‘ประชาธรรม’ พรรคมลายู... ‘วัดใจ’คนมลายู!!

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ถึงนาทีนี้ ต้องนับว่าการเลือกตั้งปี ’54 ได้ทะยานใกล้ถึงโค้งสุดท้ายเต็มทีแล้ว!! และในขณะที่ทุกสายตากำลังโฟกัสไปยังภาพรวมการเลือกตั้งทั่วประเทศ ว่าพรรคไหนจะได้คะแนนเสียงข้างมากและเป็นฝ่ายจัดตั้งรัฐบาล หรือได้คะแนนเสียงข้างมากแล้วจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้หรือไม่?? หากแต่ที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น นอกจากบรรยากาศเลือกตั้งที่มีการแข่งขันอย่างดุเดือดของผู้สมัครซึ่งไม่ต่างจากส่วนอื่นๆ ของประเทศแล้ว พร้อมๆ กับการเลือกตั้งหนนี้ มีปรากฎการณ์ใหม่ที่ได้บังเกิดขึ้นเป็นพิเศษ!! นั่นคือ การออกมาสู้ศึกเลือกตั้งของพรรคการเมืองใหม่เอี่ยมที่ประกาศตนเป็นพรรคของคนจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในนาม ‘พรรคประชาธรรม’ ! โดยการเลือกตั้งครั้งนี้ ‘ประชาธรรม’ ได้ส่งผู้สมัครในระบบบัญชีรายชื่อ 25 คน ในระบบเขตได้ส่งผู้สมัครลงสู้ศึกครบทุกเขต 3 จังหวัด ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และอีก 1 เขตที่จังหวัดสตูล ความไม่ธรรมดาของ ‘พรรคประชาธรรม’ ที่นอกจากจะมาพร้อมสโลแกนที่ดึงดูดใจอย่าง ‘สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงได้เริ่มขึ้นแล้ว’ ซึ่งน่าจะมีนัยประหวัดไปยัง ‘ความสันติสุข’ ที่จักมีขึ้นพร้อมๆ การมาของพรรคประชาธรรม แต่ที่น่าจับตาคือ การประกาศตนชัดเจนผ่านใบปลิว และแผ่นป้ายหาเสียงต่างๆ ของพรรคทั้งภาษาไทยและภาษายาวี ว่า ตนคือ ‘พรรคของคนมลายู’ และเป็นพรรคคนมลายูเพียง ‘หนึ่งเดียว’ ที่มีอยู่ในประเทศนี้!! การอาจหาญฝ่าวงล้อม ‘กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า’ จุดกระแสหาเสียงด้วยประเด็น ‘เซ็นซิทีฟ’ ที่ยังไม่เคยมีใครในสามจังหวัดชายแดนกล้าทำมาก่อน โดยเฉพาะในวันที่ไฟใต้ยังคงลุกโชนแบบจับมือใครดมไม่ได้ จึงก่อให้เกิดคำถามว่าพวกเขาเป็นใคร?? เมื่อเข้าไปไล่เรียงค้นหาดูรายชื่อผู้ก่อตั้งและกรรมการบริหารพรรคแล้ว ก็พบว่า ที่พอจะมีชื่อชั้นบ้างก็เพียงหัวหน้าพรรคที่ชื่อ ‘มุคตาร์ กีละ’ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยทำงานการเมืองในตำแหน่งเลขาธิการ ‘พรรคสันติภาพไทย’ ร่วมกับ ‘นายพิเชษฐ สถิรชวาล’ อดีต รมต.หลายสมัย แต่นอกนั้นล้วนเป็นรายชื่อที่ ‘โนเนม’ทางการเมืองทั้งสิ้น กระนั้น ความไร้เดียงสาทางการเมือง ก็ไม่สำคัญเท่ากับการที่พวกเขาล้วนเป็นคนจาก ‘จังหวัดชายแดนภาคใต้’ จนกล่าวได้ว่า นี่คือการรวมตัวครั้งสำคัญของคนมลายูจังหวัดชายแดนใต้ เพื่อเดินเกมทางการเมืองอย่างเป็นระบบที่สุดเท่าที่เคยมีมา!! หากแต่การหาญกล้าประกาศตนเป็นพรรคของคนมลายูที่มีนัยชัดเจนถึงความเป็นพรรค ‘มุสลิม’ รวมทั้งผู้ก่อตั้งล้วนเป็นมุสลิมจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในวันที่สถานการณ์กำลังอยู่ในห้วงร้อนระอุจากความไม่สงบ นัยคำถามมากมายจึงพุ่งไปยัง ‘พรรคประชาธรรม’ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ !! ประเด็นสำคัญที่พรรคประชาธรรมถูกโฟกัสมากที่สุดในตอนนี้ คือ ‘ความเชื่อมโยง’ กับกลุ่มขบวนการฯ หรือ แนวร่วม?? แล้วยิ่งเมื่อเพ่งพินิจไปยังป้ายหาเสียงของผู้สมัครในพื้นที่ รวมทั้งโซเชียลเน็ตเวิร์ก ในเฟสบุ๊คที่ชื่อ ‘ประชาธรรม ซับพอร์ท’ และ ‘พรรคมลายู พรรคประชาธรรม’ ที่ยิงสโลแกน “กระบวนการยุติธรรมที่ล่าช้า คือหนึ่งในความอยุติธรรม” “คนมลายูมีอยู่ในทุกพรรค แต่พรรคคนมลายูมีเพียงหนึ่งเดียว” หรือ “พรรคอื่นเป็นเพียงของประดับ แต่พรรคเรา คือสายเลือด...ทายาทแห่งมาตุภูมิ” เหล่านี้เป็นต้น ยิ่งทำให้คนทั่วไปอดเข้าใจไม่ได้ว่า นี่คือ การส่งสัญญาณ ‘SOS’หรือสัญญาณขอความช่วยเหลือไปยังแนวร่วมฯ และคนมลายูที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ให้สนับสนุนพวกเขาเพื่อเข้าไปเป็นตัวแทนและกระบอกเสียงในระบบรัฐสภา ที่ผ่านมา การเดินเกมและยุทธศาสตร์หาเสียงของพรรคประชาธรรมแม้จะเป็นไปอย่างเงียบๆ ไม่ว่าจะด้วยความตั้งใจของพวกเขา หรือถูกมองข้ามละเลยจากสื่อกระแสหลักหรือแม้กระทั่งสื่อในพื้นที่เอง ว่าพรรคประชาธรรมเป็นเพียงพรรคเล็กหรือพรรคไม้ประดับ แทบจะไม่ได้ถูกนำเสนอในหน้าสื่อ หากแต่เบื้องลึก เมื่อพิเคราะห์อย่างละเอียดก็พบว่าพวกเขามิใช่เป็นเช่น ‘ตะเกียงไร้น้ำมัน’ ตามภาพที่ปรากฏภายนอกแต่อย่างใด!! ทว่าก้าวเดินของ ‘พรรคประชาธรรม’ เป็นไปอย่างเป็นระบบ และมิใช่เพิ่งเริ่มเดินเกมมวลชนเพียง 2 ปีที่จดทะเบียนพรรคตามที่คนทั่วไปเข้าใจเท่านั้น หากแต่พวกเขาได้วางรากฐานมาก่อนหน้านั้นผ่าน ‘มูลนิธิ ฮิลาลอะห์มัร’ ซึ่งทำงานด้านอาสาสมัครกู้ภัยในพื้นที่เสี่ยงภัย 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีรถกู้ภัยกว่า 10คันที่วิ่งช่วยเหลือชาวบ้านหรือแม้กระทั่งเจ้าหน้าที่รัฐก็เคยได้รับความช่วยเหลือจากพวกเขาอยู่เนืองๆ จึงนับได้ร่วม 7 ปี ที่พวกเขาได้เข้าไปทำงานภาคประชาสังคมจนได้รับความยอมรับและไว้วางใจจากคนในพื้นที่ และที่สังเกตได้ชัด จากการที่พวกเขาได้ออกสตาร์ทตั้งแต่ก่อนหน้าการประกาศกฤษฎีกาเลือกตั้ง โดยเริ่มเดินสายหาเสียงก่อนพรรคใดๆ ด้วยการตั้งเวทีปราศรัยมาแล้ว 3 จังหวัดกว่า 15 จุด และปรากฏว่าทุกจุดมีผู้สนใจร่วมรับฟังมากกว่า 3,000-7,000 คนเลยทีเดียว ซึ่งอย่างน้อยๆ นี่ก็เป็นเครื่องการันตีได้ว่า พวกเขามิได้ละอ่อนทางการเมือง อย่างที่ใครๆ เข้าใจ!! ถึงวันนี้ จึงกล่าวได้ว่าเสียงสนับสนุนของพวกเขานั้นมาแรงซึมลึกอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในเขต ‘พื้นที่สีแดง’ ชายป่าเชิงเขานั้นแทบไม่ต้องกล่าวถึง เพราะในขณะที่ผู้สมัครจากพรรคอื่นไม่กล้าลงพื้นที่หาเสียง อาทิตย์ใกล้พลบค่ำเป็นต้องรีบชิ่งเข้าเมือง แต่กลับกันผู้สมัครจากพรรคประชาธรรมกลับสามารถเดินตะลอนๆ เข้าไปร่วมละหมาดค่ำ กินข้าวเย็นกับชาวบ้าน จนดึกดื่นค่อยกลับก็มิเป็นไร กล่าวได้ว่าพวกเขาถูกตอบรับอย่าง ‘อบอุ่น’ เลยทีเดียว!! เอาเป็นว่าความแรงของพวกเขา ทำให้พรรคการเมืองขนาดกลางอีกพรรคหนึ่งที่วางตัวเป็นพรรคมุสลิมด้วย ถึงกับนั่งไม่ติดก็แล้วกัน ทำให้ในการหาเสียงที่จังหวัดสตูล หัวหน้าพรรคดังกล่าวเผลอหลุดอัดพรรคประชาธรรมตรงๆ ว่า “พรรคนี้เป็นพรรคของแนวร่วมขบวนการ”!! ถึงนาทีนี้หลายฝ่ายจึงสงสัยว่า หรือนี่คือ การออกมาจากที่ลับสู่ที่แจ้ง เพื่อสู้ทางการเมืองในระบบ ซึ่งหมายถึงเพียงเปลี่ยนยุทธวิธี แต่เป้าหมายยังคงเดิม ใช่หรือไม่?? ‘มุคตาร์ กีละ’ หัวหน้าพรรคประชาธรรม เคยให้สัมภาษณ์ใน นสพ.พับลิกโพสต์ ซึ่งเป็นนสพ.รายเดือนที่เป็นที่นิยมของชาวมุสลิม เล่าถึงที่มาของการก่อตั้งพรรคประชาธรรมว่า “การทำงานในนามองค์กรอาสาสมัครทำได้แค่บรรเทา แต่ไม่สามารถนำเสนอหรือผลักดันนโยบายสำคัญๆ ในการแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ที่มีปัญหารุมเร้าซับซ้อนที่คนภายนอกไม่สามารถเข้าใจดีเท่าคนในพื้นที่ จึงเป็นที่มาของการคิดก้าวไปสู่การตั้งพรรคการเมืองที่เป็นของคนพื้นที่ เพื่อแก้ปัญหาให้คนพื้นที่เอง”(พับลิกโพสต์ ฉบับที่ 28 พ.ค.2553) และเมื่อผู้สื่อข่าว นสพ.พับลิกโพสต์ ถามถึงความสัมพันธ์ระหว่างพรรคประชาธรรมและแนวร่วมฯ มุคตาร์ กีละ ไม่ได้ตอบรับหรือปฏิเสธ เพียงบอกว่า “วันนี้ทำยังไงให้ชาวบ้านเห็นว่าการเกิดขึ้นของพรรคประชาธรรมใครได้ประโยชน์สูงสุด ประชาชนสองล้านได้ประโยชน์ไหม หรือฝ่ายรัฐได้ประโยชน์ หรือฝ่ายขบวนการได้ประโยชน์ เราไม่ได้ปฏิเสธว่าเรารู้จักพิราบทั้งสองฝ่าย และทุกฝ่ายก็รู้จักกลุ่มเราดี แต่เมื่อเรากำหนดชัดเจนว่าเราจะยืนอยู่เคียงข้างกับประชาชนในงานทางการเมือง ซึ่งเป็นรูปแบบสันติวิธีแบบหนึ่ง ทุกฝ่ายก็ต้องดูแล ก็ต้องไม่ทำร้าย เพราะเราพยายามเป็นที่พึ่งของประชาชน” (พับลิกโพสต์ ฉบับที่ 28 พ.ค.2553) พร้อมกันนั้นเขาได้ยืนยันว่า “แม้เราเป็นพรรคการเมืองที่ก่อตั้งโดยชาวมลายู แต่เราอาสาเป็นแกนกลางให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการสร้างสันติภาพเพื่อที่นี่”(วารสารประชาธรรม) ในหลายๆ วาระ มุคตาร์ กีละ หัวหน้าพรรคประชาธรรม ได้พูดถึงความพยายามอย่างหนักของพวกเขาในการก่อร่างสร้างพรรคประชาธรรมจนสามารถนำสู่การลงสู้ศึกในการเลือกตั้งหนนี้ ว่า “วันนี้ เราคือคนมลายู ที่ได้เดินมาไกลกว่าที่คนมลายูใดเคยเดินมาถึง และนับจากนี้ อนาคตเบื้องหน้าของเราได้อยู่ในลิขิตของพี่น้องมลายูแล้ว” ดังนั้น เมื่อการคงอยู่หรือไปของพวกเขา ได้ฝากความหวังไว้กับคนมลายู ซึ่งนั่นหมายความว่า เพียงไม่วันข้างหน้านี้ ก็จะเป็นที่ประจักษ์ว่าพี่น้องมลายูของพวกเขาเองจะเลือกเป็น ‘ผู้ตัดสายสะดือ’ หรือ ‘ทำแท้ง’ แจ้งเกิดหรือถูกฝังจมดิน ชะตาพวกเขาจึงถูกฝากไว้ในกำมือมลายูที่พวกเขาไว้ใจ และคำตอบที่ชัดเจน จะอุบัติในวันที่ 3กรกฎาคมนี้ !! ส่วนการกำเนิดของพรรคประชาธรรมสู่สารบบพรรคการเมือง ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นส่วนหนึ่งของแนวร่วมขบวนการฯ ที่ออกมาทำงานการเมืองอย่างเปิดเผย หรือ นี่คือความตั้งใจจริงของคนพื้นที่ ซึ่งไม่อาจทนนิ่งดูดายกับความเลวร้ายที่เกิดขึ้นในบ้านเกิดของพวกเขา และไม่ว่าพวกเขาจะเป็นใคร แต่การที่พวกเขาออกมาทำงานการเมืองในที่แจ้งก็เป็นเรื่องดีสำหรับคนในพื้นที่ชายแดนใต้ เหมือนที่ปรมาจารย์ด้านสงครามเคยกล่าวไว้ว่า “การเมืองคือสงครามที่ไม่หลั่งเลือด ส่วนสงครามคือการเมืองที่หลั่งเลือด”...

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท