Skip to main content
sharethis

(5 ก.ย.54) ในการสัมมนาเรื่อง นโยบายค่าจ้าง: แนวคิดร่วมสมัย มุมมองและประสบการณ์ จัดโดยเครือข่ายองค์กรแรงงาน โซลิดาริตี้เซ็นเตอร์และมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท ดร.ฮันส์เยิร์ก แฮร์ (Hans-Joerg Herr) ศาสตราจารย์จาก Berlin School of Economics เยอรมนี กล่าวว่า ประเด็นค่าแรงขั้นต่ำกลายเป็นหัวข้อร้อนแรงในหลายประเทศ เนื่องจากการปฏิวัติของฝ่ายอนุรักษนิยม ในช่วงทศวรรษ 1970-1980 ที่เปลี่ยนแปลงระบบการเงิน ลดกฎระเบียบ ผ่อนคลายข้อบังคับต่างๆ ในตลาดแรงงาน ทำให้ช่องว่างของรายได้ห่างมากขึ้น ทั้งนี้ แม้ในบางประเทศ มีการใช้จ่ายโดยส่วนรวมสูง แต่ก็ทำให้เกิดหนี้ เช่นในเยอรมนี ที่กระตุ้นการใช้จ่าย โดยปล่อยเงินกู้ ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่ยั่งยืน ทั้งนี้ หนึ่งในวิธีแก้ปัญหาก็คือ การดูแลตลาดแรงงาน ทำให้เรื่องค่าจ้างขั้นต่ำสำคัญขึ้นมา ดร.ฮันส์เยิร์ก แฮร์ กล่าวว่า การเพิ่มค่าจ้างจะทำให้การกระจายรายได้ของทั้งประเทศเปลี่ยนไป ส่งผลต่อการใช้จ่ายส่วนรวม โดยในทศวรรษที่ 1950-1960 ยุคของระบบนายทุน หรือยุค Fordism เฮนรี ฟอร์ดบอกว่าจะขายรถยนต์ได้ ต้องให้ค่าจ้างคนงานมากขึ้น ยุคนั้น คนงานจึงมีรายได้สูง โดยมีบริษัทอื่นๆ ทำตามกัน และเป็นที่มาของการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ ต่อข้อถกเถียงว่า การเพิ่มอัตราค่าจ้างจะทำให้เกิดการว่างงานนั้น เขากล่าวว่า จากการศึกษาในเชิงสถิติไม่พบว่า ค่าจ้างขั้นต่ำที่สูงจะทำให้การว่างงานเพิ่ม โดยแมคโดนัลด์ในสหรัฐอเมริกา เมื่อเพิ่มค่าจ้างให้คนงาน ก็ไม่พบว่ามีการจ้างงานน้อยลง ขณะที่ในสเปน ซึ่งคนงานมีค่าจ้างต่ำจำนวนมาก พบว่ามีการว่างงานสูง และแม้โมเดลเช่นนี้ อาจเกิดขึ้นจริงในบางภาคอุตสาหกรรม เขามองว่า แม้จะฟังดูใจร้าย แต่ก็ต้องปล่อยให้กิจการนั้นขาดทุนไป ซึ่งก็จะเป็นโอกาสสำหรับกิจการอื่นให้ผลิตมากขึ้น ดร.ฮันส์เยิร์ก แฮร์ เสนอว่าการพิจารณาเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำควรแยกออกจากการเจรจาต่อรองเรื่องค่าจ้างทั่วไปซึ่งทำโดยสหภาพแรงงาน ทั้งนี้ เพื่อปกป้องแรงงานที่ยากจน เสียเปรียบ หรือมีสหภาพแรงงานอ่อนแอ ไม่สามารถต่อรองได้ นอกจากนี้ ควรปรับค่าแรงขั้นต่ำทุกปี โดยตั้งคณะกรรมการขึ้นมา โดยยกตัวอย่าง คณะกรรมการชุดหนึ่งที่ตั้งขึ้นในสมัยโทนี่ แบลร์ เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งคณะกรรมการประกอบด้วยผู้แทนสหภาพแรงงานนายจ้าง นักวิชาการอิสระ โดยคณะกรรมการชุดนี้ จะมีข้อเสนอเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำทุกปี พร้อมทำงานวิจัยในเชิงข้อมูลออกมาจำนวนมาก ทั้งนี้ เขาระบุว่า แม้ว่านโยบายค่าจ้างขั้นต่ำจะสำคัญ แต่ก็ไม่ควรเน้นมากเกินไป ค่าจ้างขั้นต่ำไม่ควรทดแทนการเจรจาต่อรอง ยังควรมีกลไกเจรจาต่อรองในอุตสาหกรรมต่างๆ และควรมีระบบสวัสดิการสังคม ซึ่งเป็นอิสระจากค่าจ้างขั้นต่ำ เพราะค่าจ้างขั้นต่ำนั้นไม่ทำให้คนจนทุกคนมีชีวิตที่ดีขึ้น ดังนั้น ต้องมีระบบสวัสดิการเพื่ออุดช่องว่างนี้ด้วย ต่อคำถามว่า ค่าจ้างขั้นต่ำควรครอบคลุมบุคคลจำนวนเท่าใด เขาตอบว่า แต่ละประเทศนั้นมีความแตกต่างกัน โดยประเทศกำลังพัฒนาควรครอบคลุมครอบครัวด้วย แต่ประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯ หรือเยอรมนี อาจให้เพียงพอสำหรับบุคคลคนเดียว เนื่องจากคนไม่นิยมแต่งงานกันแล้ว ดังนั้นจะไม่เป็นธรรมหากกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำตามครอบครัว อย่างไรก็ตาม ในประเทศพัฒนาแล้วควรมีระบบสวัสดิการสังคมที่มาดูแลบุตรและครอบครัวด้วย เปิดผลสำรวจค่าใช้จ่ายในหนึ่งวันยังมากกว่า 300 บาท ชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวถึงผลสำรวจค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของผู้ใช้แรงงาน ซึ่งจัดทำโดยเครือข่ายองค์กรแรงงาน ที่สำรวจผู้ใช้แรงงาน 3,660 รายใน 16 จังหวัด ตั้งแต่วันที่ 8-31 ส.ค.54 พบว่า คนงาน 68.61% ได้รับค่าจ้างยังไม่ถึง 300 บาทต่อวัน มีคนงาน 19.86% ที่มีค่าจ้างมากกว่า 300 บาทต่อวัน ทั้งนี้ มีผู้ไม่ตอบคำถาม 11.53% ส่วนค่าใช้จ่ายรายวันสำหรับคน 1 คน ซึ่งประกอบด้วยค่าอาหารสามมื้อ ค่าเดินทาง ค่าน้ำไฟ ค่าเช่าบ้าน โทรศัพท์ ค่าเครื่องอุปโภค ค่าใช้จ่ายอื่นๆ พบว่าเป็นเงิน 348.39 บาท ทั้งนี้ ไม่รวมค่าใช้จ่ายเลี้ยงดูบุตร ค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ค่ารักษาพยาบาล ขณะที่หากคำนวณตามอนุสัญญาฉบับที่ 131 ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ว่า ค่าจ้างขั้นต่ำนั้นครอบคลุมถึงครอบครัวรวม 3 คนจะมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 561.79 บาท ทั้งนี้ในแบบสำรวจดังกล่าว ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายอีกจำนวนมาก เช่น เงินที่ส่งให้พ่อแม่ ค่าเลี้ยงดูบุตร ค่าเครื่องสำอางค์ ค่าผ่อนบัตรเครดิต ผ่อนรถ ผ่อนบ้าน ค่าเสื้อผ้า รองเท้า ทำบุญ กิจกรรมบันเทิง หาความรู้ และเงินออม เครือข่ายแรงงานย้ำ นโยบาย 300 บาทต่อวัน ต้องเท่ากันทั่วประเทศ จากนั้น เครือข่ายองค์กรแรงงาน ประกอบด้วยองค์กรแรงงานระดับชาติ 6 แห่ง ออกแถลงการณ์ร่วมระบุจากการสำรวจค่าจ้างและค่าใช้จ่ายของผู้ใช้แรงงานในหลายจังหวัด พบว่า ผู้ใช้แรงงานในต่างจังหวัดส่วนใหญ่ได้รับค่าจ้างน้อยกว่าผู้ใช้แรงงานในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล แต่มีค่าครองชีพไม่แตกต่างกัน จึงแสดงจุดยืนสนับสนุนและเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินนโยบายขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน อย่างเท่าเทียมกันทั่วประเทศ โดยพร้อมทำงานร่วมกันเพื่อผลักดันให้มีการดำเนินการตามนโยบายค่าจ้าง 300 บาท จนประสบผลสำเร็จ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมยิ่งขึ้นและนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่แท้จริง แถลงการณ์ เรื่อง นโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน... ต้องเท่าเทียมกันทั่วประเทศ ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยได้รณรงค์หาเสียงโดยประกาศว่า หากได้รับการเลือกตั้งและได้จัดตั้งรัฐบาล จะดำเนินการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน ทั่วประเทศในทันที ผู้ใช้แรงงานจำนวนมากพึงพอใจกับนโยบายดังกล่าวและให้การสนับสนุนนโยบายนี้ จนอาจกล่าวได้ว่า นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พรรคเพื่อไทยได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง และได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล พวกเรา เหล่าผู้ใช้แรงงาน ต่างคาดหวังว่ารัฐบาลจะนำนโยบายดังกล่าวไปปฏิบัติทันทีตามที่สัญญาไว้ แต่กลับมีพลังกดดันอย่างเข้มข้นจากฝ่ายผู้ประกอบการจำนวนหนึ่ง จนทำให้รัฐบาลยินยอมลดเป้าหมายในการดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวลง จนล่าสุดมีข่าวว่า รัฐบาลจะดำเนินการนโยบายนี้เฉพาะใน 7 จังหวัด คือ กรุงเทพฯและปริมณฑล และภูเก็ต พวกเรา เครือข่ายองค์กรแรงงาน อันประกอบด้วยองค์กรแรงงานระดับชาติ ดังมีรายชื่อข้างล่าง ได้ติดตามประเด็นค่าจ้างมาอย่างต่อเนื่อง เห็นว่า การปรับค่าจ้างเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และจะช่วยให้ผู้ใช้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ดำรงชีพอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ โดยเฉพาะในสภาวการณ์ปัจจุบัน ที่ค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ผู้ใช้แรงงานในทุกพื้นที่ได้รับผลกระทบเท่าเทียมกัน ดังข้อเท็จจริงที่ได้จากสำรวจค่าจ้างและค่าใช้จ่ายของผู้ใช้แรงงานในหลายจังหวัด พบว่า ผู้ใช้แรงงานในต่างจังหวัดส่วนใหญ่ได้รับค่าจ้างน้อยกว่าผู้ใช้แรงงานในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล แต่มีค่าครองชีพไม่แตกต่างกัน ดังนั้น พวกเรา เครือข่ายองค์กรแรงงาน จึงขอแสดงจุดยืนในประเด็นค่าจ้างดังต่อไปนี้ ขอสนับสนุนและเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินนโยบายขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน อย่างเท่าเทียมกันทั่วประเทศ ตามที่ได้หาเสียงเลือกตั้งไว้ เพราะเราเชื่อว่าพรรคเพื่อไทยได้ทำการศึกษามาเป็นอย่างดีก่อนการรณรงค์หาเสียง ว่าสามารถทำได้ และนโยบายดังกล่าวถือได้ว่าเป็นสัญญาประชาคมระหว่างพรรคกับประชาชนที่เลือกพรรคมาอย่างท่วมท้น โดยเฉพาะพี่น้องผู้ใช้แรงงานในภาคเหนือและภาคอีสาน ดังนั้น รัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทยต้องไม่เลือกปฏิบัติกับพี่น้องผู้ใช้แรงงานในต่างจังหวัด พวกเรา เครือข่ายองค์กรแรงงาน จะทำงานร่วมกันเพื่อผลักดันให้มีการดำเนินการตามนโยบายค่าจ้าง 300 บาท จนประสบผลสำเร็จ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมยิ่งขึ้นและนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่แท้จริง เครือข่ายองค์กรแรงงาน คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย สภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย สภาองค์การลูกจ้างองค์การแรงงานแห่งประเทศไทย สภาองค์การลูกจ้างสภาศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทย สภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย สภาองค์การลูกจ้างแห่งชาติ ณ วันที่ 5 กันยายน 2554

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net