Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

การลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคของคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะด้วยเหตุผลที่ว่า ทำให้พรรคได้ที่นั่งน้อยลงกว่าเดิม ...จะว่าเป็นเรื่องเล็ก ก็เล็ก แต่จะว่าเป็นเรื่องใหญ่ ก็ใหญ่ ที่เป็นเรื่องเล็กเพราะว่า เลือกตั้งปี 2550 ภายใต้การนำของคุณอภิสิทธิ์ ปชป.เคยแพ้พลังประชาชน. มาแล้ว แพ้อีกไม่เห็นเป็นไร แม่ยกยังนิยม รัก และอุ้มชูกว่าเดิมด้วยซ้ำ จะว่าเรื่องใหญ่ ก็ใหญ่ในแง่ที่ว่า มีโอกาสบริหารประเทศแบบเทพอุ้มสมและมีตัวช่วยขนาดนี้ ครองสื่ออย่างเบ็ดเสร็จ แก้รัฐธรรมนูญตามความได้เปรียบของพรรค ฯลฯ แต่ยังเอาชนะไม่ได้ ย่อมต้องเกิดคำถาม อันที่จริงเหตุผลที่ว่านำพรรคพ่ายแพ้สองครั้งนั้น ยังไม่น่าจะถือว่ามีน้ำหนักมากพอสำหรับการลาออก ....ไหนๆ จะลาออกทั้งที่ควรจะทบทวนความพ่ายแพ้ให้ได้บทเรียนมากกว่านี้ ถ้าเป็นผม ผมคงลาออกเพราะหมดสิ้นความนับถือตัวเองมากกว่าเหตุเพราะเลือกตั้งแพ้ ซึ่งอาจจะมีคำถามตามมาว่า เหตุอันใดเล่าที่ทำให้ผู้นำแห่งพรรค ปชป. ควรจะหมดสิ้นความนับถือตัวเอง? โดยส่วนตัว ผมเห็นว่า ประเด็นที่คุณอภิสิทธิ์ควรจะทบทวนอย่างมากภายใต้การลาออก คือ การขาดหายไปของความเป็นวิญญูชน ดังจะได้อธิบาย 1. กับคนอื่นบอกให้ \สู้ด้วยตนเอง\" แต่กับตัวเองใช้ \"สองรุมหนึ่ง\" ทุกฝ่ายลุ้นกับการเลือกตั้งเพราะรู้ว่า พท. มีโอกาสเดียวที่จะชนะ นั่นคือต้องชนะเกินครึ่ง ส่วน ปชป. แสดงท่าที่อย่างเปิดเผยว่า \"ใครรวมเสียงได้เกินครึ่งก่อนย่อมมีสิทธิจัดตั้งรัฐบาล\" นั่นคือพวกเขาไม่เคยปฏิเสธว่าจะใช้สองรุมหนึ่ง (ร่วมกับพรรคคุณเนวิน) และทางเลือกนี้เท่ากับยอมรับอยู่ลึกๆ ด้วยว่า \"อำนาจที่หลีกเลี่ยงไม่ได้\" พร้อมจะเข้ามาโอบอุ้มอย่างที่เคยทำ แน่นอน การรวมเสียงข้างมากให้ได้ไม่ผิดรัฐธรรมนูญ และการให้พรรคอันดับหนึ่งตั้งรัฐบาลก่อนเป็นเพียงธรรมเนียมปฏิบัติ ไม่ใช่กฎหมายที่เป็นลายลักษณ์ ... ดังนั้น จึงไม่ผิดกฎหมาย ไม่ผิดรัฐธรรมนูญ แต่ประเด็นคือ ขาดความละอายที่ไปท้าสู้แบบ \"สองรุมหนึ่ง\" ที่สำคัญกว่านั้นยังขาดความละอายกับการกำหนดโจทย์ที่ยากกว่าให้คู่ต่อสู้ (เกินครึ่งของ 500 เท่านั้น) ส่วนตัวเองใช้โจทย์ง่ายกว่า (รวมกับพรรคอันดับสามแล้วได้มากกว่าหรือใกล้เคียง) ความน่าตระหนกอยู่ที่ว่า ฝ่ายที่อ้างว่าเป็นคนดี ช่างไม่กระดากและไม่รู้สึกฝืนใจใดๆ เลยกับการป่าวประกาศได้อย่างหน้าตาเฉยว่าจะใช้ \"สองรุมหนึ่ง\" !!! อันที่จริง มิสู้รวมพรรคกันไปเลยดีว่าไหม ...จริงอยู่แม่ยก ปชป. รับไม่ได้แน่ๆ (เกลียดตัวกินไข่) แต่ในแง่ความถูกทำนองคลองธรรม จะได้ภาพลักษณ์ที่ดีกว่านี้ว่าสู้กันอย่างแฟร์ๆ ระหว่างสองพรรค 2. ได้บัญชีรายชื่อ (Party List) ไม่ถึงครึ่ง ไม่มีความชอบธรรมในการนิรโทษกรรม ข้อสังเกต คือ พท. ประกาศจะอิงผลการทำงานของคณะ อ.คณิต ณ ณคร เพื่อเป็นฐานในกระบวนการปรองดอง จนบัดนี้ยังไม่เคยมีข้อมูลจากฝั่ง พท. ว่าจะใช้จำนวนที่ได้บัญชีรายชื่อไปใช้รองรับความชอบธรรมในเรื่องนี้ (ซึ่งผมไม่เชื่อว่า พท. จะเอาจำนวน ส.ส.ในบัญชีรายชื่อมาอ้างเป็นมติมหาชนด้วยซ้ำ เพราะผลที่ได้จะไม่ยั่งยืน ..ถ้าทำคือไม่ฉลาด) แต่ที่คุณอภิสิทธิ์แถลงเหมือนวางระเบิดทิ้งไว้ในครั้งนี้ กลับเปิดช่องให้ต้องถามกลับไปว่า ถ้าจริงใจ (sincere) จริงๆ กับ หลักการที่ว่า สัดส่วนที่นั่งปาร์ตี้ลิสต์ คือตัวกำหนดความชอบธรรมในการ set agenda ใดๆ ....แล้วจะอธิบายอย่างไรกับความพ่ายแพ้ในระบบปาร์ตี้ลิสต์ของตัวเอง? เพราะตั้งแต่มีระบบปาร์ตี้ลิสต์มา ปชป. ไม่เคยได้จำนวนที่นั่งมากกว่าฝ่ายตรงข้ามเลย (ไม่ว่าจะในรูปของ ทรท. พปช. หรือ พท.) ได้น้อยกว่าทุกครั้ง แม้ครั้งล่าสุด พท. จะได้ไม่ถึงครึ่ง แต่ก็ได้ไปราวๆ 61 ที่นั่ง (ถ้าได้ 63 คือเกินครึ่ง) ซึ่งทำให้ย้อนกลับมาถามได้ว่า สมัย ปชป. เป็นรัฐบาล มักจะอ้างตลอดว่า รัฐบาลตนมาด้วยสภาชุดเดียวกันกับรัฐบาล สมัคร-สมชาย อ้าง majority ในสภา แต่ไม่เคยสักครั้งจะพาดพิงถึงความพ่ายแพ้ของตัวเองในระบบปาร์ตี้ลิสต์ ครั้งนี้ พอศัตรูชนะกลับออกมาบอกว่าปาร์ตี้ลิสต์ไม่ถึงครึ่ง อย่าผลักดันเรื่องนั้นเรื่องนี้ (โดยที่อีกฝ่ายยังไม่ได้บอกด้วยซ้ำว่าจะทำ) ....แล้วการที่ฝ่ายตนบริหารประเทศมาสองปี กลับได้ปาร์ตี้ลิสต์แค่ 44 ในหนนี้ มันไม่เท่ากับว่า การ set agenda ใดๆ ที่ผ่านมาทั้งหมดขาดความชอบธรรมไปด้วยหรือ? เช่น กรณีเรื่องใหญ่ขนาดที่ไปประกาศถอนตัวจากภาคีมรดกโลกนี่เป็น agenda ที่ ปชป. ควรจะได้ปาร์ตี้ลิสต์เกินครึ่งด้วยใช่ไหม ถึงจะอ้าง majority (เสียงข้างมาก) ของชาติได้? ถึงจะชอบธรรม? เราเถียงได้ไหมว่า ห้ามถอนตัวจากภาคีเพราะ ปชป. ได้ปาร์ตี้ลิสต์ไม่ถึงครึ่ง? ...... ไล่เรียงดูสภาวะ \"สองมาตรฐาน\" ทั้งสามกรณี (ด้วยภาษาพูดง่ายๆ) 1. แกสู้โดยลำพัง / ฉันสู้แบบ สองรุมหนึ่ง 2. แกต้อง 250 ขึ้นเท่านั้นจึงจะเป็น majority / ฉันและเพื่อนรวมกันขอ 250 หรือแค่ใกล้เคียง แล้วจะไปรวบรวมรายย่อยอื่นๆ มาเป็น majority 3. ปาร์ตี้ลิสต์แกต้องเกินครึ่งเท่านั้น ถึงจะมีความชอบธรรม / ฉันแพ้ปาร์ตี้ลิสต์ติดกันสามครั้ง ไม่ใช่ประเด็น ทั้งหมดข้างต้นคือปัญหาในกรณีของ \"ความเป็นธรรมในเกมการเมือง\" หรือ \"ความเป็นธรรมในการแข่งขันทางการเมือง\" ล้วนๆ ซึ่งถูกบั่นทอนอย่างโจ่งแจ้งจนเห็นได้ชัด ชัดชนิดที่ว่ายังไม่ต้องนำการถกเถียงในเรื่อง ใครเผา ใครฆ่า ใครบิดเบือน ใครปกปิด ใครล้มเจ้า ใครอ้างเจ้า ใครโกงกว่า ใครพายเรือให้โจรนั่ง ฯลฯ มาปะปนเลยด้วยซ้ำ !!! เรื่องอื่นๆ ในกรณีหลัง อาจเถียงกันได้เพราะเป็นเรื่องผลการทำงาน แต่การกำหนดเกมอย่างอยุติธรรม ให้ศัตรูเจองานหินกว่าตั้งแต่เริ่มลงสนาม ไม่แข่งขันแบบที่ควรจะเป็น แถมสร้างความได้เปรียบเสียเปรียบขนาดนี้ ....นี่ต่างหากคือความควรรับผิดชอบที่ควรแสดงออกด้วยการลาออก เพราะถ้าลองนำเกณฑ์ทั้งสามข้อที่แอบบีบบังคับ พท. มาบังคับใช้กับ ปชป. แทน ปชป. ย่อมไม่สามารถทำได้แม้แต่ข้อเดียว นี่คือการใช้กติกาอย่างไร้สมมาตร ที่จริงแล้ว หากได้สู้กันอย่างยุติธรรมภายใต้กติกาเดียวกันแล้วเกิดพ่ายแพ้ เชื่อว่าคนดูยังชื่นชมว่าเป็นการสู้เต็มที่อย่างขาวสะอาด ...ถ้าเกมมันแฟร์ การพ่ายแพ้ไม่ใช่เรื่องใหญ่เลย ความผิดพลาดแท้จริงที่คุณอภิสิทธิ์ควรรับผิดชอบต่อพรรค คือการละทิ้งความเป็นวิญญูชนและหลักการแข่งขันอันเที่ยงธรรม เพราะคุณลักษณะอย่างหนึ่งของวิญญูชน คือเมื่อกำหนดเกณฑ์ทางศีลธรรมต่างๆ กับผู้อื่นอย่างเข้มงวด ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้มงวดกับตนเองด้วย !!! ไม่ใช่ลดมาตรฐานความเป็นธรรมในเกมการแข่งขันของฝ่ายตัวเองอย่างน่าละอาย แต่กับฝ่ายตรงข้ามกลับกำหนดเกณฑ์ไว้สูงลิบ (...แล้วยังแพ้เขา) หากสร้างเกณฑ์ทางศีลธรรมหรือกติกาอันเข้มงวดมาบังคับใช้กับผู้อื่น แต่กับตนเองกลับย่อหย่อนในทุกเรื่องราว ย่อมมีแต่จะทำให้คนหวนคิดว่า ฉายา \"ดีแต่พูด\" และ \"สองมาตรฐาน\" นั้น มิใช่ได้มาด้วยโชคช่วยจริงๆ"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net