Skip to main content
sharethis

อีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ ปฏิบัติการเพชรเกษม 41 ก็จะอุบัติขึ้นที่จังหวัดชุมพร เพื่อประกาศว่า คนภาคใต้ไม่ต้องการอุตสาหกรรมหนัก อุตสาหกรรมสกปรก เมกะโปรเจ็กต์ ที่จะเข้าพร่าผลาญทรัพยกากรของคนภาคใต้ คำถามที่ว่า “ปฏิบัติการเพชรเกษม 41” มีที่มาที่ไปอย่างไร “สมบูรณ์ กำแหง” แกนนำเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล ในฐานะผู้ประสานงานแผนปฏิบัติการเพชรเกษม 41 มีคำตอบ เชิญอ่าน ณ บัดนี้ …………………………………………………….. ปฏิบัติการเพชรเกษม 41 มีที่มาที่ไปอย่างไร ที่มาที่ไปเพชรเกษม 41 เกิดจากการสุมหัวของพวกเรา ที่เคลื่อนไหวคัดค้านโครงการขนาดใหญ่ในภาคใต้ เรามานั่งคุยกันว่าจะขยับเรื่องพวกนี้อย่างไร พอดีกำลังจะได้รัฐบาลใหม่ด้วย ก็เลยมานั่งประมวลเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้น ที่จริงเรื่องพวกนี้เราทำกันมาเยอะ ที่ผ่านมาต่างที่ต่างคนต่างทำ ต่างที่ต่างเคลื่อนไหว เลยหารูปแบบการเคลื่อนไหวร่วมกันให้เป็นเรื่องเป็นราว ก็เลยคิดเรื่องเพชรเกษม 41 ขึ้นมา เป็นการเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ ถ้าเปรียบเทียบ ภาคใต้เป็นภาคที่เส้นทางการเดินทางยาว มีถนนสายหลักคือถนนเพชรเกษม 4 อีกสายคือเพชรเกษม 41 เลยคิดง่ายๆ ว่า ถ้าอะไรที่จะมาลงบ้านเรา ผ่านมาทางเพชรเกษม 41 มันจะต้องสะอาดบริสุทธิ์ ก็เลยเกิดปฏิบัติการเพชรเกษม 41 ทำไมถึงต้องมีปฏิบัติการเพชรเกษม 41 เพชรเกษม 41 จริงๆ แล้วไม่ใช่องค์กร ไม่ได้เป็นกลไกอะไร เราทำให้มันสัญลักษณ์ของขบวนการคนใต้ ที่จะออกมาบอกว่า เราอยากจะเป็น อยากจะได้อะไร ไม่ต้องการอะไร พอเอาวิธีคิดนี้เข้ไปจับเราก็พบว่า ขบวนการเพชรเกษม 41 มันเริ่มมานานแล้ว น่าจะเริ่มจากจุดที่พี่น้องจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ออกมาปกป้องบ้านตัวเอง เพชรเกษม 41 พูดอีกทีก็คือ ประตูลงสู่ภาคใต้ เมื่อลงไปทางใต้เรื่อยๆ ก็จะเริ่มเห็นคนใต้เริ่มออกมาปกป้องบ้านตัวเอง เริ่มมีข้อเสนอว่า เขาต้องการ หรือไม่ต้องการอะไร เอาเข้าจริงขบวนการนี้ได้เริ่มมานานแล้ว ถ้าเราย้อนไป การเคลื่อนไหวร่วมกันคราวนี้ เราจึงใช้สัญลักษณ์เพชรเกษม 41 ในการปฏิบัติการ เพื่อดึงภาพความต้องการของคนสองฟากทางเพชรเกษม 41 ออกมาให้เห็นชัดเจนขึ้น เราคิดว่าจังหวะที่รัฐบาลใหม่กำลังร่างนโยบายน่าจะเหมาะที่สุดในการออกมาแสดงท่าทีของเรา เพราะจากการติดตามการหาเสียงในช่วงเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยยืนยันว่า มีนโยบายสนับสนุนและผลักดันโครงการขนาดใหญ่ในภาคใต้ ไม่ใช่เฉพาะรัฐบาลนี้ รัฐบาลที่ผ่านๆ มา ก็ผลักดันโครงการนี้มาตลอด แต่รัฐบาลนี้ค่อนข้างประกาศชัดเจนว่าจะหนุนเมกะโปรเจ็ต์ทุกโครงการในภาคใต้ ไม่ว่าจะเป็นสะพานเศรษฐกิจ หรือ Land bridge เชื่อมจังหวัดสงขลากับจังหวัดสตูล เรื่องพลังงานที่กำลังผลักดันให้เกิดโรงไฟฟ้าถ่านหินในหลายจังหวัด หรือโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เพราะถ้าต้องการผลักดันให้ภาคใต้เป็นเขตอุตสาหกรรม มันต้องหาพลังงานรองรับ หลังจากนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดเต็มขยายตัวไม่ออก เขาก็พยายามขนอุตสาหกรรมหนักลงภาคใต้ เราเลยต้องสื่อสารกับรัฐบาลให้เขารู้ให้ได้ว่า สิ่งเราไม่ค่อยเห็นด้วยเท่าไหร่ เราจึงต้องออกมาทักท้วงผ่านปฏิบัติการเพชรเกษม 41 ไม่ใช่ครั้งเดียวจบ ปฏิบัติการนี้เราทำเป็นกระบวนการ ตามจังหวะเวลาที่เหมาะสม หลังจากนี้ไปน่าจะสนุกขึ้น รูปแบบการเคลื่อนไหวจะเป็นอย่างไร ที่จริงเราทำไปแล้ว 2–3 จังหวะ ก่อนหน้านี้ ช่วงเดือนกรฎาคม 2554 จะเห็นว่ามีเวทีของบริษัทที่ปรึกษา ที่สำนักคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จัดขึ้นมาทบทวนแผนพัฒนาภาคใต้ 7 เวที 7 จังหวัด ซึ่งเป็นเรื่องที่เราไม่เห็นด้วยมาตลอด เขาพยายามถามคนใต้ว่า จะเอาอย่างไรกับการพัฒนาชายฝั่งภาคใต้ ตอนนั้นเราก็มีปฏิบัติการของเราในแต่ละจังหวัด เราเข้าไปร่วมแสดงความคิดเห็น ถ้าเห็นท่าไม่ดี ก็ต้องพูดความจริงกันในเวที จนเวทีล้มไป 2–3 เวที นี่เป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการเพชรเกษม 41 แล้วเวทีของสถาบันวิจัย จุฬามหาวิทยาลัย ที่เข้ามาศึกษาเรื่อง Land Bridge หรือสะพานเศรษฐกิจสงขลา–สตูล เราเห็นกระบวนการที่เขามาทำตลอดหนึ่งปี เราไม่ชอบ เพราะไม่เคยถามชุมชนหลังท่าเรือปากบาราเลย ไม่เคยไปถามคนในพื้นที่ที่จะถูกเวนคืนที่ดิน หรือถูกไล่ออกจากที่ดินทำกิน ถ้าปล่อยให้โครงการนี้เกิดขึ้น อยู่ๆ คุณจะมาสรุปแล้วถามภาคีที่ไม่มีส่วนได้เสีย เรารู้สึกว่ามองข้ามหัวคนที่เดือดร้อนจากโครงการนี้ กระบวนการแบบนี้ เราไม่เห็นด้วย เราไปร่วมเวทีแล้วประกาศบนเวทีว่า เวทีนี้เป็นเวทีที่ไม่ชอบธรรม อันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติการเพชรเกษม 41 อาจจะเรียกว่าบทเรียนบทที่ 1 ก็ได้ ส่วนวันที่ 21–22 สิงหาคม 2554 คนจากหลายจังหวัดในภาคใต้ จะมารวมตัวกันที่จังหวัดชุมพร เพราะจุดนี้ถือว่าเป็นประตูสู่ภาคใต้ เพื่อจะบอกกับรัฐบาลว่า อะไรที่ควรจะเอาเข้ามาในภาคใต้ หรือไม่ควรเอาเข้ามาในภาคใต้ หลังจากนี้ก็เป็นจังหวะของแต่ละพื้นที่ ที่เคลื่อนไหวต่อไป ภาคีเครือข่ายที่เข้าร่วมมาจากไหนบ้าง ส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ที่โครงการขนาดใหญ่จะลง ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดสงขลา จังหวัดสตูล จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดชุมพร จังหวัดสุราษฎร์ธานี วันก่อนเพื่อนๆ จากจังหวัดตรังก็มานั่งคุย จังหวัดตรังเป็นพื้นที่ที่โรงไฟฟ้าถ่านหินจะขยับมาลง แล้วก็มีพี่น้อง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มาพูดคุยด้วย เพราะพื้นที่นี้จะมีอุตสาหกรรมถลุงเหล็กไปลงที่อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี คนในพื้นที่นี้เพิ่งรู้เรื่องจากเวทีสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาตินั่นแหละ เพราะฉะนั้น กำลังหลักๆ ก็จะมาจากกลุ่มที่เจออุตสาหกรรมหนักลงพื้นที่ ส่วนอื่นก็จะมีกลุ่มภาคีเครือข่ายต่างๆ ที่เป็นเพื่อนพ้องกัน บางส่วนที่ทำงานจัดการตัวเองอยู่แล้ว เช่น เครือข่ายปฏิรูปที่ดินอะไรพวกนี้ ผมคิดว่านี่แหละคือภาคีของคนใต้ ที่รักและหวงแหนภาคใต้ ซึ่งมีทะเลสองฝั่งอ่าวไทยกับอันดามัน เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ทุกคนจึงมีสิทธิ์เข้าร่วมปฏิบัติการเพชรเกษม 41 ตามความเข้าใจของคนทั่วไป คนมักจะมองว่าเราเป็นพวกค้านทุกเรื่อง แต่จริงๆ แล้ว ถ้าพูดโดยทั่วไป โครงการต่างๆ เหล่านี้เป็นการพัฒนาก็จริง แต่ขณะเดียวกัน กลุ่มเครือข่ายพวกเราไม่ต้องการการพัฒนาแบบนี้ มีข้อเสนอหรือทางเลือกอื่น ในการพัฒนาภาคใต้หรือไม่ จะอธิบายเบื้องต้น เพื่อความเข้าใจก่อนว่า เราเองค่อนข้างระวังนะ ภาคใต้ไม่ได้เป็นภาคที่เลือกพรรคเพื่อไทย แกนนำจัดตั้งรัฐบาลชุดปัจจุบัน เราจึงถูกจับตาพอสมควร ใครที่ออกมาเคลื่อนไหวดีไม่ดี จะถูกมองว่า เป็นเรื่องการเมือง เราจึงระวังจุดนี้มาก เราอยากบอกว่า ในขบวนการตรงนี้มีทั้งเสื้อเหลืองเสื้อแดงนะ และอาจจะมีเสื้อเขียวเสื้อหลากสี อันนี้เราไม่รู้ เรื่องสีเสื้อนี่ เรามองข้ามไปแล้ว เพราะเรื่องของเราไม่ใช่เรื่องการเมือง แต่เป็นเรื่องของคนใต้ที่ออกมาปกป้องตัวเอง คนที่รักทะเล รักป่าไม้ รักความเป็นปักษ์ใต้ กำลังพูดเรื่องการปกป้องบ้านตัวเอง ไม่ว่าคุณจะอยู่ส่วนไหน เราจะสื่อสารบอกเขาว่า ขออย่าเอาเรื่องสีเสื้อเข้ามา เพราะมันควรข้ามพ้นได้แล้ว ในส่วนของการอธิบายเรื่องของการพัฒนา จริงๆ เราก็มีปัญหากับคำนี้พอสมควร เคยมานั่งถกกันว่า มีคนกลุ่มหนึ่งในภาคใต้ ที่ไม่เอาแผนพัฒนาภาคใต้เอาเสียเลย ที้งที่จริงๆ แล้วความหมายของเราเนี่ย เราหมายถึงโครงการที่ไม่เหมาะสม เป็นโครงการขนาดใหญ่ โครงการที่ใหญ่โตเกินเหตุเข้ามาแย่งชิงทรัพยากรไปจากคนท้องถิ่น หลายโครงการ เช่น ท่าเรือน้ำลึกสองฝั่ง โรงไฟฟ้า อะไรแบบนี้ แม้กระทั่งนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ที่มีแผนจะเอาลงมาภาคใต้หลายจุด เกือบทั้งหมดก็เป็นพื้นที่ชายฝั่งทะเล เราไม่อยากให้มันเกิดขึ้น เพราะมันขัดแย้งกับความเป็นภาคใต้ ที่อุดสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหนก็แล้วแต่ ต้องกำหนดทิศทางการพัฒนาภาคใต้ให้ชัดเจน แต่ไม่ใช่แนวอุตสาหกรรมหนักแบบนี้ การถามคนใต้แบบเป็นเรื่องเป็นราว ควรจักกระบวนการที่เหมาะสม เราไม่ได้ปฏิเสธการพัฒนา เราเห็นด้วยกับการพัฒนา เราเห็นด้วยกับการทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น ขณะเดียวกันเราก็เชื่อว่าภาคใต้มีวิธีของตัวเองในการทำให้เศรษฐกิจแข็งแกร่งได้ ที่ผ่านมาคนทั้งประเทศก็เชื่อว่า ภาคใต้เป็นภาคที่มีทรัพยากรและก็มีรายได้ต่อหัวสูง พอนำตัวเลขมาเฉลี่ยดู เป็นรองก็แค่กรุงเทพมหานครเท่านั้น ถ้ารัฐบาลพัฒนาทรัพยากรพวกนี้ให้ดี พัฒนาการเกษตรให้มีคุณภาพ พัฒนาการประมง ดูแลทะเลทั้งสองฝั่งที่คุณปล่อยปละละเลยมาตลอด ไม่เคยดูแลรักษาปล่อยให้ใช้เครื่องมือผิดกฎหมายเต็มทะเลไปหมด ถ้าคุณกลับมาทบทวน คุณก็สามารถกลับมาจับสัตว์น้ำในทะเลได้เพียงพอ เรื่องการท่องเที่ยวภาคใต้มีจุดเด่นเยอะ ทะเลสองฝั่งพัฒนาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวได้หมด คุณยกระดับมันให้ดี สนับสนุนการท่องเที่ยวให้ดี สิ่งเหล่านี้มันเลี้ยงคนใต้ได้ ไม่จำเป็นต้องมีโครงการที่มันไม่สอดคล้องกับพื้นที่ออกมา นอกจากไม่จำเป็นจะต้องมีโครงการพัฒนาขนาดใหญ่แล้ว คนใต้ยังกลัวผลกระทบจากมลพิษอุตสาหกรรมด้วยใช้หรือไม่ มันปฏิเสธไม่ได้ว่า ตอนนี้กระแสมันแตกกระจายออกไปหลายเรื่อง อย่างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่จะมาตั้งที่ชุมพรบ้าง สุราษฎร์ธานีบ้าง พอเจอสถานการณ์สึนามิที่ญี่ปุ่น จนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มีปัญหา ผมว่าตรงนี้ชาวบ้านแทบไม่ต้องพูด รัฐบาลอ้าปากไม่ได้แล้ว นี่คือรูปธรรมของผลกระทบ ซึ่งคนในประเทศญี่ปุ่นเองก็ซึ้งกับสิ่งที่เขาเจอ จริงๆ แล้ว ตอนนี้โรงไฟฟ้าถ่านหินกำลังจะลงมาหลายพื้นที่ในภาคใต้ ผมว่ากรณีแม่เมาะ จังหวัดลำปาง มันตอบคำถามได้ดี โรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะเป็นปัญหามลพิษอยู่หลายปี ขณะที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ก็พยายามสื่อสารผ่านสื่อว่า แม่เมาะสะอาดแล้ว ทั้งๆ ที่คนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ เขาก็รับไม่ได้ ผลกระทบอื่นๆ ผมว่าตามมาเต็มเลย นิคมอุตสาหกรรมที่มาบตาพุด ถามว่าที่ผ่านมาแก้ปัญหาได้แค่ไหน เอาเข้าจริงระบบการจัดการของประเทศไทย ก็ยังไม่ดีพอเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ผมว่าเรื่องพวกนี้มันทำให้คนไทยตั้งข้อสังเกตุกับตรงนี้เยอะ พออุตสาหกรรมเต็มพื้นที่มาบตาพุด โรงงานก่อมลพิษจนคนในพื้นที่อยู่ไม่ได้ เขาก็เลือกที่จะให้อุตสาหกรรมหนักลงมาอยู่ภาคใต้ คิดไปได้ล่วงหน้าเลยว่า ถ้าเกิดอุตสาหกรรมหนักในภาคใต้ เราจะอยู่กันอย่างไร ภาคใต้เป็นภาคที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ มีสิ่งแวดล้อมที่ดี ถ้าอุตสาหกรรมสกปรกเข้ามามันขัดแย้งกัน นี่คือสิ่งที่พวกเรากังวลนะ ถ้าดูในแผนที่ภาคใต้ เราจะเห็นจุดต่างๆ กระจายเต็มภาคใต้ โครงการต่างๆ เต็มไปหมดเลย ถ้ามันเกิดขึ้นจริงตามนั้น อีกสิบปี ยี่สิบปีข้างหน้า ความเป็นภาคใต้นี่มันคืออะไร จะเป็นอะไร แม้กระทั่งที่สตูลจังหวัดที่ผมอยู่ จังหวัดเล็กๆ นี่แหละ ประชากรสองแสนกว่าคน เนื้อที่ก็ไม่เยอะ อยู่ตรงชายแดนภาคใต้ พอเราไปดูโครงการที่กำลังจะลงมา ในตัวแผนเนี่ยมันมีตั้ง 6–7 เรื่องใหญ่ๆ ทั้งนั้น ท่าเรือน้ำลึกขนาดใหญ่ คลังน้ำมันขนาดใหญ่ 5 พันไร่ ต่อไปก็จะมีโรงกลั่นด้วย นิคมอุตสาหกรรมที่คุณบอกในผลการศึกษาความเหมาะสมว่า มีพื้นที่เหมาะที่เป็นนิคมอตสาหกรรม 150,000 ไร่ คุณจะทำไม่ทำ การเวนคืนที่ดินสร้างท่าเรือ เวนคืนที่ดินตามแนวเส้นทางรถไฟ ชาวบ้านต้องสูญเสียที่ดินทำกินตั้งเยอะแยะ ต้องสร้างเขื่อนใช้เนื้อที่เกือบสองพันไร่ อะไรแบบนี้ จะเจาะอุโมงค์ เจาะภูเขาอีก ผมว่าอะไรใหญ่ๆ พวกนี้มาลงในพื้นที่เล็กๆ มันเป็นรูปธรรมของผลกระทบ คนที่รู้ข้อมูลเขาไม่ค่อยสบายใจเท่าไหร่ อันนี้เราต้องคิดกันเยอะพอสมควร ผมเคยได้รับเชิญไปสัมมนากับหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ เรื่องท่าเรือน้ำลึกปากบาราเศรษฐกิจไทยได้หรือเสีย กลุ่มที่มีส่วนได้เสียที่เข้าร่วมสัมมนา ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนอุตสาหกรรม นักเดินเรือเพื่อการขนส่ง ข้าราชการจากกรมเจ้าท่า จากกระทรวงคมนาคม เขาเชิญผมไปร่วมคุย มีนักธุรกิจคนหนึ่งพูดน่าสนใจมาก รู้สึกจะเป็นนายกสมาคมการเดินเรืออะไรนี่แหละ เขาทำธุกิจขนส่งสินค้าทางเรือระหว่างประเทศ ขณะที่คนอื่นเห็นด้วยกับการสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา เขากลับบอกว่าไม่จำเป็นต้องสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา โดยเฉพาะฝั่งอันดามันไม่ควรสร้างท่าเรืออีกแล้ว ดูท่าเรือที่ระนองตอนนี้ก็ร้างอยู่ เอาเข้าจริงนักเดินเรือเขาก็ไม่ใช้ จะไปสร้างขนาดใหญ่ๆ ทำไม ท่าเรือที่ระนองมูลค่าไม่กี่ร้อยล้าน แต่พอไปที่ปากบารา รวมทั้งสามเฟส มูลค่าสามหมื่นล้าน เป็นท่าเรือขนาดใหญ่มาก ยิ่งไม่ควรไปลงทุน เพราะยิ่งลงทุนโอกาสเป็นท่าเรือร้างสูงมาก เขาบอกว่าการขนส่งสินค้าของประเทศไทยหลักๆมันจะอยู่ฝั่งอ่าวไทย มันจะไปทางอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น จึงไม่มีทางเลยที่ลงทุนผลิตสินค้าฝั่งอันดามัน แล้วอ้อมไปฝั่งอ่าวไทย ต้องไปข้ามช่องแคบมะละกา เขาบอกว่าท่าเรือเหล่านี้ ควรอยู่ฝั่งอ่าวไทย คนที่ทำธุรกิจด้านนี้ เขาพูดชัดว่าท่าเรือปากบารา สร้างแล้วไม่คุ้มค่า อีกคนเป็นอาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ชำนาญเรื่องการออกแบบ มานั่งดูแบบแล้วบอกว่า ท่าเรือนี้เป็นท่าเรือเพื่อการขนส่งน้ำมันคือ รูปแบบโครงสร้าง ส่วนหนึ่งเป็นการออกแบบรองรับการขนถ่ายน้ำมันหรือของเหลว และบอกว่าที่นี่ต้องเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมแน่นอน เรื่องแบบนี้เป็นเรื่องที่คนสตูลจะต้องรู้ คนสตูลจะต้องคิดให้หนัก เพราะถ้าคนสตูลเข้าใจว่าเป็นแค่ท่าเรือธรรมดา มันไม่ใช่แล้ว ท่าเรือนี้เป็นท่าเรืออุตสาหกรรม ที่มีเรื่องอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเข้ามาด้วย อันนี้เป็นมุมมองของคนสองคน ที่คอมเมนต์เรื่องของท่าเรือน้ำลึกปากบาราในวันั้น ผมว่าอันนี้น่าสนใจ มองทั้งภาคใต้ มันมีอะไรขึ้นเต็มไปหมด ปฏิบัติการนี้จะมีช่วยอธิบายคนทั่วไปให้เข้าใจได้อย่างไร ตอนนี้ที่เราเอาวลี เพชรเกษม 41 มาใช้สื่อสารได้ ก็ไม่ได้สื่อสารกันในวงกว้างมาก อาจจะสื่อสารผ่านสื่อออนไลน์บ้าง เฟซบุ๊คบ้าง มันก็ทำให้คนหันมาสนใจเยอะขึ้น ผมมั่นใจว่า ถ้าเรามีวิธีสื่อสารกับคนวงกว้างที่ดี เราจะมีช่องทางอธิบายคนในสังคมได้เยอะขึ้น ตอนนี้มันมีปัญหาเรื่องการรับรู้ ถ้ามีคนรับรู้มากขึ้น ถ้าคนสตูลรู้มากที่สุด เห็นข้อเท็จจริงจากเอกสารหลักฐานจากราชการด้วย มันจะทำให้คนสตูลตัดสินใจได้ง่ายขึ้น ผมว่าการสื่อสารแบบนี้ทำให้คนคิด คนใต้จะได้รู้ว่า สิ่งที่จะลงมาในภาคใต้ในเวลาสิบยี่สิบปีข้างหน้ามันมีอะไรบ้าง แต่มันไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องหารูปแบบการสื่อสารหลายๆ รูปแบบ ตอนนี้ใครนึกอะไรได้ก็ทำไปก่อน การสร้างกระแสอะไรพวกนี้ มันต้องใช้เวลา และต้องมีจังหวะที่เหมาะสม เล่นกับสาธารณะได้ อันนี้ก็เป็นความท้าทายของพวกผม ของทีมงานที่รวมตัวกันหลายจังหวัด โดยมีเป้าหมายเดียวกันคือ สื่อสารให้คนรู้ว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นในภาคใต้คืออะไร หลังจากนี้จะเป็นอย่างไร ตอนนี้รูปแบบหลักสองรูปแบบ หนึ่ง แยกกันทำกับรวมกันตี มันมีจังหวะของมันอยู่ หมายถึงว่าจังหวะไหนรวมกันได้ก็รวม สร้างประเด็นร่วมขึ้นมา แล้วก็เคลื่อนไหวร่วมกัน การแยกกันทำหมายถึง แต่ละจังหวัดสถานการณ์ไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้น จังหวัดไหนพื้นที่ไหนที่มีเรื่องจำเป็น ขับเคลื่อนได้ก็ขับเคลื่อนภายใต้ปฏิบัติการเพชรเกษม 41 ในส่วนของรัฐบาลตอนนี้ ยังไม่รู้ว่าจะเอาอย่างไรใช่ เพียงแต่บอกว่าขอถนน แต่ไม่รู้ธีการประเมินว่า จะประเมินอย่างไร เจตนาเราตอนนี้ไม่มีอะไร เราเพียงแต่จะสื่อสารว่า รัฐบาลควรทำอะไรและไม่ควรทำอะไรในภาคใต้แค่นั้นเอง เรากำลังจะบอกว่าเราอยากจะกำหนดอนาคตของเราเอง พี่น้องเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเขาก็เสนอโฉนดชุมชน ถือเป็นทางออกของคนใต้อีกด้านหนึ่ง เรื่องของพี่น้องสามจังหวัดที่พยายามจะพูดเรื่องปัตตานีมหานคร การกระจายอำนาจ เราคนใต้โครงการขนาดใหญ่เราไม่เอา นี่จะเป็นปรากฎการณ์ที่เราแสดงความต้องการว่า จะขอกำหนดตัวเราเอง เพราะฉะนั้นรัฐบาลจะต้องเอื้อและเปิดพื้นที่ให้กับกลุ่มคนเหล่านี้ หรือให้คนใต้ได้ตัดสินใจเรื่องพวกนี้ โดยเฉพาะเรื่องข้อมูล ควรจะมีกระบวนการสื่อสารถ่ายทอดกันให้ทั่วถึง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net