Skip to main content
sharethis

ตัวแทนจากกระทรวงการต่างประเทศ และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ยอมรับ ประเทศไทยประสบปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนหลายด้าน รวมถึงเสรีภาพในการแสดงออก ชี้กฎหมายหมิ่นฯ ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ด้านสหประชาชาติเผย จะจัดหาคู่มือเรื่องมาตรฐานสากลของเสรีภาพในการแสดงออกให้หน่วยงานราชการไทยเพื่อให้เข้าใจความหมายตรงกัน 12 ก.ย. 54 เมื่อเวลา 9.00 น. ณ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิศักยภาพชุมชน ร่วมกับศูนย์ติดตามประชาธิปไตยไทย จัดงานเสวนาว่าด้วยรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน: กระบวนการ ความร่วมมือและการนำไปใช้ (Universal Periodic Review Reports: Process, Cooperation and Implementation) โดยมีตัวแทนจากกระทรวงการต่างประเทศ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และสำนักข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) เข้าร่วมแลกเปลี่ยนในประเด็นสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย กสม. แจง ต้องรายงานสถานการณ์สิทธิยูเอ็นตามความเร่งด่วน อมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เปิดเผยถึงกระบวนการการจัดทำรายงานเพื่อประกอบการรายงานสถานการณ์สิทธิประเทศไทยว่า ได้ใช้ข้อมูลจากฐานข้อมูลคำร้องที่ประชาชนมาร้องเรียนด้านการละเมิดสิทธิ ประกอบกับการจัดเวทีรับฟังข้อมูลจากกลุ่มประชาสังคมต่างๆ ให้ครบถ้วนมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ อย่างไรก็ตาม เธอกล่าวว่า เนื่องจากเนื้อที่ของรายงานที่ต้องจัดส่งมีเนื้อที่จำกัดเพียงห้าหน้า จึงจำเป็นต้องจัดทำรายงานโดยเรียงลำดับตามความสำคัญ ทำให้รายงานส่วนของคณะกรรมการสิทธิฯ ประกอบด้วย ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมือง สิทธิชุมชน การค้ามนุษย์ และสิทธิของผู้ลี้ภัย “เนื่องจากที่ของรายงานมีจำกัด เราจึงพิจารณาตามเกณฑ์ความเหมาะสม กล่าวคือต้องเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ส่วนใหญ่ของสาธารณชน เป็นเรื่องที่มีความร้ายแรงและเร่งด่วน และเป็นข้อกังวลของประชาคมนานาชาติ” อมรา อธิบาย ทั้งนี้ รายงานสถานการณ์สิทธิฯ ที่ส่งเพื่อไปตรวจสอบในที่ประชุมในสหประชาชาติ จะประกอบไปด้วยรายงานสามส่วน คือ รายงานของรัฐบาล ซึ่งจัดทำโดยกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงยุติธรรม รายงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษชนแห่งชาติ ร่วมกับองค์กรภาคประชาสังคม และรายงานที่รวบรวมโดยข้าหลวงใหญ่แห่งสหประชาชาติ กระทรวงการต่างประเทศรับ กฎหมายหมิ่นฯ ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ศิริลักษณ์ นิยม ตัวแทนจากกระทรวงการต่างประเทศ อธิบายถึงกระบวนการ UPR หรือการจัดทำรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนว่า เป็นขั้นตอนตรวจสอบสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของทุกประเทศที่เป็นสมาชิกสหประชาชาติโดยไม่มีข้อยกเว้น และมีลักษณะเป็นแบบ “Peer review” หรือตรวจสอบระหว่างรัฐด้วยกันเอง ในขณะเดียวกัน เธอกล่าวว่า กระบวนการดังกล่าว ยังเป็นวิธีที่ทางการสามารถนำไปพิจารณาเพื่อสะท้อนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนภายในประเทศ อันจะนำไปสู่การพูดคุยกับหน่วยงานต่างๆ ต่อไป เมื่อผู้สื่อข่าวถามตัวแทนจากกระทรวงการต่างประเทศ และ กสม. ว่าคิดอย่างไรกับข้อกังวลของสหประชาชาติที่มองว่ากฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จำกัดเสรีภาพในการแสดงออกในประเทศไทย ตัวแทนจากกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า เห็นด้วยว่า กฎหมายหมิ่นฯ มีความจำเป็นต้องปรับปรุงไม่ให้ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง แต่กฎหมายดังกล่าวจะมีการปฏิรูปหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นเพื่อดูแลการใช้กฎหมายดังกล่าวภายใต้กระทรวงยุติธรรม ขณะที่อมรา พงศาพิชญ์ ตัวแทนจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า กสม. กำลังทำงานแก้ปัญหาดังกล่าวอยู่ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจาก กสม.ไม่สามารถสั่งให้รัฐบาลทำอะไรได้ เพียงแต่ยื่นข้อเสนอแนะต่างๆ ให้แก่รัฐบาลได้รับฟังเท่านั้น ส่วนรัฐบาลจะรับหรือไม่ ก็เป็นเรื่องที่ต้องรอดู “เราไม่สามารถควบคุมได้ทุกอย่าง แต่เราจะพยายามทำให้ดีที่สุด ในขณะเดียวกัน ต้องรอดูว่ารัฐบาลนี้จะรับข้อเสนอเพื่อนำไปปฏิบัติต่ออย่างไร ถ้าหากว่ารัฐบาลนี้รับ ก็ถือว่าเป็นข้อดี แต่ถ้าหากว่าไม่ กสม.ก็จำเป็นต้องผลักดันต่อไป” ประธาน กสม. กล่าว ทางการไทย เตรียมถูกนานาชาติตรวจสอบสถานการณ์สิทธิเดือนหน้า จง-กิล วู ผู้แทนจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ กล่าวแสดงความยินดีต่อกระทรวงการต่างประเทศของไทยที่เห็นว่า กฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์มีปัญหาต่อสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก นอกจากนี้ ยังกล่าวด้วยว่า ในอนาคต ทางสหประชาชาติจะจัดหาคู่มือและแนวทางว่าด้วยมาตรฐานเสรีภาพในการแสดงออก เพื่อให้ทางการมีความเข้าใจเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกที่ตรงกับมาตรฐานสากลมากขึ้น ด้านศรีประภา เพชรมีศรี นักวิชาการด้านสิทธิมนุษยชน ให้ความเห็นว่า กระบวนการ UPR เป็นกระบวนการที่ใหม่ และเป็นประโยชน์ในกลไกด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ผ่านการตรวจสอบกันเองของประเทศต่างๆ ในเวทีสหประชาชาติ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยดังกล่าว ยังแล้วแต่ด้วยว่า ประเทศที่ถูกกำหนดให้ตรวจสอบประเทศอื่นเป็นอย่างไร ทั้งนี้ ทางการไทย จะถูกตรวจสอบด้านสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศ ในวันที่ 5 ตุลาคมที่จะถึงนี้ ณ ที่ประชุมแห่งสหประชาชาติ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยตัวแทนจากกระทรวงการต่างประเทศของไทย จะถูกตั้งคำถามจากตัวแทนจากสภาสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ในประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งตัวแทนไทยมีหน้าที่ชี้แจง และสามารถนำข้อเสนอแนะจากประเทศต่างๆ ไปปฏิบัติต่อได้ โดยผู้สนใจสามารถรับชมการถ่ายทอดสดได้ที่เว็บไซต์ http://www.un.org/webcast/unhrc/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net