Skip to main content
sharethis

(25 ก.ค.54) ที่คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ เครือข่ายองค์กรแรงงานเพื่อการปฏิรูประบบค่าจ้างเพื่อความเป็นธรรมในสังคม นำโดย ชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย แถลงท่าทีต่อนโยบายปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทของพรรคเพื่อไทย โดยระบุสนับสนุนและเรียกร้องให้พรรคเพื่อไทยยืนหยัดในนโยบายดังกล่าวตามที่ได้หาเสียงไว้ นอกจากนี้ เครือข่ายองค์กรแรงงานฯ ระบุด้วยว่า เข้าใจในความกังวลของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยต่อผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำตามนโยบายนี้ ซึ่งควรจะร่วมหาแนวทางช่วยเหลือเยียวยาเป็นกรณีๆ ไป พร้อมชี้ว่าทั้งสององค์กรไม่ควรมองข้ามความทุกข์ยากของผู้ใช้แรงงานซึ่งมีชีวิตอยู่อย่างยากลำบากเช่นกัน เครือข่ายองค์กรแรงงานฯ ได้เรียกร้องให้รัฐบาลใหม่ปรับเปลี่ยนนโยบายการพัฒนาประเทศจากการเน้นการเจริญเติบโตด้วยการส่งเสริมปกป้องอุตสาหกรรมส่งออกที่อาศัยการใช้แรงงานเข้มข้นราคาถูก มาสู่นโยบายการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโดยใช้ค่าจ้างที่เป็นธรรมเป็นเครื่องมือ ซึ่งจะทำให้ไทยสร้างอำนาจซื้อและตลาดภายในให้เข้มแข็ง ส่งผลต่อความมีเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจ พร้อมทั้งเกิดการกระจายรายได้และความเป็นธรรมทางสังคม ทั้งนี้ เพื่อให้การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำและการกำหนดค่าจ้างแรงงานในสถานประกอบการโดยทั่วไปในประเทศไทยเป็นไปอย่างมีเหตุผลและสามารถสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม เครือข่ายองค์กรแรงงานฯ เสนอให้มีการปฏิรูประบบการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ โดยเปลี่ยนนิยามของคำว่า \ค่าจ้างขั้นต่ำ\" ใหม่ ให้หมายถึงค่าจ้างสำหรับลูกจ้างไร้ฝีมือแรกเข้าทำงาน 1 ปีแรก ซึ่งสามารถครองชีพได้เพียงพอสำหรับตนเองและครอบครัวอีกสองคน รวมถึงยกเลิกอนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำประจำจังหวัด ซึ่งเป็นสาเหตุของการทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้และความไม่เป็นธรรมในสังคม ในอนาคตควรจัดให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเปอร์เซ็นต์อัตราเดียวเท่ากันทั้งประเทศ หรือตามกลุ่มอุตสาหกรรมเป็นประจำทุกปี ปฏิรูประบบเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้าง-ลูกจ้าง ให้โปร่งใสและสะท้อนความเป็นตัวแทนของคนงาน ตกลงร่วมกันให้ชัดว่าจะใช้ตัวเลขอะไรจากแหล่งไหนเป็นตัวชี้ขาดโดยไม่ต้องต่อรองว่าต้องขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเท่าไร และปรับปรุงโครงสร้างการบริหารกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ ให้มีคณะกรรมการประจำ เพื่อศึกษาพิจารณาข้อมูลประกอบการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำอย่างต่อเนื่อง ส่วนการปรับค่าจ้างประจำปีในสถานประกอบการ เสนอให้รัฐออกกฎหมายกำหนดให้สถานประกอบการต้องปรับค่าจ้างเป็นประจำทุกปี โดยรัฐต้องเร่งส่งเสริมระบบการเจรจาต่อรองทำข้อตกลงร่วมระหว่างสหภาพแรงงานกับนายจ้าง ยกเลิกการจ้างงานที่จ่ายค่าจ้างเป็นรายวัน รายชั่วโมงหรือรายผลงาน ให้รัฐเร่งให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 และ 98 ว่าด้วยสิทธิการรวมตัวและเจรจาต่อรอง นอกจากนี้ เครือข่ายองค์กรแรงงานฯ ได้เสนอว่า รัฐบาลควรจัดตั้งคณะกรรมการอันประกอบด้วยผู้แทนทั้งภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม ภาคแรงงาน นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญอื่นๆ ร่วมทำงานเพื่อหาแนวทางดำเนินการให้นโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันเป็นจริงและช่วยกันคิดค้นเพื่อนำสู่การปฏิรูประบบการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำและการกำหนดค่าจ้างแรงงานให้มีประสิทธิภาพและความเป็นธรรมยิ่งขึ้น อนึ่ง เครือข่ายองค์กรแรงงานเพื่อการปฏิรูประบบค่าจ้างเพื่อความเป็นธรรมในสังคม ประกอบด้วยองค์กรแรงงานระดับสภาองค์การลูกจ้าง องค์กรแรงงานระดับสหพันธ์แรงงาน กลุ่มสหภาพแรงงานย่านอุตสาหกรรมต่างๆ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ และองค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงาน"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net