Skip to main content
sharethis

ชาวบ้านหนองจ๊อม จ.เชียงใหม่ เปิดเผยระหว่างวงเสวนา "เล่าขานตำนานล้านนา" เผยหลักฐานใหม่ใบลานธรรมซึ่งเขียนโดยพญาปราบสงคราม ผู้นำกบฎพญาปราบสงคราม หรือกบฎเชียงใหม่ ต่อต้านการเก็บภาษีหมาก พลู เมื่อ พ.ศ. 2432 

 

วงเสวนา "เล่าขานตำนานล้านนา" ที่ลานหน้าวัดสันป่าสัก ต.หนองจ๊อม อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ เมื่อ 11 ก.ย. ที่ผ่านมา

ธเนศวร์ เจริญเมือง

ใบลานธรรมหนึ่งในหลายฉบับที่ค้นพบที่วัดสันป่าสัก อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ ซึ่งท้ายใบลานจารึกว่าผู้เขียนคือพญาปราบสงคราม (ภาพนี้ได้รับการเอื้อเฟื้อจากกลุ่มนักข่าวพลเมืองเชียงใหม่)

เมื่อวันที่ 11 ก.ย. ที่ผ่านมา ประชาคมหลายกลุ่มใน อ.สันทราย และอำเภอใกล้เคียงใน จ.เชียงใหม่ ร่วมกันจัดวงเสวนา "เล่าขานตำนานล้านนา" ที่ลานหน้าวัดสันป่าสัก ต.หนองจ๊อม อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ มีวิทยากรคือนายประสิทธิ์ เก่งกาจ นักวิชาการท้องถิ่น ผู้ปริวรรตอักษรล้านนา  และ ศ.ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

โดยในงานดังกล่าวได้มีการเปิดเผยหลักฐานใหม่คือใบลานธรรม ซึ่งเขียนโดยพญาปราบสงคราม ผู้นำกบฎพญาปราบสงคราม หรือกบฎเชียงใหม่ พ.ศ. 2432

นายประสิทธิ์ เก่งกาจ กล่าวว่า จากการศึกษาใบลานที่รักษาอยู่ในวัดสันป่าสัก พบว่ามีใบลานนับสิบผูกที่ท้ายธรรมระบุว่าจารึกใบลานโดยหนานเตชะ หรือพญาปราบสงคราม

"อะหังนามะกร บอวรชื่นช้อย ตัวข้าน้อยชื่อว่านันทาภิกขุ ปางเมื่ออยู่วัดสันป่าสัก ยั้งไน พญาปราบแล" ประสิทธิ์อ่านตอนท้ายของใบลานเล่มหนึ่ง

ประสิทธิ์ตั้งข้อสังเกตว่า นอกจากจะระบุถึง "พญาปราบสงคราม" แล้วใบลานที่บันทึกในช่วงพญาปราบสงครามบวชอยู่ที่วัดสันป่าสัก จะจารึกว่านันทาภิกขุ เมื่อสึกแล้วจะระบว่าหนานเตชะ เมื่อรับตำแหน่งขุนนางยังมีการระบุว่า "ท้าวเตชะราชาโพธินาม"

โดยในใบลานบางเล่ม พญาปราบสงครามยังลงท้ายว่าเพื่อเป็นอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้กับญาติด้วย

ทั้งนี้ตามธรรมเนียมการจารึกใบลานในล้านนา ส่วนใหญ่มักเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา โดยผู้จารึกมักนิยมระบุว่าตนเป็นผู้จารึกใบลานไว้ในตอนท้ายบท

ด้าน ศ.ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้นำเสนอเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ในช่วงกบฎเชียงใหม่ พร้อมเสนอว่าในชุมชนน่าจะเริ่มกระบวนการแสวงหาความจริง ศึกษา และค้นคว้าประวัติศาสตร์ท้องถิ่น แม้จะเริ่มศึกษาช้า แต่เชื่อว่าเอกสารเหล่านี้ถ้าอ่านดีๆ จะมีเรื่องสำคัญอยู่

ธเนศวร์ ยังเสนอด้วยว่า มีความจำเป็นต้องศึกษาเอกสารซึ่งรักษาไว้ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติในกรุงเทพฯ โดยที่ใครที่มีลูกหลานต้องส่งเสริมให้ได้เรียนหนังสือจะได้มีโอกาสไปค้นคว้าที่หอหมายเหตุแห่งชาติ นอกจากนี้ยังเสนอให้ชุมชน รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดการประชุมเพื่อตั้งคณะกรรมการพัฒนาชุมชนวัดสันป่าสักเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและเป็นแหล่งศึกษาทางประวัติศาสตร์ในเรื่องกบฎพญาปราบสงคราม

หนังสือประวัติศาสตร์ล้านนา ของสรัสวดี อ๋องสกุล ระบุว่ากบฎพญาปราบสงครามหรือกบฎเชียงใหม่ เกิดใน พ.ศ. 2432 เมื่อพระองค์เจ้าโสณบัณฑิตย์ ข้าหลวงห้าหัวเมือง รวมทั้งเมืองเชียงใหม่ ได้กำหนดให้เก็บอากรพืชสวนแบบกรุงเทพฯ คือให้เจ้าภาษีนายอากรออกเก็บปีละครั้ง แทนระบบเดิมที่กรมหมื่นพิชิตปรีชากร ข้าหลวงห้าหัวเมืองก่อนหน้านี้ กำหนดให้เสียภาษีต่อเมื่อมีการซื้อขายเท่านั้น โดยการเก็บภาษีระบบใหม่ทำให้ชาวบ้านแถบสันทรายซึ่งปลูกหมาก พลู หาเงินมาชำระภาษีไม่ทัน และขอเสียภาษีเป็นผลผลิตตามระบบเก็บภาษีแบบดั้งเดิม แต่เจ้าภาษีไม่ยอมกลับจับกุมชาวบ้านใส่ขื่อมือขื่อเท้า ทำให้พญาปราบสงคราม ขุนนางท้องถิ่น และมีตำแหน่งเป็นแม่ทัพเมืองเชียงใหม่ ได้นำชาวบ้านต่อต้านการเก็บภาษีและลุกลามกลายเป็นกบฎ โดยหลังการกบฎมีผู้นำกบฎจำนวนมากถูกประหารชีวิต ส่วนพญาปราบสงครามได้หนีไปพึ่งเจ้าเมืองเชียงตุงและไม่ได้กลับมาเชียงใหม่อีก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net