Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ในสังคมปัจจุบัน สงครามและความขัดแย้งดูจะยังปะทุ ยังไม่มีทีท่าที่จะสงบลงมากนัก “ทุกๆสัปดาห์ มีประชาชน ๑.๔ ล้านคน หลั่งไหลเข้ามาสู่สลัมของโลก เพื่อมาอยู่ร่วมกับมวลชนชาวสลัมที่ขยายตัวไม่หยุดยั้ง” โครงการประเมินระบบนิเวศมิลเลนเนียม ได้รายงานถึงความเปลี่ยนแปลงและรุนแรงของระบบนิเวศ ซึ่งแย่ลงเรื่อยๆ จากน้ำมือมนุษย์ นอกจากนี้มีรายงานถึงปัญหาที่ยังท้าทายสังคมมนุษย์ คือ คนกว่า ๑๒๐๐ ล้านคนยังคงยากจน (รายได้ต่ำกว่า ๔๐ บาทต่อวัน) คนกว่า ๑๐๐๐ ล้านคน ยังคงขาดน้ำสะอาดและอาจจะเพิ่มเป็น ๒๐๐๐ ล้านคน ในอีก ๓๐ ปีข้างหน้า ในแต่ละวันยังมีคนตายเนื่องจากอดอยากขาดแคลนอาหาร ๒๔๐๐๐ คน แรงงานเด็กในอุตสาหกรรมต่างๆ ทั่วโลก มีสูงถึง ๒๑๕ ล้านคน และในจำนวนนี้ ๓แสนคน ต้องถือปืนสู้รบ เด็กเสียชีวิต ๒ ล้านคนทุกปี และเด็กจำนวนหนึ่งไม่มีโอกาสได้ฉลองวันเกิดครบ ๖ ปีของตนเอง และสถิติขณะนี้คือ ทุกๆ ๕ วินาทีจะมีเด็กตาย ๑ คนเพราะขาดอาหาร ปัญหาของมนุษยชาติข้างต้นนั้น พุทธศาสนิกชนควรจะมีท่าทีอย่างไรต่อปัญหาดังกล่าว ถ้าจะกล่าวแล้ว พระพุทธเจ้านั้น ทรงเป็นนักมนุษยนิยมที่ประเสริฐคนหนึ่ง เชื่อมั่นในความเป็นมนุษย์อย่างเสมอภาคกัน มีเมตตาต่อสรรพสัตว์เสมอภาคกันไม่ว่าจะศาสนาใดก็ตาม วรรณะใดก็ตาม ในบทสวดมนต์ที่พุทธศาสนิกชนสวดกันสืบจากอดีตจวบปัจจุบัน บท “กรณียเมตตาสูตร” นั้นสอดคล้องกับประเด็นนี้ ขอคัดลอกบางวรรคดังนี้ “มาตา ยะถา นิยัง ปุตตัง อายุสา เอกะปุตตะมะนุรักเข เอวัมปิ สัพพะภูเตสุ มานะสัมมาภาวะเย อะปะริมาณัง” หรือแปลเป็นไทยว่า “มารดาย่อมตามรักษาบุตรคนเดียวผู้เกิดในตน ด้วยชีวิตฉันใด กุลบุตรพึงเจริญเมตตาจิตในใจไม่มีประมาณในสัตว์ทั้งปวงทั้งหลายแม้ฉันนั้น” ความข้อนี้ สอดคล้องกับหลักพรหมวิหารธรรม ซึ่งพุทธศาสนิกชนได้เจริญสม่ำเสมอ แต่จะเข้าถึงสาระของหลักธรรมแล้วมาประยุตก์ใช้ให้สมสมัยหรือไม่ ควรจะมีท่าทีที่ถูกต้อง พุทธศาสนิกชนนั้นย่อมควรถือหลัก “มนุษย์นิยม” มากกว่า “ชาตินิยม” ใส่ใจและห่วงใยต่อเพื่อนมนุษย์ ไม่ว่าคนนั้นจะเสื้อเหลืองหรือเสื้อแดง การเจริญเมตตาภาวนา ก็เพื่อโยงหัวสมองเข้าถึงกับจิตใจ มีไตรสิกขา แผ่ความกรุณาไปยังสรรพสัตว์ทั้งปวง ไม่แต่มนุษย์เท่านั้นหากรวมสิ่งแวดล้อมทั้งหมดทั้งมวล แต่เหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อปีที่แล้ว (๑๙ พฤษภาคม ๕๓) ท่าทีของพุทธศาสนิกชนต่อเพื่อนมนุษย์เป็นเช่นใด มิต้องเอ่ยถึงเรื่องอื่นๆ ก็ยังได้ หรือนี้คือการวาง “อุเบกขา” แล้วมันคือ อุเบกขา จริงหรือ? อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ได้แสดงทัศนะในเรื่องนี้ว่า “อันนี้เขาไม่เรียกว่าอุเบกขานะครับ เขาใช้คำผิด ไม่เอาไหนกับอุเบกขามันไม่เหมือนกัน ...อุเบกขา มันจะใช้ได้ต้องใช้เมตตาก่อน ใช้กรุณาก่อน ใช้มุทิตาก่อน แล้วถึงจะใช้อุเบกขา มันเป็นขั้นตอน ถ้าคุณไม่มีเมตตา คุณจะใช้อุเบกขาได้ยังไง หมายความว่า คุณต้องรักเพื่อนมนุษย์ก่อน” พุทธศาสนิกชนจึงควรตระหนักถึงปัญหาสังคม ไม่เพียงแค่ปัจเจกบุคคล หรือเพื่อตัวตนเท่านั้น แต่ต้องลงมือช่วยเหลือสังคม พุทธศาสนิกชนจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ต่างตระหนักรู้ว่า การเป็นพุทธศาสนิกชนในสมัยปัจจุบัน ยุคโลกาภิวัตน์ ความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวย-คนจนที่มากขึ้น ความขัดแย้งทางศาสนาอย่างรุนแรง เราควรจะทำอะไรในที่นี่ เราจะมีจุดยืนอย่างไรในฐานะที่เป็นพุทธศาสนิกชน กลุ่มพุทธศาสนิกชนไทยซึ่งได้ตระหนักรู้ต่อปัญหานี้จึงก่อตั้ง กลุ่มพุทธศาสนิกชนเพื่อสังคม พวกเขาต่างมีบทบาททั้งในระดับท้องถิ่นและระดับโลกเพื่อความยุติธรรมทางสังคม เช่น เครือข่ายพุทธศาสนิกชนเพื่อสังคมนานาชาติ (INEB - International Network of Engaged Buddhists) กลุ่มชาวบ้านอนุรักษ์บ่อนอก ที่ต่อสู้เพื่อท้องถิ่นของพวกเขาโดยใช้สันติวิธีเข้าสู้ เป็นต้น ขณะที่สถานการณ์โลกเลวร้ายลงทุกวี่ทุกๆ วัน กลุ่มคนเล็กๆ ผู้ซึ่งยังมีความ “หวัง” หลากหลายกลุ่มทั้งไทยและทั่วโลก กำลังเคลื่อนไหวเพื่อความยุติธรรมและระบบนิเวศ อย่างไม่หยุดหย่อน อ้างอิง 1.ท่องทั่วทางธรรม เขียนโดย ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์ 2.ไม่สงบ จึงประเสริฐ เขียนโดย พอล ฮอลเกน แปล ภัควดี 3.จุลสารปรีดี ฉบับที่2 (รำลึกเหตุการณ์ 35ปี 6ตุลา 2519) บรรณาธิการบริหาร:เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล 4.นิเวศวิทยา พื้นฐาน เขียนโดย จิรากรณ์ คชเสนี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net