ทีดีอาร์ไอเผย สภาพแวดล้อมในการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมไทยยังไม่กระเตื้อง

ทีดีอาร์ไอเผยศักยภาพด้านนโยบายโทรคมนาคมไทยอยู่ลำดับปานกลาง เมื่อเทียบกับประเทศกลุ่มตัวอย่าง 7 ประเทศในเอเชีย โดยปากีสถานได้คะแนนสูงสุดจากการประเมินครั้งนี้ ทีดีอาร์ไอเผยผลจากการประเมินนโยบายด้านโทรคมนาคมและสิ่งแวดล้อมในการกำกับดูแลในช่วง 2 ปี (2553-2554) ซึ่งจัดทำโดย LIRNEasia และ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) พบว่าศักยภาพในการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมของไทยอยู่ในระดับปานกลางเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศตัวอย่างที่ได้ทำการศึกษาประเทศอื่นๆอีก 6 ประเทศ ได้แก่ อินเดีย บังคลาเทศ อินโดนีเซีย ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ และศรีลังกา โดยไทยมีคะแนนใกล้เคียงกับประเทศอินโดนีเซีย บังคลาเทศ อินเดีย และศรีลังกา สำหรับประเทศที่ได้คะแนนสูงสุดในการประเมินครั้งนี้ และเป็นผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดในปี 2551 ด้วย ก็คือ ประเทศปากีสถาน โดยคะแนนที่สูงนี้ได้มาจากความโปร่งใสและความคืบหน้าในกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการควบคุมดูแลกิจการโทรคมนาคม สำหรับประเทศไทย ทำการสำรวจโดย ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ และ นายกิตติพงษ์ เรือนทิพย์ จากทีดีอาร์ไอ พบว่า ผลการประเมินในปี พ.ศ. 2553 โดยรวมไม่ต่างกับในปี พ.ศ. 2551 ซึ่งสะท้อนว่าสภาพแวดล้อมในการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมของไทยมิได้ดีขึ้น การสำรวจสภาพแวดล้อมด้านการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม (Telecom Regulatory Environment – TRE) ดำเนินการภายใต้กรอบที่เหมือนกันทั้ง 7 ประเทศ คือ ทำการสอบถามผู้มีส่วนเกี่ยวข้องระดับอาวุโสให้ทำการประเมินความมีประสิทธิภาพของสิ่งแวดล้อมด้านการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมทั้งในส่วนของตลาดโทรศัพท์พื้นฐาน หรือโทรศัพท์บ้าน โทรศัพท์เคลื่อนที่ และอินเทอร์เนต โดยแบ่งระดับคะแนนเป็น 5 ระดับ (1-5) 1 หมายถึงความด้อยประสิทธิภาพที่สุด ส่วน 5 หมายถึง ความมีประสิทธิภาพที่สุด โดย 3 หมายถึงความมีศักยภาพในระดับกลาง นอกจากนี้ในแบบสอบถามได้แบ่งมิติในการกำกับดูแลออกเป็น 7 มิติ ได้แก่ การกำกับดูแลด้าน การเข้ามาแข่งขันในตลาดของผู้ให้บริการใหม่ (market entry), การจัดสรรทรัพยากรที่มีจำกัด (scarce resources) เช่น คลื่นความถี่ หรือ เลขหมายโทรศัพท์, การเชื่อมต่อโครงข่ายระหว่างกัน (interconnection), อัตราค่าบริการ (tariff regulation), การแข่งขันอย่างเป็นธรรม (regulation of anti competitive practices), การให้บริการอย่างทั่วถึง (universal service obligation: USO), และ คุณภาพบริการ (quality of service: QOS) โดยทุกมิติที่กล่าวนี้จะได้รับการประเมินโดยผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งหมายความว่าผู้ตอบแบบสอบถามจะทำการประเมินโดยให้คะแนนที่แตกต่างกัน 21 รายการ (7 มิติ X 3 ตลาด) ผู้ตอบแบบสอบถามประกอบด้วย 3 กลุ่มอาชีพ กลุ่มที่ 1 ได้แก่ ผู้ให้บริการโทรคมนาคม หรือผู้ผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์โทรคมนาคม และผู้ที่มีส่วนได้เสียโดยตรงกับภาคธุรกิจกลุ่มที่ 2 ได้แก่ ผู้ที่ให้ความสนใจและติดตามความเคลื่อนไหวในด้านการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมอย่างใกล้ชิด ซึ่งได้แก่ สื่อมวลชน นักข่าว เจ้าหน้าที่รัฐบาล และเครือข่ายพลเมืองต่างๆ สำหรับกลุ่มบุคคลในกลุ่มที่ 3 นั้น เป็นกลุ่มที่มีการศึกษาวิเคราะห์และติดตามการเปลี่ยนแปลงในธุรกิจโทรคมนาคมในรายละเอียด กลุ่มคนในกลุ่มนี้ได้แก่ นักกฎหมายด้านโทรคมนาคม ที่ปรึกษาทางธุรกิจ นักวิเคราะห์และนักลงทุน การศึกษาครั้งนี้มีผู้ร่วมตอบแบบสอบถามทั้งหมด 50 ราย โดยร้อยละ 32 มาจากกลุ่มที่ 1 และร้อยละ 34 มาจากกลุ่มที่ 2 และ 3 และเป็นการสำรวจ ภายใต้เงื่อนไขที่จะไม่เปิดเผยชื่อของผู้ที่ได้ทำการตอบแบบสอบถาม ผลการสำรวจพบว่า คะแนนด้านการกำกับดูแลด้านการเชื่อมต่อโครงข่ายได้รับคะแนนต่ำที่สุดเทียบกับด้านอื่น เช่นเดียวกับใน พ.ศ. 2551 โดยประเด็นปัญหาที่สะท้อนออกมาบ่อยครั้งที่สุด คือ การที่ กทช. ไม่ได้เข้ามาแก้ปัญหาการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการเชื่อมต่อของผู้ประกอบการที่ไม่สามารถตกลงกันได้ จนกระทั่ง เดือนมีนาคม พ.ศ. 2553 กทช. จึงมีคำสั่งให้เก็บค่าธรรมเนียมการเชื่อมต่อที่ 50 สตางค์ต่อนาที แต่ถึงกระนั้น ผู้ตอบแบบสอบถามหลายรายยังคงเห็นว่า เป็นอัตราที่สูงเกินควร การกำกับดูแลการเข้าสู่ตลาดของผู้ให้บริการรายใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้คะแนนเพียง 2.3 ซึ่งจัดได้ว่าต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับคะแนนการประเมินที่ด้านอื่นๆได้รับ เป็นที่น่าสังเกตว่า ในปี พ.ศ. 2551 คะแนนในด้านนี้ของตลาดโทรศัพท์พื้นฐานลดลงจาก 3.1 เหลือ 2.6 และตลาดโทรศัพท์มือถือ จาก 2.7 เหลือ 2.3 หนึ่งในปัญหาที่มีการสะท้อนผ่านแบบสอบถามหลายครั้งคือ มาตรา 46 ใน พรบ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ ฯ พ.ศ. 2553 ซึ่งห้ามมิให้มีการเช่าต่อโครงข่ายซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาธุรกิจบริการโทรคมนาคมแบบเสมือน (MVNO: Mobile Virtual Network Operator) สำหรับเหตุผลอื่นๆที่ทำให้คะแนนการกำกับดูแลด้านการเข้ามาแข่งขันในตลาดของผู้ให้บริการใหม่ได้รับคะแนนต่ำ คือ ความสับสนในกฎเกณฑ์ออกใบอนุญาตในปัจจุบัน ยกตัวอย่างเช่น ใบอนุญาตประเภทที่ 2 ซึ่งตามหลักแล้วควรจะเป็นผู้ให้บริการที่มีเครือข่ายโทรคมนาคมของตนเองแต่ให้บริการแก่ลูกค้าภายในบริษัท เท่านั้น ในขณะที่ใบอนุญาตประเภทที่ 3 นั้นเป็นผู้ให้บริการที่มีโครงข่ายเป็นของตนเองที่ให้บริการแก่สาธารณชน (public commercialization) อย่างไรก็ดี ในทางปฏิบัติ มีผู้ประกอบการที่ถือใบอนุญาตประเภท 2 ไปขายบริการให้แก่สาธารณชน เช่นเดียวกับผู้ถือใบอนุญาตประเภท 3 หากแต่เสียค่าธรรมเนียมใบอนุญาตและค่าธรรมเนียมบริการสังคมที่ต่ำกว่า ดร.เดือนเด่น ย้ำว่า การประเมินครั้งนี้ไม่ใช่เป็นการประเมินหน่วยงานกำกับดูแล แต่ประเมินถึงสภาพแวดล้อมในการกำกับดูแล ซึ่ง กทช.เป็นส่วนหนึ่งของสภาพแวดล้อมในการกำกับดูแล จะเห็นว่าปัจจัยลบต่อสภาพแวดล้อมในการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมของไทย มีทั้งส่วนที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานกำกับดูแล ทั้งปัญหาสัมปทาน ปัญหาที่เกิดจากข้อบัญญัติทางกฎหมาย ส่วนที่เกี่ยวข้องกับ กทช.ซึ่งผู้ตอบแบบสอบถามระบุ คือ ความไม่ชัดเจนในการกำกับดูแล รวมทั้งปัญหาการบังคับใช้กฎหมายที่ดูเหมือนเลือกปฏิบัติในบางเรื่อง สิ่งที่ประเทศไทยควรทำเพื่อให้ธุรกิจโทรคมนาคมไทยเดินต่อไปได้ คือ หน่วยงานกำกับดูแลต้อง (1) กำหนดกฎกติกาในการกำกับดูแลที่มีความชัดเจน ไม่ควรให้ใช้ดุลพินิจของ กทช.เป็นหลักเพื่อลดปัจจัยความเสี่ยงของผู้ประกอบการที่เกิดจากความไม่แน่นอนของกติกาในการกำกับดูแล (2) บังคับใช้กฎ ระเบียบอย่างจริงจังมิใช่มีการปล่อยให้ผู้ประกอบการดำเนินการอย่างผิดกฎหมาย เช่น กี่ปฏิเสธการให้บริการเชื่อมต่อโครงข่ายเป็นต้น (3) ควรมีฐานข้อมูลต้นทุนในการให้บริการที่ครบถ้วนและถูกต้องเพื่อที่จะสามารถกำหนดอัตราค่าบริการที่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค รวมทั้งเรื่องของ “สิทธิแห่งทาง”(right of way)ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการขยายโครงข่ายให้เข้าถึงบ้านเรือนประชาชนได้นั้น ควรมีการกำกับและกำหนดมาตรการที่ชัดเจนในการใช้สิทธิดังกล่าว เช่น การจะพาดสายโทรศัพท์บนเสาของการไฟฟ้านครหลวง ซึ่งไม่อยู่ในกลุ่มธุรกิจสื่อสารและไม่ได้เป็นผู้รับใบอนุญาตจาก กทช.ให้ดำเนินการได้ เป็นต้น ดร.โรฮาน ซามาราจไจวา (Dr. Rohan Samarajiva) ประธานกรรมการบริหารขององค์กร LIRNEasia มีความคิดเห็นต่อผลการประเมินศักยภาพในการกำกับดูแลของประเทศต่างๆ ว่า ประเทศที่มีกฎ กติกาในการกำกับดูแลที่ชัดเจน และ โปร่งใสจะได้คะแนนสูง เช่น ในกรณีของประเทศปากีสถาน แม้ค่าธรรมเนียมในการต่อใบอนุญาตค่อนข้างสูง (ประมาณ 291 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 8,730 ล้านบาท) แต่ว่าเป็นอัตราเดียวกันสำหรับทุกผู้ประกอบการ และมีการประกาศราคาค่าธรรมเนียมให้ทราบล่วงหน้าก่อนที่สัญญาสัมปทานจะสิ้นสุดลง ความชัดเจนนี้เองได้สร้างความแน่นอนให้กับนักลงทุน ในทางตรงกันข้าม ในประเทศที่ได้คะแนนต่ำอย่างเช่นบังคลาเทศก็มีการต่อใบอนุญาตบ่อยครั้ง หากแต่ไม่มีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาการต่อใบอนุญาตที่ชัดเจนทำให้เกิดความไม่แน่นอนต่อภาคธุรกิจ เช่นเดียวกันกับประเทศไทยที่ต้องสูญเสียผลประโยชน์อันเกิดจากความเสี่ยงในการลงทุนอันสืบ เนื่องมาจากความไม่แน่นอนของกฎเกณฑ์ต่างๆในการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท