เตือนพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม กทม. 13 เขต นายกแถลงเร่งระบายน้ำลงทะเล

สำนักการระบายน้ำเตือนพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม กทม. 13 เขต นายกออกทีวีแถลงเร่งระบายน้ำลงทะเล ออกราชกิจจานุเบกษากระชับอำนาจออกระเบียบสำนักนายกว่าด้วยการบริหารจัดการแก้ปัญหาอุทกภัยดินโคลนถล่ม ด้านเทศบาลปากเกร็ด ประกาศหากไม่สามารถรับมือน้ำท่วมได้ จะจุดพลุสี 5 ครั้ง ให้ ปชช. ในพื้นที่เตรียมอพยพ คมนาคมสั่งปิดถนนสายเอเชียกว่า 10 กิโลเมตร เตือนพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม กทม. 13 เขต 7 ต.ค. 54 - สำนักข่าวไทยรายงานว่าข้อมูลจากสำนักการระบายน้ำ ระบุว่านับถึงเวลานี้มีบ้านเรือนของประชาชนมากกว่า 1,200 ครัวเรือน ใน 27 ชุมชน ครอบคลุมพื้นที่ 13 เขต ที่ตั้งอยู่นอกแนวคันกั้นน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อย และคลองมหาสวัสดิ์ สุ่มเสี่ยงที่จะจมบาดาล โดยได้แบ่งพื้นที่อันตรายออกเป็น 6 กลุ่มด้วยกัน คือ กลุ่มวิภาวดี มี 1 เขต คือ เขตบางซื่อ กลุ่มรัตนโกสินทร์ มี 3 เขต เป็นเขตดุสิต เขตพระนคร และเขตสัมพันธวงศ์ กลุ่มเจ้าพระยา มี 3 เขต เป็นเขตบางคอแหลม เขตยานนาวา และเขตคลองเตย กลุ่มกรุงธนบุรี มี 4 เขต คือ เขตบางพลัด เขตบางกอกน้อย เขตธนบุรี และเขตคลองสาน กลุ่มตากสิน มี 1 เขต คือเขตราษฎร์บูรณะ ส่วนกลุ่มมหาสวัสดิ์ มี 1 เขต คือ เขตทวีวัฒนา นอกจาก 13 เขตเสี่ยงริมเจ้าพระยาแล้ว ยังมีจุดเสี่ยงพื้นที่ด้านฝั่งตะวันออกที่อาจได้รับผลกระทบหากน้ำจาก จ.ปทุมธานี ไหลทะลักเข้ามา คือ มีนบุรี หนองจอก ลาดกระบัง คลองสามวาบางส่วนที่ติดคลอง และสายไหมด้านเหนือ ส่วนเทศบาลปากเกร็ดประกาศว่าหากไม่สามารถรับมือน้ำท่วมได้ จะจุดพลุสี 5 ครั้ง ให้ ปชช. ในพื้นที่เตรียมอพยพ นายกรัฐมนตรีแถลงออกทีวีรับสถานการณ์วิกฤติที่สุดสั่งเร่งระบายน้ำลงสู่ทะเลมวลน้ำก้อนใหญ่จะมาถึงหวั่นเขื่อนเจ้าพระยารับไม่ไหว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยอมรับผ่านสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ว่าสถานการณ์น้ำท่วมในขณะนี้ กำลังก้าวสู่ขั้นวิกฤติรุนแรงที่สุดในรอบหลายสิบปี ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ซึ่งเสียชีวิตแล้ว กว่า 250 ราย มี 28 จังหวัด ได้รับผลกระทบ และกำลังจะเข้าสู่กรุงเทพมหานคร โดยภาระเร่งด่วนในเวลานี้ของรัฐบาล จะต้องพยายามเร่งระบายน้ำก้อนแรกลงสู่ทะเลโดยเร็วที่สุด และป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ โดยให้กองทัพเรือ ระดมเรือทั้งหมดที่มี มาใช้ในการดันน้ำ รวมถึงเอกชน และ กทม. ในการระบายน้ำทางอุโมงค์ ก่อนที่มวลน้ำก้อนใหญ่จะมาสมทบอีกในเร็วๆ นี้ แต่เป็นห่วงเรื่องสภาพอากาศที่มีมรสุม และอาจทำให้มีฝนตกซ้ำเติมสถานการณ์อีก ซึ่งจะทำให้การทำงานยากลำบากขึ้น และเป็นห่วงว่า เขื่อนเจ้าพระยา จะรับน้ำไม่ไหว ทั้งนี้นายกรัฐมนตรี กล่าวทิ้งท้ายว่า ได้มีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการรับมือน้ำท่วมที่ดอนเมืองแล้วในการช่วยเร่งแก้ไขปัญหา ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ในเวลานี้จะได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย รวมถึงความตั้งใจจริงและจริงใจของทางรัฐบาล จะแก้ปัญหาได้สำเร็จโดยเร็ว ออกราชกิจจานุเบกษากระชับอำนาจออกระเบียบสำนักนายกว่าด้วยการบริหารจัดการแก้ปัญหาอุทกภัยดินโคลนถล่ม มติชนออนไลน์รายงานว่าเมื่อเวลา ๑๙.๓๐ น.ที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษา ๗ ตุลาคม ๒๕๕๔ ได้เผยแพร่ ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการบริหารจัดการแก้ปัญหาอุทกภัย ดินโคลนถล่มและภัยแล้ง พ.ศ. ๒๕๕๔ ระเบียบดังกล่าว ระบุว่า เพื่อให้มีการบูรณาการการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาอุทกภัย ดินโคลนถล่มและภัยแล้ง ให้เป็นไปอย่างมีเอกภาพและเกิดผลสัมฤทธิ์ต่อประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย สมควรให้มีคณะกรรมการบริหารจัดการแก้ปัญหาอุทกภัย ดินโคลนถล่มและภัยแล้ง เป็นกลไกในการดำเนินการดังกล่าว และให้มีสำนักงานคณะกรรมการบริหารจัดการแก้ปัญหาอุทกภัย ดินโคลนถล่มและภัยแล้ง ทำหน้าที่รับผิดชอบงานธุรการของคณะกรรมการบริหารจัดการแก้ปัญหาอุทกภัย ดินโคลนถล่ม และภัยแล้ง ระเบียบฉบับนี้ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๑ (๘) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี จึงออกระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการบริหารจัดการแก้ปัญหาอุทกภัย ดินโคลนถล่มและภัยแล้ง พ.ศ. ๒๕๕๔” ข้อ ๒ ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๓ ในระเบียบนี้ “คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการบริหารจัดการแก้ปัญหาอุทกภัย ดินโคลนถล่มและภัยแล้ง “สำนักงาน” หมายความว่า สำนักงานคณะกรรมการบริหารจัดการแก้ปัญหาอุทกภัย ดินโคลนถล่มและภัยแล้ง “เลขาธิการ” หมายความว่า เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการบริหารจัดการแก้ปัญหาอุทกภัยดินโคลนถล่มและภัยแล้ง ข้อ ๔ ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการบริหารจัดการแก้ปัญหาอุทกภัยดินโคลนถล่มและภัยแล้ง” ประกอบด้วย (๑) นายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นประธานกรรมการ (๒) ผู้ทรงคุณวุฒิที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง เป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการ (๓) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นรองประธานกรรมการ คนที่ ๑ (๔) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นรองประธานกรรมการ คนที่ ๒ (๕) ผู้ทรงคุณวุฒิที่ประธานกรรมการเห็นสมควรแต่งตั้ง เป็นรองประธานกรรมการ คนที่ ๓ (๖) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เป็นกรรมการ (๗) เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นกรรมการ (๘) ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นกรรมการ (๙) ผู้บัญชาการทหารบก เป็นกรรมการ (๑๐) ผู้ทรงคุณวุฒิตามจำนวนที่ประธานกรรมการเห็นสมควรแต่งตั้ง เป็นกรรมการ (๑๑) เลขาธิการ เป็นกรรมการและเลขานุการ (๑๒) ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย อธิบดีกรมชลประทาน และอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการกรรมการตาม (๕) และ (๑๐) มีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสองปี องค์ประชุมและการประชุมของคณะกรรมการให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ข้อ ๕ ให้มีคณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้ (๑) จัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาอุทกภัย ดินโคลนถล่มและภัยแล้ง (๒) จัดทำข้อสั่งการให้นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีแล้วแต่กรณี ในการบูรณาการระบบการแจ้งเตือนภัย ระบบป้องกันภัย ระบบระบายน้ำ และระบบจัดการน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยดินโคลนถล่มและภัยแล้งอย่างเป็นระบบและเป็นเอกภาพ ตามหลักการเตรียมพร้อม การตอบสนองต่อปัญหาการฟื้นฟูและการป้องกัน (๓) กำหนดแนวทางและมาตรการในการพัฒนาระบบการแจ้งเตือนภัย ระบบป้องกันภัยระบบระบายน้ำและระบบจัดการน้ำ รวมถึงการบูรณาการระบบน้ำในประเทศทั้ง ๒๕ ลุ่มน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัย ดินโคลนถล่มและภัยแล้ง อย่างเป็นระบบ มีประสิทธิภาพสูง และนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม โดยน้อมนำแนวพระราชดำริที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการนำมาเป็นแนวทางและกำหนดมาตรการ (๔) บูรณาการแผนงานและงบประมาณรายจ่ายด้านการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาอุทกภัยดินโคลนถล่มและภัยแล้งของส่วนราชการ หน่วยงานอื่นของรัฐ และคณะกรรมการอื่นที่เกี่ยวข้อง (๕) ติดตามประเมินผล และเร่งรัดการดำเนินงานของส่วนราชการ หน่วยงานอื่นของรัฐและคณะกรรมการอื่นที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาอุทกภัย ดินโคลนถล่มและภัยแล้ง (๖) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงานเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่าง ๆ ตามที่มอบหมาย (๗) ปฏิบัติงานอื่นใดตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย ข้อ ๖ ให้จัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการบริหารจัดการแก้ปัญหาอุทกภัย ดินโคลนถล่มและภัยแล้ง ในสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี และให้มีอำนาจหน้าที่ ดังนี้ (๑) รับผิดชอบในงานธุรการ งานวิชาการ และงานการประชุมของคณะกรรมการ (๒) ศึกษาและจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับแนวทาง มาตรการในการบริหารจัดการ และการพัฒนาระบบการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาอุทกภัย ดินโคลนถล่มและภัยแล้งให้มีเอกภาพและประสิทธิภาพ (๓) ประสานการปฏิบัติตามแนวทาง มาตรการ แผนงานและงบประมาณรายจ่ายกับส่วนราชการและหน่วยงานอื่นของรัฐที่เกี่ยวข้อง (๔) ยืมตัวบุคคล วัสดุ อุปกรณ์ ครุภัณฑ์ รวมทั้งการขอใช้อสังหาริมทรัพย์ของราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชนและหน่วยงานอื่นของรัฐ เพื่อช่วยการปฏิบัติงานของสำนักงานได้ตามความจำเป็น (๕) ปฏิบัติงานอื่นใดตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการ ข้อ ๗ ให้นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ เป็นเลขาธิการ บังคับบัญชาเจ้าหน้าที่และลูกจ้างของสำนักงาน และรับผิดชอบในการปฏิบัติงานของสำนักงาน ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี ข้อ ๘ ภายใต้บังคับแห่งกฎหมาย เพื่อประโยชน์ในการบริหารงานของสำนักงานตามระเบียบนี้ นายกรัฐมนตรีอาจมีคำสั่งให้ข้าราชการ พนักงานราชการหรือลูกจ้างของส่วนราชการอื่นหรือสำนักงานอาจขอให้คณะรัฐมนตรีมีมติให้พนักงานหรือลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานของรัฐไปช่วยปฏิบัติงานในสำนักงานได้ โดยถือว่าเป็นการปฏิบัติราชการหรือปฏิบัติงานตามปกติ โดยจะให้ไปช่วยปฏิบัติงานเต็มเวลา บางเวลาหรือนอกเวลา หรือตามที่มอบหมายก็ได้ ข้อ ๙ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีอาจว่าจ้างนิติบุคคลหรือจ้างผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ความสามารถ มาช่วยงานได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม เพื่อดำเนินการตามระเบียบนี้ ข้อ ๑๐ ค่าใช้จ่ายสำหรับค่าตอบแทนของคณะกรรมการ รวมทั้งค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของสำนักงาน ให้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ข้อ ๑๑ เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติงานของคณะกรรมการตามระเบียบนี้ ให้ถือเป็นหน้าที่ของส่วนราชการและหน่วยงานอื่นของรัฐที่ต้องให้ความร่วมมือและสนับสนุนการปฏิบัติงานของคณะกรรมการ ข้อ ๑๒ ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามระเบียบนี้ ประกาศ ณ วันที่ ๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ใช้กองดับเพลิงสนามบินดอนเมืองตั้งศูนย์แพทย์ฉุกเฉินส่งต่อผู้ป่วยน้ำท่วม ท่าอากาศยานดอนเมือง 7 ต.ค.- นพ.ชาตรี เจริญชีวะกุล เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวหลังประชุมศูนย์บูรณาการดอนเมืองเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา ครั้งแรก โดยมีกรมชลประทาน กรุงเทพมหานคร (กทม.) อาสาสมัครกู้ภัยฉุกเฉิน และ สพฉ.เข้าร่วมประชุม วางแผนแนวทางการส่งต่อผู้ป่วยกรณีฉุกเฉินจากเหตุอุทกภัยน้ำท่วม น้ำหลากในพื้นที่ปริมณฑล ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา โดยใช้สถานที่ของฝ่ายดับเพลิง กองดับเพลิง ท่าอากาศยานดอนเมือง เป็นศูนย์กลาง ระดมรถพยาบาล รถฉุกเฉิน เรือ เฮลิคอปเตอร์ ให้การช่วยเหลือรับส่งต่อผู้ป่วย เบื้องต้นจะมีรถพยาบาลฉุกเฉิน ประจำศูนย์อย่างน้อย 20 คัน เฮลิคอปเตอร์ฉุกเฉิน 2 ลำ จากนั้นเมื่อทำหน้าที่รับส่งต่อผู้ป่วยแล้ว ก็จะมีการวางแผนถึงการส่งต่อรับการรักษาในแต่ละโรงพยาบาล โดยคำนึงถึงความเหมาะสมของอายุ วัย และโรค ส่วนสาเหตุที่เลือกพื้นที่ดอนเมืองเป็นศูนย์ฯ เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวอยู่สูงกว่าน้ำทะเลถึง 3 เมตร อีกทั้งมีเส้นทาง คมนาคมสะดวก ทั้งทางบก และทางอากาศ นอกจากนี้ ศูนย์ฯ ดังกล่าวมีหน้าที่ลำเลียงเครื่องอุปโภคบริโภคให้เข้าถึงในพื้นที่ยากลำบาก ซึ่งถือว่าเป็นความต้องการพื้นฐานของผู้ประสบภัยใน 24-72 ชั่วโมงแรก ศูนย์ฯ ดังกล่าวมีอายุอย่างน้อย 1 เดือน หรือจนกว่าจะสู่สถานการณ์ปกติ รพ.พระนครศรีอยุธยา เริ่มทยอยย้ายผู้ป่วยหนักเข้า กทม. 9 ราย 7 ต.ค.- โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา เริ่มทยอยย้ายผู้ป่วยหนักที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ จำนวน 9 ราย เข้ารักษาที่กรุงเทพฯโดยส่งผู้ป่วยเด็ก 4 ราย ที่โรงพยาบาลเด็ก และผู้ใหญ่ 5 ราย ส่งโรงพยาบาลกรุงเทพ และโรงพยาบาลราชวิถี ยังเหลือผู้ป่วยนอนรักษาทั้งหมด 530 ราย ในจำนวนนี้อาการหนัก 56 ราย เย็นวันนี้ นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย ผู้ตรวจราชการกะทรวงสาธารณสุข เดินทางไปจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยตรวจเยี่ยมการจัดบริการการแพทย์ที่จุดอพยพผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่บริเวณตรงข้ามศาลากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และติดตามการจัดระบบริการทางการแพทย์ของโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา นายวิทยา กล่าวว่า ที่จุดอพยพผู้ประสบภัยที่จุดตรงข้ามศาลากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ขณะนี้มีประชาชนมาจาก อ.บางปะหัน มหาราช และพื้นที่ใน อ.พระนครศรีอยุธยา เข้ามาพักอาศัยประมาณ 300 คน กระทรวงสาธารณสุขได้จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่จากโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยามาให้บริการ 1 ทีม และได้รับความร่วมมือจากโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ ส่งหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ร่วมให้บริการ 1 ทีม มีผู้เจ็บป่วย 75 ราย ส่วนใหญ่เป็นไข้หวัด ปวดเมื่อยจากการขนของหนีน้ำ ในวันพรุ่งนี้กระทรวงสาธารณสุขจะเปิดโรงพยาบาลสนามขนาด10-20 เตียง 1 แห่งให้บริการประจำในจุดอพยพตลอด 24 ชั่วโมง สำหรับสถานการณ์น้ำในพื้นที่เกาะเมือง แนวโน้มยังไม่น่าไว้วางใจ โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นโรงพยาบาลศูนย์ขนาด 522 เตียง อาจจะกั้นน้ำไม่อยู่ ในวันนี้ได้ตัดสินใจทยอยย้ายผู้ป่วยหนักและต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ซึ่งขณะนี้มีนอนรักษาทั้งหมด 65 ราย โดยเริ่มย้ายจำนวน 9 รายในช่วงเย็น ประกอบด้วยผู้ป่วยเด็ก 4 รายไปที่สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี หรือโรงพยาบาลเด็ก และผู้ใหญ่ 5 รายไปที่โรงพยาบาลกรุงเทพ 1 ราย และที่โรงพยาบาลราชวิถี 4 ราย คงเหลือผู้ป่วยหนัก 56 ราย และมีผู้ป่วยที่ไม่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจนอนรักษาจำนวน 530 ราย นายวิทยา กล่าวต่อว่า หากสถานการณ์น้ำท่วมรุนแรงขึ้นไปอีก ได้วางแผนบริการทางการแพทย์ โดยจะส่งแพทย์เชี่ยวชาญและเครื่องมือแพทย์ ไปตั้งจุดให้การรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลชุมชน 2 แห่งที่มีศักยภาพ ซึ่งน้ำไม่ท่วม คือที่โรงพยาบาลบางปะอิน และโรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราช นครหลวง สามารถทำการผ่าตัดและให้บริการอื่น ๆ ได้ เช่นเดียวกับโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา และกระจายไปโรงพยาบาลอื่น ๆ ด้วย แต่จะต้องประเมินสถานการณ์น้ำก่อน คมนาคมสั่งปิดถนนสายเอเชียกว่า 10 กิโลเมตร พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะกำกับดูแลฝ่ายอำนวยการร่วมศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) เปิดเผยว่า บริเวณถนนสายเอเชีย เส้นทางหลักที่จะมุ่งหน้าสู่ภาคเหนือ มีปริมาณน้ำท่วมสูงกว่า 70 เซนติเมตร ในระยะทาง 10 กิโลเมตร ทางกระทรวงคมนาคม จึงประกาศปิดการจราจร และให้ใช้เส้น ทางหลวงหมายเลข 1 พหลโยธิน และทางหลวงหมายเลข 340 บางบัวทอง - สุพรรรณบุรี เพื่อเดินทางแทน ซึ่งในขณะนี้ พบว่าถนนหมายเลข 340 เริ่มมีปริมาณน้ำไหลเข้าท่วมบริเวณริมถนนบ้างแล้ว ซึ่งได้สั่งการให้เฝ้าระวัง และเร่งทำคันดินกั้นน้ำเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำท่วมอย่างเร่งด่วน อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการซ่อมแซมถนนสายเอเชียนั้น ขณะนี้ยังไม่สามารถทำได้ เพราะน้ำยังมีระดับสูงมาก และมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นอีก รวมทั้งวัตถุดิบที่จะนำมาซ่อมถนน โดยเฉพาะทรายและหินนั้นหาซื้อได้ยาก จึงจำเป็นต้องชะลอการซ่อมถนนในจุดดังกล่าว และยอมให้น้ำท่วมถนนต่อไปก่อน กทม.ยกเลิกพิธีกรรม \ไล่น้ำ\" แก้ต่างความเชื่อโลกออนไลน์ 7 ต.ค. - จากการที่กรุงเทพมหานครได้ออกหนังสือขอเชิญผู้อำนวยการสำนักและหัวหน้าสำนักงานคณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น (ก.ถ.) ร่วมพิธีไล่น้ำ ความว่า \"ด้วยกรุงเทพมหานครได้กำหนดจัดพิธีไล่น้ำ ในวันเสาร์ที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๕๔ เวลา ๑๔.๓๙ น. ณ ศาลหลักเมือง เพื่อวิงวอนร้องขอพระแม่คงคาช่วยบันดาลให้น้ำท่วมในกรุงเทพมหานครลดลงอย่างรวดเร็ว\" นั้น แหล่งข่าวจาก กทม. แจ้งว่า ทางกทม.ได้ส่งข้อความมายังมือถือเจ้าพนักงานถึงกิจกรรมดังกล่าว ว่ามีการยกเลิกไป แต่จากการตรวจสอบพบว่า ยังมีพิธีกรรมนี้อยู่จริง และทำเป็นการภายใน อย่างไรก็ตาม ข้อความที่ถูกส่งไปยังเจ้าพนักงานว่ามีการยกเลิกนั้น เชื่อว่ามีกระแสที่เป็นที่ฮือฮาถึงพิธีกรรมดังกล่าวในโลกออนไลน์ และส่วนหนึ่งไม่มีผู้ใหญ่มาร่วมงาน เนื่องจากติดภารกิจในการป้องกันน้ำท่วม ที่มาข่าวเรียบเรียงจาก: สำนักข่าวไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท