เอ็นจีโอสรุปเวทียูเอ็น รัฐไทยปัดตกประเด็นร้อน รับ 100 ข้อจาก 172

10 ต.ค.54 ที่อาคารศศนิเวศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 7 องค์กรภาคประชาชนจัดเวที ‘บทสรุปการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนไทยในเวทีสหประชาชาติ : ประสบการณ์จากเจนีวา’ หลังจากเมื่อวันที่ 5 ต.ค.ที่ผ่านมา ที่กรุงเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ สภาสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ได้จัดเวทีการรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน (Universal Periodic Review – UPR) ของประเทศไทย โดยมีนายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา เป็นตัวแทนจากรัฐบาลไทยรายงานสถานการณ์ต่อสหประชาชาติและตัวแทนจากรัฐบาลต่างๆ โดยมี 52 ประเทศที่ร่วมซักถามและเสนอแนะในหลายประเด็น อกนิษฐ์ หอรัตนคุณ เจ้าหน้าที่โครงการรณรงค์สหประชาชาติ มูลนิธิศักยภาพชุมชน กล่าวสรุปว่า ในกระบวนการ UPR เมื่อวันที่ 5 ต.ค. ที่เจนีวา มีข้อเสนอแนะจากนานาชาติ 172 ข้อ ซึ่งไทยตอบรับ 100 ข้อ และขอเลื่อนกำหนด 72 ข้อ ซึ่งจะมีกระบวนการเช่นนี้เป็นครั้งสุดท้ายในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า โดยประเด็นที่ไทยไม่ยอมรับเป็นประเด็นหนักที่ได้รับความสนใจอย่างสูงจากชาติต่างๆ เช่น ปัญหาของกฎหมายความมั่นคง, กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ, กฎหมายความผิดทางคอมพิวเตอร์, โทษประหารชีวิต, อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติและครอบครัว, ธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ อังคณา นีละไพจิตร ประธานมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ กล่าวว่า ภาคประชาสังคมได้จัดเวทีคู่ขนานที่เจนีวาเมื่อวันที่ 3 ต.ค. โดยได้รับความสนใจจากสถานทูตในแต่ละประเทศมาก และค่อนข้างประสบความสำเร็จเพราะหลายประเทศหยิบยกข้อห่วงใยของภาคประชาสังคมไปพูดในเวที ถือว่าประเทศไทยเป็นที่สนใจของนานาชาติมาก มีเกือบ 70 ประเทศต้องการพูด แต่ได้พูดเพียง 52 ประเทศเพราะเวลาจำกัด ส่วนประเทศในอาเซียนนั้นเป็นที่น่าผิดหวังเพราะค่อนข้างสงวนท่าที ไม่วิจารณ์กัน แต่ที่น่าสนใจคือมีประเทศมุสลิม 5 ประเทศที่พูดถึงความรุนแรงต่อผู้หญิงทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยหยิบยกเรื่องนี้ อังคณากล่าวว่า การจัดการประชุมนี้มีลักษณะเป็นการสนทนาอย่างเป็นมิตร ระหว่างรัฐไทยและภาคประชาสังคม ผ่านตัวกลางจากประเทศต่างๆ ซึ่งน่าจะส่งผลอยู่พอสมควร เช่น เมื่อวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา มีการยุบศูนย์สมานฉันท์ ซึ่งเป็นศูนย์สอบสวนผู้ต้องสงสัยในค่ายอิงคยุทธที่ได้รับร้องเรียนว่ามีการซ้อมทรมาน และเมื่อวันที่ 4 ต.ค.คณะรัฐมนตรีก็เพิ่งมีมติให้ลงนามในอนุสัญญาการต่อต้านการบังคับให้สูญหาย ส่วนเรื่องกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือมาตรา 112 หลายประเทศแสดงความห่วงใย โดยเฉพาะนอร์เวย์ซึ่งเป็นประเทศที่มีสถาบันกษัตริย์เช่นกันถึงกับเสนอว่าให้มีการแถลงเรื่องนี้อย่างกว้างขวาง ในขณะที่คณะผู้แทนไทย มองว่าตัวกฎหมายไม่เป็นปัญหาแต่เป็นปัญหาเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย ซึ่งภาคประชาสังคมจะมีการหารือกับรัฐอีกครั้งตามกำหนดที่วางไว้คือ 25-26 ต.ค.นี้ ที่กระทรวงการต่างประเทศ โดยจะมีการตั้งคำถามถึงเรื่องนี้ว่าด้วยจะมีการดำเนินอย่างไร รวมถึงเรื่องอื่นๆ ที่ยังค้างอยู่ด้วย ส่วนเรื่องของการเชิญผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติ (Special Rapporteur) เข้าประเทศไทย แม้หัวหน้าคณะผู้แทนไทยจะกล่าวในเวทีว่ายินดีต้อนรับผู้รายงานพิเศษทุกประเด็น แต่เมื่อผู้แทนไทยได้คุยกับภาคประชาสังคมดูแนวโน้มว่าจะทางไทยจะเชิญผู้รายงานพิเศษในแค่บางประเด็น เช่น ด้านสิ่งแวดล้อม น้ำ แต่ไม่ได้สนใจผู้รายงานพิเศษในเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เรื่องการบังคับสูญหาย นอกจากนี้ยังย้ำให้ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติต้องทำงานกับรัฐบาลก่อนจะไปหาข้อมูลจากภาคส่วนอื่น ซึ่งเป็นทัศนคติของเจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐที่ควรปรับปรุงก่อนเป็นอันดับแรก ชลิดา ทาเจริญศักดิ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศักยภาพชุมชนก่อนจะถึงเดือนมีนาคม ซึ่งจะเป็นการทบทวนรายงานครั้งสุดท้าย เราสามารถผลักดันประเด็นที่ไทยยังไม่ยอมรับเข้าไปได้อีก รวมทั้งตรวจสอบ ติดตาม คำมั่นสัญญาที่ไทยรับไว้แล้วว่าจะแปรเป็นรูปธรรมได้แค่ไหน เพียงไร นอกจากนี้นายสีหศักดิ์ยังรับปากว่าจะแปลข้อเสนอแนะทั้งหมดเผยแพร่แก่สาธารณะ รวมทั้งจะมีการปรับปรุงกฎหมายภายในให้สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศมากขึ้น สุธารี วรรณศิริ เจ้าหน้าที่รณรงค์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า ในเวที UPR มีทั้งหมด 8 ประเทศที่พูดให้ไทยยกเลิกโทษประหารชีวิต โดยมีความกังวลว่าไทยยังใช้โทษประหารอยู่ทั้งที่ประกาศไว้ในแผนสิทธิฉบับที่2 ว่าจะยกเลิกโทษดังกล่าวเพื่อให้ตามมาตรฐานสากล แต่สามปีแรกกลับไม่มีการปรับปรุงมาตรฐาน ดำเนินการใดๆ เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงบทบาทของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ชลิดา กล่าวว่า มีตัวแทนจาก กสม. 2 คนที่ไปร่วมประชุม คือ อมรา พงษาพิชญ์ ประธาน กสม. และนายแพทย์แท้จริง ศิริพานิช ซึ่งบทบาทของ กสม.นั้นไม่เป็นที่น่าพอใจ และดูเหมือนจะเป็นเนื้อเดียวกับรัฐมากกว่าจะอยู่กับภาคประชาสังคม ขณะที่สุธารี ระบุว่า ในการประชุมในรอบหน้า เดือน ก.พ.55 ควรจับตาบทบาทของ กสม.ว่ามีอิสระมากน้อยเพียง เพราะในรอบนี้จะเปิดให้ กสม.มีเวลาในการอธิบายรายงานด้านสิทธิมนุษยชนที่จัดทำขึ้นด้วย ส่วนอีกประเด็นที่นานาชาติต่างให้ความสนใจและแสดงความห่วงใยอย่างมากคือกรณีการสลายการชุมนุมเดือนเมษา-พฤษภา2553 ขวัญระวี วังอุดม จากศูนย์ข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบกรณีการสลายการชุมนุม เม.ย.- พ.ค.53 (ศปช.) ซึ่งเดินทางไปร่วมประชุมที่เจนีวาด้วย ให้สัมภาษณ์ทางอีเมล์โดยยกตัวอย่างสาธารณรัฐเชคซึ่งถามว่าการสลายชุมนุมว่าเป็นไปตามหลักสากลหรือไม่ ส่วนสหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ นอร์เวย์ ออสเตรเลีย ภูฐาน และอีกกว่า 20 ประเทศ รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม ลาว มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เน้นย้ำว่าความปรองดองควรตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักนิติธรรมและประชาธิปไตย หลายประเทศให้ความคาดหวังต่อการปฏิรูปคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริง (คอป.) ให้สามารถทำงานได้อย่างอิสระ และมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริงโดยเพิ่มงบประมาณการทำงานและมีอำนาจที่จะเรียกทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล ขวัญระวีให้ความเห็นว่า เป็นเรื่องที่ดีที่รัฐบาลจะเพิ่มงบประมาณการทำงานให้กับ คอป. แต่ยังมีประเด็นที่สำคัญอีกมากที่รัฐและ คอป.ต้องทบทวนอย่างจริงจังไม่ว่าจะเป็นการกำหนดกรอบการทำงาน โดยเน้นเรื่องการแสวงหาข้อเท็จจริงจากการสลายชุมนุมให้ชัดเจน ใช้วิธีการเข้าหาข้อมูลมากกว่าที่จะเป็นเพียงรอให้ผู้เดือดร้อนเข้าหา หรือเรียกได้เพียงผู้ที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการสลายชุมนุมโดยตรงมาให้ข้อมูล ต่อไป คอป.ยังควรต้องกำหนดกรอบเวลาทำรายงานและแจ้งต่อสาธารณะให้รับรู้ความเคลื่อนไหวเป็นระยะๆ เพื่อสร้างความมีส่วนร่วมของประชาชน รวมทั้งการตรวจสอบได้ มิเช่นนั้นการเพิ่มงบประมาณ โดยไม่มีการการันตีผลงานที่เป็นรูปธรรมและมีคุณภาพอาจเป็นเพียงการผลาญงบประมาณ เวลา และดำรงความอยุติธรรมให้คงอยู่ “กรณีการสลายชุมนุมปีที่แล้วยังมีอีกหลายประเด็นที่สังคมต้องการคำตอบ การปฏิรูปคอป.อาจเป็นเพียงคำตอบหนึ่ง แต่กระบวนการสอบสวนข้อเท็จจริงตามกฎหมายโดยเฉพาะการตายก็เป็นเรื่องสำคัญ และปัจจุบันยังไม่มีความชัดเจนระหว่างบทบาทของดีเอสไอและตำรวจ รวมทั้งกรอบเวลาการชันสูตรพลิกศพตามที่กฏหมายกำหนด ”ขวัญระวีกล่าว ประเด็นที่ไทย(ยัง)ไม่รับ ได้แก่ -กฎหมายความมั่นคงพิเศษ -กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มาตรา 112 ตามประมวลกฎหมายอาญา -พ.ร.บ.ว่าด้ายการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2250 -โทษประหารชีวิต -การกักขังจำคุก -อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติและครอบครัว -ธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ ข้อเสนอแนะที่ไทยยอมรับ ได้แก่ - สิทธิของกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มชายขอบ รวมถึงแรงงานข้ามชาติ - ความเท่าเทียมและการไม่เลือกปฏิบัติ ทั้งด้านสาธารณสุข การศึกษา และความเท่าเทียมทางสังคม - การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม - การปรองดองทางการเมือง โดยเฉพาะการสนับสนุนคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) และให้มีการปฏิบัติที่เท่าเทียมกันต่อเหยื่อทุกคน พันธกรณีระหว่างประเทศ ไทยรับข้อเสนอว่าจะให้สัตยาบรรณหรือยกเลิกข้อสงวน ได้แก่ - ให้สัตยาบันต่อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการต่อต้านการบังคับสูญหาย - ให้สัตยาบันต่อนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ 98 - ถอนข้อสงวนของมาตรา 16 ในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ - ถอนข้อสงวนของมาตรา 6 และ 9 ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง - ถอนข้อสงวนของมาตรา 18 อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิคนพิการ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท