Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า ภัยพิบัติครั้งนี้วิกฤตเกินกว่าหน่วยงานไหนจะรับมือได้เพียงลำพัง การจัดการที่ไม่เป็นระบบในหลายๆ เรื่องเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ เพราะนี่คือครั้งแรกของการจัดการภัยพิบัติขนาดใหญ่ซึ่งกินวงกว้างครอบคลุมหลายจังหวัดรวมทั้งกรุงเทพฯ “สนใจทำงานอาสาส่วนไหนคะ ส่วนงาน ศปภ. ตำบล ต้องมีเวลาต่อเนื่องอย่างน้อย 2 วัน และควรจะมีทักษะในการประสานงานเก็บข้อมูล ถ้ามีทีม 3-4 คนได้ก็จะดีค่ะ” ชั้น 2 ของอาคารผู้โดยสารในประเทศ สนามบินดอนเมือง ที่โต๊ะรับอาสาสมัครของ ศปภ. ภาคประชาชน มูลนิธิกระจกเงา มีป้ายกระดาษติดที่โต๊ะสำหรับคนที่สนใจเป็นอาสาสมัครไปลงชื่อตามแถวต่างๆ มีอาทิ อาสาทำเสื้อชูชีพ อาสาเก็บขวด อาสาช่างภาพ อาสาดูแลเด็กที่ศูนย์อพยพ อาสาจัดการบ่อบำบัดขยะ และอื่นๆ อีกหลากหลายงานอาสา ล้วนเป็นงานที่ “งอก” ขึ้นมาเพื่อรองรับสถานการณ์ปัจจุบันทันด่วน ไม่เพียงเท่านี้ยังมีอาสาสมัครช่วยแพ็กสิ่งของบริจาค จัดแยกประเภทยา ทำกระสอบทราย ทำจุลินทรีย์อีเอ็ม และอื่นๆ อีกมากมายตามศูนย์ต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ และในอีกหลายจังหวัด ศปภ. ภาคประชาชนเกิดขึ้นโดย สมบัติ บุญงามอนงค์ (หนูหริ่ง) และทีมงานกระจกเงาอาศัยประสบการณ์การจัดการภัยพิบัติสึนามิเมื่อปี 2547 มาร่วมทำงานกับภาครัฐเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยเป็นไปอย่างทันท่วงทีและเป็นระบบที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เราเลือกมาอยู่ส่วนงานอาสาเก็บข้อมูลระดับตำบลในพื้นที่ที่ประสบภัยน้ำท่วมหลังจากสำรวจตัวเองแล้วว่า 1. มีเวลาต่อเนื่องหลายวัน 2. งานเก็บข้อมูลเป็นงานถนัดที่คิดว่าตัวเรามีศักยภาพทำได้ในเวลาเช่นนี้ 3. มีทีม 3-4 คน มีโน้ตบุ๊กของตัวเอง (ข้อนี้ไม่จำเป็น มาคนเดียวก็ทำได้) และ 4. อยากรู้ข้อมูลในพื้นที่ ด้วยเชื่อว่าถ้ารวบรวมข้อมูลได้เร็วเท่าไรยิ่งส่งต่อความช่วยเหลือได้ทันท่วงทีมากเท่านั้น อาสาใหม่ที่เลือกทำงานนี้จะได้รับการบรี๊ฟข้อมูลเบื้องต้นจากทีมประสานงาน ศปภ. ตำบลที่ทำงานมาแต่ต้น การบรี๊ฟงานสำคัญมากเพราะเป็นการวางข้อตกลงร่วมกันถึงภาระงาน ความสำคัญของการเก็บข้อมูล ข้อมูลอะไรที่จำเป็น รวมทั้งเทคนิคการพูดคุยต่างๆ อาสาควรจะตระหนักในความสำคัญของข้อมูลที่จะได้มา ต้องซื่อสัตย์ในการบันทึกข้อมูลตามจริง ไม่เมกข้อมูลขึ้นเอง คุณสมบัติที่จำเป็นมากของอาสาเก็บข้อมูลตำบลคือ “รู้จักฟัง” และ “ฟังเป็น” การรับฟังผู้ประสบภัยจะทำให้เขาไว้เนื้อเชื่อใจและให้ข้อมูลที่เป็นจริงแก่เรา เราได้รับซองพลาสติกปะหน้าด้วยชื่อและเบอร์โทรศัพท์ของตำบลหนึ่งในอำเภอหนึ่งของจังหวัดอยุธยา พร้อมเครื่องโทรศัพท์มือถือและซิม ในซองนั้นมีแบบฟอร์ม 2 ชุดและแผนที่ตำบลหยาบๆ แนบมาด้วย งานเก็บข้อมูลเป็นงานที่ต้องทำแข่งกับเวลาและอาศัยการทำความเข้าใจพื้นที่และชุมชนหมู่บ้านเป็นสำคัญ ในเบื้องต้นเราจึงจำเป็นต้องศึกษาสภาพพื้นที่ก่อน แน่นอนไม่มีใครทำแผนที่แสดงพื้นที่น้ำท่วมและระดับน้ำของอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี นครสวรรค์ เหมือนที่เราเห็นแผนที่น้ำท่วมกรุงเทพฯ แบบละเอียดถี่ยิบที่ค่อยๆ ทยอยออกมาโดยผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำและภูมิศาสตร์ แผนที่หยาบๆ ที่เราได้รับก็เพียงแสดงพิกัดให้เรารู้ว่าตำบลนี้อยู่ตรงไหนของอำเภอในจังหวัดนั้นๆ เท่านั้น เมื่อศึกษาพื้นที่คร่าวๆ แล้วก็เตรียมคำถามให้พร้อม แนวทางเก็บข้อมูลที่ ศปภ. ตำบลวางไว้มี 4 ประเด็น 1. ข้อมูลทั่วไป (จำนวนหมู่บ้าน หน่วยงานดูแล การติดต่อ ศูนย์อพยพในชุมชน ฯลฯ) 2. สภาพปัญหาปัจจุบัน สถานการณ์น้ำท่วม (ระดับน้ำ สภาพความเป็นอยู่ของคนในหมู่บ้าน) 3. ความช่วยเหลือที่ต้องการ (ความต้องการเร่งด่วน ความช่วยเหลือด้านอาหาร น้ำดื่ม ยา เรือ ส้วม การอพยพ ฯลฯ) 4. จุดแข็ง (ความรู้ ทรัพยากร ผู้นำ การจัดการ การเตรียมพร้อม การช่วยเหลือตัวเอง และนวัตกรรมต่างๆ ฯลฯ) บางคนอาจทำเป็น mind map หรือแผนที่ความคิดไว้กันลืมว่าจะถามอะไร และคำถามหนึ่งๆ ควรจะเชื่อมโยงไปสู่คำถามอื่นๆ ทำให้ครบถ้วนเท่าที่ทำได้ในแต่ละครั้งเพื่อจะได้ไม่ต้องโทร.ไปถามหลายๆ ครั้ง เบอร์โทรศัพท์ที่ปรากฏบนซองเป็นโจทย์แรกที่ต้องตีให้แตก ผู้ประสานงาน ศปภ. ตำบลเล่าให้ฟังว่าเนื่องจากข้อมูลพื้นฐานของหมู่บ้านไม่มีระบบจัดเก็บและบันทึกที่ดีพอ เบอร์โทรศัพท์เหล่านี้จึงได้มาจากแหล่งต่างๆ อาทิ จากหน่วยงานที่ทำเรื่องสาธารณสุขมูลฐานและทำงานชุมชนอยู่แล้ว หรือจาก อบต. ต่างๆ แต่บางตำบลก็ไม่มีข้อมูลอะไรเลยทั้งชื่อทั้งเบอร์โทรศัพท์ กรณีนี้เราต้องใช้อินเทอร์เน็ตให้เป็นประโยชน์ ผู้เก็บข้อมูลคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่าเจอเคสที่โทร. ไปแล้วเขาต้องรีบวางบอกว่าต้องเก็บแบตไว้ใช้ยามจำเป็นจริงๆ เพราะไฟฟ้าถูกตัดหมดแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้เธอจึงลองหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ต พบเบอร์โทรศัพท์ของคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นี้แจ้งขอความช่วยเหลือไว้ในเว็บไซต์รับเรื่องน้ำท่วมเว็บหนึ่ง สุดท้ายเธอจึงได้เบอร์โทร. ของคนอื่นๆ ในพื้นที่นี้จากคนผู้นี้ เป็นต้น กรณีไม่ได้รับความร่วมมือจากปลายสายเป็นเรื่องเข้าใจได้เพราะผู้ประสบภัยกำลังเดือดร้อน เราอาจต้องหาช่องทางอื่นๆ ไว้ด้วย ส่วนใหญ่การสอบถามข้อมูลชุมชนจะอาศัยปากคำผู้ใหญ่บ้าน กำนัน อบต. แกนนำชุมชน องค์กรปกครองท้องถิ่น เทศบาล ฯลฯ เราจำเป็นต้องสอบถามหลายๆ ทาง อาจสอบถามจากอาสาสมัครหมู่บ้าน (อสม.) เนื่องเพราะ อสม. เป็นกลไกสำคัญหนึ่งในการให้ความช่วยเหลือชาวบ้านในท้องถิ่นของตน หรืออนามัยหมู่บ้าน อนามัยตำบล เป็นต้น การสอบถามหลายๆ ทางก็เพื่อให้ได้ข้อมูลรอบด้านที่เป็นจริง ยกตัวอย่างเช่นการแจกถุงยังชีพ หากเราถามผู้ใหญ่บ้านอาจได้รับข้อมูลอย่างหนึ่ง หากเราถาม อสม. อาจได้รับข้อมูลอีกอย่างหนึ่ง เป็นต้น ในพื้นที่อำเภอบางปะอิน บางไทร จังหวัดอยุธยา ส่วนใหญ่เป็นชุมชนใกล้นิคมอุตสาหกรรมที่ประสบภัยน้ำท่วม อาจเรียกว่าชุมชนกึ่งเมืองกึ่งชนบท ในหมู่บ้านหนึ่งๆ มีทั้งคนในพื้นที่และคนนอกพื้นที่ที่เข้ามาพักอาศัยทำงานโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม มีทั้งชาวนามีทั้งคนงานที่อาศัยอยู่หอพัก ผู้ใหญ่บ้านมีข้อมูลลูกบ้านตามทะเบียนบ้านแต่สภาพชุมชนจริงมีคนจากนอกภูมิลำเนาอาศัยอยู่หอพักซึ่งไม่มีเลขที่บ้านจำนวนมากอีกด้วย การให้ความช่วยเหลือจึงอาจไม่ทั่วถึง ผู้ใหญ่บ้านคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่าเขาจัดระบบโดยการแจกคูปองให้คนที่อาศัยอยู่โดยไม่มีเลขที่บ้านไว้สำหรับการมารับของบริจาค เป็นต้น เมื่อสอบถามต่อไปเราจะพบวิธีจัดการตัวเองของชาวบ้าน บ้านชั้นเดียวที่น้ำท่วมมิดหลังคาใช้วิธีเปิดหลังคาสังกะสีอยู่อาศัย และมีการหนุนพื้นไม้กระดานขึ้นสูง บางบ้านอาศัยนอนบนเรือ ส่วนใหญ่มีการอพยพคนแก่ออกมาก่อนน้ำจะท่วม ผู้ใหญ่บ้านส่วนใหญ่พูดตรงกันว่าเตรียมพร้อมมาก่อนเพราะน้ำท่วมอยุธยาทุกปี จึงมีประสบการณ์รับมือน้ำท่วมพอสมควร แต่ปีนี้ต่างจากปีอื่นคือน้ำมาเร็วและแรง “ช่วยเหลือกันตามอัตภาพ” เรามักได้ยินคำนี้เกือบทุกครั้งที่ถามว่ามีการช่วยเหลือดูแลกันยังไงในหมู่บ้าน นอกจากความช่วยเหลือกันในหมู่บ้านแล้วยังมีความช่วยเหลือกันระหว่างหมู่บ้านอีกด้วย จากการโทร. สอบถามข้อมูล ส่วนใหญ่เราสัมผัสได้ถึงน้ำเสียงดีใจที่มีคนสอบถามสภาพความเป็นอยู่ และสิ่งที่ตามมาคือพวกเขามีความหวังด้วยคิดว่าจะได้รับความช่วยเหลือจากเรา ดังที่เรารับฟังผู้ใหญ่บ้านหลายหมู่ในตำบลคุ้งลาน “ช่วยส่งเรือไปช่วยหมู่ 4 หมู่ 5 ด้วยครับเพราะอยู่ลึกมาก ผมอยู่หมู่ 1 ยังรับมือไหวครับ แต่หมู่ 4 หมู่ 5 ไม่มีเรือเข้าไปเลย” “ช่วยผมหน่อย ช่วยประสานให้หน่อย ผมจะไม่ไหวแล้ว” “ไก่ตายเป็นหมื่นตัว ยังไม่มีใครเก็บซากไก่ หมู่บ้านนั้นเป็นฟาร์มไก่ มีปัญหาเรื่องกลิ่นเหม็นเน่าแล้วครับ” “ตอนนี้ชาวบ้านก็อยู่ตามวิถีชาวบ้าน เรื่องการขับถ่ายใครเข้าทุ่งได้ก็ไป แต่ส่วนใหญ่ก็ถ่ายลงน้ำซึ่งเป็นปัญหามาก ถ้าเป็นไปได้ขอส้วมลอยน้ำ ขอแค่ 2 หลังเอาไว้ 2 จุด หัวและท้ายหมู่บ้านไว้ใช้ร่วมกัน” การไม่ได้ลงพื้นที่อาจเป็นข้อจำกัดและจุดอ่อนที่สุดประการหนึ่งของกระบวนการเก็บข้อมูลระดับตำบล อย่างไรก็ตาม ทีมงาน ศปภ. ตำบลวางตัวเองเป็นผู้ประสานงานและเก็บข้อมูลเบื้องต้นเพื่อส่งต่อข้อมูลนี้ไปสู่หน่วยงานหรือองค์กรที่จะลงไปในพื้นที่รับผิดชอบต่อไป ข้อมูลพวกนี้เดินทางต่อไปยังไง การส่งต่อข้อมูลเป็นอย่างไร และความช่วยเหลือจะไปถึงในพื้นที่จริงหรือไม่ เป็นคำถามที่ ศปภ. ตำบลพยายามแจงให้อาสาได้เห็นเป็นรูปธรรม นี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้อาสาเก็บข้อมูลตำบลต้องได้รับการบรี๊ฟงานเป็นพิเศษเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมานั่นคือ การซ่อมข้อมูล ดังที่เราได้รับการส่งต่อข้อมูลที่มีการบันทึกไว้ก่อนหน้าโดยไม่ได้ลงรายละเอียดใดๆ นอกจากความช่วยเหลือด้านสิ่งของตามแบบฟอร์มใบสรุปผลระดับตำบล นั่นเท่ากับการเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ของกระบวนการเก็บข้อมูลระดับหมู่บ้าน ผลต่อเนื่องก็คือความช่วยเหลืออาจไปถึงสายเกินการณ์แล้วก็ได้ ประเด็นนี้เราอาจต้องสำรวจตัวเองและเตรียมพร้อมว่าเราเหมาะจะทำงานอาสาอะไรดังข้อสังเกตต่อไปนี้ สำรวจและเตรียมพร้อมก่อนไปทำงานอาสา หากจะเป็น “อาสามืออาชีพ” น่าจะมีการเตรียมพร้อมและสำรวจตัวเองอย่างไรบ้าง 1. ความถนัดและทักษะ งานอาสาควรเป็นงานที่เหมาะกับตน นั่นก็เพื่อที่จะใช้ศักยภาพที่ตนมีได้อย่างเต็มที่ แน่นอนทักษะเทคนิคเป็นเรื่องฝึกฝนกันได้แต่ความถนัดและจริตควรเป็นพื้นฐานของงานอาสาด้วย ยกตัวอย่างเช่นคนว่ายน้ำไม่เป็นแต่อยากไปลงเรือกับหน่วยกู้ภัย สุดท้ายแล้วแทนที่จะไปช่วยคนอื่นกลับกลายเป็นภาระของทีมเสียมากกว่า ด้วยเหตุนี้ อาสามืออาชีพนอกจากมี “ใจ” แล้วยังต้องรู้ด้วยว่าตัวเองควรจะอยู่จุดไหน เมื่อไหร่ อย่างไร คนที่มีทักษะด้านการทำแผนที่ย่อมเกิดประโยชน์มากถ้าใช้ทักษะนี้มาทำแผนที่น้ำท่วมและเส้นทาง คนที่มีทักษะด้านการออกแบบหรือ infographic มาแปลงข้อมูลดิบเป็นรูปแบบที่เข้าใจง่ายก็ย่อมเกิดประโยชน์แก่ส่วนรวม เป็นต้น หากแต่ละคนทำในสิ่งที่ตนทำได้ย่อมเกิดประโยชน์ในจุดที่ตนถนัดและมีทักษะ เมื่อจุดเล็กๆ มาประกอบกันเป็นภาพใหญ่เราก็จะเห็นว่าอาสาทุกส่วนมีความสำคัญและช่วยหนุนเสริมให้การแก้ปัญหาและการช่วยเหลือเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ 2. เวลาและเงื่อนไข อาสาสมัครต้องเตรียมพร้อมเสมอไม่ให้ตนกลายเป็นผู้ประสบภัยเสียเอง ดังนั้นอันดับแรกควรจะต้องจัดการเคลียร์ตัวเองทั้งเรื่องเวลา การงานที่คั่งค้าง ครอบครัว ฯลฯ ให้เรียบร้อยก่อนมาลุย สิ่งสำคัญคือต้องตระหนักว่าเรามีเวลามากน้อยแค่ไหน ติดเงื่อนไขใดหรือไม่ เงื่อนไขเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องผิด เพราะงานอาสามีหลากหลาย เลือกให้เหมาะกับตน ทำในสิ่งที่ตนทำได้ อยู่ที่ไหนก็ทำได้ และใช้ศักยภาพของตนให้เต็มที่ นั่นจึงจะเกิดประโยชน์สูงสุดและไม่เป็นภาระของผู้อื่น 3. จัดการตนเองไม่ให้เป็นภาระของผู้อื่น สร้างวินัยในตนเอง อาสาไม่ว่าจะไปไหน ทั้งลงพื้นที่ อยู่ศูนย์พักพิง ศูนย์ประสานงานส่วนกลาง หรืออื่นๆ ถ้าเป็นไปได้ควรพกน้ำดื่มของตนมาด้วย จัดการเรื่องอาหารการกินของตัวเอง อย่ารอใคร เพราะไม่มีใครมาเสิร์ฟอาหารให้ถึงที่ หลายคนมักคิดว่าอุตส่าห์มาช่วยน่าจะมีข้าวปลาอาหารเลี้ยงหน่อย นั่นเป็นความคิดที่ผิด อาสาสมัครควรพึ่งพาตัวเองให้ได้ก่อนเป็นอันดับแรก อาหารมีอยู่ก็เดินไปหยิบเอง หยิบมาเฉพาะตนไม่ต้องเผื่อใคร กินให้หมดไม่เหลือทิ้ง น้ำก็ดื่มให้หมดขวด สร้างวินัยในตนเองให้ได้ก่อนอันดับแรก 4. ความจริงใจ และจิตใจอาสา คนที่มาทำงานอาสามักตกหลุมพรางว่าตนเป็นผู้ให้จนอาจหงุดหงิดเพราะมองผู้ประสบภัยเป็นผู้รับอย่างเดียว พึงเปลี่ยนทัศนคติว่าเราเป็นทั้งผู้ให้และผู้รับในเวลาเดียวกัน อาสาบางคนอาจมีคำถามว่าทำแล้วได้อะไร ทำไปทำไม ทำเพื่อใคร ฯลฯ เรามีสิทธิตั้งคำถามแต่ลองถามใจตัวเองก่อนว่าเราอาสามาเพื่ออะไร นอกจากนี้หากเราเจองานที่ไม่ถนัดแต่ในยามฉุกเฉินเมื่อได้รับการขอความช่วยเหลือให้ทำเรื่องโน้นเรื่องนี้ อาสาสมัครก็ควรเตรียมพร้อมรับมืออยู่เสมอ เปลี่ยนผู้ประสบภัยเป็นผู้ช่วยเหลือ ประเด็นสำคัญที่สุดของงานอาสาในสถานการณ์ภัยพิบัติคือ เปลี่ยนผู้ประสบภัยเป็นผู้ช่วยเหลือคนอื่นต่อไป อาจเริ่มต้นจากการให้ความช่วยเหลือในพื้นที่ของตนเอง มีผู้ประสบภัยจากบางบัวทองที่อพยพออกมาหลังจากน้ำท่วม ต่อมาได้เป็นผู้นำทางหน่วยกู้ภัยเข้าไปช่วยเหลือคนและสัตว์เลี้ยงที่ยังติดอยู่ในหมู่บ้านเพราะรู้เส้นทางในหมู่บ้านดี นี่คือตัวอย่างของการที่ผู้ประสบภัยลุกขึ้นมาเป็นอาสาสมัคร ประเด็นหนึ่งของการเก็บข้อมูลชุมชนคือ “จุดแข็ง” ของชุมชนนั้นๆ อาทิ ทรัพยากร ผู้นำ การจัดการ การเตรียมการป้องกัน เตรียมการอพยพ ประเด็นเหล่านี้สำคัญต่อการสรุปบทเรียนในอนาคตที่จะชี้ให้เห็นว่าในชุมชนผู้ประสบภัยมีการจัดการตัวเองและเป็นผู้ช่วยเหลือกันอย่างไรบ้าง และอาจเป็นบทเรียนแก่อีกหลายพื้นที่ที่ประสบภัยน้ำท่วมในลักษณะเดียวกันเพื่อให้เกิดการจัดตั้งกันอย่างไรในระดับชุมชน ไม่รอพึ่งพาความช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐเพียงอย่างเดียวต่อไป หมายเหตุ : ส่วนหนึ่งจากประสบการณ์อาสาสมัคร ศปภ. ตำบลเมื่อวันที่ 20-24 ต.ค. 2554 ปัจจุบันข้อมูลระดับตำบลที่เก็บได้อาจล่าไปบ้างแล้ว และในส่วนงานอาสาที่ ศปภ. ภาคประชาชนดอนเมืองอาจเปลี่ยนแปลงจากข้อเขียนนี้เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วม กล่าวเฉพาะ ศปภ. ตำบล ปัจจุบันย้ายที่ทำการไปในที่ปลอดน้ำท่วม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net