Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ (16-18 พ.ค. 2554) ได้รายงานข่าวเกี่ยวกับการประกาศกฎกระทรวงแรงงาน เรื่อง กำหนดจำนวนคนพิการที่นายจ้าง

หรือเจ้าของสถานประกอบการ และหน่วยงานของรัฐ จะต้องรับคนเข้าทำงาน และจำนวนเงินที่นายจ้าง หรือเจ้าของสถานประกอบการจะต้องนำส่งกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคน พิการ พ.ศ. 2554 เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2554 อันเชื่อมโยงกับ พ.ร.บ. ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 พอสรุปความได้ว่า

"กฎกระทรวงดังกล่าวดูจะไม่ เป็นกฎเหล็กเท่าที่ควร เมื่อมาวิเคราะห์ในขอบเขตความเป็นจริงสถานประกอบการของรัฐบางหน่วยงานที่ อ้างว่าคนพิการที่มีอยู่ทั่วประเทศประมาณ 2 ล้านกว่าคน และมีคนพิการที่ลงทะเบียนในสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทยประมาณ 2 แสนกว่าคน และมีอยู่เพียงจำนวนหนึ่งเท่านั้นที่ลงทะเบียนเพื่อขอใช้สิทธิในการสมัครงาน กับสถานประกอบการ และหน่วยงานของรัฐต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่ดูจะมีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามความต้องการของตลาดแรงงาน นอกจากนี้ สิ่งอำนวยความสะดวกในการเดินทางและสถานที่ทำงาน รวมถึงทัศนคติขององค์กรและเพื่อนร่วมงานยังเป็นปัญหาสำคัญที่เกี่ยวเนื่อง กับกฎกระทรวงนี้"

 

หากข้อมูลตามรายงานข่าว นี้เป็นจริง ดูจะมีข้อสังเกตที่น่าสนใจและเรื่องที่น่าขบคิดอยู่สองประการ นอกเหนือจากประเด็นรายละเอียดเชิงตัวเลขคนพิการที่คาดว่าหน่วยงานและสถาน ประกอบการจะรับเข้าทำงานอันเป็นประเด็นที่สามารถสาธยายกันได้อีกยาวถึงความ ถูกต้องหรือความเป็นไปได้ในเชิงปฏิบัติ

ประการแรก กฎกระทรวงและแนวนโยบายเกี่ยวกับคนพิการดังกล่าวนี้ในมุมหนึ่งได้แสดงให้เห็น การดำเนิน/วางนโยบายเกี่ยวกับคนพิการของรัฐอย่างขาด "ฐานความรู้" กล่าวคือ ไม่มีงานศึกษาวิจัยอย่างเข้มข้นและเพียงพอเพื่อเป็นฐานองค์ความรู้รองรับแผน งานหรือการปฏิบัติงานอย่างเพียงพอ ข้อมูลบางส่วนจาก รายงานการทบทวนและวิเคราะห์วรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับประเด็นคนพิการระหว่าง ปี พ.ศ. 2517-2552 ที่ได้รับการสนับสนุนจาก สถาบันสร้างเสริมสุขภาพคนพิการในสังคมไทย ดูจะชี้ให้เห็นว่างานศึกษาวิจัยเกี่ยวกับคนพิการส่วนใหญ่ แม้จะมุ่งเน้นไปในประเด็นการฟื้นฟูสมรรถภาพ ชีวิตทางสังคม และการศึกษาของคนพิการ (329 ชิ้น จากรวมทั้งหมด 686 ชิ้น) หากแต่ดูจะไม่ปรากฏงานศึกษาที่ให้ "ภาพรวม" ทั้งประเทศเกี่ยวกับสัมพันธภาพระหว่างความต้องการของตลาดแรงงานกับการศึกษา ของคนพิการเลย อย่างน้อยก็จนถึงปี พ.ศ. 2551 จะมีบ้างก็เพียงแต่ในส่วนย่อยตามแต่ละสถานศึกษาสำหรับคนพิการ

ในแง่นี้ส่งผลได้นำไปสู่ปัญหาเชิงการจัดการหลังจากการประกาศกฎกระทรวงและ นโยบายเพราะภาครัฐไม่มีข้อมูลทางวิชาการเป็นพื้นฐานรองรับปฏิบัติการที่สืบ เนื่องมาจากแนวนโยบาย ดังตัวอย่างสำคัญ คือ การปราศจากการศึกษาเกี่ยวกับลักษณะทางการศึกษาหรือคุณสมบัติของคนพิการกับ ความต้องการของตลาดแรงงานในภาพรวมทั้งประเทศทั้งในปัจจุบันและแนวโน้มใน อนาคต เพื่อเตรียมการรองรับการปฏิบัติอันเป็นผลมาจากกฎกระทรวง

ประการที่สอง นอกจากปัญหาการขาดข้อมูลและฐานความรู้เพื่อใช้ปฏิบัติการตามนโยบายแล้ว ข่าวดังกล่าวนี้ยังสะท้อนให้เห็นสภาพความเป็นจริงของ "การออกแบบเพื่อคนทั้งมวล" (Universal Design-UD) ซึ่งเป็นพื้นฐานหนึ่งของกฎเกณฑ์และกฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวเนื่องกับคนพิการ และผู้สูงอายุ ว่าหลักปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าวนี้ประสบผลสำเร็จเพียงน้อยนิดเท่านั้น แม้บางส่วนของเส้นทางคมนาคมและขนส่งมวลชนของประเทศจะได้ปรับแต่งกายภาพให้ เอื้อต่อการใช้ชีวิตของคนทั้งมวลและคนพิการ หากแต่ถึงที่สุดแล้ว คนพิการดูจะยังประสบปัญหาเกี่ยวกับการเดินทางต่อไป อันเนื่องมาจากสภาพทางกายภาพของการคมนาคมที่ยังมิได้ถูกปรับแต่งโดยทั้งหมด รวมถึง "สำนึก" และ "จินตภาพ" ของสังคมและหน่วยงานต่างๆ ที่มีต่อคนพิการอันสัมพันธ์กับการปฏิบัติให้การออกแบบ เพื่อคนทั้งมวลใช้ได้จริงอย่างมีประสิทธิภาพตรงตามวัตถุประสงค์ ซึ่งประเด็นของสำนึกและจินตภาพดูจะสัมพันธ์กับทัศนคติของเจ้าของสถานประกอบ การและผู้ร่วมงานที่มีต่อคนพิการด้วย ซึ่งจากคำบอกเล่าและงานศึกษาบางส่วนได้ชี้ให้เห็นว่าสถานประกอบการจำนวน หนึ่งที่มีโครงการรับคนพิการเข้าทำงานก่อนการประกาศกฎกระทรวงนี้ ได้มอบหมายงานให้กับคนพิการทำอย่างไม่เต็มประสิทธิภาพหรือความคาดหวังของคน พิการ อีกทั้งบางส่วนอย่างปฏิบัติกับคนพิการแตกต่างและเท่าเทียมกับคนส่วนใหญ่ ในทางเดียวกันสถานประกอบการบางแห่งก็ดูจะรับคนพิการเข้าทำงานเพื่อสร้างภาพ ลักษณ์ "เพื่อสังคม" ให้กับองค์กรมากกว่าที่จะให้คนพิการทำงานอย่างเท่าเทียมกับพนักงานคนอื่น

การวางนโยบาย ข้อปฏิบัติ และการขับเคลื่อนเกี่ยวกับการทำงานของคนพิการในสถานประกอบการ จึงฉายให้เห็นภาพของปัญหาเกี่ยวกับคนพิการไทยที่แม้จะมีแนวนโยบายก้าวหน้า สักเพียงใด หากแต่สภาวะที่เป็นจริงของสังคมยังไม่สอดคล้องหรือไปด้วยกันไม่ได้แนวคิด เชิงนโยบายดังกล่าวก็ดูยากที่จะสัมฤทธิผล

ในแง่นี้ ปัญหาเชิงนโยบายเกี่ยวกับคนพิการจึงเป็นสิ่งที่ต้องคิดอย่างเชื่อมโยงกับ ประเด็นและการปฏิบัติทางสังคมอื่นๆ รวมถึงควรต้องตั้งอยู่บนสภาพหรือพื้นฐานที่เป็น "จริง" และฐาน "ความรู้" ที่เพียงพอ เพื่อที่จะได้กำหนดทิศทางได้อย่างเหมาะสม เกิดประสิทธิภาพ และก่อปัญหาที่น้อยที่สุด มิใช่ปล่อยละเลยอย่างไร้ทิศทางและความรู้ เฉกเช่นเดียวกับในหลายๆ การขับเคลื่อน และนโยบายของสังคมไทย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net