในอนุสัญญาฯ ในการนี้ คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติฯ เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า การดำเนินการตามข้อเสนอดังกล่าวข้างต้น ย่อมนำมาซึ่งความสมัครใจของผู้ลี้ภัยที่จะเดินทางกลับภูมิลำเนาของตน ทั้งยังเอื้อต่อการจัดการส่งบุคคลเหล่านี้กลับคืนสู่ถิ่นฐานโดยสงบ นอกจากนั้น ยังเป็นการส่งเสริมภาพพจน์ที่ดีของประเทศไทยในการวางรากฐานสิทธิมนุษยชนให้เกิดขึ้นทั้งในประเทศของตนและประเทศเพื่อนบ้าน ได้อย่างยั่งยืน จึงกราบเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา ขอแสดงความนับถืออย่างยิ่ง (นายสุรพงษ์ กองจันทึก) ประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท