Skip to main content
sharethis

หมายเหตุ 1. ชื่อรายงานเดิม: ไทยศึกษา: ภูมิทัศน์ของขบวนภาคประชาสังคม-ทบทวนขบวนการเคลื่อนไหวในสังคมไทยผ่าน ขบวนการแรงงาน เครือข่ายการจัดการทรัพยากรและเกษตรกรรมยั่งยืน 2. จากเวที Civil Society Envisioned เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2554 จัดโดย Thai Social Movement Watch (TSMW) เวทีนี้เป็นส่วนหนึ่งในงาน The 11th International Conference on Thai Studies: Visions of the Future ระหว่างวันที่ 26-28 กรกฎาคม 2554 ณ โรงแรมสยามซิตี้ กรุงเทพฯ 3. นำเสนอโดย จิตรา คชเดช กลุ่ม Try Arm และ สหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา มูลนิธิชีววิถี และเอกชัย อิสระทะ เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ผู้ให้ความเห็นต่อการนำเสนอโดย เก่งกิจ กิติเรียงลาภ อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ แฟ้มภาพ: ประชาไท จิตรา คชเดช: ขบวนการแรงงานกับประชาธิปไตย 20 ปีกับการเปลี่ยนแปลง “ความเข้มแข็งและประชาธิปไตยของขบวนการแรงงานไทยถูกทำลายบ่อนเซาะอย่างเนียน-เนียน หลังยุครัฐบาล รสช. ขบวนการแรงงานรัฐวิสาหกิจถูกแยกขาดออกจากแรงงานเอกชน มีระบบไตรภาคีที่กลืนกลายสหภาพแรงงานให้เป็นอำนาจหลอกล่อที่จำกัดสิทธิและทำลายความเข้มแข็งในขบวนการต่อสู้ต่อรองของคนงาน” ยุคแรกของการรวมตัวและขับเคลื่อนของขบวนการแรงงานไทยสมัยที่ยังไม่มีกระทรวงแรงงาน ขบวนการแรงงานถูกกดดันคุกคามจากฝ่ายความมั่นคงในลักษณะที่มีการทำลายแบบแตกหักอย่างเห็นได้ชัด แต่หลังยุค รสช. ปี 2534 มีการตั้งกระทรวงแรงงานเพื่อทำหน้าที่ดูแลคนงานแทนกระทรวงมหาดไทย แต่กระทรวงแรงงานกลับเข้าข้างนายจ้าง และเข้าแทรกแซงกระบวนการทำงานและทำลายความเข้มแข็งของขบวนการแรงงานไทย โดยใช้กฎหมายที่บัญญัติในสมัย รสช. กฎหมายดังกล่าวระบุว่าที่ปรึกษาสหภาพแรงงานต้องมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ ผ่านกรอบการอบรมและขึ้นทะเบียนกับกระทรวงแรงงาน ภายใต้กรอบคิดว่าที่ปรึกษาสหภาพแรงงานต้องมีความเป็นกลาง เห็นใจทั้งนายจ้างและลูกจ้าง ส่งผลให้นายจ้างเป็นศูนย์กลางการแก้ปัญหาทั้งหมด โดยที่สหภาพไม่ได้ทำหน้าที่แก้ไขปัญหาของลูกจ้าง นอกจากนี้ยังมีกฎหมายที่ทำให้พนักงานรัฐวิสาหกิจแยกออกจากพนักงานบริษัทเอกชน เป็นการทำลายการวมตัวกันเพื่อร่วมต่อสู้และเกื้อหนุนเป็นขบวนการเหมือนที่ผ่านมา ระบบไตรภาคี กลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่สร้างความแตกแยกในขบวนการแรงงานไทย เพราะคณะกรรมการไตรภาคีที่มาจากหลายแย่งชิงผลประโยชน์กันเองโดยไม่สนใจที่จะปกป้องผลประโยชน์ของคนงาน ไตรภาคีมีที่มาจากสหภาพแรงงานแต่ละแห่ง 1 สหภาพมี 1 เสียง โดยไม่สนใจว่าสหภาพนั้นมีจำนวนสมาชิกมากน้อยแค่ไหน นายจ้างจะให้ความเกรงใจประธานสหภาพแรงงานที่เข้าเป็นคณะกรรมการในระบบไตรภาคีซึ่งมีกว่า 20 แห่ง พวกเขามีอภิสิทธิ์ให้หยุดงาน มีเบี้ยเลี้ยงและมีอำนาจมากจนเสพติดอำนาจและทำทุกวิถีทางที่จะรักษาอำนาจไว้ แม้ว่าจะขาดคุณสมบัติบางอย่างแล้ว เช่น ไม่ได้อยู่ในโรงงานหรือเกษียนแล้ว โดยที่กระทรวงแรงงานก็ไม่ได้ตรวจสอบคุณสมบัติ “แม้สหภาพนั้นจะมีสมาชิก 3,000-4,000 คน หรือสมาชิก 10 คน ก็ 1 เสียงเท่ากัน …ที่มาก็ไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะทำให้คนที่มุ่งจะเข้าระบบไตรภาคีจะพยายามไปตั้งสหภาพ มีสมาชิกสหภาพละ 10- 20 คน โดยไม่จำเป็นต้องมีสหภาพแรงงานขนาดใหญ่เพื่อให้ต่อรองกับนายจ้างได้” ระบบไตรภาคีทำลายความเข้มแข้งและประชาธิปไตยของขบวนการแรรงงานไทย และไร้อำนาจในการคุ้มครองสวัสดิภาพของคนงานอย่างแท้จริง เพราะเมื่อเกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนงานกับนายจ้าง คณะกรรมการระบบไตรภาคีส่วนใหญ่ก็จะเห็นด้วยกับกรอบของรัฐ และแม้คณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (ครส.) จะมีมติให้นายจ้างรับลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างหรือถูกไล่ออกให้กลับเข้ามาทำงาน แต่กฎหมายก็เขียนชัดเจนว่าอำนาจชี้ขาดสุดท้ายอยู่ที่ศาล นายจ้างก็เอาคำสั่ง ครส.ไปฟ้องศาลว่าคำสั่งของ ครส.ไม่ชอบ “การทำลายความเข้มแข็งของสหภาพโดยการเลิกจ้างแกนนำ ซื้อตัวโดยการให้ตำแหน่ง การสร้างความเชื่อว่าถ้าให้สวัสดิการค่าจ้างแรงงานสูงจะทำให้คนงานตกงานและบริษัทจะย้ายฐานการผลิต...จนทำให้ขบวนการแรงงานแตกเป็นหลายฝ่าย” จิตรามีข้อเสนอเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวว่าต้องแก้ระบบไตรภาคี เพื่อให้แต่ละระบบสหภาพมีสมาชิกเยอะๆ และทำให้สหภาพมีอำนาจต่อรอง รวมถึงเสนอให้ผู้ใช้แรงงานสามารถเลือกตั้งในเขตโรงงาน และมีพรรคการเมืองเป็นของตัวเอง “การเลือกตั้ง ส.ส.ในพื้นที่ทำงานเป็นทางออกหนึ่ง ที่สำคัญคนงานต้องมีพรรคการเมืองเป็นของตัวเองและเป็นพรรคที่เป็นประชาธิปไตยจริงๆ เพราะคนทั้งประเทศส่วนใหญ่ก็เป็นคนงานกันอยู่แล้ว ไม่ว่าจะอยู่ในภาคอุตสาหกรรมหรือภาคอื่นๆ การมีพรรคการเมืองเป็นของตัวเองก็ทำให้มีนโยบายที่ตอบสนองผู้ใช้แรงงานอย่างแท้จริง อาจใช้โครงสร้างแบบสหภาพแรงงาน โดยให้สมาชิกจ่ายเงินค่าบำรุง” กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา: “ป่าชุมชนถึงโฉนดชุมชน คำถามอีกมากมายที่รอการตอบ” เรื่องโอละพ่อของขบวนการเคลื่อนไหวป่าชุมชน ที่ขบวนการเอ็นจีโอ นักวิชาการ และเครือข่ายทุ่มพลกำลังขับ คือการผลักดันข้อเสนอทางนโยบายร่วมกับการเคลื่อนไหวมวลชน แต่ละเลยการวิเคราะห์ปัญหาที่ดิน ซึ่งเป็นหัวใจของปัญหาความขัดแย้ง จนกระทั่ง พ.ร.บ.ป่าชุมชนถูกแปลงสาระสำคัญไป เป้าหมายของขบวนการเอ็นจีโอในการทำงานเคลื่อนไหวที่เรียกว่า People Movement คือการเปลี่ยนแปลงทางสังคม สำหรับเครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติ คัมภีร์การเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่พึงปรารถนาคือการแก้ไขความขัดแย้งเรื่องที่ดินป่าไม้ให้เป็นการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืน ซึ่งต้องเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการจัดการทรัพยากร มีการกระจายอำนาจ และรับรองสิทธิชุมชน การร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน เมื่อปี 2532 ถือเป็นยุคแรกๆ ที่นำข้อเสนอเชิงนโยบายผนวกกับการเคลื่อนไหวมวลชน เพื่อผลักดันการเปลี่ยนแปลงนโยบายและกฎหมาย แม้ว่าแกนกลางของความขัดแย้งคือการที่ชุมชนอาศัยอยู่ที่ดินของรัฐที่ประกาศเป็นเขตป่าไม้ประเภทต่างๆ แต่เครือข่ายเอ็นจีโอและแกนนำเลือกใช้ประเด็นป่าชุมชนขับเคลื่อนก่อน เพราะประเด็นเป็นบวก น่าจะมีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่า มีการใช้ยุทธวิธีอย่างครบสูตร ทั้งการศึกษาวิจัย การล่ารายชื่อ การล็อบบี้ เดินขบวน ธรรมญาติตรา มีการเจรจาในหลายๆ ระดับ จนกระทั่ง พ.ร.บ.ป่าชุมชนผ่านได้ 3 วาระ ในสมัย สนช. แต่สาระที่ผิดเพี้ยนไปมากมาย จนเครือข่ายไปฟ้องศาลรัฐธรรมนูญขอไม่ใช้ พ.ร.บ.ป่าชุมชนตัวนี้ กิ่งกรยอมรับว่า คุณูปการของการทำงานที่ผ่านมาทำได้เพียงระงับความรุนแรงของสถานการณ์ไว้ได้ระดับหนึ่ง แต่ยังไม่เพียงพอต่อการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง “20 ปีแห่งการเคลื่อนไหวเราไม่เห็นภูเขาเขยื้อนเลย สักเซ็นติเมตรเดียว สงสัยจะทำไม่ครบ 3 เหลี่ยม เราเห็นการเปลี่ยนแปลงในทางนโยบายและโครงสร้างน้อยมากหรือแทบไม่เปลี่ยนแปลงเลย ส่วนในระดับพื้นที่ก็ทรงตัว กล่าวได้ว่าการใช้พละกำลังมหาศาลใน 20 ปี ที่ผ่านมาทำได้แค่ให้ชุมชนไม่ถูกขับไล่ออกจากหมู่บ้าน หรือดำรงอยู่ได้พอสมควร แบบไม่แน่ใจว่าอยู่ได้จริงหรือเปล่าเพราะมีการอพยพมาหางานทำข้างนอกมากขึ้น ต้องปรับเปลี่ยนระบบการผลิต” กิ่งกรได้ชี้ให้เห็นอีกว่า ขบวนการเคลื่อนไหวด้านป่าไม้ที่ดินที่ชูเพียงประเด็นสิทธิชุมชน หรือการจัดการป่าแบบส่วนรวม ได้ละเลยการทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องการใช้ที่ดินภายในชุมชนทั้งในระดับระบบส่วนรวมและระบบปัจเจก ทำให้ไม่เข้าใจจริงๆ ว่าชาวบ้านใช้ที่ดินอย่างไร จึงตั้งคำถามว่าเป็นการเสนอวาทกรรมป่าชุมชนหรือสิทธิชุมชนแบบลอยๆ เกินไปหรือไม่? มันขาดพลวัตหรือเปล่า? หลังจากปี 2544 ภายใต้รัฐบาลทักษิณและมีการกระจายอำนาจการปกครองท้องถิ่นทำให้ชาวบ้านปรับตัวและจัดความสัมพันธ์ทางการเมืองเพื่อให้ตนเองอยู่ได้นั้น เครือข่ายฯ ได้ทำการศึกษาวิเคราะห์ ถึงความเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เรียกว่าภูมิทัศน์การเมืองในชนบทมากน้อยแค่ไหน? กิ่งกรตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า การผลักดันนโยบายเรื่องโฉนดชุมชนเป็นเรื่องที่ทะเยอทะยานมากกว่าเดิม ทุกคนฝันอยากปฏิรูปโครงสร้างการจัดการที่ดินของประเทศ มีการกระจายการถือครองที่ดิน มีอัตราภาษีก้าวหน้า การคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม กลายเป็นภูเขาใหญ่กว่าเดิม ในระดับพื้นที่มีปฏิบัติการจัดการที่ดินอย่างยั่งยืน (โดยชุมชน) อย่างคึกคัก มีการอ้างสิทธิที่ดิน (land reclaim) ยึดที่ดิน (land occupation) จัดสรรที่ดินโดยชุมชน จัดทำโฉนดชุมชน กองทุนที่ดิน ไปถึงการพัฒนาระบบการผลิตยั่งยืน แต่คำถามที่ยังไม่มีการถกเถียงในขบวนการคือ คำว่า “โฉนดชุมชน” เพียงพอหรือไม่ที่จะตอบโจทย์การจัดการที่ดินอย่างยั่งยืนแม้กระทั่งในระดับชุมชน สิทธิส่วนรวมกับสิทธิปัจเจกในที่ดินหรือการถือครองที่ดินอยู่ร่วมกันอย่างไร? ทับซ้อนกันอย่างไร? ในกระบวนการขับเคลื่อนมีการชุมนุม เปิดโต๊ะเจรจา สร้างข้อตกลง จัดตั้งคณะกรรมการ อนุกรรมการ ฯลฯ การกดดันทางการเมืองเป็นเครื่องมือหลักที่มีประสิทธิภาพซึ่งทำให้มีการเปิดเจรจา แต่เมื่อทำมากครั้งเข้า ทำบ่อยจนเป็นประจำ จะกลายเป็น exhausting people movement หรือไม่? “ชีวิตทางการเมืองของชาวบ้านมีสีสันร้อนแรงขึ้นหลังเหตุการณ์รัฐประหาร และการขยายตัวของมวลชนเสื้อแดงอย่างมหาศาล หลังการเลือกตั้งที่ผ่านมา ในหลายพื้นที่ชัดเจนว่าพี่น้องทั้งในเครือข่ายและนอกเครือข่ายพากันกาเบอร์ 1 คำถามคือขบวนการปฏิรูปที่ดินจะเชื่อมโยงตนเองกับมวลชนอันกว้างใหญ่ไพศาลที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้หรือไม่? อย่างไร? สองอาทิตย์ก่อนในเวทีของเครือข่ายบอกว่าเราจะต้องสร้างความเข้มแข็งของ “การเมืองภาคพลเมือง” ดิฉันถามว่ามันต่างกับ “การเมืองภาคประชาชน” ตรงไหน? แล้ว “การเมืองภาคพลเมือง” จะจัดความสำคัญกับการเมืองในระบบเลือกตั้งอย่างไร? และถ้าขบวนการภาคประชาชนภายใต้เครือข่าย อย่างเช่น เครือข่ายทรัพยากร เครือข่ายที่ดิน ฯลฯ จะดำรงตนเป็นขบวนการแบบ non-Thaksin ต่อไป แล้วจะทำงานต่อไปอย่างไร ?” เอกชัย อิสระทะ: 2 แนวทางการเคลื่อนไหวของขบวนการประชาชนรากหญ้าในทศวรรษหน้า สองแนวทางหลักการในเคลื่อนไหวของขบวนการประชาชนรากหญ้า จากมุมมองของเอ็นจีโอภาคใต้ที่ประกาศตัวว่าเป็นพันธมิตรรุ่นแรก และหันหลังให้กับขบวนการเสื้อเหลืองไปเรียบร้อยแล้ว เขายืนยันว่าไม่เอาทั้งทักษิณและยังคงรบกับประชาธิปัตย์มาตั้งแต่ยุคนายหัวชวน แต่ก็ยอมรับระบบการเลือกตั้ง รวมทั้งยังสนับสนุนให้มีการตั้งพรรคการเมืองของภาคประชาชน เอกชัย เล่าว่าตนเองเรียนจบรัฐศาสตร์แต่มาทำงานกับเกษตรกรเพราะคิดว่าเกษตรกรเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ในช่วงแรกที่ทำงานในเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกปี 2532 ซึ่งจัดว่าเป็นงานเย็น เมื่อเปรียบเทียบกับการทำงานของเครือข่ายทรัพยากรที่ทำงานใกล้ชิดกัน จนกระทั่งปี 2540 เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกเข้าร่วมเคลื่อนไหวกับสมัชชาคนจน และในช่วงความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา เอกชัยได้เข้าร่วมการเคลื่อนไหวกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และเรียกตนเองว่าเป็นพันธมิตรรุ่นแรก แต่มาจนถึงวันนี้ตนเองไม่ใช่พันธมิตรแล้ว “ขบวนการประชาชนรากหญ้า เป็นกลุ่มประชาชนที่เกิดปัญหา และเคลื่อนไหวต่อสู้กับกลุ่มทุนหรืออำนาจรัฐ จริงๆ แล้วประชาชนรากหญ้าอาจจะมีเยอะแยะ มากมายหลายกลุ่มแต่ผมขอนิยามเฉพาะคำจำกัดความนี้ ในส่วนที่เรียกว่า “การเมืองภาคประชาชน” ผมหมายถึงการเมืองที่กลุ่มประชาชนมีปฏิสัมพันธ์กับอำนาจรัฐ หรือการตอบโต้กับรัฐอย่างตรงไปตรงมาไม่ผ่านกลไกตัวแทน เอกชัยเห็นว่า รูปแบบการเคลื่อนไหวแนวแรกที่ใช้วิธีการชุมนุม กดดัน ชุมนุม เป็นยุทธวิธีในยุคหนึ่งซึ่งยังใช้ได้ และยังมีความจำเป็น แต่ก็มีข้อจำกัด สิบกว่าปีที่ผ่านมาเราอ่อนล้าและอาจทำให้เพียงระงับความรุนแรงในพื้นที่ ขณะที่ยุทธวิธีอีกแบบหนึ่งที่ใช้กันมากขึ้นคือการอาศัยกลไกตามรัฐธรรมนูญและกลไกการสื่อสารสังคม เช่น ใช้ช่องทางกรรมการสิทธิฯ สภาองค์กรชุมชน หรือกลไกรัฐอื่นๆ ซึ่งเป็นยุทธวิธีที่ใช้ผลักดันได้และใช้ทุนต่ำกว่า อาศัยมวลชนน้อยกว่า แต่การชุมนุมเดินขบวนก็ยังจำเป็นต้องใช้ “กรณีเขาคูหาที่รัฐภูมิ เราใช้เงื่อนไขของสภาองค์กรชุมชนทั้งที่สภาองค์กรชุมชนไม่เข้มแข็ง แต่ก็มีบทบาทในการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ไม่อยู่ข้างผู้คัดค้านการทำเหมือง แต่อยู่ข้างโรงโม่ เราจึงขอใช้เงื่อนไขนี้เปิดเวที เชิญบริษัท และเชิญพวกเรามาให้ข้อมูลกัน เราใช้ทุกเงื่อนไขของกลไกรัฐธรรมนูญและกฎหมายใหม่ที่ออกมา กองทุนยุติธรรม รวมถึงกลไกข้าราชการปกติ กรรมการแบบเดิมก็พยายามใช้แต่ไม่ยึดติดมากเพราะรู้ว่าขยับไม่ได้มาก แต่ว่าต้องใช้และสื่อสารกับสังคม” เอกชัยเชื่อว่าการใช้ช่องทางกลไกรัฐธรรมนูญเท่าที่มี บวกกับการสื่อสารสังคม น่าจะเป็นแนวทางหลักในอีกสิบปีข้างหน้า ควบคู่ไปกับการทำงานงานพื้นฐาน งานวิจัย งานข้อมูล งานต่อรอง งานล็อบบี้ ส่วนการออกมาชุมนุมก็คงจะเปลี่ยนไป และรัฐไทยก็น่าจะปรับเปลี่ยนและเรียนรู้การทำงานกับผู้ด้อยโอกาสหรือกลุ่มปัญหา “การสู้แบบนี้มันใช้เวลายาว ยังได้อะไรไม่มากแต่อย่างน้อยก็ยันและทำให้เห็นให้เขาคิดว่าคนตัวเล็กตัวน้อยมีอำนาจ และต่อสู้ได้จริง ทั้งๆ ที่ ทุนและขบวนการของทุนใหญ่กว่าเราเยอะแต่เราก็สู้ได้” เอกชัย กล่าวว่าตนเองสนใจเรื่องการจัดตั้งพรรคการเมืองของภาคประชาชนมาโดยตลอด และเคยเสนอตั้งพรรคคนจนในขบวนการสมัชชาคนจน พรรคเกษตรทางเลือก และเคยเห็นด้วยกับการตั้งพรรคการเมืองของกลุ่มพันธมิตรฯ แม้เพื่อนร่วมงานในแวดวงเอ็นจีโอใต้จะไม่มีปฏิกิริยาตอบรับต่อแนวทางการสร้างพรรคการเมืองของประชาชนรากหญ้าขึ้นมาใหม่ แต่เอกชัยก็ยังยืนยันว่ายังจำเป็นต้องมีพรรค และต้องยอมรับการเลือกตั้งที่ผ่านมาถึงแม้ว่าจะรู้สึกเหมือนว่าไม่มีเบอร์ที่อยากจะกาจริงๆ เอ็นจีโอในภาคใต้เท่าที่สัมพันธ์ด้วยตอนนี้ไม่มีใครเป็นเสื้อเหลืองแล้วและก็รบกับนายหัวชวนมาตลอด แต่ก็ยืนยันว่าไม่เอาทักษิณ เพราะเอาเงินและนโยบายประชานิยมลงไปในพื้นที่ซึ่งไม่ทำให้ขบวนการของประชาชนเติบโตและเข้มแข็ง เก่งกิจ กิติเลียงลาภ : ความเห็นต่อการนำเสนอ ก่อนจะวิพากษ์วิจารณ์ เราบอกได้หรือไม่ว่าสังคมไทยมีหน้าตาเป็นยังไง รูปธรรมขององค์กรประชาธิปไตยที่ภาคประชาชนพูดถึงแท้จริงเป็นอย่างไร การปฏิเสธการวิเคราะห์โครงสร้างสังคมเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ประเด็นเรื่องชนชั้น และปัจจัยการผลิตในยุคปัจจุบัน ทำให้เกิดความอิหลักอิเหลื่อของขบวนการภาคประชาชน เก่งกิจเล่าว่าตนเคยได้รับเชิญจากกลุ่มคนที่ต่อสู้เรื่องป่าชุมชนและโฉนดชุมชน ให้ไปแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับการต่อสู้ของชาวบ้านในจังหวัดสุราษฎร์ธานี แกนนำเป็นอดีตพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยมีอายุ 5-60 ปี และมีคนรุ่นอายุประมาณ 20 – 30 ปีที่ได้รับการอบรมของโรงเรียนการเมืองในลักษณะที่เป็นซ้าย กลุ่มคนดังกล่าววิเคราะห์ว่าเรากำลังอยู่ในยุคกึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินาที่ทุนนิยมก้าวหน้า พวกเขาอธิบายว่าการเรียกร้องโฉนดชุมชนเป็นสิ่งที่เหมาะสม ในฐานะที่เขาเป็นฝ่ายซ้าย เพราะความขัดแย้งในปัจจุบันเกิดจากการที่ที่ดินซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตกระจุกอยู่ที่คนจำนวนหนึ่ง ซึ่งเขาใช้คำว่า “ซากเดนของศักดินา” “คำถามที่สนใจก็คือสังคมชนบทไทยมีหน้าตาเป็นอย่างไร ผมพบว่าเอาเข้าจริงเราไม่มีองค์ความรู้ที่เป็นกรอบร่วมกัน ต่างคนก็ต่างคนก็ต่างวิพากษ์จากแง่มุมของตนเอง เราเห็นการแตกกันระหว่างคนที่เป็นเอ็นจีโอรุ่นอาวุโสกับคนที่เป็นเอ็นจีโอรุ่นใหม่ๆ แต่เอ็นจีโอรุ่นใหม่รวมถึงนักวิชาการยังไม่มีองค์ความรู้ที่จะอธิบายหรือตอบโต้กับองค์ความรู้ในการพัฒนาทางเลือกที่เป็นกระแสหลัก” เก่งกิจเห็นว่าผู้นำเสนอในเวทีนี้ต่างพูดถึงสังคมไทยด้วยสมมติฐานที่ต่างกัน โดยไม่มีการวิเคราะห์โครงสร้างสังคม ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม หรือละเลยที่จะใช้กรอบคิดเรื่องชนชั้นที่ให้ความสำคัญกับปัจจัยการผลิต ทำให้ขบวนการภาคประชาชนมีความอิหลักอิเหลื่อ ซึ่งมีคำถามว่าคำอธิบายสังคมไทยแบบนี้มีลักษณะที่ก้าวหน้าหรือหรือถอยหลัง? ประเด็นสำคัญที่ถูกละเลยอย่างมากคือการศึกษาเกี่ยวกับแรงงาน ประหนึ่งว่าสังคมไทยไม่มีกรรมกร หรือกรรมกรไม่สำคัญ และเชื่อว่าการสัมมนาไทยศึกษาทั้ง 3 วันนี้แทบไม่มีประเด็นในเรื่องกรรมกรด้วยเช่นกัน นอกจากงานของคุณจิตราซึ่งพูดถึงความเป็นประชาธิปไตยในองค์กรแรงงาน “ผมคิดว่าเอ็นจีโอและหลายคนที่ทำเรื่องชุมชน ประชาธิปไตยในองค์กร แต่รูปธรรมของประชาธิปไตยในองค์กรจะมีได้อย่างไรถ้าไม่มีการเลือกตั้งในองค์กร คุณไม่มีสมาชิก สมาชิกไม่ได้เป็นคนจ่ายเงินสนับสนุนองค์กร เราพูดถึง สสส. พอช. คำถามคือเรามีข้อเสนออะไรที่ทำให้องค์กรภาคประชาชนมีสมาชิกที่เลือกตั้งผู้บริหารองค์กรหรือเป็นแกนนำด้วยตนเอง” ส่วนเรื่องโฉนดชุมชน เก่งกิจมีข้อสังเกตว่าแนวคิดเรื่องโฉนดชุมชนพยายามสร้างกระบวนการร่วม (collectivize) ในการจัดการปัจจัยการผลิตในระดับชุมชน แต่เพื่อพิจารณาจริงๆ แล้วโฉนดชุมชนไม่ได้ collectivize หรือ nationalize ปัจจัยการผลิตที่รวมศูนย์อยู่ที่สถาบันที่มีอำนาจในสังคมเลยแม้แต่น้อย ซ้ำร้ายไปกว่านั้นโฉนดชุมชนยังลดทอนความเป็นการเมือง (depoliticize) ทำให้ตัวเองไม่เป็นการเมืองเลย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net