Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 30 ก.ค. ที่ห้อง 500 ชั้น 5 คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ IBMP CLUB หรือกลุ่มกิจกรรมนักศึกษาหลักสูตรควบตรี-โท ด้านบัญชีและบริหารธุรกิจ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มธ. จัดเสวนาในหัวข้อ “เพิ่มค่าแรง 300 บาท/วัน: ได้-ได้ หรือ ได้-เสีย” เพื่อเปิดเวทีให้กลุ่มผู้ใช้แรงงานได้มีพื้นที่ในสังคมในการแสดงความคิดเห็น และบทวิเคราะห์จากภาคแรงงานสู่สาธารณะ เพื่อผลักดันประเด็นในการถกเถียงให้กว้างขึ้น โดยมี จิตรา คชเดช อดีตประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย, พรมมา ภูมิพันธ์ ประธานกลุ่มสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมเบอร์ล่า (LUGB) , เทวฤทธิ์ มณีฉาย นักกิจกรรมจากกลุ่มประกายไฟ, จิรัฐสรรพ์ ประมวลศิลป์ นักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ หลักสูตรภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จากกลุ่มประกายทุน และ อัญธนา สันกว๊าน นักศึกษาหลักสูตรควบตรี-โท ทางด้านการบัญชีและบริหารธุรกิจ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มธ. ร่วมเสวนา


เวลามองความคุ้มกับการทำงานในโรงงานเขามองแค่พอกินพอใช้หรือไม่ เขาไม่ได้มองความเสื่อมสภาพของร่างกาย...
..เมื่อมีปรับขึ้นค่าจ้างนายจ้างก็เร่งเป้าการผลิตให้เหมาะสมกับรายได้ของนายจ้าง...
..มันไม่ใช่ประชานิยม แต่มันทำให้คุณภาพชีวิตคนดีขึ้น แต่อย่าละเลยสิทธิการรวมตัวให้มีสหภาพแรงงาน นั่นหมายถึงความมั่นคงต่อไป”
จิตรา คชเดช

จิตรา คชเดช เจ้าหน้าที่สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย เล่าถึงสภาพการทำงานในโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าว่า ส่วนมากเข้างาน 8.00น. เลิกงาน 17.00น. แต่พอเลิกงาน จะไม่เห็นคนงานกลับบ้าน เพราะส่วนใหญ่ทำงานล่วงเวลา (OT) และเราจะเห็นว่าวันอาทิตย์ก็ยังมีรถรับส่งคนงาน ทั้งๆ ที่เป็นวันหยุด เพราะคนงานก็ทำงานในวันหยุดด้วย

สภาพการทำงานส่วนมากจะถูกตั้งเป้าการผลิต เช่น โครงงานตัดเย็บเสื้อผ้าจะมีการคำนวณเป็นนาทีต่อนาที โดยใช้วิศวกรรมทางการผลิต มีการจับเวลา อย่างกรณีโรงงานไทรอัมพ์ฯจะมีหน่วยคำนวณอยู่ที่ออสเตรีย ไม่ว่าจะลุก ยืน เดิน เข้าห้องน้ำ เขาคำนวณหมด เพราะฉะนั้นนายจ้างจะรู้เลยว่างาน 1,000 ชิ้นที่เขารับมาจะต้องใช้กี่คน กี่วันในการผลิต ดังนั้นเมื่อคำนวณแบบนี้นายจ้างไม่มีขาดทุน ถ้าคนงานทำไม่ได้นายจ้างก็จะใช้วิธีการเตือนคนงานว่าด้วยประสิทธิภาพในการทำงาน โดยจะมีตัวอย่างให้ดูเปรียบเทียบจากคนงานที่ทำได้ตามเป้าหมายนายจ้างก็จะถ่ายวิดีโอเก็บไว้ เพราะฉะนั้นวงจรแบบนี้มันจะควบคุมหมด ว่างานเท่านี้ คน 50 คนจะต้องทำงานกี่วัน และถ้าคนขาดไป 1 คนก็จะมีการเร่งเป้าเพื่อให้ได้ตามเวลาที่ต้องการ โดยหัวหน้างานก็จะควบคุมเช่น ห้ามลางาน เพราะจะทำให้นายจ้างเสียหาย อาจจะถูกใบเตือน ถูกเลิกจ้างได้

นอกจากบังคับด้วยระเบียบบริษัทแล้ว ยังมีการใช้วิธีแรงจูงใจ คือถ้าคนงานทำได้มากกว่าเป้าที่กำหนดก็จะได้เงินเพิ่มขึ้นนิดหน่อย แต่เป็นแรงจูงใจมหาศาลที่คนงานจะต้องทำงานให้ได้ การเร่งเป้าการผลิตทำให้คนงานไม่กินน้ำมาก เพราะจะทำให้ปวดฉี่บ่อยทำให้เสียเวลาไปเข้าห้องน้ำ แต่สิ่งที่ตามมาคือโรคไต กรวยไตอักเสบ นั่งนานๆ ก็จะเป็นโรคกระดูกทับเส้นประสาท เวลาเป็นโรคนี้มันจะร้อนหลังวูบๆ คนก็เชื่อว่าโดนของ โดยไสยศาสตร์ ไปหาหมอรดน้ำมนต์ก่อนอันดับแรก กว่าจะรู้ว่าตัวเองป่วยเป็นโรค ก็เสียหายไปเยอะแล้ว

จิตราตั้งคำถามว่า 8 ชั่วโมงของการทำงานกับการที่คนงานต้องเสี่ยงกับค่าจ้างขั้นต่ำที่เขาได้นั้นคุ้มกันหรือไม่ เวลามองความคุ้มกับการทำงานในโรงงานเขามองแค่พอกินพอใช้หรือไม่ เขาไม่ได้มองความเสื่อมสภาพของร่างกาย ซึ่งพอคนงานอายุมากขึ้นจะต้องเผชิญกับอะไรบ้างจากความเสื่อมตรงนี้ แต่กลับมองเพียงว่าค่าจ้างพอกับค่าครองชีพหรือไม่ บางโรงงานในอุตสาหกรรมอิเล็กโทรนิคจะต้องเสี่ยงกับพิษสารตะกั่วซึ่งสะสมในร่างกายนำไปสู่โรคหลายโรค เช่น มะเร็ง แต่ที่เห็นบ่อยคือสมองเสื่อมหรือถูกทำลายนำไปสู่อาการเพ้อเจ้อ คนก็เชื่อว่าถูกผีเข้า และออกจากงานไปโดยความเชื่อนั้น ซึ่งกว่าที่จะรู้ว่าป่วยจากการทำงานก็หมดสภาพการเป็นคนงานไปแล้ว ทำให้ไม่มีอะไรคุ้มครอง

ต่อเรื่องขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทนั้น จิตราเปรียบเทียบว่า ถ้าผลิตธรรมดาจ่าย 250 บาท ได้งาน 10 ตัว แต่พอเร่งเป้าการผลิตจากเพิ่มอีกนิดเป็น 350 บาท ได้งานถึง 30 ตัว ทั้งที่หากคิดตามสัดส่วนควรจะได้ 630 บาท ดังนั้นการปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาทนั้นนายจ้างก็รู้อยู่แล้ว เมื่อมีปรับขึ้นค่าจ้างนายจ้างก็เร่งเป้าการผลิตให้เหมาะสมกับรายได้ของนายจ้าง ดังนั้นนายจ้างก็จะไม่ขาดทุน ถึงขาดทุนกำไรก็ไม่ขาดทุนอยู่แล้ว

ประกาศคณะกรรมการค่าจ้างเรื่องอัตราค่าจ้าตามมาตรฐานฝีมือ เมื่อ 29 เม.ย. 54 เขาบอกว่า 29 ก.ค.ที่ผ่านมานี้ ประกาศฉบับนี้ได้ถูกใช้แล้ว 22 อาชีพ ซึ่งมีช่างเย็บรวมอยู่ด้วยนั้น อาชีพนี้จะต้องจ่ายค่าตอบแทนไม่น้อยกว่า 250 บาท ในระดับ 1 จากการเช็คฝีมือ ระดับ 2 ไม่น้อยกว่า 340 บาท ระดับ 3 จ่ายไม่น้อยกว่า 430 บาท การเช็คฝีมือต้องไปเช็คกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ไม่รู้เป็นเพราะอะไรกลับไม่ได้รับการโฆษณาอย่างกว้างขวาง แต่การให้กรมฯเป็นผู้เช็คนั้นอาจมีปัญหา เช่น คนทำงานมากว่า 20 ปีเมื่อไปเช็คอาจได้เพียงแค่ระดับ 1 จริงๆ แล้วประกาศนี้ควรจะบอกว่าอายุงาน 3 ปีนี่ควรได้ระดับ 3 แล้ว ไม่ใช่ว่าให้ไปทดสอบอีก เพราะขนาดเรียนมหาวิทยาลัย 3-4 ปีก็จบปริญญาแล้ว แต่นี่ทำงานในโรงงานมา 20-30 ปีแล้วก็ยังกินค่าจ้างขั้นต่ำอยู่

สิ่งที่นายทุนจะได้จากการปรับค่าจ้าง 1.จะได้ที่การเร่งเป้าการผลิต 2.จากที่สภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้ายื่นหนังสือว่าถ้ามีการปรับค่าจ้างเป็น 300 บาท ที่บอกว่ารัฐบาลจะต้องช่วยเหลือค่าใช้จ่ายที่เป็นส่วนต่างจากค่าจ้างที่ปรับขึ้น โดยให้คูปองในสัดส่วน 70-80% เพื่อผู้ประกอบการนำคูปองเหล่านี้ไปใช้จ่ายค่าสาธารณูปโภคต่างๆ หรือเงินที่จะจ่ายสมทบกองทุนประกันสังคม หากไม่มีมาตรการรองรับก็จะอยู่ไม่ได้

ทุกวันนี้นายทุนข้ามชาติหิ้วกระเป๋าเข้ามาลงทุนในประเทศ BOI ก็มีการโฆษณาว่าถ้ามาลงทุนในเมืองไทยจะได้รับอะไรบ้าง เช่น มีคนงานที่มีประสิทธิภาพและราคาถูก เขาเอาคนไปขายขนาดนี้เลย รวมถึงได้รับการส่งเสริมการลงทุน ลดภาษี จะเห็นว่า BOI มุ่งเน้นที่จะส่งเสริมการลงทุนของนายทุนข้ามชาติอย่างมาก บริษัทไหนทำกิจการใกล้จะเจ๊งรัฐก็จะรีบเข้าไปช่วยเหลือเพราะเขากลัวคนงานได้รับผลกระทบหากมีการปิดกิจการ พอรัฐมีแนวทางแบบนี้ นายทุนก็อาศัยช่องว่างสร้างบริษัทแม่-ลูกขึ้นมา โดยบริษัทลูกจะเป็นบริษัทที่ใกล้จะเจ๊งตลอดเวลาทำธุรกิจไม่เคยมีกำไรเลย โดยวิธีค้าขายของเขาบริษัทลูกก็จะขายสินค้าให้กับบริษัทแม่โดยเอากำไรน้อยมาก โดยที่คนส่วนใหญ่ฝ่ายผลิตจะอยู่บริษัทลูกแต่คนส่วนน้อยอยู่กับบริษัทแม่ การบริหารใกล้จะขาดทุนตลอดเวลาก็อาจเสียภาษีบ้างไม่เสียบ้าง หรือสหภาพแรงงานยื่นข้อเรียกร้องขอปรับสภาพการจ้างนายจ้างก็อ้างตลอดว่าบริษัทขาดทุน บางบริษัทก็เป็นหนี้บริษัทแม่อีก ประเด็นนี้รัฐเองก็ไม่พูดถึง อ้างแต่ว่าคนละนิติบุคคล
พอพูดเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำนายทุนก็ไปตีความว่าถ้าจ่ายที่ขั้นต่ำก็จะไม่ผิดกฎหมาย แม้คนงานคนนั้นจะทำงานมาแล้วกว่า 20 ปี จึงทำให้การที่คนงานจะอยู่ได้ในสังคมนี้ก็ต้องทำ OT บางที่มี OT เสาร์อาทิตย์ หรือ ถึงตี 3-4 ตลอด ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน คนท้องจะไม่ให้ทำ OT แต่คนงานก็จะปิดไม่ให้คนรู้ว่าท้องเพราะหากไม่ทำ OT จะไม่พอกิน เมื่อไม่พอกินก็ส่งผลกระทบต่อลูกในท้อง

ส่วนใหญ่คนงานเป็นคนงานอพยพ สิ่งแรกที่ต้องมองหาคือบ้านเช่าโดยราคาค่าเช่าคิดเป็นสัดส่วนเมื่อเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำตกอยู่ที่ 40-50% และค่าจ้างขั้นต่ำที่ได้ก็ไม่ถึง 30 วันต่อเดือนเพราะไม่รวมวันหยุด ดังนั้นเอาเข้าจริงค่าจ้างขั้นต่ำต่อวันที่คนงานใช้ชีวิตจึงต่ำกว่าค่าจ้างที่กำหนด ค่าอาหารอีกเฉลี่ยวันละ 100 บาท ซึ่งเป็นสภาพที่ยากลำบากมากในความเป็นจริง นอกจากนี้ ยังมีค่ารถ เช่น ถ้าอยู่ในซอยก็ต้องใช้บริการมอเตอร์ไซต์รับจ้างที่รัฐไม่ได้ควบคุมราคาค่าบริการ ค่าน้ำ-ไฟ คนที่ได้ความช่วยเหลือจากรัฐก็เป็นคนที่มีมอเตอร์เป็นของตัวเอง แต่คนงานที่อยู่บ้านเช่า ไม่มีมอเตอร์ของตนเอง ดังนั้นจึงต้องเป็นไปตามอำเภอใจเจ้าของห้องเช่า ดังนั้นค่าน้ำไฟก็เป็นปัญหาที่รัฐอาจไม่ได้ช่วยเหลือจริง

คนงานคนหนึ่งไม่ได้อยู่แค่ในสังคมโดดๆ ยังมีครอบครัว และหนี้ของพ่อแม่จากภาคเกษตรที่ต้องแบกรับภาระ โดยเฉพาะหนี้ ธกส. หรือเดือนไหนที่เงินเดือนช็อตก็ต้องกู้หนี้นอกระบบซึ่งดอกเบี้ยแพงมาก บางคนหาทางออกโดยการเล่นหวย ที่สะท้อนว่าเราไม่มีทางออกไม่มีทางเลือกจริงๆ หรือถ้าเครียดมากก็หาทางออกเช่น ดื่มเหล้าขาว ให้เมาเพื่อลืมปัญหา

เพราะฉะนั้นการปรับค่าจ้าง 300 บาทมันไม่ได้ทำให้คุณภาพชีวิตคนงานดีขึ้นเลิศเลออะไร เพียงแต่บรรเทาให้คุณภาพชีวิตเขาดีขึ้นบ้างเล็กน้อย ถ้ารัฐจะต้องการส่งเสริมให้คนงานมีคุณภาพชีวิตที่ดี 
1. ต้องส่งเสริมให้คนงานสามารถตั้งสหภาพแรงงานเพื่อให้เขาสามารถที่จะต่อรองปรับปรุงสภาพการจ้างแบ่งปันผลกำไรกับนายจ้างได้โดยตรง
2. ต้องจัดสวัสดิการ เช่น เรียนฟรี ดูแลผู้สูงอายุ ค่าเช่าบ้านควรอยู่ที่สัดส่วน 5-10% ต่อเงินเดือนเท่านั้น เป็นต้น
3. รัฐต้องควบคุมราคาสินค้าที่จำเป็นสำหรับลูกจ้า เช่น อาหาร ค่าเดินทาง สาธารณูประโภค เป็นต้น

การที่พรรคเพื่อไทยพูดเรื่องนโยบายปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศหรือปริญญาตรี 15,000 บาทต่อเดือน มันไม่ใช่ประชานิยม แต่มันทำให้คุณภาพชีวิตคนดีขึ้น แต่เน้นว่าอย่าละเลยสิทธิการรวมตัวให้มีสหภาพแรงงาน นั่นหมายถึงความมั่นคงต่อไป

 

“ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท นั้นหมดเวลาแล้วที่จะพูดว่าควรหรือไม่ควรทำ มันคือต้องทำ..มันเป็นฉันทมติของคนในสังคมไปแล้ว ดังนั้นมันควรจะขึ้นเพื่อรักษาไว้ซึ่งความมั่นคงของระบบการเมืองแบบตัวแทน .. 300 บาท คนงานขาดทุนด้วยซ้ำไป

..บอกว่าขึ้นค่าแรงต้องเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ต้องเพิ่มทักษะในการทำงานของคนงาน..เหมือนกับว่าที่ผ่านมาการที่คนงานได้ค่าแรงขั้นต่ำเป็นเพราะว่าทักษะของคนงานที่ผ่านมามันไม่ได้เรื่อง”
เทวฤทธิ์ มณีฉาย

เทวฤทธิ์ มณีฉาย นักกิจกรรมจากกลุ่มประกายไฟ กล่าวว่า ขณะที่ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทำให้คุณภาพชีวิตของคนดีขึ้น ผลิตภาพการผลิตสูงขึ้น เห็นได้จากสัดส่วนของการเกิดและอยู่รอดของทารกเทียบกับในอดีต รายได้ประชาชนสูงขึ้น แต่ช่องว่างระหว่างรายได้กลับสูงขึ้นด้วย โดยเฉพาะในสังคมไทย จากงานสำรวจของดิอิโคโนมิสต์ ประเทศไทยมีช่องว่างอยู่อันดับต้นๆ ของโลกเมื่อเทียบกับประเทศอื่น โดยมีสัดส่วนระหว่างกลุ่มคนรวยสุดกับกลุ่มคนจนสุดห่างกันถึง 15 เท่า และถ้าดูที่รายได้ครัวเรือนปี 49-50 ที่สำนักงานสถิติแห่งชาติสำรวจมานั้น แบ่งเป็น 5 กลุ่มๆ ละ 20% จะพบว่ากลุ่มรวยสุด 20% มีรายได้เกือบ 50% ของรายได้รวมทั้งสังคมในขณะที่ 20% ที่จนสุดกลับมีรายได้เพียง 5.7%

ขณะที่ค่าจ้างในภูมิภาคเอเชียสำหรับประเทศกำลังพัฒนา แม้ว่าไทยจะมากกว่าลาว กัมพูชา หรือเวียดนาม แต่เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่พัฒนาร่วมกันมาอย่างมาเลเซีย พบว่าค่าแรงขั้นต่ำต่างกันกว่าเท่าตัว จากการสำรวจของ IMF ประเทศมาเลเซียอยู่ที่ 14,400 บาท ในขณะที่ประเทศไทยค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ยอยู่ที่ 6,070 บาท

มีการสำรวจต้นทุนเรื่องค่าจ้างที่สำรวจโดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และมีการเปิดเผยเมื่อวันที่ 25 ก.ค.ที่ผ่านมา สัดส่วนในการจ่ายค่าจ้างแน่นอนในธุรกิจ SMEs มีสัดส่วนตรงนี้ต่อต้นทุนทั้งหมดมากแต่ก็ไม่มากไปกว่า 10% ของต้นทุนทั้งหมด แต่ยิ่งธุรกิจยิ่งใหญ่ขึ้นเท่าใดต้นทุนในเรื่องค่าจ้างต่อต้นทุนทั้งหมดยิ่งถูกลงอาจเหลือเพียง 1-3% ซึ่งเมื่อเราขึ้นค่าแรง 300 บาทจาก 215 บาท เท่ากับ 39% เมื่อเทียบกับต้นทุนทั้งหมดของธุรกิจขนาดย่อมอาจอยู่ที่ 3% ที่เพิ่มขึ้น แต่หากเป็นธุรกิจขนาดใหญ่อาจอยู่ที่ 1% ถ้ากระทบจริง ทั้งนี้ ในความเป็นจริงธุรกิจประเภทนี้แม้จะเป็นธุรกิจแรงงานเข้มข้นอย่างในอุตสาหกรรมอาหารบางแห่งก็มีจ่ายค่าแรงมากกว่า 300 บาทอยู่แล้วในอัตราแรกเข้า ซึ่งบางแห่งยังรวมถึงแรงงานข้ามชาติด้วย

จากการสำรวจของมหาวิทยาลัยศรีปทุมในรายงานผลการสำรวจค่าจ้างและสวัสดิการปี 2552/2553 สัดส่วนค่าแรงของผู้บริหารกับพนักงานที่ปฏิบัติงานห่างกันถึง 8.5-10 เท่า โดยผู้บริหารระดับสูงเฉลี่ยที่รายละ 80,034 บาทต่อเดือน สูงกว่าตำแหน่งพนักงานปฎิบัติการที่เฉลี่ย 9,457 บาท ถึง 70,577 บาท นี่เป็นค่าเฉลี่ยทั่วไปจากการสำรวจ แต่ความจริงบางบริษัทห่างกันกว่า 20-30 เท่า ถามว่าเหตุใดสัดส่วนถึงได้ห่างกันขนาดนี้ นี่สะท้อนว่าในขณะที่เรามีความก้านหน้าของเทคโนโลยีและผลิตภาพในการผลิต แต่ช่องว่างกลับเพิ่มขึ้น
ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท นั้นหมดเวลาแล้วที่จะพูดว่าควรหรือไม่ควรทำ มันคือต้องทำ ในเชิงการเมืองนี่คือนโยบายที่พรรคการเมืองเสนอต่อประชาชนและประชาชนลงมติเลือกนโยบายนี้ เราอาจโวยวายว่านี่เป็นนโยบายพรรคเพื่อไทย แต่เราต้องไม่ลืมว่าพรรคประชาธิปัตย์ก็เสนอนโยบาย 25% ดังนั้นการขึ้นค่าแรง มันเป็นฉันทามติของคนในสังคมไปแล้ว ดังนั้นมันควรจะขึ้นเพื่อรักษาไว้ซึ่งความมั่นคงของระบบการเมืองแบบตัวแทน

ระบบการเมืองแบบตัวแทนมันคือระบบที่เปิดโอกาสให้คนในสังคม โดยเฉพาะประชาชนส่วนใหญ่สามารถที่จะลงมติ สามารถที่จะกำหนดชะตาชีวิตหรือความเป็นไปของคนในสังคมได้ ดังนั้นเราควรที่จะคงไว้ซึ่งหลักการหรือความชอบธรรมตรงนี้

จริงๆ แล้วต่อให้ค่าแรง 300 บาทต่อวัน เราไปดูตามร้านอาหารทั่วไปขั้นต่ำ 30 บาทต่อจานแล้ว เท่ากับ 10% ของค่าแรงต่อวัน ถ้าหากวันหนึ่งต้องกิน 3 มื้อ ก็เท่ากับ 30% แล้ว ไม่ต้องพูดถึงผลไม้ ทำให้ไม่ต้องพูดถึงการรับประทานอาหารครบ 5 หมู่ นี่คือชีวิตขั้นต่ำที่คนในสังคมจะอยู่ได้ แต่ถ้าไปดูค่าตอบแทนที่ควรจะเป็นในระดับสากลขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ(ILO) ไม่ใช่แค่เลี้ยงคน 1 คน แต่ต้องเลี้ยงครอบครัว คู่สมรสและบุตรด้วย

300 บาทแค่ตัวเองยังเอาไม่รอด ดังนั้น 300 บาทมันน้อยไปเสียด้วยซ้ำ จริงๆ ถ้าอิงตามข้อเรียกร้องของคนงานเมื่อปีที่ผ่านมาเขาขอ 400 กว่าบาท ดังนั้น 300 บาท คนงานขาดทุดด้วยซ้ำไป

ค่าแรงในโลกเมื่อเปรียบเทียบกับการเติบโตของเศรษฐกิจพบว่าลดลงทั่วโลก จากที่ อ.ผาสุก พงษ์ไพจิตร ซึ่งได้กล่าวไว้ในงานปาฐกถาหัวข้อเศรษฐศาสตร์ของการเมืองไทย ที่ มธ. เมื่อวันที่ 7 พ.ค.ที่ผ่านมา โดย อ.ผาสุก ได้อ้างบทความของ “ดิอิโคโนมิสท์” ว่ามีแนวโน้มรายได้ของคนงานที่ลดลง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการให้ความสำคัญของเครื่องจักร การที่เครื่องจักรเข้ามาแทนที่คนงาน บางโรงงานแทบไม่มีคนงานด้วยซ้ำไป ดังนั้นอำนาจการต่อรองของคนงานจึงลดลง คนงานในหลายประเทศเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานลดลง นี่คือสาเหตุสำคัญ สัดส่วนของการจัดตั้งสหภาพแรงงานในประเทศไทยอยู่ที่ 1% ของกำลังแรงงานทั้งหมดคือ 3 แสนกว่าคนจากกำลังแรงงาน 37 ล้านคน เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่มีสวัสดิการก้าวหน้า ความเหลื่อมล้ำในเรื่องของรายได้น้อยอย่างในสแกนดิเนเวียมีอัตราการจัดตั้งสหภาพอยู่ที่ 80% ของแรงงาน ดังนั้นเรื่องของค่าแรงมันไม่ใช่เรื่องเชิงเทคนิคทางเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่มันเป็นเรื่องเชิงการเมือง โดยเฉพาะการเมืองในการกำหนดความสัมพันธ์ในการผลิตด้วย

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบค่าจ้างขั้นต่ำของคนงานไทยกับอัตราเงินเฟ้อหรือความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ พบว่าไม่ได้ไปด้วยกัน หากอยากรู้ว่าผลพลอยได้จากการเติบโตหรือเงินส่วนหนึ่งไปอยู่ที่ไหนก็ย้อนกลับไปดูช่องว่างระหว่างรายได้ของคนในสังคมไทยที่ยิ่งพัฒนาก็ยิ่งห่างกันมากขึ้น สะท้อนให้เห็นว่ามูลค่าเพิ่มที่คนในสังคมผลิตผลตอบแทนมันไปอยู่ในกระเป๋าของใคร

นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทนอกจากจะเป็นฉันทามติของคนในสังคม ยังสะท้อนความก้าวหน้าของระบอบประชาธิปไตยในสังคมไทยด้วย เพราะทำให้คนในสังคมสามารถกำหนดหรือให้ความสามารถของคนในสังคมที่จะกำหนดทิศทางของสังคมไทย ที่ผ่านมาค่าแรงขั้นต่ำหรือผลตอบแทนของคนงานสอดคล้องกับกลไกที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เช่น การรัฐประหาร มีการลดทอนค่าจ้างและเงื่อนไขหรือความสามารถในการต่อรองของคนงาน อย่างก่อน พ.ค.35 มีการแยกคนงานรัฐวิสาหกิจออกจากคนงานในภาคเอกชน ทำให้ความสามารถในการต่อรองของคนงานลดลง รวมถึงการขึ้นค่าแรงก็น้อยกว่าเมื่อเทียบกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง รวมไปถึงคนที่มาจากกลไกการแต่งตั้งที่อ้างศัพท์ในเชิงเทคนิคมากกว่าความสอดคล้องในความต้องการของประชาชน

และในความเป็นจริงการประเมินนโยบายเราไม่ได้ประเมินในเชิงตัวเงินอย่างเดียว เวลาวิเคราะห์นโยบาย แต่เรายังประเมินในเรื่องสังคมด้วย คนงานในโรงงานเวลามีลูก การได้ค่าแรงขั้นต่ำมันบังคับให้เขาต้องทำ OT โดยอัตโนมัติ ทำให้เวลาที่อยู่กับลูกหรือครอบครัวลดลง พร้อมกับค่าตอบแทนที่ไม่สามารถเลี้ยงดูบุตร สวัสดิการของรัฐก็ไม่สามารถรองรับ ก็ต้องส่งลูกตัวเองไปอยู่กับพ่อแม่ที่ต่างจังหวัดเพื่อลดต้นทุนทั้งเงินและเวลาในการเลี้ยงดู ทำให้ไม่สามารถเลี้ยงดูได้เต็มที่ พออยู่กับพ่อแม่ที่ต่างจังหวัดก็ตามไม่ทันหลาน ส่วนมากครอบครัวคนงานจะแตกแยก อัตราการหย่าสูง ดังนั้นเวลาประเมินนโยบายควรดูตรงนี้ด้วย

ส่วน SMEs ที่จะได้รับผลกระทบนั้นรัฐบาลควรออกมาตรการให้ธุรกิจเหล่านั้นเผยแพร่ข้อมูลที่ชัดเจนเลยว่าหลังจากที่ขึ้นค่าแรงแล้วได้รับผลกระทบเท่าไหร่ต่อสาธารณชน เพื่อที่จะให้รัฐเข้าไปหนุนช่วย 
แต่ในรอบเดือนที่ผ่านมาเกิดปรากฏการณ์ Over Re-action กระตุ้นให้สังคมกลัว ซึ่งในระบบเศรษฐกิจความรู้สึกมันมีผลมากกว่าข้อมูลจริงๆ ของมันเสียอีก มันเป็นผลเรื่องการเมือง ด้านหนึ่งเป็นเรื่องของการสร้างความชอบธรรมในเรื่องการขึ้นราคาสินค้า คนงานที่ได้ค่าแรง 300 บาทหรือมากกว่าอาจต้องกินของที่แพงขึ้นด้วย อีกทางหนึ่งมันเป็นการสร้างอำนาจการต่อรองโดยเฉพาะในระหว่างที่พรรคเพื่อไทยถูกแขวน ที่เปิดโอกาสให้นายทุนหรือคนกลุ่มน้อยที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการเลือกตั้งสามารถให้กลไกนี้ล็อบบี้ รวมถึงสร้างความชอบธรรมให้รัฐเข้าสนับสนุนหรือช่วยเหลือหรือได้สิทธิพิเศษกับนายทุนที่เข้าล็อบบี้หรือสร้างกระแสความชอบธรรมตรงนี้มากกว่าความเป็นจริงที่ตัวเองได้รับผลกระทบก็ได้

ประเทศไทย GDP พึ่งพาต่างประเทศถึง 72% สร้างความไม่มั่นคงต่อระบบเศรษฐกิจของเรามากเพราะขาข้างหนึ่งเราเหยียบเข้าไป 72% แล้วซึ่งเป็นความเสี่ยงโดยเฉพาะระบบเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าอาจมีปัญหา และเมื่อพิจารณาดูดีๆ ทุนข้ามชาติอย่างในอุตสาหกรรมอิเล็กโทรนิคหรือยานยนต์กลุ่มเหล่านี้ก็ได้รับการส่งเสริมการลงทุนและยกเว้นภาษี สิ่งที่ได้รับในระบบเศรษฐกิจเราจริงๆ คือแค่ค่าแรงขั้นต่ำที่คนงานได้เท่านั้น แม้มูลค่าการส่งออกเราจะเพิ่มแต่มันเกิด Multiplier effect หรือการหมุนของเงินในระบบเศรษฐกิจไม่มากเพราะจากการผลิตสร้างมูลค่าเพิ่มตรงนั้นคนในระบบเศรษฐกิจได้รับเพียงค่าแรงขั้นต่ำ

ดังนั้นสิ่งที่สำคัญการขึ้นค่าแรงจึงเป็นการกระตุ้นกำลังซื้อภายใน แน่นอน SMEs ในระยะแรกการขึ้นค่าแรงโดยเฉพาะในต่างจังหวัดมันได้รับผลกระทบแน่นอน แต่ในระยะยาวต้นทุนในการกระจายสินค้าอาจไม่ต้องกระจายไกล คนในท้องถิ่นก็สามารถที่จะบริโภคสินค้าที่ผลิตได้ นำไปสู่การเติบโตในระบบเศรษฐกิจในท้องถิ่นต่างๆ

ประเด็นที่สำคัญที่สุดเหมือนเรากำลังบอกว่าขึ้นค่าแรงต้องเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ต้องเพิ่มทักษะในการทำงานของคนงานด้วย เหมือนกับว่าที่ผ่านมาการที่คนงานได้ค่าแรงขั้นต่ำเป็นเพราะว่าทักษะของคนงานที่ผ่านมาไม่ได้เรื่อง แม้ปัจจุบันอัตราการเพิ่มทักษะของไทยเมื่อเทียบกับเวียดนามหรือจีนเราสู้ไม่ได้ก็จริง แต่เราไม่ได้ดูว่าที่ผ่านมาเราเพิ่มทักษะสะสมมานาน เราพัฒนามาคู่ขนานกับมาเลเซีย ในขณะที่มาเลเซียมีค่าแรงขั้นต่ำสูงกว่าไทยกว่าเท่าตัว แต่ค่าครองชีพเขากลับถูกกว่า แสดงว่าปัญหาค่าแรงขั้นต่ำมันไม่ใช่มาจากความด้อยทักษะของแรงงาน แต่เป็นเรื่องของการเมืองว่าด้วยการจัดความสัมพันธ์ในการผลิตว่าผลตอบแทนที่ควรจะได้จะได้กันเท่าไหร่ อำนาจต่อรองมากน้อยเพียงใด ระหว่างนายทุน ผู้บริหาร คนงาน

เราบอกว่าแรงงานไทยมีปัญหาเรื่องทักษะการทำงานหรือผลิตภาพในการผลิต ในขณะที่นายทุนไทยไม่ว่าจะนายทุนเฉพาะบางกลุ่มที่ถูกจัดไว้ในอันดับหนึ่งของโลก นายทุนธรรมดาของไทยจากการจัดอันดับของนิตยสารของฟอร์บก็ติดอันดับต้นๆ ไม่แพ้ชาติใดในโลก แต่ค่าแรงขั้นต่ำเรากับแพ้ชาติอื่นๆ ในโลก

สรุปแล้ว 300 บาท คนงานเสียมาตั้งแต่ต้นแล้ว ตั้งแต่การจัดรูปแบบความสัมพันธ์การผลิตที่ให้ค่าตอบแทนจากมูลค่าเพิ่มในการผลิตแก่ฝ่ายนายทุน หรือที่เรียกว่าค่าจูงใจมากเกิน จนสะท้อนให้เห็นถึงช่องว่างของรายได้ที่ห่างกันมากไม่แพ้ชาติใดในโลกในสังคมไทย


“หากผู้ประกอบการบางรายไม่สามารถทำได้ ทั้งที่รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือ ถือเป็นกิจการที่ไม่มีประสิทธิภาพพอที่จะดำเนินการ ควรปิดกิจการไป เพื่อให้การจัดสรรทรัพยากรมีประสิทธิภาพยิ่งขั้น”
จิรัฐสรรพ์ ประมวลศิลป์

จิรัฐสรรพ์ ประมวลศิลป์ นักศึกษากลุ่มประกายทุน กล่าวว่า ในทัศนะของนักเศรษฐศาสตร์ การกำหนดค่าแรงขั้นต่ำเป็นการบิดเบือนกลไกตลาด เพราะในกลไกตลาด ค่าแรงมันทำงานเอง ค่าแรงขั้นต่ำเป็นราคาค่าแรงที่ต่ำที่สุดที่สามารถจ่ายได้ในตลาดแรงงาน ดังนั้น ค่าแรงขั้นต่ำจึงเป็นค่าแรงของแรงงานที่มีประสิทธิภาพในการผลิตต่ำที่สุดในตลาดแรงงาน หากค่าแรงขั้นต่ำถูกกำหนดไว้สูงกว่ามูลค่าการผลิตของแรงงาน กลไกตลาดจะไม่สามารถตอบสนองอุปทานแรงงานส่วนนั้นได้ นำมาซึ่งการว่างงาน นอกจากนี้ หากค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้น ในขณะที่ประสิทธิภาพการผลิตจริงไม่เพิ่ม ราคาสินค้าจะสูงขึ้นเพื่อชดเชยค่าแรงที่เพิ่มขึ้น

แรงงานต้องได้อย่างเสียอย่างระหว่างเวลาพักผ่อนซึ่งเป็นอรรถประโยชน์ที่ตนเองได้รับกับการทำงานเพื่อได้เงินมา ถ้าค่าแรงสูง แรงงานก็จะรู้สึกว่าค่าเสียโอกาสจากการพักผ่อนสูงขึ้นก็จะทำงานมากขึ้น ดังนั้นหากค่าแรงขั้นต่ำสูงกว่าราคาดุลยภาพ ผลที่ตามมาคือจะมีปริมาณอุปทานมากกว่าอุปสงค์ ก็จะมีคนตกงานตามมา

ส่วนการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในระดับมหาภาคในขณะที่ประสิทธิภาพในการผลิตไม่เพิ่มเท่ากับค่าแรงที่เป็นตัวเงินเพิ่มอย่างเดียว ของมีปริมาณเท่าเดิม ราคาสินค้าก็จะสูงขึ้นเพื่อชดเชยค่าแรงที่เพิ่ม นี่คือมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์สายคลาสสิค แต่ถ้าสายเคนส์ก็จะมองว่า ถ้าค่าแรงเพิ่มขึ้น แรงงานก็จะบริโภคมากขึ้น เศรษฐกิจก็อาจจะโตได้สักพัก

ตามทฤษฎีคลาสสิค ราคาสินค้าเพิ่มจะทำให้กำลังซื้อของค่าแรงขั้นต่ำกลับมาเท่ากับก่อนการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ แรงงานจึงไม่ได้อะไรจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ส่วนใหญ่เราจะคิดว่านายจ้างเป็นผู้มีอำนาจในการต่อรองสูง สามารถที่จะกดค่าแรงให้ต่ำเพื่อให้ได้กำไรสูงได้ แต่นายจ้างก็ต้องแข่งขันเช่นกันเพื่อให้ได้แรงงานมา เช่น การรับสมัครงาน การเพิ่มค่าแรง ก็เป็นการแข่งขันของนายจ้าง ส่วนลูกจ้างก็แข่งขัน โดยกดค่าแรงตัวเองให้ต่ำที่สุดเพื่อให้ได้รับงาน

การขึ้นค่าแรงทำให้เกิดภาวะที่ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นเรียกว่า เงินเฟ้อ ซึ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อผู้มีเงินออม และธุรกิจต่างๆ ที่ต้องการวางแผนกิจการในระยะยาว เป็นการไม่กระตุ้นให้ธุรกิจต่างๆ เติบโต การจ้างงานจะเกิดขึ้นช้าลง ในตลาดแรงงานเราต้องยอมรับว่าไม่เป็นตลาดแข่งขันสมบูรณ์เสียทีเดียว แรงงานมีต้นทุนการเข้า-ออกโรงงาน แรงงานไม่สามารถเปลี่ยนงานได้บ่อยเหมือนเปลี่ยนยี่ห้อสินค้า เช่นเดียวกับนายจ้างก็ไม่สามารถเลิกจ้างได้โดยง่าย เพื่อรักษาความน่าเชื่อถือต่อลูกจ้าง ทำให้คนงานอื่นไม่กล้าเข้ามาทำงาน

การพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน หัวใจอยู่ที่การพัฒนาศักยภาพแรงงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต เพราะจะทำให้เราผลิตสินค้าได้มากขึ้น

ข้อเท็จจริงในเศรษฐกิจไทย ที่ผ่านมาเราจะถูกนักวิชาการสายอำมาตย์วิจารย์นโยบายค่าแรงขั้นต่ำของพรรคเพื่อไทยจะทำเกิดวิกฤติต่อระบบเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นการพูดภายใต้สมมติฐานบนหนังสือเรียน ซึ่งไม่เหมือนกับความเป็นจริงของสังคมไทย เนื่องจากในวันนี้ค่าแรงขั้นต่ำเป็นการส่งสัญญาณราคาที่ผิดพลาด นายจ้างคิดว่าค่าแรงตรงนี้เป็นค่าแรงที่เหมาะสมสำหรับการจ้างงาน ผลที่ได้คือเมื่อเศรษฐกิจเติบโต มีความต้องการซื้อสินค้าในประเทศไทยมากขึ้น แต่เป็นความต้องการซื้อที่ไม่ตอบกับแรงงานในระบบเศรษฐกิจไทย เพราะพอความต้องการซื้อตรงนี้เพิ่ม จุดดุลยภาพของราคาค่าแรงอาจเพิ่มก็ได้ ซึ่งในความเป็นจริงเราจะสังเกตเห็นว่านายจ้างเริ่มขึ้นค่าแรงมากกว่าค่าจ้างขั้นต่ำแล้ว เพราะเขาเห็นว่าค่าแรงขั้นต่ำไม่สามารถจ้างงานได้จริง มีการขาดแคลนแรงงาน สังเกตอัตราการว่างานตอนนี้อยู่ที่ 0.4% นับว่าต่ำเกินไป ซึ่งมันไม่สอดคล้องกับอัตราปกติ เพราะในระบบเศรษฐกิจ ปกติ ควรมีอัตราคนตกงานและกำลังหางานใหม่อยู่ที่ 2-4%

ค่าแรงขั้นต่ำในปัจจุบันจึงเป็นอัตราที่ต่ำกว่าดุลยภาพ และค่าแรงขั้นต่ำควรเพิ่มขึ้นเพื่อกำจัดอุปสงค์ส่วนเกิน แรงงานที่ทำงานประจำกับองค์กรขนาดใหญ่ และไม่ต้องการเปลี่ยนงานอันเนื่องมาจากต้นทุนธุรกรรมต่างๆ เป็นผู้เสียประโยชน์มากที่สุดจากค่าแรงขั้นต่ำในปัจจุบัน ดังนั้น ผู้บริหารขององค์กรขนาดใหญ่ที่สามารถใช้แรงงานในราคาที่ต่ำกว่าดุลยภาพได้ จึงแสดงความไม่เห็นด้วยกับการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เพื่อรักษาความได้เปรียบในการเอาเปรียบแรงงานไว้

ปัจจุบัน ค่าแรงแรงงานไร้ฝีมือในตลาดเริ่มปรับตัวสูงขึ้นกว่าค่าแรงขั้นต่ำ แรงงานอยู่ในภาวะขาดแคลนอย่างมาก องค์กรขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรมที่มีกำไรสูง (เช่น ยานยนต์) เสนอค่าแรงที่สูงขึ้น ดึงดูดแรงงานออกจากอุตสาหกรรมอื่น

ค่าแรงที่เสนอให้แรงงานไร้ฝีมือ เริ่มสูงขึ้นถึง 250 บาท ต่อวัน ทั้งที่รัฐบาลใหม่ยังไม่เริ่มดำเนินงาน และยังไม่มีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ และสร้างแรงจูงใจในการขึ้นค่าแรงให้ผู้ประกอบการ หากผู้ประกอบการบางรายไม่สามารถทำได้ ทั้งที่รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือ ถือเป็นกิจการที่ไม่มีประสิทธิภาพพอที่จะดำเนินการ ควรปิดกิจการไป เพื่อให้การจัดสรรทรัพยากรมีประสิทธิภาพยิ่งขั้น

การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นประเด็นที่มีความเป็นการเมืองสูง และได้ถูกคู่แข่งทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยนำมาใช้เป็นข้อโจมตีว่าที่รัฐบาลใหม่ ข้อเรียกร้องจากเอกชนส่วนใหญ่จึงมักออกมาจากบุคคลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและเลือกข้างอย่างชัดเจน มีการโจมตีโดยใช้ชุดความคิดในแบบเรียนเศรษฐศาสตร์ที่อาจมีสมมติฐานไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง

ที่ผ่านมา การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการเอารัดเอาเปรียบแรงงาน เพราะค่าแรงขั้นต่ำขึ้นน้อยกว่าอัตราเงินเฟ้อเกือบทุกปี หากผู้ประกอบการอ้างว่าเงินเฟ้อทำให้ต้นทุนด้านอื่นนอกจากค่าแรงเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ต้องกดค่าแรงเอาไว้ เราก็ควรตั้งคำถามว่า รายได้จากการขายสินค้าในราคาสูงขึ้นและรายได้ที่เกิดจากการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) นั้นไปตกอยู่ในมือใคร

ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน ทำได้จริง เพื่อชดเชยค่าแรงขั้นต่ำแท้จริงที่หายไป เนื่องจากเงินเฟ้อที่ขึ้นสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำเพื่อรักษาอำนาจซื้อของแรงงานค่าแรงขั้นต่ำให้เท่ากับปี 2539 ค่าแรงขั้นต่ำควรอยู่ที่ 255 บาท โดยไม่คำนึงถึงสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน ที่ดีกว่าในช่วงปี 2539

ภาวะขาดแคลนแรงงานในปัจจุบัน ยิ่งเพิ่มความเหมาะสมและเป็นไปได้ในการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในปริมาณมาก โดยกระทบต่อผู้ประกอบการน้อยกว่าช่วงเวลาอื่น การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในครั้งนี้ ยังทำให้อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น กลับมาอยู่ที่อัตราการว่างงานปกติ กล่าวคือ ตลาดแรงงานกลับไปอยู่ที่ดุลยภาพ

อย่างไรก็ตาม การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำในปริมาณมากอย่างฉับพลัน ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ ซึ่งอาจปรับตัวไม่ทันและต้องปิดกิจการไป รัฐบาลจึงต้องดำเนินมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ และการเพิ่มศักยภาพแรงงาน เพื่อให้ประสิทธิภาพแรงงานเพิ่มขึ้นคุ้มกับค่าแรง

การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำให้เป็นอัตราเดียวกันทั่วประเทศเป็นสิ่งจำเป็น ค่าครองชีพในแต่ละจังหวัดไม่ได้ต่างกันมากนัก เป็นการเพิ่มแรงจูงใจให้คนทำงานในท้องถิ่นมากขึ้น ทั้งนี้ เพื่อให้การเติบโตทางเศรษฐกิจไม่กระจุกตัวด้วย

อย่างไรก็ตาม การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ ควรเริ่มในพื้นที่ที่มีค่าแรงสูง เพราะผู้ประกอบการมีความสามารถในการปรับตัวมากกว่า แล้วค่อยเพิ่มค่าแรงในพื้นที่อื่นตามกันไป

รัฐบาลพรรคเพื่อไทย จะเริ่มเพิ่มเงินเดือนข้าราชการให้เริ่มต้นที่ 15,000 บาท ภายในสิ้นปี 2554 การเพิ่มเงินเดือนค่าราชการ จะดึงดูดแรงงานให้มาทำงานภาครัฐ และเร่งให้เอกชนต้องเพิ่มเงินเดือนตามกัน เพื่อดึงดูดให้คนทำงานในภาคเอกชน และรักษากำลังแรงงานเดิมไว้ เมื่อเงินเดือนแรงงานระดับปริญญาตรี และแรงงานมีฝีมือเพิ่มขึ้น ค่าแรงแรงงานไร้ฝีมือมักจะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ค่าแรงขั้นต่ำต้องมาเป็นนโยบายแพ็คเกจ เช่นมีโครงการอบรมเพิ่มศักยภาพแรงงาน เพื่อให้ประสิทธิภาพในการผลิตของแรงงานเพิ่มขึ้นมากกว่าค่าแรงขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้น การลดภาษีเงินได้นิติบุคคล จาก 30% เหลือ 20% เพื่อเพิ่มศักยภาพธุรกิจ และนำเงินส่วนที่ประหยัดได้ไปจ่ายค่าแรง การให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (Soft loan) เพื่อช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในการปรับตัว การเพิ่มเงินเดือนปริญญาตรี เดือนละ 15,000 บาท เป็นนโยบายที่ควรเกิดขึ้นพร้อมกับการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท การควบคุมราคาสินค้าให้อยู่ในระดับเหมาะสม ไม่เพิ่มขึ้นเร็วเกินไป

ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะเกิดขึ้นในปี 2558 การปรับตัวของวิสาหกิจไทยเป็นสิ่งจำเป็น ธุรกิจต้องปรับตัวเพื่อให้แข่งขันได้ในตลาดร่วม ที่สินค้า บริการ และแรงงานสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรี วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ต้องได้รับการส่งเสริมให้เข้ามาอยู่ในระบบ เป็นนิติบุคคลแบบบริษัท และชำระภาษีตามจริง การลดภาษีเงินได้นิติบุคคล และลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้สอดคล้องกัน เป็นแรงจูงใจให้ธุรกิจและแรงงานเข้าระบบมากขึ้น

ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน ถือเป็นการได้กับได้ แรงงานได้ค่าแรงที่เพิ่มขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แรงงานมีประสิทธิภาพในการผลิตเพิ่มขึ้น มีโอกาสในการหางานทำที่ดีกว่าเดิม ส่วนผู้ประกอบการได้ประโยชน์จากประสิทธิภาพการผลิตที่เพิ่มขึ้น การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ แลกกับการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลและประสิทธิภาพในการผลิตที่เพิ่มขึ้น เป็นการย้ายเงินเข้ากระเป๋าผู้มีรายได้น้อย ซึ่งมักใช้เงินที่ได้เพิ่มขึ้นเพื่อการบริโภคอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ส่งผลให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างรวดเร็ว

รัฐบาลดำเนินนโยบายควบคุมราคาสินค้า ให้เป็นไปตามกลไกตลาด ไม่ถูกผูกขาดโดยผู้ประกอบการบางรายเหมือนที่ผ่านมา เงินไม่เฟ้อมากจนเกินไป ประชาชนมีกำลังซื้อ มีการบริโภคและการผลิตเพิ่มขึ้น เป็นนโยบายด้านอุปสงค์ ภาษีซึ่งเป็นต้นทุนในการประกอบการลดลง แรงงานมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น เป็นนโยบายด้านอุปทาน ทำให้ผู้ประกอบการผลิตมากขึ้น มีรายได้เพิ่มขึ้น ขณะที่ผู้บริโภคก็บริโภคเพิ่มขึ้น และรัฐบาลจะได้ประโยชน์จากภาษีมูลค่าเพิ่มที่เกิดจากการบริโภคของประชาชนเพิ่มขึ้น
 

“สำหรับผมทำงานอยู่ต่างจังหวัดก็จริงแต่ค่าอาหารก็ไม่ต่างจากกรุงเทพฯ บางอย่างแพงกว่ากรุงเทพฯด้วยซ้ำ เช่น น้ำมัน ซึ่งเป็นค่าขนส่งที่กระทบต่อราคาสินค้าอื่นๆ ด้วย จึงควรที่จะขึ้นค่าแรงเท่ากันทั่วประเทศ
..การที่พรรคเพื่อไทยสามารถทำได้จริง ประชานิยมมันจะเป็นการปูพื้นฐานไปสู่รัฐสวัสดิการ”

พรมมา ภูมิพันธ์

พรมมา ภูมิพันธ์ ประธานกลุ่มสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมเบอร์ล่า (LUGB) กล่าวว่า เรื่องนี้เราได้มีการคุยก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา ทางเลขาธิการพรรคเพื่อไทยได้มาพูดคุยแล้วกล่าวกับพวกตนว่าพรรคเพื่อไทยต้องการที่จะนำของขวัญมาให้กับผู้ใช้แรงงานก็คือค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยเมื่อปี 2553 พบว่าการที่คนงานจะดำรงชีพได้ต้อง 441 บาท

ทำไมเราจึงสนับสนุนพรรคเพื่อไทยเกี่ยวกับนโยบายนี้ เมื่อขึ้นค่าแรง 300 บาทมันจะเชื่อมโยงไปกับประชาชนทั่วประเทศ แม้ 300 บาทจะไม่ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น แต่ก็ยังทำให้ลืมตาอ้าปากได้บ้าง เพราะปัจจุบันนี้หลายบริษัทค่าจ้างก็เกิน 300 บาทแล้ว

ก่อนหน้านั้น อ.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐบอกว่า “อนาคตเรามีปัญหาแน่ หากปล่อยให้พรรคการเมืองนำนโยบายฉาบฉวย อย่างการขึ้นค่าแรง หรือการเอาใจคนด้วยการเพิ่ม​เงินเดือน” ไม่แน่ใจว่า อ.ณรงค์ คิดอะไร แต่เมื่อวันที่ 25 ก.ค.ที่ผ่านมากลับบอกว่า เห็นด้วยกับการขึ้นค่าแรง

อีกคนที่น่าสนใจที่พูดว่า “คนไทยตามบ้านนอก มีคนเอาของไปล่อ ก็เกิดความอยากได้ กลายเป็นคนหิวกระหาย และนิสัยเสียไปหมด” ซึ่งเป็นคำพูดของคุณสุเมธ ตันติเวชกุล คนเหล่านี้ออกมาพูดเหมือนเป็นการต่อต้าน รวมไปทั้งราษฎรอาวุโส ที่ออกมาบอกว่า "ค่าแรงขั้นต่ำวันละ​ 300 บาท ว่ารับรองว่าทำไม่ได้ ถ้าค่าแรงอยู่ที่วันละ 150 บาท กินเป็นแบบเศรษฐกิจพอเพียง จะสามารถอยู่ได้" แต่ในความเป็นจริงทุวันนี้มันไม่มีจะกิน มันจะพอเพียงตรงไหน ทำให้ตนสงสัยว่าคนเหล่านี้ทำไมออกมาต่อต้านเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท

อีกคนบอกว่า “ค่าจ้างแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท เป็นสิ่งที่เป็นไม่ได้เลย” เป็นคำพูดของคุณบุญชัย โชควัฒนา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ซึ่งบริษัทนี้ไม่มีสหภาพแรงงาน เหล่านี้เป็นตัวอย่างนักวิชาการและนายทุนที่ออกมาพูด เช่นเดียวกับสมาคมอุตสาหกรรมหรือหอการค้าที่ออกมาต่อต้าน นี่เป็นสิ่งที่ตนในฐานะผู้ใช้แรงงานรู้สึกเจ็บปวดในขณะที่นายทุนขูดรีดเรามาโดยตลอด

อีกเหตุผลที่สนับสนุนนโยบายของพรรคเพื่อไทยนั้น เพราะคิดว่าเขาน่าจะทำได้ เพราะที่ผ่านมานโยบายเขาสามารถทำเป็นผลงานที่ประชาชนติดใจได้ เช่น ประชาชนที่อยู่ตามชนบทการป่วยเป็นโรคมะเร็งไม่สามารถที่จะรักษาได้เลยแต่พอมี 30 บาทรักษาทุกโรค ประชาชนไม่ค่อยเจ็บป่วยมากนักเพราะได้รับการรักษาพยาบาลอย่างทั่วถึง

สมัยคุณทักษิณเป็นนายก พี่ป้าน้าอาตามชนบทจะไม่สามารถติดต่อลูกหลานที่มาทำงานในกรุงเทพฯได้ เมื่อสามารถกู้เงินกองทุนในหมู่บ้านนั้นได้ก็สามารถซื้อโทรศัพท์สำหรับติดต่อสื่อสารกับลูกได้ พ่อแม่ที่อยู่กรุงเทพฯก็สามารถพูดคุยกับลูกที่อยู่ต่างจังหวัด

แต่ทั้งนี้การที่พรรคเพื่อไทยจะสามารถทำนโยบายได้ก็ขึ้นอยู่กับทุกภาคส่วนที่จะสนับสนุน แต่ที่ผ่านมาส่วนใหญ่ออกมาต่อต้าน จึงเป็นห่วงว่ารัฐบาลนี้จะบริหารประเทศได้ไม่นานเพราะไปกระทบกับนายทุน ถ้านายทุนที่เราสามารถจับต้องได้ก็เรื่องหนึ่ง แต่นายทุนที่แอบแฝงแบบไม่เปิดเผยตัวเองเป็นสิ่งที่อันตราย ทั้งนี้ ยังไม่เชื่อมั่นว่าพรรคเพื่อไทยจะทำนโยบาย 300 บาทได้หรือไม่ อาจเป็นการเมืองก็ได้ อย่างซีพีออกมาขานรับว่าเราสนับสนุน แต่ในข้อเท็จจริงลูกจ้างเขา 80% เป็นคนงานเหมาค่าแรง เป็นลูกจ้างรายวันทั้งนั้น ค่าแรงขั้นต่ำ 193 บาท

อีกกลุ่มทุนที่สนับสนุนคือเครือซีเมนต์ไทย ซึ่งในความเป็นจริงลูกจ้างประจำก็เกินอยู่แล้ว 300 บาท แต่สหภาพแรงงานได้ล้มไปแล้วทำให้สวัสดิการหลายอย่างหายไป

ในข้อเท็จจริงคนงานเหมาค่าแรงทั้งหมดได้ไม่ถึงหรือว่าได้ก็มีส่วนหนึ่งที่คนงานเหล่านั้นถูกกระทำจากผู้รับเหมา เช่นคนงานในแผนกไฟฟ้ากับตนก่อนหน้าที่มาทำงานต้องการค่าแรง 280 บาท แต่นายจ้างเหมาค่าแรงหักหัวคิวอีก 30 บาท เหลือ 250 บาท ซึ่งปรกติบริษัทเหมาค่าแรงจะได้ต้นทุนค่าบริหารจัดการไปแล้ว 7% แต่ก็ยังมีการหักค่าหัวคิวอีก

การขึ้น 300 บาทมันจะเชื่อมโยงกับประกันสังคมที่มีการหักจากลูกจ้าง 5% และคิดว่าในอนาคตควรจะมีการหักในอัตราก้าวหน้าด้วย เมื่อพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาลก็ไปลดภาษีให้นายทุน ปีแรก 23% จาก 30% ซึ่งไม่น้อยเลยทีเดียว แต่ปัจจุบันก็มีการเลี่ยงภาษีอยู่ ดังนั้นเมื่อมีการลดภาษี รัฐควรจัดเก็บภาษีให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

สำหรับผมทำงานอยู่ต่างจังหวัดก็จริงแต่ค่าอาหารก็ไม่ต่างจากกรุงเทพฯ ก๋วยเตี๋ยวชามละ 20-30 บาทเหมือนกัน บางอย่างแพงกว่ากรุงเทพฯด้วยซ้ำ เช่น น้ำมันต่างจังหวัดที่ผมอยู่ลิตรละ 40 กว่าบาท ซึ่งเป็นค่าขนส่งที่กระทบต่อราคาสินค้าอื่นๆ ด้วย จึงควรที่จะขึ้นค่าแรงเท่ากันทั่วประเทศ

ขณะนี้เหมือนพรรคเพื่อไทยกำลังจะอ่อนล้า คนที่ออกมาต่อต้านเป็นกลุ่มนายทุนใหญ่ ถ้าเราไม่มีการเคลื่อนไหวในขบวนการแรงงาน เชื่อว่าพรรคเพื่อไทยก็ต้องแผ่ว จึงเป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนควรจะช่วยกันผลักดันตรงนี้

ส่วนใหญ่การลงทุนการผลิตค่าจ้างคิดเป็นประมาณ 5-6% ของงบการลงทุนทั้งหมด ถือว่าน้อยมาก ส่วน SMEs ที่ใช้แรงงานเข้มข้นต้นทุนประมาณ 15% ซึ่งรัฐก็ต้องหามาตรการเสริมเพื่อให้ธุรกิจเหล่านั้นอยู่ได้ด้วย

ตอนนี้เกิดการขาดแคลนแรงงานด้วยซ้ำไป ปัจจุบันรับจ้างเกี่ยวข้าวดำนาในต่างจังหวัด 250 บาท หาคนไม่ได้แล้ว บางที่ต้องทำอาหารให้คนงานเหล่านั้นกินด้วย แม้แต่คนขายก๋วยเตี๋ยวตามห้างร้านยังมีการจ้าง 200 บาทกว่าแล้ว เพราะถ้าไม่จ้างขนาดนั้นจะไม่มีคนทำงานให้คุณ นี่คือข้อเท็จจริง จึงอยากขอวิงวอนให้สภานายจ้าง สภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้าหรือนายทุนต่างๆ อย่าออกมาต่อต้าน เพื่อที่ลูกจ้างจะลืมตาอ้าปากได้เล็กน้อย ซึ่งก็ไม่ได้ทำให้ลูกจ้างยืดได้เต็มตัวได้

รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ขึ้นค่าจ้างข้าราชการครู 8% สินค้าต่างๆ ขึ้นตามมาหมด เช่นกันคนงานที่จะได้ค่าแรงขึ้น 300 บาท สินค้าก็เตรียมที่จะขึ้น ซึ่งมันก็อาจจะกลับมาสู่จุดเดิม แต่มันดูดีหน่อยที่ได้ค่าจ้าง 300 บาท แต่ข้อเท็จจริงเงินที่เหลือในกระเป๋าก็เท่าเดิม

เขาเสนอว่า ดังนั้น คนงานไม่ควรหยุดเพียงเท่านี้ อยากเสนอข้อเสนอเข้าไปให้พรรคเพื่อไทยเพิ่มเช่น การเรียนฟรีที่แท้จริง ไม่ใช่เพียงค่าเทอม แต่ต้องรวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย การดูแลผู้สูงอายุ ค่าเช่าบ้าน ซึ่งในอนาคตไม่อยากเห็นพรรคเพื่อไทยทำแค่ประชานิยมธรรมดาเท่านั้น อยากเห็นเลยไปถึงรัฐสวัสดิการ ซึ่งพรรคการเมืองที่ผ่านมาไม่สามารถทำได้ การที่พรรคเพื่อไทยสามารถทำได้จริง ประชานิยมจะเป็นการปูพื้นฐานไปสู่รัฐสวัสดิการ

 

 “เป้าหมายของการมุ่งหากำไรสูงสุดแนวคิดนี้ค่อยๆ ถูกลบเลือนไปแล้ว เปลี่ยนมาเป็นการมุ่งแสวงหากำไรที่ยั่งยืนแทน”
อัญธนา สันกว๊าน

 

อัญธนา สันกว๊าน นักศึกษาหลักสูตรควบตรี-โท ทางด้านการบัญชีและบริหารธุรกิจ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มธ. กล่าวว่า จากที่ได้ไปพบปะพูดคุยกับผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่-เล็ก พบว่าปัจจุบันโลกธุรกิจได้เปลี่ยนไป เป้าหมายของการมุ่งหากำไรสูงสุดแนวคิดนี้ค่อยๆ ถูกลบเลือนไปแล้ว เปลี่ยนมาเป็นการมุ่งแสวงหากำไรที่ยั่งยืนแทน ซึ่งมาจากการคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้-เสียทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับองค์กรไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการ นายทุน ลูกน้องแรงงาน แม้กระทั่งสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งนั่นก็เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ผลักให้ตัวผู้ประกอบการเองต้องหันมาให้ความสำคัญกับการจ่ายค่าจ้างที่เป็นธรรม และทำให้ลูกจ้างสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณค่า

ด้วยกระแสสังคมที่ถูกบีบนี้ จึงเป็นปัจจัยที่ทำให้องค์กรธุรกิจที่กดขี่ค่าแรงไม่สามารถดำรงอยู่หรือสามารถแข่งขันได้ในโลกธุรกิจต่อไป จากการไปดูงานของโรงงานหนึ่งซึ่งมีการส่งออกอาหารไปทั่วโลก ทางเขาบอกว่าปัจจุบันการแข่งขันในตลาดโลกไม่ได้ง่าย เราส่งออกอาหารไปที่ต่างๆ ไม่ใช่แค่ส่ง แต่ผู้ประกอบการจากต่างประเทศก็มาดูงานที่โรงงานด้วย โดยมีการตรวจสอบแม้กระทั่งว่ามีการดูแลพนักงาน จ่ายค่าแรงอย่างไร โดยเฉพาะประเทศทางฝั่งสหภาพยุโรปจะเข้มงวดกับสิ่งเหล่านี้มาก ซึ่งถ้ามีปัญหาตรงนี้เขาก็จะไม่ทำธุรกิจร่วมกัน ซึ่งสิ่งนี้เป็นตัวบีบหนึ่งให้บริษัทต้องดูแลแรงงาน

ด้วยกลไกตลาดลักษณะการแข่งขันของโลกใบนี้ที่เปลี่ยนแปลงไป ที่มีการให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้-เสียของธุรกิจมากขึ้น จะทำให้นโยบายการปรับค่าแรงของแรงงานดีขึ้นอยู่แล้ว ไม่ว่ารัฐบาลใดหรือนักการเมืองพรรคใดจะขึ้นมาเป็นผู้นำรัฐบาลก็ตาม เพราะประเทศเราพึ่งพิงการส่งออกเป็นหลัก เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่สามารถปฏิบัติตามกฎของประเทศคู่ค้าได้นั้นเราก็อยู่ไม่ได้เหมือนกัน

ทำไมนโยบาย 300 บาทภาคธุรกิจถึงได้ออกมาโวยวาย ค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ยอยู่ที่ 178.5 บาท ซึ่งอยู่ในช่วง 159-221 บาท ถ้าขึ้นค่าแรง 300 บาท จะเพิ่มขึ้นถึง 35-75% ซึ่งก็จะทำให้ต้นทุนโดยรวมเพิ่มขึ้น 6-13% ถ้าเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ต้นทุนขนาดนี้อาจไม่มีผลกระทบต่อเขามากนัก ประกอบกับหลายบริษัทก็มีการให้เงินที่มากกว่า 300 บาทอยู่แล้ว แต่ถ้าเป็นธุรกิจที่เน้นแรงงานเข้มข้นและ SMEs ต้นทุนขึ้นมาค่อนข้างสูง แล้วจะแบกรับภาระไหวหรือไม่ เฉพาะกรุงเทพฯ ค่าแรงจาก 215 เป็น 300 บาท คิดเป็น 39.5% ผู้ประกอบการตกใจแน่นอน ยิ่งถ้ามาดูขอนแก่นกับร้อยเอ็ด ซึ่งค่าแรงจะขึ้นถึง 80%

เมื่อขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ พนักงานในส่วนของสำนักงานหรือส่วนอื่นๆ เรียกร้องตามมาแน่นอน ดังนั้นต้นทุนที่ผู้ประกอบการจะต้องแบกรับคงไม่ใช่เพียงเท่านี้ และการที่พรรคเพื่อไทยบอกว่าจะลดภาษีให้เหลือ 23% คือหายไป 7% แต่ต้นทุนเขาเพิ่มขึ้นมา 6-13% ซึ่งภาคที่จะกระทบหนักคือภาคการผลิต ภาคการบริการ จึงนำมาสู่กระแสต่อต้านตามมา

อีกภาคที่จะมีผลกระทบมากคือภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่ปัจจุบันค่าแรงคิดเป็นสัดส่วน 20-30% ของต้นทุนก่อสร้างบ้าน 1 หลัง ไม่ใช่เพียงค่ารับเหมาที่เพิ่มขึ้นจากค่าแรงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงราคาวัสดุก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นจากค่าแรงงานตามมาด้วย ทำให้ต้นทุนอสังหาริมทรัพย์ เพิ่มขึ้นกว่า 10% แล้วจะส่งผลกระทบต่อราคาอสังหาฯจะปรับขึ้นประมาณ 2-3%

การขึ้นค่าแรง จังหวัดที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือกรุงเทพมหานคร เนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีการจ้างงานรวมสูงสุด ถึง 3.3 ล้านคน สำหรับผู้ประกอบการรายใหญ่อาจไม่กระทบอะไรมาก แต่สำหรับ SMEs ซึ่งมี 2.9 ล้านราย คิดเป็นจำนวนแรงงานในภาคนี้ถึง 10.5 ล้านคน ซึ่งผู้ประกอบการในภาคนี้มีกำไรน้อยอยู่แล้วยังต้องมาขึ้นค่าแรงถึง 300 บาท ทางออกที่ง่ายที่สุดของธุรกิจเหล่านี้อาจหมายถึงการปลดพนักงานออก ทำให้อัตราการว่างงานเพิ่มสูงขึ้น ปัญหาในเชิงโครงสร้างของสังคมก็จะตามมา

อย่างกรณีบริษัทที่เคยไปศึกษามาให้ค่าแรงเกินกว่า 300 บาทอยู่แล้ว แต่พอพรรคเพื่อไทยขอขึ้นค่าแรงเป็น 300 บาท ส่งผลกระทบให้พนักงานในโรงงานของเขาขอขึ้นค่าแรงจากที่มีอยู่ ผู้ประกอบการก็มองว่าการคุมคนมันยุ่งยาก ทำให้ทางแก้ของผู้ประกอบการอาจหันมาลงทุนในเครื่องจักรเพิ่มหรือไม่ก็ Outsource นำไปสู่การปลดพนักงานออกอยู่ดี

อัญธนา กล่าวว่า ไม่ได้ต่อต้านนโยบายค่าแรง 300 บาท เพราะควรขึ้นเพื่อให้แรงงานสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณค่าจริงๆ แต่ประเด็นคือเราจะขึ้นอย่างไรเพื่อไม่ให้ช็อคตลาด ค่อยๆ ปรับขึ้นดีหรือไม่ มาคุยกัน 3 ฝ่าย ทั้งนายจ้าง ลูกจ้างและรัฐ ว่าจะมีวิธีการปรับขึ้นอย่างไร เพราะที่เป็นอยู่เมื่อเราบอกว่าจะปรับขึ้น 300 บาท นักลงทุนต่างชาติหลายบริษัทก็เริ่มที่จะส่งสัญญาณว่าจะถอนฐานการผลิต อย่างล่าสุด บริษัททีแอลกรุ๊ป ก็ได้ประกาศแล้วว่าจะปลดคนงาน 700 คนแล้วย้ายฐานการผลิตไปที่เวียดนาม

ปัจจุบันผลิตภาพการผลิตของคนงานไทยเติบโตเพียงแค่ 3% ต่อปี ในขณะที่จีนเติบโตที่ 9.5% และเวียดนาม 5.3% เมื่อนักลงทุนจะลงทุนในประเทศใดตัวเลขเหล่านี้ก็สำคัญ ค่าแรงเราสูงกว่าเวียดนามในขณะที่ผลิตภาพในการผลิตของเราเติบโตได้น้อยกว่าเวียดนาม

และอีก 5 ปี AEC หรือประชาคมอาเซียนจะเกิดขึ้น ค่าแรงในไทยเราสูงกว่าในขณะที่เราไม่มีการพัฒนาคุณภาพฝีมือแรงงานเพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ เราอาจเสียเปรียบในเชิงการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านเราได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net