Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ปัญหาต่างๆที่มาพร้อมกับม่านหมอกน้ำ อาจบังตาสิ่งที่เห็นและเป็นอยู่จริง ลองใช้เวลาสั้นเท่าที่ยังพอมีตั้งสตินิดหนึ่งและมองปัญหา หนทางแก้ไข และทางเลือกที่เกิดขึ้น มองข้ามวาทกรรมต่างๆทั้งหลาย บางทีพอเราฉุกคิด เราอาจพบว่าสิ่งที่เรากำลังเผชิญนั้นเป็นปัญหาแท้จริงส่วนหนึ่ง และปัญหาที่มากับมายาคติส่วนหนึ่ง เริ่มมองไปด้วยกัน 1. น้ำท่วมเป็นความผิดของรัฐบาลทั้งหมด ต้องทำความเข้าใจว่าการบริหารที่ไม่สามารถจัดการกับน้ำอาจเป็นความผิดส่วนหนึ่งของรัฐบาล แต่ปริมาณน้ำที่มากกว่าเดิมถึง 30 – 40 %จากน้ำท่วมในปีก่อนนั้น มันเกินจะรับมือเหมือนกัน ซึ่งอะไรที่มันเกินรับมือจากปรกติเช่นน้ำท่วมในฤดูน้ำหลาก เราเรียกสิ่งเหล่านี้ว่า “ภัยพิบัติ” และเมื่อเกิดภัยพิบัติย่อมแปลว่ากลไกของรัฐบาลและราชการไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เพราะเกิด “ความไม่สะดวก” (inconvenience) ในการปฏิบัติงาน จากปัจจัยต่างๆ เช่น การร้องขอความช่วยเหลือจำนวนมากที่ไม่สามารถจัดการได้พร้อมกันหมด หรือ การเกิดปัญหาในหลายๆพื้นที่พร้อมกัน ถ้าเข้าไปแก้สถานการณ์ที่หนึ่งอีกที่ๆไม่สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ก็มักจะได้รับเสียงเรียกร้องที่ไม่พอใจ ดังนั้นกลไกชุมชน เอกชน และภาคประชาสังคมต้องหนุนเสริม สิ่งสำคัญก็คือการสืบสวนและหาบทเรียนหลังจากที่สถานการณ์ผ่านไปแล้วและปรับแก้ ไม่ใช่ปล่อยให้เกิดซ้ำๆส่วนรัฐบาลเองก็ต้องเปิดโอกาสให้กับภาคส่วนต่างๆเข้ามาทำงานมากขึ้น เช่น สมมติจะตั้งศูนย์อพยพหลายพันแห่ง แต่มีข้อจำกัดที่จะต้องเลือกสถานที่สาธารณะหรือสถานที่ราชการ เช่น วัด โรงเรียน มหาวิทยาลัยซึ่งบางครั้งชัยภูมิในการตั้งนั้นไม่เหมาะ อาจจะขอความร่วมมือในการใช้พื้นที่เอกชน เป็นศูนย์อพยพ และดึงภาคประชาสังคมเข้าไปบริหารจัดการ เป็นต้น 2. สถานการณ์สร้างวีรบุรุษไม่มีจริง จากข้อที่ผ่านมาทำให้เราเห็นขนาดของปัญหาที่แท้จริงว่ามันใหญ่โตเกินกลไกรัฐ ดังนั้นคำพูดประเภท “ถ้าเรื่องกรุงเทพฯให้ฟังผมคนเดียว” หรือ “ศปภ. มั่นใจว่าสามารถเอาอยู่นั้น” สะท้อนว่าทัศนคติในการทำงานของฝ่ายรัฐยังคงต้องการ “รบ” กับสิ่งที่มีขนาดมหึมาอยู่ เพื่อหวังว่าการปราบศัตรูนั้นจะสร้างความเป็นวีรบุรุษให้กับตน แต่แท้ที่จริงแล้วสถานการณ์เช่นนี้มันใหญ่เกินกว่าที่จะทำได้โดยลำพัง เดิมพันมันสูงมากกว่าตำแหน่งและอนาคตทางการเมืองของทั้งสองพรรคใหญ่ เพราะมีเรื่องของประชาชนเป็นเดิมพันดังนั้นอย่าให้ภาพความร่วมมือทุกอย่างจบเพียงแค่วันที่นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พบปะกับอดีตนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ที่ดอนเมือง แต่เรากลับพบว่าสิ่งที่เป็นกลไกให้แต่ละพื้นที่ผ่านวิกฤตไปได้ กลับเป็นคนตัวเล็กตัวน้อยในชุมชนต่างๆ ที่บางครั้งไม่ได้มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง ( ในหลายๆกรณีผู้ใหญ่บ้านทั้งหมู่บ้านไปแล้ว ) แต่คนเหล่านี้เป็นตัวกลางในการเชื่อมประสานกับภาคส่วนต่างๆในการช่วยเหลือ 3. การมีชีวิตในช่วงภัยพิบัติคือการ “อยู่รอด” ไม่ใช่ “อยู่สบาย” จากประสบการณ์ที่ได้พูดคุยกับผู้ประสบภัยหลายๆท่าน สิ่งหนึ่งที่เป็นปัญหาใหญ่ก็คือเรื่องของการยึดติดกับรูปแบบชีวิตเดิมๆที่เคยชิน เช่น เวลาจะขับถ่ายต้องขอเป็นส้วมที่สะอาดถูกสุขลักษณะ แต่เวลาภัยพิบัติมามันไม่สามารถทำแบบนั้นได้แต่ละบ้านก็เรียกขอสุขาลอยน้ำกันทุกบ้าน ซึ่งถ้าหากคิดดูว่ามีผู้ประสบภัย 6 ล้านคนเท่ากับเราต้องผลิตสุขาลอยน้ำถึง 6 ล้านถัง แล้วเมื่อเวลาน้ำลดสิ่งเหล่านี้จะนำไปไว้ไหน? จากการพูดคุยสิ่งที่น่าคิดก็คือชาวบ้านที่ได้รับน้ำท่วมบ่อยๆจะมีประสบการณ์มากกว่าในเขตเทศบาลและเขตเมือง เขาจะปรับตัวได้การถ่ายลงน้ำและดูแลคุณภาพน้ำไปด้วยก็สามารถดูแลจัดการได้ดีกว่า จดจำว่าภัยพิบัตินั้นคือสภาวะไม่ปรกติ คุณไม่สามารถนอนกระดิกเท้ากินป๊อปคอร์นและดูละครหลังข่าวได้ 4. น้ำมาค่อยอพยพดีกว่าไหม? เรื่องนี้สำคัญมากและขอตอบว่าไม่จริง!! ถ้าหากว่าเราอยู่ในพื้นที่ที่เสี่ยงน้ำท่วม สิ่งที่ควรทำก็คืออพยพออกมาแต่เนิ่นๆจะสามารถทำได้ง่ายกว่า หากรอถึงการประกาศอพยพรับรองว่าจะต้องเกิดเหตุการณ์โกลาหลวุ่นวายมาก ได้พูดคุยกับชาวบ้านที่บ้านอยู่หลังคันกั้นน้ำหลายๆคนที่ไม่ยอมอพยพ ก็เพราะคิดว่าสามารถรับมือได้ไม่มีปัญหาและไม่ย้ายออก (คนที่คุยด้วยวันก่อนหน้านั้นยังดู ผีอีเม้ยอยู่เลย) ปรากฏว่าวันรุ่งขึ้นคันกั้นน้ำแตก ทีนี้เรื่องร้องเรียนถูกส่งมายังหน่วยช่วยชีวิตและอพยพของทีมมูลนิธิกระจกเงาจำนวนมาก ในสถานการณ์ที่เอาคนออกมายากเพราะน้ำสูง ทางที่ดีล็อคบ้าน สับสะพานไฟลง และออกจากบ้านแต่เนิ่นๆจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด 5. ใครๆก็อยากทำความดี งั้นทุกคนมาทำงานอาสากัน แน่นอน! การลงมือทำย่อมเป็นสิ่งที่ดีและจะก่อให้เกิดสิ่งดีๆตามมา แต่การทำแบบต่างคนต่างทำนั้นก็เป็นปัญหาหนึ่ง จากวงประชุมของสถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่งได้ข้อเสนอที่น่าสนใจว่าทุกคนอยากทำความดี แต่ทุกคนก็เต้นไปตามกระแสที่มันเปลี่ยนไป ยกตัวอย่างเช่น หากสื่อนำเสนอความเดือดร้อนในอยุธยา ความช่วยเหลือก็หลั่งไหลไปอยุธยาทั้งกำลังเงิน กำลังคน และกำลังทรัพย์ พอสื่อบอกว่าปทุมธานีเดือดร้อนทุกคนก็แห่ไปปทุมธานี และทิ้งชาวอยุธยาไว้ สิ่งสำคัญก็คือเราจะรักษาสมดุลได้อย่างไรฦให้ความช่วยเหลือไม่ไหลไปตามสายน้ำ ดังนั้นควรจะมีการวางแผนประสานงานกันและกัน ไม่ใช่ความช่วยเหลือไปกระจุกตัวเป็นที่เดียว ส่วนงานอาสสมัครนั้นแท้จริงมีความหลากหลายลองค้นหาสิ่งที่จะเอาศักยภาพมาใช้ให้ได้มากที่สุด เช่น เด็กอาชีวะ ตอนเฟสฟื้นฟูต้องอาศัยทักษะในงานช่างเป็นอย่างมากมันน่าจะดีกว่าการขับรถฝืนไปกับน้ำร่วม 400 กิโลเมตรเพื่อบริจาคน้ำสองแพ็กลง facebook เพื่อให้รู้สึกดีกับตัวเอง แต่รถไปจมน้ำแล้วเสียหรือลำบากหน่วยงานที่ต้องเข้าไปช่วยเหลือเรื่องแบบนี้อาจจะส่งมอบของให้หน่วยงานที่มีศักยภาพในการเข้าไปส่งมอบ เพราะเวลาการที่เราจะช่วยเหลือกัน บางครั้งอาจจะไม่ต้องการการที่คนอื่นจะต้องมายอมรับและสำนึกในสิ่งที่เราทำ แต่เป็นการกระทำโดยมนุษยธรรมและไม่เลือกกรณี 6. ฉันเลือกรัฐบาลมาแล้ว รัฐบาลต้องช่วยฉัน ทุกเรื่องคำพระท่านบอกว่า “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” ในสถานการณืแบบนี้ประชาชนจำเป็นต้องพึ่งตนเองให้มากที่สุด (และรัฐเองก็ต้องให้ข้อมูลมากที่สุดเพื่อให้ประชาชนตัดสินใจได้) การรอความช่วยเหลือเพียงฝ่ายเดียว สุดท้ายย่อมกลายเป็นปัญหา ในยามวิกฤตเรามักจะเห็นแต่จุดอ่อนของตัวเอง จากการสอบถามข้อมูลในการทำงาน ศปภ.ตำบล บางทีเราค้นพบจุดเด่นที่น่าสนใจในแต่ละหมู่บ้านเช่น หมู่บ้านหนึ่งที่อยุธยามีนางพยาบาล อีกหมู่บ้านหนึ่งมีเรือแต่มีคนป่วย แทนที่เขาจะรอหมอจากภาครัฐเข้าไปช่วย พอเราให้ข้อมูลเขาไปเขาก็เอาเรือไปรับนางพยาบาลมาดูแลคนป่วยแทน แต่ถ้าหากขาดแคลนยาตรงนี้คือส่วนงานที่รัฐต้องเข้าไปหนุนเสริม 7. การประเมินตนเป็นเรื่องสำคัญ อย่าประมาณตนสูง และอย่าดูถูกตนเองต่ำ ไปศูนย์พักพิงหลายๆแห่งที่รับคนเกินจำนวนที่สามารถรองรับได้ และอยู่ในจุดเสี่ยงที่ใกล้น้ำท่วมอาจจะประเมินศักยภาพตัวเองสูงไป (ด้วยความมั่นใจว่าน้ำจะไม่ท่วม หรือด้วยศักดิ์ศรีของผู้มีอำนาจรับผิดชอบ) ปัญหาที่ตามมาก็คือสุดท้ายเมื่อรับมือไม่ไหว (และไม่ยอมอพยพตอนแรก) ก็จะต้องมาช่วยเหลือกันตอนที่ปัญหามันโคม่าแล้ว กลับกันผู้ประสบภัยบางคนประเมินศักยภาพตนเองต่ำไป พบเคสที่ผู้ประสบภัยพบน้ำในระดับข้อเท้า มีอาหารสำรองแล้ว แต่เรียกขอถุงยังชีพจากหลายๆหน่วยงานเข้าไปเพิ่มอีกแทนที่จะได้กระจายไปให้ผู้อื่น บางทีอาจต้องทำความเข้าใจว่าหน่วยงานที่ช่วยเหลือไม่ได้ทำหน้าที่เหมือนร้านพิซซ่าที่ต้องส่งเดลิเวรี่ให้ลูกค้าทุกรายตามต้องการ เราต้องการให้ทุกๆคนอยู่รอดไปด้วยกัน ดีกว่ามีคนกลุ่มหนึ่งอยู่สบายและอีกกลุ่มลำบากเจียนตาย 8. น้ำแห้งแล้ว ทุกอย่างจบสิ้นลง ตอนนี้หลายๆคนคงเริ่มฝันถึงว่าเมื่อไหร่น้ำจะแห้ง (มีรายงานว่าอาจจะต้องอยู่กับน้ำ 3 – 4 สัปดาห์) แต่หลังน้ำแห้งปัญหามากมายยังรอการแก้ไขอยู่มาก ทั้งเรื่องการปรับโครงสร้างทางผังเมืองและกลไกราชการ การเข้าสู่เฟสฟื้นฟูที่อาจกินเวลาไม่ต่ำกว่า 1 ปี กระแสต่างๆทั้งความช่วยเหลือ ความร่วมมือ และสื่อมวลชนต้องมีอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้กลไกในการฟื้นฟูสามารถเดินหน้าได้เต็มที่ไม่ใช่แค่ภาครัฐเท่านั้นที่ทำหน้าที่ฟื้นฟู เคล็ดลับความสำเร็จหลายๆครั้งมาจากการที่คนในชุมชนมาร่วมวางแผนกันเอง เช่น ที่นครสวรรค์ บ่งพื้นที่ที่น้ำแห้งแล้วเริ่มวางแผนจะฟื้นฟู เพราะนอกจาก “แก้ไขไม่แก้แค้น”แล้ว รัฐบาลจะต้อง “แก้ไขอย่าแก้ขัด” เหมือนรัฐบาลที่ผ่านๆมาที่เวลาน้ำท่วมทีไรก็ได้แต่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าแก้ขัด รอบนี้จะต้องแก้กันทั้งระบบทั้งการป้องกัน รับมือ และแก้ไขในอนาคตด้วย สุดท้ายนี้สิ่งที่อยากจะย้ำเตือนก็คือ ในวาระแบบนี้การประสานความร่วมมือและการพึ่งพาตนเองให้เต็มศักยภาพจะเป็นหนทางที่ดีที่สุด ที่เราจะต้องทำให้ชินเป็นนิสัยและทัศนคติใหม่ๆของคนไทย เราจะต้องเปลี่ยนสถานะจาก “ผู้ประสบภัย” ให้กลายเป็น “ผู้ช่วยเหลือ”ให้ได้ ผมยังจำป้ายที่เขียนที่โรงอาหารกลางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต (ที่วันนี้น้ำท่วมไปแล้ว) ตอนสึนามิได้ บนกระดานเขียนว่า “เราจะผ่านเรื่องร้ายไปด้วยกัน” ขอให้คนไทยทุกคนผ่านไปให้ได้ ถึงแม้ว่ามันจะไม่ค่อยสะดวกนัก ป.ล. กลั่นกรองจากที่เป็นตัวแทน Siam Intelligence Unit เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของ ศปภ.ภาคประชาชน ที่นำโดยมูลนิธิกระจกเงา ตลอดระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 9 ตุลาคม ที่ผ่านมา ที่มา: www.siamintelligence.com/myths-flood/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net