Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

“ดูกร ชาวพุทธ ในโลกนี้มีคนที่ไม่ใช่ชาวพุทธมากมายที่เป็นคนดีกว่าชาวพุทธ ในโลกนี้มีคนชอบทำสมาธิวิปัสสนาเยอะแยะที่ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นคนดี ในโลกนี้มีคนที่ไม่มีศาสนา (Secular) จำนวนไม่น้อยที่เข้าใจพุทธศาสนาดีกว่า หรือศึกษาพุทธปรัชญาได้ลึกซึ้งกว่าชาวพุทธ ในโลกนี้มีคนอีกนับไม่ถ้วนที่ปฏิบัติธรรมศึกษาพุทธธรรมเป็นประจำมิได้ขาดแต่หลงผิดในเรื่องทางสังคมการเมืองอย่างมืดบอด และในโลกนี้อาจมีคนดำเนินชีวิตตามครรลองพุทธหรือกระทั่ง‘หลุดพ้น’ได้โดยไม่รู้จักพุทธศาสนา” (บางส่วนของบทความ “อสมการกรรม” ของ มุกหอม วงษ์เทศ http://image.gmember.com/all_monthly/all_monthly_inner.php?id=2396&group_id=5) เคยมีพระบอกกับผมว่า “คำ ผกา เขียนวิจารณ์พระในมติชนสุดสัปดาห์แรงมาก ในฐานะที่โยมเคยบวชเรียนมาก่อน เขียนหนังสือเป็น ช่วยเขียนตอบโต้ คำ ผกา แทนพระหน่อยได้ไหม” ผมได้แต่ยิ้มๆ (เข้าใจว่าท่านคงไม่เคยอ่านประชาไท) นึกในใจว่าปกติพระต้องบอก “ทางสวรรค์” (นี่หว่า) แต่คราวนี้พระกำลังบอก “ทางนรก” ซะแล้ว จำได้ว่าเมื่อสมัยเป็นสามเณรช่วงแรกๆ ที่เข้ามาเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ ได้ทราบเรื่องที่ ส.ศิวรักษ์ วิจารณ์ว่า “พระผู้ใหญ่ในกรุงเทพฯจำนวนหนึ่งมีเมียเก็บ” ปฏิกิริยาของพระเณรตอนนั้นไม่พอใจมากเลย ผมเองก็ไม่พอใจ แต่พออยู่กรุงเทพฯ นานไป ก็พบว่าคำวิจารณ์นั้นมีส่วนจริงอย่างยากจะปฏิเสธได้ ต่อมาความรู้ทางพุทธศาสนาที่ผมได้รับ นอกจากจะมาจากการอ่านงานของท่านพุทธทาส และพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) แล้ว ความรู้พุทธศาสนาเชิงวิพากษ์ทั้งในแง่มิติประวัติศาสตร์ มิติทางสังคมของพุทธศาสนา และพุทธศาสนาต่างนิกาย ต้องถือว่าผมได้จากการอ่านงานของ ส.ศิวรักษ์ มากเป็นพิเศษ ผมคิดว่าหากชาวพุทธโดยเฉพาะพระสงฆ์เปิดใจกว้างต่อคำวิพากษ์วิจารณ์ของ ส. ศิวรักษ์ สุจิตต์ วงษ์เทศ หรือแม้แต่ปัญญาชนรุ่นใหม่อย่าง คำ ผกา มุกหอม วงษ์เทศ เป็นต้น สังคมสงฆ์ หรือวงการศึกษาพุทธศาสนาจะก้าวหน้ากว่าที่เป็นอยู่มากทีเดียว ผมไม่คิดว่าคนเหล่านี้จะคิดร้ายต่อพุทธศาสนา อย่าง ส.ศิวรักษ์ วิจารณ์ตรงและแรงมาก แต่ในสังคมเราแทบไม่มีใครแสดงออกให้เห็นว่า เขารักและเชิดชูพุทธศาสนาที่เป็นแก่นแท้ และเคารพความหลายกหลายทางความเชื่อในพุทธศาสนามากเท่า ส.ศิวรักษ์ ส่วนคนอื่นๆ แม้เขาอาจวิจารณ์จากวงนอก อาจไม่ใช่ชาวพุทธประเภทแก่วัด หรือแม้ไม่นับถือพุทธก็ตาม ทว่าโดยภาพรวมของสาระที่เขาวิจารณ์แล้ว เราก็สามารถเข้าใจได้ว่าเขาวิจารณ์เพื่อให้สังคมดีขึ้น เช่น ดีขึ้นในแง่ของการยืนยันเสรีภาพ ความเท่าเทียมในสิทธิที่จะตั้งคำถามวิพากษ์วิจารณ์ การตั้งคำถามท้าทายให้พระสงฆ์หรือชาวพุทธทบทวนบทบาทของตนเอง หรือแม้กระทั่งได้ฉุกคิดเกี่ยวกับคำสอนบางอย่างของพุทธศาสนาที่น่าสงสัยว่าทำไมพระพุทธเจ้าสอนอย่างนั้น นั่นใช่คำสอนของพระพุทธเจ้าจริงหรือไม่ หรือแม้กระทั่งพระพุทธเจ้าสอนเช่นนั้นผิดหรือไม่ เป็นต้น จะว่าไปแล้ว พระเราก็วิจารณ์ความคิดอื่นๆ เอาไว้มากเช่นกัน อย่างท่านพุทธทาส พระพรหมคุณาภรณ์ ก็วิจารณ์วัฒนธรรมตะวันตกเอาไว้มาก ยิ่งพระเซเลบแห่งยุคปัจจุบันยิ่งวิจารณ์ตั้งแต่เรื่องไม้จิ้มฟันยันเรือรบ ฉะนั้น หากจะถูกคนอื่นๆ วิจารณ์กลับบ้างก็ต้องเปิดใจรับได้เช่นกัน กล่าวเฉพาะวิธีการวิพากษ์วิจารณ์ของพระสงฆ์ที่สังคมยกย่องว่าเป็นปราชญ์ คือท่านพุทธทาส และพระพรหมคุณาภรณ์ ผมชอบวิธีวิพากษ์วิจารณ์ของท่านพุทธทาสมากกว่า วิธีของพระพรหมคุณาภรณ์แม้จะอ้างอิงข้อมูลแน่นหนา แต่ท่วงทำนองการวิจารณ์อาจดูเหมือนเป็นการผลักใสคนเห็นต่างออกไปจาก “ความรู้ที่ถูกต้อง” ของพุทธศาสนา หรือกระทั่งผลักออกไปจาก “ความเป็นชาวพุทธ” เลยด้วยซ้ำ เช่นถ้อยคำที่ท่านใช้ในกรณีวิจารณ์สันติอโศก ธรรมกาย และกรณีวิจารณ์หนังสือ “เหตุเกิด พ.ศ.1” ของ พระมโน เมตตานนฺโท (ปัจจุบันลาสิกขาบทแล้ว) เป็นต้นว่า “ทำพระธรรมวินัยให้วิปริต” “จาบจ้วง” หรือ “ทำลายพุทธศาสนาแบบถอนรากถอนโคน” ฯลฯ ซึ่งมีลักษณะประณาม หรือพิพากษา “เจตนา” หรือ “ตัวตน” ของฝ่ายที่ตีความ หรือมีความเห็นต่างต่อคำสอนหรือเรื่องราวทางพุทธศาสนา ชนิดที่ (อาจทำให้เข้าใจไปได้) ว่า ถ้าคุณเชื่อผิดๆ สอนผิดๆ แบบนั้นก็เท่ากับคุณทำลายพุทธศาสนา คุณไม่ควรจะเป็นชาวพุทธต่อไป เป็นต้น (ขอแทรกตรงนี้ว่า หนังสือ “กรณีสันติอโศก” ของพระพรหมคุณาภรณ์ถูกใช้อ้างอิงอย่างมีน้ำหนักมากในการตัดสินให้พระสงฆ์ชาวอโศกพ้นจากสถานะของ “พระสงฆ์ไทย” น่าจะมีน้ำหนักมากกว่างานวิจัยของ สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ที่ศาลใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินยึดทรัพย์คุณทักษิณด้วยซ้ำ แต่ต้องเข้าใจว่า “กรณีสันติอโศก” มีน้ำหนักเพราะว่าสันติอโศกอยู่ตรงข้ามกับมหาเถรสมาคม ขณะที่หนังสือ “กรณีธรรมกาย” ที่พระพรหมคุณาภรณ์วิจารณ์ว่า “คำสอนเรื่องนิพพานเป็นอัตตา” ทำลายพุทธศาสนาแบบถอนรากถอนโคนเช่นกัน กลับไม่มีน้ำหนักให้มหาเถรสมาคมทำอะไรกับเจ้าสำนักวัดพระธรรมกายได้เลย เนื่องจากวัดพระธรรมกายมีความสัมพันธ์สนิทแนบแน่นกับพระผู้ใหญ่ฝ่ายมหาเถรสมาคม) แต่เราแทบจะไม่เห็นท่วงทำนองแบบนี้ในวิธีวิจารณ์ของท่านพุทธทาส ในหนังสือ “ธรรมะกับการเมือง” ท่านพุทธทาสชี้ว่า สังคมไทยขาดอิสรภาพหรือเสรีภาพทางปัญญาในเรื่องหลักๆ เช่น 1) ขาดอิสรภาพทางปัญญาในทางศาสนา เพราะถือว่าศาสนาเป็นเรื่องสูงสุดไม่กล้าแตะ ไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์ ถือเป็นโมหาคติ และการหลงงมงายในลัทธิประเพณีต่างๆ เรื่องใหญ่หลวงของพุทธบริษัท คือความไม่มีอิสรภาพในการใช้ความคิดนึกเลือกเฟ้นอย่างที่เรียกว่า “ธรรมวิจัยสัมโพชฌงค์” (น.103) 2) ความเป็นทาสทางปัญญาฝ่ายโลก คือเป็นทาสทางปัญญาของฝรั่ง (น.107) เพราะ (1) ไม่มีอิสรภาพในการที่จะรวบรวมเอามาสำหรับวินิจฉัย เพราะศึกษาไม่มากทุกทฤษฎี ทุกแง่มุม (2) ไม่มีอิสรภาพในการที่จะวินิจฉัย เพราะไปติดเฮโรอีนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง (ซ้าย-ขวา) (3) เราไม่มีอิสรภาพในการที่จะเลือก ไม่เปิดโอกาสให้เลือก ไม่มีสติปัญญาที่จะเลือก มันก็คือไม่มีอิสรภาพที่จะเลือก (4) ไม่มีอิสรภาพที่จะเลือกก็เลยไม่มีอิสรภาพที่จะปฏิบัติ เราปฏิบัติให้ถูกต้องไม่ได้ เพราะเรามันเลือกไม่ได้ (น.109) และท่านเสนอว่า ชาวพุทธควรจะมีเสรีภาพทางปัญญา กล่าวคือ 1) อิสรภาพตามความเหมาะสม คือ (1) เราจะมีอิสรภาพในการรวบรวม ไม่เพียงแต่อ้างอิงทฤษฎี แต่สามารถรวบรวมเอาข้องเท็จจริงตามธรรมชาติ ของพระเจ้า มากำหนดความหมายของคำว่าการเมือง เช่น การเมืองที่ธรรมชาติจัด การเมืองที่พระเจ้าจัด (2) อิสรภาพในการวินิจฉัย เราจะเป็นคนเชื่อถือตัวเอง เคารพตัวเอง ยึดตัวเองเป็นหลัก ตัวเองคือธรรมะ เมื่อยึดธรรมะก็มีอิสระในการวินิจฉัย ก็จะได้ความหมายว่า การเมืองคือการจัดการทำให้คนหมู่มากอยู่ร่วมกันอย่างผาสุกโดยไม่ต้องใช้อาชญา (3) อิสรภาพในการเลือก คือเลือกระบบการเมืองที่เหมาะกับสภาพความเป็นจริงของสังคมเรา สังคมนิยม หรือประชาธิปไตยที่เหมาะกับเรา (4) อิสรภาพในการปฏิบัติ ต้องปฏิบัติให้เหมาะกับสภาพทรัพยากรที่เรามี ความสามารถที่เรามี (น.109) 2) พุทธบริษัทมีอิสระตามหลักกาลามสูตร พุทธบริษัทนิยมความจริงเด็ดขาดเป็น ultimate truth ยึดถือสิ่งที่มองเห็นอยู่จริง พิสูจน์ได้จริงเป็นหลัก หลักกาลามสูตรเป็นการให้อิสรภาพถึงที่สุดจากพระพุทธเจ้า เกี่ยวกับการเชื่อและการรับเอาไปถือปฏิบัติ (น.116) ฉะนั้น โดยหลักการแห่งเสรีภาพทางปัญญาที่ว่านี้ จึงทำให้ท่านพุทธทาสมีเสรีภาพอย่างยิ่งในการตีความคำสอนพุทธศาสนาฉีกแนวออกไปจากชาวพุทธฝ่ายจารีตนิยมอย่างถึงราก เช่นตีความว่า “ธรรมคือพระเจ้า” “กฎธรรมชาติ” หรือ “กฎอิทัปปัจจยาคือพระเจ้า” ขณะที่ชาวพุทธฝ่ายจารีตนิยมมักรังเกียจคำว่า “พระเจ้า” แต่ท่านพุทธทาสกลับพยายามเสนอความหมายด้านบวกของพระเจ้าทั้งตามคติของศาสนาที่นับถือพระเจ้า และความหมายใหม่ที่ท่านนิยามขึ้นเอง หลักเสรีภาพทางปัญญาที่ท่านพุทธทาสเสนอนี้ เป็นเรื่องที่ชาวพุทธปัจจุบันควรนำมาไตร่ตรอง ในทางกลับกันคนที่ไม่ใช่ชาวพุทธแนวจารีตนิยม หรือแม้กระทั่งไม่นับถือพุทธก็มีสิทธิ์ที่จะใช้หลักเสรีภาพดังกล่าวนี้ตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์พุทธศาสนา วัฒนธรรมการทำความดีในรูปแบบของ “การปฏิบัติธรรม” ของชาวพุทธปัจจุบันได้อย่างถึงรากเช่นกัน อย่างที่มุกหอมทำในบทความที่ยกมาข้างต้น วันนี้ผมฟังสปอร์ตโฆษณาทางสถานีวิทยุ มีเสียง (ผู้พูดบอกว่าตนเป็นทหาร) พูดถึงความดีต่างๆ ของในหลวงไป พร้อมกับประณามคนที่มองในหลวงต่างจากตัวเองไปด้วย ผมไม่อยากเห็นชาวพุทธที่อ้างว่ารักพุทธศาสนา ปกป้องพุทธศาสนาใช้วิธีตอบโต้เช่นนี้กับฝ่ายที่เห็นต่าง ผมคิดว่าวิธียกย่องความดีงามของของบุคคลหรือศาสนาที่ตนเองศรัทธา พร้อมกับประณามสาปแช่งคนที่คิดต่างจากตัวเอง ย่อมไม่ใช่วิธีการที่พระพุทธเจ้าสอนให้ทำ!

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net