ทบทวนแผนพัฒนาภาคใต้ เวทีที่ประชาชน(เกือบ)ไม่มีส่วนร่วม

วันที่ 20 กรกฎาคม 2553 คณะรัฐมนตรีมีมติให้ “สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ” หรือ “สศช.” ที่ผู้คนคุ้นเคยกันในนาม “สภาพัฒน์” ไปดำเนินการตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เรื่องแผนพัฒนาที่ยั่งยืนบนรากฐานการพึ่งตนเองด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม กรณีภาคใต้ โดยให้ทบทวนร่างแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน และแผนพัฒนาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ภาคใต้ทั้งหมด ต่อมา “สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ” ได้ว่าจ้าง “บริษัท คอนซัลแทนท์ ออฟเทคโนโลยี จำกัด” ดำเนินโครงการศึกษาและจัดทำแผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ เพื่อศึกษาและจัดทำแผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ในภาพรวม นอกจากนี้ “สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ” ยังได้ว่าจ้าง “สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ศึกษาการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนและภาคีการพัฒนาที่เกี่ยวข้องในการวางแผนการพัฒนาพื้นที่ในแนวสตูล–สงขลา และพื้นที่ต่อเนื่องอีกด้วย “บริษัท คอนซัลแทนท์ ออฟ เทคโนโลยี จำกัด” ได้จัดประชุมกลุ่มย่อยจัดทำแผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้รวม 7 เวที ระหว่างวันที่ 19 – 22 กรกฎาคม 2554 วันที่ 19 กรกฎาคม 2554 จัดที่โรงแรมซากุระแกรนด์วิว อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เพื่อระดมความคิดเห็นประชาชน ในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน ประกอบด้วย จังหวัดสงขลา จังหวัดสตูล จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดนราธิวาส วันที่ 20 กรกฎาคม 2554 จัดประชุมที่โรงแรมวังโนรา อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง และโรงแรมวัฒนาปาร์ค อำเภอเมือง จังหวัดตรัง วันที่ 21 กรกฎาคม 2554 จัดประชุมที่โรงแรมทักษิณ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช และที่โรงแรมภูงา อำเภอเมือง จังหวัดพังงา วันที่ 22 กรกฎาคม 2554 จัดประชุมที่โรงแรมไดมอนด์ พลาซ่า อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี และที่โรงแรมเฮอริเทจแกรนด์คอนเวนชั่น อำเภอเมือง จังหวัดระนอง ขณะเดียวกัน “สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ก็ได้จัดสัมมนาโครงการศึกษาเพื่อสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนและภาคีการพัฒนาที่เกี่ยวข้องในการวางแผนการพัฒนาพื้นที่ในแนวสตูล–สงขลา และพื้นที่ต่อเนื่อง ภายใต้โครงการการวางแผนพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ ในวันที่ 27 กรกฎาคม 2554 ที่โรงแรมเอเชี่ยนหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ในการประชุมกลุ่มย่อยจัดทำแผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ กลุ่มจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2554 วันที่ 19 กรกฎาคม 2554 “นายกิตติภพ สุทธิสว่าง” คณะทำงานเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น จังหวัดสงขลา ได้ตั้งข้อสงสัยผ่านที่ประชุมว่า เหตุใดจึงไม่มีคนในเครือข่ายสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเข้าร่วมประชุม กระบวนการรับฟังความคิดเห็นยังเป็นแบบเดิมๆ เน้นเชิญเฉพาะคนกลุ่มเดิมๆ ที่มุ่งผลักดันโครงการใหญ่ๆ ทำไมไม่เชิญชาวบ้าน และเครือข่ายภาคประชาชนที่ได้รับผลกระทบเข้ามาด้วย “ผมเองก็มาโดยไม่ได้รับเชิญ” “นายกิตติภพ สุทธิสว่าง” ยืนยันต่อที่ประชุม ต่อมา วันที่ 20 กรกฎาคม 2554 การประชุมที่โรงแรมวังโนรา อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง ก็เกิดความวุ่นวายไม่น้อย เมื่อ “นางจิระพา หนูชัย” ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรสตรี จังหวัดพัทลุง และเครือข่ายสตรี 14 จังหวัดภาคใต้ ลุกขึ้นถามกลางวงประชุมว่า บริษัทที่ปรึกษาฯ เชิญกลุ่มคนจากภาคส่วนใดมาประชุมระดมความคิดเห็นบ้าง กี่คน “นายศักดิ์ชัย ประโยชน์วนิช” ผู้เชี่ยวชาญการวางผังเมือง ตอบว่า บริษัทที่ปรึกษาทำหนังสือเชิญทั้งหมด 40 คน โดยกระจายหนังสือเชิญไปยังทุกภาคส่วนเท่าที่ทำได้ แต่ได้รับหนังสือตอบรับมาร่วมเวทีแค่ 7 คน “ผมและคณะยึดมั่นอยู่บนวิชาชีพ ทั้งหมดนี้ทำตามหลักวิชาการ” เป็นถ้อยยืนยันจาก นายศักดิ์ชัย ประโยชน์วนิช” จากนั้น “นางจิระพา หนูชัย” ให้คนที่ไม่ได้รับเชิญลุกขึ้น ปรากฏว่ามีคนลุกขึ้นกว่า 40 คน ในจำนวนนี้มาจากเครือข่ายองค์กรสตรีถึง 40 คน “มีความชอบธรรมแค่ไหน ที่เชิญคนแค่ 10 คน มากำหนดอนาคตจังหวัดพัทลุง” เป็นคำถามที่ “นางจิระพา หนูชัย” ถามต่อที่ประชุมในวันนั้น ตามด้วยเหตุการณ์ชาวบ้านกว่า 40 คน ทยอยเดินออกจากที่ประชุม เหลือแค่ 10 คนอยู่ในห้องประชุมกับบริษัทที่ปรึกษาฯ ต่อ “มติของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2553 ให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ดำเนินการตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ทบทวนแผนพัฒนาภาคใต้ โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม ไม่ใช่ให้ไปว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษามาศึกษา” เป็นคำกล่าวต่อที่ประชุมของ “นายไพฑูรย์ ทองสม” อาจารย์มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง เวทีจังหวัดตรัง ซึ่งจัดในวันเดียวกันกับจังหวัดพัทลุง ที่โรงแรมวัฒนาปาร์ค ถึงแม้บรรยากาศการประชุม จะไม่มีลักษณะเผชิญหน้า แต่เสียงสะท้อนที่ได้รับกลับไปก็คือ คนภาคใต้ไม่ต้องการเมกะโปรเจ็กต์ ผู้เข้าร่วมเวทีที่เมืองตรัง ต่างยืนยันแนวทางการพัฒนาที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนใต้ว่า ให้เน้นการพัฒนาทรัพยากรทางการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ศิลปวัฒนธรรมและสุขภาพ สินค้าและบริการให้เชื่อมโยงและเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน ระหว่างกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามันกับนานาชาติอย่างยั่งยืน การพัฒนาการตลาดการท่องเที่ยวเชิงบูรณาการ เพื่อรักษาฐานนักท่องเที่ยวเดิม และเพิ่มปริมาณนักท่องเที่ยวคุณภาพบนฐานทรัพยากรท่องเที่ยวที่มีอยู่เดิม และภูมิปัญญาท้องถิ่นของพื้นที่ และการพัฒนากลไกการบริหารจัดการ การตลาด การพัฒนาคุณภาพบุคลากรการท่องเที่ยว และเศรษฐกิจของกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน สำหรับจุดแข็งของจังหวัดตรังคือ มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์สามารถพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านนิเวศน์ได้ ประกอบกับโลกอยู่ในภาวะวิกฤติทางด้านสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศน์ ทำให้เอื้อกับการจัดการการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ ส่วนวันที่ 21 กรกฎาคม 2554 บรรยากาศการประชุมที่ห้องประชุมกรรณิการ์ โรงแรมทักษิณ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ดุเดือดตั้งแต่เริ่มการประชุม เมื่อ “นายประยุทธ์ สุวรรณพรหม” คณะทำงานเครือข่ายผลกระทบนโยบายสาธารณะนครศรีธรรมราช ลุกขึ้นพูดต่อที่ประชุมว่า ทำไมถึงไม่เชิญคณะกรรมการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติมาร่วมเวทีด้วย ในเมื่อมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ดำเนินการตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติบอกให้ทบทวนอย่างบูรณาการโดยการมีส่วนร่วมของคนภาคใต้ ไม่ได้บอกให้สภาพัฒน์ไปจ้างบริษัทที่ปรึกษาฯ มาทบทวน ทำอย่างนี้ขัดกับมติของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ จากนั้น “นายประยุทธ์ สุวรรณพรหม” ได้อ่านแถลงการณ์เครือข่ายผลกระทบนโยบายสาธารณะนครศรีธรรมราช เรื่องความไม่ถูกต้องการดำเนินการทำแผนพัฒนาภาคใต้โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ภายใต้การดำเนินการของบริษัท คอนซัลแทนท์ ออฟ เทคโนโลยี จำกัด เนื้อหาสรุปว่า กระบวนการจัดประชุมระดมความคิดเห็นทบทวนแผนพัฒนาภาคใต้ของบริษัทฯ มีความไม่ชอบธรรม “การดำเนินการของบริษัทและสภาพัฒน์ อยู่นอกเหนือมติคณะรัฐมนตรีที่เห็นชอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตามมติของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ กรณีแผนพัฒนาภาคใต้ที่ยั่งยืน ที่ขอให้ทบทวนแผนพัฒนาพื้นที่ภาคใต้โดยรวม ขอให้บริษัทฯ ยุติการดำเนินการ และจะติดตามการดำเนินงานจนกว่าสภาพัฒน์ ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีต่อไป” จากนั้น เวลา 10.20 น. ผู้เข้าร่วมประชุมต่างทยอยออกจากห้อง เหลือผู้อยู่ร่วมประชุมประมาณ 20 คน วันเดียวกัน บรรยากาศการประชุมที่โรงแรมภูงา จังหวัดพังงา ก็มีผู้เข้าร่วมบางตา เมื่อเทียบกับจำนวนเก้าอี้ที่เตรียมไว้ 100 กว่าที่นั่ง ถึงแม้บรรยากาศการประชุมจะมีลักษณะถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน แต่น้ำเสียงของผู้เข้าร่วมประชุมจากภาคประชาชน ต่างแสดงท่าทีไม่เห็นด้วย หากรัฐจะนำอุตสาหกรรมหนักลงมายังภาคใต้ ส่วนเวทีที่สุราษฎร์ธานี “นายประวีณ จุลภักดี” ประธานมูลนิธิป่า–ทะเลเพื่อชีวิต บอกกับที่ประชุมว่า ในฐานะที่เป็นคณะกรรมการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เคยเข้าร่วมประชุมมา 15 ครั้ง แต่น่าแปลกใจที่ไม่ทราบเรื่องการจัดการประชุมคราวนี้อย่างเป็นทางการ แต่ทราบโดยบังเอิญจากการฟอร์เวิร์ดเมล์ต่อๆ กันมา “การทบทวนแผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ต้องสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนจริงๆ ไม่ใช่จัดการประชุมหลบๆ ซ่อนๆ เพื่อสร้างความชอบธรรม ผมและเครือข่ายภาคประชาชนเห็นว่าการประชุมในครั้งนี้ไม่ชอบธรรม” ประเด็นที่ทุกฝ่าย ควรให้ความสำคัญอย่างยิ่งคือ วงประชุมที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีวันนั้น ทั้งภาคประชาชนและภาคธุรกิจ ต่างแสดงความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกัน นั่นคือ พื้นที่นี้ไม่ต้องการอุตสาหกรรมหนัก ขณะที่เวทีจังหวัดระนอง ซึ่งจัดขึ้นในวันเดียวกันกับจังหวัดสุราษฎร์ธานี “นางมณเฑียร ธรรมวัติ” จากเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคใต้ ลุกขึ้นตั้งข้อสังเกตต่อที่ประชุมว่า ผู้เข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็น ไม่ครอบคลุมทุกกลุ่ม แถมเพิ่งได้รับเอกสารก่อนเข้าประชุม แน่ใจได้อย่างไรว่า แต่ละคนเข้าใจเนื้อหาของแผนพัฒนาที่กำลังพูดคุยกันอยู่ “ลักษณะการจัดประชุมแบบนี้ ส่อเจตนาไม่บริสุทธิ์ใจ ดิฉันอยากให้ยกเลิกเวทีนี้ และไม่อยากให้ใช้รายชื่อพวกเราไปสร้างความชอบธรรมว่า ได้ถามได้คุยกับชาวบ้านมาแล้ว แล้วนำไปรับรองแผนพัฒนาที่พวกเราไม่บอมรับ เพราะนี่จะกลายเป็นตราบาปของชาวจังหวัดระนอง เรืองแบบนี้มันเคยเกิดกับพวกเรามาแล้ว” เป็นถ้อยเน้นย้ำของ “นางมณเฑียร ธรรมวัติ” ต่อที่ประชุม เป็นผลให้ผู้เข้าประชุมทยอยเดินออกจากที่ประชุมไปจำนวนหนึ่ง ปิดท้ายด้วยเวทีของสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่โรงแรมเอเชี่ยนหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2554 เวทีนี้ถูกยึดโดยแขกที่ไม่ได้รับเชิญจากจังหวัดสตูลและชาวจะนะ จังหวัดสงขลา คำถามหลักจากคนกลุ่มนี้ก็คือ ตลอดระเวลาเกือบ 1 ปี ที่นักวิชาการกลุ่มนี้ลงพื้นที่พูดคุยกลุ่มย่อย 25 เวที ทำไมพวกเขาซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรง จากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของภาครัฐ ไม่เคยได้รับเชิญให้ไปแสดงความคิดเห็น เสียงสะท้อนของ “นายเจะปิ อนันทบริพงษ์” ชาวบ้านจากตำบลสะกอม อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ที่พูดต่อที่ประชุมในวันนั้นว่า ชาวบ้านจะนะ เพิ่งทราบจากพี่น้องจังหวัดสตูลว่า จะมีการจัดเวทีฯ ในวันนี้ ทำไมถึงไม่เชิญพวกผม ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากโครงการรัฐ พอมาถึงที่ประชุมก็ไม่มีการข้อมูลเกี่ยวกับโครงการแผนพัฒนาภาคใต้ โดยเฉพาะโครงการสะพานเศรษฐกิจสงขลา–สตูล ที่พี่น้องต้องเจอโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการ จึงเป็นเสียงสะท้อนที่ทำให้กระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่ผ่านมาของสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไร้ค่าลงในบัดดล ก่อนที่ “นายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี” คณะทำงานเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล จะตอกฝาโลง ด้วยการลุดขึ้นมายืนยันว่า การดำเนินการทบทวนโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ของสภาพัฒน์ โดยว่าจ้าง “บริษัท คอนซัลแทนท์ ออฟ เทคโนโลยี จำกัด” และ “สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” เป็นการขัดมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2553 และมติของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่ต้องการให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงมาตั้งแต่ต้น “เวทีย่อย 25 ครั้งที่จัดกันมา เคยเชิญพวกผมไปร่วมเวทีบ้างหรือไม่ ทำไมการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม จึงไม่เชิญชุมชนที่ได้รับความเดือดร้อนมาร่วมประชุมแม้สักครั้งเดียว” เป็นคำถามโยนเข้ากลางวงประชุมจาก “นายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี” เมื่อย้อนรอยถอยกลับไปดูรายละเอียดกระบวนการเชิญผู้เข้าร่วมประชุมระดมความคิดเห็นรวม 7 เวที ภายใต้ความรับผิดชอบของ “บริษัท คอนซัลแทนท์ ออฟ เทคโนโลยี จำกัด” ก็จะพบหนังสือด่วนที่สุดที่ สพท.6383/2554 ของสำนักยุทธศาสตร์และการวางแผนพัฒนาพื้นที่ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เรื่องเชิญร่วมประชุมกลุ่มย่อยเพื่อระดมความคิดเห็นโครงการศึกษาและจัดทำแผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ถึงเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ลงวันที่ 11 กรกฎาคม 2554 หนังสือฉบับนี้ลงนามโดย “นายสมชาย ศักดาเวคีอิศร” ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน ในฐานะประธานกรรมการกำกับการดำเนินงานโครงการศึกษาและจัดทำแผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เนื้อหาในหนังสือระบุกลุ่มเป้าหมายผู้เข้าร่วมประชุม 400 คน ประกอบด้วย ผู้แทนภาครัฐ ภาคธุรกิจ เอกชน นักการเมืองท้องถิ่น นักวิชาการ ประชาชน องค์กรพัฒนาเอกชน จากกลุ่มจังหวัดชายแดนภาคใต้ สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส 150 คน ตรัง 30 คน กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน พังงา กระบี่ และภูเก็ต 80 คน ระนอง 30 คน พัทลุง 30 คน นครศรีธรรมราช 30 คน สุราษฎร์ธานี 30 คน และชุมพร 50 คน เช่นเดียวกัน เมื่อดูจากเอกสารประกอบการประชุม ที่แนบมากับหนังสือเชิญประชุมของ “สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ที่ ศธ 0512.36/582 ลงวันที่ 14 กรกฎาคม 2554 เรื่องขอเชิญเข้าร่วมสัมมนาโครงการศึกษาเพื่อสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการวางแผนพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ ภายใต้โครงการศึกษาวางแผนพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ ลงนามโดย “ผู้ช่วยศาสตราจารย์เภสัชกรหญิงนิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี” ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม ก็พบว่ามีการระบุกลุ่มเป้าหมายที่จะเชิญเข้าร่วมประชุมไว้อย่างชัดเจน กลุ่มเป้าหมายดังกล่าว ประกอบด้วย ประชาชนทั่วไป ผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา กลุ่มสตรี นิสิต/นักศึกษา หน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นภาคธุรกิจเอกชน นักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน สื่อมวลชน และนักการเมืองท้องถิ่น ประมาณ 100 คน จากจังหวัดสงขลาและสตูล ในที่สุด “นายสมชาย ศักดาเวคีอิศร” ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะประธานกรรมการกำกับการดำเนินงานโครงการศึกษาและจัดทำแผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ก็ต้องออมายอมรับว่า มีความเป็นไปได้ที่บริษัท คอนซัลแทนท์ ออฟ เทคโนโลยี จำกัด และสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เชิญผู้เข้าร่วมประชุมกลุ่มย่อยเพื่อระดมความคิดเห็น จากภาคส่วนต่างๆ ผิดกลุ่ม เข้าไม่ถึงกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจริงๆ แต่ก็เป็นนิมิตหมายที่ดี ที่ผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการเมกะโปรเจ็คต์ทั้งหลาย ได้เข้ามาสะท้อนผ่านเวทีต่างๆ ดูเหมือนกระบวนการเชิญผู้เข้าร่วมประชุมคราวนี้ จะชัดเจนขึ้นจากคำอธิบายของ “นายประพันธ์ มุสิกพันธ์” ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภาคใต้ “นายประพันธ์ มุสิกพันธ์” บอกว่า กระบวนการเชิญทุกภาคส่วนมาระดมความคิดเห็น ที่นำมาใช้คราวนี้มี 2 วิธี 1. สภาพัฒน์ส่งหนังสือเชิญไปยังสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งขึ้นอยู่กับสมัชชาสุขภาพแห่งชาติจะเชิญใครมา 2. สภาพัฒน์ส่งหนังสือเชิญไปยังทุกภาคส่วนทั้งราชการ นักธุรกิจเอกชน นักพัฒนาภาคเอกชน (NGOs) ฯลฯ “บริษัทที่ปรึกษา และสภาพัฒน์ไม่ได้มีธงอะไร แค่ลงมารับฟังความคิดเห็นว่า คนใต้ต้องการทิศทางการพัฒนาแบบไหน เรามารวบรวมข้อมูลจริงจากพื้นที่ แล้วนำประเด็นที่ได้รับไปพิจารณา ซึ่งจะต้องประเด็นที่เป็นข้อเท็จจริง สามารถนำไปใช้ประกอบการจัดทำจัดทำแผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ได้จริง เราไม่ได้ตั้งธงว่าจะต้องเดินหน้าเมกะโปรเจ็กต์ ถ้ามีโอกาสเราจะลงมาจัดประชุมกลุ่มย่อยทำความเข้าใจและระดมความคิดเห็นคนภาคใต้อีกครั้ง” เป็นความพยายามที่จะอธิบายจากเจ้าของเวทีทบทวนแผนพัฒนาภาคใต้ อันสอดคล้องกับคำชี้แจงของ “นายศักดิ์ชัย ประโยชน์วนิช” จากบริษัทที่ปรึกษาที่ออกมาบอกว่า ทีมงานได้กระจายหนังสือเชิญทุกภาคส่วนเท่าที่ทำได้ ในส่วนของจังหวัดพัทลุง บริษัทที่ปรึกษาได้เชิญผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมด 40 คน แต่ได้รับการตอบรับว่าจะเข้าร่วมแค่ 7 คน ทางบริษัทคอนซัลแทนท์ ออฟ เทคโนโลยี จำกัด จึงสร้างเฟซบุ๊คชื่อผังพัฒนาภาคใต้ และสร้างอีเมลล์ Urb@cot.co.th ขึ้นมา เพื่อให้ประชาชนทุกภาคส่วนได้เข้าร่วมนำเสนอความคิดเห็นเพิ่มเติม “ผมและคณะยึดมั่นอยู่บนวิชาชีพ ทั้งหมดนี้ทำตามหลักวิชาการ” เป็นคำยืนยันของ “นายศักดิ์ชัย ประโยชน์วนิช” ภาพความวุ่นวายภายในห้องประชุมกลุ่มย่อยจัดทำแผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้โรงแรมทักษิณ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2554 ที่ถูกผู้เข้าร่วมส่วนหนึ่งซึ่งไม่ได้รับหนังสือเชิญขอให้ยุติการรับฟังความเห็นต่อไป เนื่องจากเห็นว่าเป็นการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นที่ไม่มีความชอบธรรม ห้องประชุมที่โรงแรมวังโนรา อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง โล่งลงทันทีหลังจากเครือข่ายองค์กรสตรี จังหวัดพัทลุง และเครือข่ายสตรี 14 จังหวัดภาคใต้ กว่า 40 คน ลุกออกไป จำนวนผู้เข้าร่วมเพียงน้อยนิดในการประชุมกลุ่มย่อยของการจัดทำแผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2554 ที่โรงแรมซากุระแกรนด์วิว อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เพื่อระดมความคิดเห็นประชาชน ในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน ในช่วงแบ่งกลุ่มรับฟังความเห็นในหัวข้อเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานสำคัญๆ ของภาคใต้ มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 2 แผนพัฒนาที่ยั่งยืนบนฐานการพึ่งพาตนเองด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม กรรีภาคใต้ 1.ขอให้รัฐบาลโดยคณะรัฐมนตรี พิจารณามอบหมายให้คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติทบทวนร่างแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืนและพัฒนาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง โดยเป็นแผนบูรณาการและมีหลักการสำคัญ ดังนี้ 1.1 ให้เน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิต และพัฒนาการศึกษาที่สร้างคนให้มีคุณภาพสู่สมดุลทางด้านสุขภาวะ 1.2 ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ ตามความต้องการและความจำเป็นของท้องถิ่น โดยเป็นอุตสาหกรรมที่คำนึงถึงการรักษาฐานทรัพยากรไม่เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต และสุขภาพชุมชนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว 1.3 ให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต วัฒนธรรมท้องถิ่น และการกระจายรายได้ควบคู่ไปกับการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ 1.4 ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ป่าสมุนไพร พื้นที่ชุ่มน้ำ การส่งเสริมการเกษตรยั่งยืน และพัมนาระบบเศรษฐกิจพอเพียง 1.5 ให้ความสำคัญกับฐานความรู้ภูมินิเวศน์ เคารพความหลากหลายทางวัฒนธรรมโดยเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนได้เสนอความต้องการและมีส่วนร่วมในการกำหนดประเด็นในการพัฒนา ทั้งนี้ขอให้รัฐบาลโดยคณะรัฐมนตรีมีมติให้การดำเนินโครงการพัฒนาของภาครัฐและเอกชน คำนึงถึงผลกระทบอย่างรอบด้าน และสร้างกลไกเพื่อพิจารณาข้อเสนอที่จะชะลอแผนงานและโครงการที่สร้างความขัดแย้ง และ/หรือมีผลกระทบต่อสังคมและชุมชนทั้งในปัจจุบันและอนาคต เพื่อเปิดโอกาสในการสร้างฉันทามติร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย 2. ในการดำเนินการตามข้อ1.ขอให้คณะกรรมการพัฒนาการเศราฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประสานคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง ภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคชุมชน ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม โดยเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการประเมินผลกระทบจากการพัฒนา ตั้งคณะกรรมการทบทวนร่างแผนแม่บทพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องโดยใช้เครื่องมือที่หลากหลาย มุ่งเน้นสนับสนุนการตัดสินใจเชิงยุทธศาสตร์ของพื้นที่ การมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายและคำนึงถึงผลกระทบอย่างรอบด้าน 3.ขอให้คณะกรรมการทบทวนร่างแผนแม่บทพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน ที่ได้ผ่านการทบทวนข้อ1.และ 2. เรียบร้อยแล้ว จึงผลักดันให้แผนฯ ได้รับการปฏิบัติอย่างจริงจัง ทั้งในระดับภาคและระดับท้องถิ่น มีกลไกการติดตาม กำกับ ประเมินผล และเปิดเผยข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนทราบอย่างต่อเนื่อง 4.ขอให้รัฐบาลโดยคณะรัฐมนตรี ออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่เศราฐกิจภาคใต้และภาคอื่นๆ อย่างยั่งยืน เพื่อให้การดำเนินการของคณะกรรมการในข้อ 2. เป็นไปอย่างต่อเนื่อง แผนพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ร่วมกับธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ได้ดำเนินการศึกษาการวางแผนพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน (Planning for the Sustainable Development of Southern Thailand) ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2550 และวันที่ 6 พฤศจิกายน 2550 โดยให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมคิดของภาคประชาชนและภาคีการพัฒนาที่เกี่ยวข้องโดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มพื้นที่ ได้แก่ 1) พื้นที่อนุภาคใต้ฝั่งตะวันออก 2) พื้นที่อนุภาคใต้ตอนล่าง และ 3) พื้นที่อนุภาคใต้ฝั่งอันดามัน และผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในภาคใต้ เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการ ซึ่งดำเนินการโดย สศช.ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาประกอบการจัดทำแผนฯ ต่อมา วันที่ 6 ตุลาคม 2551 คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีมติเห็นชอบพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน ซึ่งเสนอให้ดำเนินการศึกษาในขั้นการวางแผนพัฒนาพื้นที่เฉพาะ (Special Area Plan) ใน 3 พื้นที่ ได้แก่ 1) พื้นที่แนวสะพานเศรษฐกิจสตูล-สงขลา 2) พื้นที่เศรษฐกิจฝั่งอ่าวไทย ในแนวสุราษฎร์ธานี-นครศรีธรรมราช และ3) พื้นที่ท่องเที่ยว กลุ่มจังหวัดภูเก็ต กระบี่ พังงา โดยพื้นที่แนวสะพานเศรษฐกิจสตูล–สงขลา เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อนการพัฒนา 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นางมณเฑียร ธรรมวัติ เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคใต้ ทำไมเครือข่ายภาคประชาชนในหลายจังหวัด จึงออกมาล้มเวที เราไม่ต้องการให้ใครนำไปใช้แอบอ้างว่า เครือข่ายเราเข้าร่วมเวทีแล้ว แล้วไปจัดทำแผนกันตามใจชอบ กลุ่มคนที่ออกมาคัดค้านเป็นกลุ่มคนที่ติดตามเรื่องนี้มาตลอด ไม่ได้ถูกเชิญมาร่วมแสดงความคิดเห็นจากผู้จัดโดยตรง การลุกขึ้นล้มเวที ด้วยการเดินออกจากห้องประชุม เป็นการส่งสัญญาณต่อผู้จัดว่า เราไม่เห็นด้วยกับการทำแบบนี้ เราต้องการให้ผู้จัดต้องบันทึกในรายงานว่า มีกลุ่มคนไม่เห็นด้วยกับการพัฒนาภาคใตให้เป็นเขตตสาหกรรม เราบอกชัดเจนว่าเวทีนี้ไม่ชอบธรรม เราต้องการบอกกับผู้เข้าร่วมประชุมทุกคนว่า ควรคิดอย่างไรกับเรื่องเหล่านี้ เพราะบางคนเข้าประชุมโดยไม่รู้เรื่องนี้มาก่อน ขนาดถูกเชิญมา ยังไม่ได้อ่านเอกสารประกอบการประชุมเลยว่า มีเนื้อหาอย่างไร ถ้าไม่มีคนลุกขึ้นพูดว่าเรื่องนี้มีปัญหาอย่างไร พวกเขาก็เป็นแค่ผู้เข้าร่วมประชุมจริงๆ หลังจากพี่ลุกขึ้นพูด มีคนเห็นด้วยและเดินออก มีกลุ่มนักกฏหมายในจังหวัดระนองประมาณสามคน รองนายกสมาคมการท่องเที่ยวจังหวัดระนองที่เดินออกมา เพราะรู้ว่าเวทีนี้ จะส่งผลอะไรต่ออนาคตคนระนอง ทำไมจึงคิดว่าเวทีนี้ไม่ชอบธรรม? มติของสมัชชาสุขภาพที่ให้รัฐบาลทบทวน มาจากประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เขาต้องการมาพูดคุยกับวางแผนพัฒนา ผู้จัดเวทีก็ต้องเชิญคนที่ติงมาคุยด้วย แต่นี่กลับไปเชิญกลุ่มที่ไม่ได้ติดตามเรื่องนี้มาตั้งแต่แรกมาคุยด้วย คนเหล่านั้นจะรู้หรือเปล่าว่า เกิดอะไรขึ้นก่อนหน้าที่จะมาจัดเวทีนี้ เราตั้งใจให้มีการบันทึกในรายงานการประชุมว่า มีคนทักท้วงแล้วนะ มีแผนจะทำอย่างไรต่อไปกับเรื่องนี้? หลังจากเวทีนี้แล้ว เราจะส่งสัญญาณอีกครั้งคือ เราจะผนึกเสียงทุกจังหวัดในภาคใต้ มาคุยกันถึงอนาคตของเรา คนใต้ทั้ง 14 จังหวัดจะกำหนดอนาคตเราเอง โดยจะคุยกันในสามหัวข้อหลักคือ เรื่องความมั่นคงด้านอาหาร เรื่องอุตสาหกรรมต่อเนื่องภาคเกษตร และเรื่องพลังงานทางเลือก เราจะจัดการการประชุมวางแผนเรื่องการพัฒนาพื้นที่เรา จะเอายังไงก็ให้ประชาชนที่นี่พูดเอง เราจะให้คนใต้กว่า 70% ได้มีสิทธิแสดงความคิดเห็น เพื่อจัดทำเป็นแผนคู่ขนานที่มาจากเสียงของประชาชนจริงๆ เมื่อได้แผนคู่ขนานแล้ว เราจะนำเสนอต่อรัฐบาล ส่งสัญญาณไปเลยว่า อนาคตของคนใต้ คนใต้จัดการเอง นายสมชาย ศักดาเวคีอิศร ประธานคณะกรรมการกำกับการดำเนินงานโครงการศึกษาและจัดทำแผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ วัตถุประสงค์ในการทบทวนร่างแผนการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน เราต้องการทบทวนผลการศึกษาเกี่ยวกับโครงการพัฒนาในพื้นที่ภาคใต้ ที่มีหลายฉบับ หลายคณะ แต่ละฉบับมีจุดเน้นหนักในการพัฒนาภาคใต้แตกต่างกัน มีทั้งที่เหมือนกันและต่างกันบ้างในบางประเด็น ทำให้ประชาชนสับสน สภาพัฒน์เลยจัดเวทีเพื่อทบทวนผลการศึกษาโครงการต่างๆ กว่า 20–30 ฉบับ ประกอบด้วย ผลการศึกษาของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่จะตั้งนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมมีในภาคใต้ โครงการศึกษาท่าเรือน้ำลึก แลนด์บริดจ์ ของกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม และร่างแผนการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจภาคใต้ มาทบทวน เป็นการทบทวนภายใต้สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง หัวใจหลักคืออยากรู้ว่าคนใต้ต้องการเห็นบ้านตัวเองพัฒนาไปทิศทางไหน โดยให้บริษัทที่ปรึกษาตั้งประเด็นทิศทางการพัฒนาภาคการเกษตร ประมง อุตสาหกรรมต่อเนื่องจากภาคเกษตร การพัฒนาการศึกษา ทักษะในการประกอบอาชีพการเตรียมการรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ปัญหาสิ่งแวดล้อม อาทิ ภัยพิบัติดินถล่ม กัดเซาะชายฝั่ง เป็นต้น ผลการจัดเวทีระดมความคิดเห็นกลุ่มย่อยจะนำไปสู่กระบวนการ หรือขั้นตอนใดต่อไป เราจัดเวทีระดมความคิดเห็นกลุ่มย่อย 7 เวที เพื่อรับฟังความเห็น จากนั้นจะนำผลการศึกษาเสนอกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือบอร์ดสภาพัฒน์ ใช้ประกอบการทำแผนพัฒนา ให้เป็นไปตามที่ประชาชนต้องการ ข้อมูลที่ได้จะนำไปใช้เป็นกรอบใหญ่ในการทำรายละเอียดของแผน จะไม่มีการนำข้อมูลที่ได้จากการศึกษาไปบิดเบือน แต่จะนำไปจัดแผนพัฒนาภาคใต้ให้เป็นไปตามทิศทางที่ประชาชนต้องการ ซึ่งต่างกับแผนพัฒนาฉบับก่อนๆ ที่ไม่ได้รับฟังชาวบ้านเลย มีวิธีการเชิญภาคส่วนต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมระดมความคิดเห็นอย่างไร บริษัทที่ปรึกษา พยายามเชิญคนให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม ทั้งข้าราชการ นักลงทุน กลุ่มธุรกิจ ประชาชน นักพัฒนาเอกชน (NGOs) บัญชีรายชื่อบุคคลที่เข้าร่วมหลักๆ ก็จะเป็นเครือข่ายภาคประชาชน และภาคส่วนต่างๆ ที่เคยเข้าร่วมสัมมนาร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับ 11 เราอาศัยรายชื่อเหล่านั้นเป็นฐานในการเชิญเข้ามาประชุม การทบทวนแผนพัฒนาภาคใต้ของสภาพัฒน์ กับนโยบายผลักดันให้เกิดโครงการแลนด์บริดจ์ของพรรคเพื่อไทย มีความขัดแย้งกันหรือไม่ ไม่ขัดแย้ง เพราะในขั้นตอนการปฏิบัติต้องกลับไปถามชาวบ้านอยู่ดีว่า เอาหรือไม่เอา โครงการแลนด์บริดจ์ของพรรคเพื่อไทย จึงไม่ขัดแย้งกับการทบทวนแผนพัฒนาภาคใต้ของสภาพัฒน์ แต่จะหนุนเสริมซึ่งกันและกัน โดยเอาชาวบ้านเป็นตัวตั้งว่า ประชาชนต้องการหรือไม่ ถ้าจะเอาก็ต้องไม่ให้เกิดผลกระทบกับชุมชนกับชาวบ้าน และสิ่งแวดล้อม นิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ขัดกับศักภาพการท่องเที่ยวของภาคใต้หรือไม่ กรณีมาบตาพุดถือเป็นบทเรียน ต่อไปที่อื่นจะเกิดเหตุการณ์แบบมาบตาพุดไม่ได้ จะต้องทำรายงานการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ถ้าต้องการลงทุนก็ต้องไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ต้องเป็นอุตสาหกรรมที่สะอาดอยู่กับชุมชนได้ ปัญหาใหญ่ก็คือของการวางผังเมือง จะต้องจัดโซนนิ่ง แยกชุมชนกับอุตสาหกรรมออกจากกัน ส่วนปิโตรเคมี ถึงแม้ศักยภาพของภาคใต้จะสามารถรองรับแผนพลังงาน และอุตสาหกรรมปิโตรเคมีได้ แต่เมื่อชาวบ้านไม่เอา เราจะให้ปรากฏอยู่ในแผนพัฒนาภาคใต้ไม่ได้ นางสาวพจนี อรรถโรจน์ภิญโญ ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และการวางแผนพัฒนาพื้นที่ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ การศึกษาแผนพัฒนาภาคใต้ของสภาพัฒน์เริ่มมาตั้งแต่เมื่อไหร่ เริ่มมาตั้งแต่ปี 2532 เกี่ยวกับสะพานเศรษฐกิจ (แลนด์บริดจ์) ในโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ (เซาท์เทิร์นซีบอร์ด) พื้นที่ภาคใต้มีศักยภาพในการรองรับยุทธศาสตร์ด้านโลจิสติกส์ และยุทธศาสตร์ด้านพลังงาน จริง แต่ในทางปฏิบัติ ยังไม่สามารถทำได้จริง กระทั่งล่าสุดสภาพัฒน์ได้รับความช่วยเหลือทางวิชาการจากธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) เพื่อจัดทำร่างแผนการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน แล้วเสร็จเมื่อเดือนตุลาคม 2551 ต่อมา วันที่ 20 กรกฎาคม 2553 คณะรัฐมนตรีก็มีมติให้ทบทวน ตามมติของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ โครงการพลังงาน ภายใต้ IMT–GT กับยุทธศาสตร์พลังงานเกี่ยวข้องกับสภาพัฒน์อย่างไร ยุทธศาสตร์พลังงานเป็นของกระทรวงพลังงาน ไม่เกี่ยวกับสภาพัฒน์ ส่วน IMT–GT มีโครงการพลังงานคือโรงแยกก๊าซ ที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ซึ่งเกิดขึ้นแล้ว เท่าที่ผทราบทางบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บอกว่า ดำเนินการแล้วไม่คุ้มทุน จึงไม่ขยายโรงแยกก๊าซต่อเป็นโรงที่ 2 ทั้งที่ประเทศมาเลเซียต้องการ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท