Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ และเสรีภาพของบุคคลย่อมได้รับการคุ้มครอง(มาตรา ๔ ของรัฐธรรมนูญของราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐) แนวความคิดเกี่ยวกับการที่มนุษย์ทุกคนควรมีโอกาสได้รับบริการสุขภาพที่จำเป็น เป็นสิทธิมนุษยชนที่ถูกกล่าวถึงมาโดยตลอด ในปีนี้ ทศวรรษนี้ จะเป็นประเด็นร่วมกันของนานาอารยะประเทศที่จะทำให้ สุขภาพหรือสุขภาวะเป็นสิทธิของมนุษยชน ข่าวเมื่อต้นปี 2553นี้อาจเป็นข่าวเล็กๆ จากการประชุมที่บรัดเซล ประเทศเบลเยียม แต่ก็ได้รับการเผยแพร่อย่างกว้างขวางในหมู่ผู้สนใจและศึกษาทางด้านนโยบายสุขภาพนานาชาติ ในประเทศไทยก็มีข่าวดี ในช่วงนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้ลงนามในหนังสือเสนอคณะรัฐมนตรี ให้คืนสิทธิตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แก่คนไทยไร้สัญชาติ ซึ่งเราคงหวังว่าจะได้รับการตอบสนองจากคณะรัฐมนตรี และจะทำให้เกิดการจัดสรรงบประมาณเพื่อการจัดบริการสุขภาพแก่คนไทยไร้สัญชาติอย่างเสมอภาค มีมาตรฐานเช่นเดียวกับบุคคลสัญชาติไทย ผลเฉพาะหน้าที่ตามมาคือการทำให้โรงพยาบาลชายแดนหรือในพื้นที่ซึ่งมีคนไทยไร้สัญชาติ จะได้จัดบริการอย่างมั่นใจว่าจะได้รับการชดเชยค่าใช้จ่ายที่เหมาะสมจากระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติต่อไป แล้วถ้าสุขภาพเป็นสิทธิมนุษยชน ประเทศไทยมีความพร้อมหรือ? หากเราย้อนไปพิจารณารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยปี ๒๕๔๐และ๒๕๕๐ ทั้งสองฉบับให้ความสำคัญกับเรื่องของสิทธิมนุษยชน รัฐธรรมนูญใช้คำว่า บุคคล ในกรณีที่กล่าวอย่างครอบคลุมเช่นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ และเสรีภาพของบุคคลย่อมได้รับการคุ้มครอง(มาตรา ๔ ของรัฐธรรมนูญของราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐) และหากจะเน้นสิทธิบางประการสำหรับเฉพาะผู้มีสัญชาติไทยก็จะมีการบัญญัติไว้โดยเจาะจง ประชาชนชาวไทยไม่ว่าเหล่ากำเนิด เพศ หรือศาสนาใด ย่อมอยู่ในความคุ้มครองของรัฐธรรมนูญเสมอกัน(มาตรา๕ ของรัฐธรรมนูญของราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐) ในการระบุถึงบุคคลกลุ่มต่างๆ รัฐธรรมนูญก็บัญญัติแยกไว้อย่างแยบคาย คำว่าบุคคล เป็นคำทั่วไป ซึ่งน่าจะหมายถึงผู้มีสภาพบุคคลตามกฎหมายต่างๆ และเมื่อต้องการให้มีความจำเพาะ เราก็จะเห็นคำว่า ปวงชนชาวไทย ประชาชนชาวไทย ผู้มีสัญชาติไทย โดยคำว่าบุคคลเป็นคำที่มีความหมายกว้างที่สุด นั้นหมายถึงว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยครอบคลุมบุคคลทั้งมวลที่อยู่ในราชอาณาจักรไทย โดยเมื่อประสงค์จะมีข้อยกเว้นประเด็นใดก็จะมีการระบุไว้เช่น ระบุว่า “เจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทย” “การเนรเทศบุคคลผู้มีสัญชาติไทยออกนอกราชอาณาจักรหรือห้ามมิให้บุคคลผู้มีสัญชาติไทยเข้ามาในราชอาณาจักรจะกระทำมิได้” การกล่าวถึงสิทธิ เสรีภาพและหน้าที่ของบุคคลในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยโดยรวมจึงเป็นความหมายถึงบุคคลทั้งหลาย ไม่ได้หมายความเฉพาะบุคคลสัญชาติไทย และเมื่อประสงค์จะให้จำเพาะเฉพาะคนสัญชาติไทยก็ระบุไว้อย่างชัดเจน ประชาชนชาวไทยไม่ว่าเหล่ากำเนิด เพศ หรือศาสนาใด ย่อมอยู่ในความคุ้มครองของรัฐธรรมนูญเสมอกัน(มาตรา ๕ ของรัฐธรรมนูญของราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐) นั้นหมายความว่าบุคคลที่ไม่ใช่ประชาชนชาวไทยอาจจะได้รับความคุ้มครองที่ไม่เท่าเทียมกับบุคคลสัญชาติไทย สำหรับบุคคลสัญชาติไทยก็อาจมีการออกกฎหมายที่จำกัดสิทธิและเสรีภาพ เช่นการกำหนดอายุหรือคุณสมบัติผู้มีสิทธิรับเลือกตั้ง สิทธิลงคะแนน และยังมีการกำหนดทั้งในรัฐธรรมนูญหรือในพระราชบัญญัติต่างๆ ในพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติปี ๒๕๔๕ กล่าวถึงบุคคลก็เป็นการใช้คำว่าบุคคลในความหมายที่กว้างเช่นเดียวกับที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ก็มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบมาตรา ๓๕ และมาตรา ๔๘ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช ๒๕๔๐ บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย การจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลในพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีอยู่หลายตอน เช่น มาตรา ๕ บุคคลทุกคนมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพตามที่กำหนดโดยพระราชบัญญัตินี้ คณะกรรมการอาจกำหนดให้บุคคลที่เข้ารับบริการสาธารณสุขต้องร่วมจ่ายค่าบริการในอัตราที่กำหนดให้แก่หน่วยบริการในแต่ละครั้งที่เข้ารับบริการ เว้นแต่ผู้ยากไร้หรือบุคคลอื่นที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดไม่ต้องจ่ายค่าบริการ ประเภทและขอบเขตของบริการสาธารณสุขที่บุคคลจะมีสิทธิได้รับ ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกำหนด นอกจากนี้การจะใช้สิทธิ ไม่ได้เกิดขึ้นมาลอยๆ ดูมาตรา ๖ มาตรา ๖ บุคคลใดประสงค์จะใช้สิทธิตามมาตรา ๕ ให้ยื่นคำขอลงทะเบียนต่อสำนักงานหรือหน่วยงานที่สำนักงานกำหนดเพื่อเลือกหน่วยบริการเป็นหน่วยบริการประจำ การขอลงทะเบียน ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด โดยคำนึงถีงความสะดวกและความจำเป็นของบุคคลเป็นสำคัญ ปัญหาคือ แล้วใครคือบุคคลตามพระราชบัญญัตินี้ การตีความเรื่องความหมายของบุคคลจึงเป็นที่มาของปัญหา เพราะมักจะมีการตีความว่าบุคคลคือบุคคลผู้มีสัญชาติไทย เมื่อทบทวนดูพระราชบัญญัติทั้งฉบับและเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ และ ๒๕๕๐ บุคคลในพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จึงเป็นบุคคลในความหมายที่กว้างเช่นเดียวกัน คือครอบคลุมบุคคลในราชอาณาจักรไทยทุกคน โดยคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สามารถกำหนดสิทธิของแต่ละกลุ่มบุคคลแตกต่างกันได้ เช่น บุคคลสัญชาติไทย คนไทยไร้สัญชาติ คนต่างด้าว นักท่องเที่ยว กลุ่มอื่นๆ ตามวรรค ๓ ของมาตรา ๕ “ประเภทและขอบเขตของบริการสาธารณสุขที่บุคคลจะมีสิทธิได้รับ ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกำหนด” แล้วปัญหาว่าพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ครอบคลุมเฉพาะประชาชนคนไทยที่มีเลข ๑๓ หลักเกิดขึ้นเพราะเหตุใด ปัญหาที่มีการตีความว่าหลักประกันสุขภาพจำกัดเฉพาะบุคคลสัญชาติไทย ด้วยเหตุของการที่บางท่านไปนำหมายเหตุท้ายพระราชบัญญัติมาเป็นคำอธิบาย ซึ่งเป็นที่มาของความคลาดเคลื่อน ในหมายเหตุตอนต้นกล่าวว่า: “เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้คือ โดยมาตรา๕๒ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ได้บัญญัติให้ชนชาวไทย ย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับบริการสาธารณสุขที่ได้มาตรฐาน และผู้ยากไร้มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลจากสถานบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตามที่กฎหมายบัญญัติ” จะเห็นได้ว่าหมายเหตุได้อ้างถึงบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ในมาตรา ๕๒ ดังกล่าวระบุเรื่องชนชาวไทย ซึ่งมีฐานะเป็นกลุ่มหนึ่งของบุคคลในรัฐธรรมนูญ โดยระบุเจาะจงลงไปให้ชนชาวไทย ย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับบริการสาธารณสุขที่ได้มาตรฐาน ซึ่งไม่ใช่การกำหนดให้บุคคลในพระราชบัญญัติต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทยแต่อย่างใด รัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จึงมุ่งหวังเรื่องสิทธิเสมอกันของปวงชนชาวไทย แต่ไม่ได้มีวรรคใดที่จะไปจำกัดสิทธิในการได้รับบริการของบุคคลอื่นๆ ซึ่งพระราชบัญญัติได้มอบให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสามารถกำหนดสิทธิแก่บุคคลกลุ่มต่างๆที่ไม่ได้เป็นชนชาวไทยได้ในขอบเขตของสิทธิที่แตกต่างกัน เช่นอาจจะกำหนดเฉพาะกรณีอุบัติเหตุ ฉุกเฉิน โรคระบาดร้ายแรง กรณีจำเป็น หรือเพื่อมนุษยธรรม เป็นต้น ตามศักยภาพทางการเงินของประเทศ โดยที่ไม่จำเป็นต้องให้สิทธิเสมอกันกับชนชาวไทย รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ อาจเป็นกฎหมายที่เกิดขึ้นก่อนกาล แต่ได้กำเนิดขึ้นมาแล้ว หลายท่านอาจมองเห็นข้อด้อยต่างๆอยู่หลายประการ อย่างไรก็ตามความก้าวหน้าและมองการณ์ไกลที่ปรากฏ ได้นำเรามายังจุดที่ระบบสุขภาพของเราได้ยืนอยู่ในจุดที่สามารถเทียบเคียงกับนานาอารยะประเทศได้อย่างน่าภาคภูมิใจ และเราควรจะใช้กฎหมายที่ก้าวหน้านี้เพื่อประโยชน์ไม่เพียงแต่คนไทย แต่เอื้อเฟื้อต่อเพื่อนมนุษย์ ที่เข้ามาพึ่งพิงพระบรมโพธสมภาร ของพระมหากษัตริย์ไทย แล้วเราจะก้าวไปสู่โลกยุคใหม่ ที่ตระหนักว่า Health is a Human Right

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net