พุทธอนาคิสต์

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

บทความชิ้นนี้เขียนโดย แกรี่ สไนเดอร์ กวีชาวอเมริกัน ในปี ค.ศ. ๑๙๖๑ และถูกกล่าวถึงในฐานะงานเขียนชิ้นแรกๆ ที่แสดงออกซึ่งแนวคิดที่ต่อมาได้พัฒนาเป็น “Engaged Buddhism” (“พุทธผูกพัน” หรือ “พุทธไม่ลอยนวล”) คำสอนพุทธศาสนาโอบอุ้มสรรพสิ่งในสากลจักรวาล และสรรพชีวิตในนั้นต่างก็มีธรรมชาติภายในอันสมบูรณ์ด้วยปัญญา ความรัก และความกรุณา โต้ตอบสัมพันธ์ และพึ่งพาอาศัยกันตามธรรมชาติ อาจกล่าวได้ว่าตั้งแต่ขั้นเริ่มต้นของพุทธศาสนา การตระหนักรู้ถึงธรรมชาติที่ว่านี้ไม่ได้มีไว้เพื่อ และถูกทำให้มีขึ้นด้วย “ตัวเรา” ไม่มีทางที่เราจะเข้าถึงธรรมชาตินั้นได้อย่างแท้จริงเลย ตราบใดที่เรายังไม่เรียนรู้ที่จะปล่อยวางจากตัวตน ในทัศนะของพุทธศาสนา สิ่งที่กั้นขวางการเผยของธรรมชาติที่ว่านี้ คือ อวิชชา (ความไม่รู้) ซึ่งแสดงออกมาในรูปความกลัว และความอยากอันไม่มีที่สิ้นสุด ในทางประวัติศาสตร์ นักพุทธปรัชญาไม่อาจวิเคราะห์ถึงขีดขั้นที่อวิชชาหรือทุกข์ถูกทำให้เกิดขึ้นหรือถูกส่งเสริมโดยปัจจัยทางสังคมได้ ด้วยเหตุที่ว่าความกลัวหรือความอยากนั้นถือเป็นเรื่องพื้นฐานทั่วๆ ไปของความเป็นมนุษย์ นั่นได้ทำให้พุทธปรัชญามักมุ่งความสนใจไปที่ ญาณวิทยา และ “จิตวิทยา” โดยปราศจากการให้ความสนใจไปที่ปมปัญหาทางประวัติศาสตร์หรือทางสังคมแต่อย่างใด แม้ว่าพุทธศาสนามหายานจะมีวิสัยทัศน์ที่กว้างออกไปสู่การปลดปล่อยสรรพสัตว์ทั้งมวล ทว่าความสำเร็จจริงๆของพุทธศาสนาคือพัฒนาการของระบบการปฏิบัติภาวนา อันนำไปสู่เป้าหมายของการปลดปล่อยปัจเจกบุคคลเพียงหยิบมือที่พร้อมจะอุทิศตนฝึกฝนปฏิบัติจนหลุดพ้นเป็นอิสระจากบ่วงรัดรึงทางจิตหรือเงื่อนไขทางวัฒนธรรมต่างๆ เท่านั้น ส่วนพุทธศาสนาแบบสถาบันนั้นกลับพร้อมที่จะยอมรับหรือปฏิเสธความเหลื่อมล้ำและอำนาจกดขี่ของระบบการเมืองใดๆก็ตามที่มีอยู่ในวัฒนธรรมนั้น นี่อาจหมายถึงความตายที่ใกล้พุทธศาสนาเข้ามาแล้วทุกทีท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคมสมัยใหม่ นับเป็นความตายต่อการทำหน้าที่อันเปี่ยมความหมายของความกรุณา ซึ่งปัญญาโดยปราศจากกรุณานั้นไม่อาจรู้สึกถึงความทุกข์ใดๆได้ ทุกวันนี้ไม่มีใครสามารถจะแสร้งทำเป็นไร้เดียงสา หรือปิดตัวเองอยู่ในความไม่รู้ต่อความเป็นไปของอำนาจรัฐ การเมือง และกรอบศีลธรรมทางสังคมได้อีกต่อไป ระบบการเมืองท่ามกลางกระแสโลกสมัยใหม่รักษาการมีอยู่ของมันได้ ก็ด้วยการส่งเสริมความอยากและความกลัว อันเปรียบได้กับกลไกป้องกันตัวเองอันมหึมา “โลกอิสระ” กลับกลายเป็นต้องพึ่งพิงทางเศรษฐกิจบนระบบดูดีที่ถูกกระตุ้นด้วยความโลภที่ไม่มีวันพอ ความต้องการทางเพศที่ไม่มีวันถึงจุดที่พอใจ และความเกลียดชังที่ไม่มีที่ทางให้ปลดปล่อย เว้นจะกระทำต่อตัวเอง ต่อคนใกล้ชิดที่เราควรจะให้ความรัก หรือต่อประเทศหรือกลุ่มคนที่กำลังต่อสู้เพื่อเรียกร้องการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคมที่เท่าเทียม สภาวการณ์ของสงครามเย็นได้เปลี่ยนแปลงสังคมสมัยใหม่ทั้งหมด (รวมถึงสังคมคอมมิวนิสต์ด้วย) ไปสู่ความเป็นผู้บิดเบือนที่ชั่วร้ายต่อศักยภาพของมนุษย์ที่แท้จริง มันได้สร้างประชากร “เปรต” มากมาย ภูตผีที่หิวโหย พุงกาง และปากเท่ารูเข็ม ผืนดิน ป่าไม้ และสัตว์น้อยใหญ่ถูกกลืนหายไปกับของสะสมก่อมะเร็งทั้งหลาย อากาศและน้ำของดาวดวงนี้กำลังถูกทำให้ปนเปื้อนโดยสิ่งต่างๆเหล่านั้น ไม่มีสิ่งใดในธรรมชาติของมนุษย์หรือองค์กรทางสังคมของมนุษย์ ที่โดยตัวมันเองต้องอาศัยเงื่อนไขทางวัฒนธรรมที่ขัดแย้ง กดขี่ และก่อความรุนแรง งานวิจัยทางมานุษยวิทยาและจิตวิทยาได้มอบหลักฐานที่เด่นชัดยิ่งขึ้นเรื่อยๆ และเราสามารถพิสูจน์ได้ด้วยตัวเราเอง จากการค่อยๆมองไปยังธรรมชาติของตัวเราผ่านการภาวนา ครั้นเราบ่มเพาะศรัทธาและปัญญาในธรรมชาติดังกล่าวมากขึ้น การภาวนาก็จะนำเราให้ลงลึกสู่การตระหนักถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างถึงราก การสละสันโดษอย่างเต็มใจและเบิกบานของพุทธศาสนาสรรค์สร้างพลังด้านบวก ศีลห้ากับการปฏิเสธที่จะทำร้ายหรือพรากชีวิตในทุกรูปแบบสามารถส่งผลสะเทือนต่อประเทศชาติได้ การปฏิบัติภาวนา ซึ่งเราต้องการแค่ “พื้นที่ให้หยัดยืน” ได้ปัดเป่าภูเขาขยะที่ถูกยัดใส่จิตใจโดยสื่อสารมวลชนและมหาวิทยาลัยซุปเปอร์มาร์เก็ต ศรัทธาในมนุษยธรรมที่เอื้อเฟื้อและสงบเย็นด้วยความปรารถนาแห่งรักอันเป็นธรรมชาติ ได้ทำลายอุดมการณ์ซึ่งคอยปิดหู ปิดตา และปิดปากเราอยู่ตลอดเวลา ทั้งยังชี้บอกหนทางสู่รูปแบบของการอยู่ร่วมกันเป็นชุมชน ซึ่งจะทำให้เหล่า “นักศีลธรรม” ทั้งหลายประหลาดใจ และเปลี่ยนแปลงกองทัพแห่งมนุษย์ผู้เลือกที่จะเป็นผู้ฟาดฟัน เพียงเพราะเขาไม่รู้จะเป็นผู้รักหรือผู้ให้ได้อย่างไร อวตังศกะ (คีกอน) คือพุทธปรัชญาแขนงหนึ่งที่มองโลกในฐานะข่ายแหอันผูกโยง ที่ซึ่งสรรพสิ่งและสรรพชีวิตมีความจำเป็นต่อกันและเปี่ยมความสำคัญในตัวมันเอง จากมุมหนึ่ง อำนาจรัฐ สงคราม และ และสิ่งทั้งหลายที่เรามองว่า “ชั่วร้าย” ต่างก็ถูกรวมอยู่ในโลกภาพกว้างทั้งหมดนี้อย่างไม่ประนีประนอมเช่นกัน เหยี่ยว-การโฉบ-และกระต่ายป่า เป็นหนึ่งเดียวกัน จากจุดยืนของ “มนุษย์” เราไม่อาจวางใจในโลกทัศน์เช่นนั้นได้ นอกเสียจากสรรพชีวิตจะมองด้วยสายตาอันรู้แจ้งเหมือนๆกันทั้งหมด โพธิสัตว์มีชีวิตอยู่โดยอาศัยสายตาของผู้ทนทุกข์ จึงสามารถช่วยเหลือผู้ทนทุกข์เหล่านั้นได้ เมตตาธรรมในโลกตะวันตกอยู่ในรูปของการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงทางสังคม ส่วนเมตตาธรรมในโลกตะวันออกอยู่ในรูปของสติปัญญาในปัจเจกบุคคลที่มีต่อตัวตนหรือความว่างพื้นฐาน เราต้องการทั้งสองอย่าง เพราะทั้งสองต่างก็แสดงถึงสามแง่มุมสำคัญของเส้นทางธรรม อันได้แก่ ศีล สมาธิ และปัญญา ปัญญาคือความรู้แจ้งโดยสัญชาตญาณของจิตแห่งความรักและความชัดเจน ซึ่งดำรงอยู่ภายใต้ความสับสนและความก้าวร้าวที่ถูกขับเคลื่อนโดยอัตตา การภาวนาจะทำให้เราเข้าไปในจิตใจเพื่อมองเห็นสิ่งนี้ด้วยตัวเราเอง ครั้งแล้วครั้งเล่า จนกระทั่งสัญชาตญาณพื้นฐานของจิตใจอันกระจ่างชัดเยี่ยงนั้นคือที่ที่เราจะวางใจอยู่ได้ ศีลจะนำเรากลับมาสู่หนทาง ผ่านแบบอย่างการปฏิบัติและความรับผิดชอบในการกระทำ ซึ่งสูงสุดคือเพื่อชุมชนอันแท้จริง อันหมายถึงสังฆะแห่ง “สรรพชีวิต” จากแง่มุมสุดท้ายนี้ สำหรับฉันแล้ว หมายถึง การสนับสนุนการปฏิวัติทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมใดๆก็ตาม ที่กำลังจะเคลื่อนสังคมไปสู่การเป็นส่วนหนึ่งของสังคมโลกอันเป็นอิสระ เชื่อมต่อประสานกัน และเท่าเทียมกันอย่างไร้ชนชั้นวรรณะ มันหมายถึงการใช้วิถีทางอันหลากหลายที่สุด ไม่ว่าจะเป็น อารยะขัดขืน การวิพากษ์วิจารณ์สังคมอย่างเปิดเผย การชุมนุมประท้วง สันติวิธี การเป็นอยู่อย่างพอเพียง (ด้วยความพอใจ) หรือแม้กระทั่งการใช้ความรุนแรงที่นุ่มนวล หากนั่นเป็นเรื่องของการระงับยับยั้งพวกหัวรุนแรงที่ไร้เหตุไร้ผล นั่นหมายถึงการให้พื้นที่อย่างเปิดกว้างที่สุดต่อความหลากหลายของพฤติกรรมปัจเจกบุคคลที่ไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อผู้อื่น เช่น ปกป้องสิทธิของปัจเจกบุคคลที่จะสูบกัญชา กินเพโยเต้ มีคู่นอนหลายคน หรือรักร่วมเพศ เพราะนั่นคือโลกอันหลากหลายแห่งพฤติกรรมและวิถีปฏิบัติที่ถูกทำให้เป็นเรื่องต้องห้ามโดยจารีตตะวันตกแบบยิว-ทุนนิยม-คริสเตียน-มาร์กซิสต์ อาจกล่าวได้ว่ามันคือการเคารพในสติปัญญาและการเรียนรู้ของคน แต่ไม่ใช่เพื่อสนับสนุนความโลภหรือหนทางอันนำไปสู่การสั่งสมอำนาจอย่างเห็นแก่ตัว มันคือหนทางของการเรียนรู้บนพื้นฐานของความรับผิดชอบต่อตนเอง ทว่ายังเต็มใจที่จะทำงานร่วมกับผู้คนด้วยเช่นกัน อาจเรียกได้ว่า “ก่อร่างสังคมใหม่ภายในเปลือกของสังคมเก่า” อันเป็นคำขวัญของสหภาพแรงงานโลกเมื่อ ๕๐ ปีที่แล้ว วัฒนธรรมแบบจารีตนิยมกำลังมาถึงวาระสุดท้ายในทุกกรณี และกำลังยื้อชีวิตตัวมันเองด้วยการพยายามเกาะกุมอยู่กับภาพ “ความดี” ในอดีตอย่างสิ้นหวัง แต่พึงจำไว้ว่า อะไรก็ตามที่เป็นอยู่ในปัจจุบันและเคยเป็นอดีตของวัฒนธรรมใดๆ สามารถถูกก่อร่างสร้างใหม่ขึ้นได้จากการสัมพันธ์กับจิตใต้สำนึกผ่านการปฏิบัติภาวนา ในมุมมองของฉันการปฏิวัติทางสังคมที่กำลังมาถึงจะตีวงและเชื่อมเราทุกคนในหลายๆทาง สู่แง่มุมอันสร้างสรรค์ที่สุดตั้งแต่ครั้งบรรพกาล หากเราโชคดี เราอาจบรรลุถึง ”วัฒนธรรมโลก” ในที่สุด จากการสืบสกุลทางมารดา อิสระจากการแต่งงาน เศรษฐกิจแบบสินเชื่อชุมชนตามธรรมชาติ ลดความสำคัญของอุตสาหกรรม จำนวนประชากรที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และพื้นที่ป่าชุมชน สวนสาธารณะ และอุทยานแห่งชาติที่เพิ่มมากขึ้น แกรี่ สไนเดอร์ ๑๙๖๑

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท