Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เผยแพร่ครั้งแรก: มติชนรายวัน 13 มิถุนายน พ.ศ. 2554 

 

คอนสแตนติน ฟอลคอน หรือเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ มีความจงรักภักดีต่อสมเด็จพระนารายณ์อย่างจริงใจหรือไม่? คงไม่มีใครตอบได้ แต่การกระทำในนามของความจงรักภักดีของเขา ล้วนให้อำนาจและประโยชน์ทางเศรษฐกิจแก่เขาอย่างมากทั้งสิ้น

การนำกองทหารฝรั่งเศสเข้ามาในราชอาณาจักร ก็เพื่อสร้างกองกำลังทันสมัยไว้ปกป้องคุ้มครองตัวเขาเอง แต่เขาโน้มน้าวให้พระเจ้าแผ่นดินเห็นด้วย โดยอ้างภยันตรายจากต่างชาติ และต่อต้านแผนกบฏของขุนนาง เช่นเดียวกับการหลอกลวงกษัตริย์ฝรั่งเศสให้หลงเชื่อว่า พระมหากษัตริย์อยุธยากำลังจะเปลี่ยนศาสนา จนกษัตริย์ฝรั่งเศสส่งบาทหลวงผู้รับสารภาพบาปประจำพระองค์มาเพื่อทำพิธีรับศีลจุ่มให้สมเด็จพระนารายณ์ ก็ฝีมือของฟอลคอนอีกเช่นกัน

เขาอาจทำด้วยความจงรักภักดีก็ได้ เพราะตัวเขาเองแสดงตนว่ามีศรัทธาอย่างแรงกล้าต่อศาสนาคาทอลิก (หลังจากได้เปลี่ยนศาสนามา 2 ครั้งแล้ว) จึงต้องการให้ผู้ที่เขาจงรักภักดีได้รับพระเมตตาจากพระเจ้าองค์เดียวกัน นอกจากนี้หากไม่มีเรื่องอันกษัตริย์ฝรั่งเศสจะถือเป็นเกียรติยศยิ่งใหญ่ คือกลับใจกษัตริย์ในแดน "กึ่งอารยะ" ของเอเชียได้ หลุยส์ก็อาจไม่ส่งทหารมาประจำที่อยุธยา ก็สัมพันธ์เชื่อมโยงกับอำนาจและผลประโยชน์ของฟอลคอนเอง

การกระทำในนามของความจงรักภักดีเหล่านี้ เป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้ศัตรูของสมเด็จพระนารายณ์ ประสบความสำเร็จในการโค่นล้มพระนารายณ์ลงในที่สุด

หลักฐานของบาทหลวงฝรั่งเศสรูปหนึ่ง ที่ได้เห็นเหตุการณ์ที่ลพบุรีในวันเกิดจลาจลรายงานว่า ประชาชนพากันออกมาชุมนุม (หลักฐานใช้คำว่า "เดินขบวน" ซึ่งคงไม่มีการจัดองค์กรถึงขนาดนั้น) เพราะพระสงฆ์ยุยงปลุกปั่นให้ออกมาปกป้องพุทธศาสนา เนื่องจากพระเจ้าแผ่นดินกำลังจะเปลี่ยนศาสนาเป็นคาทอลิก การจลาจลในปลายรัชกาลเปิดโอกาสให้พระเพทราชา สามารถใช้สถานการณ์ความวุ่นวายนี้ยึดอำนาจจากสมเด็จพระนารายณ์ ซึ่งใกล้จะสวรรคตบนพระแท่นบรรทมได้สำเร็จ

ฟอลคอนจงรักภักดีต่อสมเด็จพระนารายณ์อย่างผิดๆ หรือฟอลคอนไม่เคยจงรักภักดีต่อใครเลย นอกจากตัวเขาเองกันแน่? คงไม่มีใครตอบได้

แต่การแสดงความจงรักภักดีมักเป็นดาบสองคมเสมอ ด้านหนึ่งก็ส่งเสริมพระบารมีให้ประจักษ์ แต่อีกด้านหนึ่งอาจก่อให้เกิดความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์ต่อพระมหากษัตริย์แรงขึ้น แสดงแค่ไหนจึงจะพอดีและงดงาม จึงเป็นสิ่งที่ผู้จงรักภักดีด้วยความจริงใจต้องไตร่ตรองพิจารณาอย่างรอบคอบ

ในทางตรงกันข้าม ผู้ที่แยกไม่ออกระหว่างความจงรักภักดี กับอำนาจและผลประโยชน์ส่วนตัว มักจะแสดงออกจนเลยเส้นของความพอดีและงดงาม เพราะความพอดีและงดงามมักจะไม่ช่วยผลักดันอำนาจและผลประโยชน์ส่วนตัว

ในแง่หนึ่ง คำสารภาพของ พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด ในคดีที่อาจารย์สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ฟ้องหมิ่นประมาทนั้นน่าตกใจ

โฆษก ผอฉ.ยอมรับว่า ผังล้มเจ้าที่แจกจ่ายสื่อมวลชนในระหว่างการชุมนุมของเสื้อแดงนั้น ไม่ได้ระบุว่าบุคคลที่มีชื่ออยู่ในขบวนการล้มเจ้า เพียงแต่แสดงความสัมพันธ์ของบุคคลต่างๆ (ซึ่งบางคนอาจต้องคดีละเมิดสถาบันอย่างใดอย่างหนึ่ง) นับตั้งแต่ความสัมพันธ์เชิงเครือญาติ ไปจนถึงความสัมพันธ์อื่นๆ

น่าตกใจอย่างแรกก็คือ เป็นครั้งแรกที่รัฐไทยยอมรับอย่างไม่อายว่า ประเทศนี้ถือว่า ความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น ซึ่งหลายกรณีเราเลือกไม่ได้ เช่น พ่อ-ลูก, ครู-ศิษย์, แพทย์-คนไข้, ผู้บังคับบัญชา-ผู้ใต้บังคับบัญชา, กองทัพบก-โฆษกกองทัพบก ฯลฯ อาจเป็นอาชญากรรมได้ หากคู่ความสัมพันธ์กระทำผิดกฎหมาย ฝรั่งเรียกว่า guilt by association

ในฐานะคนไม่เคยเรียนกฎหมาย ขออนุญาตได้อธิบายปัญหาของระบบกฎหมายที่ถือว่าความสัมพันธ์เป็นความผิดไว้หน่อยว่า ความผิดประเภทนี้เป็นความผิดที่ไม่มีใครคาดเดาได้ว่าสัมพันธ์กับใคร อย่างไร จึงจะถือได้ว่าเป็นความผิด ดังนั้นรัฐจึงสามารถกล่าวโทษใครก็ได้ที่รัฐไม่ชอบหน้า ว่ามีความสัมพันธ์ผิด (ไม่ใช่มีการกระทำที่ผิด)

กฎหมายหรือแบบปฏิบัติอย่างนี้มีอันตรายอย่างยิ่งต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคล เพราะให้อำนาจรัฐไว้อย่างไร้ขีดจำกัด จึงไม่มีใครกล้าใช้สิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้อีกเลย

เช่นเดียวกับเรื่องห้ามใช้กฎหมายย้อนหลัง เพราะให้ใช้ย้อนหลังได้ ก็ไม่มีใครรู้ว่าสิ่งที่ตัวทำนั้นผิดหรือไม่ ถึงไม่ผิดกฎหมายในตอนทำ แต่รัฐก็อาจออกกฎหมายมาเอาผิดในภายหลังได้ สิทธิเสรีภาพประชาธิปไตยก็ไร้ความหมาย

ผมอยากเห็นนักเรียนกฎหมาย, ครูสอนกฎหมาย, และคนที่ใช้กฎหมายในกระบวนการยุติธรรมทุกระดับ วินิจฉัยกฎหมายโดยหลักสิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตย อย่างคนที่ไม่เคยเรียนกฎหมายเช่นผมบ้าง แทนที่จะใช้ "ความยุติธรรม" ลอยๆ เป็นหลักในการวินิจฉัยอย่างเดียว

อันที่จริง รัฐและสังคมไทยยอมรับความผิดจากความสัมพันธ์มานานแล้ว ทั้งในสมัยโบราณและในปัจจุบัน แต่ไม่กล้ารับอย่างไม่อายถึงเพียงนี้ นี่เป็นความรุนแรงอีกชนิดหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นในการต่อสู้ที่รุนแรงของทุกฝ่ายในสังคมไทย นั่นคือการปฏิเสธ "กติกาอารยะ" (civility) อย่างเปิดเผย... รุนแรง ไม่น้อยกว่าการยึดสี่แยกราชประสงค์ แต่ให้ผลร้ายแรงที่ยาวนานกว่า เพราะ "ตึก" (the establishment) ทุกตึกถูกเผาลงราพณาสูรหมด

ที่น่าตกใจอย่างที่สองก็คล้ายกับอย่างแรก "ผังล้มเจ้า" เมื่อตอนประกาศเปิดเผยครั้งนั้น ไม่ได้ระบุเงื่อนไขที่มาสารภาพกันในภายหลัง และเมื่อวิเคราะห์จากเงื่อนไขของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น ก็เห็นได้ชัดว่ามุ่งประโยชน์ที่จะแย่งชิงมวลชน โดยนำภัยคุกคามสถาบันพระมหากษัตริย์ (ซึ่งรู้อยู่แล้วว่าไม่มีอยู่จริง หรือถึงมีอยู่ก็ไม่ได้อยู่ในลักษณะที่แสดงด้วย "ผังล้มเจ้า") ออกมาโฆษณา เป็นการ "ใช้" สถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อประโยชน์ทางการเมืองของรัฐบาลและกองทัพ อย่างเปิดเผยตรงไปตรงมา โดยไม่ต้องปิดบังอำพรางเลย

จะว่าเป็นครั้งแรกก็ได้ ที่กล้าบอกกันตรงๆ เลยว่า "ใช้" สถาบันพระมหากษัตริย์ในการต่อสู้กันทางการเมือง

ในอีกแง่หนึ่ง คำสารภาพก็ไม่น่าตกใจอะไรนัก เพราะการ "ไล่ล่า" (persecute) ทั้งทางกฎหมายและนอกกฎหมาย เนื่องจากมีความสัมพันธ์กับบุคคลที่รัฐเห็นเป็นปฏิปักษ์ เกิดขึ้นเกือบเป็นปรกติธรรมดาในเมืองไทย ถึงไม่ประกาศออกมาอย่างโจ่งแจ้ง ก็รู้ๆ กันอยู่ ส่วนการ "ใช้" สถาบันพระมหากษัตริย์เพื่ออำนาจและผลประโยชน์ส่วนตัวนั้น นอกจากฟอลคอนแล้ว ก็ทำกันเป็นปรกติสืบมาจนถึงปัจจุบัน

อย่าว่าอื่นไกลเลย คุณทักษิณ ชินวัตรเอง ซึ่งบัดนี้ไปมีชื่ออยู่ใน "ผังล้มเจ้า" ด้วย ในสมัยเป็นนายกฯ ก็อ้างความจงรักภักดีไม่ขาดปาก ไม่ต่างอะไรจาก คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะในปัจจุบัน หากปฏิปักษ์ของคนเหล่านี้ยึดอำนาจได้เมื่อไร ข้ออ้างหนึ่งที่ใช้กันอยู่เสมอก็คือ "หมิ่นเหม่" ถึงจะแสดงความจงรักภักดีให้ล้นเกินขีดที่พอดีและพองามแค่ไหน ก็ "หมิ่นเหม่" ได้ทั้งนั้น

การแสดงความจงรักภักดี กลายเป็นความชอบธรรมเพียงประการเดียวที่จะถืออำนาจ หรือยึดอำนาจ ทำอะไรก็ได้หมดโดยไม่ต้องแสวงหาความชอบธรรมใดๆ แม้แต่สังหารหมู่คนกลางถนนเป็นร้อยก็ยังมีความชอบธรรมอยู่ เพราะแสดงความจงรักภักดี ฉีกรัฐธรรมนูญด้วยกำลังที่มาจากภาษีประชาชนก็ยังชอบธรรม เพราะได้แสดงความจงรักภักดี

การแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันฯ อย่างล้นเกินพอดีและพองาม กลายเป็นใบอนุญาตให้ไม่ต้องยึดถือความชอบธรรมจากแหล่งอื่นใด ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้ง, ความสุจริตโปร่งใส, ความมีประสิทธิภาพ, ความมีสัจจะ, การใช้งบประมาณที่ตรวจสอบไม่ได้, การเที่ยวข่มขู่คุกคามปรปักษ์, การละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ฯลฯ

ผลที่เกิดแก่สถาบันพระมหากษัตริย์คืออะไร ในรอบ 3-4 ปีที่ผ่านมา มีคดี "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" ทั้งที่ศาลตัดสินแล้ว, อยู่ระหว่างการพิจารณาคดี, หรือถูกจับกุมและอยู่ระหว่างกระบวนการทำคดี, และหนีคดี รวมกันทั้งหมดเกือบ 500 คดี ในขณะที่ประเทศไทยก่อนหน้านี้เคยมีคดีประเภทนี้เพียงปีละไม่เกิน 10 ราย

และใน 500 คดีนี้ ผู้ที่ตกเป็นผู้ต้องหา, จำเลย, หรือนักโทษ ประกอบด้วยคนไทยหลายสาขาอาชีพและสถานภาพ มีตั้งแต่ทหารในราชการ, ชาวบ้านอายุกว่า 60 ปี, ผู้หญิงนักเคลื่อนไหว, ผู้หญิงชาวบ้านธรรมดา, นักวิชาการที่มีชื่อเสียง, นักการเมือง และผู้คนอีกนับไม่ถ้วน

หากทุกคนมีญาติมิตรที่อาทรต่อชะตากรรมของเขาเพียง 4 คน ก็หมายความว่ามีผู้เดือดร้อนร่วม 2,000 คน รวมคนอื่นที่อาทรต่อผู้ตกทุกข์ได้ยากซึ่งอาจไม่เคยเห็นหน้าค่าตากันเลย, คนที่ยืนยันหลักการสิทธิและความเสมอภาค นับตั้งแต่อย่างเข้มข้นโดยไม่ยกเว้นใคร ไปจนถึงที่ยอมยกเว้นแต่ต้องด้วยเหตุผล คนที่เห็นภยันตรายจากความจงรักภักดีที่ล้นเกินอันจะเกิดต่อสถาบันเอง และคนที่เห็นภยันตรายต่อสังคมโดยรวม คนที่ไม่สนใจอะไรเลย นอกจากอาย ฯลฯ รวมกันทั้งหมดแล้วเป็นล้านหรือหลายล้าน

ถ้าคดีเหล่านี้เกิดขึ้นโดยไม่ได้มุ่งจะขจัดคู่อริทางการเมืองของตน ก็ชี้ให้เห็นว่า ทรรศนะของคนไทยที่มีต่อสถาบันฯ เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ถ้าคดีเหล่านี้เกิดขึ้นเพื่อประโยชน์ทางการเมืองของผู้บังคับใช้กฎหมาย ก็แสดงให้เห็นว่าผู้มีอำนาจรัฐกำลังจงรักภักดี เพื่อ "ใช้" สถาบันฯ ปกป้องผลประโยชน์ตนเองอย่างหน้ามืดตามัว

ผมเชื่อว่า คนที่จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างจริงใจ โดยไม่หวังอำนาจหรือผลประโยชน์จากสถาบันฯ นั้นมีอยู่จริง จะมีมากน้อยแค่ไหนผมประเมินไม่ถูก

ที่ผมอยากทราบก็คือ ท่านเหล่านั้นไม่สะดุ้งสะเทือนต่อสภาวะที่เกิดขึ้นจากความจงรักภักดีอย่างล้นเกินซึ่งเกิดขึ้นในขณะนี้บ้างเลยหรือ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net