‘วรเจตน์’ ยัน การลาออกจาก ‘ประธาน’ โดยยังรักษาเก้าอี้ ‘ตุลาการศาล รธน.’ ทำไม่ได้

วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ติงประธานวุฒิสภา พิจารณาให้ดีก่อนนำชื่อ วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ทูลเกล้าฯแต่งตั้งเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ เหตุการลาออกของนายชัช ชลวร ประธานคนก่อน โดยยังนั่งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเฉยๆ ทำไม่ได้ 1 กันยายน 2554 รศ.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์กับ ‘ประชาไท’ ถึงกรณีการลาออกจากประธานศาลรัฐธรรมนูญของนายชัช ชลวร และการที่คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้คัดเลือกนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 204 บัญญัติให้องค์ประกอบของศาลรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วยประธานศาลคนหนึ่ง และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอีก 8 คน ซึ่งมาจากการแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา โดยคณะตุลาการนี้ประกอบด้วย ผู้พิพากษาศาลฎีกา 3 คน ตุลาการปกครองสูงสุด 2 คน เป็น 5 คน มีผู้เชี่ยวชาญนิติศาสตร์ 2 คน ผู้เชี่ยวชาญทางด้านรัฐศาสตร์อีก 2 คน รวมเป็น 9 คน ซึ่งพอได้ 9 คนนี้มา ก่อนจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ แต่งตั้ง 9 คนนี้จะต้องมาประชุมกันเพื่อเลือกกันเองให้คนหนึ่งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แล้วจึงแจ้งผลให้ประธานวุฒิสภาทราบ จากนั้นประธานวุฒิสภาจึงนำความกราบบังคมทูลเพื่อโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการรัฐธรรมนูญ “หมายความ นาย ก. ที่ได้รับการคัดสรรให้เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่เดิม ได้ไปเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ส่วน นาย ข. นาย ค. และ คนอื่นๆ เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ “ปัญหาก็คือตอนลาออก จะลาออกอย่างไร ซึ่งการพ้นจากตำแหน่งนั้น มีบทบัญญัติเอาไว้ในมาตรา 209 ว่า นอกจากการพ้นตำแหน่งตามวาระ ประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะพ้นจากตำแหน่งเมื่อ (1) ตาย (2) มีอายุครบ 70 ปีบริบูรณ์ (3) ลาออก ทีนี้หากสมมติว่ามีการลาออก ผลของการลาออกจะเกิดผลตามมา คือต้องมีการคัดเลือกคนเข้ามาแทนคนที่ลาออกไป ซึ่งรัฐธรรมนูญก็กำหนดต่อมาในมาตรา 210 วรรค 2 ให้สรรหาใหม่จากที่มาแต่เดิม เช่น หากคนที่ลาออกมาจากสายศาลฎีกา ศาลฎีกาก็ต้องเลือกคนเข้ามาแทนคนลาออก ถ้ามาจากสายศาลปกครอง ศาลปกครองก็ต้องส่งมา ถ้าสายนิติศาสตร์ก็ต้องมีกรรมการเข้ามาประชุมแล้วคัดเลือกเข้ามาแทนที่ “แต่ไม่มีกรณีที่บอกให้ ‘ประธานศาลรัฐธรรมนูญ’ ลาออกแล้วก็ให้คงเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอยู่เลย ถ้าดูจาก 210 วรรค 2 เวลาที่ลาออก คือหมายถึงการลาออกจากความเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ลาออกจากความเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ พูดง่ายๆ คือ ในระบบที่เราตั้งประธานศาลรัฐธรรมนูญแบบนี้ ประธานศาลจะไม่สามารถลาออกจากตำแหน่งประธานได้ คือถ้าจะลาออก ต้องออกไปจากศาลรัฐธรรมนูญเลย เพราะระบบมันวางไว้แบบนี้ แล้วระบบที่วางไว้แบบนี้ก็สอดคล้องกับหลักอยู่ เพราะจะเป็นเรื่องที่ประหลาดมากๆ ถ้าหากวันหนึ่งเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญแล้วอยู่ๆก็ลาออก แล้วไปเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเฉยๆ อย่างที่ศาลรัฐธรรมนูญทำอยู่นี้ จะมาผลัดกันเป็นไม่ได้” นักวิชาการกฎหมายมหาชน ยังอธิบายต่อด้วยว่า หากการตีความว่า การลาออกนี้เป็นลาออกจากความเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ผลก็คือ ขณะนี้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั้นเหลืออยู่เพียง 8 คน การที่คุณชัช ชลวรเข้าไปนั่งประชุมด้วย จึงหมายความว่า มีคนที่ไม่ได้เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเข้าไปนั่งประชุม ปรึกษา หรือพิจารณาอะไร ซึ่งหากมีมติอะไรออกมา ก็เท่ากับว่า มตินั้นมีปัญหาความชอบด้วยกฎหมาย รศ.วรเจตน์ ยังกล่าวด้วยว่า ลักษณะเช่นนี้มีอยู่ในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คือเป็นการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งประธานและคณะกรรมการไปพร้อม ซึ่งจะต่างจากศาลปกครอง หรือศาลฎีกา ที่มีการโปรดเกล้าฯ ผู้พิพากษาศาลฎีกาในชั้นหนึ่งก่อน และต่อมาหากผู้ใดได้รับเลือก จึงมีการโปรดเกล้าฯประธานอีกชั้นหนึ่ง เมื่อถามว่า การตีความเช่นนี้ เป็นปัญหาเรื่องความชอบธรรมที่ได้รับจากการโปรดเกล้าฯ หรือเป็นเรื่องพิธีการมากกว่า คือไหนๆ จะต้องทูลเกล้าเพื่อโปรดเกล้าฯ แล้วทำไปทีเดียวเลย รศ.วรเจตน์ อธิบายว่า “เรื่องนี้ไม่ใช่แค่พิธีการ ลองนึกภาพดูว่า หากทำอย่างที่ศาลรัฐธรรมนูญทำอยู่นี้ คือมีประธานลาออกต่อที่ประชุมตุลาการ พอลาออกก็อนุมัติให้ท่านออก แล้วให้ท่านทำหน้าที่ประธานชั่วคราว หลังจากนั้นก็เลือกคุณวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ขึ้นมาเป็นประธาน แล้วส่งชื่อให้ประธานวุฒิสภานำความโปรดเกล้า ผมถามว่า โปรดเกล้าฯ คราวนี้ โปรดเกล้าฯใคร เพราะว่าตอนตั้งเข้ามามีโองการโปรดเกล้าฯ คือมีคำสั่งตั้งตามกฎหมาย แต่ตอนออกนั้นไม่มีคำสั่งออก เพราะตอนตั้งได้ตั้งประธานศาลรัฐธรรมนูญเข้ามา แต่ตอนออกยังไม่มีการให้ออก หมายความว่าตอนที่โปรดเกล้าฯ ต้องโปรดเกล้าเฉพาะคุณวสันต์ สร้อยวิสุทธิ์ขึ้นเป็นประธานศาลคนใหม่ หรือต้องโปรดเกล้าคุณชัช ชลวร ให้เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอีกทีด้วยพร้อมกัน” โดยหลักจึงทำไม่ได้ เพราะในเชิงระบบได้ออกแบบมาให้เป็นแบบนี้ คือเป็นประธานแล้วก็เป็นยาวไปเลย คืออยู่ไปจนหมดวาระ หรือตาย หรืออายุครบ 70 ปี หรือไม่ก็ลาออก (จากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ) “คือถ้ามีบทบัญญัติ ว่าด้วยการลาออกจากประธานศาลโดยเฉพาะนี่ อันนี้ทำได้เลย เพราะรัฐธรรมนูญยอมรับให้พ้นตำแหน่งเฉพาะประธานได้ ซึ่งระบบกระบวนการแต่งตั้งก็จะเป็นอีกแบบ แต่เรื่องการลาออกนี้ไปอยู่ในมาตรา 209 คู่ไปกับการพ้นจากตำแหน่งในกรณีอื่นๆ คือเมื่อ (1) ตาย (2) อายุครบ 70 ปีบริบูรณ์ (3) ลาออก ซึ่งการลาออกนี้ เราอ่านไม่ได้ว่าพ้นตำแหน่งเมื่อตาย ตายจากตำแหน่งประธาน แล้วให้มาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งการลาออกนี้อยู่ในมาตรานี้ มาตราเดียวกัน จึงต้องตีความไปในแนวทางเดียวกันว่า ต้องพ้นไปเลย คือลาออกแล้วพ้นจากตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเลย ไม่ใช่พ้นแต่เฉพาะตำแหน่งประธาน” “ถ้าไม่มองจากบ้านเรา ดูจากแนวของต่างประเทศ ถ้าเป็นศาลรัฐธรรมนูญ ผมก็ไม่เคยเห็นการลาออกจากตำแหน่งประธานแล้วมาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญธรรมดา มันไม่มี ไม่เคยเห็นที่ไหนทำแบบนี้ โดยเฉพาะในกรณีที่เป็นศาลรัฐธรรมนูญ เพราะถือว่า ถ้าเป็นแล้วก็คือยาว เพราะจริงๆ แล้ว การเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั้นถือว่าสูงสุดแล้ว ตำแหน่งประธานซึ่งเป็นตำแหน่งในเชิงบริหาร เป็นผู้นำองค์กรซึ่งไม่มีผล คือในบางประเทศตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางท่านก็มีชื่อเสียงได้รับการยอมรับสูงกว่าประธานศาลรัฐธรรมนูญอีกก็เป็นไปได้ด้วย เพราะถือว่าเท่ากัน เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเหมือนกัน ทีนี้บ้านเรา ผมว่าอาจจะเป็นวิธีคิด เป็นวัฒนธรรมความคิดแบบไทย เท่าที่ทราบ คล้ายๆ กับว่ามีการตกลงกันก่อนไว้หรือเปล่าว่า จะอยู่ในตำแหน่งเท่านี้ แล้วจะเปลี่ยนให้คนอื่นขึ้นมาเป็น ซึ่งหากตีความตามรัฐธรรมนูญแล้ว ไม่น่าจะถูก” อย่างไรก็ตาม เมื่อถามว่าแล้วองค์กรไหนจะมีหน้าที่ทำให้เกิดความชัดเจนในข้อกฎหมายนี้ เพราะศาลรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่พิจารณาตีความรัฐธรรมนูญมีปัญหาในข้อกฎหมายเสียเอง รศ.วรเจตน์ เห็นว่าต้องเป็นประธานวุฒิสภาที่ต้องพิจารณาเรื่องนี้ “ประธานวุฒิสภาต้องทำความเห็นกลับไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ ต้องปรึกษาฝ่ายกฏหมาย เพราะมีหน้าที่ที่ต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ จึงต้องรับผิดชอบในแง่นี้ สมมติว่ากระบวนการไม่ถูกต้องแล้วจะทำอย่างไร ประธานวุฒิสภาก็ต้องมีสิทธิ หากเห็นว่าไม่ถูกต้อง จะให้ประธานวุฒิสภานำขึ้นทูลเกล้าได้อย่างไร เพราะฉะนั้นขณะนี้ ความกดดันจะไปอยู่ที่วุฒิสภา อยู่ที่ว่า ประธานวุฒิสภาจะว่าอย่างไร “นอกจากตัวประธานวุฒิสภาแล้ว อีกองค์กรหนึ่งก็น่าจะเป็นที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา เพราะคุณชัชมาจากสายศาลฎีกา โดยเหตุที่กรณีนี้มีปัญหาเกี่ยวพันกับอำนาจของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาในการเสนอบุคคลมาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นศาลฎีกาอาจจะต้องประชุมกันเพื่อพิเคราะห์ประเด็นนี้ แล้วเสนอความเห็นไปที่ประธานวุฒิสภา” วรเจตน์กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท