พุทธที่แปลกแยกจากความเสมอภาคในโลกสมัยใหม่

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

พุทธศาสนามี “มโนทัศน์” (concept) เรื่อง “ความเสมอภาค” (equality) หรือไม่? จะตอบคำถามนี้ได้ เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า มโนทัศน์หรือความคิดเรื่องความเสมอภาคที่ใช้กันอยู่คืออะไร มีความเข้าใจเกี่ยวกับมโนทัศน์ดังกล่าวอยู่สามนัยด้วยกัน (1) ความเสมอภาคเป็นคำบรรยายลักษณะของชีวิตมนุษย์ในบางแง่มุม เช่น บางคนอาจบอกว่ามนุษย์โดยทั่วไปมีความเสมอภาคในด้านพลกำลัง (strength) เป็นต้น (2) ความเสมอภาคมีฐานะเป็นหลักการพื้นฐานที่ใช้ในการตัดสินใจเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติต่อบุคคลทั้งหลาย นั่นคือ เราควรถือว่าบุคคลทั้งหลายมีค่าในทางจริยธรรม (moral worth) เท่าเทียมกัน และ (3) ความเสมอภาคมีฐานะเป็นสภาวะที่ควรจะสร้างให้เกิดขึ้นในสังคม โดยอาศัยกติกาเรื่อง ‘หนึ่งคนหนึ่งคะแนนเสียง’ (one person, one vote) หรือใช้วิธีกระจายรายได้ให้เป็นธรรมยิ่งขึ้น เป็นต้น อย่างไรก็ดี มโนทัศน์เรื่องความเสมอภาคนัยที่ (2) กับ (3) นั้น อาจมีความเกี่ยวข้องกันอยู่ในแง่ที่ว่า หากเราถือเอาความเข้าใจเรื่องความเสมอภาคตามนัยที่ (2) เป็นเหตุผล เราก็อาจสรุปความเสมอภาคตามนัยที่ (3) ออกมาได้ หรืออีกนัยหนึ่ง เราสามารถสรุปได้ว่าสังคมที่พึงปรารถนาควรมีกฎกติกาอะไร อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเราควรถือว่ามนุษย์นั้นมีค่าทางจริยธรรมเท่าเทียมกัน กติกาดังกล่าวอาจจะยอมให้มีความไม่เสมอภาคในบางลักษณะได้ในระดับหนึ่ง เนื่องจากอาจเป็นไปได้ที่ความไม่เสมอภาคทางสังคมในบางแง่มุม (เข่น การกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ หรือทางการเมือง) เป็นสิ่งที่ชอบธรรม [1] จะเห็นว่าความคิดเรื่องความเสมอภาคไม่ได้กำหนดขึ้นจากสมมติฐานที่ว่ามนุษย์ต้องเหมือนกันทุกอย่าง แต่กำหนดขึ้นจากสมมติฐานว่ามนุษย์มีคุณลักษณะบางอย่างเหมือนกัน คุณลักษณะบางอย่างที่มนุษย์มีเหมือนกันหรือมีอย่างเท่าเทียมกันนั้น อาจหมายถึง “การมีพละกำลังเท่าเทียมกัน” ตามความคิดของ โธมัส ฮอบส์ ก็ได้ หรือหมายถึง การมีค่าทางจริยธรรมเท่าเทียมกันตามแนวคิดเรื่อง “สิทธิตามธรรมชาติ” (natural right) ของจอห์น ล็อค หรือแนวคิดเรื่องเสรีภาพตามธรรมชาติของ ฌองฌาค รุสโซ ก็ได้ หรือคุณค่าทางจริยธรรมที่เท่าเทียมนั้นอาจหมายถึงความเป็นมนุษย์ผู้มีเหตุผล มีเป้าหมายในตนเอง ปรารถนาสิ่งที่ดีแก่ตนเองตามแนวคิดของ อิมมานูเอล ค้านท์ จอห์น สจ๊วต มิลล์ และจอห์น รอลส์ ก็ได้ ดูเหมือนราชบัณฑิตผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาไทยก็มีความสับสนระหว่าง “ความเหมือนกันทุกอย่าง” กับ “ความเสมอภาค” ตามความหมายข้างต้น ดังที่ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.กาญจนา นาคสกุล โต้แย้งคำ ผกา ในรายการ Intelligence ทาง voicetv ว่า “มันต้องมีระดับชั้นสูงต่ำไม่เท่ากัน พ่อแม่กับลูกก็ไม่เท่ากัน คุณจะให้พ่อแม่กับลูกเท่ากันหรือ มันจะอบรมกันได้อย่างไร” คำ ผกา แย้งว่า “แต่ตามรัฐธรรมนูญถือว่ามนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกัน” ดร.กาญจนา โต้กลับว่า “ถ้าเท่ากันหมดก็ไม่ใช่สังคมมนุษย์แล้ว เป็นสังคมของสัตว์แล้ว แต่แม้สังคมสัตว์ก็ยังมีหัวหน้า มีจ่าฝูง ในสังคมมนุษย์ความสามารถของคนเราก็ไม่เท่ากัน ในที่ทำงานก็มีผู้บังคับบัญชา ผู้ใต้บังคับบัญชา ถ้าเท่ากันหมดจะอยู่กันยังไง แม้แต่นิ้วมือของเราก็ยังไม่เท่ากัน” [2] ประเด็นคือ แม้ว่าความคิดเกี่ยวกับคุณลักษณะบางประการ หรือคุณสมบัติที่บ่งบอกถึงค่าทางจริยธรรมที่มนุษย์ทุกคนมีอย่างเสมอภาคกันของนักปรัชญาดังกล่าวข้างต้นนั้น จะมีรายละเอียดต่างกัน แต่โดยรวมๆ แล้ว พวกเขาต่างยืนยัน ‘ความเสมอภาค’ ของพลเมืองเป็นพื้นฐาน และปฏิเสธแนวคิดที่เชื่อว่า มีผู้ที่มีสิทธิ์มีอำนาจเหนือกว่าผู้อื่นโดยธรรมชาติ อันเป็นความเชื่อที่พบในแนวคิดของเพลโต หรือผู้ที่เชื่อในเรื่องอำนาจอันเป็นเทวสิทธิ์ (divine rights) ของกษัตริย์ ฉะนั้นพวกเขาจึงถือว่ารัฐเกิดขึ้นมาจากการรวมตัวของบรรดาปัจเจกชนผู้มีความเท่าเทียมหรือเสมอภาคกัน 1 คนมีค่าเป็น 1 เสียงเสมอภาคกันในสิทธิการเป็นเจ้าของรัฐ การกำหนดข้อตกลงต่างๆ ทางสังคมการเมืองที่มีผลเป็นสัญญาประชาคมที่ผูกพันแก่ทุกคน และสิทธิในการได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอภาคกันภายใต้กฎหมาย การกระจายโอกาส ผลประโยชน์ และการปฏิบัติอื่นๆ ถามว่า พุทธศาสนามีมโนทัศน์ความเสมอภาคตามความหมายดังกล่าวนี้หรือไม่? หากพิจารณาเนื้อหาในอัคคัญญสูตร (พระไตรปิฎกเล่ม 11) จะพบว่าพระพุทธเจ้าปฏิเสธความเชื่อที่ว่า มีผู้ที่มีสิทธิ์มีอำนาจเหนือกว่าผู้อื่นโดยธรรมชาติ อันเป็นความเชื่อตามทฤษฎีเทวสิทธิ์ของพราหมณ์ และเสนอความคิดใหม่โต้แย้งทฤษฎีเทวสิทธิ์ ที่สำคัญ 2 ปะการ คือ มนุษย์ สังคมการเมือง และชนชั้นทางสังคมที่เรียกว่าวรรณะสี่ ไม่ได้เกิดขึ้นจากการกำหนดของพระพรหมที่กำหนดให้คนสูง-ต่ำกว่ากันโดยชาติกำเนิดอย่างตายตัว แต่มนุษย์เกิดจากครรภ์มารดาเหมือนกัน สังคมการเมืองเกิดจากหมู่ชนที่ทนรับสภาพการเบียดเบียนทำร้ายกันและกันอย่างเสรีในสภาพสังคมก่อนสังคมการเมือง หรือสังคมตามสภาพธรรมชาติที่ไร้ขื่อแปต่อไปไม่ได้ จึงมาทำข้อตกลงร่วมกันสร้างสังคมการเมืองขึ้นมาให้มีผู้ปกครอง มีกฎระเบียบเพื่อความผาสุกในการอยู่ร่วมกัน มนุษย์มีความเสมอภาคกันในทางศีลธรรม หมายความว่า ไม่ว่าจะเกิดมามีชาติกำเนิดอย่างไร มีเพศ ผิว โง่ ฉลาด ฯลฯ อย่างไร การกระทำของเขาย่อมมีค่าทางจริยธรรมเสมอภาคกันหากปฏิบัติถูกหลักจริยธรรมเดียวกัน (เช่น กษัตริย์พูดความจริง กรรมกรพูดความจริง ก็มีค่าเป็นความดีเท่ากัน) และพ้นทุกข์เฉกเช่นกันหากปฏิบัติสมบูรณ์ตามมรรคมีองค์แปดเช่นกัน ความเสอมภาคทางศีลธรรมดังกล่าวเป็นความเสมอภาคบนความจริงที่ว่า “มนุษย์มีเสรีภาพในการเลือกการกระทำทางศีลธรรม” (กรรม) เพราะใช้เสรีภาพเลือกการกระดีหรือเลวด้วยตนเอง มนุษย์จึงต้องรับผิดชอบต่อผลของการกระทำที่ดีหรือเลวของตนเอง ฉะนั้น หากจะถามว่าตามทัศนะของพุทธศาสนา อะไรคือคุณสมบัติที่บ่งบอกว่ามนุษย์มีค่าทางจริยธรรม(moral worth)เสมอภาคกัน คำตอบก็คือ “เสรีภาพ” อันเป็นธรรมชาติพื้นฐานในระดับที่เป็นเนื้อแท้ หรือ essence ของมนุษย์ที่ทุกคนมีอย่างเท่าเทียมกัน คำอื่นๆ ในพุทธศาสนาที่ระบุถึงคุณสมบัติอันแสดงถึงความมีค่าทางจริยธรรมที่เท่าเทียมกันของมนุษย์ ก็เช่น “โพธิปัญญา” หรือ “พุทธภาวะ” หมายถึง ปัญญาตรัสรู้หรือศักยภาพที่จะเป็นอิสระจากอำนาจบงการของสัญชาตญาณและความทุกข์ ในระดับพื้นฐานศักยภาพดังกล่าวนี้อาจแสดงออกในรูปของมโนธรรมสำนึกรู้ผิดชอบชั่วดี ความใฝ่ปรารถนาความดีงามต่างๆ ไปจนถึงแสดงออกเป็นความหลุดพ้นเมื่อศักยภาพดังกล่าวพัฒนาอย่างเต็มเปี่ยม จะว่าไปแล้ว เสรีภาพ โพธิปัญญา หรือพุทธภาวะคือสิ่งที่ไม่อาจแยกขาดจากกัน โพธิปัญญาจะเกิดไม่ได้เลยหากมนุษย์ไม่มีเสรีภาพในการเลือก และเมื่อศักยภาพแห่งโพธิปัญญาหรือพุทธภาวะงอกงามเต็มเปี่ยม เสรีภาพที่สมบูรณ์ทางจิตใจย่อมปรากฏชัดแจ้ง ฉะนั้น พุทธศาสนาจึงถือว่าเสรีภาพ โพธิปัญญาหรือพุทธภาวะ คือธรรมชาติที่ดีงามของมนุษย์ที่ทุกคนมีอย่างเท่าเทียม ธรรมชาติที่ดีงามดังกล่าวนี้เองคือคุณสมบัติที่แสดงว่า มนุษย์มีค่าทางจริยธรรมเท่าเทียมกัน หรือมนุษย์ทุกคนมีความเป็นคนเสมอภาคกัน อย่างไรก็ตาม ความเสมอภาคตามทัศนะของพุทธศาสนากับความเสมอภาคในสังคมประชาธิปไตยอาจมีรายละเอียดแตกต่างกัน ความเสมอภาคทางพุทธศาสนาอาจเน้นไปที่การใช้เป็นพื้นฐานรองรับการกระจายสิทธิโอกาสที่เท่าเทียมในการพัฒนาชีวิตทางศาสนา เช่น การสร้างระบบความเสมอภาคภายใต้พระธรรมวินัยของสังคมสงฆ์ การเปิดโอกาสให้สตรีบวชภิกษุณี การให้เสรีภาพที่จะเลือกการปฏิบัติธรรมแบบฆราวาสหรือพระสงฆ์ดังที่พระพุทธเจ้าวางกรอบไว้ในสมัยพุทธกาล เป็นต้น แต่ความเสมอภาคในสังคมประชาธิปไตยคือพื้นฐานของการกำหนดหลักความยุติธรรม กฎหมาย การกระจายโอกาสและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ในชีวิตทางสังคมการเมือง แต่ทว่าของที่ต่างกันไม่ได้หมายความว่าต้องใช้ประโยชน์ร่วมกันไม่ได้ ช้อนต่างจากส้อม แต่ทั้งช้อนและส้อมก็ถูกใช้ให้สำเร็จประโยชน์ร่วมกันในการกินได้ ฉันใด ความเสมอภาคทางศาสนาที่เน้นไปในทางส่งเสริมประโยชน์แก่ชีวิตในทางศีลธรรม กับความเสมอภาคในสังคมประชาธิปไตยที่เน้นไปในทางส่งเสริมประโยชน์แก่ชีวิตทางสังคมการเมือง ก็สามารถปรับใช้ให้สำเร็จประโยชน์ร่วมกันในการสร้างสังคมที่เป็นธรรมและมีสันติภาพได้ ฉันนั้น ปัญหาอยู่ที่ว่าชาวพุทธปัจจุบันมองเห็นคุณค่าของมโนทัศน์เรื่องความเสมอภาคในพุทธศาสนากันหรือไม่ เข้าใจในการปรับใช้ให้เกื้อกูลต่อหลักความเสมอภาคในสังคมประชาธิปไตยมากน้อยเพียงใด จะว่าไป แค่แนวคิดจัดตั้งธนาคารพุทธศาสนาโดยกำหนดเงื่อนไขให้สิทธิพิเศษแก่ผู้กู้ที่เป็นคนดีมีคุณธรรม ก็เป็นการแสดงถึงการใช้ข้ออ้างการเป็นคนดีคุณธรรมไปลดทอนความเสมอภาคในความเป็นคนตามระบอบประชาธิปไตยแล้ว ยังกฎหมายหมิ่น ม.112 อีกเล่า ชาวพุทธเคยตั้งคำถามหรือไม่ว่า นั่นเป็นกฎหมายที่ละเมิดความเท่าเทียมในความเป็นคนตามหลักพุทธศาสนาอย่างชัดเจน และละเมิดเสรีภาพในการพูดความจริง และสิทธิที่จะรับรู้ความจริงตามหลักศีลห้าข้อที่ 4 พูดตรงๆ คือกฎหมายที่ห้ามวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบสถาบันกษัตริย์นั้น เท่ากับเป็นกฎหมายที่ห้ามปฏิบัติตามหลักศีลข้อที่ 4 ในกรณีที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์โดยปริยาย มันจึงเป็นกฎหมายที่ละเมิดเสรีภาพในการปฏิบัติทางศีลธรรม เพราะถึงแม้คุณรู้ความจริง คุณก็พูดความจริงนั้นไม่ได้ แต่หลักการของศีลข้อ 4 กำหนดว่าเราต้องพูดความจริง เพราะสังคมมนุษย์ต้องอยู่กันด้วยความจริงที่ผ่านการพิสูจน์โต้แย้งด้วยเหตุผลได้ ไม่ใช่อยู่กันด้วยความเชื่อที่ตั้งคำถามไม่ได้ ตรวจสอบไม่ได้ หรือพูดความจริงอีกด้านไม่ได้ ฉะนั้น หากเรายึดหลักความเสมอภาคตามความคิดทางพุทธศาสนา และความเสมอภาคในสังคมประชาธิปไตยอย่างถูกต้อง สังคมไทยน่าจะมีเสรีภาพ และความเป็นธรรมในด้านต่างๆ มากกว่าที่เป็นอยู่ อ้างอิง โปรดดูสารานุกรมปรัชญาออนไลน์ ฉบับสังเขป http://www.philospedia.net/equality.html รายการ Intelligence ประจำวันที่ 30 สิงหาคม2554 http://www.voicetv.co.th

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท