Skip to main content
sharethis

“...ยกตัวอย่างเป็นรูปธรรมเลยก็ได้ อาจารย์สมศักดิ์ (เจียมธีรสกุล) เคยอ้างพระราชสัตยาธิษฐานของ ร.7 ว่ากษัตริย์ต้องทรงทศพิธราชธรรม รักษาประชาธิปไตยโดยไม่ลงนามในรัฐธรรมนูญที่มาจากการก่อรัฐประหารล้มประชาธิปไตย ถ้าเอาทศพิธราชธรรมมาจับก็คือ “อวิโรธนะ” การปฏิบัติไม่คลาดจากธรรม คือมันเป็น “ธรรมทางสังคม” ที่ต้องรักษาประชาธิปไตย อย่างนี้ตามหลักการทางพุทธศาสนา ประชาชนสามารถใช้เกณฑ์นี้มาตรวจสอบได้ไหมครับ? (บางส่วนของคำถาม) **************** แต่บ้านเราก็มีความพยายามจะเอาพุทธศาสนามาใช้กับบริบทที่เป็นอยู่นะครับ ถ้าไปดูในร้านหนังสือธรรมะก็จะเห็นว่าธรรมะตอบทุกปัญหา เช่นธรรมมาพารวย ทำบุญอย่างไรจึงจะสวย หรือธรรมาธิปไตยจะตอบโจทย์ทางการเมืองได้อะไรทำนองนี้ คือเหมือนกับเอาธรรมะไปตอบมิติชีวิตของปัจเจกและมิติทางสังคมทุกเรื่อง อาจารย์มองปรากฏการณ์แบบนี้อย่างไร? นี่แหละคือปัญหา เพราะเราไม่เข้าใจส่วนที่เป็น “หลักการบริสุทธิ์” ก่อน แล้วเราก็เลยไปเอาสิ่งที่เป็นปรากฏการณ์ (ในอดีต) มาใช้อธิบาย และปรากฏการณ์นี้มันมีความสำเร็จรูปในตัวของมันเอง ผมเข้าใจว่าในกรณีเรื่องกฎแห่งกรรม เรื่องอะไรที่เกี่ยวกับกรรมที่เป็นหนังสือที่ขายดีมากๆ อยู่ในตลาดหนังสือในปัจจุบันคือกรณีตัวอย่างของการไม่เข้าใจส่วนที่เป็นหลักการบริสุทธิ์ คำว่า “บริสุทธิ์” ที่ผมใช้นี่ไม่ได้มีความหมายว่าผิดหรือถูกนะ แต่หมายความว่ายังไม่ได้ถูกตีความผ่านปรากฏการณ์ เช่นพวกเราที่เคยศึกษามาในทางพุทธศาสนา เมื่อเราอ่านคัมภีร์พระธรรมบทแล้วก็มีเรื่องราวว่า พระภิกษุรูปหนึ่งซึ่งปฏิบัติศีลพรตมาอย่างสะอาดบริสุทธิ์เป็นเวลานาน วันหนึ่งพอท่านนั่งเรือไปแล้วเอามือหย่อนลงไปในน้ำขณะที่เรือแล่นไปบนผิวน้ำ นิ้วชี้เพียงแค่เกี่ยวเอาสาหร่ายติดมือมานิดเดียวเท่านั้นเอง และในเรื่องก็บอกว่าท่านตายไปเสวยวิบากกรรมอันเผ็ดร้อนในนรกเป็นเวลานานใช่ไหมครับ (หัวเราะ) ถ้าเราเอาปรากฏการณ์ทำนองนี้มาเป็น “แบบจำลองสำเร็จรูป” แล้วเอามาอธิบายอะไรที่มันเป็นสังคมปัจจุบัน ผมว่าโอ้มันยุ่งยากมากครับ มันไม่น่าจะเป็นอย่างนั้น ผมยกตัวอย่างนี้เพียงเพื่อจะบอกว่าในปัจจุบันเรามักจะไปหยิบฉวยเอาปรากฏการณ์หรือบริบทอะไรบางอย่างในการอธิบายความหมายของกฎแห่งกรรมในอดีตมาใช้กับปัจจุบันแบบรวบรัดตัดทอน แล้วก็ผูกเป็นเรื่องง่ายๆ นี่คือความสับสนและความยุงยากในการที่จะดึงพุทธศาสนาให้เข้ามาสู่สังคมอย่างอะไรดี... คือ “อย่างเป็นธรรม” ก็แล้วกัน (หัวเราะ) อาจารย์กำลังจะบอกว่า คนทุกวันนี้มักเอาบริบทในอดีตมาอธิบายเพื่อทำความเข้าใจความหมายของหลักการใช่ไหมครับ? ใช่ แล้วสมัยพระพุทธเจ้าท่านมีวิธีอธิบายของท่านอย่างไรครับ? ผมเข้าใจว่า พระพุทธเจ้าเองก็มีบริบท มีสถานการณ์ทุกๆ ครั้ง ถ้าเรากลับไปดูคัมภีร์หลักของเราซึ่งเป็นเถรวาท ยกเว้นอภิธรรมเพราะอภิธรรมเป็นการถอดเอาสิ่งที่เรียกกันว่าหลักการมาวางอย่างบริสุทธิ์ นี่คือสิ่งที่เราทราบอยู่แล้ว เพราะในอภิธรรมไม่ได้พูดถึงสถานการณ์ และไม่ได้พูดถึงบริบทเลย แต่ถ้าเป็นพระสุตตันตปิฏกก็ต้องมีสิ่งที่เรียกกันว่าบริบท สถานการณ์ และปรากฏการณ์ แต่ต้องอย่าลืมว่าสถานการณ์และปรากฏการณ์นั้นๆ มันวางตั้งอยู่ใน “พื้นที่ทางสังคม” ทีนี้พื้นที่ทางสังคมนั้นมันมีสิ่งที่เรียกกันว่าความเชื่อมโยง คือเราดึงมาจากเรื่องเดียวก็จริงนะ แต่ความจริงกว่าจะมาถึงเรื่องนี้มันมีโครงสร้างเยอะแยะมากมาย เพราะฉะนั้น เราจึงจะไม่รู้สึกแปลกใจเลยว่าทำไมในพุทธศาสนาจึงมีเรื่องราวที่อยู่นอกคำสอนในพระพุทธศาสนา แต่เป็นส่วนหนึ่งของคำสอนด้วย เช่นเรื่อง “ความเชื่อ” ต่างๆ ซึ่งจริงๆ แล้วพุทธศาสนาก็ไม่ได้สนับสนุนความเชื่อนี้ใช่ไหมครับ แต่ทำไมเรื่องเหล่านี้ยังมีอยู่ เพราะก็คนยังเชื่อไงครับ และดูเหมือนจะขัดแย้งกันไหม อย่างเช่นว่าในพระสูตร เช่น อัคคัญญสูตรเหมือนพระพุทธเจ้าปฏิเสธระบบชนชั้น แต่พอคำสอนเรื่องกรรมกลับบอกว่าคนเราแตกต่างกันเพราะกรรม ก็เหมือนกับยอมรับความแตกต่างทางชนชั้นที่เป็นผลของกรรมอยู่ในที ตกลงตรงนี้หลักการที่แท้จริงของพุทธศาสนาคืออะไร? เมื่อพระพุทธเจ้าแสดงอัคคัญญสูตร ก็ต้องการแสดงให้เห็นว่าธรรมชาติของสังคม การเกิดขึ้นของรัฐว่า มันมีความเป็นมาอย่างไรในมิติทางความเชื่อและความเข้าใจที่เราพูดกันว่าเป็นชาวพุทธ เป็นการอธิบายให้เห็นเพื่อจะบอกให้รู้ว่า สภาวะที่ถูกกำหนดหมายว่าเป็นเทพกำหนดนั้นไม่ได้เป็นไปอย่างนั้นในมิติความเชื่อทางพระพุทธศาสนา เพราะฉะนั้น การกำหนดให้มีหน้าที่ในทางสังคมก็มีที่มาที่ไปในการกำหนดขึ้น แต่ว่าพัฒนาการของการกำหนดขึ้นนั้นมันยาวนานมาก แต่เราอายุสั้นเกินไปจึงไม่สามารถจะไปเห็นที่มาของกำหนดนั้นได้ อยู่ดีๆ เราก็เกิดมาเป็นอย่างนี้แล้ว แต่ความจริงก่อนจะเป็นอย่างนี้มันมีที่มานะ ผมเข้าใจว่านี้คือความหมายของสิ่งที่ต้องการจะอธิบายหลักการสำคัญอันหนึ่งในพุทธศาสนาว่า “การเกิดขึ้นของสิ่งต่างๆ นั้นมีเหตุมีปัจจัยให้เกิดขึ้น” หลักการอยู่ตรงนั้น? ครับ แต่ตามนัยอัคคัญญสูตร พุทธศาสนาก็ไม่ได้เสนอหรือครับว่า มนุษย์ควรจะมีเสรีภาพ หรือความเสมอภาค? ผมเข้าใจว่า อันนี้ก็ต้องเป็นหลักอีกหลายเรื่อง เพราะเวลาเราพูดถึงหลักการเมื่อกี้เราบอกว่าลอยอยู่บนฟ้าหรือลอยอยู่บนอวกาศใช่ไหม แต่เวลาเราพูดถึงสถานการณ์ เรากำลังพูดถึงสิ่งที่มันเป็นชุดของปรากฏการณ์ที่มันไม่ได้มีเรื่องใดเรื่องหนึ่งเพียงเรื่องเดียว มันมีเรื่องหลายเรื่องเข้ามาผสมอยู่ในเนื้อเรื่องนั้นใช่ไหมครับ ปรากฏการณ์ที่พูดถึงเช่นมีข้อเท็จจริงทางธรรมชาติ มีข้อเท็จจริงทางด้านความรู้สึกนึกคิด ทางจิตใจ มีอะไรมากมายเข้ามาผสม พอเข้ามาผสมปุ๊บเนี่ยมันจึงทำให้เวลาเราจะดึงเอาเรื่องใดเรื่องหนึ่งมาเพียงเรื่องเดียว ความหมายมันอาจจะบิดเบี้ยวไปเลย เพราะว่ามันมีความเป็นสถานการณ์ และที่เราเริ่มต้นวันนี้ใช่ไหมครับ ที่ผมบอกว่าถ้าเราจะพูดว่าพระพุทธศาสนามีมิติทางสังคมหรือไม่ ก็ต้องกลับไปสู่ประเด็นว่าพุทธศาสนาถูกนำมาใช้อธิบายความหมายทางสังคมหรือไม่ใช่ไหมครับ ถ้าถูกนำมาใช้อธิบายความหมายทางสังคม นั่นก็แสดงว่าพุทธศาสนาทำให้มีความหมายทางสังคมแล้ว แต่ประเด็นว่าความหมายนั้นมันไปสอดรับกับ “หลักการ” ของพุทธศาสนาหรือไม่ นั่นก็เป็นหน้าที่ของเราที่ต้องวินิจฉัยกันเอง นี่เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก เหมือนกับว่าพอเอาหลักการพุทธศาสนามาอธิบายมิติทางสังคม หรือเอามิติทางสังคมไปอธิบายหลักการของพุทธศาสนาก็แล้วแต่ ดูเหมือนว่ามันจะ “ไม่อยู่กับร่องกับรอย” ยกตัวอย่างเช่นสมัยพระเจ้าอโศกหรือสมัยราชาธิปไตยนั้น ทศพิธราชธรรมก็ดูเหมือนว่ามันกลมกลืนไปด้วยกันกับระบบแบบนั้น แต่พอมาถึงปัจจุบันเป็นยุคประชาธิปไตย อย่างอาจารย์ ส. ศิวรักษ์ ก็จะบอกว่า ถ้ามองตามหลักทศพิธราชธรรมแล้วกษัตริย์ควรถูกวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบได้ แต่ในบริบทของราชาธิปไตยทศพิธราชธรรมก็ถูกนำไปใช้เพื่อสนับสนุนความศักดิ์สิทธิ์ของสถานะและอำนาจของกษัตริย์ มันมีการตีความที่ตรงกันข้ามกันแบบนี้ ตกลงอะไรกันแน่ที่เป็น “หลักการที่แท้จริง” ของพุทธศาสนา? มันมีความหมาย ชุดความหมาย คือความจริงไม่ใช่ตรงกันข้ามนะครับ เราต้องทำความเข้าใจก่อน ความหมายของมันก็คือเมื่อเราอยู่ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ นั่นก็คือหมายความว่าเราทำให้สิ่งที่เรียกว่าอำนาจรัฐ หรือองค์อธิปัตย์ไปอยู่ในบุคคล เมื่อไปอยู่ในบุคคลกระบวนการที่จะทำให้เกิดสิ่งที่เรียกกันว่าการใช้อำนาจรัฐที่มันจะเป็นคุณ จึงถูกทำให้มีความหมายว่าองค์อธิปัตย์นั้นจะต้องสำนึกหรือมีทศพิธราชธรรม เพราะในสมัยนั้นไม่มีองค์กรตรวจสอบใดๆ จะไปมีอำนาจในการตรวจสอบองค์อธิปัตย์ได้เลย องค์อธิปัตย์มีอำนาจเต็ม เราจึงเรียกว่าสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พอเป็นอย่างนี้คำถามก็คือแล้วพุทธศาสนาเข้าไปเกี่ยวอย่างไร ก็เลยเข้าไปเกี่ยวในฐานะที่องค์อธิปัตย์เป็นปัจเจกจึงทำให้มีความหมายว่า องค์อธิปัตย์นี้แม้จะมีอำนาจเต็มก็จริงนะ แต่ถ้าสมมติเกิดปรากฏว่าองค์อธิปัตย์ละเมิด หรือไม่ปฏิบัติตามสภาวะที่ถูกเรียกว่า “ทศพิธราชธรรมไ หรือ “จักรวรรติธรรม” ความเสื่อมขององค์อธิปัตย์นั้นก็จะค่อยๆ ปรากฏขึ้นมา และสังคมก็เสื่อมตาม แล้วก็จะมีกระบวนการการทางสังคมที่จะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงองค์อธิปัตย์โดยวิธีใดวิธีหนึ่ง ซึ่งเป็นไปตามกลไกแบบสมัยนั้น เพราะฉะนั้น ในตอนนั้นมันจึงไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “ถูกตรวจสอบ” ในลักษณะที่ตรงไปตรงมา แต่พอมาถึงอีกยุคหนึ่ง องค์อธิปัตย์ไม่ได้อยู่กับปัจเจกบุคคลในความหมายที่เราพูดถึงแล้ว แต่องค์อธิปัตย์นั้นถูกสถาปนาขึ้นมาโดยสิ่งที่เรียกว่ากฎหมาย ถ้าใครผ่านกระบวนการทางกฎหมายนี้ก็จะได้เป็นผู้ไปถือครองอำนาจที่เป็นองค์อธิปัตย์นั้น องค์อธิปัตย์นี้ยังจำแนกอีกเพื่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า balance of power ก็คือหมายความว่าไม่ให้ใช้อำนาจใน 3 ทางทับซ้อนกันนะ สมมติตัวอย่าง ผมเข้าใจว่ากลไกนี้คือสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมา เพราะฉะนั้น กระบวนการตรวจสภาวะที่เป็นองค์อธิปัตย์แบบนี้ก็จะมีกระบวนการขึ้นมาอีกแบบหนึ่ง เพราะฉะนั้น มันจึงไม่ใช่ประเด็นที่จะบอกว่ามันมีความขัดแย้งในพุทธศาสนา แต่มันต้องถามว่าแล้วเราอธิบายให้มันเกิดความขัดแย้งกับหลักการในพรพุทธศาสนาหรือไม่ ถ้าสมมติว่าพุทธศาสนาที่พูดถึงนี้คือหลักการชุดหนึ่งที่เราตั้งไว้ เอาละก็ต้องกลับไปสู่ประเด็นที่อาจารย์พูดถึงเมื่อกี้ว่าถ้าตามหลักการพุทธศาสนาแล้ว เป้าหมายอยู่ที่พระนิพพานใช่ไหมครับ ก็แสดงว่าคำถามก็คือถ้าเป้าหมายอยู่ที่พระนิพพานนั่นก็คือเมื่อเอาพุทธศาสนามาใช้ทางสังคมก็แสดงว่า สังคมนี้มีเป้าหมายที่จะขับเคลื่อนหรือดำเนินกิจกรรมไปเพื่อให้เกิดสภาวะๆ หนึ่ง ซึ่งสภาวะนี้จะตั้งชื่อยังไงก็ไม่รู้สภาวะนี้ก็เป็นอันว่าตั้งชื่อว่านิพพานก็แล้วกันนะ เพื่อให้มีคำที่มันไม่ต้องไปคิดขึ้นใหม่ ผมเข้าใจว่าทันทีที่สามารถตรวจสอบได้ว่าการขับเคลื่อนไปของ “อำนาจรัฐ” นะครับ แทนที่จะเข้าไปสู่สภาวะที่เราสมมติเรียกกันว่านิพพาน กลับนำไปสู่สภาวะวังวนแห่งการเกลียดชังรังเกียจโกรธแค้นกันเป็นสังสารวัฏ เออ...อย่างนี้แหละที่ผมคิดว่าคือคำอธิบายที่เราต้องกลับไปสู่ประเด็นนั้นละทีนี้ โดยปกติการตรวจสอบมันก็จะไม่นำไปสู่การเกลียดชัง คือการวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบมันก็เป็นวัฒนธรรมประชาธิปไตย? อ่า...นี้คือสิ่งที่เรากำลังสถาปนาขึ้นในระบบที่เรียกว่าประชาธิปไตย เพราะเป็นการตรวจสอบโดยกฎหมาย มิได้หมายความถึงว่าผมเกลียดอาจารย์ผมจึงไปตรวจสอบอาจารย์ ผมอาจจะเคารพอาจารย์เป็นที่สุด แต่โดยความหมายก็คือต้องมีการตรวจสอบ เพราะฉะนั้น ในความหมายนี้เราจึงมีบทบัญญัติทางกฎหมายใช่ไหมครับ เช่นสมมติว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐคนใดคนหนึ่งปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่แห่งรัฐใช่ไหมครับ แล้วเขาละเมิดกฎหมายด้วยการไม่ปฏิบัติหน้าที่ประชาชนมีสิทธิฟ้องเขาฐานละเมิดกฎหมาย ก็คือไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ เราจึงมีสิทธิ์จะไปฟ้องได้เพราะฉะนั้น คำว่าผิดหรือถูกในความหมายนี้มันมีครรลองของกฎหมายเข้ามากำกับ ถ้าเราดูความหมายจริงๆ ของทศพิธราชธรรมมันเป็นคุณสมบัติเฉพาะของปัจเจก หรือว่าเป็น “เกณฑ์” ที่สังคมจะต้องใช้มองผู้ปกครองว่าคุณทำได้ตามเกณฑ์นี้หรือเปล่า ถ้ามันเป็นเกณฑ์ที่ใช้มองก็หมายความว่า สังคมก็ต้องตรวจสอบการกระทำของผู้ปกครองได้ แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าคนๆ หนึ่งมีทศพิธราชธรรมจริง ถ้าเราตรวจสอบไม่ได้? คำถามก็คือ สังคมนั้นมีความเข้าใจสิ่งที่เรียกว่าหลักการของทศพิธราชธรรมหรือหลักธรรมที่ถูกตั้งชื่อว่า “ทศพิธราชธรรม” เพียงพอที่จะตรวจสอบไหม ผมยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างปัจจุบันเช่นเราพูดว่าทศพิธราชธรรมประกอบด้วยทาน ผมเข้าใจว่าทันทีที่เรานิยามคำว่า “ทาน” ขึ้นมาในความหมายอะไรบางสิ่งบางอย่าง มันก็มีความหมายที่ต้องเอาทานไปใส่ไว้ในโครงสร้างของสถานการณ์อะไรบางสิ่งบางอย่างแล้ว ในยุคปัจจุบันเวลาเราพูดถึงเรื่องจาคะ พูดถึงเรื่องทานมีความหมายที่ค่อนข้างจะยุ่งยากในการอธิบายไม่ใช่น้อย มันเหมือนกับเวลาที่เราพูดถึงสิ่งที่ตรงกันข้ามกับทานคือความโลภ ทานที่ถูกแสดงออกมาให้ปรากฏ ปรากฏก็คือหมายความว่าเพื่อต้องการให้สังคมนี้มีการฝึกฝนให้คนกลับมาสู่ครรลองของทานให้ได้ เราจึงมีบทบัญญัติลงโทษคนอย่างเช่นมีศีล 5 ข้ออทินนาทานก็คือตรงกันข้ามกับทานนะครับ ประเด็นแห่งการละเมิดอทินนาทานนั้น ถ้าเราดูความหมายแบบหยาบๆ เหมือนกับเอาดึงเรื่องในชาดกมาใช้บางที่ก็ยุ่งยากไม่ใช่น้อย เพราะการที่เราจะเป็นอทินนาทานปัจจุบันมันไม่ได้มีของเป็นชิ้นๆ เหมือนที่เราจะไปขโมยตะกร้าอันนี้มาหนึ่งตะกร้าใช่ไหมครับ หมายความว่าอทินนาทานเชิงระบบ เชิงโครงสร้างมันมีอยู่? มันซับซ้อนมาเลย ปัจจุบันเวลาขโมยเขาไม่ได้ขโมยของเป็นชิ้นๆ แล้ววิ่งไปต่อหน้าต่อตาแล้ว แต่บางอย่างมันชัดใช่ไหมครับ เช่นในทศพิธราชธรรมมันมีประเด็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอยู่ซึ่งมันมีความชัดเจนพอสมควร คือเวลาเราพูดถึง “ธรรมทางสังคม” หรือธรรมที่เป็นมิติทางสังคมมันก็เปลี่ยนแปลงไปตามบริบทใช่ไหมครับ ธรรมที่เป็นมิติทางสังคมของสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นแบบหนึ่ง ในระบอบประชาธิปไตยเป็นแบบหนึ่ง ทีนี้ทศพิธราชธรรมจะมีข้อ “อวิโรธนะ” คือปฏิบัติไม่คลาดจากธรรม เช่น ยกตัวอย่างเป็นรูปธรรมเลยก็ได้ อาจารย์สมศักดิ์ (เจียมธีรสกุล) เคยอ้างพระราชสัตยาธิษฐานของ ร.7 ว่ากษัตริย์ต้องทรงทศพิธราชธรรม รักษาประชาธิปไตยโดยไม่ลงนามในรัฐธรรมนูญที่มาจากการก่อรัฐประหารล้มประชาธิปไตย ถ้าเอาทศพิธราชธรรมมาจับก็คือ “อวิโรธนะ” การปฏิบัติไม่คลาดจากธรรม คือมันเป็น “ธรรมทางสังคม” ที่ต้องรักษาประชาธิปไตย อย่างนี้ตามหลักการทางพุทธศาสนา ประชาชนสามารถใช้เกณฑ์นี้มาตรวจสอบได้ไหมครับ? ก็ผมเข้าใจว่าเกณฑ์นี้ก็เช่นเดียวกันมันมีบริบท มีความซับซ้อนในความหมาย มีโครงสร้างอะไรที่ซับซ้อนมาก คำว่าซับซ้อนมากก็คือ ณ ขณะหนึ่งที่เราพูดถึงองค์อธิปัตย์ แล้วเราบอกว่าทันทีที่มีการปฏิวัติแล้วใครสามารถยึดอำนาจรัฐได้ก็จะต้องสถาปนาตัวเองขึ้นเป็นองค์อธิปัตย์ เขาสามารถที่จะสั่งยกเลิกรัฐรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายแม่บท แล้วร่างธรรมนูญการปกครองขึ้นมาใหม่กี่มาตราก็แล้วแต่ ซึ่งตรงนี้นะครับต้องไปถามนักรัฐศาสตร์เลยว่าในการศึกษารัฐศาสตร์และการศึกษานิติปรัชญานั้น มีสภาวะที่ว่านี้จนกระทั่งกลายมาเป็นบทเรียนแล้วก็เลยกลายมาเป็นต้นแบบให้ประเทศ คือขอโทษนะสมัยที่ยังเป็นสมบูรณษญาสิทธิราชย์ ก็มีการปฏิวัติเช่นเดียวกัน จับองค์อธิปัตย์คือพระเจ้าแผ่นดินไปฆ่าหรือไปขัง ไปทำอะไรก็ได้แล้วยึดอำนาจมาใช่ไหมครับ ก็คือไม่ต้องไปเกี่ยวกับประชาชนอะไรมากมาย ประชาชนจะจงรักภักดีหรือไม่นั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ผมเข้าใจว่านี่ก็เป็นสิ่งที่สืบทอดกันมาตลอดว่าในสมัยที่มีการปฏิวัติรัฐประหารในประเทศไทยหลังจากที่เรามีการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายแม่บท เพราะฉะนั้น ทันทีที่มีการขับรถถังมายึดกรมประชาสัมพันธ์ได้แล้วก็ประกาศแถลงการณ์คณะปฏิวัติ ให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ ให้ยกเลิกอะไรก็ว่าไปใช่ไหม ผมเข้าใจว่าอันนี้คือกระบวนการที่มันมีความซับซ้อนเกินกว่าที่เราจะตัดสินง่ายๆ เพียงแค่จะบอกว่าไปเอาเรื่องราวใดๆ มาเป็นตัวตัดสินชี้วัด เพราะมันมีความซับซ้อนในเชิงโครงสร้างของกลไกต่างๆ ของสังคม เมื่อเรามีการเคลื่อนย้ายสังคมมาสู่ระบบนี้ไม่ว่าจะเป็นประเทศไทยที่นับถือพุทธศาสนา หรือสมมติว่าถ้าจะมีประเทศอีกสักประเทศหนึ่งจะเป็นนับถือศาสนาอะไรก็ตามทีนะครับมันเป็นโครงสร้างกลไกเชิงอำนาจรัฐที่มีในสังคมประเภทที่ว่านี้ ผมคิดว่าโครงสร้างประเภทนี้มันมีความหมายของมันในมิติทางสังคมที่อาจจะไม่จำเป็น หรืออาจจะต้องไม่เกี่ยวกับสิ่งที่เรียกกันว่าใครจะไปอ้างอย่างใดอย่างหนึ่ง เรื่องใดเรื่องหนึ่งเพียงเรื่องเดียว ผมเข้าใจว่าในสถานการณ์เช่นนี้มันมีความซับซ้อนมากเกินกว่าที่จะไปอ้างเหตุเฉพาะกรณีเพื่อจะอธิบายความหมายของหลักธรรมในพุทธศาสนา เพราะหลักธรรมในพุทธศาสนาพอถึงจุดๆ หนึ่งแล้วเป็น “แค่ข้ออ้าง” แน่นอนครับถ้ามีใครสักคนหนึ่งบอกว่าผมเป็นพุทธ ถ้าอะไรที่ผิดจากพุทธผมจะไม่ทำประมาณนี้ ซึ่งผมว่าก็คงเป็นข้ออ้างที่จะมีคนบอกว่าคุณก็ “เถรตรง” เกินไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net