Skip to main content
sharethis

สืบพยานโจทก์คดี “โรงไฟฟ้าบางคล้า” ฟ้องหมิ่นประมาท “วัชรี เผ่าเหลืองทอง” นักข่าวสาวเบิกความกรณีโทรแจ้งบริษัทโรงไฟฟ้า เผยดูรายการโดยตลอด ด้านเจ้าหน้าที่รัฐแจงกระบวนการประกวดราคาโรงไฟฟ้า

 
23 ก.ย.54 เวลาประมาณ 9.00 น. ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาฯ ห้องพิจารณาคดี 912ศาลออกนั่งบัลลังก์สืบพยานโจทก์ คดีหมายเลขดำ 3151/2552 ที่บริษัท สยามเอ็นเนอร์จี จำกัด เจ้าของโครงการโรงไฟฟ้าบางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา โดยนายบุญชัย เจียมจิตจรุง ผู้รับมอบอำนาจ เป็นโจทก์ฟ้อง นางสาววัชรี เผ่าเหลืองทอง เอ็นจีโอด้านพลังงาน ฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา กรณีให้สัมภาษณ์ออกอากาศทางรายการคมชัดลึก ของสถานีโทรทัศน์เนชั่นชาแนล เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.52 เกี่ยวกับกรณีชาวบ้าน อ.บางคล้า ปิดถนนประท้วงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าบางคล้า ในพื้นที่ ม.5 ต.เสม็ดใต้ อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา
 
นางสาวดลฤดี ไชยสมบัติ ผู้สื่อข่าวแพลทส์ ประเทศสิงคโปร์ พยานโจทก์ เบิกความเพิ่มเติมจากบันทึกคำเบิกความในชั้นไต่สวนมูลฟ้องเมื่อวันที่ 9 ส.ค.53 สรุปความได้ว่า พยานทำงานผู้สื่อข่าวมากว่า 10 ปี รู้จักนายบุญชัย เจียมจิตจรุง ผู้รับมอบอำนาจเป็นโจทก์ฟ้องในคดีนี้ เนื่องจากเคยทำข่าวการเปิดประมูลรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) และได้รับชมรายการคมชัดลึกเมื่อวันที่ เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.52 โดยตลอด จึงโทรแจ้งโจทก์ เกี่ยวกับการนำเสนอข้อมูลของจำเลยเพื่อขอข้อมูล แต่ไม่ได้นำข้อมูลรวบรวมทำรายงานให้กับสำนักข่าวแพลทส์ และรู้จักจำเลยในฐานะเอ็นจีโอที่เคลื่อนไหวคัดค้านโรงไฟฟ้า แต่ไม่เคยทำข่าวสัมภาษณ์จำเลย หรือชาวบ้านที่คัดค้านโรงไฟฟ้า
 
นางสาวดลฤดี ให้ข้อมูลด้วยว่า เธอเป็นผู้ดำเนินรายการเอ็นเนอร์จีไทม์ ทางคลื่นวิทยุ 97.0 MHz ซึ่งนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องพลังงาน มีบริษัทพลังงานเป็นผู้สนับสนุนอาทิ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) อย่างไรก็ตามบริษัทโจทก์ ไม่เคยเป็นผู้อุปถัมภ์รายการของเธอ ส่วนผู้บริหารบริษัทของเธอจะเคยเป็นผู้บริหารบริษัทโจทก์หรือไม่นั้นไม่ทราบ
 
ต่อจากนั้น นางสาวรังสิมา พักเกาะ ผู้อำนวยการฝ่ายอำนวยการคณะกรรมการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ซึ่งขณะเกิดเหตุอยู่ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน เบิกความว่า การประกวดราคาจัดหาผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ เริ่มจากนโยบายของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) กำหนดเงื่อนไขหลักเกณฑ์ จากนั้นจึงมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาคัดเลือก โดยให้ผู้ผลิตเอกชนส่งข้อมูลเบื้องต้น คือ ข้อมูลเทคนิค สถานที่ตั้งโรงไฟฟ้า และอัตราค่าไฟฟ้า หลังอนุกรรมการออกประกาศเรื่องการประกวดราคา มีบริษัทที่มาซื้อซองประมูล 50 ราย แต่มีผู้มายื่นซอง 20 ราย เมื่ออนุกรรมการพิจารณาด้านเทคนิคมีบริษัทที่ผ่านการพิจารณา 17 ราย และมีผู้ชนะผ่านการประมูล 4 ราย โดยบริษัทโจทก์เป็น 1 ใน 4 ทั้งนี้ตามเอกสารที่ตรวจสอบไม่มีการร้องเรียนว่ากระบวนการไม่ชอบ
 
เรื่องสถานที่ตั้งโรงไฟฟ้า จำไม่ได้ว่าในการเตรียมเอกสารสถานที่ตั้งต้องได้รับความยินยอมจากประชาชนในพื้นที่หรือไม่ แต่ในส่วนเงื่อนไขด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อมมีสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมดูแลอยู่ นอกจากนั้นผู้ยื่นซองประมูลจะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ยื่นต่อสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (ผส.) และ อีไอเอของบริษัทที่ชนะการประมูลจะต้องได้รับความเห็นชอบจาก สผ.ก่อนจึงจะมีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟ อย่างไรก็ตามในภายหลังมีการเปลี่ยนเงื่อนไขโดยความเห็นชอบของ กพช. ให้ กฟผ.รับไปลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ก่อนที่อีไอเอจะแล้วเสร็จ ซึ่งจำไม่ได้ว่าเหตุผลของการเปลี่ยนเงื่อนไขนั้นเป็นเพราะบริษัทโจทก์ยื่นข้อขัดข้องไม่สามารถทำอีไอเอได้ตามเวลากำหนดเวลาหรือไม่ และไม่ทราบว่าบริษัทโจทก์มีการผ่อนผันอีไอเอกี่ครั้ง
 
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 28 มิ.ย.53 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้เห็นชอบให้โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ บางคล้า กำลังผลิต 1,600 เมกะวัตต์ ของบริษัท สยามเอ็นเนอร์จี จำกัด ย้ายพื้นที่การก่อสร้างจาก อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา ไปยังนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา
 
นอกจากคดีอาญา บริษัท สยามเอ็นเนอร์จี จำกัด ยังได้ฟ้องคดีแพ่ง คดีหมายเลขดำ 5508/2552 กับนางสาววัชรีจากเหตุการณ์เดียวกันนี้ เรียกร้องค่าเสียหายกว่า 300 ล้านบาท โดยขณะนี้คดีแพ่งศาลสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราว รอจนกว่าการพิจารณาคดีอาญาแล้วเสร็จ
 
ด้านนางสาววัชรี กล่าวว่า ที่ผ่านมาเธอเป็นที่ปรึกษาทางวิชาการให้กับชาวบ้านที่ต่อสู้กับโครงการพลังงานในส่วนข้อมูลด้านพลังงาน และสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งส่วนตัวไม่ใช่แกนนำในการคัดค้านโครงการต่างๆ เพราะกระบวนการของชาวบ้านเกิดขึ้นก่อนและมีการติดต่อประสานงานเพื่อขอข้อมูลและให้ความช่วยเหลือประสานงานกับสื่อมวลชน ซึ่งคำถามหลักๆ ที่ชาวบ้านมีคือเมื่อเขาไม่ต้องการให้โครงการเข้ามาก่อสร้างในพื้นที่และได้มีการรวมตัวกันคัดค้านแล้วจะมีหน่วยงานไหนที่จะรับเรื่องร้องเรียนของพวกชาวบ้านได้ และมีตัวอย่างพื้นที่ผลกระทบอื่นๆ บ้างหรือไม่
 
ทั้งนี้ นางสาววัชรี เป็นนักเคลื่อนไหวที่ทำงานช่วยเหลือชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ และเป็นที่ปรึกษาสมัชชาคนจน นอกจากนั้นยังเป็นที่ปรึกษาด้านวิชาการให้ชาวบ้านที่คัดค้านโครงการด้านพลังงานทั้งกรณีเขื่อนปากมูล โรงไฟฟ้าบ้านกรูด-บ่อนอก จ.ประจวบคีรีขันธ์ โรงไฟฟ้าที่หนองแซงและโรงไฟฟ้าแก่งคอย 2 จะทั้งล่าสุดเมื่อปี 2553 มูลนิธิโกมลคีมทองได้มอบรางวัลบุคคลเกียรติยศให้แก่นางสาววัชรี ในฐานะผู้อุทิศตนต่อสู้เรียกร้องสิทธิเพื่อคนชั้นล่าง และเพื่อธรรมชาติ 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net