Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

“...การใส่ร้ายเอาสถาบันเบื้องสูงมาใช้ไม่เป็นส่วนดีต่อใครเลย แม้แต่สถาบันเอง เป็นเรื่องที่ทำลายทุกคนทุกฝ่าย นายกฯที่ได้รับเสียงเลือกตั้งสูงสุดในประเทศก็ล้มเพราะข้อกล่าวหานี้ และที่ตนเจ็บปวดที่สุด คือข้อกล่าวหานี้ใช้ออกใบอนุญาตฆ่าประชาชน ไม่อยากให้คนตายเพิ่มเติมอีก” ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1314200777&grpid=03&catid=& นี่คือข้อความบางส่วนที่ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ส.ส.ระบบบัญชีรายเชื่อพรรคเพื่อไทยอภิปรายตอบโต้สุเทพ เทือกสุบรรณ อันเป็นชนวนให้เกิดการประท้วงทั้งจากสุเทพ และอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จนเป็นเหตุให้ต้องพักการประชุมชั่วคราว และหลังจากนั้นก็มีอันต้องปิดประชุมสภาไปเมื่อคืนวันที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา ผู้อ่านที่ติดตามการอภิปราย จะทราบว่า ณัฐวุฒิพูดย้อนไปถึง (สรุปได้) ว่า ข้ออ้างเรื่องสถาบันได้ทำลายผู้นำที่ดีหรือคนดีของประเทศมามากพอแล้ว ตั้งแต่ปรีดี พนมยงค์ จนต้องระหกระเหินไปสิ้นชีวิตที่ต่างประเทศ กลับคืนประเทศได้เมื่อเหลือเพียงเถ้าอัฐิแล้ว แม้จะได้รับยกย่องว่าเป็นถึงรัฐบุรุษก็ตาม เหตุการณ์ 6 ตุลา เรื่อยมาถึงพฤษภา 53 ก็ยังใช้ข้ออ้างเดิมๆ ทั้งในการทำรัฐประหารทักษิณและเป็นข้อกล่าวหาล้อมปราบประชาชน ฉะนั้น ณัฐวุฒิจึงเสนอว่า เราควรเรียนรู้จากบทเรียนที่ผ่านมาอดีต และถึงเวลาแล้วที่ต้องเลิกอ้างเรื่องสถาบันในการต่อสู้ทางการเมืองเสียที เพราะไม่เป็นผลดีต่อฝ่ายใดๆ ทั้งสิ้น ประเด็นคือ ข้อกล่าวหาเรื่องล้มล้างสถาบันได้ถูกใช้ “ออกใบอนุญาตฆ่าประชาชน” หรือไม่? แน่นอนว่า อภิสิทธิ์และสุเทพปฏิเสธประเด็นนี้ และนายอภิสิทธิ์ยังกล่าวย้ำว่า “การบอกว่าใช้สถาบันออกใบอนุญาตฆ่าประชาชน นอกจากจะทำให้พวกผมเสียหายแล้ว ที่สำคัญยังเป็นการเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย” อย่างไรก็ตาม คงไม่มีใครปฏิเสธข้อเท็จจริงได้ว่า มีการอ้างสถาบันเพื่อทำรัฐประหารรัฐบาลทักษิณจริง มีการแสดง “ผังล้มเจ้า” และกล่าวหาว่ามี “ขบวนการล้มเจ้า” ในกลุ่มคนเสื้อแดงจริง โดยเฉพาะมีการประโคมข่าวนี้ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 ที่เป็นกระบอกเสียงของรัฐบาลในการตอบโต้ทักษิณกับฝ่ายเสื้อแดง ทั้งในช่วงก่อนการสลายการชุมและในระหว่างการสลายการชุมนุมเมื่อ เมษา-พฤษภา 53 นอกจากนี้ในการชุมนุมของพันธมิตร การเสนอข่าวทาง ASTV ก็มีการยกประเด็นสถาบันมาโจมตีทักษิณและคนเสื้อแดงตลอดมา ถามว่าประชาธิปัตย์รู้เห็นเป็นใจด้วยหรือไม่? เราอาจต้องย้อนไปดูคำปราศรัยของประพันธ์ คูณมี สมาชิกคนสำคัญของพันธมิตรที่ว่า “ก่อนการชุมนุมพันธมิตรฯ ปี 49 คนที่เรียกผมไปพบ คือ พี่ชวน หลีกภัย ให้ไปพบในห้องทำงาน ถ้าพูดเท็จเอาตีนมาเหยียบหน้าได้เลย นายชวนเอาเทปมาเปิดให้ดู ปรากฏว่าในเทปด่าป๋า ด่าสถาบัน ของพวกกลุ่มเสื้อแดง นายชวนเปรยด้วยความเศร้าใจว่า ทำไมบ้านเมืองเป็นแบบนี้ และบอกให้ตนออกไปช่วยพูดเพราะรู้ทันคนพวกนี้ พูดแล้วมีน้ำหนักเชื่อถือได้ ให้ออกไปสู้หน่อย ตนก็บอกไปว่าสู้ตลอดชีวิตอยู่แล้ว กับคนที่ไม่จงรักภักดี” [1] ประพันธ์ยังกล่าวอีกว่า “เพราะพันธมิตรฯ ออกมาสู้รัฐบาลถึงได้พลิกขั้ว อภิสิทธิ์ถึงได้ขึ้นมาเป็นนายกฯ ถ้าไม่มีพันธมิตรทหารจะไปบังคับพวกพรรคร่วม ให้พลิกขั้วหรือไม่” ขณะที่ก่อนหน้านั้น สนธิ ลิ้มทองกุล ก็เคยพูดระหว่างการต่อสู้เพื่อล้มรัฐบาลทักษิณว่า “...พลเอกสุรยุทธ์ โทรมา พลเอกสนธิ ให้คนใกล้ชิดโทรมา ในวังมีเยอะ เส้นสายในวัง ทุกคนสนิทหมด ผมถึงเลย คุณไม่ต้องพูดว่าถึงไม่ถึงคุณมีอะไรก็พูดมา รับรองถึงหูพระกรรณ...จนกระทั่งมีสัญญาณบางสัญญาณมาถึงผม จู่ๆ ผมสู้อยู่ก็มีของขวัญมาจากราชสำนักผ่านมาทางท่านผู้หญิงบุษบาซึ่งเป็นน้องสาวพระราชินี ปรากฏว่าผมได้รับแค่วันเดียว ผมเข้าไปรับด้วยตัวเองกับท่านผู้หญิงบุษบา โทรศัพท์มาหาผมเต็มเลย ป๋าเปรมให้คนสนิทโทรมา พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ์ ทุกคนโทรมาหมดถามว่าจริงหรือเปล่า...” [2] ฉะนั้น เรื่องประเด็นสถาบันกับปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในระยะกว่า 5 ปีที่ผ่านมา การเปิดประเด็น “มือที่มองไม่เห็น” ของทักษิณจะไม่มีน้ำหนักใดๆ เลย หากสังคมไม่รับรู้ “เรื่องราว”อย่างที่สนธิพูด หรือย่างที่ประพันธ์พูด มันจึงไม่ใช่เรื่องที่อยู่ๆ ทักษิณและคนเสื้อแดงจะ “กุขึ้นมาลอยๆ” แล้วทำให้สังคมคล้อยตามได้ แต่กระนั้นก็ตาม หน้าฉากประชาธิปัตย์ก็ยังพยายามเบี่ยงเบน ดังที่นิพิษฏ์ อินทรสมบัติ เขียนจดหมายตอบโต้บรรดานักเขียนที่ออกแถลงการณ์ให้แก้ไข ม.112 ว่า “ตน (นิพิษฏ์)ไม่เห็นมีการใช้สถาบัน หรือใช้ ม.112 เป็นเครื่องมือทำลายศัตรูทางการเมือง” ดังที่เราทราบกัน การที่ประชาธิปัตย์พยายามบอกประชาชนว่า ข้ออ้างเรื่องสถาบันไม่เกี่ยวกับการทำลายศัตรูทางการเมือง ไม่เกี่ยวใดๆ กับการปราบปรามประชาชนที่ต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย มันไม่ต่างจากที่อภิสิทธิ์เคยยืนยันในเฟซบุ๊คผ่าน “จดหมายถึงคนไทยทั้งประเทศ” ว่า “ในความขัดแย้งที่เป็นมา ประชาธิปัตย์ไม่ใช่เงื่อนไขของความขัดแย้ง เป็นเพียงฝ่ายที่เข้ามาแก้ปัญหาความแตกแยกของบ้านเมืองให้คืนสู่ความสมานฉันท์ปรองดอง” “วิธีอธิบาย” ของอภิสิทธิ์เป็นวิธีอธิบายแบบเดียวกับวิธีอธิบายของ นางผุสดี ตามไท ส.ส.ประชาธิปัตย์ในรายการตอบโจทย์ ทีวีไทยตอนหนึ่ง เมื่อ ส.ส.เพื่อไทยกล่าวว่า “นายสุเทพเคยให้สัมภาษณ์ว่า ประชาธิปัตย์จับมือกับพันธมิตรในการขนคนมาชุมนุมล้มรัฐบาลสมัครและรัฐบาลสมชาย” แล้วนางผุสดีก็โต้ทันทีว่า “ไม่ได้จับมือ ไม่ได้ร่วมมือกับพันธมิตรใดๆ ทั้งสิ้น แต่มันเป็นธรรมดา เมื่อชาวบ้านเขาจะออกมาชุมนุม มาเคลื่อนไหวทางการเมือง เขาก็ไปขอความช่วยเหลือจาก ส.ส.ในพื้นที่เรื่องค่าเดินทางบ้าง ค่าอาหารบ้าง เมื่อชาวบ้านเขามาขอความช่วยเหลือ ส.ส.ประชาธิปัตย์ในพื้นที่ก็ต้องให้ความช่วยเหลือไป” ถามว่าตามวิธีอธิบายของนายอภิสิทธิ์ที่ว่า “ประชาธิปัตย์ไม่ได้เป็นเงื่อนไขความขัดแย้ง แต่เข้ามาแก้ความขัดแย้ง” แล้ววิธีแก้ความขัดแย้งด้วยการบอยคอตการเลือกตั้ง เสนอนายกฯมาตรา 7 ยอมรับการนิรโทษกรรมตัวเองของคณะรัฐประหาร แต่อ้างว่าการนิรโทษกรรมแก่นักการเมืองที่ถูกทำรัฐประหารขัดต่อหลักนิติธรรม นิติรัฐ สนับสนุนประชาชนมาชุมนุมกับพันธมิตร บอกว่าไม่เคยเห็นการอ้างสถาบัน การใช้ ม.112 ทำลายศัตรูทางการเมือง แต่กลับใช้ผังล้มเจ้า ใช้ข้อกล่าวหาเรื่องขบวนการล้มเจ้าทำลายความน่าเชื่อถือในการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยของคนเสื้อแดง ฯลฯ การกระทำดังกล่าวนี้เป็นต้น ไม่ใช่เงื่อนไขของความขัดแย้งอย่างไรไม่ทราบ และวิธีการแก้ปัญหาความขัดแย้งดังกล่าวนี้นำไปสู่ความสมานฉันท์ปรองดองภายในชาติอย่างไรไม่ทราบ! ยังไม่ต้องพูดถึงว่า “รัฐบาลปู” ยังไม่ทันแถลงนโยบายเลย ยังไม่ได้ทำอะไรตามนโยบายเลย แต่ประชาธิปัตย์จะถอดถอนนายกฯ และยื่นเรื่องยุบพรรคเพื่อไทยแล้ว นี่คือ “อีกความหมาย” ของคำอธิบายที่ว่า “ไม่เป็นเงื่อนไขของความขัดแย้ง” หรือครับ! และยิ่งเป็นเรื่องตลกร้ายมากเมื่อประชาธิปัตย์ประเมินตนเองหลังเลือกตั้งว่า นโยบายเราก็ดีแต่ทำไมไม่ได้ใจประชาชน เป็นเพราะเราเป็นสุภาพบุรุษเกินไปหรือไม่ พูดแต่หลักการเหตุผล พูดเป็นวิชาการเกินไปจนชาวบ้านฟังไม่เข้าใจหรือไม่ ต่อไปต้องให้ ส.ส.ของเรามีลีลาการพูดดึงดูดความสนใจ ต้อง Acting ให้มากขึ้น ฯลฯ ผมฟังแล้วก็ได้แต่ปลงๆ ถามว่ามีใครเข้าใจ “วิธีอธิบาย” ตามตัวอย่างที่ผมยกมาข้างต้นบ้าง ในเมื่อการพูดและการกระทำของคุณขัดแย้งกันเองอยู่แทบจะทุกเรื่อง ฉะนั้น ชาวบ้านเขาจึงเข้าใจกันเกือบทั้งประเทศว่า “ความหมายที่แท้จริง” ของวิธีอธิบายแบบประชาธิปัตย์นั้นคือ “ดีแต่พูด” เช่นเดียวกันกรณีตอบโต้ณัฐวุฒิจนเป็นเหตุให้ต้องปิดการประชุมสภา ในเรื่องเกี่ยวกับประเด็นการอ้างสถาบัน และในวันก่อนนั้นอภิสิทธิ์ก็เรียกร้องให้รัฐบาลรับปากว่า “จะไม่แก้ไข ม.112” นี่คือการสะท้อนวิธีอธิบายว่าประชาธิปัตย์ไม่ใช่เงื่อนไขความขัดแย้ง และสะท้อนหลักคิดในการปกป้องสถาบันด้วยการปกป้อง ม.112 ซึ่งสะท้อนลงลึกถึง “ก้นบึ้ง” แห่งจิตวิญญาณและอุดมการณ์ประชาธิปไตยในทัศนะของประชาธิปัตย์ได้อย่างชัดแจ้งยิ่ง เป็นความชัดแจ้งในยุคสมัยที่นักวิชาการ นักคิดนักเขียน และประชาชนฝ่ายก้าวหน้าจำนวนมากเรียกร้องความเป็นประชาธิปไตยที่ยืนยันหลักเสรีภาพและความเสมอภาค และเรียกร้องให้แก้ปัญหาการอ้างสถาบันและการใช้ ม.112 เป็นเครื่องมือทำลายกันในทางการเมือง ซึ่งหมายถึงการเรียกร้องการสร้างมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดรัฐประหาร และการนองเลือดเพราะความขัดแย้งจากการอ้างสถาบันขึ้นในประเทศนี้อีก เมื่อประชาธิปัตย์ยังคงตอบสนองต่อข้อเรียกร้องดังกล่าวของนักวิชาการ นักคิดนักเขียนและประชาชนฝ่ายก้าวหน้าในท่วงทำนองดังกล่าวมานี้ คำรำพึงที่ว่า “นโยบายเราก็ดี แต่ทำไมไม่ได้ใจประชาชน” จะยังคงเป็น “คำรำพึงประจำพรรคประชาธิปัตย์” ไปอีกนาน! อ้างอิง: คำต่อคำประพันธ์ คูณมีเผย “ชวน” เคยหนุนร่วมพันธมิตร เกษียร เตชะพีระ.รัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ.2549 กับการเมืองไทย. รัฐศาสตร์สาร ปีที่ 29 ฉบับ 3 (กันยายน-ธันวาคม 2551), หน้า 51.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net