สรุปยอดจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว 9.8 แสนคน

สรุปยอดจดทะเบียนต่างด้าว 9.8 แสนคน แรงงานประมงยังจดได้ถึง 13 ส.ค. พร้อมเร่งหาบริษัทเก็บ Bio Data - บ.ประกัน-ชี้ไม่บังคับนายจ้างทำประกันให้ต่างด้าว แต่เพื่อลดการค้ามนุษย์และทำตามไอแอลโอ ด้านสมาคมประมงเสนอเปิดจดทะเบียนต่างด้าวตลอดปี กรมการจัดหางานสรุปยอดจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว 9.8 แสนคน วันนี้ (20 ก.ค.) นายประวิทย์ เคียงผล รองอธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน (รง.) เปิดเผยผลการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวตั้งแต่วันที่ 15 มิ.ย. - 14 ก.ค.2554 ซึ่งผลสรุปข้อมูล ณ วันที่ 19 ก.ค.มีนายจ้างยื่นขอจดทะเบียน 164,474 ราย จำนวนแรงงานต่างด้าวทั้งสิ้น 984,535 คนแยกเป็นแรงงานพม่า 643,095 คน กัมพูชา 238,586 คนและลาว 102,854 คน ซึ่งแรงงานต่างด้าวด้านประมงนั้นยังมีเวลายื่นขอจดทะเบียนอีก 1 เดือนไปจนถึงวันที่ 13 สิงหาคมนี้ จึง คาดว่าแรงงานต่างด้าวมาจดทะเบียนทั้งหมดกว่า 1 ล้านคน อย่างไรก็ตาม ทาง กกจ.ได้ทำหนังสือแจ้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เพื่อขอให้จับกุมและปราบปรามแรงงานต่างด้าวที่อยู่ในไทยโดยผิดกฎหมายและลักลอบเข้ามาตามแนวชายแดนไทยอย่างเข้มงวด ยกเว้นแรงงานต่างด้าวด้านประมง รองอธิบดี กกจ.กล่าวอีกว่า หลังจากนี้จะจัดเก็บข้อมูล Bio Data แรงงานต่างด้าวทั้งภาพใบหน้าและลายนิ้วมือซึ่งจะต้องดำเนินการให้เสร็จภายใน 120 วัน นับตั้งแต่วันที่ 14 มิ.ย.โดยก่อนหน้านี้มีบริษัทเอกชนสนใจซื้อซองประมูล เพื่อเข้ามาดำเนินการในเรื่องนี้ 15 บริษัท แต่มายื่นซองประมูลแค่ 3 บริษัท ซึ่ง กกจ.จะคัดเลือกเหลือ 1 บริษัทที่คิดค่าดำเนินการต่ำสุด นอกจากนี้ ได้แจ้งสมาคมประกันภัยและสมาคมวินาศภัยขอให้แจ้งสมาชิกเพื่อเชิญชวนเข้าร่วมโครงการประกันภัยความปลอดภัยในการทำงานให้แก่แรงงานต่างด้าวโดยจะมีการออกประกาศกระทรวงแรงงานรองรับเพื่อให้แรงงานต่างด้าวที่จดทะเบียนในครั้งนี้ได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ เท่าเทียมกับที่ พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ. 2537 กำหนดไว้ ทั้งนี้ ขณะนี้ กกจ.รอข้อมูลจากทั้งสองสมาคมและจะคัดเลือกให้เหลือ 1 บริษัทซึ่งต้องมีข้อเสนอเป็นไปตาม พ.ร.บ.เงินทดแทนและคิดเบี้ยประกันในราคาต่ำสุด อย่างไรก็ตาม การดำเนินการในกรณีการประกันภัยนี้ไม่ใช่การจัดซื้อจัดจ้าง “คาดว่าการคัดเลือกบริษัทเพื่อดำเนินการใน 2 เรื่องจะแล้วเสร็จในสัปดาห์นี้ ทั้งนี้ การซื้อประกันให้แก่แรงงานต่างด้าวไม่ได้บังคับนายจ้าง แต่อยากเชิญชวนให้ซื้อประกันไว้เพื่อให้แรงงานต่างด้าวกลุ่มนี้ได้รับการ ดูแลตามสนธิสัญญาองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) และแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ซึ่งไอแอลโอและอเมริกากำลังจับตาดูไทยในเรื่องนี้” นายประวิทย์กล่าว รองอธิบดี กกจ.กล่าวด้วยว่า เมื่อได้ตัวเลขแรงงานต่างด้าวที่มาจดทะเบียนครั้งนี้ในภาพรวมทั้งหมดแล้วก็จะประสานไปยังประเทศพม่า กัมพูชาและลาวเพื่อแจ้งยอดตัวเลขแรงงานต่างด้าวของแต่ละประเทศ ซึ่งไทยกับทั้ง 3 ประเทศจะประชุมกันโดยจัดขึ้นทุกปีแต่ปีนี้ยังไม่รู้ว่าจะประชุมเมื่อไหร่ ทั้งนี้ จะขอให้แต่ละประเทศไปพิจารณาว่าจะออกเอกสารรับรองสัญชาติให้แก่แรงงานต่างด้าวที่จดทะเบียนหรือไม่ หากออกเอกสารรับรองสัญชาติ กกจ.จะหารือกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) เพื่อออกวีซ่าให้แก่แรงงานต่างด้าว แต่ถ้าประเทศต้นทางไม่ออกเอกสารรับรองสัญชาติ หลังครบกำหนดผ่อนผันให้อยู่ในไทยชั่วคราว 1 ปี จะต้องผลักดัน กลับประเทศ แล้วให้มีการออกเอกสารรับรองสัญชาติและให้กลับเข้าไทยอีกครั้งผ่านเอ็มโอยู นำเข้าแรงงานต่างด้าวระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน สมาคมประมงเสนอเปิดจดทะเบียนต่างด้าวตลอดปี เมื่อวันที่ 19 ก.ค. มีการประชุมร่วมระหว่างผู้บริหารกระทรวงแรงงานและผู้แทนกลุ่มกิจการประมง เกี่ยวกับปัญหาขาดแคลนแรงงานไทยในอุตสาหกรรมดังกล่าว พร้อมแนวทางการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวในกิจการประมง นายกิตติ โกศลสกุล นายกสมาคมประมงจังหวัดตราด เปิดเผยว่า เวลาในการเปิดจดทะเบียนเพียงช่วง 2-3 เดือนถือว่าไม่เพียงพอ เนื่องจากกิจการประมงจะต้องออกเรือไปไกล บางรายต้องเจอปัญหาจากมรสุมไม่สามารถเดินทางกลับเข้ามาจดทะเบียนได้ทัน จึงอยากเสนอให้ 1.มีการเปิดจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวตลอดปี ซึ่งรัฐจะได้ประโยชน์จากการจัดเก็บภาษีมากขึ้นและแก้ไขปัญหาการลักลอบจ้างแรงงานเถื่อน 2.ยกเว้นการเอาผิดกับผู้ประกอบการที่มีแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายในขณะนี้เพื่อลดปัญหาส่วยแรงงานและลดระบบอุปถัมภ์แรงงานที่ผิดกฎหมาย ฝ่ายปราบปรามต้องมีการตรวจจับและผลักดันอย่างจริงจัง หากแรงงานที่ผิดกฎหมายต้องการทำงานก็ต้องหาแนวทางจัดระบบให้เข้ามาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพราะผลักดันออกก็ต้องมีการลักลอบเข้ามาอีก นายมงคล สุขเจริญคณา นายกสมาคมประมงเรือลากคู่สมุทรสงคราม กล่าวว่า ปัญหาที่ผู้ประกอบการประมงไทยมีประเด็นหลัก ๆ คือ แรงงานในกิจการนี้มีการเคลื่อนย้ายตลอดเวลา บางครั้งจดทะเบียนแล้วออกเรือแต่พอกลับเข้าฝั่งแรงงานส่วนนี้ก็หลบหนีไป ในขณะที่มีเปิดจดทะเบียนเพียงแค่ปีละครั้งทำให้เกิดการขาดแรงงานในช่วงออกเรือ กลายเป็นปัญหาการลักลอบจ้างงานแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายหรือแรงงานเถื่อน จึงอยากขอให้ภาครัฐพิจารณาในเรื่องการหาแรงงานทดแทนเพราะผู้ประกอบการไม่อยากจะกระทำผิดกฎหมายทั้งสิ้น นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กำหนดเวลาการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวในภาคประมงจะสิ้นสุดวันที่ 13 ส.ค. จึงอยากให้สมาคมประมงแห่งประเทศไทยช่วยประชาสัมพันธ์ให้สมาชิกในกลุ่มให้ความสำคัญกับเงื่อนเวลาดังกล่าวด้วย เพราะการอนุญาตจดทะเบียนแต่ละครั้งผ่านขั้นตอนการนำเสนอและการพิจารณาที่กวดขันและรัดกุมเพื่อการจัดระบบแรงงานต่างด้าว ส่วนการแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานนั้น อยากให้ทางกลุ่มกิจการประมงโดยเฉพาะสมาคมประมงแห่งประเทศไทยสรุปตัวเลขความต้องการใช้แรงงานที่ชัดเจน ตัวเลขแรงงานที่ยังขาดแคลนอยู่ เพื่อจะได้ร่วมกับที่จะหาแนวทางแก้ไข นางสุทัศนี สืบวงศ์แพทย์ อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า ควรจะมีการออกแบบสัญญาการจ้างงานที่ชัดเจน เพราะที่ผ่านมาหลักฐานการจ้างงานหรือจ่ายเงินมักจะใช้วิธีแบบดั้งเดิมที่มีการจดลงสมุดบัญชี ควรจะมีการทำเอกสารในลักษณะสัญญาการจ้างงาน เป็นต้น ที่มาข่าวเรียบเรียงจาก: ASTV ผู้จัดการออนไลน์, โพสต์ทูเดย์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท