สื่อนอกมองการเลือกตั้งไทย ยังแคลงใจ ทหารจะเข้ามาแทรกแซงหรือไม่

4 ก.ค. 54 – หลังจากที่ผลการเลือกตั้งปี 2554 ออกมาเป็นที่ชัดเจน ว่าพรรคเพื่อไทยชนะอย่างขาดลอยและสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้นั้น สื่อนอกที่จับตามองการเลือกตั้งได้วิเคราะห์และตั้งคำถามต่อการเมืองไทยหลังจากนี้ ว่าจะสามารถนำซึ่งประชาธิปไตยที่มีเสถียรภาพได้หรือไม่ และกองทัพจะมีท่าทีอย่างไรต่อผลที่ออกมา หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีทเจอร์นัล ได้วิเคราะห์สถานการณ์การเมืองไทยหลังการเลือกตั้งว่า หลังจากที่พรรคเพื่อไทยสามารถตั้งรัฐบาลได้แล้ว ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าทหารจะเข้ามาแทรกแซงการเมืองไทยหรือไม่ โดยเฉพาะถ้าหากมีการชูเรื่องนิรโทษกรรมอดีตนายกทักษิณ ชินวัตร เช่นเดียวกับสำนักข่าวบีบีซี ที่มองว่า ผลการเลือกตั้งในครั้งนี้ จะเป็นตัวบ่งชี้ว่า ประเทศไทยจะสามารถเริ่มต้นใหม่ และออกจากวงจรอุบาทว์และนองเลือดได้สำเร็จหรือไม่ และชี้ว่า การกลับมาของทักษิณ น่าจะเป็นเรื่องที่เหล่าผู้นำกองทัพซึ่งเคยได้ทำรัฐประหารขับไล่อดีตนายกฯ ผู้นี้ไปนั้น ยอมรับไม่ได้แน่นอน นอกจากนี้ หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทมส์ ก็ยังได้ระบุว่า ข่าวลือการรัฐประหารยังคงมีอยู่ทั่วไป และกองทัพก็ยังคงถูกจับตามองอย่างใกล้ชิด ถึงแม้ว่ากองทัพอาจจะประสบความยากลำบากที่จะทำรัฐประหารอย่างเปิดเผย แต่ทางชนชั้นนำไทยอาจจะใช้ตุลาการศาลเพื่อยุบพรรคและตัดสิทธิทางการเมือง ดังที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ทำมาแล้วสองครั้งก่อนหน้านี้ และได้ตั้งข้อสังเกตเช่นกันว่า ชนชั้นนำจะมีท่าทีต่อผลการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างไร บทความข้างต้นยังได้วิเคราะห์ด้วยว่า การเลือกตั้งในครั้งนี้ ได้เปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองและประชาชนอย่างชัดเจน กล่าวคือ นอกจากประชาชนจะเลือกผู้แทนโดยดูจากตัวบุคคลแล้ว ยังตัดสินใจจากนโยบายต่างๆ ของแต่ล่ะพรรคในการบริหารประเทศ ทำให้สิทธิทางการเมืองในการต่อรองของประชาชนมีความสำคัญอย่างไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งต่างจากเดิมที่ความสัมพันธ์ของประชาชนและนักการเมืองเป็นไปตามระบบอุปถัมภ์ดั้งเดิม การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวยังเห็นได้จากการที่นโยบาย “เศรษฐกิจพอเพียง” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ได้ถูกนำมาใช้หาเสียงโดยพรรคใดๆ เลยในการเลือกตั้งครั้งนี้ โดยไฟแนนเชียลไทมส์ได้มองปรากฏการณ์ดังกล่าวว่า ชาวบ้านในชนบทเห็นแล้วว่าแนวคิดดังกล่าวเป็นเรื่องที่พร่ำเพ้อหาอดีต และได้รับประโยชน์จากนโยบายของทักษิณที่ส่งเสริมการเจริญเติบโตทางอุตสาหกรรมและส่งเสริมโลกาภิวัฒน์มากกว่า พรรคการเมืองทั้งเพื่อไทย และประชาธิปัตย์ จึงได้หันมาหาเสียงด้วยนโยบายต่างๆ ที่สอดรับกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและโลกาภิวัฒน์ ไฟแนนเชียลไทมส์ได้ยกคำพูดของฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและความมั่นคง แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า การเลือกตั้งในครั้งนี้ “เป็นคำตัดสินที่ยิ่งใหญ่สำหรับเราในฐานะประเทศชาติ คะแนนโหวตที่เทให้เพื่อไทยนั้นไม่ได้เกี่ยวกับทักษิณเพียงอย่างเดียว แต่มันหมายถึงการแทรกแซงและบิดเบือนที่เกิดขึ้นในระยะห้าปีที่ผ่านมา ถ้าประชาชนชื่นชอบในสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว เขาคงจะไม่เลือกให้เพื่อไทยหรอก” ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง Wall Street Journal: Thailand and Mass Politics Wall Street Journal: Ex-Thai Leader's Party Wins Financial Times: Big Challenges await Yingluck BBC: Thailand army 'will accept' Thaksin sister election win

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท