ปัญหาการพ้นตำแหน่งของศาลรัฐธรรมนูญ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เมื่อนายชัช ชลวร ลาออกจากการเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ นายชัชต้องพ้นจากความเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแล้วหรือไม่ และการที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 8 คนที่เหลือ ร่วมกับนายชัชประชุมและเลือกกันเองให้นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ โดยนายชัชยังคงดำรงตำแหน่งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นการกระทำที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ เป็นปัญหาสำคัญในการการใช้รัฐธรรมนูญในยุคนี้ ปัญหาข้อแรก นายชัช ชลวร พ้นจากความเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแล้วหรือไม่ เมื่อพิจารณารัฐธรรมนูญ 2550 แล้ว จะเห็นได้ว่า (1) มาตรา 209 (3) บัญญัติถึงการลาออกของทั้งประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อประธานศาลรัฐธรรมนูญลาออก มาตรา 209 วรรคสอง บัญญัติว่า ให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่เหลืออยู่ปฏิบัติหน้าที่ในการพิจารณาและวินิจฉัยคดีต่อไปได้หากมีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเหลืออยู่ไม่น้อยกว่า 5 คน ตามมาตรา 216 ไม่มีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญตรงส่วนใดที่บัญญัติว่าประธานศาลรัฐธรรมนูญจะต้องลาออกจากความเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญด้วย จึงจะพ้นจากตำแหน่งในศาลรัฐธรรมนูญ นายชัชจึงพ้นจากตำแหน่งในศาลรัฐธรรมนูญไปแล้ว (2) เมื่อประธานศาลรัฐธรรมนูญลาออก มาตรา 210 วรรคสอง บัญญัติให้มีการดำเนินการเลือกบุคคลมาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญภายใน 30 วัน หลังจากนั้นมาตรา 210 วรรคสี่ บัญญัติให้ผู้ได้รับเลือกดังกล่าวประชุมร่วมกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่เหลือ 8 คนและเลือกกันเองให้คนหนึ่งเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ แล้วแจ้งให้ประธานวุฒิสภาทราบเพื่อทูลเกล้าฯต่อไปตามมาตรา 204 วรรคสามและวรรคสี่ (3) กรณีที่ประธานศาลรัฐธรรมนูญต้องพ้นจากตำแหน่งนอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา 209 ทั้ง 7 กรณี เช่น ตาย, มีอายุครบ 70 ปีบริบูรณ์ , ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม ล้วนแล้วแต่เป็นการพ้นจากตำแหน่งในศาลรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น กรณีประธานศาลรัฐธรรมนูญลาออกก็เป็นกรณีหนึ่งในการที่ประธานศาลรัฐธรรมนูญต้องพ้นจากตำแหน่งในศาลรัฐธรรมนูญเหมือนกรณีอื่น ๆ ในมาตรา 209 และรัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติว่า ประธานศาลรัฐธรรมนูญต้องลาออกจากความเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญด้วยจึงจะพ้นจากตำแหน่งในศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้นเมื่อประธานศาลรัฐธรรมนูญซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้บริหารงานและตุลาการในการพิจารณาและวินิจฉัยคดีในศาลรัฐธรรมนูญลาออก ประธานศาลรัฐธรรมนูญจึงต้องพ้นจากตำแหน่งในศาลรัฐธรรมนูญ ไม่มีตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญที่จะเป็นเหตุให้ทำหน้าที่เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต่อไปได้ (4) หากนายชัชยังคงทำหน้าที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต่อไป จะมีปัญหาต่อไปว่าจะต้องมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะมาตรา 204 วรรคหนึ่งและวรรคสี่บัญญัติให้ต้องโปรดเกล้าฯแต่งตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจากผู้ได้รับเลือกให้เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แต่นายชัชไม่ใช่บุคคลผู้ได้รับเลือกให้เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญครั้งใหม่ ส่วนที่นายชัชได้รับเลือกครั้งก่อน ก็ได้รับโปรดเกล้าฯแต่งตั้งไปแล้ว หากไม่ต้องโปรดเกล้าฯ ก็ขัดต่อมาตรา 204 วรรคหนึ่งและวรรคสี่ (5) หากรัฐธรรมนูญยอมให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญแสดงเจตนาลาออกจากตำแหน่งเฉพาะประธานศาลโดยยังคงให้ดำรงตำแหน่งตุลาการต่อไปได้ ย่อมเป็นเหตุให้ตุลาการศาลสามารถฮั้วกันเป็นประธานศาลคนละปีครึ่งปีจนครบทั้งหมด 9 คน ย่อมทำให้งานของศาลรัฐธรรมนูญไม่พัฒนา (6) กรณีประธานศาลรัฐธรรมนูญลาออกแล้วจะมีผลอย่างไร รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ชัดเจนแล้วว่าต้องพ้นจากศาลรัฐธรรมนูญไป แตกต่างจากกรณีสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภา สมาชิกภาพของ ส.ส. เริ่มตั้งแต่วันเลือกตั้ง ส่วนสมาชิกภาพของ ส.ว. เริ่มแต่วันเลือกตั้งในกรณี ส.ว. เลือกตั้ง หรือวันที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศผลการสรรหาในกรณี ส.ว. สรรหา โดยไม่ต้องมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง เพียงแต่ก่อนเข้ารับหน้าที่ ส.ส. หรือ ส.ว. ต้องปฏิญาณตนในที่ประชุมที่ตนเป็นสมาชิกอยู่เท่านั้น การลาออกจาก ส.ส. หรือ ส.ว. ทำให้สมาชิกภาพของ ส.ส. หรือ ส.ว. สิ้นสุดลง (มาตรา 106 (3) และมาตรา 119 (3)) ส่วนประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภาต้องมีโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง (มาตรา 124 วรรคหนึ่ง) นอกจากประธานสภาทั้งสองจะพ้นจากตำแหน่งตามวาระแล้ว การลาออกจากตำแหน่งประธานสภายังทำให้ประธานสภาทั้งสองต้องพ้นจากตำแหน่งประธานสภาไปด้วย(มาตรา 124 วรรคสี่ (2)) รัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติให้สมาชิกภาพของ ส.ส.หรือ ส.ว. ของประธานสภาผู้ลาออกจากตำแหน่งประธานสภาต้องสิ้นสุดลงตามไปด้วย กล่าวคือ สมาชิกภาพ ส.ส. หรือ ส.ว. ของประธานสภาทั้งสองผู้ลาออกจากตำแหน่งประธานสภาจะสิ้นสุดลงก็ต่อเมื่อประธานสภาผู้นั้นได้ลาออกจาก ส.ส. หรือ ส.ว. ไปด้วย ซึ่งแตกต่างจากกรณีประธานศาลรัฐธรรมนูญลาออกดังกล่าว ส่วนกรณีอื่นๆ ต้องพิจารณาเป็นเรื่องๆ ไป เช่น หัวหน้าห้องเรียนลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าห้องเรียน ย่อมไม่ขาดจากความเป็นนักเรียนไปด้วยในตัว เพราะโดยลักษณะของการเป็นนักเรียน จะพ้นจากความเป็นนักเรียนก็ต่อเมื่อได้ลาออกหรือถูกไล่ออกจากความเป็นนักเรียน การลาออกจากหัวหน้าห้องเรียนจึงไม่มีผลให้ผู้ลาออกต้องพ้นจากการเป็นนักเรียนไปด้วย นายชัช ชลวร ซึ่งลาออกจากตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญจึงพ้นจากความเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไปแล้วตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ซึ่งบัญญัติไว้โดยเฉพาะ แตกต่างจากกรณีอื่น ๆ นายชัชจึงไม่สามารถทำหน้าที่เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต่อไปได้ ปัญหาข้อหลัง การที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่เหลือ 8 คน ร่วมประชุมกับนายชัช ชลวร ซึ่งพ้นจากตำแหน่งในศาลรัฐธรรมนูญไปแล้ว และเลือกกันเองให้นายวสันต์ สร้อย-พิสุทธิ์ เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ เมื่อพิจารณารัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 210 วรรคสอง และวรรคสี่ ประกอบมาตรา 204 วรรคสามแล้ว นายชัช ชลวร พ้นจากตำแหน่งในศาลรัฐธรรมนูญไปแล้ว ไม่มีอำนาจเข้าร่วมประชุมและเลือกประธานศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ ทั้งการเลือกประธานศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ก็ไม่มีผู้ได้รับเลือกเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่เข้าร่วมประชุมกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่เหลือ 8 คน และเลือกกันเองให้คนหนึ่งเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ การประชุมและเลือกนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่จึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ไม่มีผลทำให้นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท