TCIJ: คลินิกรัฐศาสตร์ฯ มมส.เปิดเวทีถกประเด็นรับน้องเดือด

อาจารย์วิทยาลัยการเมืองการปกครองชี้คนเผยแพร่คลิปรับร้องช่วยสร้างชื่อเสียงให้มหาวิทยาลัย เพราะกล้าเปลี่ยนแปลง ด้านนายกองค์การนิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ชี้การรับน้อง-ให้รุ่น ช่วยสร้างเครือข่าย ชูสามารถรวมคนกว่า 18 คณะมาร่วมร้องเพลงของมหาลัยได้ วันที่ 15 มิ.ย.54 คลินิกรัฐศาสตร์ คณะวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) จัดงานคลินิกรัฐศาสตร์ในหัวข้อเรื่อง “การรับน้อง การละเมิดสิทธิเสรีภาพในมหาลัย” โดยมีสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) สหพันนิสิตนักศึกษาภาคอีสาน (สนนอ.) และนิสิตนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ รวมทั้งอาจารย์ และประชาชนทั่วไปเข้าร่วม นิสิตกลุ่มเถียงนาประชาคมร่วมกับชมรมคนสร้างฝันและคลีนิกรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ร่วมกันเล่นดนตรีและอ่านผญา (ปรัชญา) เป็นภาษาอีสานก่อนเริ่มการเสวนา กิจกรรมคลินิกรัฐศาสตร์ฯ จัดขึ้นเพื่อใช้เป็นพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นทางสังคม การเมืองและประเด็นที่เกี่ยวข้อง ภายใต้พื้นฐานสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิดเห็น รวมถึงเป็นการสร้างพื้นที่ในการใช้เสรีภาพในด้านความคิดโดยไม่ถูกปิดกั้น ซึ่งจะช่วยส่งเสริมวัฒนธรรมประชาธิปไตยที่ทุกคนจะเรียนรู้ถึงการอยู่ร่วมกันอย่างสันติในสังคมประชาธิปไตยที่มีการยอมรับในความแตกต่างและหลากหลายของผู้คนในสังคม รศ.สีดา สอนศรี คณะบดีวิทยาลัยการเมืองการปกครอง กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงานเสวนาในครั้งนี้ว่า ต้องการให้เป็นเวทีถกเถียงแลกเปลี่ยนเพื่อหาทางออกร่วมกัน รวมถึงกำหนดการของงานได้มีการวางแผนไว้ก่อนหน้านี้แล้วไม่ได้มีการสร้างกระแสใดใด จากนั้น ได้เริ่มเปิดการเสวนา โดยวิทยากรได้แสดงทัศนะคติเกี่ยวกับประเด็นการรับน้อง เพื่อเป็นการเปิดประเด็นให้มีการแลกเปลี่ยน ดร.อลงกรณ์ อรรคแสง อาจารย์ประจำสาขาวิชาการเมืองการปกครอง วิทยาลัยการเมืองการปกครอง แสดงความเห็นต่อกรณีการที่มีผู้นำคลิปประชุมเชียร์ไปเผยแพร่จนทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ถึงการรับน้องใหม่ของมหาวิทยาลัยมหาสารคามว่า ส่วนตัวไม่ได้ถือว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่เสื่อมเสีย แต่เป็นการสร้างชื่อเสียงให้กับมหาลัย เพราะสังคมภายนอกได้แสดงความคิดเห็นที่เห็นด้วย และยกย่องกลุ่มนิสิตที่กล้าออกมาเรียกร้องว่าเป็นนิสิตที่มีความกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง ดังนั้น จึงไม่เห็นว่าการที่นำคลิปไปเผยแพร่จะเป็นการทำให้มหาลัยเสื่อมเสียแต่อย่างใด ด้าน วิเศษ นาคชัย นายกองค์การนิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า การรับน้องและการให้รุ่นยังสำคัญอยู่เพราะถือว่าเป็นการสร้างเครือข่ายให้กับน้องๆ และมหาลัยสารคามอาจเป็นมหาลัยเดียวด้วยซ้ำที่สามารถรวมคนกว่า 18 คณะมาร่วมร้องเพลงของมหาลัยได้และยังเป็นกิจกรรมที่มีนิสิตเข้าร่วมเยอะที่สุด นอกจากนี้นายกองค์การนิสิตยังได้อธิบายถึงการจัดกิจกรรมรับน้องในมหาลัยว่า กิจกรรมเหล่านี้ได้ผ่านความเห็นชอบจากกองกิจการนิสิต และรองคณะบดีหรือคณะบดีจากคณะต่างๆ ในมหาลัย ซึ่งกิจกรรมนี้ก็ได้ผ่านความคิดเห็นและการสนับสนุนจากผู้ใหญ่ในมหาลัยด้วย อิทธิพล โคตะมี นักศึกษาจากสำนักบัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ให้ความเห็นว่า การรับน้องนั้นควรมีการเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้าง จึงจะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สมบูรณ์ นอกจากนี้ยังกล่าวถึงการทำงานของระบบ SOTUS ที่ทำให้ระบบยังดำรงอยู่มาได้ว่า ระบบ SOTUS มุ่งปลูกฝังค่านิยมให้เชื่อฟังต่อผู้ปกครอง เช่น การสั่งให้มีการแต่งตัวให้ถูกระเบียบ การจัดแถวให้ตรงเพื่อสร้างระเบียบวินัย แต่ระเบียบวินัยที่พูดถึงคือ การง่ายต่อการควบคุมสอดส่องของผู้บริหารในขณะเดียวกันการเป็นเหตุเป็นผลที่เหมือนจะดีก็ไม่สามารถตั้งคำถามได้ “อำนาจนี้ในสมัยใหม่มีการปรับเปลี่ยนไปในรูปแบบของสถาบัน โดยการผ่านระบบขององค์การนิสิตนักศึกษากันเอง คือแทนที่องค์การนิสิตจะพูด Support ในเรื่องของสิทธิและเสรีภาพของนิสิตด้วยกัน แต่กลับเป็นการพูด Support ระบบผู้บริหารหรือระบบโครงสร้างอำนาจนิยม ซึ่งมีหัวหน้าแก๊ง SOTUS ตัวจริง คือ อธิการบดี” นายอิทธิพลกล่าว ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศภายในงานเสวนามีการแลกเปลี่ยนที่หลากหลาย หลากทัศคติหลายมุมมอง ด้านกลุ่มที่เห็นด้วยกับระบบการรับน้องแบบเดิม ต่างก็พยายามชี้แจงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น “กิจกรรมดังกล่าวเป็นเพียงกิจกรรมที่ทำให้เกิดความรักความสามัคคีระหว่างพี่น้องเท่านั้นและในกิจกรรมนั้นรุ่นน้องเป็นผู้ที่ต้องการเข้าร่วมเองไม่มีการบังคับแต่อย่างใดและถ้าน้องยินยอมหรืออยากมาร่วมกิจกรรมเองก็ไม่ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิ” วิชุดา อาจารย์ประจำคณะวิศวะกรรมศาสตร์มหาลัยมหาสารคาม กล่าว ในด้านกลุ่มที่เห็นด้วยกับการรับน้อง แต่อยากให้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบหรือกระบวนการได้นำเสนอมุมมองการรับน้องว่า ควรให้เป็นไปในเชิงสร้างสรรค์ซึ่งมีอยู่หลายวิธี ไม่จำเป็นต้องเล่นบทโหดและไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้อื่น เช่น มีการบายศรีสู่ขวัญ การทำกิจกรรมออกค่าย การทำกิจกรรมเพื่อสังคม หรือการใช้แรงงานในด้านอื่น เช่น ดำนาช่วยชาวนาเป็นต้น ในขณะที่การแลกเปลี่ยนทัศนะคติกำลังเข้มข้นขึ้น อย่าไรก็ตามด้วยเงื่อนไขของเวลาที่ทำให้การเสวนาต้องสิ้นสุดลง ส่งผลให้การเสวนาในครั้งนี้ไม่สามารถหาข้อสรุปได้ ด้าน ยุทธนา ลุนสำโรง นิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งขับเคลื่อนประเด็นไม่เอาการรับน้องแบบระบบ SOTUS กล่าวแสดงความเห็นว่าเวทีการถกเถียงแลกเปลี่ยนในครั้งนี้อาจจะเป็นนิมิตรหมายอันดีที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอะไรหลายอย่างให้ดีขึ้นในมหาลัยแห่งนี้ “วันนี้พวกผมไม่ได้ต้องการที่จะล้มเชียร์ แต่ต้องการเห็นการปฏิรูปการรับน้องไปในทางที่ดีและเชิงสร้างสรรค์ต่อสังคม รวมถึงไม่อยากให้เวทีนี้เป็นเวทีสุดท้ายอยากให้มีอีกหลายๆ เวทีเพื่อให้เกิดการต่อยอดและหาทางออกร่วมกัน” นายยุทธนา กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท