Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

มูลนิธิส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน จัดทำความเห็นทางวิชาการเกี่ยวกับหลักสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรมต่อคำพิพากษาศาลฎีกา คดีที่จินตนา แก้วขาว แกนนำกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูด ถูกตัดสินจำคุก 4 เดือนโดยไม่รอลงอาญาในข้อหาบุกรุก โดยเสนอว่า การลงโทษจำคุกจินตนา แก้วขาวในข้อหาบุกรุก เป็นการลงโทษที่ไม่ได้สัดส่วนกับการกระทำความผิด เพราะจินตนาอ้างเหตุที่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ แต่ในเมื่อการกระทำนั้น ผิดกฎหมายบ้านเมือง แต่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ศาลย่อมต้องหาเหตุผลแห่งความยุติธรรมในการลงโทษด้วยวิธีอื่น เพราะการกระทำของจินตนา ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเป็นความชั่วร้าย แต่เพื่อปกป้องชุมชน พร้อมระบุว่า หากบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม ไม่ใช้กฎหมายให้เป็นไปตามหลักนิติธรรมและหลักสิทธิมนุษยชนแล้ว อาจเป็นการผลักให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ไม่ยอมรับและหนีออกไปจากกระบวนการยุติธรรม โดยหันไปพึ่งวิธีการอื่น ซึ่งย่อมไม่เป็นผลดีต่อกระบวนการยุติธรรม สิทธิมนุษยชนและสังคมประชาธิปไตยที่กำลังร่วมกันพัฒนาขึ้นก็ได้ มูลนิธิส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ตามที่ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาจำคุก 4 เดือน นางจินตนา แก้วขาว แกนนำกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูด ในข้อหาบุกรุก โดยไม่รอลงอาญา นั้น ก่อให้เกิดคำถามในเชิงวิชาการถึงการขัดกันของการบังคับใช้กฎหมาย กับหลักสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรม ในแง่ที่ว่า เมื่อความผิดทางอาญาที่เป็นการกระทำผิดต่อกฎหมายบ้านเมืองขัดกันกับหลักความยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนแล้ว กระบวนการยุติธรรมจะมีการพิจารณาโดยใช้หลักการหรือหลักเกณฑ์อย่างไร เพื่อธำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม ด้วยความเคารพในคำพิพากษาของศาล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งและส่วนสำคัญในกระบวนการยุติธรรม ก่อนอื่นคงต้องเข้าใจว่า หลักการดำเนินคดีอาญาของไทยนั้นเป็นการดำเนินคดีโดยรัฐ คือ รัฐหรือตัวแทนของรัฐ(ตำรวจ อัยการ ศาล)เป็นผู้รับผิดชอบ โดยเฉพาะศาลเองก็ทำให้คดีของรัฐเสียหายไม่ได้ แม้ว่าในคดีนี้เป็นกรณีการบุกรุกที่ดินเอกชน (บริษัทยูเนียนเพาเวอร์ดีเวล ลอฟเม้นท์จำกัด) แต่เอกชนซึ่งสามารถเป็นผู้เสียหายดำเนินการฟ้องคดีเองได้ ไม่ประสงค์ดำเนินคดีเอง มอบให้รัฐเป็นผู้ฟ้องคดี ดังนั้นเมื่อรัฐเป็นผู้ดำเนินคดี บุคลากรของรัฐในกระบวนการยุติธรรมทุกฝ่ายตั้งแต่ ตำรวจ อัยการ ศาล จึงมีหน้าที่ในการ ตรวจสอบค้นหาความจริงในเนื้อหา หมายความว่าเจ้าพนักงานมีหน้าที่ต้องตรวจสอบค้นหาความจริงโดยไม่ผูกมัดกับคำขอหรือคำร้องขอของผู้ใด และในการดำเนินคดีอาญาชั้นศาล ศาลเองก็จะวางเฉย(passive) ไม่ได้ [1] ศาลต้องมีส่วนร่วมในการค้นหาความจริงในคดีที่ฟ้องต่อจำเลย หากพบในทางการพิจารณาคดีว่าจำเลยไม่ใช่ผู้กระทำความผิด หรือไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะเอาผิดจำเลย หรือหลักฐานที่นำมาฟ้องจำเลยมีความน่าสงสัย ศาลต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลย หลักการดำเนินคดีอาญาอีกหลักการหนึ่ง คือ ในคดีอาญา จำเลยเป็นประธานในคดี ดังนั้น จำเลยอาจไม่ต้องค้นหาพยานหลักฐานมาพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเอง เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนและอัยการและศาล นั้นเอง นี่เป็นหลักการดำเนินคดีอาญาในคดีปกติ แต่กรณีของนางจินตนา แก้วขาว เป็นคดีอาญาที่มีสาเหตุมาจากการรณรงค์เรียกร้องสิทธิชุมชนและสิทธิในการพัฒนาที่ได้รับความคุ้มครองโดยรัฐธรรมนูญ 2540 (ที่ใช้ในขณะกระทำความผิด) และสนธิสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคี การดำเนินกระบวนพิจารณาคดี จำเป็นต้องคำนึงว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด บทบัญญัติหรือกฎหมายใดจะขัดแย้งไม่ได้ [2] การต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิชุมชนของนางจินตนา แก้วขาว และกลุ่มอนุรักษ์ฯได้อ้างอิงความชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญมาโดยตลอด ซึ่งมีรัฐธรรมนูญมาตราที่เกี่ยวข้อง คือ มาตรา 46 สิทธิชุมชน [3] การรับรองสิทธิของชุมชนตามมาตรา 46 ของรัฐธรรมนูญ หมายถึง การรับรองคุ้มครองสิทธิของชุมชน ที่เกิดจากการรวมตัวของบุคคล จึงเป็นสิทธิร่วมเหนือทรัพย์สินของชุมชน ไม่ใช่สิทธิของส่วนบุคคลแต่ละคน การรับรองสิทธิชุมชนตามมาตรา 46 มีสองลักษณะ คือ (1) สิทธิการดำรงความเป็นเอกลักษณ์ของชุมชน โดยชุมชนสามารถมีความเป็นอิสระในการสืบทอดความเป็นชุมชน โดยการอนุรักษ์ ฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะหรือวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่น รวมทั้งการสืบทอดวัฒนธรรมของชาติด้วย (2) ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการบำรุงรักษาและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภายใต้หลักการพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน รัฐจะต้องดำเนินการให้มีกฎหมายรับรองเพื่อกำหนดรายละเอียดในการให้ชุมชนใช้สิทธิร่วมจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการสืบทอดวัฒนธรรม ประเพณีของชุมชนเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนการสร้างความร่วมมือระหว่างรัฐและชุมชนในการบริหารจัดการ หากมองย้อนไปในประวัติศาสตร์อาจกล่าวได้ว่าสิทธิของประชาชนในชุมชนเหนือทรัพยากรธรรมชาติเป็นสิทธิที่ดำรงอยู่ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงเป็นรัฐชาติในสมัยรัฐกาลที่ 5 ชุมชนท้องถิ่นมีอำนาจอิสระจากรัฐส่วนกลาง ในการถือครองและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ โดยรัฐส่วนกลางให้การรับรอง แต่รัฐส่วนกลางจะให้อำนาจในกรณีที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษี การชี้ขาดข้อขัดแย้งและการบังคับเวนคืนที่ดินให้แก่ชุมชน จึงทำให้ชุมชนต่างๆ สามารถกำหนดกฎเกณฑ์ เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติของชุมชน ตามประเพณี ความเชื่อของชุมชนที่มีความหลากหลายตามลักษณะเฉพาะของแต่ละชุมชน แต่ภายหลังการเปลี่ยนแปลงเป็นรัฐชาติ รัฐได้ออกกฎหมายให้รัฐมีอำนาจ เหนือทรัพยากรธรรมชาติ โดยโอนทรัพยากรธรรมชาติให้เป็นของรัฐและรัฐมีอำนาจจัดการทรัพยากรธรรมชาติโดยเด็ดขาด ทำให้ชุมชนต้องสูญเสียสิทธิความชอบธรรมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่เคยมีมาและการผูกขาดอำนาจการจัดการทรัพยากรธรรมชาติโดยรัฐ ได้ก่อให้เกิดการจัดการการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่ยุติธรรม โดยมีคนส่วนน้อยเท่านั้นได้ใช้ประโยชน์ ขณะที่คนส่วนใหญ่ หรือชุมชนไม่สามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งการที่ชุมชนมีสิทธิเหล่านี้ นอกจากได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญของไทยแล้ว ยังได้รับการคุ้มครองตามหลักสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรม ว่าด้วยสิทธิในการกำหนดวิถีชีวิตตนเอง [4] ทั้งในแง่สิทธิทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม กติกาทั้ง 2 ฉบับนี้ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีแล้วมีผลให้ผูกพันองค์กรของรัฐทุกองค์กรให้ต้องปฏิบัติตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้อ 1 ของกติการะหว่างประเทศทั้งสองฉบับ ระบุไว้ชัดเจนว่ารัฐมีหน้าที่ต้องปกป้องดูแลมิให้หนทางดำรงชีวิตของประชาชน (means of subsistence) ได้รับการกระทบกระเทือน สิ่งที่นางจินตนา แก้วขาวและคนในชุมชนพยายามปกป้อง คือสิทธิในการกำหนดวิถีชุมชนและหนทางดำรงชีวิตของคนในชุมชน หาใช่เพื่อประโยชน์ส่วนตนไม่ นอกจากนี้สิทธิในการกำหนดวิถีชีวิตตนเอง ยังได้รับการยอมรับในระดับสากลในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของสิทธิในการพัฒนาโดยปฏิญญาเวียนนาและแผนปฏิบัติการ ที่ได้มีการรับรองในการประชุมระดับโลกว่าด้วยสิทธิมนุษยชนเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 1993 ระบุไว้ในข้อ 10 ที่ว่า “ที่ประชุมระดับโลกว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ขอยืนยันอีกครั้งถึงสิทธิในการพัฒนาตามที่ระบุไว้ในปฏิญญาว่าด้วยสิทธิในการพัฒนา ว่าเป็นสิทธิที่เป็นสากลและไม่อาจพรากโอนให้แก่กันได้และถือเป็นส่วนที่รวมอยู่กับสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ดังที่มีการบัญญัติไว้ในปฏิญญาว่าด้วยสิทธิในการพัฒนา คนเป็นเป้าหมายหลักของการพัฒนา ขณะที่การพัฒนาอำนวยให้เกิดการได้รับประโยชน์จากสิทธิมนุษยชน ความด้อยพัฒนาก็มิอาจนำมาอ้างเพื่อสร้างความชอบธรรมในการตัดทอนการยอมรับสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศได้ รัฐควรร่วมมือกัน เพื่อให้มั่นใจในการพัฒนาและขจัดอุปสรรคต่างๆ ในการพัฒนา ประชาคมโลกควรส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศอย่างได้ผล เพื่อให้สิทธิในการพัฒนาเกิดสัมฤทธิ์ผลและขจัดอุปสรรคในการพัฒนา ความก้าวหน้าอันยั่งยืนซึ่งมุ่งต่อการส่งเสริมสิทธิในการพัฒนา ต้องการนโยบายการพัฒนาในระดับประเทศที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่เป็นธรรมและบรรยากาศทางเศรษฐกิจที่เอื้อประโยชน์ในระดับระหว่างประเทศ” นอกจากนี้ปฏิญญาเวียนนาฯ ยังได้บัญญัติคุ้มครองเป็นหลักการทั่วไปว่า ประชาธิปไตย การพัฒนา และสิทธิมนุษยชน ถือเป็นหลักการที่สำคัญในสังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่ หลักการเหล่านี้พึ่งพิงและเกื้อกูลกัน [5] จะเห็นได้ว่าการรณรงค์เพื่อสิทธิชุมชน ที่ได้รับอาณัติจากรัฐธรรมนูญและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของกลุ่มอนุรักษ์บ้านกรูด ของจินตนา แก้วขาว มีความสำคัญและควรได้รับการคุ้มครอง มากกว่ากลายเป็นการกระทำความผิดกฎหมายบ้านเมือง เพราะศักดิ์ของกฎหมายบ้านเมือง แม้จะมีเหตุผลเพื่อความสงบสุขของเอกชนหรือสังคม แต่หากพิจารณาในรายละเอียด การดำเนินการของจินตนา ที่ถูกฟ้องในข้อหาบุกรุก อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 362 นี้ เป็นความผิดที่สามารถยอมความได้ การที่ฝ่ายรัฐในกระบวนการยุติธรรม ตั้งข้อหาและมีการฟ้องร้องนางจินตนา นั้น มิได้คำนึงถึงหลักนิติธรรมหรือหลักสิทธิมนุษยชน แต่เป็นเพียงหลักความชอบด้วยกฎหมายของการลงโทษด้วย แม้ว่าหลักการหนึ่งของหลักนิติธรรมจะระบุว่า บุคคลทุกคนเสมอกันในกฎหมาย ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย แต่การบังคับใช้กฎหมายต้องคำนึงถึงความยุติธรรมด้วย โดยหลักการนี้ในเมื่อรัฐธรรมนูญ ได้คุ้มครองสิทธิชุมชนแล้ว ยังรับรองต่อไปด้วยว่า สิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้โดยชัดแจ้ง โดยปริยาย ย่อมได้รับความคุ้มครอง และผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐโดยตรงในการตรากฎหมาย การใช้บังคับกฎหมายและการตีความกฎหมายทั้งปวง (มาตรา 27) นางจินตนา แก้วขาวจึงได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ โดยสามารถยกบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้เพื่อยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คดีในศาลได้ (มาตรา 28) เมื่อความผิดตามกฎหมายบ้านเมือง และการใช้สิทธิเสรีภาพของชุมชนหรือบุคคลตามรัฐธรรมนูญขัดแย้งกัน ศาลต้องนำหลักนิติธรรมในการบังคับใช้และตีความกฎหมายมาใช้ในการดำเนินกระบวนพิจารณาพิพากษาคดี นั่นคือ หลักแห่งความได้สัดส่วน ซึ่งหมายถึงหลักความเหมาะสม หลักความจำเป็น และหลักความได้สัดส่วนในความหมายอย่างแคบ ซึ่งหลักแห่งความได้สัดส่วนนี้จะเป็นกรอบและวิธีการที่จะให้ได้มาซึ่ง “รัฐที่เป็นธรรม” ในทางเนื้อหานั่นเอง ดังนั้น ศาลน่าจะต้องใช้ดุลพินิจ ตัดสินคดีนี้โดยอาศัยหลักนิติธรรม หลักการ และกฎหมายตลอดจนจารีตประเพณีและกฎหมายระหว่างประเทศประกอบกันด้วย การลงโทษจำคุกนางจินตนา แก้วขาวในข้อหาบุกรุก เป็นการลงโทษที่ไม่ได้สัดส่วนกับการกระทำความผิด เพราะจินตนา อ้างเหตุที่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ แต่ในเมื่อการกระทำนั้น ผิดกฎหมายบ้านเมือง แต่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ศาลย่อมต้องหาเหตุผลแห่งความยุติธรรมในการลงโทษด้วยวิธีอื่น เพราะการกระทำของจินตนา ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเป็นความชั่วร้าย แต่เพื่อปกป้องชุมชน ซึ่งหากบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม ไม่ใช้กฎหมายให้เป็นไปตามหลักนิติธรรมและหลักสิทธิมนุษยชนแล้ว อาจเป็นการผลักให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ไม่ยอมรับและหนีออกไปจากกระบวนการยุติธรรม โดยหันไปพึ่งวิธีการอื่น ซึ่งย่อมไม่เป็นผลดีต่อกระบวนการยุติธรรม สิทธิมนุษยชนและสังคมประชาธิปไตยที่เรากำลังร่วมกันพัฒนาขึ้นก็ได้ มูลนิธิส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน 17 ตุลาคม 2554 หมายเหตุ: รัฐธรรมนูญที่ใช้อ้างอิงในบทความนี้ เป็นฉบับปี 2540 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่ใช้ในขณะที่ฟ้องร้องคดีนี้ อ้างอิง: ศาสตราจารย์คณิต ณ นคร กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พิมพ์ครั้งที่ 7 หลักการค้นหาความจริงในเนื้อหา หน้า 62-63 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 6 รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้ มาตรา 46 บุคคลซึ่งรวมกันเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมย่อมมีสิทธิอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะหรือวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นและของชาติ และมีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรม ข้อ 1 (1) ประชาชาติทั้งปวงมีสิทธิกำหนดเจตจำนงของตนเอง โดยสิทธินั้นประชาชาติเหล่านั้นจะกำหนดสถานะทางการเมืองของตนโดยเสรี และพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของตนอย่างเสรี (2) เพื่อจุดมุ่งหมายของตน ประชาชาติทั้งปวงอาจจัดการโภคทรัพย์และทรัพยากรธรรมชาติของตนได้อย่างเสรี โดยไม่กระทบต่อพันธกรณีใดๆ อันเกิดจากความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักการแห่งผลประโยชน์ร่วมกันและกฎหมายระหว่างประเทศ ประชาชาติจะไม่ถูกลิดรอนวิถีทางยังชีพของตนไม่ว่าในกรณีใด ปฏิญญาเวียนนาและแผนปฏิบัติการ 8. ประชาธิปไตย การพัฒนาและการเคารพต่อสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานล้วนเป็นสิ่งที่พึ่งพาและเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ประชาธิปไตยตั้งอยู่บนรากฐานของการแสดงเจตนารมณ์อย่างเสรีของประชาชนในการกำหนดระบบการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของตน และการมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในทุกแง่มุมต่อชีวิตของตน ในบริบทข้างต้น การส่งเสริมและการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพพื้นฐานในระดับประเทศและระดับระหว่างประเทศควรเป็นสากลและได้รับการปฏิบัติอย่างไม่มีเงื่อนไข ประชาคมโลกควรสนับสนุนให้เกิดความเข้มแข็งและส่งเสริมประชาธิปไตย การพัฒนา และการเคารพต่อสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของทั้งโลก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net