จำคุก 'จินตนา' 4 เดือนกับการแลกสิทธิชุมชน-สิทธิสิ่งแวดล้อมกลับคืนมา นับว่าคุ้มยิ่ง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

วันที่ 11 ต.ค.54 เหมือนฟ้าผ่ามากลางใจของนักอนุรักษ์ทั่วประเทศ เมื่อศาลประจวบคีรีขันธ์ได้อ่านคำพิพากษาจำคุก “คุณจินตนา แก้วขาว” แกนนำนักอนุรักษ์บ้านกรูด 4 เดือน ตามคำพิพากษาของศาลฎีกาที่ออกมาตั้งแต่วันที่ 20 ธ.ค.53 ซึ่งประกอบด้วยองค์คณะท่านผู้พิพากษา นายสุรศักดิ์ สุวรรณประกร นายชำนาญ รวิวรรณพงษ์ และนายสุรพันธุ์ ละอองมณี ไม่รับข้อฎีกาเพื่อวินิจฉัยทางคดี แต่ศาลได้เมตตาปรับลดโทษลงเหลือให้จำคุกเพียงแค่ 4 เดือน ตามที่มีเหตุอันควรบรรเทาโทษได้ นั่นคือ การเข้ามอบตัวแต่โดยดีโดยไม่หลบหนี คดีนี้ศาลชั้นต้นได้พิพากษาเมื่อวันที่ 30 ก.ย.46 ยกฟ้อง เพราะพยานหลักฐานที่อัยการนำมาสืบศาลฟังไม่ได้ว่ามีน้ำหนักความผิดจริง ต่อมามีการอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาค 7 พลิกคำพิพากษาเมื่อวันที่ 1 ส.ค.48 ให้จำคุกเป็นเวลา 6 เดือน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365(2) ประกอบมาตรา 362 และ 83 ซึ่งเป็นความผิดฐานบุกรุก โดยมีอาวุธ (น้ำปลาวาฬ) หรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป โดยมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ตลอดเวลากว่า 10 ปีของการต่อสู้ นับแต่วันที่เกิดเหตุพิพาททางคดี คือวันที่ 13 ม.ค.44 ที่จินตนาและชาวบ้านกรูดได้บุกเข้าไปในงานเลี้ยงครบรอบ 3 ปีโครงการโรงไฟฟ้าบ้านกรูด เพื่อใช้สิทธิในการปกป้องวิถีชุมชน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2540 กับนโยบายของรัฐบาล และผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าถ่านหินของบริษัท ยูเนียนเพาเวอร์ดีเวลลอปเมน์ จำกัด แต่การบุกรุกเข้าไปในสถานที่อันเป็นอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นที่เขาครอบครองโดยปกติสุข ก็ย่อมจะต้องมีความผิดตามกฎหมายเป็นธรรมดา แต่ถ้าเรามองกันแต่เฉพาะข้อกฎหมาย โดยไม่ดูบริบทขององค์รวมหรือเหตุปัจจัยแห่งที่มาของการพิพาท และผลประโยชน์ได้เสียที่จะตกแก่สาธารณะมิใช่เรื่องส่วนตัวแล้ว ก็ดูเหมือนว่าจะไม่เป็นธรรมนักต่อคุณจินตนาและกระบวนการต่อสู้ของภาคประชาสังคม แม้คำพิพากษาดังกล่าว จะนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างรุนแรงของพี่น้องชาวบ้านและนักอนุรักษ์ทั่วประเทศก็ตาม แต่เมื่อศาลฎีกาได้วินิจฉัยและพิพากษาแล้วก็ต้องน้อมรับ แม้จะตะขิดตะขวงใจอย่างไรก็ตาม แต่คำพิพากษาของศาลทั้ง 3 ศาลก็ทำให้เราเห็นรูปแบบและปรากฎการณ์ของกระบวนการยุติธรรมกันชัดแจ้งมากยิ่งขึ้นว่าเป็นเช่นไร และต่อไปนี้จะเป็นการถอดบทเรียนการต่อสู้ของภาคประชาชน ในทุกท้องถิ่น ในการปกป้องสิทธิของชาวบ้านและชุมชนที่มีอยู่แต่เดิมแล้วโดยธรรมชาติ โดยมิมีใครมาหักหาญน้ำใจหรือเปลี่ยนแปลงได้เพียงเพราะกระบวนการทางนโยบายสาธารณะของนักการเมืองจอมปลอม ที่ไม่ยอมรับผิดชอบต่อความเสียหายหรือเดือดร้อนต่อประชาชน ที่เกิดขึ้นจากนโยบายของรัฐ เชื่อว่า 120 วันหรือ 4 เดือนที่จินตนาต้องอยู่ในคุกในเรือนจำ แต่กระบวนการทางสังคม จะแพร่กระจายก่อเกิดการประสานงานกันเป็นเครือข่ายจะแน่นแฟ้นขึ้น เพราะจะมีกลุ่มกัลยาณมิตรแวะเวียนไปเยี่ยมเยือนเพื่อแลกเปลี่ยนทัศนะและกระบวนการต่อสู้กับคุณจินตนาอยู่แทบทุกวัน ในส่วนของชุมชนคนบ้านกรูด ก็คงจะมีกิจกรรมต่อเนื่องตลอด 120 วันเพื่อย้ำเตือน “สิทธิทางธรรมชาติ” โดยชอบของชาวบ้าน เพื่อประจานหรือสะท้อนให้อำนาจรัฐเห็นว่า กระบวนการชาวบ้านไม่เคยสะทกสะท้านต่ออำนาจรัฐและอำนาจทุน ที่เข้ามาบิดเบือนเจตนารมณ์ของกฎหมายได้ “เงิน” อาจจะซื้อทุกสิ่งทุกอย่างอะไรก็ได้ แต่คงจะซื้อสิทธิและอุดมการณ์ของชาวบ้านกรูดคงไม่ได้ ไม่เช่นนั้นตลอดระยะเวลากล่า 10 ปีที่ผ่านมา โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ต่าง ๆ ที่จะลงไปก่อสร้างที่บ้านกรูด-บ่อนอกคงได้เกิดแล้วเป็นแน่ คุณจินตนาให้สัมภาษณ์อย่างแหลมคมก่อนเดินเข้าเรือนจำอย่างมีศักดิ์ศรีว่า \แค่ติดคุกยังมีวันออก เราไม่ได้ถูกยิงทิ้ง ไม่ได้เสียชีวิตเหมือนการต่อสู้ของนายเจริญ วัดอักษร ประธานกลุ่มรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอกแกนนำต้านโรงไฟฟ้าบ่อนอก แต่ไม่ทราบว่าในระหว่างที่ติดคุกจะต้องเจออะไรบ้างและขอไม่ให้มีการอภัยโทษ ขอให้สังคมรับรู้บทบาทของการต่อสู้ และขอให้มองเรื่องความเป็นธรรมมากกว่าการใช้กฎหมายมาจัดการกับแกนนำเหมือนกลุ่มทุน\" เป็นการให้สัมภาษณ์ที่สะท้อนให้รัฐบาลและกระบวนการยุติธรรมทราบว่า กระบวนการการต่อสู้ของภาคประชาชนนั้น เปิดเผย ตรงไปตรงมา บนฐานของสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ภายใต้การคุ้มครองของรัฐธรรมนูญ แต่หน่วยงานของรัฐและกฎหมายลูกต่างหากที่ไร้ประสิทธิภาพในการปกป้องวิถีชีวิตของชุมชน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะความไร้ประสิทธิภาพในการปกป้องแกนนำชาวบ้าน ตลอด 20 กว่าปีที่ผ่านมาเราต้องสูญเสียแกนนำนักอนุรักษ์ไปแล้วกว่า 20 คนจากการพิฆาตของกลุ่มผู้สูญเสียผลประโยชน์หรือกลุ่มทุน โดยที่ส่วนใหญ่หน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะในส่วนของกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ ไม่สามารถให้การคุ้มครองได้ ทั้ง ๆ ที่แกนนำเหล่านั้นล้วนแล้วแต่เป็นผู้บริสุทธิ์ กระทำการแทนชาวบ้าน เพราะต่างมีอุดมการณ์เพื่อปกป้องสิทธิชุมชน-สิทธิทางสิ่งแวดล้อม เพื่อประโยชน์สาธารณะทั้งสิ้น อาทิ อาจารย์บุญทวี อุปการะกุล ผู้นำการรณรงค์คัดค้านมลพิษจากนิคมอุตสาหกรรม จ.ลำพูน ครูประเวียน บุญหนัก ผู้นำการคัดค้านโรงโม่หิน จ.เลย นายวินัย จันทมโน นักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่คัดค้านนายทุนตัดไม้ทำลายป่าบ้านน้ำหรา อ.ควนกาหลง จ.สตูล นายทองอินทร์ แก้ววัตตา แกนนำคัดค้านการสร้างโรงงานกำจัดกากสารอุตสาหกรรม จ.ระยอง นายทุนหรือจุน บุญขุนทด แกนนำการคัดค้านการสร้างเขื่อนโป่งขุนเพชร จ.ชัยภูมิ กำนันทองม้วน คำแจ่มและนายสม หอมพรหม ผู้นำการคัดค้านการให้สัมปทานโรงโม่หิน จ.หนองบัวลำภู นายอารีย์ สงเคราะห์ ผู้นำการต่อต้านการบุรุกป่าและรณรงค์ปกป้องผืนป่าต้นน้ำคลองคราม จ.สุราษฎร์ธานี นายจุรินทร์ ราชพล นักอนุรักษ์ที่ต่อสู้คัดค้านการทำลายพื้นที่ป่าชายเลน ต.บ้านป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต นายนรินทร์ โพธิ์แดง แกนนำต่อต้านโรงโม่หินของนักการเมืองระดับชาติในเขตพื้นที่ จ.ระยอง นายพิทักษ์ โตนวุธ แกนนำชาวบ้านลุ่มน้ำชมพู อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก ลุกขึ้นต่อสู้คัดค้านโรงโม่หินของนักการเมืองระดับชาติที่บุกรุกป่าอนุรักษ์ นายแก้ว ปินปันมา แกนนำชาวบ้านที่เข้าไปใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่กิ่ง อ.ดอยหล่อ จ.เชียงใหม่ ขัดแย้งกับนายทุน นายสุวัฒน์ วงศ์ปิยะสถิตย์ ชาว อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ แกนนำชาวบ้านคัดค้านโครงการกำจัดขยะราชาเทวะ นายสมพร ชนะพล แกนนำกลุ่มอนุรักษ์ลุ่มน้ำกระแดะ อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี คัดค้านการสร้างเขื่อนคลองกระแดะ นายบุญสม นิ่มน้อย แกนนำกลุ่มอนุรักษ์และคัดค้านการก่อสร้างโครงการโรงแยกคอนเดนเสทในพื้นที่ อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี นายปรีชา ทองแป้น สารวัตรกำนัน ต.ควนกรด อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช แกนนำเรียกร้องสิทธิชุมชนจากโครงการก่อสร้างบำบัดน้ำเสียเทศบาล ต.ปากแพรก อ.ทุ่งสง นครศรีธรรมราช คุณบุญฤทธิ์ ชาญณรงค์ แกนนำชาวบ้านเรียกร้องสิทธิชุมชนและต่อต้านการค้าไม้เถื่อนตำบลคลองพา อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี คุณบุญยงค์ อินต๊ะวงศ์ แกนนำชาวบ้านร่องห้า ต.ผางาม อ.เวียงชัย จ.เชียงราย ลุกขึ้นต่อสู้กับโรงโม่หินดอยแม่ออกรูของนักการเมืองระดับชาติที่บุกรุกพื้นที่ป่าต้นน้ำ นายคำปัน สุกใส แกนนำชาวบ้านป่าชุมชนเชียงดาว ต.แม่นะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ลุกขึ้นต่อสู้ขัดขวางการบุกรุกพื้นที่ป่าชุมชน นายสำเนา ศรีสงคราม ประธานชมรมอนุรักษ์และฟื้นฟูลำน้ำพอง จ.ขอนแก่น แกนนำชาวบ้านต่อสู้กับการโรงงานที่ทำให้แม่น้ำพองเน่าเสีย นายเจริญ วัดอักษร แกนนำชาวบ้านบ่อนอก จ.ประจวบคีรีขันธ์ คัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน และเรียกร้องให้ตรวจสอบการบุกรุกที่สาธารณะของนายทุนผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น นายสุพล ศิริจันทร์ แกนนำชาวบ้านเครือข่ายป่าชุมชนแม่มอก จ.ลำปาง ต่อสู้ขัดขวางขบวนการค้าไม้เถื่อน คุณพักตร์วิภา เฉลิมกลิ่น แกนนำชาวบ้านหัวกระบือ อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง ต่อสู้คัดค้านการก่อสร้างท่าเทียบเรือขนทราย พระสุพจน์ สุวโจ พระนักปฏิบัติธรรม ณ สวนเมตตาธรรม อ. ฝาง จ.เชียงใหม่ พยายามต่อสู้กับนายทุนที่ต้องการฮุบที่ดินสถานปฏิบัติธรรม นายทองนาค เสวกจินดา แกนนำคัดค้านโรงงานถ่านหิน ต.ท่าทราย จ.สมุทรสาคร บุคคลเหล่านี้ล้วนต่อสู้ตามสิทธิที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญ ตามกระบวนการยุติธรรม แต่ก็ต้องมาถูกปองร้ายทำลายชีวิต ไปเสียก่อนวัยอันสมควร โดยที่กระบวนการยุติธรรม ไม่สามารถช่วยเหลืออะไรได้ แต่สิ่งที่แกนนำเหล่านี้ได้จุดประกายการต่อสู้ไว้นั้น ได้สร้างอานิสงค์และคุณูปการแผ่กระจายเป็นต้นกล้าใหม่ที่ไม่มีวันย่อท้อให้กับแกนนำนักอนุรักษ์ทั่วประเทศ เหมือนดั่ง “ตายสิบ...เกิดแสน” แล้ว การจำคุกจินตนา จึงเป็นเพียงแค่บทเรียนขั้นประถมของกระบวนการต่อสู้เพื่อคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไว้ให้ชุมชนได้ใช้ประโยชน์กันชั่วลูกหลาน ตราบใดที่อำนาจรัฐ อำนาจทุน และความอยุติธรรมยังเป็น 2 มาตรฐานเต็มแผ่นดินไทย...การต่อสู้ของชาวบ้านไม่มีทางสิ้นสุดลงได้เพราะคำพิพากษาของศาล..."

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท