ประชาไท บันเทิง: คันหู...ไม่รู้เป็นอาร้ายยย: การโซนนิ่งศีลธรรมอันดีของสังคมไทย

คันหู้...คันหูค่ะ ผู้อ่านที่รัก ที่ ‘คัน’ เนี่ย ไมได้ไปทำอะไรมาหรอกนะคะ เพิ่งกลับจากสิงคโปร์ค่ะ แล้วทุกครั้งที่ขึ้นเครื่อง ลงเครื่อง ความกดอากาศที่เปลี่ยนแปลงมันทำให้รู้สึกเหมือนแก้วหูจะแตก หูอื้อไปนานพอสมควร แถมยังคันหูยิบๆ ตามมาอีกหลายวัน ไม่รู้มีใครเป็นเหมือนกันหรือเปล่า ไปสิงคโปร์คราวนี้ (ในขณะที่หลายคนเกือบเหยียบกันตายเพราะไปต่อคิวซื้อไอโฟนครึ่งราคา และวันนี้ 9 ก.ย. Uniglo ก็จะเปิดให้คนทั่วไปช้อปอย่างเป็นทางการวันแรก ดิฉันก็เพิ่งไปช้อป Lanvin Heart H&M ที่สิงคโปร์มา) ทำให้ตกข่าว พลาดเรื่องเด็ดๆ ไปตั้งหลายเรื่อง แต่จะมีเรื่องอะไรที่จะดราม่าไปกว่าเรื่องน้องจ๊ะ คันหู (ตกลงน้องเขาชื่ออะไรนะคะ ? เอาเป็นว่าเรียกน้องจ๊ะ คันหูแล้วกัน) ที่ไปออกรายการวู้ดดี้เกิดมาคุยนั้นไม่มีอีกแล้ว ได้ข่าวว่าเว็บบอร์ดหลายๆ ที่ถล่มทลายด้วยกระทู้น้องจ๊ะเลยทีเดียว เช็คเฟซบุ๊กก็เห็นมีแต่คนโพสเรื่องนี้ แต่ไม่มีโอกาสได้อ่านจริงๆ จังๆ เพราะมัวแต่ช้อปปิ้งอยู่ กลับมาถึงเมืองไทยต้องมานั่งอ่านข่าวย้อนหลังจนตาแฉะ และพบว่า ดราม่าเอย...จงซับซ้อนขึ้นไปอีก! จ๊ะ เทอร์โบ เจ้าของเพลง \คันหู\" รายการวู้ดดี้เกิดมาคุยเชิญน้องจ๊ะคันหูและแขกรับเชิญคนอื่นๆ มาร่วมรายการเพื่อวิพากษ์วิจารณ์กระแสความดังของเพลงคันหู ทั้งตัวเนื้อเพลง (ที่ไม่ใช่เพลงออริจินัลของเธอเอง) การแสดง และท่าเต้นของเธอ ที่กลายเป็น ‘ปรากฏการณ์’ เพลงที่ไม่ได้ออกขาย แต่มีให้ฟังและดูในยูทูบที่ดังที่สุดก็ว่าได้ ความดังของเธอและเพลง ‘คันหู’ ไม่ได้มีอยู่แค่ในสังคมโซเชียลเน็ตเวิร์กเท่านั้น แต่มันยังลามออกมาถึง ‘ข้างนอก’ ด้วย ความอัศจรรย์ของเพลงนี้ก็คือมันไม่ได้ถูกเปิดออกอากาศในรายการวิทยุ ไม่มีมิวสิค วิดีโอให้ดูทางโทรทัศน์ ไม่มีเทป ซีดี ของศิลปินออกขาย แต่เราล้วนรู้จัก (อันนี้เคลมแบบหยาบๆ นะคะ) เพลง ‘คันหู’ กันถ้วนทั่ว วลี ‘คันหู’ ก็กลายเป็นคำที่นำมาล้อเล่นในสังคมปัจจุบัน ซึ่งก่อนหน้านั้นเรามีคำว่า ‘คัน’ เฉยๆ ใช้บอกอาการเช่นนั้นอยู่ ไม่รู้ว่าด้วยเหตุที่คนทั่วไปรู้จักเพลงนี้หรือเปล่า รายการวู้ดดี้เกิดมาคุยจึงสามารถ ‘เคลม’ ได้ว่าเป็นเรื่องที่นำมาถกเถียงพูดคุยได้ เพราะทุกคนรับรู้เข้าใจว่า ‘น้องจ๊ะ คันหู’ และเพลง ‘คันหู’ คืออะไร หลังจากรายการออกอากาศไปแล้ว กระแสการวิพากษ์วิจารณ์ (ที่เขาบอกกันว่าพิธีกรเป็นคนวิพากษ์วิจารณ์เสียมากกว่า) ยังไม่จบเพียงเท่านั้น เมื่อตัวรายการและพิธีกรเองกลับโดนวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมในการตั้งคำถาม ท่าที และคำพูดคำจาที่ใช้ในการสัมภาษณ์ผู้ร่วมรายการ โดยเฉพาะน้องจ๊ะคันหู ซึ่งคนที่ได้ดูรายการในคืนนั้น (หรือย้อนหลังทางยูทูบ) ต่างก็มีปฏิกริยารุนแรงต่อการสัมภาษณ์ของวู้ดดี้ พิธีกรในรายการ ยกตัวอย่างเช่น การเกิดขึ้นของแฟนเพจในเฟซบุ๊กที่ชื่อว่า ‘มั่นใจคนไทยเกินล้านคนอยากต่อยวู้ดดี้’ ตามมาด้วยกระทู้ในเว็บไซต์พันทิป ที่กลายเป็นกระทู้แนะนำในพริบตา ไม่ว่าจะเป็น ‘ขอประณามรายการวู้ดดี้อย่างเป็นทางการ’ ‘ขออนุญาตหยาบคาย อยากถีบทีวีเพราะรายการวู้ดดี้เกิดมาคุย’ ‘สงสารจ๊ะ คันหู เหมือนเอาเค้ามานั่งด่า!!!!’ ‘น้องจ๊ะสู้ๆ นะจ๊’ ‘ให้กำลังใจน้องจ๊ะคันหูครับ’ ‘ขอประณามรายการวู้ดดี้เกิดมาคุยในฐานะสื่อเพื่อสังคมค่ะ’ ‘อยากให้คุณวู้ดดี้ออกมาขอโทษกับการกระทำในคืนนี้’ ‘สงสารน้องจ๊ะตกเป็นเหยื่อวู้ดดี้’ โดยกระทู้และข้อความแสดงความคิดเห็นส่วนใหญ่มุ่งแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ไปที่ตัวพิธีกรรายการ วู้ดดี้ มิลินฑจินดา โดยมีประเด็นที่พอจะสรุปได้ประมาณนี้ ตัวพิธีกรไม่ให้เกียรติแขกรับเชิญด้วยการตั้งคำถามที่รุนแรงและดูถูก เหมือนเป็นการเชิญแขกรับเชิญมานั่งด่า ถูกรุมกินโต๊ะ ทั้งๆ ที่รู้ว่าอะไรคืออะไร มุ่งแต่จะสร้างกระแสให้รายการโดยไม่ดูถึงความเป็นจริงของสังคม มันเป็นการแสดง เป็นการเอนเตอร์เทนเมนต์ น้องจ๊ะทำงานสุจริต เลี้ยงปากเลี้ยงท้อง พ่อแม่พี่น้อง ปัญหาสังคมเรื่องแบบนี้มีเยอะกว่าอีก ทั้งเว็บโป๊ หนังสือโป๊ ดาราแต่งตัวโป๊ ซึ่งในอินเตอร์เน็ตก็มีสื่อลามกมากกว่า และโจ่งแจ้งกว่าน้องจ๊ะด้วยซ้ำไป เป็นเรื่องธรรมดาของสังคม เพลงลูกทุ่งก็มีลักษณะเช่นนี้มาแต่ไหนแต่ไร ส่วนคอมเมนต์ทั้งหลาย จะดุเด็ดเผ็ดมันส์แค่ไหน เชิญหาอ่านกันเองตามสะดวกนะคะ มันเยอะมากจนไม่ไหวจะ คัดลอกมาให้อ่าน นั่นคือส่วนที่ให้กำลังใจและประณามตัวรายการ และพิธีกร มาดูกระแสโต้กลับกันบ้าง อย่างว่านอกจากมีคนเห็นด้วย ก็ย่อมมีคนเห็นต่างตามประสาสังคมประชาธิปไตย (แต่อย่าแห่ออกมาเห็นต่างบนถนนนะคะ เดี๋ยวจะโดนยิงตายได้) โดยสรุปความเห็นอีกด้าน ในกรณีน้องจ๊ะคันหูกับรายการวู้ดดี้เกิดมาคุยเป็นข้อๆ ดังนี้ ทำลายเพลงลูกทุ่ง ทำลายเพลงลูกทุ่งในฐานะเป็นศิลปะวัฒนธรรมอันดีของชาติ ลามกอนาจาร กลัวเป็นเยี่ยงอย่างของเด็กและเยาวชน ไม่ควรนำเสนอผ่านสื่อกระแสหลักในทีวี (แม้กระทั่งเชิญมาสัมภาษณ์) น้องจ๊ะอยากดัง เสื่อม (ทั้งตัวน้องจ๊ะ ซึ่งทำให้สังคมเสื่อมทรามไปด้วย) เช่นกันค่ะ ข้อความคอมเมนต์ต่างๆ นั้นดุเด็ดเผ็ดมันส์มาก โดยเฉพาะการตอบโต้กันไปมาระหว่างความคิดสองชุด คือความดีงามของสังคมกับความเป็นจริงของสังคม อ่านไปอ่านมาจนตาแฉะหลายพันคอมเมนต์จนเรื่องซาๆ เหมือนจะได้ข้อสรุปแห่งการปรองดองสมานฉันท์ทางความคิดของผู้คนที่ตอบโต้กันไปมาในเว็บบอร์ดและสังคมส่วนอื่นๆ ว่า น้องจ๊ะผิด ที่ทำ ‘มาก’ เกินไปหน่อย ส่อไปทางลามกอนาจาร ซึ่งข้อแก้ตัวใดๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำมาหากิน หรือความจน หรืออยากดังก็ฟังไม่ขึ้น ตัวพิธีกรก็ผิด เพราะหยาบคาย รุนแรง และดูถูกแขกรับเชิญ แม้เรื่องนี้จะมีปรากฏในสังคมไทยจริง แต่ก็ไม่ควรได้รับการเผยแพร่โดยเฉพาะในสื่อกระแสหลัก เพราะถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ ‘ดีงาม’ โอ้...มันช่างเป็น ‘กลาง’ สมานฉันท์ เสียกระไร สุดท้ายโดนด่าทุกข้างทุกฝ่าย ทั้งมุมแดงและมุมน้ำเงิน และสังคมไทย ก็จะดีงามสร้างสรรค์ต่อไป !!! อาจเป็นเพราะการเมืองยังไม่นิ่ง หรือว่ารัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมกำลังดูท่าที ดูกระแสอยู่ว่าจะเลือกข้างไหนดี (เพราะแรกๆ กระแสเชียร์น้องจ๊ะมาแรงมาก หลังๆ น้องจ๊ะเริ่มถูกวิพากษ์วิจารณ์กลับ) หลังจากที่ปล่อยบทความเรื่อง ‘เลี้ยงลูกอย่างไรให้มีวัฒนธรรม’ ออกมาให้คนเขาด่า เขาขำกันทั้งบ้านทั้งเมือง จึงยังไม่เห็นปฏิกิริยาของกระทรวงวัฒนธรรมต่อกรณีนี้ แต่บางทีก็อาจจะพูดได้ว่ารู้สึกโล่งใจ ที่กระทรวงวัฒนธรรมไม่บ้าจี้ออกโรงมาสั่งแบน สั่งจับ หรือกระทำการใด เหมือนที่ผ่านๆ มา กรณีของน้องจ๊ะ ทำให้ดิฉันนึกถึงกรณีน้องน้องแนท-เกศรินทร์ ชัยเฉลิมพล เมื่อหลายปีก่อน ในกลุ่มสังคมหนึ่ง (ผู้เสพหนังโป๊ ?) เธออาจเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง แต่ในอีกกลุ่มสังคมหนึ่งเธออาจจะไม่เป็นที่รู้จักเลย จนกระทั่งมาออกรายการทีวี จนกระทั่งถูกหมายจับว่าเล่นหนังเอ็กซ์ จนกลายเป็นข่าวหน้าหนึ่ง ทำให้หลายคนสงสัยว่า เอ๊ะ! น้องแนทเป็นใคร เล่นหนังเรื่องอะไรเหรอ จนเรารับรู้ทั่วกันว่า น้องแนทคือดาราหนังโป๊ชื่อดัง (ซึ่งก่อนหน้านั้นอาจมีหลายคนไม่รู้จักเธอ) เช่นเดียวกันกับกรณีของน้องจ๊ะ แม้หลายคนอาจจะเคยได้ยินเสียงเพลง ‘คันหู’ มาบ้าง ตามสถานที่ต่างๆ หรืออาจเคยสะกิดสะเกากับวลี ‘คันหู’ ที่ถูกนำมาใช้ในสังคม แต่อาจจะไม่รู้จักว่า เพลงคันหูนั้นของใคร ใครร้อง มีที่มาที่ไปอย่างไร จนกระทั่งเธอมาออกรายการวู้ดดี้เกิดมาคุย และเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ตามมา ดิฉันคงไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์ว่าใครผิด ใครถูก เพราะเรื่องของศีลธรรมจรรยานั้น คงขึ้นอยู่กับระดับความเข้มข้นของแต่ละคน เหมือนในระดับน้ำตาลในเส้นเลือด จึงได้แต่ตั้งข้อสังเกตจากปรากฏการณ์ดังกล่าวจากบทสรุปความปรอดองในกรณีนี้และหลากหลายความคิดเห็นที่ชวนกระตุกต่อมไร้ศีลธรรมของตัวเอง โดยเฉพาะในกรณีบทสรุปที่ว่าเรื่อง ‘ไม่ดีงาม’ อย่างนี้ไม่สมควรถูกเผยแพร่ในสื่อกระแสหลัก เพราะมันจะนำความเสื่อมเสียมาสู่สังคม และก่อให้เกิดการเลียนแบบ (จากเยาวชน ?) ประเด็นที่น่าสนใจประเด็นแรกคือ หากโทรทัศน์ฟรีทีวีเป็นสื่อกระแสหลัก ช่องทางทางอินเตอร์เน็ตเป็นสื่อกระแสรองอย่างนั้นหรือ ? เราวัดการเป็นสื่อกระแสหลักกระแสรองของทุกวันนี้อย่างไร ในเมื่อกรณีของน้องจ๊ะนั้นโด่งดังมาจากมาคลิปการแสดงใน ‘ยูทูบ’ ซึ่งเป็นเว็บไซต์ดังในอินเตอร์เน็ต ทั้งๆ ที่ไม่ได้โปรโมทในสื่อกระแสหลักแต่อย่างใด นั่นก็หมายความว่าอินเตอร์เน็ตมีผลกระทบต่อผู้คนส่วนใหญ่ (ในแง่การเผยแพร่ การรับรู้) ไม่แพ้สื่อกระแสหลัก แล้วเหตุอันใดหรือจึงต้องปกป้องสื่อกระแสหลักให้ ‘คลีน’ จากคำว่า ‘สิ่งที่ไม่ดีงาม’ (ซึ่งอยู่ภายใต้การตีความของปัจเจกอีกด้วย) ซึ่งดิฉันไม่ได้หมายถึงแค่กรณีของน้องจ๊ะ แต่ยังรวมไปถึงเรื่องอื่นๆ ที่เกิดก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็นการเซนเซอร์ละคร (ดอกส้มสีทอง) บุหรี่ ขวดเหล้า ฯลฯ หรือแม้แต่หนังของเจ้ย-อภิชาติพงษ์ ที่มีฉากคุณหมอจู๋โด่ ซึ่งไม่ได้ฉายทางทีวีด้วยซ้ำไป (และโดนเซ็นเซอร์จนไมได้ฉายในโรงด้วย) ประเด็นต่อมาคือหากบอกว่าเพราะสื่อกระแสหลักนั้นมีอิทธิพลต่อคนส่วนใหญ่ เพราะคนส่วนใหญ่เข้าถึงได้ง่าย ฟรี และมากกว่าอินเตอร์เน็ต จึงเป็นการป้องกันการเลียนแบบได้ด้วย ก็ทำให้ดิฉันเกิดคำถามขึ้นมาว่า จริงหรือที่คนส่วนใหญ่เสพสื่อผ่านทีวีมากกว่าอิเตอร์เน็ต ถ้าจริง แล้วมีคนกลุ่มใดบ้าง หากจะบอกว่าการยกเรื่อง ‘ไม่ดีงาม’ อย่างกรณีน้องจ๊ะ มาอยู่ในสื่อกระแสหลัก (ดิฉันไม่ได้บอกว่าเราควรให้มีการเปิดคลิปการแสดงของเธอ เช้าเย็นหลังเคารพธงชาติ...โอเค๊ ?) จะเป็นการก่อให้เกิดการเลียนแบบพฤติกรรมอันไม่ดีงามของเยาวชน ซึ่งดิฉันเห็นว่าตรงนี้มันขัดแยงกับความจริงที่เกิดขึ้น เพราะหากบอกว่าอินเตอร์เน็ตนั้นเป็นสื่อเฉพาะ ที่คนเฉพาะกลุ่มสามารถเข้าถึงได้ ซึ่งคนเหล่านั้นต้องมีคอมพิวเตอร์ที่บ้าน ต่ออินเตอร์น็ตได้ แน่นอน...คนกลุ่มนี้ต้องไม่ใช่คนยากคนจนที่คอมพิวเตอร์เป็นของฟุ่มเฟือย และไม่จำเป็นต่อชีวิต ไม่ใช่เด็กๆ ที่ตอนนี้ยังไม่ได้รับแจกแท็บเล็ตพอที่จะเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ ไม่ใช่คนวัยชราที่ไม่ได้เกิดมาในยุคการใช้เทคโนโลยีและใช้ไม่เป็น ไม่ใช่คนไร้การศึกษา ที่ไม่รู้ภาษาอังกฤษ พอที่จะพิมพ์คำว่า www.youtube.com ลงไปบนเบราเซอร์ แล้วหากเรื่องไม่ดีงามเหล่านี้อยู่บนสื่อกระแสหลัก แล้วใครจะเลียนแบบไม่ทราบ เยาวชนเหรอ ? คุณว่าเยาวชนปัจจุบันนี้อายุต่ำสุดที่เข้าอินเตอร์เน็ตไม่เป็นอยู่ที่เท่าไหร่ แล้วเยาวชนชนชั้นกลางที่บ้านมีคอมพิวเตอร์มีตั้งเท่าไหร่ หรือเราจะปกป้องตายายหนังเหี่ยวที่เข้าอินเตอร์เน็ตไม่เป็น ได้แต่ดูทุกอย่างจากโทรทัศน์ และเด็กๆ ตามบ้านนอกคอกนาที่ไม่มีคอมพิวเตอร์ ไม่สามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ การที่จะบอกว่าเพราะเรื่องของน้องจ๊ะมันเป็นเรื่องไม่ดีไม่งามที่ไม่ควรนำมาอยู่บนสื่อกระแสหลักอย่างโทรทัศน์ (ไม่ว่าในแง่ใด แม้กระทั่งการนำมาออกรายการในโทรทัศน์) เพราะอาจก่อให้เกิดการเลียนแบบในเรื่องที่ไม่ดีงาม มันเป็นการย้อนแย้ง และเลือกปฏิบัติต่อคนบางกลุ่มหรือเปล่า ? และยิ่งทำให้เกิดคำถามว่าคำว่า ‘พื้นที่สาธารณะ’ ระหว่างโทรทัศน์และอินเตอร์เน็ตมันมีเส้นแบ่งความแตกต่างอยู่ที่ตรงไหนในประเด็นเรื่องสิ่งดีงาม หรืออยู่ที่โอกาสในการเข้าถึงซึ่งอยู่บนพื้นฐานของชนชั้นทางเศรษฐกิจ ? จากบทสรุปที่ว่าเรื่องที่ไม่ดีงามไม่ควรอยู่ในพื้นที่สาธารณะอย่างโทรทัศน์ (และอื่นๆ แต่อยู่ในยูทูบ ในอินเตอร์เน็ตได้) รวมถึงการตั้งข้อสังเกตของดิฉันเองที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น นำมาซึ่งข้อสังเกตที่ใหญ่ไปกว่านั้นว่า หลักการการจัดโซนนิ่งทางจริยธรรม ศีลธรรมของสังคมไทยอยู่ตรงไหน ด้วยอุดมการณ์ใด เพื่อคนกลุ่มไหนกันแน่ อย่างที่เรารู้กัน และในหลายๆ คอมเมนต์ที่เกี่ยวกับประเด็นน้องจ๊ะพูดถึงว่า สังคมไทยไม่ได้ข่าวบริสุทธิ์ขนาดนั้น เรามีพัฒพงษ์ มีการขายบริการ ร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ซึ่งเป็นโซนสีเทา (ดิฉันว่าสีสันมากกว่า) ของสังคม ซึ่งทุกๆ คนก็รู้กันอยู่ว่า ‘มีจริง’ แต่เราก็มักจะทำลืมๆ ไปว่ามันมีจริง หรือแอบมันอยู่ในโซนๆ หนึ่ง เราไม่ควรเอาพัฒพงษ์มาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวในการประชาสัมพันธ์ของททท. เช่นเดียวกับน้องจ๊ะที่เราปล่อยให้เธออยู่ในยูทูบได้ มีคนเข้าไปดูเป็นล้านๆ คนได้ หรือตามผับบาร์ที่จ้างเธอไปโชว์ได้ แต่อย่าให้มาปรากฏตัวในพื้นที่สาธารณะอย่างโทรทัศน์เชียว ซึ่งจริงๆ เด็กและเยาวชน (ชนชั้นกลางขึ้นไป ทั้งในเมืองและชนบท) สมัยนี้เข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ง่ายจะตายไป และแน่นอนว่าเด็กพวกนี้ใช้อินเตอร์เน็ต และอาจไม่ได้ดูรายการวู้ดดี้เกิดมาคุยด้วยซ้ำไป แล้วเราห่วงใคร หรืออะไรหรือ ? การขีดเส้นแบ่ง หรือจัดโซนนิ่งทางศีลธรรม ในด้านหนึ่งมันฟ้องถึงความหน้าบางและดัดจริตของสังคมไทย ที่บอกว่าพิธีกรก็ผิด เพราะรุนแรง หยาบคายและไม่ให้เกียรติแขกรับเชิญ และแขกรับเชิญก็ผิดที่แสดงด้วยท่าทีลามกอนาจารซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ดีงามต่อสังคม และไม่ควรถูกนำมาโปรโมทเผยแพร่ในสื่อกระแสหลัก แต่ถ้าฉันอยากดู ฉันจะคลิกเข้าไปดูในยูทูบเอง และถ้าถูกใจ ชื่นชอบก็จะแชร์ในเฟซบุ๊กต่อๆ กัน จนดัง แต่ห้ามหยิบเอาความดังนี้ออกไปจากโลกอินเตอร์เน็ตสู่โลกของทีวีเด็ดขาด เพราะโลกนี้เข้าถึงได้เฉพาะคนบางกลุ่ม ที่เลือกที่จะเข้าถึงเอง (เพราะที่บ้านมีคอมพิวเตอร์ มีไอแพด มีไฮไฟ อินเตอร์เน็ตไฮสปีก 10 เม็ก) การอยู่ในอินเตอร์เน็ตนั้นสังคมไม่ถูกคุกคามด้วยความไม่ดีไม่งามของศีลธรรมจรรยา และเมื่ออยู่ในโทรทัศน์เมื่อไหร่สังคมจะเสื่อมทรามลงทันที เพราะโลกของทีวีนั้นมันสาธารณะเกินไป และส่งตรงไปยังทุกผู้ทุกคน โดยไม่ต้องจ่ายค่าดู แค่จ่ายค่าไฟเท่านั้น (อย่างนั้นหรือ ?) หรือแม้แต่เรื่องอื่นๆ ในสังคม ที่อยู่ร่วมกันได้ แต่อย่าเอามาบอกเล่า หรือทำเป็นประเด็นสาธารณะเด็ดขาด (โดยเฉพาะเรื่องใดที่เกี่ยวกับเพศ เช่น เป็นตุ๊ดเป็นเกย์ไม่เป็นไร แต่อย่าเอามาออกโทรทัศน์ อย่ามามีบทออกพระออกนาง เดี๋ยวเด็กและเยาวชนจะเลียนแบบ แต่เกย์ในแบบเบน ชลาทิศไม่เป็นไร ร้องเพลงเพราะ...ชอบ) การโซนนิ่งทางศีลธรรมจรรยา จึงเกิดขึ้นโดยอุดมการณ์ของคนกลุ่มหนึ่ง ที่ (หน้าบางและดัดจริต) คิดว่าตัวเองมีความเข้มข้นของศีลธรรมจรรยา และสติปัญญา การศึกษา) มาก (และดี และเป็นกลาง ?) พอ พอที่จะจัดแจงว่าอะไรควรจะอยู่ตรงไหน อยู่อย่างไร ใครบ้างที่จะเข้าถึงได้ ช่องทางไหน อย่างไร และแบบที่ไหนที่เรียกว่าศีลธรรมอันดีของสังคมจะถูกคุมคาม แบบไหนที่อยู่ในเกณฑ์อยู่ร่วมกันได้ แต่ต้องอยู่ในโซนๆ หนึ่ง ปกปิดมันไว้ ไม่ต้องพูดถึง ไม่ต้องนำมาบอก แม้มันจะมีจริง เกิดขึ้นจริง และเป็นหนึ่งในองค์ประกอบของสังคมจริงๆ ก็ตามที การโซนนิ่งทางศีลธรรมจรรยา จึงไม่แค่การจัดระเบียบทางสังคมเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างบรรทัดฐานทางศีลธรรม จริยธรรมของสังคม โดยใช้เกณฑ์ความเข้มข้นของศีลธรรมจริยธรรมของตัวเองเป็นตัววัด โดยลืมไปว่ามันได้พิพากษา จริยธรรม การศึกษา ระดับความเป็นคนดี แม้กระทั่งการกีดกันและเลือกปฏิบัติ ต่อคนอื่นไปด้วยแล้วในทางกลับกัน...และด้วยความหวังดี โอ๊ย...ยิ่งเขียนยิ่งคันหู เขียนจบก็ยังไม่หายคันหู...ไม่รู้เป็นอาร้ายยย... * หมายเหตุ: รูปประกอบจาก http://bk.asia-city.com"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท