Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 1 ก.ค.54 สมัชชาคนจนได้แถลงข้อเสนอเชิงหลักการสมัชชาคนจนต่อสาธารณชน แนะนำรัฐบาลใหม่ในการแก้ปัญหาคนจน ด้วยการสร้าง “ประชาธิปไตยที่กินได้ การเมืองที่เห็นหัวคนจน” โดยมีรายละเอียดดังนี้ ข้อเสนอเชิงหลักการสมัชชาคนจนต่อสาธารณชน ปัญหาของสมัชชาคนจนที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขมีที่มาจากปัญหาการถูกแย่งชิงฐานทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน จากโครงการการพัฒนาและการดำเนินนโยบายของรัฐ ปัญหาความยากจนที่พวกเราประสบเป็นความยากจนที่มีรากฐานมาจากการจนอำนาจ จนโอกาส ไม่มีช่องทาง/กลไกในการเข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของรัฐ พวกเรายากจนเพราะ “ไม่มีสิทธิในการกำหนดอนาคตของตนเอง” ดังนั้น นโยบายการเมืองเพื่อแก้ปัญหาของคนจน จำเป็นต้องจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจกับรัฐและคนกลุ่มอื่นในสังคมใหม่ ด้วยการสร้าง “ประชาธิปไตยที่กินได้ การเมืองที่เห็นหัวคนจน” โดยจะต้องสร้างอำนาจให้คนจนสามารถมีสิทธิและมีส่วนร่วมในการใช้อำนาจรัฐร่วมกับคนส่วนอื่นๆ ของสังคมได้อย่างเสมอหน้า สำหรับการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ พรรคการเมืองไม่ว่าจะเป็นพรรคใดก็ตามที่ได้จัดตั้งรัฐบาล เมื่อได้เข้ามาทำหน้าที่รัฐบาลแล้วต้องมีนโยบายและปฏิบัติการที่ชัดเจนเพื่อนำไปสู่การปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจ การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ให้คนจนที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศได้เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต กระจายการถือครองที่ดิน ที่ดินที่กระจุกในมือเอกชนต้องกระจายมาสู่คนยากจน ต้องออกกฎหมายเพื่อจัดสวัสดิการสังคมให้คนจนได้รับการคุ้มครองและดูแลสวัสดิการ สิทธิคนจน 5 ประการ คือ 1. สิทธิในฐานทรัพยากร ชุมชนท้องถิ่นจะต้องมีสิทธิเหนือฐานทรัพยากรธรรมชาติ ต้องสามารถเข้าถึง ควบคุม และจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่า อากาศ ซึ่งอยู่บนฐานของภูมิปัญญาและวัฒนธรรมของชุมชน อันเป็นรากฐานสำคัญของการดำรงชีวิตและเป็นหลักประกันต่อคุณภาพชีวิตทั้งในปัจจุบันและในอนาคต บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ การดำเนินนโยบายและการตรากฎหมายใดๆ ของรัฐ ที่เกี่ยวกับทรัพยากรต้องเป็นการรับรองสิทธิของชุมชนในการจัดการทรัพยากรไม่ใช่เป็นการจำกัดสิทธิอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน นโยบายการพัฒนาใดๆ ต้องเคารพสิทธิดังกล่าว และรัฐต้องดำเนินการจัดสรรทรัพยากรที่เป็นธรรมเพื่อรับประกันการเข้าถึงทรัพยากรของคนจน เช่น การปฏิรูปที่ดิน 2. สิทธิการใช้ชีวิตบนฐานของวิถีวัฒนธรรมของชุมชน โดยยึดชุมชนเป็นศูนย์กลาง วิถีวัฒนธรรมเป็นกติกาของการใช้วิถีชีวิตในท้องถิ่นที่สอดคล้องกับบริบทและเงื่อนไขของชุมชน ที่นำมาสู่การอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขของชุมชน และสอดคล้องกับสภาพของทรัพยากรธรรมชาติ วิถีวัฒนธรรมมีความหลายหลากตามสภาพพื้นที่และมีลักษณะเฉพาะของแต่ละชุมชน รัฐต้องสนับสนุนให้ชุมชน เกิดการฟื้นฟูวิถีวัฒนธรรมชุมชนในการจัดการชุมชนของตนเอง เพื่อคงไว้ซึ่งความหลากหลายของวิถีวัฒนธรรมชุมชน 3. สิทธิทางการเมืองที่เป็นจริง สมัชชาคนจนเห็นว่า การเลือกตั้งมีความจำเป็น แต่การเมืองต้องไม่จำกัดอยู่เพียงการเลือกตั้งและการแสวงอำนาจของชนชั้นนำในสังคม คนจนจะต้องมีสิทธิในการกำหนดอนาคตตนเอง รวมถึงเป็นผู้กำหนดแนวนโยบายรัฐ โดยต้องไม่ถูกจำกัดบทบาทอยู่เพียงการเป็นเพียงผู้ร่วมรับรู้นโยบายของรัฐ อย่างไรก็ตาม เราไม่เห็นด้วยกับกระบวนการได้มาซึ่งอำนาจทางการเมืองที่ได้มาอย่างไม่ชอบธรรมนอกวิถีทางประชาธิปไตย เพื่อให้คนจนสามารถกำหนดอนาคตตนเองได้จริง รัฐจะต้องรับรอง สิทธิทางการเมืองใด ๆ เช่น สิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร สิทธิในการชุมนุม สิทธิในการแสดงความคิดเห็นของคนจน และต้องเสริมความเข้มแข็งของอำนาจประชาชนในการต่อรองเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง รวมถึงรัฐต้องเปิดโอกาสให้คนจนสามารถรวมตัวทางการเมืองในรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงการจัดตั้งองค์กรในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งที่มีกฎหมายรองรับ หรือไม่มีกฎหมายรองรับก็ตาม การเปิดโอกาสให้คนจนมีสิทธิทางการเมืองที่เป็นจริง จะเป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ปัญหาความยากจนดังคำกล่าวที่ว่า ไม่มีความยากจนในสังคมที่เป็นธรรม ในประเด็นนี้ รัฐต้องแก้กฎหมายที่ล้าหลังและขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ เช่น พรบ.ป่าไม้ พรบ.ป่าสงวน พรบ.อุทยานแห่งชาติ พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พรบ.การชุมนุมสาธารณะ เป็นต้น 4. สิทธิในสวัสดิการสังคม มนุษย์ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการสวัสดิการสังคมที่ประกันสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทำให้มนุษย์สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรี ตั้งแต่เกิดจนตาย ภายใต้พื้นฐานของการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขในสังคม รัฐต้องมีการเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้า และภาษีมรดก เพื่อเป็นฐานในการจัดสวัสดิการให้คนในสังคมสามารถได้รับบริการพื้นฐานจากรัฐอย่างเสมอหน้า ทั้งในด้านการศึกษา การบริการทางสาธารณสุข สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานและการรับประกันคุณภาพชีวิตต่างๆ เช่น การปลอดจากมลพิษ รัฐจะต้องจัดหาสวัสดิการสังคมเหล่านี้ให้แก่ประชาชนทุกคนโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติใด ๆ และต้องไม่ดำเนินนโยบายใด ๆ ที่จะเป็นการกีดกันไม่ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการบริการขั้นพื้นฐานได้จริง เช่น การทำให้บริการขั้นพื้นฐานกลายเป็นสินค้า รวมทั้งต้องคุ้มครองการละเมิดสิทธิในการบริการขั้นพื้นฐานเหล่านี้ด้วย นอกจากสวัสดิการในภาพรวมแล้ว การคุ้มครองสิทธิของคนจนกลุ่มต่างๆ เช่น การคุ้มครองสิทธิเกษตรกร การคุ้มครองสิทธิของผู้ใช้แรงงานโดยให้รัฐออกกฎหมายจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน การคุ้มครองสิทธิของคนไร้บ้าน เป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการควบคู่กัน กับการชดเชยที่รัฐละเลยต่อการขูดรีดในสังคมและผลักให้คนส่วนใหญ่ของประเทศกลายเป็นคนจน ดังที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน 5. สิทธิของผู้ตกเป็นเหยื่อ ความยากจน ที่เกิดจากการดำเนินนโยบายของรัฐที่มุ่งเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ และโครงการพัฒนาที่ตอบสนองการลงทุน เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาความยากจน และมีแนวโน้มว่าจะทวีความ รุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตราบใดที่รัฐยังคงผลักดันให้เกิดเขตการค้าเสรี ตามแนวทางเศรษฐกิจทุนนิยม เหยื่อของการพัฒนาก็จะเพิ่มปริมาณขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้สิทธิของผู้ตกเป็นเหยื่อมีความสำคัญเพิ่มขึ้นในการสร้างประชาธิปไตยที่กินได้ หลักการสำคัญก็คือ รัฐต้องเปิดโอกาสให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินนโยบายและโครงการพัฒนาใด ๆ เป็นผู้มีสิทธิตัดสินใจในการกำหนดและดำเนินนโยบายเหล่านั้น โดยการตัดสินใจดังกล่าวจะต้องได้รับข้อมูลที่เป็นจริงอย่างครบถ้วนรอบด้าน ในกรณีที่มีผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายของรัฐ ผู้ที่ได้รับผลกระทบจะต้องมีส่วนร่วมในการกำหนดการฟื้นฟูวิถีชีวิต เช่น ร่วมตัดสินใจเกี่ยวกับพื้นที่รองรับในกรณีที่มีการโยกย้ายถิ่นฐาน ร่วมกำหนดวิธีการชดเชยความเสียหายและการฟื้นฟูชีวิต การดำเนินนโยบายใดๆ ที่ก่อผลกระทบจะต้องมีมาตรการการฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบที่เป็นธรรม และสามารถทำให้ผู้ได้รับผลกระทบสามารถดำเนินชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีต่อไปได้ สิ่งที่กล่าวแล้วข้างต้น สมัชชาคนจนขอเรียกร้องให้ผู้ได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไปจะต้องบรรจุไว้ในการแถลงนโยบายของรัฐบาลและนำสู่การปฏิบัติอย่างแท้จริง นอกจากนี้ จากการที่ในรัฐบาลที่ผ่านมาได้มีการประชุมเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาของสมัชชาคนจน รวมทั้งองค์กรภาคประชาชนอื่น ๆ สมัชชาคนจนขอเสนอว่ารัฐบาลชุดต่อจากนี้จะต้องสานต่อการแก้ไขปัญหาของคนจนทั้งในสมัชชาคนจน และองค์กรภาคประชาชนต่าง ๆ ต่อไป เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหา สุดท้ายเรายืนยันว่า ประชาธิปไตยจะสมบูรณ์ ประชาชนต้องกำหนดอนาคตของตนเอง คนจนทั้งผองต้องสามัคคีกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net