Skip to main content
sharethis

สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย-สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ออกแถลงการณ์ขอให้ยุติการคุกคามสื่อมวลชน กรณีเสื้อแดงชุมนุมร้องช่องเจ็ดปลดนักข่าวสาว ชี้หากพบว่าผิดให้ใช้สิทธิ์ท้วงติงตาม กม. วันนี้ 31 ส.ค.54 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ออกแถลงการณ์เรื่อง ขอให้ยุติการคุกคามสื่อมวลชน โดยสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ลงวันที่ 30 ส.ค.54 ระบุถึงกรณีกลุ่มคนเสื้อแดงได้ไปชุมนุมที่สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 โดยได้ยื่นหนังสือเรียกร้องให้ปลดนางสาวสมจิตต์ นวเครือสุนทร ออกจากการเป็นผู้สื่อข่าวของสถานีฯ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย แสดงความเห็นว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการแทรกแซงและคุกคามสื่อ และเรียกร้องให้กลุ่มบุคคลดังกล่าวยุติการคุกคามสื่อมวลชนไม่ว่าด้วยวิธีการใดๆ ทั้งนี้หากเห็นว่าสื่อมวลชนรายใด ทำหน้าที่ไม่เหมาะสม หรือรายงานข่าวคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ก็สามารถท้วงติงหรือใช้ช่องทางของกฎหมายให้ดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม อีกทั้งยังได้เรียกร้องให้รัฐบาลดูแลกลุ่มมวลชนที่ให้การสนับสนุนมิให้กระทำการใดที่เป็นการคุกคามหรือละเมิดสิทธิ์ของผู้ทำหน้าที่รายงานและตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ทั้งนี้เพื่อเป็นไปตามนโยบายปรองดองและสมานฉันท์ของคนในชาติดังที่รัฐบาลได้แถลงไว้ก่อนหน้านี้ อนึ่ง เนชั่นทันข่าว รายงานสถานการณ์การชุมนุมของคนเสื้อแดงที่สถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7 ว่า เมื่อเวลา 13.00 น.วันที่ 30 ส.ค.54 นายนพพร นามเชียงใต้ ได้นำกลุ่มคนเสื้อแดงประมาณ 20 คนไปชุมนุมกดดันที่หน้าสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7 เพื่อเรียกร้องและยื่นหนังสือให้ผู้บริหารพิจารณาการทำงานของผู้สื่อข่าวช่อง 7 โดยกลุ่มคนเสื้อแดงมีป้ายข้อความเขียนโจมตีการทำงานของนักข่าวช่อง7 ต่างๆ นานา และยังบอกว่าสื่อคุกคามประชาชน พร้อมกับเรียกร้องให้นักข่าวถอนแจ้งความกรณีไปแจ้งความเพื่อดำเนินคดีคนเสื้อแดงที่ส่งอีเมลข่มขู่ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณหน้าช่อง 7 มีเจ้าหน้าที่ตำรวจสายตรวจ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนนอกเครื่องแบบของ สน.บางซื่อ มาคอยดูแลความสงบ กลุ่มเสื้อแดงใช้เวลาเรียกร้องประมาณ 20 นาที แล้วยื่นหนังสือให้ผู้บริหารช่อง7 ก่อนจะสลายตัวไปโดยไม่มีเหตุวุ่นวายแต่อย่างใด ทั้งนี้ แถลงการณ์สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย มีรายละเอียด ดังนี้ แถลงการณ์ เรื่อง ขอให้ยุติการคุกคามสื่อมวลชน จากกรณีกลุ่มคนเสื้อแดงได้ไปชุมนุมที่สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 โดยได้ยื่นหนังสือเรียกร้องให้ปลดนางสาวสมจิตต์ นวเครือสุนทร ออกจากการเป็นผู้สื่อข่าวของสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 นั้น สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เห็นว่าเป็นการแทรกแซงและคุกคามสื่อ จึงขอเรียกร้องให้กลุ่มบุคคลดังกล่าวยุติการคุกคามสื่อมวลชนไม่ว่าด้วยวิธีการใดๆ ทั้งสิ้น ทั้งนี้หากเห็นว่าสื่อมวลชนรายใด ทำหน้าที่ไม่เหมาะสม หรือรายงานข่าวคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ก็สามารถท้วงติงหรือใช้ช่องทางของกฎหมายให้ดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม และขอเรียกร้องให้รัฐบาลดูแลกลุ่มมวลชนที่ให้การสนับสนุนมิให้กระทำการใดที่เป็นการคุกคามหรือละเมิดสิทธิ์ของผู้ทำหน้าที่รายงานและตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ทั้งนี้เพื่อเป็นไปตามนโยบายปรองดองและสมานฉันท์ของคนในชาติดังที่รัฐบาลได้แถลงไว้ก่อนหน้านี้ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ขอเป็นกำลังใจให้กับนางสาวสมจิตต์ นวเครือสุนทร ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 ที่ได้พยายามทำหน้าที่สื่อมวลชนโดยยึดประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นหลัก ทั้งนี้สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ขอให้ผู้สื่อข่าวทุกท่านยึดมั่นในการทำหน้าที่อย่างเที่ยงธรรม กล้าหาญ ปราศจากอคติ ตามหลักจริยธรรมวิชาชีพ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย 30 สิงหาคม 2554 ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 26 ส.ค.54 เว็บไซต์ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ก็ได้เผยแพร่แถลงการณ์ร่วม 3 องค์กรสื่อ ซึ่งประกอบด้วยสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ขอให้ยุติการคุกคามนักข่าว ระบุเนื้อหาดังนี้ แถลงการณ์ เรื่อง ขอให้ยุติการคุกคามนักข่าว จากการส่งต่อ หรือฟอร์เวิร์ดจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ของกลุ่มบุคคล ที่มีข้อความปลุกระดมให้ประชาชนเกิดความเกลียดชังผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 รายหนึ่ง ด้วยการโพสต์ภาพถ่ายและชื่อ นามสกุล ด้วยข้อความ “เปิดโฉมหน้านักข่าวที่ทำให้นายกปูเดินหนี จำหน้าหล่อนไว้นะครับ เห็นที่ไหนก็จัดการให้หน่อยก็แล้วกันครับ” ซึ่งข้อความ การกระทำและพฤติกรรมดังกล่าวเป็นการคุกคามสิทธิ เสรีภาพ และการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน อย่างชัดแจ้ง สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และ จึงขอเรียกร้องไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องและสาธารณชน ดังนี้ 1.ขอให้ทุกฝ่ายตระหนักว่าสื่อมวลชน ผู้สื่อข่าว ช่างภาพ ทำหน้าที่รายงานข่าว สัมภาษณ์ ซักถาม เพื่อต้องการข้อเท็จจริงตามหน้าที่ของตน ไม่ใช่เป็นคู่ขัดแย้งกับใคร เพราะฉะนั้นจึงไม่ควรตกเป็นเป้าหมายของการข่มขู่ คุกคามและแทรกแซงไม่ว่าจากฝ่ายใด ซึ่งหากสื่อถูกข่มขู่และคุกคามจนไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างอิสระจะส่งผลกระทบต่อประชาชนที่ไม่สามารถรับรู้ข่าวสารข้อมูลและข้อเท็จจริง 2.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 28 บัญญัติว่า “บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพของตนได้เท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น” เพราะฉะนั้นกลุ่มคนที่มีความเห็นแตกต่างกันในทางการเมือง ต้องไม่ใช้วิธีการที่เป็นการละเมิด ข่มขู่ คุกคาม สิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น 3.สำหรับประชาชนกลุ่มต่างๆ ซึ่งอาจมีจุดยืนหรือความเห็นทางการเมืองแตกต่างกัน ก็ควรใช้ความอดกลั้น ความเข้าใจ มีสติยับยั้ง ในการสนับสนุนกลุ่มหรือพรรคการเมืองใด โดยติดตามข่าวสารอย่างมีสติ อย่าได้เชื่อข่าวสารที่ปราศจากการตรวจสอบถึงแหล่งที่มาที่ชัดเจน ซึ่งอาจยั่วยุให้มีการใช้ความรุนแรง สุดท้ายนี้ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ขอเป็นกำลังใจให้สื่อมวลชนทุกแขนงทำหน้าที่อย่างเข้มแข็ง ซื่อสัตย์ในวิชาชีพ ยึดถือประโยชน์ของสาธารณะและประเทศชาติเป็นหลัก สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย 26 สิงหาคม 2554

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net