เยอรมนีแจง การอายัด 'โบอิ้ง 737' เป็น “หนทางสุดท้าย” ในการเร่งรัดหนี้

“วอลเตอร์ บาว” แจง การอายัดเครื่องบินเป็นมาตรการที่จำเป็น “เอพี” ชี้ ปกติเครื่องบินของรัฐบาลจะมีความคุ้มกันทางการฑูต แต่ในกรณีไทยอายัดได้เพราะใช้ส่วนตัว ฝ่ายจนท. เยอรมันเผย ได้เตรียมการอายัดอย่างลับมาเป็นเวลาหนึ่งแล้ว สืบเนื่องจากการอายัดเครื่องบินโบอิ้ง 737 ของราชอาณาจักรไทย ซึ่งเป็นพระราชพาหนะส่วนพระองค์ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช โดยเจ้าหน้าที่เร่งรัดหนี้ของบริษัทวอลเตอร์ บาว จากคำสั่งของคณะอนุญาโตตุลาการเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคมที่ผ่านมานั้น เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา สำนักข่าวเอพีได้รายงานคำพูดของ โรเบิร์ต วิลเฮล์ม โฆษกของสนามบินมิวนิคว่า ในขณะนี้เครื่องบินลำดังกล่าวถูกศาลสั่งอายัดไว้แล้ว ซึ่งในขณะนี้จอดพักอยู่ที่สนามบินมิวนิค และเนื่องจากการที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เสด็จมาพำนักที่ประเทศเยอรมนีอย่างบ่อยครั้งนั้น ทำให้พระองค์พลอยตกอยู่ในข้อพิพาททางธุรกิจระหว่างสองประเทศที่มีมาอย่างยาวนานไปโดยปริยาย ทางโฆษกฝ่ายล้มละลายของบริษัทวอลเตอร์ บาว, อเล็กซานเดอร์ โกร์บิง กล่าวว่า “มาตรการที่รุนแรง” ในการอายัดเครื่องบินของกองทัพอากาศไทยนี้ เป็น “หนทางสุดท้าย” ในการที่จะเร่งรัดเงินค้างชำระ ซึ่งเป็นคำสั่งทางการเงินที่อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศได้ตัดสินไว้ในปี 2009 “การตามหาเครื่องบินลำดังกล่าวเป็นไปอย่างซับซ้อนมาก และแน่นอนว่าต้องทำไปด้วยความระมัดระวังเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้มีสัญญาณเตือนหลุดออกไป” แวร์เนอร์ ชไนเดอร์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายล้มละลายของบริษัทวอลเตอร์ บาว กล่าวในแถลงการณ์ เอพีรายงานเพิ่มเติมว่า เจ้าหน้าที่ล้มละลายฝ่ายเยอรมนีได้เตรียมการที่จะอายัดเครื่องบินลำดังกล่าวมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว นอกจากนี้ ยังระบุว่า โดยทั่วไปแล้ว เครื่องบินของรัฐบาลจะมีสถานะทางการทูต ทำให้โดยส่วนใหญ่จะอยู่นอกเหนืออำนาจศาลจากประเทศอื่นๆ อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขตามนั้นจะเป็นได้ก็ต่อเมื่อเครื่องบินถูกใช้ในทางการเท่านั้น ซึ่งไม่นับการใช้ในทางส่วนตัว ทางกระทรวงการต่างประเทศของเยอรมนีกล่าวต่อกรณีดังกล่าวว่า “เราเสียใจสำหรับความขัดข้องที่เกิดขึ้นแก่มกุฎราชกุมาร ที่เกิดขึ้นจากการอายัดดังกล่าว” และมิได้ให้ความเห็นใดๆ เพิ่มเติม เอพีรายงานว่า เครื่องบินพระราชพาหนะลำดังกล่าว จอดนิ่งอยู่ในลานสนามบินเมื่อวันพุธที่ผ่านมา และมีรูปที่แสดงถึงคำสั่งศาลที่ระบุว่า “ต่อราชอาณาจักรไทย ที่มีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเป็นผู้แทน” ติดอยู่บนประตูของเครื่องบิน ซึ่งสั่งห้ามไม่ให้มี “การเปลี่ยนแปลง, การนำไปใช้ หรือการลดมูลค่า (ของเครื่องบิน)” หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์รายงานว่า เครื่องบินโบอิ้ง 737-400 ลำดังกล่าวซึ่งสร้างขึ้นในปี 1995 น่าจะมีมูลค่าราว 5-6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีที่นั่ง 36 ที่นั่ง เมื่อเทียบกับเครื่องบินโบอิ้งที่ใช้ในเชิงพาณิชย์ทั่วไปซึ่งบรรจุที่นั่งราว 189 ที่นั่ง ทั้งนี้ ชไนเดอร์ ได้กล่าวด้วยว่า เขาได้ใช้วิธีการอายัดเครื่องบินเพื่อเร่งรัดหนี้เช่นนี้มาแล้วในปี 2005 ในกรุงอิสตันบูล โดยได้อายัดเครื่องบินแอร์บัสของสายการบินมิดเดิ้ลอีสต์ เนื่องมาจากข้อพิพาททางการเงินระหว่างบริษัทวอลเตอร์ บาวและรัฐบาลเลบานอน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท