Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เพื่อนทางเฟซบุ๊คของผมคนหนึ่งระบายความในใจว่า บังเอิญเขาไปโต้แย้งกับพระรูปหนึ่งซึ่งอยู่ในวงการกิจกรรมทางสังคมด้วยกัน เพราะนึกว่าท่านจะใจกว้างแต่ที่ไหนได้กลับโดนท่านกล่าวหาว่า “กำเริบเสิบสาน” ซึ่งคำว่า “กำเริบเสิบสาน” มันมีความหมายขัดแย้งกับความเท่าเทียมในความเป็นคนอย่างที่ไม่อาจยอมรับได้ ผมเองพอจะเข้าใจความรู้สึก “รับไม่ได้” ของเพื่อนคนดังกล่าว และเข้าใจดีว่าการที่เรานั่งถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์ความคิดเห็นของกันและกันบนพื้นฐานความเท่าเทียมในความเป็นคนไม่ได้กับพระสงฆ์นั้น เป็นเรื่องปกติในสังคมไทย หากจะมีพระบางรูปที่เปิดใจรับฟังการวิพากษ์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมาได้ นั่งถกเถียงกับเราได้อย่างไม่ถือสูง-ต่ำ ต้องถือว่าเป็นกรณีพิเศษมากๆ ที่เป็นเช่นนี้ ผมคิดว่ามีสาเหตุหลักๆ อย่างน้อย 3 ประการ คือ ประการแรก สถานะของพระสงฆ์ไทยนั้นมีลักษณะเป็นชนชั้นในสองความหมาย คือ 1) เป็นสถานะที่เชื่อกันว่าสูงกว่าฆราวาสในทางธรรม เช่น ที่เรามักได้ยินกันอยู่เสมอว่า โยมมีศีลแค่ 5 ข้อ พระมี 227 ข้อ (รักษาได้ครบหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง) ฉะนั้น พระสงฆ์จึงอยู่ในฐานะที่เราต้องเคารพกราบไหว้ เชื่อฟังคำสั่งสอน และกตัญญูรู้คุณท่าน เดิมทีสถานะเช่นนี้อาจมีความศักดิ์สิทธิ์อยู่มาก เนื่องจากแหล่งการศึกษาของประชาชนมีเพียงวังกับวัด พระสงฆ์มีบทบาทเป็นครูบาอาจารย์ที่สอนทั้งความรู้ทางธรรมทางโลกปะปนกันไป แต่ปัจจุบันโลกเปลี่ยนไปมากแล้ว สถานะเหนือกว่าของพระสงฆ์ การเรียกร้องการยอมรับนับถือจากสังคมโดยที่พระสงฆ์สูญเสียบทบาทของความเป็นครูบาอาจารย์แบบดั้งเดิมไปแล้วนั้น จึงอาจถูกตั้งคำถามจากผู้คนบางส่วนได้ 2) พระสงฆ์ถูกสถาปนาให้มีสมณศักดิ์ หรือมีศักดินาพระ ฉะนั้น เมื่อมีสถานะที่เชื่อว่าเหนือกว่าในทางธรรมบวกกับวัฒนธรรม “ยศช้างขุนนางพระ” ยิ่งทำให้พระสงฆ์รู้สึกว่าตนเองสูงส่งกว่า หรืออยู่เหนือกว่าฆราวาสทั่วไปมากยิ่งขึ้น มันจึงเป็นเรื่องปกติที่ใครก็ตามเพียงแค่เปลี่ยนสถานะจากฆราวาสเป็นพระภิกษุได้ไม่นาน ก็รู้สึกได้ทันทีว่าตนมีสถานะสูงกว่าฆราวาส มักมีแนวโน้มที่จะไม่ฟังความคิดเห็นจากฆราวาส โดยเฉพาะที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับพุทธศาสนาด้วยแล้ว ยิ่งคิดว่าตนเองรู้ดีกว่า เมื่อเทศนาหรือแสดงทัศนะทางศาสนา หรือทัศนะทางสังคมการเมืองที่อ้างอิงจุดยืนของพุทธศาสนาก็มักคิดว่า ตนเองกำลังประกาศ “สัจธรรม” ที่ใครๆ จะโต้แย้งไม่ได้ (คนโต้แย้งไม่รู้จริง มีอคติ กระทั่งเป็นมิจฉาทิฐิ) ประการที่สอง มีบางคน (วิจักขณ์ พานิช) เคยตั้งข้อสังเกตว่า มันอาจผิดตั้งแต่แรกที่เราไปใช้คำ “ราชาศัพท์” กับพระพุทธเจ้า เพราะที่จริงแล้วไม่สมควรทำเช่นนั้นโดยประการทั้งปวง เนื่องจาก 1) เจ้าชายสิทธัตถะสละสถานะชนชั้นกษัตริย์เป็นคนธรรมดาตั้งแต่ออกบวชแล้ว 2) เมื่อตรัสรู้แล้วยิ่งไม่ยึดติดในสิ่งใดๆ เลย ยิ่งไม่ควรจะใช้คำราชาศัพท์ที่เป็นการยกสถานะของพุทธะให้สูงเหนือมนุษย์เลย ความสัมพันธ์ระหว่างพุทธะกับเราควรเป็นความสัมพันธ์ที่อยู่บนพื้นฐานความเสมอภาคในความเป็นคน แต่วัฒนธรรมการใช้ราชาศัพท์กับพุทธะ และใช้ราชาศัพท์กับพระสงฆ์เป็นวัฒนธรรมที่ยกให้พระพุทธเจ้า และพระสงฆ์อยู่เหนือหลักความเสมอภาคในความเป็นคน ซึ่งขัดแย้งกับเรื่องของการละอัตตาหรือตัวกูของกู เพราะวัฒนธรรมเช่นนี้เท่ากับเป็นการเพิ่มอัตตาหรือตัวกูของกูให้ใหญ่เกินปกติ ทำให้ “พระกับเจ้า” อยู่ในประเภทเดียวกันอย่างที่เรียกว่า “พระสงฆ์องค์เจ้า” ฉะนั้น พระกับเจ้าก็เลยแตะไม่ได้ วัฒนธรรมเช่นนี้อาจเข้มข้นมากเป็นพิเศษในพุทธเถรวาทแบบไทย ส่วนพระสงฆ์มหายานนั้นเขาไหว้ หรือทำความเคารพฆราวาสได้ และดูเหมือนจะอ่อนน้อมมากๆ ด้วย ที่ว่ามานี้ไม่ใช่ต้องการเรียกร้องให้พระไทยทำแบบพระมหายาน แต่ต้องการชี้ให้เห็นความซับซ้อนของปัญหาว่า ทำไมพระไทยจึงไม่มีวัฒนธรรมเปิดใจรับการวิพากษ์วิจารณ์ หรือร่วมถกเถียงเหตุผลกับฆราวาสบนจุดยืนความเสมอภาคในความเป็นคน ประการที่สาม ชาวพุทธไทยมักมองการวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงลบ อย่างที่อ้างกันว่าต้องดูจิตตัวเองเท่านั้น อย่าไปวิจารณ์คนอื่น วิจารณ์สังคม ศาสนาพุทธเป็นเรื่องของการปฏิบัติไม่ใช่เรื่องของการวิพากษ์วิจารณ์ ความเข้าใจดังกล่าวนี้ถือว่าคลาดเคลื่อนอย่างถึงราก เพราะพุทธศาสนาอุบัติขึ้นภายใต้วัฒนธรรมการวิพากษ์วิจารณ์ของสังคมอินเดียโบราณที่มีการะปทะทางความคิดความเชื่อของลัทธิปรัชญาและศาสนาต่างๆ มากมาย การเผยแผ่พุทธธรรมตั้งแต่ปฐมเทศนาพระพุทธเจ้าก็วิจารณ์ลัทธิกามสุขัลลิกานุโยค และอัตตกิลมถานุโยคแล้ว (วิจารณ์แบบไม่มีชิ้นดีเลย) เมื่อสอนเรื่องปฏิจจสมุปบาทก็วิจารณ์และปฏิเสธความเชื่อเรื่องพระพรหมสร้างโลก สอนอนัตตาก็วิจารณ์ความเชื่อเรื่องอัตตา และยังวิจารณ์ระบบชนชั้น วิจารณ์การนับถือต้นไม้ภูเขาเป็นของศักดิ์สิทธิ์ วิจารณ์พิธีล้างบาปในแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ พิธีบูชายัญญ์ เป็นต้น ในเรื่องทางจิตใจพระพุทธเจ้าก็ไม่สอนให้ทำสมาธิให้จิตนิ่งสงบแบบทื่อๆ แต่ให้สงบเพียงเพื่อใช้ “วิปัสสนา” คือ การวิจารณ์กิเลส วิจารณ์เล่ห์กลต่างๆ ของอัตตาตนเองเพื่อเกิดปัญญารู้เท่าทัน และไม่ถูกทำให้เป็นทุกข์ทางจิตใจ หลักกาลามสูตรนั้นชัดเจนว่า พระพุทธเจ้าต้องการให้เราใช้เสรีภาพทางปัญญาอย่างถึงที่สุด และพระองค์ยังเคยเตือนชาวพุทธว่า หากใครมาติเตียนพระรัตนตรัยก็อย่าโกรธ แต่พึงมีสติชี้แจงไปตามความเป็นจริง ฉะนั้น พุทธแบบดั้งเดิมเกิดขึ้นท่ามกลางวัฒนธรรมการวิพากษ์วิจารณ์ และมีวัฒนธรรมการวิพากษ์วิจารณ์ของตนเองตามหลักกาลามสูตร และหลักการไม่ควรโกรธคนวิพากษ์วิจารณ์อย่างชัดแจ้ง แต่ที่พระสงฆ์และสังคมพุทธบ้านเราปัจจุบันแปลกแยกจากวัฒนธรรมการวิพากษ์วิจารณ์ เพราะพุทธเถรวาทแบบไทยถูกพัฒนามาภายใต้วัฒนธรรมเจ้าขุนมูลนาย “ภิกษุ” ซึ่งแปลว่า “ผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร” หรือแปลว่า “ผู้ขอ” ที่มีชีวิตอยู่เนื่องด้วยการอาศัยปัจจัยดำรงชีพจากผู้อื่น ถูกยกสถานะให้เป็นอีกชนชั้นหนึ่ง อยู่ในประเภทเดียวหรือเป็นพวกเดียวกับเจ้า เป็น “พระสงฆ์องค์เจ้า” จึงสำคัญตัวเองว่า ใครๆ จะแตะต้องไม่ได้ ทว่าเมื่อโลกเปลี่ยนไป วัฒนธรรมชนชั้นแบบ “ยศช้างขุนนางพระ” ย่อมจะถูกท้าทายอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ คำถามจึงอยู่ที่ว่าชาวพุทธและพระสงฆ์ที่ยืนยันว่าศาสนาพุทธเป็น “ศาสนาแห่งเหตุผล” จะเผชิญกับการท้าทายอย่างสร้างสรรค์ได้แค่ไหน อย่างไร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net