Skip to main content
sharethis

การเลือกตั้งที่เพิ่งผ่านพ้นไปดูจะสำคัญโดดเด่นกว่าการเลือกตั้งหลายครั้งที่ผ่านมาหลายประการ เพราะในด้านหนึ่งมันเกิดขึ้นในท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองระดับชาติชนิดที่สังคมการเมืองไทยไม่เคยประสบมาก่อน ผู้กำชัยชนะที่สามารถจัดตั้งรัฐบาลขึ้นมาบริหารการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้จึงถูกคาดหวังทั้งให้ทำและไม่ทำบางอย่างจากแทบทุกฝ่าย ความขัดแย้งที่ชายแดนใต้ก็เช่นกัน แม้ดูเหมือนว่าจะถูกจัดวางให้มีความสำคัญในระดับรองลงมา แต่บทบาทของรัฐบาลในการจัดการกับความรุนแรงก็สำคัญเสียจนกระทั่งว่าหลายพรรคการเมืองจำต้องหยิบยกนโยบายขึ้นมาประชันขันแข่งกันก่อนหน้าวันเลือกตั้ง กระทั่งสร้างประเด็นอภิปรายไปอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะบทสนทนาว่าด้วยการปรับโครงสร้างอำนาจการบริหารปกครอง การพูดคุยเพื่อสันติภาพ และการรื้อฟื้นและสถาปนาความยุติธรรมให้ผู้คนในพื้นที่สามารถสัมผัสได้จริง ซึ่งทั้งหมดนี้ ล้วนแล้วแต่สัมพันธ์กับทิศทางของ “กระบวนการสันติภาพ” แทบทั้งสิ้น ไม่ว่ารัฐบาลใหม่จะเป็นใคร และจะเดินหน้าการดับไฟใต้อย่างไร จังหวะก้าวต่อจากนี้ เรื่องสำคัญอาจไม่ใช่การตั้งรับวิกฤตความรุนแรงเฉพาะหน้าและผลักดันการพัฒนาอย่างแยกส่วนดังที่ผ่านมา หากแต่คือเจตนารมณ์ทางการเมืองที่มุ่งมั่นผลักดัน “กระบวนการสันติภาพ” อย่างแน่วแน่ ซึ่งสิ่งนี้จะสะท้อนผ่านการเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้ภาคส่วนของสังคมได้ร่วมกันมีบทบาทหาทางออก อันเป็นหนึ่งในปัจจัยชี้วัดดัชนีของสันติภาพในอนาคต ก่อนวันเลือกตั้งราว 1 สัปดาห์ (27 มิถุนายน) ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ และเครือข่ายได้ร่วมกันจัดงานเสวนาผสมนิทรรศการ “แสงเงากลางไฟใต้; ภาพอนาคตและการเมืองชายแดนใต้” (คลิกดูกำหนดการ) ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ (FCCT) ซึ่งในด้านหนึ่งเป็นการเปิดตัวหนังสือภาพ In Between; Restive South ของเครือข่ายช่างภาพข่าวชายแดนใต้ ในขณะที่ช่วงท้ายก็มีวงเสวนาที่มีหัวข้อว่า “ไฟใต้หลังเลือกตั้ง: ภาพอนาคตที่ควรเป็น” ก็มีเนื้อหาแหลมคมน่าสนใจ เนื่องจากเป็นการเปิดอภิปรายโดยผู้คลุกคลีกับการขับเคลื่อนผลักดันนโยบายสาธารณะคนสำคัญ โดยสะท้อนประเด็นแนวทางแก้ไขปัญหาความรุนแรงสำคัญ 3 เรื่องใหญ่ที่รัฐบาลใหม่ควรเพ่งพิจารณา ข้อเสนอและบทสนทนาที่เกี่ยวกับการสถาปนาความยุติธรรม การผลักดันการกระจายอำนาจ และกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพที่ไม่ว่าใครจะนั่งตำแหน่งหัวโต๊ะขององค์กรฝ่ายบริหารควรต้องสนใจวางอยู่บนสมมติฐานเบื้องต้นว่า ประเด็นเหล่านี้นี่เองที่จะเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะคลี่คลายความขัดแย้งที่รุนแรงให้ทุเลาลงไป หรืออย่างน้อยก็นำพาความขัดแย้งที่ดำรงอยู่ในปัจจุบันไปยังพื้นที่การต่อสู้ต่อรองด้วยหนทางที่ไม่จำเป็นต้องใช้อาวุธห้ำหั่นกัน รายงานชุดนี้เป็นการเก็บประเด็นที่นำเสนอในการอภิปรายครั้งดังกล่าว โดยแบ่งออกเป็น 2 ตอน โดยในตอนแรกจะเป็นการนำเสนอของผู้อภิปรายเป็นรายคน ส่วนในตอนหลังจะเป็นการแลกเปลี่ยนขัดเกลาประเด็นต่างๆ ให้ชัดเจนขึ้น - กระจายอำนาจ - เมธัส อนุวัตรอุดม นักวิชาการประจำสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า คณะทำงานฝ่ายวิชาการ เครือข่ายประชาชนเพื่อพัฒนาการมีส่วนร่วมทางการปกครองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดาวน์โหลดไฟล์นำเสนอ คลิกชมคลิปการเสวนา ผมพูดในฐานะที่เป็น “คนนอก” แต่เป็นคนนอกที่เข้าไปทำงานกับเครือข่ายฯ ซึ่งอาจารย์ศรีสมภพ ก็เป็นหนึ่งในเครือข่ายที่ทำงานเรื่องการกระจายอำนาจ หลักๆ เรา (สถาบันพระปกเกล้า) อยากเข้าไปสนับสนุนให้ “คนใน” ทำงาน ถ้าทำอะไรได้ก็จะสนับสนุนกันไป วันนี้ผมจะพูดอยู่ 2-3 ประเด็น คือ ภาพในอนาคตที่เกี่ยวข้องกับการกระจายอำนาจจะเป็นอย่างไร การกระจายอำนาจในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะมีอนาคตหรือหมดอนาคต? ภาพอนาคตดังกล่าวนี้สามารถแบ่งออกเป็น 3 ภาพ ได้แก่ ภาพแรก คือ ภาพการเคลื่อนไหวภายใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เอง ภาพที่สอง คือ ภาพของการเคลื่อนไหวของคู่ขัดแย้งในที่นี้ คู่ขัดแย้งหลักก็คือ รัฐกับกลุ่มขบวนการ และภาพสุดท้าย ภาพของการเคลื่อนไหวที่เชื่อมต่อกับสังคมใหญ่ ๐ ปัตตานีมหานครและประชาสังคม ก่อนที่จะพูดถึงภาพของการเคลื่อนไหว ผมอยากพูดถึงที่มาของการขบวนการขับเคลื่อนการกระจายอำนาจในจังหวัดชายแดนภาคใต้ก่อน ว่าเริ่มต้นมาได้อย่างไร มีสมมติฐาน และฐานคิดอย่างไร มุมมองหนึ่งที่มาจากการศึกษาของคนที่ทำงานเรื่องกระจายอำนาจ เรามองว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนั้น หลักๆ แล้วเป็นความขัดแย้งทางการเมืองที่เกี่ยวข้องกับอัตลักษณ์ ประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ และศาสนา คู่ขัดแย้งหลักในที่นี้ก็คือรัฐไทยกับกลุ่มขบวนการฯ เมื่อเรามองความขัดแย้งเป็นแบบนี้ คำถามในใจของเรา คือ คนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้คิดอะไร? ต้องการอะไร? อยากจะได้อะไร? และอยากจะเห็นการเมืองการปกครองในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นอย่างไร? สิ่งนี้เป็นคำถามตั้งต้น หลังจากนั้นเราก็เปิดเวที 50 เวที มีผู้เข้าร่วม 1,427 คน ทั้งพุทธและมุสลิม มีเครือข่ายจากหลายกลุ่มที่ร่วมกันทำ เราพยายามที่จะเข้าถึงและรับฟังความคิดเห็นของทุกกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง ทั้งกลุ่มเยาวชน อุสตาส โต๊ะครู ทหาร ตำรวจ ปกครอง ฯลฯ โดยหลักการที่ว่า “คนในทำ คนนอกหนุน” สิ่งที่เราได้จาก 50 เวที คือ ความต้องการของประชาชน 8 ประการ (ดูร่างรายงานฉบับเต็มที่ เอกสารเพื่อการปรึกษาหารือ ร่างที่ 7 - ปัตตานีมหานครภายใต้รัฐธรรมนูญไทย: ความพยายามในการแสวงหาแนวทางการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ผ่านการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ) สิ่งนี้เราจะใช้เป็นฐานในการมองภาพอนาคต แต่ก็ต้องเน้นย้ำด้วยว่านี่คือความต้องการส่วนหนึ่งของประชาชนในพื้นที่ เพราะว่าเราทราบดีว่าการฟังความคิดเห็น 50 เวทีเองก็ก็มีข้อจำกัดหลายประการ ความต้องการของประชาชนทั้ง 8 ข้อ มีดังนี้ ประการแรก พวกเขาต้องการอยู่ภายใต้การปกครองของไทยภายใต้รัฐธรรมนูญ และยังอยู่ภายใต้รัฐไทย ประการที่สอง คือ มีความเป็นธรรม มีการปกครองที่เป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติคำนึงถึงอัตลักษณ์ ทั้งของคนส่วนใหญ่และคนส่วนน้อยในพื้นที่ ประการที่สาม เกี่ยวกับผู้บริหารสูงสุด เสียงที่สะท้อนในเวทีบางส่วนไม่ได้บอกว่าเขาอยากจะให้มีการเลือกตั้ง แต่ก็มีบ้างที่บอกว่าอยากเลือกตั้งผู้ว่าหรือผู้บริหารสูงสุด แต่หัวใจก็คืออยากได้คนในพื้นที่เป็นผู้นำของพวกเขา ซึ่งจะต้องเป็นคนที่เข้าใจวิถีชีวิตและความต้องการของท้องถิ่นจริงๆ นอกจากนี้ ยังต้องการให้จำนวนข้าราชการในท้องถิ่นนั้นสอดคล้องกับสัดส่วนของคนในพื้นที่ ประการที่สี่ มีกลไกทีเอื้อให้ประชาชนมีส่วนร่วมได้ จริงๆ กลไกเรามีอยู่แล้ว ในแง่นี้คือการกระจายอำนาจปกติอยู่แล้ว แต่พวกเขาต้องการเน้นก็คือต้องเป็นกลไกที่ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าเขาเป็นเจ้าของอำนาจจริงๆ ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าเขามีอำนาจในการจัดการจริงๆ นี่คือจุดที่ต่างและเป็นจุดที่เราได้จากเวที ประการที่ห้า มีระบบการคัดเลือก คัดกรอง ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่สามารถที่จะคัดให้บุคคลที่มีคุณธรรมเข้าสู่ระบบได้ ประการที่หก มีการใช้ 2 ภาษา เป็นข้อเสนอที่มีมานานแล้ว ทั้งภาษาไทยและภาษามลายูควบคู่กันไป เป็นข้อเสนอส่วนหนึ่งของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ด้วย ประการที่เจ็ด หลักสูตรการศึกษาบูรณาการสายสามัญและสายศาสนา รวมถึงมีการสอนวิชาภาษามลายูอย่างเป็นระบบ ถามว่าต้องสอนเป็นภาษามลายูหรือไม่ ข้อมูลจากเวทีที่ได้มาตอบว่าไม่จำเป็น อาจสอนเป็นภาษาไทยได้ แต่อยากให้มีวิชาภาษามลายูในหลักสูตรอย่างเป็นระบบ และประการสุดท้าย บังคับใช้กฎหมายอิสลามเฉพาะกับคนมุสลิม เมื่อเครือข่ายฯ ได้สังเคราะห์ผลออกมาเป็นอย่างนี้ ปรากฏว่าไปสอดคล้องกับข้อเสนอของหะยีสุหลง ที่เคยเสนอมาตั้งแต่ 60 ปีที่ผ่านมาโดยไม่ได้ตั้งใจ มีคนถามว่า 60 ปีผ่านไปมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปแล้วบ้าง มีอะไรที่เกิดขึ้นจริงได้แล้วบ้าง ก็ได้แต่หวังว่านี่คือภาพอนาคตในเชิงเนื้อหาว่านี่คือสิ่งที่ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องการ อย่างไรก็ตาม เราตระหนักดีว่านี่คือเสียงส่วนหนึ่ง คำถามก็คือแล้วเสียงส่วนใหญ่ จะเหมือนหรือต่างกับเสียงส่วนหนึ่งที่เราได้จาก 50 เวทีหรือไม่? แล้วเราจะขยายวงจากเสียงส่วนหนึ่งไปเป็นเสียงส่วนใหญ่ได้อย่างไร? เป็นคำถามที่ทางเครือข่ายฯ ตั้งคำถามกับตัวเองพยายามผลักดันให้เกิดจากเสียงส่วนหนึ่งให้เป็นเสียงส่วนใหญ่ให้ได้ ถัดไปคือรูปแบบการปกครองใดสามารถตอบสนองกับสิ่งที่เป็นความต้องการของประชาชนได้ทั้ง 8 ข้อ (กรุณาคลิกดูแผนภาพข้อเสนอโครงสร้างปัตตานีมหานคร) เราไม่ได้มีรูปแบบการปกครองใดเป็นพิเศษในใจ เราเอาฐานของความต้องการของประชาชนเป็นตัวตั้ง แล้วรูปแบบใดค่อยมาออกแบบกันและร่วมคิดกัน สิ่งที่เครือข่ายเสนอ คือ “ปัตตานีมหานคร” ซึ่งต้องบอกว่าเป็นเพียงตุ๊กตาเพื่อกระตุ้นให้เกิดการถกเถียงซึ่งกันและกัน ถกเถียงในส่วนของคนที่เกี่ยวข้อง ถกเถียงในส่วนของสังคม เปิดประเด็นให้มองว่า นี่อาจจะเป็นทางออกหนึ่งในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถามว่าความเป็นไปได้ในอนาคตของปัตตานีมหานคร ในฐานะที่เป็นการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ นั้นมีอยู่ 4 หนทาง นั่นคือ ทางแรก ยังเป็นข้อเสนอที่อยู่บนกระดาษเหมือนเดิม ทางที่สอง ประชาชนร่วมกันเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายให้สภาพิจารณา ทางที่สาม ให้รัฐบาลเสนอร่างกฎหมายเอ หรือทางสุดท้าย ให้ ส.ส. รวมตัวกันเข้าชื่อเสนอ ที่จริงแล้วก็มีความเป็นไปได้เพียงเท่านี้ ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ๐ กระจายอำนาจที่ชายแดนใต้ในอนาคต ก่อนที่จะมองภาพอนาคต ผมมองว่าปัจจุบันมันเป็นภาพแบบนี้ ปัจจุบันเป็นภาพที่มันวุ่นวาย (ภาพประกอบที่ 1) เหมือนที่ทุกท่านเห็น มองว่าเป็นภาพที่มันวุ่นวาย ไร้ระเบียบ แต่ก็ยังมีกลุ่มประชาสังคมอยู่ข้างนอก ที่ทำหน้าที่คอยตบให้เข้ารูปได้ ประชาสังคมที่ว่านี้จะก่อรูปอะไรบางอย่างที่ทำให้ความยุ่งเหยิงเหล่านี้ไปในทิศทางที่ควรจะเป็น ภาพประกอบที่ 1 ความยุ่งเหยิงที่เป็นเส้นสีแดงๆ นั้นอาจหมายถึงความหวาดระแวงของสังคมใหญ่ในประเด็นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคำถามที่ว่า “ปัตตานีมหานคร” คืออะไร? “นครปัตตานี” คืออะไร? “นครรัฐปัตตานี” คืออะไร? ส่วนที่เขียนไว้ว่า “อนุรักษ์นิยมและเสรีนิยม” นั้น คือ ความขัดแย้งแย่งชิงกันระหว่างกลุ่มอำนาจ นอกจากนี้ ยังมีบริบทของ “การเมือง 2 ขั้ว ไร้เสถียรภาพ” และ “ผู้เกี่ยวข้องยังเห็นต่าง” ซึ่งอย่างหลังหมายถึงความเห็นที่แตกต่างกันในกลุ่มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคนนอกพื้นที่และคนในพื้นที่ เห็นต่างทั้งภายในภาครัฐเองและภายในขบวนการ ตลอดจนภายในกลุ่มประชาสังคมด้วยกันเอง ทั้งหมดเหล่านี้ยังเห็นแตกต่างกันอยู่ว่าข้อเสนอในทำนองนี้เป็นทางออกจริงหรือไม่? และที่สำคัญภายในขบวนการฯ บางส่วนก็คิดว่าเป็นไปไม่ได้ เมื่อกล่าวถึงภาพอนาคตของการเคลื่อนไหวภายใน ดังที่เกริ่นไปแล้วว่าผู้เกี่ยวข้องยังมองปัญหาด้วยมุมที่ต่างกัน สิ่งที่ภาคประชาสังคมต้องทำ คือต้องขยายวงการถกเถียงในเรื่องนี้ให้ครอบคลุมในทุกภาคส่วนให้ได้ สื่อสารกับสังคมใหญ่ให้เริ่มเห็นว่าทางการกระจายอำนาจเป็นทางออกหนึ่งของการแก้ปัญหา ประเด็นถัดไปก็คือ เสียงสะท้อนจากกลุ่มขบวนการฯ บางส่วนที่มองว่าการเคลื่อนไหวผลักดันข้อเสนอนี้เป็นการฉวยโอกาส พวกเขาเป็นคนปลูกต้นไม้ แต่เครือข่ายเหล่านี้เข้ามาเก็บเกี่ยวผลเอาไปกิน ซึ่งไม่แปลกที่พวกเขาจะคิดอย่างนี้ แต่สิ่งที่เครือข่ายประชาสังคมจะต้องทำก้นคือการเปิดพื้นที่ที่จะสื่อสารกับกลุ่มขบวนการฯ เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกัน เปิดพื้นที่ให้พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการและรู้สึกว่าเป็นเจ้าของ ซึ่งจริงๆ แล้วก็ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มขบวนการฯ เท่านั้น แต่ต้องทำให้ทุกๆ คน ที่เกี่ยวข้องรู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งและเป็นเจ้าของที่ว่าด้วยเช่นกัน เราจะทำอย่างไรที่จะเปิดพื้นที่ให้กลุ่มขบวนการฯ เข้ามาในกระบวนการได้ ซึ่งเป็นประเด็นที่อาจารย์ศรีสมภพจะคุยกันต่อไป ซึ่งก็คือการพูดคุย (dialogue) ประเด็นที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่เป็นข้อถกเถียงและข้อท้าทายของกลุ่มประชาสังคม ก็คือ การเคลื่อนไหวตรงนี้เป็นเพียงการเคลื่อนไหวของกลุ่มชนชั้นนำ (elite) เท่านั้น ทั้งที่เป็นอาจารย์หรือเป็นปัญญาชน ในขณะที่ชาวบ้านเองก็ไม่รู้เรื่องเลย ซึ่งเป็นประเด็นหนึ่งที่เครือข่ายและคนที่ทำงานต้องขยับขยายเพื่อสร้างพื้นที่ถกเถียงให้ครอบคลุมมากที่สุดและลงไปถึงฐานชุมชนให้ได้ ไม่เช่นนั้นพลังการต่อรองจะไม่เกิดขึ้นเต็มที่อย่างที่ควรจะเป็น ประเด็นถัดมาที่สำคัญ คือ หลายฝ่ายไม่เชื่อว่าข้อเสนอเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้จริง ทั้งกลุ่มขบวนการฯ บางส่วนเองที่แม้จะเห็นว่าข้อเสนอนี้น่าจะเป็นทางออกได้ แต่ก็มองไม่เห็นความเป็นไปได้ในความเป็นจริง ปัญหาตรงจุดนี้ภาคประชาสังคมคือทางออก โดยเราจะต้องเกาะกลุ่มกันให้แน่นและหนุนเสริมกันและกัน ถ้ามันระเบิดจากข้างในออกมา ข้างนอกก็ต้องฟัง ในขณะเดียวกันต้องมีการสื่อสารในวงเล็กกับกลุ่มพลังต่างๆ ในสังคม เพื่อให้เห็นว่าข้อเสนอนี้ไม่ได้หลุดไปจากกรอบรัฐธรรมนูญหรือหลุดไปจากประเทศไทย นอกจากนี้ เราจะผลักดัน “พื้นที่เย็น” ให้เป็นมหานครก่อนก็เป็นไปได้ เช่น เชียงใหม่มหานคร หรือในกรณีของมหานครราชสีมา ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์เองก็เคยเสนอไว้ ประเด็นสุดท้ายที่การเคลื่อนไหวภายในที่เครือข่ายประชาสังคมต้องคิด คือ ปัตตานีมหานครถูกมองว่าเป็นงานที่รับมาจากนักการเมืองและขยับคู่กันไป จริงๆ คงไม่ต้องพูดอะไรมาก ใช้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าการทำงานขับเคลื่อนของภาคประชาสังคมตรงจุดนี้จะมีความต่อเนื่องและยั่งยืนมากน้อยเพียงใด อย่างที่เรียนว่าปัตตานีมหานครไม่ได้เป็นรูปแบบที่ตายตัว เป็นตุ๊กตาที่เปิดโอกาสให้ถกเถียงกัน ไม่มีใครเป็นเจ้าของ แต่เป็นงานของเครือข่ายที่จะหมุนไปได้เรื่อยๆ ๐ คู่ขัดแย้งหลักและพื้นที่กลาง ในส่วนของการเคลื่อนไหวภายในระหว่างคู่ขัดแย้ง การเคลื่อนไหวระหว่างคู่ขัดแย้ง เราจะเห็นว่ารัฐกับขบวนการเป็นขั้วขัดแย้งหลัก และมีตัวที่สำคัญคือภาคประชาสังคมอยู่ตรงกลางข้างล่าง (ภาพประกอบที่ 2) จะเห็นว่าปีกหนึ่งคือ การรวมศูนย์อำนาจ อีกฝั่งหนึ่งคือ เอกราช แต่ละคู่ขัดแย้งยืนกันคนละฝั่ง แน่นอนตอนนี้เป็นแบบนี้ สิ่งที่ภาคประชาสังคมพยายามทำ คือ พยายามที่จะให้เกิดพื้นที่ตรงกลางขึ้นมา เราจะเห็นมีตั้งแต่การรวมศูนย์อำนาจอยู่ที่ขั้วหนึ่ง แต่ตรงกลางจะไล่มาตั้งแต่การกระจายอำนาจตามระบบปกติที่ยังคงมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามปกติ ต่อจากนั้นก็มีการกระจายอำนาจที่มีลักษณะเป็นท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ และต่อจากนั้นคือเขตปกครองพิเศษ ในขณะที่อีกขั้วหนึ่งคือ คือ เป็นเอกราช ภาพประกอบที่ 2 ตามแผนภาพนี้ ขบวนการฯ ยืนอยู่ฝั่งเอกราช อย่างน้อยก็เป็นอุดมการณ์ที่ประกาศ รัฐยืนอยู่ฝั่งรวมศูนย์ เราจะเห็นเส้นสีแดงที่วางเป็นกรอบซึ่งก็คือ พื้นที่ต่อรอง พื้นที่ต่อรองดังกล่าวนี้อยู่ระหว่างการกระจายอำนาจในองค์กรปกครองท้องถิ่นธรรมดา รูปแบบพิเศษ หรือเขตปกครองพิเศษ เหล่านี้ คือ ขอบเขตพื้นที่การต่อรองระหว่างรัฐกับขบวนการ สิ่งที่ภาคประชาสังคมทำ ก็คือ เปิดพื้นที่ทางการเมือง คือ เส้นสีเขียวด้านล่าง ผมคิดว่าภาคประชาสังคมต้องเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้หมด รวมถึงเอกราชด้วยก็ได้ ถ้าอยากจะพูด ถ้ารู้สึกว่าพูดแล้วนี่คือสิ่งที่ตัวเองต้องการ ภาคประชาสังคมต้องเปิดพื้นที่ปลอดภัยให้ผู้พูด แม้ว่าในความเป็นจริงการเปิดพื้นที่ดังกล่าวก็มีข้อจำกัดอยู่ไม่น้อย กล่าวคือคงไม่มีพื้นที่ปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ถึงอย่างนั้น หากภาคประชาสังคมทำได้ โดยเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้หมด ตั้งแต่ขั้วหนึ่งไปสุดอีกขั้วหนึ่ง สิ่งนี้จะทำให้พื้นที่แต่ละฝ่ายเลือกจะใช้ความรุนแรงหดไป ความชอบธรรมของการใช้ความรุนแรงก็จะหมดไป น้อยลง ลดน้อยลง มีพื้นที่ที่ให้พูดอย่างสันติ และมีพื้นที่ที่ภาคประชาสังคมจะขับเคลื่อนผลักดันไปได้ พร้อมทั้งสร้างอำนาจต่อรองกดดันทั้งรัฐและขบวนการฯ ให้หันมาใช้สันติวิธี เมื่อกล่าวถึงสถานการณ์ทางการเมืองปัจจุบัน (ก่อนวันเลือกราวตั้ง 1 สัปดาห์) หากเราลองพิจารณาว่าแต่ละพรรคการเมืองอยู่ตรงไหนในมุมมองดังกล่าว เราจะพบว่า ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา จะเอียงมาทางด้านรวมศูนย์และกระจายอำนาจตามปกติ ในขณะที่เพื่อไทยจะอยู่โดดออกมา โดยมีความหวังใหม่ แทนคุณแผ่นดินอยู่ในตำแหน่งที่ใกล้เคียงกัน ส่วนมาตุภูมิและชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดินจะอยู่กึ่งกลาง (ภาพประกอบที่ 3) ตำแหน่งของนโยบายพรรคเหล่านี้สะท้อนว่าพรรคการเมืองนั้นมีความโน้มเอียงไปทางไหน จะมีพื้นที่ต่อรองจะอยู่ตรงไหน ภาพประกอบที่ 3 จะเห็นว่าเพื่อไทยจะโดดออกมา เนื่องจากเพื่อไทยเสนอนครปัตตานี เช่นเดียวกับพรรคความหวังใหม่ ในขณะที่พรรคมาตุภูมิยังก้ำๆ กึ่งๆ เพราะเสนอให้มีการจัดตั้งทบวงชายแดนใต้ โดยให้มีผู้บริหารมาจากคนในพื้นที่ แต่ก็ไม่ปฏิเสธเรื่องมหานคร ส่วนพรรคประชาธรรมอยู่อีกมุมหนึ่งพร้อมมีเครื่องหมายคำถาม เพราะไม่แน่ใจว่ามีนโยบายอย่างไร เพราะดูจากนโยบายที่ระบุว่ามีการบริหารการปกครองที่ต้องสอดคล้องกับอัตลักษณ์ของคนในพื้นที่ ซึ่งเป็นได้กว้างมาก ๐ การขับเคลื่อนที่เชื่อมต่อกับสังคมใหญ่ การเคลื่อนไหวกับสังคมใหญ่มักจะเชื่อมโยงกับคำถามที่ว่าข้อเสนอที่ว่าด้วยการกระจายอำนาจในลักษณะนี้ (ปัตตานีมหานคร) จะเป็นได้จริงหรือไม่? จริงๆ แล้ว หากมองเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เราอาจพบว่าจะติดล็อคเยอะแยะไปหมด แต่หากเราเปิดออกไปและมองไปทั่วประเทศจะพบว่ามีการเคลื่อนไหวอยู่ทั่วประเทศ เช่น เครือข่ายจังหวัดจัดการตัวเอง 26 จังหวัด ภาคเหนือมี 8 จังหวัด ภาคอีสานมี 8 จังหวัด ภาคกลางมี 5 จังหวัด และในภาคใต้เองอีก 5 จังหวัด ซึ่งยังไม่รวม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เครือข่ายเหล่านี้เคลื่อนไหวเพื่อผลักดันให้ “จังหวัด” หรือในอีกแง่หนึ่งก็คือ “ท้องถิ่น” สามารถจัดการตนเองได้ ซึ่งในแง่ของการนิยามความหมายแล้วคงมีอยู่อย่างหลากหลาย แต่โดยพื้นฐานการคิดเรื่องนี้เพื่อการขับเคลื่อนแล้วก็คือความต้องการให้ประชาชนมีสิทธิ มีเสียง มีส่วนจริงๆ ในการใช้อำนาจ บางคนก็บอกว่าต้องมีการเลือกตั้งผู้ว่า ซึ่งไปสอดคล้องกับข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย (ดูรายงาน ปรับตัวเพื่อรับมือ: เปิดรายงานคณะกรรมการปฏิรูป \ข้อเสนอการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ\") ที่ต้องการที่จะยกเลิกการปกครองส่วนภูมิภาค เช่นเดียวกับเครือข่ายประชาสังคมที่ขับเคลื่อนเรื่องการกระจายอำนาจในชายแดนใต้ สื่อมวลชน และสภาพัฒนาการเมือง ภาพเหล่านี้สามารถทำให้เห็นอย่างคร่าวๆ ได้ว่าการเคลื่อนไหวเรื่องนี้ล้วนเชื่อมโยงกันหมด และกระจายตัวไปในขอบเขตทั่วประเทศ ในเวทีที่เกี่ยวกับนโยบายการกระจายอำนาจก่อนหน้าการเลือกตั้งวันเลือกตั้ง (ในรายการนับถอยหลังเลือกตั้ง ’54 หัวข้อ “กระจายอำนาจ กระจายโอกาสทำกิน” ดูเนื้อหาข่าวที่ “กก.ปฏิรูปจี้ พรรคการเมืองทำให้จริงเรื่องการกระจายอำนาจ”) ทางพรรคประชาธิปัตย์ โดยคุณชำนิ ศักดิเศรษฐ์ ที่จะนำเสนอมหานครราชสีมา มหานครขอนแก่น มหานครหาดใหญ่ ในขณะที่คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เสนอมหานครปัตตานี ในขณะเดียวกันภาคประชาสังคมก็เสนอเชียงใหม่มหานคร อำนาจเจริญมหานคร และในกรณีปัตตานีมหานครก็เช่นเดียวกัน ทั้งหมดนี้คือทิศทางที่มุ่งไปสู่การจัดการตัวเอง ทั้งฝ่ายการเมืองและฝ่ายประชาสังคม ผมอาจจะมองโลกในแง่ดีไปนิดนึง แต่สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงและมีความเคลื่อนไหวจริง ทางเครือข่ายเชียงใหม่มหานครตั้งเป้าที่จะยื่นร่างกฎหมายเข้าสู่สภาปี 2555 ถ้าพื้นที่อื่นๆ เกิดไปก่อน ในกรณีปัตตานีที่จะเกิดตามมาอาจมีความเชื่อมั่นในระดับหนึ่ง สุดท้ายคือภาครัฐต้องสนับสนุนภาคประชาสังคม อย่าดึงเรื่องเหล่านี้ไปทำเอง แต่ต้องเปิดให้ประชาสังคมยื่นกฎหมายเข้าสภา ถ้ารัฐบาลเห็นด้วยก็ปล่อยให้ประชาชนจัดการกันเอง จังหวัดไหนอยากได้ก็เดินหน้าไป แต่จังหวัดไหนไม่พร้อมก็ไม่ต้องทำอะไร (อ่านบทสนทนาแลกเปลี่ยนในตอน 2) - พูดคุยเพื่อสันติภาพ - ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSW) ผู้อำนวยการสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ (CSCD) ดาวน์โหลดไฟล์นำเสนอ คลิกชมคลิปการเสวนา ผมจะพูดใน 3 ประเด็นใหญ่ๆ ได้แก่ ประเด็นแรก เริ่มจากสถานการณ์ปัจจุบันเป็นอย่างไร ทั้งในเรื่องของความขัดแย้งความรุนแรงที่จะนำมาสู่การประนีประนอม หรือนำมาสู่การลดเงื่อนไขความขัดแย้ง ประเด็นที่สอง เกี่ยวกับกระบวนการในแง่ของการเจรจาในฐานะที่เป็นการหาทางออก และประเด็นที่สาม บทบาทของภาคประชาสังคมในกระบวนการเจรจา ๐ ถึงปัจจุบัน: คุณภาพของความรุนแรง เริ่มจากประเด็นแรก สรุปสถานการณ์ในปัจจุบันเพื่อจะทำให้เราเห็นภาพรวมทั้งหมดก่อน ฐานข้อมูลของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ที่ได้รวบรวมไว้ตั้งแต่มกราคม 2547 ถึง 16 มิถุนายนที่ผ่านมา พบว่ามีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นแล้ว 10

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net