Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ตั้งแต่กลางทศวรรษ 2540 เป็นต้นมา ประชาสังคมไทยทวีความสำคัญขึ้นในฐานะแนวคิดและแนวปฏิบัติในการสร้างเครือข่ายทางสังคมเพื่อหาทางออกจาก “วิกฤติ” ที่เกิดจากระบอบการเมืองการปกครองแบบเสรีประชาธิปไตยและจากระบอบเศรษฐกิจทุนนิยมเสรี ผู้สนับสนุนประชาสังคมมองว่าแท้จริงแล้วระบอบเสรีประชาธิปไตยมีปัญหาเรื่องประสิทธิภาพ ความโปร่งใส และความชอบธรรมของระบบรัฐสภา พรรคการเมือง และนักการเมือง รวมทั้งยังรวมศูนย์อำนาจและไม่เปิดโอกาสให้กับการมีส่วนร่วมจากสมาชิก โดยเฉพาะจากสมาชิกเสียงส่วนน้อย ขณะเดียวกันก็เห็นว่าระบอบเศรษฐกิจทุนนิยมเสรีซึ่งมักได้รับการส่งเสริมโดยรัฐทำให้ความยั่งยืนและความสามารถในการพึ่งตนเองของผู้คนและชุมชนถูกทำลาย ประชาสังคมไทยจึงมุ่งกำกับตรวจสอบการดำเนินงานของทั้งสองส่วนให้เกิดความชอบธรรม รวมทั้งเน้นการลดอำนาจหน้าที่และบทบาทของรัฐต่อสังคมลงและเพิ่มบทบาทของสังคมแทนรัฐ การดำเนินงานของฝ่ายประชาสังคมประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง ประชาสังคมได้เข้ามาแทนที่การทำงานร่วมกันระหว่างองค์กรพัฒนาเอกชนกับกลุ่มชาวบ้านอันถือว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญของขบวนการภาคประชาชน กลุ่มชาวบ้านในที่นี้มักก่อตัวขึ้นจากปัญหาผลกระทบจากนโยบาย/โครงการพัฒนาต่างๆ ของรัฐ ในขณะที่ปัจจุบันองค์กรพัฒนาเอกชนก็ประสบกับข้อจำกัดด้านเงินทุนจากต่างประเทศมากขึ้นทุกขณะ ขณะเดียวกันประชาสังคมไทยก็มีอำนาจเพิ่มมากขึ้นในการการต่อรองกับฝ่ายต่างๆ โดยได้มีบทบาทในการเข้าผลักดันนโยบายรัฐในหลายเรื่อง เช่น การร่างรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2540 การผลักดันแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหลายฉบับ ที่สำคัญได้ผลักดันให้เกิดการก่อตั้ง “องค์กรอิสระ” ซึ่งเป็นหน่วยงานกึ่งรัฐใหม่ๆ หลายองค์กร ที่สำคัญคือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสถาบัน/พัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตต่างๆ ของสังคม โดยเชื่อกันว่าองค์กรอิสระเหล่านี้มีประสิทธิภาพมากกว่าหน่วยงานในระบบราชการและสามารถสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนได้มากกว่า ในขณะเดียวกันองค์กรอิสระเหล่านี้ก็กลายมาเป็นแหล่งงบประมาณสำคัญที่สนับสนุนการทำงานขององค์กรและเครือข่ายภาคประชาสังคม นอกจากนั้นชนชั้นนำในประชาสังคมไทยยังเข้าไปดำรงตำแหน่งสำคัญในภาครัฐ อาทิ การเป็น ส.ว. แต่งตั้งหรือเป็นรัฐมนตรี อย่างไรก็ดี แม้จะดูเหมือนว่าประชาสังคมไทยจะมีอำนาจต่อรองกับภาครัฐมาก แต่ที่จริงแล้วประชาสังคมไทยมีสถานะเป็นกลไกที่รองรับการปรับตัวของเพื่อธำรงอำนาจต่อไปของรัฐไทยท่ามกลางการเผชิญกับความท้าทายต่างๆ ด้วย อนึ่ง “รัฐไทย” ในที่นี้ไม่ได้หมายความเฉพาะถึงรัฐบาลที่บริหารประเทศและส่วนราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ตามโครงสร้างในระบอบการเมืองแบบประชาธิปไตยแล้วต้องทำงานสนองนโยบายของรัฐบาลเท่านั้น แต่หมายรวมถึงสถาบันและชนชั้นนำอื่นที่มีอำนาจมากทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการเหนือภาคส่วนอื่นๆ ของรัฐและมีอิทธิพลอำนาจเหนือชีวิตทางสังคมเศรษฐกิจการเมืองของประเทศและของผู้คนจำนวนมหาศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันทางอำนาจและการเมืองแบบจารีตอย่างกษัตริย์และทหาร ความท้าทายที่สถาบันทางการเมืองและอำนาจแบบจารีตต้องเผชิญมีทั้งความขัดแย้งทางอำนาจและผลประโยชน์ภายใน ความกังวลในการสืบทอดอำนาจของบางสถาบันหลัก กระแสโลกที่เน้นความเป็นประชาธิปไตย การก้าวขึ้นมาสู่อำนาจของรัฐบาลประชานิยม ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ทำให้ผู้คนได้รับข้อมูลข่าวสารมากขึ้น รวมทั้งกระแสความไม่พอใจที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ของคนธรรมดาสามัญต่อความไม่เท่าเทียมและช่องว่างทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง น่าสนใจว่า ประชาสังคมไทยก่อกำเนิดโดยและมักอยู่ภายใต้การนำของชนชั้นนำ ผู้ซึ่งนอกจากจะเป็นผู้มีการศึกษาสูง เป็นนักวิชาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นผู้ชำนาญการทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ที่พยายามผันตัวเองมาเป็นวิศวกรทางสังคม และผู้ซึ่งได้รับการนับถือยกย่องในสังคมกระแสหลักในฐานะผู้มี “คุณธรรม” สูงแล้วนั้น ชนชั้นนำประชาสังคมมักมีเครือข่ายความสัมพันธ์ทั้งในทางอุดมการณ์และในเชิงอุปถัมภ์กับบุคคล/สถาบันที่อยู่ในศูนย์กลางอำนาจของรัฐไทยไม่ทางใดก็ทางหนึ่งหรือไม่ก็เป็นส่วนหนึ่งของอำนาจสถาปนานั้นเสียเอง ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองไทยร่วมสมัย ประชาสังคมไทยถูกวิจารณ์อย่างหนักว่าสนับสนุนระบอบการเมืองและสถาบันทางอำนาจแบบจารีต โดยพยายามส่งเสริม “ประชาธิปไตย” เฉพาะบางรูปแบบที่สอดคล้องกับแนวทางของสถาบันทางการเมืองแบบจารีต เนื่องจากประชาสังคมไทยไม่ไว้วางใจและหวาดระแวงต่อระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน (representative democracy) มองว่ามิใช่แนวทางประชาธิปไตยที่แท้จริง ซึ่งควรจะเป็นประชาธิปไตยในความหมายกว้างที่ไม่หมายเฉพาะถึงการเลือกตั้งหรือเสียงส่วนใหญ่ แต่หมายถึงการให้ภาคสังคมชี้นำและกำกับภาครัฐ เป็นที่น่าสังเกตว่าเมื่อรัฐบาลประชานิยมหรือรัฐบาลพรรคเดียวชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้น จุดเน้นของแนวคิดและหลักการที่ประชาสังคมไทยนำเสนอต่อสังคมได้เปลี่ยนจากประเด็นคุณธรรมจริยธรรมพลเมือง (civic virtue) และอุดมการณ์ส่วนรวม ดังที่เน้นมากในช่วงปลายทศวรรษที่ 2540 และต้นทศวรรษที่ 2550 มาสู่ประเด็นความสำคัญของประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม (participatory democracy) และประชาธิปไตยแบบถกเถียงเรียนรู้/ปรึกษาหารือ (deliberative democracy) ผ่านกิจกรรม “สมัชชา” ที่แพร่หลายตั้งแต่ระดับประเทศจนถึงระดับตำบลหมู่บ้าน โดยมองว่าสมัชชาเหล่านี้ทำให้เกิดการรับ-ให้ข้อมูล การรวบรวมความเห็นที่หลากหลาย และการสร้างความเห็นพ้องต้องกัน ประชาสังคมเน้นการสร้างพื้นที่สาธารณะและพื้นที่ทางการเมืองที่เพิ่มมากขึ้นของพลเมืองในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะในส่วนที่ไม่สามารถมีสิทธิมีเสียงและไม่สามารถแข่งขันในระบบการเมืองแบบตัวแทนที่มีการใช้เงินซื้อเสียงมากได้ รวมทั้งเน้นย้ำถึงสิทธิของการไม่เชื่อฟังรัฐ(ที่มาจากการเลือกตั้ง) ของพลเมือง (civil disobedience) น่าสนใจว่า ทั้งประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมและประชาธิปไตยแบบถกเถียงเรียนรู้/ปรึกษาหารือนี้ถูกหยิบมาใช้โดยประชาสังคมไทยในฐานะคู่ตรงข้ามประชาธิปไตยแบบตัวแทน แทนที่จะมองว่าเป็นส่วนที่จะต้องช่วยหนุนเสริมซึ่งกันและกัน นอกจากนั้นก็ยังถูกตีความไปในทางที่สนับสนุนความสัมพันธ์เชิงอำนาจแบบจารีตที่วางอยู่บนแนวคิดลำดับชั้นของอำนาจทางศีลธรรม (hierarchical order of moral authority) ที่ให้คุณค่ากับศีลธรรมที่เหนือกว่าของชนชั้นนำในภาคประชาสังคม ผู้ซึ่งส่วนใหญ่มีสายสัมพันธ์กับบุคคล/สถาบันที่อยู่ในศูนย์กลางอำนาจแบบจารีตของรัฐไทยหรือเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจสถาปนานั้นเสียเอง ยังมิพักต้องพูดถึงประเด็นที่ว่ายังมีผู้คนและกลุ่มองค์กรอีกเป็นจำนวนมากที่มิเคยได้รับโอกาสในการมีส่วนร่วมในกระบวนการประชาธิปไตยแบบถกเถียงเรียนรู้หรือปรึกษาหารือของประชาสังคมไทยเลย ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจแต่อย่างใดที่ชนชั้นนำ นักวิชาการ และองค์กรพัฒนาเอกชนในเครือข่ายประชาสังคมวางตัวออกห่างจากการเคลื่อนไหวของประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตยที่วางอยู่บนฐานของการเลือกตั้ง ที่สำคัญวางเฉยต่อการเข่นฆ่าปราบปรามประชาชนผู้เพียงแต่เรียกร้องการยุบสภาและการเลือกตั้งใหม่อย่างโหดเหี้ยมโดยรัฐเมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ที่ผ่านมารวมทั้งยังรับรองความชอบธรรมการสังหารหมู่ในครั้งนี้ด้วยการเข้ารับบทบาทสำคัญในกระบวนการปฏิรูปประเทศไทย ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นเครื่องมือที่รัฐบาลใช้กลบเกลื่อนการฆ่าของตน แต่ยังเป็นกระบวนการที่สอดคล้องกับประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมและประชาธิปไตยแบบถกเถียงเรียนรู้/ปรึกษาหารือของประชาสังคมไทยที่ถูกประชาสังคมไทยจัดวางให้อยู่ตรงข้ามกับประชาธิปไตยจากการเลือกตั้งด้วย หมายเหตุ: บทความตีพิมพ์ในคอลัมน์ “คิดอย่างคน” หนังสือรายสัปดาห์ มหาประชาชน ประจำวันที่ 29 กรกฎาคม – 4 สิงหาคม 2554

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net