Skip to main content
sharethis

5 ส.ค. 2554 – เมื่อเวลา 13.00 น. ณ อาคารเทพทวารวดี คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย จัดการอภิปรายทางวิชาการ “ทางออกกรณีพิพาทปราสาทพระวิหาร” โดยมิผู้ร่วมอภิปราย ได้แก่ นพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ อดีตนักกฎหมายในคดีศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ศ.กิตติคุณ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า และศ.ดร.ชุมพร ปัจจุสานนท์ รองคณบดีฝ่ายวิชาการวิชาการและวิจัย คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คำสั่งศาลโลก ไทยได้เปรียบหรือเสียเปรียบ? ชุมพร ปัจจุสานนท์ นักวิชาการทางด้านกฎหมายระหว่างประเทศ กล่าวว่า การที่ศาลโลกออกคำสั่งให้มีมาตรการคุ้มครองชั่วคราวบริเวณปราสาทพระวิหาร ไม่ควรมองว่าจะได้เปรียบหรือเสียเปรียบ เนื่องจากศาลโลกเป็นองค์กรสากลที่ตัดสินจากความเป็นกลาง และมุ่งหวังผลทางมนุษยธรรม เช่น การให้ถอนทหารออกจากพื้นที่ดังกล่าวทั้งสองฝ่ายเพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะ หรือ การอนุญาตให้ฝ่ายกัมพูชาสามารถขนสงเสบียงสิ้นเปลืองให้แก่ประชาชนในพื้นที่ รวมถึงการคุ้มครองความเสียหายที่ไม่อาจแก้ไขได้ ตามคำร้องของกัมพูชา ชุมพลให้ความเห็นว่า คำสั่งของศาลโลก ที่มีผลบังคับใช้ตามกฎหมายให้รัฐทั้งสองจำเป็นต้องปฏิบัติตาม พร้อมทั้งให้รายงานผลการปฏิบัติกลับไปยังศาลโลก และให้มีผู้สังเกตการณ์จากอาเซียนเข้ามาในเขตปลอดทหาร ล้วนเป็นกลไกที่ศาลโลกเห็นว่าจำเป็นและสามารถหนุนเสริมการสร้างสันติภาพในความขัดแย้งดังกล่าวได้ จึงไม่ควรถูกมองว่าเป็นการแทรกแซง หรือเป็นเรื่องที่ไทยต้องเสียเปรียบ ด้านวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ เห็นคล้ายกันว่า คำสั่งชั่วคราวของศาลโลกที่ตัดสินเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เป็นคำตัดสินชั่วคราวที่มีความจำเป็น เนื่องมาจากเหตุความเสียหายที่ไม่อาจแก้ไขได้ และกลไกระหว่างประเทศอื่นๆ ก่อนหน้านี้ ต่างก็ใช้ไม่ได้ผล ไม่ว่าจะเป็น คำร้องขอของสภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติในปี 2552 ที่เรียกร้องให้กัมพูชาและไทยหยุดยิง หรือการพยายามเสนอตัวไกล่เกลี่ยของรัฐบาลอินโดนีเซียก่อนหน้านี้ ในฐานะประธานอาเซียน ทำให้ศาลโลกจำเป็นต้องมีคำสั่งดังกล่าวเป็นมาตรการบังคับออกมา อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวก็ไม่ควรนับเป็นการแทรกแซง เนื่องจากในการปฏิบัติตามคำสั่งของศาลโลก จำเป็นต้องมีการตีความคำสั่งให้ครบถ้วนและให้สอดคล้องกับจุดประสงค์ของคำสั่ง ซึ่งในที่สุดต้องนำไปผ่านกฤษฎีกาเพื่อตีความ เพื่อให้มีความเกี่ยวโยงกับรัฐธรรมนูญของไทย นอกจากนี้ การเข้ามาของผู้สังเกตการณ์อาเซียน ก็จำเป็นต้องขออนุญาตจากทั้งสองประเทศก่อนที่จะเข้ามาได้ และให้ทำงานกันในลักษณะให้ความร่วมมือจากทั้งสองฝ่าย จึงไม่ควรนับเป็นการแทรกแซงอำนาจอธิปไตยของไทย แต่เป็นไปเพื่อเอื้ออำนวยให้กลไกดังกล่าวทำงานได้ดีที่สุดเท่านั้น นพดล ปัทมะ แจง “ขายชาติ” เป็นเพียง “วาทกรรม” ที่ไม่เป็นจริง นพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งเป็นผู้ลงนามกับกัมพูชาในข้อตกลง MOU ปี 2551 ชี้แจงว่า คำว่า “ขายชาติ” ที่ตนถูกกล่าวหา เป็นเพียงวาทกรรมเท่านั้น เนื่องจากในสมัยของรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ถูกกล่าวหาว่าขายชาติ หากแต่ในความเป็นจริงนั้น ศาลโลกเป็นผู้ตัดสินตั้งแต่ปีพ.ศ. 2505 แล้วว่าปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา และสิ่งที่เป็นข้อพิพาทแท้จริงคือพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตร โดยในปี 2548 กัมพูชานำปราสาทและพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตร.กม. ไปยื่นจดทะเบียนมรดกโลกกับยูเนสโก แต่ก็ได้รับการประท้วงจากฝ่ายไทย เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับการเอาพื้นที่ทับซ้อนไปขึ้นทะเบียนมรดกโลก ทำให้การประชุมที่ไครส์เชิร์ชในปี 2551 ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ตนจึงไปเจรจาให้กัมพูชาเอาพื้นที่ทับซ้อนออกจากแผนการขึ้นทะเบียนมรดกโลก ซึ่งออกมาเป็นแถลงการณ์ร่วม (Joint Communiqué) ในปี 2551 สนับสนุนให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนเฉพาะปราสาทพระวิหาร อย่างไรก็ตาม ก็ถูกศาลปกครองวินิจฉัยให้เป็นโมฆะเนื่องจากมองว่าเป็นหนังสือสัญญา ซึ่งจำเป็นต้องผ่านกระบวนการพิจารณาของรัฐสภาก่อนตามมาตรา 190 นพดลอธิบายต่อว่า เหตุที่ไม่ได้นำวาระดังกล่าวผ่านสู่สภาเป็นเพราะว่า แถลงการณ์ร่วม ไม่นับเป็นหนังสือสัญญา หากเป็นเพียงบันทึกการประชุมเท่านั้น ซึ่งไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงอาณาเขต หรือส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ แต่มีเพียงเจตนาในการปกป้องดินแดน โดยกระบวนการดังกล่าว ต่างเป็นไปตามข้อกำหนดและคำแนะนำของกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ตามมาตรา 190 และยังได้นำวาระดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นสภาความมั่นคงแห่งชาติ ผู้บัญชาการทหารบก หรือคณะรัฐมนตรี “ณ วันนี้ไทยยังไม่ได้เสียดินแดนใดๆ พื้นที่ทับซ้อนก็เป็นพื้นที่ทับซ้อน ที่จริงเป็นเพราะรัฐบาลสมัคร (สุนทรเวช) กัมพูชาจึงขึ้นทะเบียนเฉพาะตัวปราสาทพระวิหาร ในการประชุมการขึ้นทะเบียนมรดกโลกที่เมืองควิเบก ในปี 2551 โดยแถลงการณ์ร่วมดังกล่าวมีข้อเสนอว่า ในระหว่างที่ยังไม่ได้ปักปันดินแดนในพื้นที่พิพาทระหว่างไทย-กัมพูชา ควรมีโมเดลการจัดการพื้นที่ร่วมกัน ก่อนที่จะมีการปักปันเขตแดนถาวร นี่คือคำในแถลงการณ์ร่วม” อดีต รมต. ว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าว “ในขณะนี้ ศาลโลกรับคดีไว้แล้ว และจะตัดสินในอีกปีสองปีข้างหน้าว่า พื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตร.กม. เป็นของไทยทั้งหมด หรือเป็นของกัมพูชาทั้งหมด นอกจากนี้ก็มีแนวทางใหม่คือ พื้นที่พิพาท 4.6 ตร.กม. ควรเป็นพื้นที่ที่จะได้บริหารจัดการร่วมกัน และให้ศาลโลกตัดสิน จริงๆ ก็มีคนเสนอมาเหมือนกันว่า เราอาจมีความเสี่ยงในการแพ้คดีดังกล่าว เราจึงควรเสนอให้มีการจัดการร่วมกัน เพื่อให้ได้ประโยชน์ระหว่างไทยและกัมพูชาเท่าๆ กัน คนละครึ่ง” นักวิชาการเสนอทางออก ต้องจัดการให้สมประโยชน์ทั้งสองฝ่าย เฉกเช่นวิถีของผู้มีอารยะ ชุมพร ปัจจุสานนท์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า พื้นที่ทับซ้อน (ในภาษาอังกฤษคือ Overlapping Claim Area –OCA) แท้จริงแล้วไม่ได้มีแต่ในเฉพาะกรณีของไทยเท่านั้น หากแต่มีมาแล้วในหลายประเทศ มีทั้งทางบก และทางน้ำ โดยวิธีในการแก้ไขจัดการปัญหาดังกล่าว จำเป็นต้องมีวิธีที่สามารถรักษาผลประโยชน์ได้อย่างชนะทั้งสองฝ่าย ไม่ใช่จะเอาแต่ปืนมายิงใส่กัน ทั้งนี้ ประเทศไทยเองยังเคยจัดการปัญหาพื้นที่ทับซ้อนระหว่างไทยและมาเลเซียเกี่ยวกับพื้นที่ทางทะเลได้โดยไม่มีปัญหาอะไร ซึ่งจะเห็นว่าเป็นเรื่องที่เจรจากันได้ ทั้งนี้ บรรยากาศทางการเมืองต้องดี และคนในประเทศก็จำเป็นต้องเห็นใจด้วยกันทั้งสองฝ่าย “เรื่องการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร ยูเนสโก้เองเขาก็มีกรอบในการปฏิบัติ และมีหน้าที่ปกป้องคุ้มครองมรดกของโลก คุณสุวิทย์ คุณกิตติ เขาไปเถียงอะไรในที่ประชุม ยูเนสโก้เขาไม่บันทึกไว้หรอก เนืองจากการพิจารณามรดกโลก ไม่เกี่ยวกับปัญหาเรื่องการตัดสินเส้นเขตแดน แทนที่เราจะเดินออกมาจากที่ประชุม เราต้องใช้วิธีการคัดค้านให้เป็นประโยชน์ เพราะไม่รู้ว่าออกมาแล้วได้อะไร นี่เป็นข้อสังเกตเบื้องต้น เพราะตอนนี้ก็ยังไม่มีผลทางกฎหมาย ต้องมีกระบวนการประกอบ ดังนั้นเป็นเรื่องทีรัฐบาลใหม่ต้องมาทบทวนว่าจะออกจากคณะกรรมการมรดกโลกหรือไม่” ชุมพรอธิบาย “ก็เป็นที่เข้าใจได้ว่า เรื่องของอธิปไตยของประเทศเป็นเรื่องที่จำเป็น และน่าสมควรเป็นเรื่องที่หวงแหน เราต้องปกป้องก็จริง แต่การใช้อำนาจอธิปไตย มันเป็นเชิง Relative (สัมพัทธ์) ตามกฎเกณฑ์กติกาต่างๆ ที่อยู่ในโลกมากมายหลายประการ การใช้อำนาจที่สามารถทำให้เราต้องอยู่ในโลกได้ มันต้องใช้ต้องร่วมกับคนอื่น มีความสัมพัทธ์กับคนอื่น ต้องร่วมมือกันเพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกัน” นักวิชาการด้านกฎหมายระหว่างประเทศกล่าว จะแก้ปัญหาได้ สุดท้ายต้องกลับไปสู่กระบวนการทางการทูต ด้านวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักวิชาการอิสระด้านกฎหมายระหว่างประเทศ เสนอทางออกสามประการที่อาจเป็นไปได้ในการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทปราสาทพระวิหาร กล่าวคือ ทางแรก กัมพูชาน่าจะต้องถอนคดีออกมาจากศาลโลก เพื่อยุติข้อพิพาทระหว่างทั้งสองฝ่ายตั้งแต่ต้น แต่ท้ายที่สุดแล้ว เราจำเป็นจะต้องกลับไปสู่กระบวนการของนักการทูต เพื่อยุติข้อพิพาท และหาวิธีที่จะพัฒนาพื้นที่และผลประโยชน์ดังกล่าวร่วมกัน “แน่นอนว่า การจะให้กัมพูชาถอนคำร้องเรื่องคดีออกจากศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเป็นเรื่องยาก แต่เราอาจต้องมาคิดว่ามีอะไรบ้างที่เราอาจจะเสนอให้เขาได้เพื่อเป็นการจูงใจและแลกเปลี่ยน เช่น การเสนอเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากรัฐบาลไทย เพื่อให้กัมพูชานำไปพัฒนาประเทศ หรือกำหนดให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่พัฒนาร่วมกัน ดังที่ไทยเคยบริการจัดการกับมาเลเซียในพื้นที่ทางทะเลทับซ้อน ซึ่งอาจทำได้โดยให้เป็นเขตท่องเที่ยวพิเศษที่ร่วมมือกันบริหารจัดการ” วีรพัฒน์ระบุ ทางที่สองคือ ไทยอาจต่อสู้คดีดังกล่าวต่อไป ในเรื่องบริเวณของปราสาทพระวิหารดั้งเดิมว่ามีเขตแดนอย่างไร ซึ่งอาจย้อนไปถึงพระเจ้าชัยวรมันที่ 14 เนื่องจากประเด็นปัญหาข้อพิพาทในตอนนี้ คือคำตัดสินของศาลเรื่อง “บริเวณโดยรอบ” (its vicinity) ของปราสาทพระวิหาร ซึ่งยังมีความคลุมเครือไม่ชัดเจน และทางที่สาม เป็นหน้าที่ของรัฐบาลใหม่ที่จะต้องถามตัวเองว่าจะจัดการความสัมพันธ์ระหว่างไทย-กัมพูชาว่าจะเป็นไปในทิศทางใด ว่าจะสู้ให้สุดตัว หรือจะหาทางออกที่ยอมรับได้ร่วมกัน ทั้งนี้ คงไม่ใช่เป็นแค่หน้าที่ของรัฐบาลที่ไปเจรจาแต่เพียงผู้เดียว เนื่องจากมีผู้เล่นในปัญหานี้หลายส่วน จึงเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการจากทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือนักวิชาการต่างๆ ที่มองข้อเท็จจริง แต่กลับถูกเรียกว่า “คลั่งชาติ” หรือ “ขายชาติ” บ้าง ให้เข้ามาทำงานร่วมกับรัฐบาลชุดใหม่ ต่อแนวทางการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทและการบริหารจัดการปราสาทพระวิหาร ทั้งนี้ ต้องเข้าใจว่า กัมพูชาเองไม่ได้อยากต่อสู้กับเราเรื่องชัยชนะด้านการทหารหรือความมั่นคง แต่เขาต่อสู้ตรงนี้ เนื่องจากต้องการเม็ดเงินและการลงทุนทางเศรษฐกิจ เปิดการท่องเที่ยว เพื่อนำเงินดังกล่าวไปพัฒนาประเทศ จึงควรต้องเห็นใจและหาวิธีที่จะอยู่ด้วยกันได้อย่างสมประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ‘นพดล’ เสนอ เปลี่ยน “พื้นที่ทับซ้อน” ให้เป็น “พื้นที่พัฒนาร่วมกัน” ด้าน นพดล ปัทมะ เห็นว่า ต่อประเด็นข้อเสนอให้กัมพูชาถอนฟ้องคดีในศาลโลก ตอนนี้อาจจะเกินมาไกลพอสมควร เกินกว่าจะถอยกลับได้ และจากการที่กัมพูชาให้ศาลตีความการตัดสินการพิจารณาคดีปี 2505 หากดูเราดูคะแนนการตัดสินของคณะผู้พิพากษาศาลโลกเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคมที่ผ่านมาแล้ว ก็สามารถเห็นแนวโน้มแล้วว่า ใครมีแนวโน้มที่จะแพ้มากกว่ากัน จากแนวโน้มดังกล่าว ตนจึงเห็นว่า ที่ผ่านมาทางการไทยพยายามประคับประคองเรื่องดังกล่าวให้เป็นปัญหาทวิภาคีมาตลอด โดยป้องกันไม่ให้เป็นปัญหาไตรภาคี หรือมีส่วนอื่นมาเกี่ยวข้อง เนื่องจากเห็นแล้วว่าผลที่ออกมาไม่น่าจะเป็นผลดีต่อฝ่ายไทยนัก ทั้งนี้ ตนจึงเสนอทางออกคือ ให้ทั้งสองประเทศพัฒนาผลประโยชน์ร่วมกัน จากพื้นทีทับซ้อน (Overlapping Claim Area) ให้กลายเป็นพื้นที่พัฒนาร่วมกัน (Joint Development Area) และในฐานะนักการเมือง ได้เสนอด้วยว่า ควรให้มีการทำประชามติไปเลยเพื่อชี้ให้เห็นว่า ประชาชนเห็นว่าเรื่องนี้ควรจะจัดการอย่างไร ควรนำคดีไปสู้ต่อที่กรุงเฮกหรือไม่ หรือจะปล่อยให้เป็นไปเช่นนี้ นอกจากนี้ นพดลยังเห็นว่า เรื่องพิพาทปราสาทเขาพระวิหาร เป็นเรื่องที่ใหญ่เกินกว่าพรรคใดพรรคหนึ่งจะทำงานเองได้ จึงเสนอให้เชิญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาเป็นคณะกรรมการร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มทางการเมืองต่างๆ พรรคการเมืองต่างๆ นักวิชาการ และสื่อมวลชน เพื่อให้มีการหารือและตัดสินใจร่วมกันที่ยอมรับได้เป็นส่วนใหญ่ของสังคม 'บวรศักดิ์' แนะ ไทยต้องแสดงความเป็นอารยะต่อสังคมนานาชาติ เช่นเดียวกับ บวรศักดิ์ อุวรรณโณที่เห็นว่า ถ้ากัมพูชายังให้ศาลตีความคำพิพากษาเมื่อปี 2505 ไทยน่าจะมีความเสี่ยงในการแพ้ จึงควรจะให้มีการถอนคำร้องของกัมพูชาออกจากศาลโลก แต่คำถามคือ จะทำอย่างไรให้กัมพูชายอมถอนการตีความดังกล่าวออก เพราะความต้องการของกัมพูชา ไม่ใช่เป็นเพราะคำพิพากษาเหนือดินแดนเท่านั้น ซึ่งอาจส่งผลให้เขาได้ดินแดนเพิ่มมาเพียงหนึ่งตารางกิโลเมตรหรืออะไรก็ตามแต่ แต่การได้ชัยชนะของคำพิพากษาของศาลโลก ยังส่งผลให้รัฐบาลฮุนเซน ได้อำนาจการเมืองเบ็ดเสร็จในสภา ดังนั้น คงเป็นไปไม่ได้ที่จะให้กัมพูชาถอนคดีออก คำถามคือว่า เราควรต้องทำอย่างไรให้เราอยู่ในสถานะที่ดีที่สุด บวรศักดิ์ เสนอว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องทำให้คนในสังคมโลกและประชาคมนานาชาติเห็นว่าเราเป็นสังคมที่มีอารยะ และเคารพกฎหมายระหว่งประเทศ หากไทยยังคงยืนยันที่จะปฏิเสธกลไกระหว่างประเทศต่างๆ คงจะเป็นผลร้ายต่อประเทศมากกว่าผลดี อาการอย่างนี้ต้องเลิกเสีย เพราะแสดงถึงความไม่แยแสต่อสันติวิธี ไม่แยแสต่อความเคารพกฎหมายระหว่างประเทศ และไม่แยแสต่อประชาคมโลก การกระทำดังกล่าวนี้ ไม่ใช่วิสัยของชาติที่จะได้การยอมรับและการสนับสนุนจากนานาชาติ ดังนั้น หากไทยไม่อยากให้เกิดความเสียหายในทางระหว่างประเทศ แนวทางการดำเนินการแก้ไขจัดการข้อพิพาท จึงต้องระวังความรู้สึกระหว่างประเทศให้มากขึ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net