เลิกมองพระสงฆ์กับการเมืองแบบโรแมนติกเสียที (ตอนจบ)

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

สำหรับพระเอ็นจีโอ พระปัญญาชน แม้ผมจะเห็นด้วยว่า ในทางหลักการพระควรมีบทบาทแลกเปลี่ยนความคิด หรือผลักดันอุดมการณ์ทางสังคมการเมืองบางอย่างที่ตนเชื่อได้เหมือนคนทั่วๆ ไป แต่ผมก็ต้องการท้าทายกับท่านเหล่านั้นว่า เมื่อออกมาแสดงความเห็น หรือแสดงบทบาทเชิงสังคมการเมืองแล้ว ท่านจะหวังได้รับแต่การอวย การเคารพนบนอบเท่านั้นไม่ได้ ท่านต้องพร้อมที่จะถูกด่า ถูกวิจารณ์กลับได้ด้วย ที่พูดเช่นนี้ สืบเนื่องจากบทความชื่อ “เลิกมองพระสงฆ์กับการเมืองแบบโรแมนติกเสียที” ผมได้นำเสนอการโพสต์ความเห็นทางการเมืองของพระบางรูปทาง FB ซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง ต่อมาทราบว่าพระรูปนั้นได้ไปแจ้งความดำเนินคดีกับเพื่อนบางคนที่นำข้อความของท่านมาด่าและวิจารณ์ ผมจะไม่พูดถึงเรื่องการดำเนินคดี และข้อความที่ถูกแจ้งความ เพราะผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมาย แต่ขอแสดงความเห็นต่อบางข้อความของพระว่า ทำไมจึงทำให้คนนำมาด่าและวิพากษ์วิจารณ์ และต้องการอธิบายในเชิงหลักการว่า เราควรจะทำความเข้าใจปัญหาดังกล่าวอย่างไร ประเด็นที่หนึ่ง ข้อความบางข้อความทาง FB ของพระที่ผมคิดว่าทำให้คนไม่พอใจ หรือกระทั่งโกรธอย่างมาก คือข้อความตามโพสต์ข้างล่างนี้ ข้อความดังกล่าวนี้แม้ไม่ใช่คำหยาบ แต่ในเชิงเนื้อหาก็ถือว่า “แรงมาก” เท่าที่ผมทราบคนที่นำข้อความนี้ไปโพสต์ด่า และวิจารณ์จนถูกแจ้งความนั้น คือคนที่สูญเสียลูกชายในเหตุการณ์สลายการชุมนุมทางการเมืองที่ผ่านมา จริงอยู่แม้ข้อความนี้จะไม่เกี่ยวโดยตรงกับเหตุการณ์ที่เขาสูญเสียลูกชาย แต่เป็นไปได้ที่เมื่อเขาได้อ่านข้อความเช่นนี้ของ “พระ” แล้ว เขาอาจจะรู้สึกสะเทือนใจ จนกระทั่งบันดาลโทสะ หรือโกรธอย่างรุนแรง เนื่องจากอาจเห็นว่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเขา (และคนอื่นๆ) ถูกย่ำยีอย่างรุนแรง ผมไม่ได้หมายความว่า พระที่โพสต์ข้อความมีเจตนาย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนเสื้อแดงหรือของใคร เพราะผมไม่สามารถหยั่งรู้ “จิตใจ” ของท่านได้ แต่ผมกำลังจะบอกว่าเนื้อหาของข้อความดังกล่าวมันอาจทำให้คนที่ถูกพูดถึงรู้สึกว่าตนถูกย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ได้ เพราะเมื่อเราพูดถึง “การเคารพศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์” ความหมายโดยพื้นฐานเลยคือ “การเคารพความเป็นมนุษย์ในฐานะสัตว์ผู้มีเหตุผล หรือมีความสามารถใช้วิจารณญาณของตนเองได้” แต่ข้อความดังกล่าอาจถูกตีความได้ว่า ไม่เคารพความมีเหตุผล หรือความสามารถในการใช้วิจารณญาณของประชาชนจำนวนหนึ่งที่พวกเขาเองย่อมสามารถแยกแยะได้ว่า การสลายการชุมนุมทางการเมืองด้วย “กระสุนจริง” ที่ทำให้ประชาชนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมากนั้น ไม่ใช่หน้าที่ของทหาร แต่การช่วยเหลือประชาชนทุกคน (โดยไม่เลือกว่าจะเคยด่าหรือไม่เคยด่าทหาร) นั้นเป็นหน้าที่ของทหาร (หรือข้าราชการที่เกี่ยวข้อง) ที่รับเงินเดือนจากภาษีของประชาชน นอกจากนี้ข้อความว่า “...ไม่น่าจะยื่นมือมารับความช่วยเหลือนะ...” มันเป็นข้อความที่ผิดทั้งในทาง “หลักการ” และในทาง “มนุษยธรรม” ในทางหลักการนั้นย่อมเป็นหน้าที่ของทหาร (หรือข้าราชการอื่นๆ) ที่ต้องให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบอุทกภัยโดยไม่เลือกว่าจะเป็นใครอยู่แล้ว และประชาชนก็มีสิทธิ์โดยชอบธรรมที่จะได้รับความช่วยเหลือจากทหารหรือหน่วยงานภาครัฐและเอกชนอื่นๆ อยู่แล้ว ส่วนในทางมนุษยธรรม ผู้มีสามัญสำนึกปกติทุกคนย่อมรู้สึกได้ว่าข้อความดังกล่าวแสดงถึงความไร้มนุษยธรรมอย่างสิ้นเชิง เพราะในทางมนุษยธรรมนั้น ข้าศึกหรือโจรที่ได้รับบาดเจ็บก็ยังสมควรได้รับการรักษาจากแพทย์ นับประสาอะไรกับประชาชนที่เคยด่าทหารจะไม่พึงได้รับสิทธิ์ในการรับความช่วยเหลือจากทหาร ในยามที่พวกเขาประสบอุทกภัยที่เป็นความเดือดร้อนอย่างหนักเช่นที่เป็นอยู่นี้ ฉะนั้น เมื่อพิจารณาเฉพาะความหมายของข้อความตามโพสต์ข้างต้น สามารถถูกตีความได้ว่ามีความหมายในเชิงไม่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และมีความหมายในเชิงไร้มนุษยธรรมดังกล่าว จึงเป็นไปได้ที่จะทำให้ผู้คนบางส่วนรู้สึกสะเทือนใจ จนถึงโกรธอย่างรุนแรง หรือไม่เห็นด้วยกับข้อความนั้น โดยเฉพาะยิ่งเป็นข้อความของ “พระ” ยิ่งทำให้เขาโกรธมากกว่าปกติ จนทำให้แสดงปฏิกิริยาตอบโต้ในลักษณะต่างๆ ทั้งด้วยการด่า การวิพากษ์วิจารณ์ โดยที่เขาเหล่านั้นอาจไม่ได้เกลียดชังเป็นส่วนตัว ไม่ได้ต้องการดูถูกดูหมิ่น หรือจงใจใส่ร้ายด้วยข้อความอันเป็นเท็จเพื่อให้ “พระ” ที่เป็นเจ้าของข้อความนั้นได้รับความเสียหาย แต่เขาด่าเขาวิจารณ์ “ความคิดเห็นเชิงสาธารณะ” ของพระรูปหนึ่งเท่านั้น แต่หากพระเห็นว่าท่านเสียหาย ท่านก็มีสิทธิ์แจ้งความตามกฎหมายได้ ก็ต้องสู้กันไป แต่โดยความเห็นส่วนตัว ผมเห็นว่าพระกำลังสู้กับ “มโนธรรมของสังคม” ที่ตั้งคำถามต่อมโนธรรมของพระรูปนั้นเองด้วย และในทางกฎหมายผมก็เห็นว่า กฎหมายก็ต้องมี “ความยุติธรรม” โดยพิจารณาที่มาที่ไปอย่างควรแก่เหตุ ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ ชาวบ้านจะนึกสนุกแบบตั้งวงเหล้าพอเมากันได้ที่แล้วก็ลุกขึ้นมาด่าพระสนุกเล่นกันเฉยๆ ประเด็นที่สอง เราต้องเข้าใจว่าโดยสถานะแล้วพระ คือ “บุคคลสาธารณะ” เนื่องจากสถานะของพระเป็นสถานะของบุคคลทางศาสนาที่ได้รับการยอมรับนับถือตามวัฒนธรรมประเพณีของสังคมพุทธ พระต้องเลี้ยงชีพโดยอาศัยปัจจัยสี่จากชาวบ้าน เป็นผู้นำทางจิตปัญญาและแบบอย่างทางศีลธรรม เมื่อพระยังชีพโดยอาศัยชาวบ้าน พระจึงต้องถูกชาวบ้านตรวจสอบทั้งในเรื่องการสอนพุทธศาสนาถูกต้องหรือบิดเบือน ใช้พุทธศาสนา หรือศรัทธาของชาวบ้านแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวหรือไม่ ประพฤติตนอยู่ในกรอบของพระธรรมวินัยหรือไม่ ไปจนถึงแสดงออกต่อสาธารณะอย่างมีสติ สำรวมกาย วาจา หรือไม่ เป็นต้น โดยหลักทางพุทธศาสนานั้น พระพุทธเจ้าไม่ได้มีข้อห้าม หรือระบุความผิดเรื่องการด่าหรือวิจารณ์พระเอาไว้เป็นข้อๆ มีเพียงกำหนดเอาไว้กว้างๆ ว่า ถ้าฆราวาส (เฉพาะที่เป็นชาวพุทธ) กล่าวตู่ หรือด่าพระรัตนตรัยด้วยความเท็จ จงใจให้เกิดความเสียหาย แม้แสดงเหตุผลให้ฟังแล้วไม่ยอมหยุดพฤติกรรมนั้น พระพุทธเจ้าอนุญาตให้คณะสงฆ์ประกาศ “คว่ำบาตร” (เลิกรับบิณฑบาต) แก่คนที่มีพฤติกรรมเช่นนั้นได้ จนกว่าเขาเปลี่ยนพฤติกรรมแล้วจึงให้สงฆ์ประกาศ “หงายบาตร” ซึ่งเป็นเพียงการลงโทษทางสังคมเท่านั้น ไม่มีการเอาผิดทางกฎหมายแต่อย่างใด ส่วนเรื่องที่ชาวบ้านตำหนิ หรือด่าแรงๆ ต่อพฤติกรรมไม่เหมาะสมของพระนั้น (เช่นด่าว่าเป็นสมี อลัชชี สมณะโล้นหน้าด้าน ไม่สำรวม มักมากในลาภสักการะ ประจบคฤหัสถ์ ฯลฯ) เมื่อพระพุทธเจ้าทราบเรื่องก็ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง ถ้าเป็นจริงอย่างที่เขาด่าก็ให้แก้ไขพฤติกรรมนั้นๆ เป็นเรื่องๆ ไป เรื่องราวแบบนี้มีบันทึกไว้มากมายในพระวินัยปิฎก ที่สำคัญเมื่อชาวบ้านด่าหรือวิจารณ์พระ แทนที่พระพุทธเจ้าจะห้ามไม่ให้ชาวบ้านด่าหรือวิจารณ์ แต่กลับห้ามพระว่าอย่าโกรธ ให้มีสติชี้แจงไปตามเหตุตามผล แม้พระพุทธเจ้าเองก็เคยถูกผู้ประสงค์ร้ายจ้างคนมารุมด่าตอนออกบิณฑบาต ด่าอย่างต่อเนื่องถึง 7 วัน (ทั้งที่พระองค์ไม่ได้ทำเหตุให้คนพวกนั้นต้องด่า) แต่พระองค์ไม่ตอบโต้ เพราะรู้แก่ใจว่าเรื่องที่เขาด่านั้นไม่จริง ปล่อยให้เขาด่าจนเหนื่อยและเลิกราไปเอง ที่อธิบายเสียยืดยาวนี้เพียงเพื่อจะบอกว่า ตามหลักพุทธศาสนาหรือหลักพระธรรมวินัยแล้ว ไม่มีการให้ “เอาผิด” กับคนที่ด่า หรือวิจารณ์พระที่มี “พฤติกรรมอันเป็นเหตุให้ชาวบ้านต้องด่า ต้องวิจารณ์” มีแต่การนำคำด่า คำวิจารณ์นั้นๆ มาแก้ไขปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของพระสงฆ์ให้เป็นที่น่าศรัทธาเลื่อมใสมากขึ้น เพราะพระพุทธองค์ตระหนักดีว่า ชีวิตของพระภิกษุนั้นดำรงอยู่ได้เพราะอาศัยปัจจัยยังชีพจากชาวบ้าน แม้แต่ข้าวทัพพีหนึ่งที่ชาวบ้านใส่บาตร พระองค์ก็เห็นว่าพระภิกษุควรสำนึกบุญคุณ ประเด็นที่สาม กรณีแจ้งความเอาผิดผู้ที่ด่า วิจารณ์ข้อความที่โพสต์ จึงไม่ใช่การใช้สิทธิ์ตามกรอบของพระธรรมวินัย แต่เป็นการใช้สิทธิ์ตามกฎหมาย (เข้าใจว่าน่าจะเป็น พ.ร.บ.คอมฯ 2550 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีปัญหาอยู่มาก) เมื่อใช้สิทธิ์ตามกฎหมาย ก็เป็นสิทธิ์ในฐานะพลเมืองคนหนึ่ง ไม่ใช่ในฐานะของพระสงฆ์ตามพระธรรมวินัย แต่ความเห็นที่โพสต์นั้น เป็นความเห็นของพระสงฆ์ซึ่งเป็นบุคคลสาธารณะ และเป็นความเห็นในเชิงสังคมการเมือง ซึ่งเป็นความเห็นเชิงสาธารณะ (ไม่ใช่ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องส่วนตัวของใคร) ฉะนั้น ประเด็นคือ โดยสถานะของพระสงฆ์ซึ่งเป็นบุคคลสาธารณะ ตามหลักการทางพุทธศาสนาก็ย่อมถูกวิพากษ์วิจารณ์ตรวนสอบ หรือด่าได้ในพฤติกรรมที่สมควรด่าอยู่แล้ว (เช่นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมกับความเป็นพระ) ส่วนการที่พระสงฆ์ออกมาแสดงความเห็นทางสังคมการเมือง (โดยเฉพาะที่แสดงอย่างจะแจ้งอย่างพระเจ้าของข้อความในโพสต์) ย่อมมีความหมายสำคัญอีกว่า พระที่แสดงความเห็นนั้นกำลังแสดงความเห็นในฐานะ “พลเมืองคนหนึ่ง” ที่มีความเสมอภาคกับคนธรรมดาทั่วๆ ไป และความเห็นนั้นๆ ก็เป็นความเห็นเชิงสาธารณะ โดยความหมายนี้ พระที่แสดงความเห็นทางการเมืองจึงต้องถูกด่า ถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้เหมือนนักการเมือง สื่อ นักวิชาการ ฯลฯ พูดให้ชัดขึ้นอีก แม้แต่ตามหลักการทางพุทธศาสนา สถานะของพระสงฆ์ก็ไม่ใช่สถานะศักดิ์สิทธิ์ที่แตะต้องไม่ได้ ชาวพุทธมีสิทธิ์โดยชอบธรรมที่จะด่า หรือวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของพระ เช่น พฤติกรรมทางกาย วาจา ที่ขาดสติ ไม่สำรวม ฯลฯ ยิ่งในทางสังคมการเมืองด้วยแล้วยิ่งเป็นไปไม่ได้ที่ความเห็นเชิงสังคมการเมืองของพระสงฆ์จะไม่ถูกท้าทาย ตอบโต้ ด้วยการวิพากษ์วิจารณ์ หรือแม้กระทั่งการด่าอย่างสุภาพ หรือด่าอย่างหยาบคายก็ตาม (ยกเว้นการกล่าวหาใส่ร้ายให้เกิดความเสียหายด้วยความเท็จ ซึ่งกฎหมายให้ความคุ้มครองแก่ทุกคนอย่างเสมอภาคอยู่แล้ว) ดังที่นักการเมือง สื่อ นักวิชาการ และ ฯลฯ ก็ถูกท้าทายตอบโต้ในลักษณะดังกล่าวเช่นกัน ผมคิดว่า นี่คือหลักการสำคัญที่พระสงฆ์ที่มักออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองต้องเข้าใจและยอมรับให้ได้ โลกของสังคมการเมืองสมัยใหม่ ไม่ใช่โลกของการอบรมสั่งสอน หรือยัดเยียดความคิดความเชื่อต่อไปอีกแล้ว ความเห็นในทางสังคมการเมืองของพระ ของปราชญ์ หรือบรรดาผู้มีภาพลักษณ์สูงส่งทางศีลธรรมทั้งหลาย มีค่าเท่ากับความเห็นของคนธรรมดาทั่วไป หรือมีความเสมอภาค “1 คนเท่ากับ 1 เสียง” หมายความว่า เสียงที่สังคมควรให้การยอมรับมากกว่า ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเป็นเสียงของใคร แต่อยู่ที่มีเหตุผลอย่างไร กล่าวโดยสรุป ผมเห็นว่า ถ้ามีการแจ้งความเอาผิด (ตามที่ผมได้ข่าวมา) จริง คดีนี้จะกลายเป็นคดีประวัติศาสตร์ที่สังคมควรจับตามอง เราคงต้องใช้วิจารณญาณอย่างยิ่งเพื่อที่จะมองเห็นคำตอบอย่างสมเหตุสมผลว่า นี่เป็นการต่อสู้ปกป้องสถานะและศักดิ์ศรีของ “ความเป็นพระ” หรือเป็นการต่อสู้ของชาวบ้านเพื่อเพื่อตรวจสอบพฤติกรรมของพระ และเพื่อปกป้อง “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” ของตนเอง!

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท