Skip to main content
sharethis

วันเสาร์ที่ 20 สิงหาคม 2554 กลุ่มสุมหัวคิด Thailand Mirror และกลุ่ม 24 มิถุนาฯประชาธิปไตย จัดเสวนา “จริงหรือประเทศไทย” 13.00-17.00 น. อนุสรณ์สถาน14 ตุลา สี่แยกคอกวัว ภายใต้หัวข้อ จริงหรือที่คนต่างจังหวัดเสียงดังไม่เท่าคนเมืองกรุง จริงหรือที่คนไม่ได้รับการศึกษา เสียงดังน้อยกว่าปัญญาชน จริงหรือที่คนเหนือ คนอีสาน เป็นตัวถ่วงความเจริญประเทศไทย ประกอบด้วยวิทยากร 4 ท่าน วิสาระดี เตชะธีราวัฒน์, ประวิตร โรจนพฤกษ์, อรรถชัย อนันตเมฆ, และ วิภูแถลง พัฒนภูมิไทย โดยมี จอม เพชรประดับ เป็นผู้ดำเนินรายการ วิสาระดี เตชะธีรวัฒน์ อดีตรองโฆษกพรรคเพื่อไทย และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดเชียงราย อภิปรายเป็นท่านแรก โดยพูดเน้นถึงเรื่องสิทธิเสรีภาพที่พึงมีอย่างเท่าเทียมกันแต่มีความไม่เท่าเทียมกันอยู่ในประเทศ และยังให้ความเห็นว่า คนกรุงเทพจริงๆ แล้วมีอยู่ 4-5 ล้านคนเท่านั้น นอกนั้นเป็นคนต่างจังหวัดคนชนบททั้งนั้น ทั้งนี้คนชนบทมีวิถีชีวิตสัมพันธ์กับการเมือง ของจะขึ้นราคา การเมืองจะเป็นอย่างไร กระทบกับคนชนบททั้งนั้น และต้องยอมรับว่าคนในกรุงเทพ เข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ใกล้ชิดกว่าคนต่างจังหวัดก็จริง แต่ตอนนี้มันเปลี่ยนไปแล้ว เรามีมวลชนที่ขับเคลื่อนพร้อมจะต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยได้มากกว่า วิภูแถลง พัฒนภูมิไทย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ผู้ก่อตั้งและเป็นโฆษกกลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ กล่าวว่า ตนไม่อยากให้เอาความแตกต่างมาเป็นความแตกแยก การจะชอบหรือไม่ชอบใครเป็นสิทธิเสรีภาพที่ต้องเคารพ คนใต้โดยพื้นฐานเป็นคนรักพวก รักความเป็นธรรม แต่เกิดการมุ่งชนะในทางการเมือง เกิดวัฒนธรรมการทำลายล้างคู่แข่งโดยการสร้างความเกลียดชังเพื่อให้ชนะการเลือกตั้ง ทำให้คนใต้ส่วนหนึ่งเกลียดชังพรรคคู่แข่งของพรรคดั้งเดิมของท้องถิ่น เราควรจะมาแข่งขันกันด้วยนโยบายที่ชนะใจมากกว่า การสร้างความเกลียดชัง การเรียกร้องให้ใครรักใครนั้นดัดจริต แต่ขอแค่ไม่ให้เกลียดกัน โดยส่วนตัวมองว่า คนกรุงเทพไม่ได้เข้าถึงข้อมูลได้มากกว่า การเข้าถึงข้อมูล คนต่างจังหวัดเข้าถึงข้อมูลได้มากกว่าคนกรุงเทพ และคนที่ฉลาด หมายถึงคนที่จบจุฬาฯ ธรรมศาสตร์อย่างนั้นหรือ หลายคนจบมหาวิทยาลัยชีวิต เด็กมหาวิทยาลัยจ่ายค่าประสบการณ์ค่าเล่าเรียนเป็นสตางค์ แต่คนเสื้อแดงจ่ายค่าประสบการณ์ค่าเล่าเรียน เป็นชีวิต เป็นแขน เป็นขา เป็นตา ประเทศไทยทุกวันนี้ ปัญหาอยู่ที่รูปการจิตสำนึก ซึ่งเป็นรูปการจิตสำนึกแบบเจ้าขุนมูลนาย ที่ดูคนอื่นเป็นไพร่ แล้วตัวเองเป็นอำมาตย์ รูปการจิตสำนึกแบบเจ้ายศเจ้าอย่าง เราต้องเปลี่ยนความคิดว่า ทุกคนมีความเสมอภาคกัน โซ่ตรวนมันผูกติดอยู่กับจิตวิญญาณ เราต้องมีรูปการจิตสำนึกแห่งเสรีชน วิธีสอนที่ทำให้เด็กพอโตขึ้นแล้วดูถูกเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเป็นสิ่งที่ผิด พ่อแม่ชนชั้นกลางมักจะสอนเด็กว่า “โตขึ้นให้เรียนหนังสือเก่งๆ จะได้ไม่เป็นอย่างคนกวาดถนนนะลูก” ซึ่งเป็นการสอนที่ส่งเสริมและปลูกฝังการดูถูกเพื่อนมนุษย์ให้ลูกตั้งแต่เด็ก ความเสมอภาคมันไม่มีอยู่จริง การปรองดองเกิดขึ้นง่ายอย่างพลิกฝ่ามือ ถ้าเพียงแต่กฎหมายบังคับใช้กับทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน ความเสมอภาคที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ เป็นกระดาษเปื้อนน้ำหมึกเท่านั้นเอง ทั้งนี้ยังกล่าวปิดท้ายว่า แม้แต่ วีระ สมความคิด ก็ควรต้องช่วยออกมา เพราะเป็นคนไทยเหมือนกัน อรรถชัย อนันตเมฆ นักแสดง กล่าวว่า ประเทศเรากำลังเดินผ่านวิวัฒนาการทางสังคม คนหนึ่งคนผมไม่เชื่อว่าเป็นคนดีหรือเลว 100% เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติไม่มีสิ่งใดที่สมบูรณ์แบบ มนุษย์ที่แสวงหาความเพอร์เฟ็กเป็นมนุษย์ที่ไปไม่ถึงจุดหมาย ธรรมชาติเจริญขึ้นมาด้วยความผิดพลาดและการแก้ไข จึงไม่อยากให้มองทั้งหมดว่า คนกรุงเทพฯเป็นแบบไหน คนกลุ่มที่มองคนว่า ฉลาดหรือโง่ชอบดูที่การศึกษา แต่ต้องแยกแยะกันก่อนว่าคนฉลาดคืออะไร โง่คืออะไร ความรู้กับความฉลาดเป็นคนละเรื่องกัน มีความรู้มากอาจจะทำงานไม่เก่ง ความฉลาดความโง่ มันน่าจะดูได้สองแบบ 1. Hardware คือร่างกาย มันสมอง 2.ความรู้ที่ป้อนเข้าไปทางสมองหรือ software ฮาร์ดแวร์คนเราไม่ได้ต่างกันเท่าไร แต่คนจะรู้อะไรได้มากกว่าอยู่ที่ว่าเรารับความรู้อะไรเข้ามา ประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวจากเครือเนชั่น กล่าวว่า คนยากจนด้อยโอกาสทางการศึกษาในระบบถูกเอาเปรียบจากผู้มีอำนาจที่อ้างว่ามีคุณธรรมกว่า การได้รับการดูถูกกลับทำให้คนเหล่านี้เข้าใจเรื่องการกดขี่และโฆษณาชวนเชื่อ ในขณะที่ผู้มีการศึกษาหลงใหลไปกับการครอบงำ แล้วก็พูดเรื่องคนเผาเซนทรัลเวิร์ล ภาพที่คนกรุงเทพวาดไว้ว่า คนบ้านนอกถูกหลอกให้ไปเผานั้นก็เป็นความจริงขึ้นมา คนชั้นกลางมีการศึกษา พูดถึงความรุนแรง ได้ตระหนักถึงความรุนแรงแต่ไม่เคยตระหนักถึงความรุนแรงเชิงโครงสร้าง เช่น การได้รับการเสี้ยมสอนให้ดูถูกคนกวาดถนน การแย่งชิงการเข้าถึงทางการศึกษา ความรุนแรงพวกนี้ทำให้คนที่เข้าถึงไม่ได้ก็จมปลักกับความยากจน โอกาสที่ไม่เท่าเทียมกัน โดนยัดเยียดโฆษณาชวนเชื่อว่าให้พอใจและพอเพียง การเอารัดเอาเปรียบรายวัน เช่น ลูกจ้างต้องได้รับการด่าบ่นรายวัน ผู้หญิงต้องมากลายเป็นวัตถุทางเพศให้คนมีเงินเสพ คนขับแท็กซี่ต้องรับฟังอุดมการณ์คนนั่ง การพอเพียงกับสภาพความเป็นอยู่ สิ่งเหล่านี้เราได้เห็นความรุนแรงที่มีหรือไม่ เรื่องสุดท้าย คนที่ดูถูกคนจนเหล่านี้ว่ามีการศึกษาน้อยเป็นการถ่วงความเจริญของสังคมโดยรวมใช่หรือไม่ สังคมไทยจะไปได้ไกลแค่ไหน ถ้าคนส่วนใหญ่ยังกดขี่คนส่วนน้อย ยัดเยียดโฆษณาชวนเชื่อ ส่วนคนส่วนน้อยที่ออกมาพูดในเรื่องที่แตกต่างกลับโดนขังคุก ทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายความว่าคนจำนวนมากหรือคนจำนวนน้อยจะถูกต้องเสมอไป แต่เห็นด้วยว่าคนส่วนใหญ่ควรยอมรับว่าคนส่วนน้อยต้องมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่เท่าเทียมกันเพราะคนเพียงจำนวนหยิบมือเดียวไม่สามารถบริหารบ้านเมืองได้ ทุกคนต้องลองผิดลองถูก เหมือนคนชั้นกลางที่ลองผิดลองถูกโดยการสนับสนุนรัฐประหารครั้งแล้วครั้งเล่า

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net