Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เท่าที่ผมเห็นมา ชาวพุทธมีทัศนะที่แปลกแยกจากเสรีภาพในโลกสมัยใหม่สองแบบ คือ ทัศนะแรก มองว่า พุทธศาสนาไม่ได้พูดถึงเสรีภาพ พุทธสอนให้คนปฏิบัติตามหลักศีล สมาธิ ปัญญา หรือมรรคมีองค์แปดเพื่อความพ้นทุกข์เท่านั้น ไม่เกี่ยวใดๆ กับเรื่องเสรีภาพในสังคมประชาธิปไตย จึงไม่ควรตีความพุทธศาสนาเพื่อสนับสนุนเสรีภาพในสังคมประชาธิปไตย ทัศนะที่สอง มองว่า พุทธศาสนาก็พูดถึงเรื่องเสรีภาพอยู่เหมือนกัน แต่เสรีภาพที่พุทธศาสนาพูดถึงนั้น หมายถึงเสรีภาพจากกิเลส ซึ่งเป็นเสรีภาพที่สูงส่งกว่าเสรีภาพในสังคมประชาธิปไตย เป็นเรื่อง “เสรีภาพในทางธรรม” ไม่เกี่ยวกับ “เสรีภาพทางโลก” การดึงเสรีภาพทางธรรมมาเกี่ยวข้องกับเสรีภาพทางโลกเท่ากับเป็นการดึงพุทธศาสนาให้ต่ำลง จะเห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นทัศนะที่มองว่า พุทธศาสนาพูดถึงหรือไม่พูดถึงเสรีภาพก็ตาม ต่างมีจุดร่วมตรงกันอย่างหนึ่งคือการมองว่า พุทธศาสนาเป็นของสูงเหนือเรื่องทางโลก เหนือความเป็นประชาธิปไตย และเห็นว่าไม่ควรตีความพุทธศาสนาเพื่อสนับสนุนประชาธิปไตย เพราะเป็นคนละเรื่องกัน ทัศนะดังกล่าวนี้เป็นทัศนะที่ผิดจากข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์พุทธศาสนาอย่างสิ้นเชิง เพราะตามข้อเท็จจริงทางประวัติ “พุทธศาสนาที่ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับเรื่องทางโลกไม่มีอยู่จริง” พูดอีกอย่างว่า ศาสนาพุทธที่บริสุทธิ์ผุดผ่องจากการประยุกต์ใช้ หรือการตีความเพื่อตอบสนองต่อปัญหาของชีวิตและสังคมในบริบทของยุคสมัยต่างๆ นั้นไม่มีอยู่จริง แม้ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าก็เข้ามาเกี่ยวข้องกับทางโลก โดยการสอนศีลธรรมทางโลก ตั้งแต่ศีลธรรมทางสังคมการเมือง เช่น คุณธรรมของผู้ปกครอง คือทศพิธราชธรรม จักรวรรดิวัตร ศีลธรรมเพื่อความมั่นคงของรัฐคือวัชชีธรรม ศีลธรรมในสัมพันธภาพระหว่างบุคคล เช่น การเว้นจากอบายมุข คบเพื่อนที่ดี ความกตัญญูต่อบิดามารดา การขวนขวายในการศึกษา การมีสัมมาชีพ ไปจนถึงการพัฒนาจิตเพื่อความหลุดพ้น ดังปรากฏในมงคลชีวิต 38 ประการ เป็นต้น ในสมัยพุทธกาล แม้ว่าจะมีพระอรหันต์มาก แต่จำนวนมากที่ว่านั้นก็เป็นเพียงส่วนน้อยเมื่อเทียบกับชาวพุทธส่วนใหญ่ที่ยังเป็นปุถุชน หากพุทธศาสนาไม่สอนศีลธรรมทางโลก หรือไม่เกี่ยวข้องกับทางโลกในแง่ที่เกิดประโยชน์แก่สังคมในยุคนั้นๆ พุทธศาสนาก็คงอยู่มาไม่ได้เป็นเวลากว่าสองพันปี มันเป็นไปไม่ได้เลยที่รัฐใดก็ตามจะเห็นคุณค่าของพุทธศาสนาและอุปถัมภ์พุทธสาสนาโดยที่ไม่ได้รับคำตอบในด้านศีลธรรมทางสังคมการเมืองใดๆ หรือไม่ได้รับคำตอบเรื่องศีลธรรมทางโลกที่เกี่ยวกับสัมพันธภาพระหว่างบุคคลใดๆ จากพุทธศาสนา ฉะนั้น ทัศนะที่มองว่า พุทธศาสนาเป็นเรื่องของการปฏิบัติธรรมเพื่อหลุดพ้นเท่านั้น เป็นเรื่อง “เหนือโลก” ไม่เกี่ยวข้องการการเมือง ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องทางโลก จึงเป็นทัศนะที่ผิดจากข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์อย่างสิ้นเชิง และดูเหมือนทัศนะที่แยกโลกกับธรรมออกจากกัน หรือแยก “ทางโลก” กับ “ทางธรรม” เป็นคนละทางกัน ไม่เกี่ยวข้องกันอย่างเด็ดขาดซึ่งเป็นทัศนะที่เริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่สมัย ร.4 จะมีอิทธิพลอย่างมากต่อชาวพุทธปัจจุบัน ตัวอย่างทัศนะที่แยกเรื่องเสรีภาพพุทธออกจากเสรีภาพทางโลกตามที่ยกมาข้างต้น ก็คือทัศนะที่ได้รับอิทธิพลการแยกโลกกับธรรมออกจากกัน ตั้งแต่สมัย ร. 4 เป็นต้นมานั่นเอง ประเด็นคือ ถ้าเป็นความจริงว่า พุทธศาสนาที่ลอยอยู่เหนือชีวิตจริง อยู่เหนือความเป็นจริงของเรื่องทางโลกไม่มีอยู่จริง (ถึงพุทธศาสนาแบบนั้นจะมีอยู่จริงก็ไม่มีประโยชน์อะไร) มีแต่พุทธศาสนาที่ถูกปรับใช้กับชีวิตและโลกแห่งความเป็นจริงภายใต้บริบทของยุคสมัยนั้นๆ และเป็นความจริงว่า พุทธศาสนาก็เคยถูกตีความ ถูกปรับใช้ให้สนองตอบต่อสังคมการเมืองแบบราชาธิปไตยมาแล้ว ฉะนั้น ก็ย่อมเป็นไปได้ที่พุทธศาสนาจะถูกตีความ หรือถูกปรับใช้ตอบสนอง หรือสนับสนุนเสรีภาพในสังคมประชาธิปไตย การคิดว่าไม่ควรดึงพุทธศาสนามาเกี่ยวข้องกับประชาธิปไตยต่างหากที่เป็นเรื่องไร้เหตุผลรองรับ เมื่อเข้าใจเช่นนี้แล้ว สิ่งที่เราต้องถามต่อคือ เสรีภาพตามความคิด (Concept) ของพุทธศาสนาคืออะไร? ผมคิดว่า พุทธศาสนาพูดถึงเสรีภาพในสามลักษณะที่มีความสัมพันธ์กับอย่างแยกจากกันไม่ได้ คือ 1.เสรีภาพในฐานะเป็นเงื่อนไขที่ขาดไม่ได้ของการกระทำทางศีลธรรม (กรรม) ที่ทางปรัชญาเรียกว่า “เจตจำนงอิสระ” (free will) ในทัศนะพุทธศาสนา การกระทำกรรม หรือการกระทำที่มีความหมายดี-ชั่วทางศีลธรรม จะเป็นไปไม่ได้เลย ถ้ามนุษย์ไม่มีเจตนาหรือความจงใจอิสระในการเลือกกระทำดี หรือชั่วด้วยตัวของเขาเอง พูดอีกอย่างว่า การที่มนุษย์เลือกกระทำสิ่งต่างๆ ได้ แสดงว่า มนุษย์มีเจตจำนองอิสระ และเจตจำนงอิสระนั่นเองคือ “เนื้อแท้” หรือ essence ของมนุษย์ ดังที่รุสโซ ก็มองคล้ายกันว่า “ปราศจากเสรีภาพมนุษย์ก็ไม่ใช่มนุษย์ หากไม่มีเสรีภาพการกระทำทางศีลธรรมก็มีไม่ได้” 2.เสรีภาพจากพันธนาการของกิเลส หรือความโลภ โกรธ หลง หมายถึงวิมุติ (freedom) หรือ ความหลุดพ้นทางจิตใจของปัจเจกบุคคล เสรีภาพดังกล่าวนี้สะท้อนคุณค่าภายในตัวของมนุษย์ที่พุทธมหายานเรียกว่า “พุทธภาวะ” เถรวาทเรียกว่า “โพธิปัญญา” ซึ่งเป็นศักยภาพสูงสุดของความเป็นมนุษย์ที่แฝงอยู่ในตัวเราทุกคน เสรีภาพดังกล่าวนี้ อาจเรียกในภาษาทางจริยศาสตร์ได้ว่า “ตัวตนทางศีลธรรม” หรือ moral self ที่มีอยู่ในทุกคน ทำให้ทุกคนมีสถานะความเป็นมนุษย์ที่มีคุณค่าในตนเองและเท่าเทียมกัน 3.เสรีภาพในการแสวงหาความจริงและการตัดสินทางศีลธรรม เป็นเสรีภาพตามหลักกาลามสูตร ซึ่งให้อิสระอย่างเต็มที่แก่ปัจเจกบุคคลในการวินิจฉัยความจริง และการตัดสินถูกผิดทางศีลธรรม ด้วยวิจารณญาณหรือปัญญาของตนเอง ดังบทสรุปของกาลามสูตรที่ว่า “ต่อเมื่อรู้ด้วยตนเองว่า สิ่งนี้เป็นอกุศล กุศล มีโทษ ไม่มีโทษ ฯลฯ พึงเลือกปฏิบัติในสิ่งที่เป็นกุศล ไม่มีโทษด้วยตนเอง” จะเห็นได้ว่า เสรีภาพในความหมายที่ 1 และ 2 คือเสรีภาพที่เป็น “เนื้อแท้” เป็น essence หรือเป็น “ตัวตนที่แท้จริง” (real self) ของมนุษย์ที่ไม่อาจถูกลบออกไปจากความเป็นมนุษย์ได้ ฉะนั้น แม้ในสังคมที่อยู่ภายใต้ระบบเผด็จการ มนุษย์ก็ยังคมมีเสรีภาพในความหมายที่ 1 และ 2 ได้ ส่วนเสรีภาพในความหมายที่ 3 เกี่ยวโยงใกล้ชิดกับเสรีภาพในทางสังคมการเมืองในความหมายว่า เป็นฐานของเสรีภาพในการพูดความจริง การแสดงความคิดเห็น การมีส่วนร่วมในการกำหนดบรรทัดฐานศีลธรรมทางสังคม การเลือกวิถีชีวิต การนับถือศาสนา การเลือกอุดมการณ์ การมีส่วนร่วมทางการเมือง เป็นต้น เพราะการที่เรายอมรับว่าเสรีภาพในเรื่องต่างๆ ดังกล่าวเป็นสิ่งที่ดี ก็เพราะเรามีสมมติฐานอยู่ก่อนว่า เสรีภาพในการแสวงหาความจริงและเสรีภาพในการตัดสินทางศีลธรรมเป็นสิ่งที่ดี หรือเป็นสิ่งที่มีค่าในตัวของมันเอง เพราะมนุษย์จะค้นพบความจริงและความดีไม่ได้เลย หากเขาไม่มีเสรีภาพในตัวเองที่จะวินิจฉัยตัดสิน ฉะนั้น ไม่ว่าเราจะมองเสรีภาพตามทัศนะของพุทธศาสนาในความหมายใดๆ ก็จะเห็นชัดเจนว่า เสรีภาพกับความเป็นมนุษย์ไม่อาจแยกขาดจากกันได้ และความงอกงามใดๆ ในความเป็นมนุษย์ก็ไม่อาจมีอยู่ได้ หรือเป็นไปได้โดยปราศจากเสรีภาพ จึงไม่มีเหตุผลว่า ทำไมพุทธศาสนาจะไม่สนับสนับสนุนความเป็นประชาธิปไตย หรือทำไมชาวพุทธปัจจุบันจึงต้องแปลกแยกจากการต่อสู้เพื่อเสรีภาพ และความเป็นประชาธิปไตย และเป็นเรื่องไร้เหตุผลอย่างยิ่ง หากชาวพุทธปัจจุบันยังคงเห็นดีเห็นงามกับการใช้พุทธศาสนาเป็นเครื่องมือสนับสนุน “อำนาจนอกระบบ” ให้กดทับเสรีภาพและความเป็นประชาธิปไตย เพราะนั่นเท่ากับเป็นการเห็นดีเห็นงามกับการกดทับ ลดทอน หรือทำลายความเป็นมนุษย์อย่างถึงราก!

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net