เครือข่ายผู้ย้ายถิ่นในลุ่มน้ำโขงวอนรบ.ไทย-เพื่อนบ้าน ให้สิทธิแรงงานข้ามชาติกลับบ้านชั่วคราว

เครือข่ายการย้ายถิ่นในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงเรียกร้องต่อรัฐบาลไทย จัดหาพื้นในจังหวัดที่ปลอดภัยและไม่ถูกน้ำท่วม จัดระบบขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติที่ต้องการออกจากจังหวัดที่ประสบภัย ให้เข้าถึงการบริการที่จำเป็น รวมถึงอนุญาตให้กลับเข้าไทยได้หลังน้ำท่วม โดยปราศจากการลงโทษ สืบเนื่องจากวิกฤตการณ์น้ำท่วม เครือข่ายการย้ายถิ่นในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ซึ่งประกอบด้วยองค์กรภาคประชาสังคมจากประเทศพม่า, กัมพูชา, ลาว, ไทย, เวียดนาม และยูนนาน ประเทศจีน 38 องค์การ ออกแถลงการณ์เรียกร้องต่อรัฐบาลไทยในการจัดหาพื้นในจังหวัดที่ปลอดภัยและไม่ถูกน้ำท่วม พร้อมทั้งดำเนินการจัดระบบอย่างทันทีในการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติที่ต้องการออกจากจังหวัดที่ประสบภัยน้ำท่วม และอนุญาตให้ผู้ย้ายถิ่นเหล่านี้เข้าถึงการบริการที่จำเป็นในทุกๆ ด้าน รวมถึงอนุญาตให้ผู้ย้ายถิ่นที่ออกจากประเทศไทยชั่วคราว กลับเข้าประเทศไทยได้หลังน้ำท่วมโดยปราศจากการลงโทษ นอกจากนี้ยังเรียกร้องต่อรัฐบาลประเทศกัมพูชา, พม่า และลาว ให้ออกคำสั่งอนุญาตให้ผู้ย้ายถิ่นเดินทางกลับประเทศต้นทางและกลับมายังประเทศไทยได้ในภายหลัง โดยปราศจากการลงโทษใดๆ และขอให้รัฐบาลพม่าและไทยให้เปิดด่านพรมแดนแม่สอด–เมียวดีทันที เพื่อให้แรงงานข้ามชาติได้เดินทางกลับบ้านอย่างปลอดภัยและถูกกฎหมายด้วย 00000 เครือข่ายการย้ายถิ่นในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง มีความห่วงกังวลเป็นอย่างยิ่งต่อความเป็นอยู่และความปลอดภัยของแรงงานข้ามชาติกว่าแสนคนที่อยู่ในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมในจังหวัดต่างๆ ของประเทศไทย องค์กรสมาชิกของเครือข่ายที่ตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานครและพื้นที่รอบนอกได้พยายามให้การบรรเทาน้ำท่วมและช่วยเหลือแก่แรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่า ลาว และกัมพูชา แต่พบว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะเข้าถึงแรงงานข้ามชาติที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด นิคมอุตสาหกรรมหลายแห่งที่มีแรงงานข้ามชาติทำงานอยู่ถูกน้ำท่วมและโรงงานต่างๆ ได้ปิดดำเนินการ มูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ (MAP Foundation) สมาชิกของ MMN ซึ่งมีสำนักงานอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ได้รับโทรศัพท์แจ้งขอความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องจากผู้ย้ายถิ่นในจังหวัดปทุมธานี ซึ่งไม่มีไฟฟ้า อาหาร และสิ่งที่น่ากังวลเป็นอย่างยิ่งคือ น้ำดื่ม ความรู้สึกถูกกีดกันออกจากการพยายามบรรเทาน้ำท่วมและแยกออกจากความช่วยเหลือ ทำให้ผู้ย้ายถิ่นจำนวนมากต้องการเพียงได้กลับบ้านของตนอย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ บ่อยครั้งที่แบตเตอรี่โทรศัพท์ของพวกเขา/เธอหมดลงระหว่างการสนทนา ดังนั้น เครือข่ายการย้ายถิ่นในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงจึงขอเรียกร้องต่อ องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) ให้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับรัฐบาลไทยและภาคประชาสังคม เพื่อให้มั่นใจว่าแรงงานข้ามชาติจะได้รับการจัดหาการบรรเทาน้ำท่วมอย่างทันท่วงทีและเข้าถึงการบริการ ความช่วยเหลือด้านต่างๆ อย่างเท่าเทียม อย่างไรก็ตาม ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง พลตำรวจโทวิบูลย์ บางท่าไม้ ได้มีบันทึกข้อความลงวันที่ 25 ตุลาคม 2554 ประกาศไปยังสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองในจังหวัดต่างๆ ที่ประสบภัยน้ำท่วมว่า อนุญาตให้แรงงานข้ามชาติสามารถต่ออายุวีซ่าได้ทุกพื้นที่ กระนั้น ผู้ย้ายถิ่นจำนวนมากไม่มีเอกสารต่างๆ ไว้กับตัวเนื่องจากถูกยึดโดยนายจ้าง ขณะที่อีกส่วนหนึ่งไม่สามารถเข้าถึงการช่วยเหลือเรื่องการเดินทางทุกรูปแบบเพื่อหลบหนีออกจากพื้นที่ถูกน้ำท่วม และผู้ย้ายถิ่นทั้งหมดยังไม่มั่นใจว่าพวกเขา/เธอจะอยู่รอดโดยที่ไม่มีรายได้ได้อย่างไรในจังหวัดอื่นๆ ผู้ย้ายถิ่นที่ต้องการกลับประเทศบ้านเกิด เพื่อที่จะหลบหนีจากน้ำท่วมยังต้องเผชิญกับอุปสรรคจำนวนมาก ผู้ย้ายถิ่นที่มีเพียงเอกสารทะเบียนราษฎร์ ชั่วคราว (ทร.38/1) และใบอนุญาตทำงานได้สูญเสียสถานภาพทางกฎหมายในประเทศไทยเมื่อพวกเขาข้ามพรมแดนกลับไปยังประเทศต้นทางของพวกเขา ถ้าพวกเขากลับมายังประเทศไทยภายหลังน้ำท่วม พวกเขาจะถูก พิจารณาในฐานะที่เป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมายอีกครั้ง ผู้ย้ายถิ่นที่มีหนังสือเดินทางชั่วคราวๆ ได้รับอนุญาตให้เดินทางกลับได้ แต่จะต้องดำเนินการขออนุญาตกลับเข้ามาใหม่ในราชอาณาจักรที่ไหนสักแห่งก่อนที่พวกเขาจะออกนอกประเทศไทย ผู้ย้ายถิ่นจำนวนมากรู้สึกเจ็บปวดทุกข์ใจกับประเด็นนี้มาก ทำให้พวกเขาต้องการเพียงได้กลับบ้านอย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และท้ายที่สุด พื้นที่หลักที่ผู้ย้ายถิ่นจากประเทศพม่าสามารถข้ามจากประเทศไทยไปยังประเทศพม่าได้คือ ด่านแม่สอด – เมียวดี ซึ่งปัจจุบันยังถูกปิดอยู่ ดังนั้น ผู้ย้ายถิ่นจึงไม่สามารถเดินทางเข้า – ออกประเทศได้อย่างถูกกฎหมายได้ ณ จุดดังกล่าว ดังนั้น เครือข่ายการย้ายถิ่นในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงจึงขอเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยในการ: สั่งการไปยังหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องและเจ้าหน้าที่ในระดับท้องถิ่นในการจัดหาพื้นในจังหวัดที่ปลอดภัยและไม่ถูกน้ำท่วม พร้อมทั้งดำเนินการจัดระบบอย่างทันทีในการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติที่ต้องหลบหนีออกจากจังหวัดที่ประสบภัยน้ำท่วม และอนุญาตให้ผู้ย้ายถิ่นเหล่านี้เข้าถึงการบริการที่จำเป็นในทุกๆ ด้าน ออกคำสั่งในการอนุญาตให้ผู้ย้ายถิ่นที่ออกจากประเทศไทยชั่วคราวและสามารถกลับเข้ามาใหม่หลังจากน้ำท่วมได้ลดลง โดยปราศจากการลงโทษ ระบบฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์ในการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติของประเทศไทยสามารถนำมาใช้ในการออกใบอนุญาตทำงานและวีซ่าให้แก่พวกเขาอีกครั้งหลังจากที่กลับเข้ามาใหม่ เครือข่ายการย้ายถิ่นในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงยังเรียกร้องต่อรัฐบาลประเทศกัมพูชา, พม่า และลาว ในการ: ออกคำสั่งอนุญาตให้ผู้ย้ายถิ่นเดินทางกลับประเทศต้นทางและกลับมายังประเทศไทยได้ในภายหลัง โดยปราศจากการลงโทษใดๆ จัดการให้บริการที่มีประสิทธิภาพทางกงสุลจากสถานทูตแก่แรงงานที่มาจากประเทศของตนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมรวมถึงการโฆษณาและรับโทรศัพท์ที่ติดตั้งสายเพื่อแรงงานข้ามชาติโดยเฉพาะ อีกทั้งเครือข่ายการย้ายถิ่นในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงต้องการเรียกร้องต่อรัฐบาลประเทศพม่าและประเทศไทยว่า : ต้องเปิดด่านพรมแดนแม่สอด – เมียวดีทันที เพื่อเป็นการตอบสนองด้านสิทธิมนุษยชนต่อวิกฤติการณ์ที่กระทบต่อผู้ย้ายถิ่นจากประเทศพม่าเพื่ออนุญาตให้พวกเขา/เธอได้เดินทางกลับบ้านอย่างปลอดภัยและถูกกฎหมาย ท้ายที่สุด เพื่อให้มั่นใจว่ามีการตอบสนองที่ครอบคลุมและทันท่วงทีสำหรับผู้ย้ายถิ่นในภูมิภาคนี้ในกรณีของภัยธรรมชาติและความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต พวกเราเรียกร้องต่อรัฐบาลของทุกประเทศในภูมิภาคนี้ในการดำเนินการตามข้อเสนอแนะ B (10) จากการประชุมอาเซียนด้านแรงงาน และการย้ายถิ่น ครั้งที่ 4 ซึ่งจัดขึ้นที่บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ระหว่างวันที่ 24 – 25 ตุลาคม 2554 ในการกำหนดให้มีแผนเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติทางธรรมชาติในระดับประเทศ ซึ่งต้องมาจากการปรึกษาหารือและมีส่วนร่วมของแรงงานข้ามชาติ และองค์กรที่ทำงานด้านผู้ย้ายถิ่น และก่อตั้งกองทุนให้ความช่วยเหลือระดับชาติที่จะครอบคลุมค่าใช้จ่าย ภาวะฉุกเฉิน ในการส่งกลับประเทศ เครือข่ายการย้ายถิ่นในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (MMN) เป็นเครือข่ายขององค์กรภาคประชาสังคมจากประเทศพม่า, กัมพูชา, ลาว, ไทย, เวียดนาม และยูนนาน ประเทศจีน ซึ่งทำงานร่วมกันในการส่งเสริมสิทธิของผู้ย้ายถิ่นในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงผ่านการวิจัยร่วมกัน การขับเคลื่อนเพื่อการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายและการเสริมสร้างศักยภาพในการทำงานนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 ปัจจุบัน MMN มีองค์กรที่เป็นสมาชิกทั้งหมด 38 องค์กร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท