Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เมื่อวันที่ 30 สิงหาคมที่ผ่านมาวิกิลีกส์ได้เปิดเผยบทสนทนาระหว่างนายลีกวนยูอดีตนายกฯสิงคโปร์และเอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำประเทศสิงคโปร์และเอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำประเทศไทย [1] บทสนทนานี้เกิดขึ้นเมื่อ 2 เดือนหลังรัฐประหารกันยายน 2549 นายลีกวนยูแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองไทยและอนาคตของไทย เขาพาดพิงถึงนโยบายเศรษฐกิจไทยว่า “ไทยได้ปฏิรูปเศรษฐกิจในระบบตลาดมากพอที่ไทยจะไม่ถอยกลับไปสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียงแล้ว” (Lee observed that Thailand had instituted enough market economy reforms that it would not return to a “sufficiency” economy.) ดิฉันเห็นด้วยกับความคิดเห็นดังกล่าวและคิดว่าชนชั้นนำไทยที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจน่าจะเห็นด้วย(อย่างเงียบๆ) ไม่ว่าจะเป็นนักธุรกิจ หอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรม สมาคมธนาคารไทย และข้าราชการหรือพนักงานระดับสูงในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ อาทิ แบงค์ชาติ คณะกรรมการกำกับตลาดหลักทรัพย์ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กรมส่งเสริมการส่งออก กรมศุลกากร กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงพลังงาน ถ้าผู้อ่านไม่เห็นด้วยกับนายลีกวนยู ดิฉันขอเสนอให้ระลึกถึงความเสียหายจากการทดลองปิดสนามบินโดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในเดือนพฤศจิกายน 2551 เป็นเวลา 1 สัปดาห์ การปิดสนามบินครั้งนั้นได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเศรษฐกิจไทยอาศัยตลาดโลก ทำไมชนชั้นนำที่สนับสนุนรัฐประหารจึงนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประชาสัมพันธ์เป็นยุทธศาสตร์การพัฒนา? ดิฉันคิดว่าเพราะเขาหายุทธศาสตร์การพัฒนาแบบอื่นมาประชาสัมพันธ์ไม่ได้ ชนชั้นนำไทยไม่เคยปฏิเสธทุนนิยมโลกาภิวัฒน์มาตั้งแต่เซ็นสนธิสัญญาเบาวริงในปีพศ. 2398 หลังเซ็นสัญญา นอกจากข้าวแล้วไม้สักและแร่ดีบุกเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญ ปัญหาน้ำท่วมในปัจจุบันมาจากการตัดไม้ทำลายป่ามาตั้งแต่150 ปีที่แล้ว บริษัทต่างชาติเข้ามาเปิดกิจการในสยาม ไม่ว่าจะเป็นกิจการตัดไม้สัก ขุดเจาะแร่ธาตุ และธนาคาร ธนาคารแห่งแรกในสยามไม่ใช่ธนาคารของคนไทยแต่เป็นธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้งคอร์ปอเรชั่นของคนอังกฤษ ธนาคารสยามกัมมาจลหรือธนาคารไทยพาณิชย์เกิดจากการร่วมทุนระหว่างราชสำนักและนักธุรกิจชาวเยอรมันและชาวเดนมาร์ก ผู้บริหารธนาคารสยามกัมมาจลคือคนเยอรมันและคนอังกฤษจนถึงยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 [2] หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ไทยก้าวเข้าสู่โลกาภิวัฒน์มากขึ้นพร้อมๆกับประเทศอุตสาหกรรม บรรษัทข้ามชาติอเมริกันเริ่มร่วมทุนกับชนชั้นนำไทยตั้งแต่ยุคสงครามเกาหลี ตามด้วยบรรษัทข้ามชาติญี่ปุ่นในยุคสงครามเวียดนาม ต่อมาก็เปิดให้ทุนต่างชาติลงทุนในบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ตลาดเงินและตลาดอสังหาริมทรัพย์มาจนถึงปัจจุบัน อิทธิพลของโลกาภิวัฒน์ครอบคลุมไปถึงด้านวัฒนธรรมและการศึกษา ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรีบิดาแห่งศิลปะไทยร่วมสมัยและผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นชาวอิตาลี โรงเรียนที่เก่าแก่ที่สุดในไทยคือโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนซึ่งก่อตั้งโดยมิชชันนารีและเป็นโรงเรียนที่ชนชั้นนำนิยมส่งลูกเรียนมาจนถึงปัจจุบัน โรงเรียนอัสสัมชัญที่นักธุรกิจนิยมส่งลูกเข้าเรียนก็ก่อตั้งโดยมิชชันนารีเหมือนกัน ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจในภาคเหนือและภาคตะวันออกก็มีโรงเรียนมิชชันนารีไว้ช่วยสร้างทายาทชนชั้นนำ ความนิยมโรงเรียนมิชชันนารีในหมู่คนชั้นนำวิวัฒนาการมาเป็นความนิยมโรงเรียนนานาชาติและโรงเรียนประจำต่างประเทศ การคลอดลูกในประเทศทุนนิยมตะวันตกเพื่อให้ลูกมีสัญชาติตะวันตกกลายเป็นวัฒนธรรมของชนชั้นนำที่ชนชั้นกลางอยากเลียนแบบ ปริญญาจากต่างประเทศและทักษะภาษาต่างชาติโดยเฉพาะภาษาตะวันตกสำคัญต่อสถานะทางสังคม แม้แต่การเผยแพร่อุดมการณ์ชาตินิยมก็อาศัยกระบวนการจากประเทศ อาทิ การเผยแพร่วรรณกรรมชาตินิยมโรแมนติกเรื่องทวิภพและสี่แผ่นดินในรูปแบบมิวสิคัล ถ้าเผยแพร่ในรูปแบบลิเกคงจะขายไม่ออก การผลิตภาพยนตร์ชาตินิยมก็ต้องอาศัยกล้องจากต่างประเทศ สิ่งที่เรียกว่าวัฒนธรรมไทยโดนผูกติดกับเทคโนโลยีต่างชาติ ชัดเจนว่าชนชั้นนำไทยตอบรับโลกาภิวัฒน์อย่างหน้าชื่นตาบาน ทั้งๆที่ชนชั้นนำไทยไม่เคยปฎิเสธทุนนิยมโลกาภิวัฒน์มาเป็นเวลา 150 ปีและไม่มีแนวโน้มจะปฏิเสธในอนาคต แต่ชนชั้นนำที่สนับสนุนรัฐประหารประชาสัมพันธ์ระบบทุนนิยมโลกาภิวัฒน์ไม่ได้ เพราะแนวร่วมที่สำคัญคือกลุ่มเอ็นจีโอที่ต่อต้านทุนนิยมตั้งแต่ยุคสงครามเย็น เขาจะลดพื้นที่ให้เป็นระบบเศรษฐกิจแบบภูมิภาคนิยมหรือเอเชียนิยมก็ไม่ได้ เพราะจีนและญี่ปุ่นต้องการความร่วมมือจากทั้งกลุ่มอาเซียน จะเป็นอาเซียนนิยมแบบในยุคนายกฯชาติชาย ชุณหะวันก็ติดขัดตรงความสัมพันธ์กับกัมพูชา ความสัมพันธ์ที่ดีกับกัมพูชาจะทำลายอุดมการณ์ชาตินิยมซึ่งช่วยสร้างภาพวีรบุรุษให้กองทัพเพื่อขับเคลื่อนพลังสนับสนุนรัฐประหาร ด้วยเหตุนี้ ชนชั้นนำที่สนับสนุนรัฐประหารจึงประชาสัมพันธ์ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งมีนัยยะด้านชาตินิยมและสอดคล้องกับแนวคิดชุมชนนิยมของเอ็นจีโอควบคู่ไปกับวาทกรรมทุนนิยมสามานย์ ปรัชญาต่างจากเศรษฐศาสตร์อย่างไร? ความแตกต่างระหว่างปรัชญาและเศรษฐศาสตร์อยู่ที่คณิตศาสตร์ ปรัชญานำเสนอตรรกะแต่ตรรกะจะสมเหตุสมผลหรือไม่ก็พิสูจน์ไม่ได้ถ้าไม่ใช้คณิตศาสตร์ หัวใจของการจัดสรรทรัพยากรตามกระบวนการเศรษฐศาสตร์คือ Constrained optimization หรือการหาประโยชน์สูงสุดแบบมีข้อจำกัด เศรษฐศาสตร์ไม่สอนให้บริโภคแบบไม่บันยะบันยัง ข้อจำกัดพื้นฐานคืองบประมาณและเวลา ดังนั้นเศรษฐศาสตร์ร่วมสมัยไม่ใช่ลัทธิบริโภคนิยม ใครอยากบริโภคมากก็ต้องทำงานมาก ใครอยากบริโภคน้อยก็ทำงานน้อย ใครมีความสุขแบบไหนก็เลือกเอาเองตามใจชอบ รัฐอยากจัดสรรทรัพยากรอย่างไรก็ใช้ระบบภาษีเพื่อจูงใจหรือลงโทษได้ คณิตศาสตร์ทำให้นโยบายสาธารณะจับต้องได้และประเมินได้ ที่สำคัญคณิตศาสตร์คือภาษาสากลที่ทำให้คนนอกอาชีพเศรษฐศาสตร์ร่วมประเมินนโยบายด้วยได้ นโยบายสาธารณะหลายอย่างต้องอาศัยวิชาชีพอื่นนอกเหนือจากเศรษฐศาสตร์ เพราะเศรษฐศาสตร์เป็นศาสตร์ด้านการตัดสินใจจัดสรรทรัพยากร ในระดับบุคคลคือการตัดสินใจบริโภคและแบ่งเวลาทำงาน ในระดับบริษัทคือการตัดสินใจผลิตและใช้ปัจจัยการผลิต ในระดับประเทศคือการตัดสินใจจัดสรรปัจจัยการผลิตและผลผลิต ถ้าไม่ใช้คณิตศาสตร์ก็ยากที่จะให้วิศวกร สถาปนิก นักวิทยาศาสตร์ และแพทย์เข้ามาร่วมวางแผนนโยบายร่วมกับนักเศรษฐศาสตร์ การก้าวพ้นปรัชญาจึงเป็นคุณสมบัติสำคัญของการนำเสนอนโยบายสาธารณะ ดิฉันไม่ปฏิเสธคุณค่าของปรัชญา แม้ปรัชญาไม่สามารถจัดสรรทรัพยากรได้ปรัชญาก็มีคุณค่าทางวรรณกรรม การผสมผสานระหว่างปรัชญาและวรรณกรรมมีคุณค่าทางด้านบันเทิงซึ่งสามารถแปรรูปเชิงพาณิชย์ได้ในมูลค่ามหาศาล แต่การแปรรูปวรรณกรรมเชิงพาณิชย์ก็ยังต้องอาศัยยุทธศาสตร์ด้านการตลาดซึ่งปรัชญานำเสนอไม่ได้ คณิตศาสตร์คือกุญแจสู่ความโปร่งใส ความสำคัญของคณิตศาสตร์ไม่จำกัดแค่ด้านเศรษฐกิจแต่ครอบคลุมไปถึงด้านภัยธรรมชาติ กฎหมายและการเมือง จะป้องกันน้ำท่วมกันอย่างไรก็ต้องอาศัยวิศวกรชลประทานช่วยคำนวณต้องอาศัยสถาปนิกช่วยออกแบบผังเมือง ศาลจะสั่งปรับเท่าไรจะยึดทรัพย์เท่าไรจะจำคุกกี่ปีจำเป็นต้องใช้ตัวเลข จะถกเถียงกันว่าอย่างไรถึงยุติธรรมก็ต้องอ้างอิงตัวเลขต้องใช้คณิตศาสตร์มาคำนวณ อยากรู้ว่าใครคอรัปชันกว่าใครก็ต้องอ้างอิงตัวเลข ตัวเลขจะทำให้เกิดความโปร่งใสซึ่งจะนำไปสู่การแก้ปัญหาคอรัปชัน เศรษฐกิจและสังคมไทยกินอยู่กะทุนนิยมโลกาภิวัฒน์มา 150 ปี มาไกลเกินกว่าจะย้อนกลับไปพายเรือ นั่งเกวียน กินยาหม้อ หรือส่งลูกเรียนโรงเรียนวัด การปกปิดความจริงเกี่ยวกับผลประโยชน์ที่ชนชั้นนำไทยได้รับจากโลกาภิวัฒน์ทำให้เสียเวลาพัฒนาประเทศ เวลา 50 ปีที่ผ่านมาเกาหลีใต้และสิงคโปร์อาศัยโลกาภิวัฒน์จนติดอันดับโลกในหลายด้าน คนสิงคโปร์และคนเกาหลีใต้เดินทางทั่วโลกได้โดยไม่ต้องขอวีซาแบบคนไทย แม้คนสิงคโปร์จะไม่มีเสรีภาพทางการเมืองเท่าคนเกาหลีใต้ แต่คนสิงคโปร์ก็มีความเท่าเทียมทางการเมือง คือไม่เสรีเท่ากันยกเว้นครอบครัวนายลีกวนยูซึ่งชดเชยให้คนสิงคโปร์ด้วยเสรีภาพทางเศรษฐกิจ แม้สิงคโปร์พื้นที่เล็กมากคนสิงคโปร์สามารถบินไปเที่ยวไปหาความสุขในประเทศอื่นรวมทั้งประเทศไทย ไทยจะอยู่กับโลกาภิวัฒน์อย่างไรเพื่อให้ประโยชน์กระจายสู่ประชากรส่วนใหญ่ก็ขึ้นอยู่กับยุทธศาสตร์การพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นยุทธศาสตร์อะไรยุทธศาสตร์ที่สร้างสรรค์ต้องก้าวพ้นปรัชญาและนำเสนอตัวเลขด้วยตรรกะทางคณิตศาสตร์ที่ประเมินผลได้ จะเสนอโลกานิยม เอเชียนิยม อาเซียนนิยม หรือชุมชนนิยม ก็ต้องเอาตัวเลขมาประกวดแข่งกันให้ชัดเจนด้วยตรรกะทางคณิตศาสตร์ การนำเสนอด้วยปรัชญามีอรรถรสด้านวรรณกรรมแต่นำไปประเมินไม่ได้ ถ้าไม่ยอมเสนอตัวเลขให้ชัดเจนและหยุดที่จริยธรรมนิยมซึ่งมีสาระว่าเสนอให้นักบุญอวตารมาพัฒนาประเทศให้ วันที่ประชากรส่วนใหญ่จะได้ลืมตาอ้าปากก็คงเป็นชาติหน้าที่มาไม่ถึง หมายเหตุ ผู้อ่านที่สนใจสามารถใช้กูเกิลหาสคริปต์บทสนทนาจากวิกิลีกส์ได้ British Business in Asia since 1860, edited by R.P.T. Davenport-Hines and Geoffrey Jones, 1989: Cambridge University Press

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net