TCIJ: เสวนา 'ความจริงในม่านฝุ่น: มองชนบทไทยและการพัฒนา จากการศึกษาภาคสนาม'

8 กรกฎาคม 2554 เวลา 11.00 น. ณ ห้องประชุมประกอบ หุตะสิงห์ อาคารอเนกประสงค์ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีการจัดวงวิชาการเสนอรายงาน ในหัวข้อ “ความจริงในม่านฝุ่น: มองชนบทไทยและการพัฒนาจากการศึกษาจากภาคสนาม” มีผู้ร่วมนำเสนอคือ เนตรดาว เถาถวิล, ชลิตา บัณฑุวงศ์, สุรินทร์ อ้นพรม และทับทิม ทับทิม โดยมี ดร. รัตนา โตสกุล เป็นผู้ร่วมเสนอความคิดเห็น วงวิชาการดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของงานสัมมนา “ภูมิทัศน์และการเมืองของการพัฒนาชนบทไทยร่วมสมัย” ซึ่งจัดโดยคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ TCIJ จึงนำสาระสำคัญมานำเสนอแก่ผู้อ่านดังนี้ ============================================== เนตรดาว เถาถวิล นักศึกษาปริญญาเอกภาคสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ทำงานศึกษาในหัวข้อ “เฮ็ดอยู่ แต่บ่พอกิน: การดิ้นรนของชาวนาอีสานในยุคโลกาภิวัตน์ด้านอาหารและการพัฒนา” โดยตั้งคำถามถึงการทำเกษตรอินทรีย์ว่า เป็นหนทางไปสู่การพึ่งตนเองของชาวนาหรือไม่ สามารถแก้ไขปัญหาความยากจนของชาวนาได้จริงหรือ และเป็นการหลีกหนีความสัมพันธ์ของรัฐ ทุนนิยม และระบบตลาดจริงได้แค่ไหนอย่างไร เนตรดาวได้เท้าความถึงที่มาของเกษตรอินทรีย์ในเมืองไทยว่า เกษตรอินทรีย์เป็นแนวคิดที่นำเข้าจากต่างประเทศสู่ประเทศไทยตั้งแต่ทศวรรษ 2530 ในฐานะที่เป็นทางเลือกเพื่อหลีกหนีจากการปฏิวัติ เขียว โดยองค์กรพัฒนาเอกชนได้สร้างวาทกรรมเกษตรอินทรีย์เพื่อเป็นทางเลือกออกจากการเกษตรแผนใหม่ ส่วนกลุ่มทุนและรัฐที่ผลักดันเกษตรอินทรีย์เพื่อการค้า อย่างไรก็ตาม แนวคิดเกษตรอินทรีย์ขององค์กรพัฒนาเอกชนได้ถูกนำมาผนวกอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 8 เพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการผนวกรวมแนวคิดเกษตรอินทรีย์ขององค์กรพัฒนาเอกชนและของรัฐ ทั้งในด้านอุดมการณ์และปฏิบัติการ เนตรดาวเสนอว่า เกษตรอินทรีย์ ถูกนำเสนอภาพที่เป็นอุดมคติ และการส่งเสริมเกษตรกรรมอินทรีย์นี้ กระทำผ่านการใช้เทคนิคทางอำนาจสองประเภท เพื่อสร้างภาพแทนความจริงเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ เทคนิคทางอำนาจประการแรก คือการสร้างภาพแทนความจริงเกี่ยวกับเกษตรเคมี ว่าเป็นภาพปีศาจของระบบทุนนิยม ซึ่งบั่นทอนศักยภาพในการพึ่งตนเองของชุมชน เทคนิคทางอำนาจประการที่สอง คือการสร้างภาพแทนความจริงเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ว่าเป็นระบบเกษตรกรรมเชิงอุดมคติ ที่ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อการพึ่งตนเองเท่านั้น แต่ยังสอดคล้องกับค่านิยมตามหลักพุทธศาสนา เช่น การนำเสนอภาพว่าเกษตรอินทรีย์ทำแล้วได้บุญ ผู้บริโภคกินแล้วได้บุญ ส่วนเกษตรเคมีทำแล้วบาป เป็นต้น ในระยะต่อมาเกษตรอินทรีย์ยังถูกเชื่อมโยงกับแนวคิดชาตินิยม เช่น การนำเสนอภาพว่า เกษตรอินทรีย์เป็นคุณค่าที่ฝังรากอยู่ในผืนแผ่นดินไทยและสืบทอดต่อกันมาอย่างยาวนาน เป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านดังปรากฏตามสื่อต่างๆ การนำเสนอภาพความจริงในเชิงอุดมคติเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ มุ่งสร้างความเชื่อในลักษณะที่ไม่สอดคล้องกับความจริงว่าเกษตรอินทรีย์เป็นระบบการผลิตเพื่อการพึ่งตนเอง และอยู่นอกระบบตลาด ทั้งที่ในความจริงแล้ว เกษตรอินทรีย์เป็นการผลิตในระบบตลาด และความสัมพันธ์ระหว่างทุน แรงงานและผู้บริโภคในระบบเกษตรอินทรีย์ เป็นความสัมพันธ์ในระบบทุนนิยม ซึ่งมีการหาประโยชน์จากแรงงานของเกษตรกร การหากำไรจากการขายปัจจัยการผลิตและการซื้อผลผลิตจากเกษตรกรอย่างซับซ้อน เกษตรกรทำเกษตรอินทรีย์ในระบบทุนส่วนใหญ่ผลิตในระบบเกษตรพันธะสัญญา และการค้าผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ส่วนใหญ่ถูกกำกับควบคุมโดยทุนด้านการเกษตร ทว่าวาทกรรมเชิงอุดมคติเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์กลับทำให้แง่มุมที่เป็นเศรษฐศาสตร์การเมืองของเกษตรอินทรีย์ถูกกีดกันออกไป และถูกทำให้กลายเป็นเพียงแค่เรื่องเทคนิคการผลิตเกษตรอินทรีย์และสุนทรียะของการเสพความหมายเกษตรอินทรีย์ จากการลงไปทำวิจัยในหมู่บ้านนาสวรรค์ ซึ่งเป็นพื้นที่ชายแดนไทย-ลาว จังหวัดอุบลราชธานี มีการปลูกข้าวอินทรีย์เพื่อส่งออก พบว่าชาวนาที่ทำเกษตรอินทรีย์ได้ถูกเชื่อมโยงกับระบบตลาดท้องถิ่นและตลาดโลกอย่างซับซ้อน ผ่านทางกระบวนการพัฒนาชนบทที่มุ่งแก้ปัญหาความยากจนให้แก่เกษตรกรและการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม และยังเกี่ยวข้องกับมิติของการอพยพเคลื่อนย้ายแรงงาน ทั้งในประเทศและข้ามประเทศด้วย ข้อเท็จจริงที่มักจะถูกมองข้ามและไม่มีการนำมากล่าวถึงก็คือ การส่งเสริมเกษตรอินทรีย์เกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขบริบททางเศรษฐกิจสังคมที่มีความแตกต่างเหลื่อมล้ำในสังคมชนบท ชาวนามีการถือครองที่ดินมากน้อยต่างกัน มีทุนไม่เท่ากัน และมีแรงงานไม่เท่ากัน ดังนั้นความสามารถในการปรับตัวเพื่อทำเกษตรอินทรีย์จึงแตกต่างกัน และผลลัพธ์ในการทำเกษตรอินทรีย์ของชาวนาแต่ละกลุ่มจึงไม่เหมือนกันด้วย จากการวิจัยทางสถิติพบว่า ชาวนารายย่อยที่ทำเกษตรอินทรีย์ต้องทำงานหนัก แต่กลับได้รับประโยชน์น้อยที่สุดจากการทำเกษตรอินทรีย์ และต้องพึ่งรายได้จากการขายแรงงานเพื่อความอยู่รอดเป็นหลัก ในขณะที่ชาวนาขนาดใหญ่ใช้ทุนในการจ้างแรงงานเพื่อทำเกษตรอินทรีย์เป็นหลัก แต่กลับได้รับประโยชน์จากการทำเกษตรอินทรีย์มากที่สุด และมีความมั่นคงในการทำเกษตรอินทรีย์มากกว่าชาวนาจน นอกจากนี้ ข้อค้นพบที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ความอยู่รอดของครัวเรือนชาวนาในปัจจุบัน มาจากการสร้างทางเลือกในการประกอบอาชีพที่หลากหลาย ซึ่งไม่ใช่แค่การทำเกษตรอินทรีย์เพียงอย่างเดียว แต่มาจากการทำเกษตรหลายระบบ และการทำงานรับจ้างนอกภาคเกษตร รวมถึงการเป็นผู้ประกอบการรายย่อยด้วย นอกจากนี้ ข้อค้นพบที่ว่าชาวนาที่ทำเกษตรอินทรีย์มีหนี้สินสูง ไม่ได้แตกต่างจากกับชาวนาที่ทำเกษตรเคมี ทำให้มีข้อโต้แย้งว่า เกษตรอินทรีย์ไม่ใช่หนทางที่จะช่วยให้ชาวนาหลุดพ้นจากความยากจนหรือการเป็นหนี้สิน ทั้งนี้เพราะเกษตรกรขายผลผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ในราคาที่ไม่ได้แตกต่างไปจากสินค้าเกษตรเคมีมากนัก แม้ว่าราคาสินค้าเกษตรอินทรีย์ในตลาดจะมีราคาสูง แต่ส่วนแบ่งผลกำไรที่เกษตรกรได้รับกลับมีสัดส่วนที่ค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับทุนที่เป็นผู้ค้าปัจจัยการผลิตและรับซื้อผลผลิตเกษตรอินทรีย์ไปแปรรูปส่งขาย ในขณะที่เกษตรกรที่ทำการผลิตในระบบเกษตรอินทรีย์มีความเสี่ยงสูง จากต้นทุนการผลิตและการจัดการที่เพิ่มขึ้น การใช้แรงงานที่เข้มข้น และความเสี่ยงต่อการถูกปฏิเสธการซื้อผลผลิต หากผลผลิตเกษตรอินทรีย์ไม่ได้คุณภาพตรงตามมาตรฐานที่กำหนด กล่าวโดยสรุป การสร้างภาพแทนความจริงว่าเกษตรอินทรีย์เป็นทางเลือกสู่การพึ่งตนเองของชาวนายากจน ที่ช่วยให้ชาวนายากจนสามารถมีชีวิตอยู่รอดอย่างพอเพียง และไม่ถูกเอาเปรียบจากระบบตลาด จึงเป็นการนำเสนอภาพเกษตรอินทรีย์ที่ไม่สอดคล้องความจริง จากการวิจัยในพื้นที่หมู่บ้านนาสวรรค์ จังหวัดอุบลราชธานีพบว่า เงื่อนไขความสำเร็จหรือล้มเหลวของการทำเกษตรอินทรีย์เป็นสิ่งที่สำคัญและควรจะถูกนำมาพิจารณาอย่างละเอียดและรอบด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศักยภาพที่ไม่เท่ากันของชาวนาแต่ละกลุ่มในการปรับตัวสู่ระบบเกษตรอินทรีย์ที่มีไม่เท่ากัน การพิจารณาเงื่อนไขทางเศรษฐกิจสังคมของชาวนาที่ทำเกษตรอินทรีย์ถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้เข้าใจว่าแนวทางการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ควรจะได้รับการปรับปรุงหรือหนุนเสริมในด้านใด จึงจะสอดคล้องกับความต้องการของเกษตรกรเฉพาะกลุ่ม นอกจากนี้ การสร้างความอยู่รอดและมั่นคงให้กับการดำรงชีพของชาวนา อาจจะต้องพิจารณาในมิติที่กว้างไปกว่าการทำเกษตร เนื่องจากครัวเรือนชาวนามีรายได้ส่วนใหญ่มาจากการรับจ้างและการประกอบอาชีพนอภาคเกษตร ดังนั้นการมีมาตรฐานที่หนุนเสริมที่จำเป็นในด้านข่าวสารเกี่ยวกับการจ้างงาน การส่งเสริมทักษะการทำงานนอกภาคเกษตร และการจัดสวัสดิการที่เหมาะสมให้แก่แรงงานอพยพที่มาจากครัวเรือนในชนบทจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยให้ชาวนาอยู่รอดได้จริง ======================================================= ชลิตา บัณฑุวงศ์ นักศึกษาปริญญาเอกทางด้านมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยฮาวาย ได้ทำวิจัยเรื่อง “ออแฆกำปง (ชาวบ้าน) ไม่โรแมนติก: การเกษตรและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติแบบเข้มข้นในเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้” โดยได้ลงไปวิจัยในหมู่บ้าน กำปงไฮย์ญีแต ในจังหวัดปัตตานี บริเวณลุ่มน้ำสายบุรีซึ่งมีลักษณะเป็นลุ่มน้ำจืด ข้อค้นพบจากงานศึกษาชิ้นนี้โต้แย้งการสร้างภาพโรแมนติกที่ว่าชาวบ้านในพื้นที่ดังกล่าวดำรงชีวิตอย่างเกื้อกูลและพึ่งตนเอง และโต้แย้งคำอธิบายที่ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจ การขยายตัวของระบบตลาด/ทุนนิยม และการขาดจิตสำนึกของชาวบ้าน เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำลายสภาพแวดล้อม และทำให้ชาวบ้านพึ่งตนเองไม่ได้ ในทางตรงกันข้าม ชลิตาเสนอว่า สภาพที่ไม่ได้โรแมนติกที่เกิดขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของการที่ชาวบ้านพยายามปรับตัวให้มีชีวิตรอดได้ท่ามกลางบริบทและเงื่อนไขที่สลับซับซ้อนในพื้นที่ โดยเฉพาะโครงสร้างและความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างรัฐไทยกับชาวมลายูมุสลิม แต่เรื่องนี้เป็นประเด็นที่ภาคประชาสังคมไม่ได้ให้ความสำคัญมากนัก จังหวัดชายแดนใต้ มักถูกนำเสนออย่างโรแมนติกว่ามีจัดการทรัพยากรแบบส่วนรวม มีการเคารพสิทธิและการแบ่งปัน ซึ่งวางอยู่บนรากฐานของจิตสำนึกแบบพิเศษและเป็นเอกลักษณ์ นอกจากนี้ยังมีการยกย่องชาวบ้านที่มีความรู้แบบพิเศษนั้นว่า “ปราชญ์ชาวบ้าน” ภาพดังกล่าวนี้เพิ่งมาปรากฏในช่วงสิบปีที่ผ่านมาเท่านั้น โดยเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับการเข้ามาขององค์กรพัฒนาเอกชน หรือเอ็นจีโอที่คัดค้านการสร้างเขื่อนสายบุรีในปี 2535 ซึ่งต่อมาเอ็นจีโอสายทรัพยากรธรรมชาติ ก็ได้ขยายประเด็นการทำงานไปสู่ประเด็นพื้นที่ทำกินและเกษตรกรรมแบบยั่งยืน ภาพวิถีชีวิตและชุมชนมลายูมุสลิมที่โรแมนติกได้ถูกผลิตซ้ำอย่างต่อเนื่อง โดยสอดคล้องกับที่ขบวนการภาคประชาชนเริ่มให้ความสำคัญกับ “ภาคประชาสังคม” และลงมาทำงานในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มากขึ้นหลังจากเกิดความรุนแรงปะทุขึ้นในปี 2547 โดยกลุ่มประชาสังคม หรือเอ็นจีโอที่ว่านี้เป็นชนชั้นนำในเมืองที่มีการศึกษาสูง และเป็นผู้ที่ได้ชื่อว่ามีคุณธรรมสูงกว่ากลุ่มอื่นๆ และมีบทบาทในการผลักดันและตั้งหน่วยงานอิสระ รวมถึงจัดสรรงบประมาณจำนวนมาก ซึ่งเอื้อให้ภาพโรแมนติกดังกล่าวปรากฏในสื่อต่างๆ ในโทรทัศน์ และงานวิจัย ในทุกระดับที่ประชาสังคมสนับสนุนเงินทุน ชลิตาชี้ให้เห็นถึงการจัดการทรัพยากรในหมู่บ้านว่ามีกิจกรรมการผลิตที่หลากหลาย และมีการพึ่งพิงธรรมชาติ ซึ่งดูเหมือนว่าจะสอดคล้องกับภาพโรแมนติกแบบ “เศรษฐกิจชุมชน” แต่หากมองลึกลงไปแล้ว การทำเกษตรในพื้นที่หาได้เป็นเช่นนั้นไม่ เนื่องจากมีแนวโน้มการทำลายความสมดุลของธรรมชาติ ด้วยการใช้ปุ๋ย และสารเคมีอันตรายต่างๆ นอกจากนี้ ระบบการผลิตก็ไม่ได้เป็นอิสระจากตลาดหรือระบบทุนเท่าใดนัก ในทางตรงกันข้าม การทำเกษตรกรรมในพื้นที่นี้ ล้วนใช้ทุนสูงในหลายขั้นตอน เช่น ค่าปุ๋ย ค่าที่นา ค่าแรง ซึ่งโดยรวมแล้วมีความแนบแน่นกับระบบทุนนิยม และเศรษฐกิจโลกอย่างมาก โดยเฉพาะผ่านการปลูกยางพาราซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจ นอกจากนี้ชลิตายังพบว่า คนในหมู่บ้านมีการบริโภคและจับจ่ายใช้สอยในมูลค่าสูงมาก ไม่ว่าจะเป็นการใช้สมาร์ทโฟน รถยนต์ รถกระบะ เครื่องประดับตกแต่ง มีการจัดทัวร์และวงแชร์ที่วงเงินสูงนับแสนบาท ซึ่งไม่ต่างจากวิถีชีวิตในเมืองมากนัก แต่องค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆ กลับมองว่า วิถีชีวิตดังกล่าวมีสาเหตุมาจากแนวทางการพัฒนาของรัฐที่เน้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและระบบทุนมากเกินไป ทำให้ชาวบ้านถูกครอบงำ และเกิดลัทธิบริโภคนิยมในหมู่ชาวบ้าน ซึ่งอาจป้องกันไม่ให้เป็นเช่นนั้นได้ หากชาวบ้านมีจิตสำนึก เข้มแข็ง และรู้จักความพอเพียง อย่างไรก็ดี สำหรับในเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งเป็นพื้นที่เปราะบาง มีความขัดแย้งทางศาสนาและชาติพันธุ์ระหว่างคนท้องถิ่นกับรัฐไทย และสถานการณ์ความรุนแรงต่างๆ ดำเนินมาอย่างแหลมคม การทำความเข้าใจสภาพความไม่โรแมนติกด้วยโครงเรื่องตามที่ภาคประชาสังคมเสนอจึงดูจะไม่เพียงพอ เนื่องจากโครงเรื่องที่ว่านี้ละเลยประเด็นเกี่ยวกับปัญหาและผลกระทบจากการที่รัฐไทยพยายามเข้าจัดการเพื่อครอบครองเป็นเจ้าของเหนือพื้นที่และเพื่อให้ได้การสวามิภักดิ์จากคนมาลายูมุสลิม กระบวนการดังกล่าวดำเนินการอย่างมีนัยสำคัญ ผ่านการโครงการพัฒนา โดยพื้นที่พรุถือเป็นพื้นที่ปฏิบัติการที่สำคัญยิ่งของรัฐไทย แทนที่จะใช้นโยบายกลืนกลายแบบบังคับดังเช่นในอดีต โครงการพัฒนาพรุ เป็นเครื่องมือที่ออกจะดูดีกว่าที่จะช่วยให้ “รัฐไทย” ได้รับความสวามิภักดิ์และความจงรักภักดีจากชาวมาเลย์มุสลิมในพื้นที่บนฐานความคิดที่ว่าการพัฒนาเศรษฐกิจจะนำมาสู่ความมั่นคงแห่งชาติ และป้องกันไม่ให้ชาวบ้านไปร่วมมือกับผู้ก่อการไม่สงบ โดยโครงการพัฒนาต่างๆ จากรัฐ จะถูกผลักดันผ่านทางโครงการพระราชดำริในช่วงกลางทศวรรษที่ 2520 และได้ขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ตามความเข้มแข็งของสถาบันกษัตริย์ในช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังพบว่า ในสายตาของรัฐไทยพรุเป็นเพียงพื้นที่น้ำท่วมขังไร้ประโยชน์ เสื่อมโทรม และไม่ก่อให้เกิดผลผลิตใดๆ การเข้าพัฒนาพื้นที่รกร้างนี้ให้เกิดประโยชน์ และเกิดความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จึงเป็นบทบาทหน้าที่ของรัฐที่จะต้องกระทำเหนือดินแดนและผู้คนของตน ดังจะเห็นจากการเข้าไปจัดการพื้นที่พรุ ด้วยการระบายน้ำทำให้เป็นพื้นที่แห้ง โดยอ้างว่าทำไปเพื่อเพิ่มพื้นที่เกษตรกรรม แต่กลับส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และการจัดการพรุของชาวบ้าน ก็กลับถูกละเลยไปอย่างสิ้นเชิง โครงการพัฒนาพรุในเขตชายแดนภาคใต้เกี่ยวข้องอย่างมากกับลักษณะเฉพาะของรัฐไทยที่สถาบันกษัตริย์มีบทบาทสูงในการเข้าครอบครองหัวใจและความภักดีของชาวมาเลย์มุสลิมในพื้นที่ ดังนั้น การพัฒนาพรุของรัฐ จึงไม่ได้เป็นเพียงแค่การเปลี่ยนสภาพของพรุเท่านั้น หากแต่ยังเป็นการเปลี่ยนตัวตนของชาวมาเลย์มุสลิมผู้อาศัยและใช้ประโยชน์จากพรุ จากที่มีสถานะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีศาสนาที่แตกต่างให้กลายมาเป็น “พสกนิกร” ทั้งนี้ การละเลยนัยสำคัญในเชิงระบบนิเวศของพื้นที่พรุและการละเลยประสบการณ์และความรู้ในการใช้ประโยชน์จากพรุของชาวมลายูมุสลิม ได้สร้างความชอบธรรมให้กับความพยายามในการเปลี่ยนตัวตนดังกล่าว เพราะเป็นการให้ภาพคนมาเลย์มุสลิมในฐานะกลุ่มคนที่ยากจน ไร้การศึกษา ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ขาดศักยภาพในการแก้ไขปัญหาในชีวิต ไม่มีแม้กระทั่งความสามารถในการนำที่ดินพรุรกร้างเสื่อมโทรมรอบๆ ตัวมาทำให้เกิดประโยชน์ได้ \ภาพลักษณ์นี้สอดคล้องกับสถานะของพสกนิกรที่ความผาสุกในชีวิตจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการปกป้อง คุ้มครองและช่วยเหลือจากรัฐไทยโดยเฉพาะในส่วนที่ผ่านทางสถาบันจารีต\" ก่อนหน้านี้ พื้นที่พรุในหมู่บ้านกำปงมีสถานะเป็นเพียงป่าพื้นที่น้ำขัง ต่อมาในปี 2547 เริ่มมีการสร้างอ่างเก็บน้ำ และมีการเข้าไปจัดการพื้นที่ดังกล่าวอย่างเข้มข้นมากขึ้น โดยมีการส่งเสริมอาชีพให้ชาวบ้าน แต่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการทำมาหากินของชาวบ้าน หรือระบบกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามวิถีชีวิตแบบเดิม ทำให้เกิดภาวะลักลั่น เนื่องจากรัฐส่งเสริมให้ชาวบ้านใช้ประโยชน์จากที่ดินมาก แต่ในขณะเดียวกันก็มีการ ปิดล้อมที่ดิน ทำให้ชาวบ้านใช้ประโยชน์ได้น้อยลง โครงการการจัดการพรุในสามจังหวัดชายแดนใต้ จึงกลายเป็นทะเลงบประมาณที่ไม่มีวันสิ้นสุดของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้ที่มีอิทธิพลในท้องถิ่น ชลิตาชี้ให้เห็นอีกว่า วิถีชีวิตของชาวบ้านที่ไม่โรแมนติกและขูดรีดธรรมชาตินี้ เป็นผลจากการปรับตัวเพื่อความอยู่รอด ท่ามกลางความพยายามของรัฐไทยในการเข้ามาจัดการพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และทำให้สถานการณ์แย่ลง โดยการนำเสนอจังหวัดชายแดนเฉพาะภาพที่โรแมนติก หรือกล่าวโทษว่าปัญหาเป็นเพราะทุนนิยมแทรกซึมเข้ามา แต่ละเลยปัญหาที่สำคัญกว่านั้น คือ การที่อำนาจจารีตของรัฐไทยพยายามเข้ามาจัดการระบบนิเวศในพื้นที่ ขณะที่ “ภาคประชาสังคมไทย” ที่เข้ามาก็มีลักษณะอนุรักษ์นิยม และสนับสนุนอำนาจแบบจารีตด้วยเช่นกัน พวกเขาไม่ให้ความสำคัญกับการที่ชาวบ้านพยายามในการปรับตัวและตัดสินใจด้วยตนเอง ซึ่งการทำแบบนั้นช่วยให้ภาคประชาสังคมไทยมีที่มีทางในการทำงานต่าง ๆ ต่อไป เช่น ผลิตงานสื่อ และงานวิชาการซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพื่อที่จะหาทางรื้อภาพที่สวยงาม โรแมนติก และจิตสำนึกของชาวบ้านให้กลับคืนมา ชลิตาสรุปว่า หากปัญหาโครงสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจของรัฐไทยที่มีต่อชาวมลายูมุสลิมยังไม่ได้รับการแก้ไขและถูกให้ความสำคัญ การดำเนินงานต่างๆ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็จะกลายเป็น “อุตสาหกรรมความไม่มั่นคง” ที่ไม่สามารถนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงในพื้นที่ได้ หากแต่จะนำมาซึ่งการดำรงอยู่ และเจริญเติบโตขององค์กรต่างๆ ในประชาสังคมนั้นเองเป็นหลัก ===================================================== สุรินทร์ อ้นพรม นักศึกษาปริญญาเอก คณะภูมิศาสตร์ มหาวิทยาลัยซิดนีย์ ได้ศึกษาในหัวข้อ \"ป่าชุมชน: เครื่องมือเสริมสร้างความเข้มแข็งหรือเพียงแค่เทคโนโลยีอำนาจชิ้นใหม่\" เขาพิจารณา “ป่าชุมชน” ในฐานะที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นทางเลือกจากการจัดป่าโดยรัฐ/ การจัดการป่าอย่างรวมศูนย์โดยมีชุมชนเป็นผู้มีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากร โดยตั้งคำถามว่าที่จริงแล้ว ป่าชุมชน สามารถส่งเสริมความเข้มแข็งให้กับชุมชนได้แค่ไหน หรือแท้จริงแล้วเป็นเพียงการใช้อำนาจรัฐเพื่อการควบคุมชุมชนที่แนบเนียนกว่าเดิมเท่านั้น สุรินทร์เลือกศึกษาวิจัยในบ้านห้วยแก้ว ซึ่งนับว่าเป็นพื้นที่ที่มีการจัดตั้งป่าชุมชนเป็นแห่งแรกของประเทศไทยในช่วงต้นทศวรรษ 2530 การศึกษาของเขาทำให้พบว่า \"นัยกรรมป่าชุมชน\" มีขีดจำกัดอย่างมาก และการพยายามแปลงนัยกรรมดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติส่งผลให้มีการกีดกันการเข้าถึงทรัพยากรป่าไม้ที่จำเป็นต่อการดำรงชีพของชาวบ้าน โดยเฉพาะกลุ่มคนจนในชุมชนที่จำเป็นต้องพึ่งพาทรัพยากรจากป่าอย่างมาก ในการจัดการป่าชุมชนมีการจัดตั้ง \"องค์กรชุมชน\" ซึ่งมีกฎระเบียบที่ควบคุมการจัดสรรทรัพยากรป่าภายในท้องถิ่น มีการจัดตั้งคณะกรรมการป่าชุมชนที่คอยควบคุมกฎระเบียบดังกล่าวไม่ต่างจากที่เจ้าหน้าที่ป่าไม้เคยควบคุมชาวบ้าน แต่ต่างกันตรงที่ว่าชาวบ้านภายในชุมชนจะควบคุมกันเอง แต่การควบคุมดังกล่าวได้ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างชาวบ้าน เมื่อคนบางกลุ่มในชุมชนถูกคณะกรรมการป่าชุมชนกีดกันไม่ให้ใช้ประโยชน์จากป่า ทำให้เกิดคำถามว่าตกลงป่าชุมชนเป็นของใครกันแน่ จากข้อค้นพบดังกล่าว สุรินทร์จึงเห็นว่าป่าชุมชนที่ควรจะเป็นทางเลือกจากการจัดการป่าของรัฐ อาจกลายเป็น \"เครื่องมือทางอำนาจรูปแบบใหม่\" ที่คอยควบคุมและจัดการทรัพยากรป่าไม้ ไม่ต่างจากการใช้อำนาจของกรมป่าไม้ในการควบคุมชาวบ้านและกีดกันไม่ให้ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์จากป่าอยู่นั่นเอง ================================================= ทับทิม ทับทิม คณะสังคมศาสตร์ นักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสาขาภูมิศาสตร์ มหาวิทยาลัยซิดนีย์ ทำศึกษาในหัวข้อ \"ลูกทุ่งหรือลูกกรุง? ความเป็นเมืองในชนบท\" ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความขัดแย้งระหว่างภาพจินตนาการเกี่ยวกับความเป็นลูกทุ่งหรือชนบทไทย ที่แทรกอยู่ในความนึกคิดของคน “ลูกกรุง” หรือคนชั้นกลางในเมือง กับปรากฏการณ์ที่เป็นความจริงในพื้นที่ชนบท จินตนาการเกี่ยวกับชนบทของคนกรุงสะท้อนผ่านสื่อสาธารณะต่าง ๆ ดังเช่นรายการโทรทัศน์ “ฉันจะเป็นชาวนา” กลายเป็นค่านิยมและคาดความหวังที่ไปกดทับการดำรงชีวิตของคนชนบท ที่พยายามกำหนดหรือสร้างแรงกดดันว่าคนชนบทควรอยู่แบบพอเพียง เป็นชุมชน มีวิถีชีวิตแบบ “ดั้งเดิม” รักษาสภาพธรรมชาติที่เขียวขจี มีสุนทรียะและความงาม ความเข้าใจเหล่านี้ล้วนแต่ภาพชนบทในจินตนาการที่มีลักษณะหยุดนิ่งและไม่สะท้อนความเป็นจริง เป็นภาพที่ถูกสร้างขึ้นอย่างน้อยตั้งแต่ราวทศวรรษปลาย 2520 เมื่อชนชั้นกลางเริ่มตื่นตัวกับกระแสสิ่งแวดล้อมนิยมในช่วงที่มีการคัดค้านการสร้างเขื่อนน้ำโจน และมีการสร้างและผลิตซ้ำภาพแทนในลักษณะดังกล่าวเรื่อยมา ในพื้นที่ศึกษาของทับทิมซึ่งอยู่ชานเมืองเชียงใหม่ มีกลุ่มคนหลากหลายชาติพันธุ์อาศัยอยู่ เช่น ม้ง ไทใหญ่ ที่อพยพเข้ามาอยู่ในฐานะแรงงานรับจ้าง รวมทั้งคนเมืองที่เป็นคนท้องถิ่นดั้งเดิม ขณะเดียวกัน ก็มีชนชั้นกลางในเมืองและชาวต่างชาติเข้ามาซื้อที่ดินเพื่อปลูกบ้านอยู่อาศัยด้วยเช่นกัน ในพื้นที่ดังกล่าวมีอาคารพาณิชย์และร้านขายของชำมากมาย คนในท้องถิ่นมีการสร้างหอพักโดยคาดหวังว่าจะเป็นแหล่งรายได้แบบ “น้ำซึมบ่อทราย” เป็นต้น ภาพปรากฏเหล่านี้สะท้อนทั้งวิถีการผลิตที่หลากหลายนอกเหนือจากการทำนาและการทำการเกษตร ตลอดจนวิถีการบริโภคแบบทุนนิยมที่เป็นจริงของคนชนบท ซึ่งไม่ได้มีความโรแมนติก หรือมีสุนทรียะและความงามตามจินตนาการเกี่ยวกับชนบทของคนชั้นกลางในเมือง อย่างไรก็ตาม เมื่อคนชั้นกลางในเมืองหันไปใช้ชีวิตในพื้นที่ชนบทมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็ได้นำพาเอาความคิดดังกล่าวเข้ามาปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์ของชนบท เช่น มีการไปซื้อที่ดินเพื่อทำนาปลูกข้าวอินทรีย์แต่ใช้วิธีการจ้างแรงงานคนในท้องถิ่นเดิม มีการสร้างโรงแรมหรูที่ผู้มาพักจะสามารถได้รับประสบการณ์แบบชาวชนบทคือได้มองเห็นทุ่งนา ได้ทดลองทำนา เกี่ยวข้าว หรือบริโภคข้าวอินทรีย์จากผืนนาดังกล่าว จินตนาการของคนชั้นกลางในเมืองต่อพื้นที่ชนบทอาจทำให้เกิดปัญหาขึ้นมา เช่น เมื่อคนชั้นกลางไปสร้างบ้านพักในพื้นที่ชนบทก็ไม่อยากให้มีการพัฒนาถนนเพราะเกรงว่าจะไม่หลงเหลือความเป็น “ชนบท” ที่มีสุนทรียะหรือความงามแบบที่ตนเองต้องการ แต่ความต้องการเช่นนั้นกลับขัดแย้งกับความต้องการของคนท้องถิ่นเดิมที่อยากให้มีการพัฒนาถนนและสาธารณูปโภคต่าง ๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของตนเองให้ดีขึ้น เป็นต้น ทับทิมทิ้งท้ายด้วยการยกตัวอย่างเกี่ยวกับต้นกล้วยต้นหนึ่งที่เมื่อตัดเครือไปแล้วคนชนบทก็อยากจะตัดใบตองไปใช้ประโยชน์ และตัดต้นทิ้งเพื่อให้หน่อไม้ได้เจริญเติบโตขึ้นมา แต่คนในเมืองกลับเห็นว่ายังควรที่จะเก็บต้นและใบกล้วยที่เหลือเอาไว้เพราะยังมีความงดงาม ตัวอย่างดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงวิถีคิดที่แตกต่างกันระหว่างคนชั้นกลางจากในเมืองและคนท้องถิ่นที่ต่างจะต้องเข้าไปร่วมกันใช้ทรัพยากรในพื้นที่ชนบทเดียวกัน ซึ่งฝ่ายหนึ่งเน้นเรื่องการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรเพื่อการดำรงชีวิตประจำวันหรือเพื่อกินเพื่ออยู่ แต่อีกฝ่ายกับเน้นในเรื่องการเสพสุนทรียะความงาม ซึ่งอาจทำให้ความขัดแย้งเกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อแต่ละฝ่ายต่างไม่ได้พูดจาหรือสื่อสารกันแต่ต้องการที่จะเปลี่ยนภูมิทัศน์ของชนบทไปตามความต้องการของตนเอง"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท