ร้ายสไตล์บายรุ้งรวี เรื่องหมาๆ : ความหมายของหมาระหว่างชนชั้นในสังคมไทย

เรื่องหมาๆ : ความหมายของหมาระหว่างชนชั้นในสังคมไทย ดิฉันมีหมา 1 ตัว ชื่อ ‘โบโบ้’ อันที่จริงจะบอกว่าดิฉันมีหมา หรือเลี้ยงหมา 1 ตัว คงไม่ถูกนัก เพราะหากดูตามข้อเท็จจริงว่าใครเป็นเจ้าของมัน น่าจะหมายถึงพ่อและแม่มากกว่า และคนที่เลี้ยงดู น่าจะเป็น ‘คนใช้’ (การใช้คำว่าคนใช้ในปัจจุบันนี้ แลดูเป็นการกระทำอาชญากรรมและ discriminate มาก เราจะใช้คำว่า แม่บ้าน หรือพี่เลี้ยงมากกว่า ส่วนเวลาคุยกับเพื่อน เราจะพูดว่ากะเหรี่ยงที่บ้าน ฟังดูน่ารักน่าเอ็นดู) มากกว่า เพราะฉะนั้นหมาตัวนี้จึงเป็นแค่หมาที่อยู่ในครอบครัวของดิฉัน จะเคลมว่าหมาของดิฉันก็คงไม่ถูก วันไหนอารมณ์ดีๆ ก็จะเล่นกันมันบ้าง วันไหนคิดงานไม่ออก ไม่รู้จะเขียนอะไร แล้วมันมากวน มาเล่นด้วยก็จะให้พี่เลี้ยงเอาตัวมันออกไป อย่างที่เห็นกันในหน้าข่าวหนังสือพิมพ์ หรือข่าวในโทรทัศน์ ประเด็นเรื่อง ‘หมา’ ตอนนี้ เป็นข่าวใหญ่ในสังคม เมื่อการจับหมาไปขายกลายเป็นอาชญากรรมของสังคม ที่ถูกต่อต้านอย่างหนัก จากบรรดากลุ่มก้อนต่างๆ และตอนนี้ก็มีการรณรงค์ไม่กินเนื้อหมา รวมถึงการค้าขายหมาอีกด้วย เรื่องใครผิด ไม่ผิด วัฒนธรรม หรือหมาเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของมนุษย์ นั้น ดิฉันไม่ขอพูดถึง ใครสังกัดอุดมการณ์ใด ก็ว่ากันไป ที่จริงมันจะไม่มีปัญหาเลย ถ้าเราพูดว่าใครสังกัดอุดมการณ์ใดก็ว่ากันไป แต่ทุกวันนี้ที่เกิดปัญหาคือ อุดมการณ์หนึ่งต้องการจะเทคโอเวอร์อีกอุดมการณ์หนึ่ง ด้วยการเชิดชูอุดมการณ์ของตัวเองว่าเป็นสิ่งที่ ‘ถูกต้อง’ ชักจะมีสาระมากเกินไป กลับมาที่เรื่องเจ้า ‘โบโบ้’ ของดิฉันต่อดีกว่า (แหมมม...ทีตามหน้านิตยสารอื่นๆ ยังมีดารา เซเล็บ มาเล่าเรื่องส่วนตัว เป็นคอลัมน์โด่งดังได้ ทำไมดิฉันจะเขียนเรื่องส่วนตัวบ้างไมได้...ฮึ) โบโบ้ เป็นหมาหน้าตาน่าเกลียดพันธุ์ปั๊ก ในประวัติศาสตร์ครอบครัวของดิฉันเราเคยมีหมา 3 ตัว ตัวแรก ได้มาจากคุณลุงที่ซื้อเป็นของขวัญให้ดิฉันตอนยังเป็นเด็กหญิงรุ้งรวีอยู่ พอตัวแรกตายไป ดิฉันก็โตขึ้น ชักจะสนใจเพศตรงข้ามมากว่าสนใจเรื่องหมา ก็เลยไม่ได้เลี้ยงอีก มามีตัวที่สองชื่อ ‘บิ๊กน้อย’ เมื่อสักปีก่อนได้ แต่ด้วยอุบัติเหตุ พี่เลี้ยงเปิดประตูบ้านให้พ่อขับรถออกจากบ้าน แล้วไม่เห็นว่าบิ๊กน้อยวิ่งออกจากบ้านไปด้วย บิ๊กน้อยจึงโดนรถ (คนอื่น) ทับตาย สิ้นใจคาที่เสีย ณ วินาทีนั้น ยังความสงสัยมาให้ดิฉันอยู่ทุกวันนี้ว่า อีพวกหมาชาวบ้านที่เลี้ยงแบบปล่อยระเกะระกะ นอนตามพื้นถนนหน้าบ้าน ห้องแถว ขี้เยี่ยวรดเหม็นคลุ้งไปหมดเนี่ย ไม่ยักกะโดนรถชนตาย ดูมันจะเชี่ยวชาญเรื่องการใช้ชีวิตนอกรั้วบ้านเหลือเกิน หรือว่าการเลี้ยงหมาแบบไฮโซ ที่ขลุกอยู่แต่ในรั้วบ้าน เล่นแต่กับคนอย่างบิ๊กน้อยของครอบครัวดิฉันจะเป็นเรื่องที่ผิด ที่ทำให้หมาไม่มีภูมิคุ้มกันทางสังคม (ดิฉันยังสงสัยต่อไปว่า ถ้ามันเห็นหมาพันธุ์อื่น มันจะรู้ไหมว่านั่นเป็นหมา เพราะในชีวิต มันไม่เจอหมาตัวอื่นเลย นอกเสียจากเวลาไปร้านหมอ หรือพาไปตัดขนร้านกรูมมิ่งของหมา) ไม่นาน...เราก็มีเจ้าโบโบ้ สาเหตุที่มีคือ เรา—ลูกๆ เห็นพร้อมกันว่า บ้านนั้นเงียบเหงาลงไปถนัดตา เมื่อไม่มีหมา ลูกๆ ทุกคนก็ง่วนอยู่กับชีวิตของตัวเอง การมีหมาสักตัวให้พ่อแม่ได้เล่นด้วย หรือมีกิจกรรมทำกับมัน อย่างน้อยก็น่าจะลดบาปในการเป็นลูกอกตัญญูของเราไปได้ไม่มากก็น้อย ที่จริง เรื่องอย่างนี้จะไม่เกิดขึ้น ถ้าแม่ดิฉันมีวงไพ่เป็นของตัวเอง หรือเข้าสังกัดสมาคมคุณหญิงคุณนายอะไรสักอย่าง เช่นเดียวกับคุณพ่อ ถ้าพ่อไปเมียมีน้อย หรือไปเล่นกอล์ฟเสียบ้าง ก็คงไม่จำเป็นต้องซื้อหมาให้เพื่อคลายเหงา และเช่นเดียวกัน...หากเป็นพ่อแม่ชาวบ้าน ร้านตลาดในชนบท เหตุการณ์นี้ก็คงไม่เกิดขึ้น แม่ๆ รุ่นเดอะเหล่านั้นก็คงมีวิธีคลายเหงาหลากหลายแบบ เช่นมานั่งรวมกันบนแคร่ใต้ต้นมะม่วง ในตอนบ่ายๆ นอนหลับบ้าง เมาท์กันบ้าง หามะละกอมาตำส้มตำกินกันบ้าง (หมู่บ้านในจินตนการแบบเก่า) หรือจะเป็นหมู่บ้านในจินตนาการแบบใหม่ ที่เหล่าป้าๆ ยายๆ อาจจะไปเข้าสหกรณ์อะไรสักอย่าง รวมหมู่กันทำผลิตภัณฑ์โอท็อปอยู่ เหล่าลุงๆ ตาๆ ก็คงตีไก่ ชนไก่ (หมู่บ้านในจินตนาการแบบเก่า) หรือกำลังบุกสวนหลังบ้านทำเกษตรกรรมแบบเศรษฐกิจพอเพียงอยู่ (หมู่บ้านในจินตนาการแบบใหม่) การเลี้ยงหมามีหลายปัจจัยมากกว่าในกรณีของดิฉันที่ซื้อหมามาเพื่อแก้เหงาให้พ่อแม่ ในหมู่บ้านชนบท หรือแม้กระทั่งชนชั้นล่างในเมือง วิธีการดูแลหมานั้นก็ต่างกัน หมาสำหรับชนชั้นล่าง อาจจะไม่เคยได้กินเพ็ดดีกรี อาหารที่ได้ก็คือเสร็จกระดูกจากอาหารมื้อใดๆ ของครอบครัว หรือข้าวคลุกน้ำแกง ไม่ได้ห่วงว่าอาหารจะเค็มไปไหม หมาจะเป็นโรคไตไหม หรือจะมีสารอาหารที่ทำให้หมาขนหนานุ่ม อึเป็นก้อน ร่าเริงสดใส กระโดดโลดเต้น เหมือนในโฆษณาอาหารหมาหรือเปล่า อย่าว่าแต่เพ็ดดีกรีเลย แม้แต่แชมพูหมาๆ ก็คงไม่เคยสัมผัสขน เคยอาบน้ำหรือเปล่าก็ไม่รู้ ตรรกกะของการเลี้ยงหมาสำหรับชนชั้นนี้ ก็เพียงเพื่อช่วยให้ชีวิตมันรอดไปตามบุญกรรมที่มี มีอะไรก็เลี้ยงๆ มันไป ความหมายของการเป็น ‘สัตว์เลี้ยง’ ของหมาในชนชั้นนี้ จึงเป็นแค่สิ่งมีชีวิตตัวหนึ่ง ที่เราไม่ได้มีหน้าที่ต้องเลี้ยง (มันอาจจะเป็นลูกของหมาตัวแม่มัน หรือหลงมา) แค่ช่วยเหลือกันไปตามหลักมนุษยธรรม ไม่ต้องการให้มันฉลาด ไม่ต้องคอยมาดูแลทุกข์สุขของมัน (หรือหวังให้มันมาดูแลทุกข์สุขของเรา) ว่ามันจะมีใครเล่นด้วยไหม เหงาไหม ซึมไปหรือเปล่า แค่มันไม่มาขโมยไก่ ขโมยเป็ด หรือขี้ให้สกปรกที่หน้าบ้านก็บุญแล้ว ชนชั้นล่างจึงไม่สามารถพูดได้เต็มปากว่า ‘รัก’ หมา หรือรักสัตว์เลี้ยงหรือเปล่า เพราะวิถีการดูแลสัตว์เลี้ยง หรือความหมาของสัตว์เลี้ยงอย่างหมาของชนชั้นล่าง มันเป็นการกระทำต่อกันอย่างไม่ค่อยมีปัจจัยเรื่องอารมณ์ (ดราม่า) มาเกี่ยวข้อง (นอกจากอารมณ์โกรธ เวลามันขโมยไก่กิน หรือขี้ใส่หน้าบ้านให้ต้องเช็ด...มึงโดนก้อนหินปาที่หัวแน่ๆ) สำหรับไฮโซ หมาก็คงไม่ต่างจากตุ๊กตาบาร์บี้ ที่ชอบเอามาแต่งตัว (ใส่เสื้อผ้า แม้กระทั่งเครื่องเพชร) เหงาก็หยิบมาเล่น ไม่ได้อยู่ในอารมณ์ที่จะหยิบมาเล่น มันก็คงเป็นแค่เครื่องประดับของบ้าน แต่เป็นเครื่องประดับที่ได้รับการเลี้ยงดูที่ดีหน่อย มีคนให้อาหาร (คนใช้ไง) อาบน้ำให้ (ก็คนใช้อีก) ดูแลความเป็นอยู่อย่างดี (วันไหนครึ้มอกครึ้มใจ ก็จะอาบน้ำให้เอง ให้อาหารเอง เล่นด้วย แต่งตัวให้) แต่ความหมายของหมาสำหรับชนชั้นสูง หรือไฮโซ ก็ไม่ถึงกับเป็นสัตว์เลี้ยงที่ถูกบุคคลาธิษฐาน ให้เป็นเพื่อนที่ดีที่สุดสำหรับมนุษย์ ที่มนุษย์ต้องดูและเอาใจใส่ประคบประหงมยิ่งเสียกว่าลูกในไส้เสียอีก ส่วนชนชั้นกลาง น่าจะเป็นชนชั้นที่ได้รับอิทธิพลมาจากชนชั้นไฮโซอย่างสูงในการเลี้ยงเลี้ยงสุนัข ด้วยการยกฐานะความเป็นอยู่ของสุนัขให้ทัดเทียมกับความเป็นอยู่ของหมาไฮโซ (ทำไมชนชั้นกลางไม่เคยได้รับอิทธิพลจากชนชั้นล่างเลยล่ะ ทั้งๆ ที่ส่วนมากชนชั้นกลางกลุ่มใหม่ก็เกิดมาจากพ่อแม่ของชนชั้นล่างทั้งนั้น หรือนั่นคือความพยายามที่จะเขยิบฐานะทางชนชั้น เหมือนกับที่ทุกๆ ชนชั้นพยายามจะเขยิบฐานะของตนให้สูงขึ้นตามคุณค่าที่ตัวเองให้ เช่นชนชั้นไฮโซใหม่ ที่รวยแล้ว ก็อยากเป็นไฮโซแบบผู้ดี เก่าแก่ นามสกุลดัง จึงพยายามเป็นทองแผ่นเดียวกันกับพวกผู้ดีเก่า ตามคุณค่าทางสังคมบางอย่าง) เขยิบจากการให้อาหารแบบเศษอาหารคลุกข้าว มาเป็นอาหารเม็ด จากการอาบน้ำเอง มาเป็นเข้าร้าน ตัดแต่งขนทำสปา พาออกไปนอกบ้านด้วยประหนึ่งเป็นลูก เป็นคน ซื้อเสื้อผ้าให้ใส่ เปลี่ยนตามฤดูกาลเทรนด์ ถ่ายรูปลงเฟซบุ๊ก สร้างข้อความให้ประหนึ่งหมามันมีบทพูด ฯลฯ ความหมายของหมาสำหรับชนชั้นกลาง ได้เพิ่มความ ‘ดราม่า’ มากขึ้นไปกว่าชนชั้นสูง ซึ่งการเพิ่ม ‘สตอรี่’ ของหมาในชนชั้นกลางนั้น ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นการ ‘บลัฟ’ ชนชั้นสูงว่า นอกจากชั้นจะดูแลหมาได้เท่าเทียมกับชนชั้นสูงแล้ว แต่ชั้นยังดูแลด้วยตัวเอง ให้ความอบอุ่นด้วยตัวเอง คือพูดง่ายๆ คือเพิ่มคุณค่าของ ‘ตัวเอง’ ลงไปในการเลี้ยงด้วย (เหมือนเวลาที่แม่ให้นมลูกเอง จะดูดีกว่าแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมกระป๋อง ทั้งๆ ที่นมกระป๋องแพงนะจ๊ะ และแม้จะให้นมกระป๋องแต่กูก็ให้เองเหมือนกัน ใช้เวลาเท่ากัน ถ้ามัวแต่ให้นมแม่เอง จะเอาเวลาทีไหนไปทำมาหากินล่ะ ไม่มีงาน ไม่มีเงิน ลูกก็ไม่มีกิน ตายอีก แล้วพวกที่ไม่ให้นมแม่เองเนี่ย รักลูกน้อยกว่าเหรอ ?) ประเด็นที่สำคัญนอกจากการบลัฟเพื่อเพิ่มคุณค่าของตัวเองกับการเป็นชนชั้นกลางแล้ว ประเด็นที่น่าสนใจมากไปกว่านั้นคือ ‘ความดราม่า’ ที่เกิดขึ้นกับการให้ความหมายแก่หมาของชนชั้นกลาง ซึ่งอาจะเรียกได้ว่าการสร้าง ‘บุคคลาธิษฐาน’ ให่แก่หมา ให้มันมีอารมณ์ มีความรู้สึกนึกคิด (มากไปกว่าที่มันควรจะมี หรือมีจริงๆ) หรือสตอรี่ เรื่องราวในชีวิต ซึ่งเรื่องอารมณ์ความดราม่าที่เกิดขึ้นของชนชั้นกลางนั้นน่าจะมาจากการเสพ ‘วัฒนธรรมป๊อป’ มากกว่า และหนึ่งในหลายๆ วัฒนธรรมป๊อปที่ว่านั้น ก็คือภาพยนตร์ เมื่อเราพูดถึงคำว่าป๊อปคัลเจอร์ หรือวัฒนธรรมป๊อป นอกจากองค์ประกอบของคำว่าป๊อปปูลาร์หรือเป็นที่นิยมแล้ว คำว่าการบริโภคที่เป็นกระแสหลักของสังคมย่อมเป็นคำที่พ่วงมาด้วย และการบริโภคที่เป็นกระแสหลักของสังคมก็คงไม่ใช่สังคมของซูดานที่กำลังประสบภาวะอดอยากที่สุดในประวัติศาสตร์ หรือสังคมของชนชั้นล่างที่ต้องสนใจเรื่องปากท้องเป็นอันดับแรก สังคมที่ว่าก็คงต้องเป็นสังคมของชนชั้นกลาง ที่กำลังสนใจว่าหนังเรื่องไหนขึ้นบ๊อกซ์ออฟฟิศอันดับหนึ่ง ตอนนี้มีอะไรเด็ดๆ ในยูทูบ หรือทำไมแพนเค้กถึงเล่นละครเรื่อง ‘ทวิภพ’ ได้ห่วยมาก วัฒนธรรมป๊อปคัลเจอร์จึงเป็นวัฒนธรรมที่ผูกขาดโดยชนชั้นกลาง (ไม่ได้หมายถึงแค่ใครส่งอิทธิพลต่อใคร แต่ทั้งสองสิ่งนั้นส่งผลในการต่อรองกันและกัน) เป็นวัฒนธรรมที่มุ่งเน้นต่อพฤติกรรมการบริโภคของชนชั้นกลาง และในการบริโภคนั้นก็ใส่รหัสอุดมการณ์บางอย่างลงไป เพื่อส่งผ่านไปยังผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ ละครน้ำเน่า เอ็มวี หนังสือการ์ตูน ฯลฯ แล้วหมาโผล่มาตรงไหนในวัฒนธรรมป๊อป ? เรื่องหมาๆ ก็ถูกใส่รหัสอุดมการณ์บางอย่างส่งผ่านมายังผู้บริโภคเช่นเดียวกัน เราเติบโตมาใหนหนัง การ์ตูน ละคร ที่มีหมาเป็น ‘ตัวละคร’ หลากหลายเรื่อง หมาไม่ใช่เพียงแค่อุปกรณ์ประกอบฉาก ที่ถือเป้นองค์ประกอบที่ทำให้ฉากของบ้านนั้นสมบูรณ์ แต่หมายังเป็นตัวลครที่มีบทพูด สตอรี่ หรือเรื่องราวเป็นของตัวเอง เรามีการ์ตูนอย่างไอ้เขี้ยวเงิน (ว้าย...รู้หมดว่ารุ่นไหน) ที่หมาเป็นฮีโร่ พิทักษ์คน มีการ์ตูนเบาสมองอย่างสกูปีดู ที่หมาเป็นเพื่อนของคน พูดได้ คุยกันรู้เรื่องด้วยซ้ำไป หรือวรรณกรรมอย่างมอม ของ มรว. คึกฤทธิ์ ปราโมท มีหนังหลายพันเรื่องที่มีหมาเป็นตัวละครในนั้น (เสิร์จใน imdb ดูสิ มีมากกว่า 6 พันเรื่องเลยแหละ) จะไม่ยกตัวอย่างไปไกล เดี๋ยวจะจับได้ว่ารุ่นไหน อย่างเช่น Hachi : A Dog’s Tale ที่ฮอลลีวู้ดนำเรื่องราวของญี่ปุ่นมาสร้างใหม่ หรือหนังไทยอย่างหมูปิ้ง (เหมือนที่มีคนเลิกกินหมูเพราะดูหนังเรื่อง Babe ) ในวัฒนธรรมป๊อป หมาจึงถูกสร้างให้เป็นตัวละคร ที่มีบทบาทมากกว่าความหมายของการเป็นหมาทั่วไป หมามีความคิด จิตใจ เหงาเป็น ฟังคนพูดรู้เรื่อง เชื่อฟัง ซื่อสัตย์ หรือแม้กระทั่งเก่งกาจสามารถช่วยชีวิตคนได้ เรื่องราวเหล่านี้ได้สร้างให้ภาพของหมาที่ชนชั้นกลางรับมา (เพราะเสพโดยดตรง และวัฒนธรรมป๊อปมุ่งกระทำต่อชนชั้นกลางโดยตรง) และผูกติดความหมายนี้ให้เป็นความหมายของหมาหนึ่งเดียวในโลกใบนี้ ทั้งหมาที่ตัวเองเลี้ยง หรือหมาตัวอื่นๆ และความสัมพันธ์ระหว่างหมากับคน จึงกลายเป็นความสัมพันธืแบบดราม่าอย่างชนชั้นกลางไปหมด ทั้งๆ ที่ยังมีอีกหลายรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างหมากับคนในสังคมนี้ อย่างเช่นหมาของชนชั้นล่าง หรือแม้กระทั่งหมาในวัฒนธรรมอื่นๆ จากข่าวที่กำลังโด่งดังอยู่ในตอนนี้ คนที่กินเนื้อหมา รวมถึงคนที่ค้าขายเนื้อหมา จึงกลายเป็น ‘อาชญากรรม’ สำหรับชนชั้นกลาง ที่ถูกต่อต้านและด่าประณาม ว่ากินเนื้อ ‘เพื่อนที่ดีที่สุดของมนุษย์’ ดิฉันเป็นมนุษย์คนหนึ่ง ที่ติดอยู่กับอุดมคติแบบชนชั้นกลางอยู่บ้าง ดิฉันเลี้ยงหมา แม้จะไม่ให้ความรักมันเท่าไหร่ แต่ก็ไม่กินเนื้อหมา เห็นหมาถูกทำร้ายก็สงสาร เห็นหมาถูกฆ่าก็รับไม่ได้เหมือนกัน เป็นพวกแอ๊บขาว หรือหลากสีในกรณีนี้ก็ว่าได้ (ยอมรับตรงๆ ค่ะ) แต่การที่เราจะเอาอุดมการณ์ส่วนตัวมาเพื่อประณามคนอื่น เพียงเพราะเขาสังกัดอยู่กับอีกอุดมการณ์ โดยไม่เข้าใจถึงความแตกต่างทางวัฒนธรรม หรือความหมายที่ไม่เป็นสากลของหมา ก็เป็นเรื่องที่เราต้องทบทวน ทำความเข้าใจ และหาทางออก ดิฉันคิดว่ากลุ่มที่รักหมาก็สิทธิที่จะรณรงค์ภายใต้แคมเปญความเชื่อของตัวเอง แต่การรณรงค์นั้นไม่ควรถึงขั้นด่ทอ ประณามผู้อื่นเพียงเพราะเขาอยู่ในวัฒนธรรมที่แตกต่าง หมาสำหรับเขาไม่ใช่เพื่อนที่ดีท่สุด ที่จะเอาขึ้นเตียงนอนด้วยทุกคืน การกินหมาสำหรับเขาก็ไม่ต่างจากการกินเนื้อแกะจากนิวซีแลนด์ หรือนกกระจอกเทศจากฟาร์มของเสธ.หนั่น ดิฉันว่าภาพของแกะที่ถูกฆ่า หรือนกกระจอกเทศที่ถูกฆ่า หรือแม้กระทั่งเหี้ย ตะกวด ตัวเงินตัวทอง (มันตัวเดียวกันหมดหรือเปล่า ?) อีแร้ง ที่ถูกฆ่าก็คงน่าสงสารเหมือนกัน ในฐานะสิ่งมีชีวิตหนึ่ง (หรือแม้กระทั่งหมู ไก่ ควาย เป็ด เพียงแต่สัตว์เหล่านี้ถูกสร้างสตอรี่ไม่พอ) หรือว่าต่อไปนี้ จะต้องสร้างหนัง ‘เหี้ยเพื่อนรัก’ สักเรื่อง เผื่อคนจะหันมาสร้างสตอรี่ หรือบุคคลาธิษฐานให้กับเหี้ยขึ้นมาเหมือนกับหมาบ้าง เอ...ว่าแต่จะเชิญใครมาเป็นพระเอกดี ยังคิดไม่ออก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท